บัญชา ธนบุญสมบัติ
ชมรมคนรักมวลเมฆ & สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
Buncha2509@gmail.com


หมู่เมฆก้อนขนาดใหญ่และหมวกเมฆ
ระหว่างเส้นทางบนฟ้าจากมุกดาหารสู่ขอนแก่น

ถ้ามีใครสักคนบอกว่าชอบดูดาว ดูนก ดูผีเสื้อ เราคงพอเข้าใจได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติที่งดงาม และหลากหลาย

แต่ถ้าใครสักคนบอกว่าชอบดูเมฆ เราจะเข้าใจอย่างไร ?
ยิ่งถ้าบอกว่าถึงขั้นหลงรักเมฆเข้าให้แล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร ?
เมฆมีดีตรงไหน ถึงทำให้บางคนหลงรักได้…
คนส่วนใหญ่มักพูดถึงเมฆในแง่ฝนฟ้าอากาศ เช่น เมฆฝนดำทะมึนอย่างกับหนังเรื่อง ID4 เดี๋ยวฝนคงถล่มแน่ ในแง่นี้ เมฆคือสิ่งบ่งบอกสภาวะลมฟ้าอากาศโดยไม่ต้องพึ่งคำพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา

แต่เมฆไม่ได้เป็นแค่เรื่องฟ้าฝน เพราะเมฆแปลกตาอาจสะกดให้เราหยุดมอง เกิดจินตนาการเป็นรูปร่างต่างๆ บางครั้งเมฆสีสวยจนเราต้องหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพไปอวดเพื่อน

เมฆสร้างแรงบันดาลใจให้คนผลิตงานศิลปะไว้มากมาย เมฆผูกพันกับชีวิตเราในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในชื่อเฉพาะ สำนวนภาษา วรรณกรรม ตลอดจนคติความเชื่อต่าง ๆ

ท้องฟ้าที่แต้มแต่งด้วยมวลเมฆ อาจเป็นได้ทั้งห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาธรรมชาติ เป็นที่โล่งกว้างเปิดให้เราใช้จินตนาการสุดบรรเจิด หรืออาจเป็นแกลเลอรีภาพศิลปะตระการตาที่จัดแสดงให้เราชมทุกวันโดยแทบไม่ซ้ำภาพเลย

คุณล่ะ…จะเลือกมองมวลเมฆบนท้องฟ้าให้เป็นอะไร ?

ลุก โฮเวิร์ด ชายผู้หลงรักมวลเมฆ

หลายคนที่ชื่นชอบการมองดูเมฆ แล้วจินตนาการ
เป็นรูปร่างต่างๆ คงรู้ดีว่าภาพที่เห็นจะไม่คงที่อยู่นานนัก เพราะเมฆเคลื่อนที่และแปรเปลี่ยนลักษณะไปเรื่อยๆ ช้าบ้าง เร็วบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาวะลมฟ้าอากาศในขณะนั้น

ด้วยความที่เมฆมีรูปร่างแปลกๆ และเหมือนไม่มีระเบียบ การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องเมฆจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีระบบระเบียบมากกว่า เช่น ดวงดาวซึ่งโคจรอย่างมีหลักเกณฑ์ คำนวณได้ จนเป็นต้นกำเนิดของวิชาดาราศาสตร์และโหราศาสตร์มาแต่โบราณ

จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จึงมีชายสองคนผู้เชื่อว่าเราน่าจะจัดระเบียบลักษณะเมฆได้ คนแรกเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฌอง-บาตีสต์ เดอ ลามาร์ก (Jean-Baptiste de Lamarck) ส่วนอีกคนเป็นชาวอังกฤษชื่อ ลุก โฮเวิร์ด (Luke Howard)

ในปี ค.ศ. ๑๘๐๒ ลามาร์กตีพิมพ์บทความในวารสาร Annuaire Méteorologique เล่ม ๓ ว่า เมฆอาจจัดแบ่งได้เป็น ๕ ประเภท ได้แก่

en forme de voile – เมฆที่มีลักษณะเหมือนผ้าม่าน
attroupés – เมฆซึ่งมารวมตัวกันอย่างหนาแน่น
pommels – เมฆก้อน
en balayeurs – เมฆลักษณะคล้ายไม้กวาด
groupés – เมฆรวมตัวเป็นกลุ่ม

อีกราว ๓ ปีต่อมา เขาแบ่งลักษณะของเมฆละเอียดขึ้นอีก จนทำให้ได้เมฆทั้งสิ้น ๑๒ แบบ

แต่แนวคิดของลามาร์กไม่ได้รับความสนใจจากนักวิทยา-ศาสตร์และนักธรรมชาตินิยมร่วมสมัยมากนัก ทั้งนี้ในคำนำของหนังสือ International Cloud Atlas จัดพิมพ์โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๙ สันนิษฐานว่าเพราะเขาตั้งชื่อเมฆเป็นภาษาฝรั่งเศส ทำให้นักวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษานี้ไม่ยอมรับ รวมทั้งวารสาร Annuaire Méteorologique ฉบับที่บทความของเขาตีพิมพ์นั้น ปรากฏบทความเชิงพยากรณ์ที่อ้างอิงข้อมูลทางโหราศาสตร์อยู่ด้วย แนวคิดการจัดแบ่งประเภทเมฆของลามาร์กจึงถูกลดความน่าเชื่อถือลงไป

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๒ นั้นเอง นักธุรกิจหนุ่มชาวอังกฤษ อายุ ๒๔ ปี ชื่อ ลุก โฮเวิร์ด ได้เสนอแนวคิดการจัดแบ่งประเภทเมฆต่อสมาคมแอสกีเซียน (the Askesian Society) ในหัวข้อว่า “On the Modif ications of Clouds” หรือ “การจัดแบ่งประเภทของเมฆ” (คำว่า modif ication ในที่นี้เป็นภาษาเก่าเมื่อกว่า ๒๐๐ ปีก่อน หมายถึง classification หรือการจัดแบ่งประเภท)

ใจความหลักของการนำเสนอนี้คือ เมฆทั้งมวลอาจจัดแบ่งเป็น ๗ แบบหลัก โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษาละติน ดังนี้

๑. คิวมูลัส (cumulus) แปลว่า กอง (heap) – เมฆก้อนมีฐานล่างค่อนข้างเรียบ
๒. สเตรตัส (stratus) แปลว่า ชั้น (layer) – เมฆแผ่นบางๆ คลุมออกไปในแนวราบ
๓. ซีร์รัส (cirrus) แปลว่า ม้วนงอ (curl) – เมฆเส้นริ้วๆ ยาว
๔. คิวมูโล-ซีร์โร-สเตรตัส (cumulo-cirro-stratus) หรือ นิมบัส (nimbus) แปลว่า ฝน (rain) – เมฆที่ทำให้เกิดฝน
๕. ซีร์โร-คิวมูลัส (cirro-cumulus) – เมฆลักษณะผสมผสานระหว่างซีร์รัสกับคิวมูลัส
๖. ซีร์โร-สเตรตัส (cirro-stratus) – เมฆลักษณะผสมผสานระหว่างซีร์รัสกับสเตรตัส
๗. คิวมูโล-สเตรตัส (cumulo-stratus) – เมฆลักษณะผสมผสานระหว่างคิวมูลัสกับสเตรตัส ภายหลังปรับลำดับคำเป็น สเตรโต-คิวมูลัส (strato-cumulus) เพื่อเน้นลักษณะการแผ่กระจายไปในแนวราบ

ปรากฏว่าแนวคิดของโฮเวิร์ดฮ็อตฮิตติดลมบนอย่างสุดๆ เพราะจนถึงปัจจุบัน นักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกและหนังสือเมฆทุกเล่มต่างเรียกชื่อเมฆตามแนวคิดที่เขาริเริ่มไว้ตั้งแต่กว่าร้อยปีก่อน เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยเข้าไปเท่านั้น

น่าสงสัยไหมว่าทำไมแนวคิดของโฮเวิร์ดจึงได้รับการยอมรับมากเช่นนี้ ?

ตอบง่ายๆ ในเบื้องต้นได้ว่าเพราะโฮเวิร์ดใช้ภาษาละติน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งชื่นชอบ เนื่องจากภาษาละตินเป็นภาษาที่ “ตายแล้ว” ความหมายคำจึงไม่ดิ้นไปมาได้เหมือนกับภาษาที่ยังใช้กันอยู่ น่ารู้อีกด้วยว่า การจัดแบ่งประเภทเมฆของโฮเวิร์ดโดยใช้ภาษาละตินได้รับอิทธิพลมาจากการจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตตามหลักอนุกรมวิธานของ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus)

แต่นอกจากสาเหตุนี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นด้วย กล่าวคือ ขณะที่โฮเวิร์ดนำเสนอแนวคิดนี้ต่อสมาคมแอสกีเซียน บรรณาธิการวารสาร Philosophical Magazine (วารสารทางวิทยาศาสตร์เล่มสำคัญในช่วงเวลานั้น) ได้นั่งฟังอยู่ด้วย บทความของโฮเวิร์ดจึงได้รับการตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าว และเผยแพร่ซ้ำในวารสารฉบับอื่น รวมทั้งสารานุกรมอีกหลายเล่มในเวลาต่อมา

โฮเวิร์ดไม่ได้โดดเด่นเพียงแค่เรื่องวิธีคิดเชิงตรรกะและความรู้ภาษาละตินเท่านั้น แต่เขายังเป็นศิลปินสมัครเล่นที่มีฝีมือไม่น้อย ลองดูตัวอย่างภาพวาดสีน้ำของเขาซึ่งจะทำให้เรารู้สึกได้ว่าชายผู้นี้ผูกพันกับเมฆมากเพียงไร

อะไรกันหนอที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ลุก โฮเวิร์ด เป็นชายผู้หลงรักเมฆถึงเพียงนี้ ?

ดร.จอห์น เอ. เดย์ (Dr. John A. Day) นักอุตุนิยมวิทยา ได้ศึกษาประวัติของ ลุก โฮเวิร์ด และเขียนถึงเรื่องแรงบันดาลใจดังกล่าวไว้ในหนังสือ The Book of Clouds ของเขาว่า นอกจาก ลุก โฮเวิร์ด จะมีอุปนิสัยชื่นชอบความรู้ทางธรรมชาติแล้ว ในวัยเด็กเขายังได้รับอิทธิพลจากสภาพลมฟ้าอากาศที่วิปริตแปรปรวนของยุโรปอีกด้วย

ในปี ค.ศ. ๑๗๘๓ ขณะที่โฮเวิร์ดอายุ ๑๑ ขวบ ได้เกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วทวีปยุโรป นั่นคือ ภูเขาไฟลากี (Laki) ในเกาะไอซ์แลนด์ (Iceland) เกิดระเบิดขึ้นหลายครั้งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ปลดปล่อยฝุ่นควันและแก๊สพิษออกมาในปริมาณมาก ประชากรชาวไอซ์แลนด์เสียชีวิตถึงร้อยละ ๒๑ ในช่วง ค.ศ.๑๗๘๓ -๑๗๘๔ เนื่องจากขาดแคลนอาหาร อีกทั้งสัตว์ เช่น แกะ วัว ควาย และม้า ล้มตายจำนวนมากเพราะได้รับสารฟลูออรีนมากเกินไป (การระเบิดครั้งนั้นปลดปล่อยสารฟลูออรีนออกมาราว ๘ ล้านตัน)

ส่วนในฝรั่งเศสเกิดความแห้งแล้ง ฤดูหนาวและฤดูร้อนรุนแรง รวมทั้งพายุลูกเห็บทำลายพืชไร่ในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและซ้ำเติมปัญหาความยากจน กล่าวกันว่าเหตุการณ์นี้เป็นชนวนสำคัญที่ลั่นไกการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๗๘๙

สำหรับเกาะอังกฤษซึ่งโฮเวิร์ดอาศัยอยู่ ฝุ่นควันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๘๓ หนาทึบจนกระทั่งชาวประมงออกเรือไม่ได้ ดวงอาทิตย์มี “สีแดงเหมือนเลือด” ในเวลากลางวันแสกๆ และแดงยิ่งขึ้นอีกเมื่อใกล้ลับขอบฟ้า ส่วนท้องฟ้าก็มีสีสันแปลกตายิ่งนัก

ดร. จอห์น เอ. เดย์ เชื่อว่าสีสันของท้องฟ้าและสภาพลมฟ้าอากาศอันแปลกตานี้เองที่สร้างความประทับใจให้เด็กน้อยลุก โฮเวิร์ด วัย ๑๑ ขวบ จนเขาหลงใหลในท้องฟ้าและหมู่เมฆ เปรียบประดุจรักแรกพบมานับแต่นั้น

ในปี ค.ศ. ๑๗๘๓ นี้ยังเกิดเหตุการณ์สำคัญทางธรรมชาติอีก ๒ ครั้ง คือในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ภูเขาไฟในญี่ปุ่นได้ระเบิดขึ้น โดยลมฝ่ายตะวันตกนำพาฝุ่นผงมาซ้ำเติมบรรยากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นของทวีปยุโรป และวันที่ ๑๘ เดือนเดียวกันมีอุกกาบาตที่สุกสว่างอย่างน่าอัศจรรย์พุ่งผ่านฟากฟ้า ทั้งสองเหตุการณ์นี้อาจทำให้ ลุก โฮเวิร์ด ยิ่งรู้สึกฉงนในท้องฟ้าเข้าไปอีกก็เป็นได้

จริงๆ แล้ว ลุก โฮเวิร์ด เป็นนักธุรกิจ เขาอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนและมีห้องแล็บผลิตสารเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยา แต่ด้วยหัวใจที่รักความรู้ทางวิชาการชักนำให้เขาเข้าร่วมกลุ่มกับเพื่อนในสมาคมแอสกีเซียน ซึ่งก่อตั้งโดยเพื่อนสนิทของเขา ชื่อ วิลเลียม แอลเลน (William Allen) คำว่า Askesian นี้มาจากคำว่า askesis ในภาษากรีก แปลว่า การใช้สมองครุ่นคิดในเรื่องประเทืองปัญญา (intellectual exercise)

สมาคมนี้มีระเบียบง่ายๆ ว่า สมาชิกจะพบกันทุกสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ในช่วงเวลาเย็นประมาณ ๑๘.๐๐ น. สมาชิกแต่ละคนจะต้องอ่านบทความวิชาการที่ตระเตรียมมา (“อ่าน” เพราะว่าสมัยนั้นไม่มีเครื่องฉายแผ่นใส หรือโปรแกรม PowerPoint อย่างเดี๋ยวนี้) หากใครไม่ได้เตรียมบทความมา ก็ต้องเสียเงินค่าปรับ

ด้วยกุศโลบายอันแยบยลนี้เอง สมาชิกของสมาคมฯ จึงได้เรียนรู้เรื่องราวอันหลากหลาย เช่นโฮเวิร์ดเคยนำเสนอเรื่องทฤษฎีการเกิดฝนและการจัดแบ่งประเภทของละอองเกสรดอกไม้มาก่อนการนำเสนอเรื่องการจัดแบ่งประเภทของเมฆ

บุตรชายของ ลุก โฮเวิร์ด กล่าวในงานศพของบิดาซึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๙๑ ปีไว้ว่า

“ภาพดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าอันงดงามนับเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อรู้สึกเบิกบานใจอย่างที่สุด ตอนแรกคุณพ่อจะยืนอยู่ที่หน้าต่าง จากนั้นจะเดินออกไปนอกบ้าน และจ้องมองภาพนั้น จนกระทั่งแสงสุดท้ายลับหายไป”

นี่แหละคือวิถีของชายผู้หลงใหลท้องฟ้าและมวลเมฆอย่างแท้จริง !