เรื่อง/รูป : รอน แรมทาง

 

ภายในห้องจัดแสดง

ราวสิบกว่าปีก่อน จำได้ว่ามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับการพยายามติดตามค้นหา “กูปรี” ในป่าทึบบริเวณรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา

ไม่นานจากนั้น เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บอกกับผมถึงเรื่องการพบ “จระเข้น้ำจืด” ในป่าแควระบมสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา

ต่อมาเพื่อนคนเดียวกันนี้ ก็บอกกับผมถึงหลักฐานร่องรอยที่เชื่อว่าน่าจะเป็น “กระซู่” ที่เขาพบในป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเอง ผมได้เห็นรูปถ่าย “จระเข้น้ำจืด” จากแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของป่าปางสีดา จังหวัดสระแก้ว

แล้วยังมีเสียงร่ำลือถึงข่าว “ช้างแคระ” ซึ่งว่ากันว่ามีผู้พบเห็นตัวอยู่ในป่าลึกบริเวณชายแดนไทยติดต่อมาเลเซีย และป่าละแวกเดียวกันนี้ ก็มีข่าวเรื่อง “แรด” ควบคู่ตามมา

แน่นอน…ข่าวคราวข้างต้น บางข่าวอาจฟังดูบางเบา ทว่าหลายข่าวก็หนักแน่นยืนยันได้ด้วยหลักฐานพยานร่องรอยหรือรูปถ่าย –ถึงกระนั้น ข่าวทุกข่าวก็ค่อย ๆ จางเลือนหายไป ทั้ง ๆ สัตว์ป่าดังกล่าวมีทั้งที่ขึ้นบัญชีเป็น “สัตว์ป่าสงวน” และ “สัตว์คุ้มครอง” …มิพักต้องพูดว่า บางตัวเป็นหัวข้อถกเถียงถึงการเคยมีอยู่ของมันคล้ายราวกับเป็นสัตว์ในตำนานของป่าไทย…

แต่–นับจากกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก็มีข่าวเกี่ยวกับสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่ง ที่สร้างความแตกตื่นรื่นระเริงให้แก่ผู้คนประเทศนี้

“…ไทยกำลังจะได้หมีแพนด้า…”

เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔  ผมไม่รู้ว่า พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเยือนจีนด้วยเรื่องอะไร แต่รู้ว่าการเยือนครั้งนั้นได้มีการขอ “หมีแพนด้า” จากรัฐบาลจีน

จากนั้น ผมก็ติดตามข่าวนี้มาเป็นระยะ…

-๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔  คณะรัฐมนตรีไทยมีมติรับทราบเรื่อง “หมีแพนด้า” แล้วมอบหมายให้องค์การสวนสัตว์ เตรียมปรับปรุงพัฒนาสถานที่สำหรับเลี้ยงและวิจัย

-๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อนุมัติให้สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยง และเดินทางไปดูสถานที่ด้วยตนเอง พร้อมจัดสรรงบประมาณจาก “งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” จำนวน ๓๙,๘๑๘,๓๑๓ บาท เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารขนาดจุผู้ชมได้ ๒๐๐ คน

-เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี จังหวัดราชบุรี ได้รับมอบหน้าที่ให้ลงมือก่อสร้าง โดยกำหนดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ๒๑๐ วัน ขณะเดียวกันมีการส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปศึกษาดูงานการเลี้ยงหมีแพนด้า ยังเกาะฮ่องกง และมณฑลซื่อชวน

-กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๖ งบประมาณการก่อสร้างสถานที่เลี้ยงต้องเพิ่มเติมจากเดิมอีกประมาณ ๗ ล้านบาท รวมเป็น ๔๖ ล้านบาท นอกจากนี้มีข่าวออกมาชัดเจนว่า จีนไม่ได้มอบหมีแพนด้าให้ไทยเป็นเจ้าของ แต่เป็นการให้เช่าภายใต้เงื่อนไขค่าเช่าปีละเกือบ ๓ แสนยูเอสดอลลาร์ โดยมีสัญญาจะให้ไทยได้ทดลองศึกษาวิจัยชีวิตหมีแพนด้าคู่นี้เป็นเวลา ๑๐ ปี หลังจากนั้นจะต้องส่งกลับรวมถึงลูกที่เกิดจากทั้งคู่ด้วย

…และแล้วกระแสหลงหมีแพนด้า ก็ค่อย ๆ ทะลักบ่าไหลท่วมไปทั่วประเทศไทย !

ว่อหลง : บ้านของหมีแพนด้า

พูดถึง “หมีแพนด้า”–ผมจำได้ว่า ตอนปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ขณะเดินทางอยู่ในประเทศเวียดนาม อ่านพบข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

“…จีนกำลังจะเปิดสถานีศูนย์ศึกษาวิจัย ‘แพนด้ายักษ์’ ทางตะวันตกเฉียงเหนือในมณฑลซื่อชวน ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่…”

ผมตัดข่าวชิ้นนั้นเก็บไว้ในสมุดบันทึก และคิดว่าสักวันถ้ามีโอกาสจะแวะไปดู – – แล้วก็เกือบลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท จนกระทั่งอีกเกือบ ๓ ปีถัดมาในระหว่างการเดินทางไป จิ่วไจ้โกว อุทยานแห่งชาติใกล้ชายแดนตอนบนในมณฑลซื่อชวนที่ว่ากันว่ามีสายน้ำสวยที่สุด

ผมหยุดพักแวะกินอาหารเที่ยงที่ตำบลอิ้งซิ่ว ห่างจาก เฉิงตู เมืองเอกของมณฑล ค่อนขึ้นมาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร  จากที่นี่ ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ อันเป็นถนนสายหลัก ตัดบ่ายหน้าพุ่งขึ้นเหนือ แต่ผมสังเกตเห็นถนนลาดยางแคบ ๆ อีกสาย แยกตัวมุ่งสู่ตะวันตก แล้วเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากแผนที่ ก็พบว่า “ว่อหลง” ซึ่งเป็นที่ตั้ง “สถานีศูนย์ศึกษาวิจัยหมีแพนด้า” อยู่ห่างออกไปเพียงราว ๒๕ กิโลเมตร –ทว่าเที่ยวนั้นผมมีเวลาไม่พอสำหรับการแยกออกนอกเส้นทาง…

สองปีต่อมา ผมกลับไปจิ่วไจ้โกวอีกครั้งตอนปลายฤดูใบไม้ร่วง คราวนี้ “ว่อหลง” ถูกผนวกอยู่ในผังการเดินทาง– และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นหมีแพนด้า…

จากตำบลอิ้งซิ่ว ถนนลาดยางสายแคบ โค้งคดไปตามช่องลึกของหุบเขาสูง ภูมิประเทศเกือบตลอดสองข้างทางเป็นป่าทึบเขียวขจี และต้องใช้เวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงกับระยะทางแค่ ๒๐ กิโลเมตรเศษ กว่าจะถึงว่อหลง
ตัวสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยฯ ในวันนั้น ประกอบด้วยกลุ่มอาคารไม่กี่หลัง ส่วนใหญ่เป็นกรงและคอกที่แบ่งซอยไว้สำหรับขังเลี้ยงหมีแพนด้าหลายสิบตัว บรรยากาศโดยทั่วไปดูเคร่งขรึมสงบวิเวกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ราวกับเป็นอาศรมสำหรับบำเพ็ญเพียรของนักพรต

ข้อมูลเท่าที่ผมค้นได้ระบุว่า “ว่อหลงจวื้อหรานเป่าฮู่ชวี” คือชื่อเต็มยศในภาษาจีนของเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ มีอาณาเขตประมาณ ๒ แสนเฮกตาร์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าส่วนตะวันออกของเทือกเขา โฉวฺง ไหล ตั้งแต่พิกัดความสูง ๑๕๕ เมตร จนถึง ๖,๒๕๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ รัฐบาลจีนร่วมมือกับ World Wide Fund for Nature (WWF) จัดทำโครงการสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยหมีแพนด้าแห่งแรกขึ้นที่นี่ แล้วขยายเป็นศูนย์เพาะเลี้ยงหมีแพนด้า ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยระยะแรกมี จอร์จ บี. เชลเลอร์ (George B. Schaller) นักสัตววิทยาชาวอเมริกัน มาร่วมทำวิจัย –เชลเลอร์ทำงานอยู่ที่ว่อหลงนาน ๔ ปี นอกจากผลงานบุกเบิกด้านวิจัย เขายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับหมีแพนด้าที่สำคัญออกมาสองเล่ม คือ The Giant Pandas of Wolong (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๘) และ The Last Panda (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๖)

นับจากนั้น จีนได้ทยอยประกาศเขตอนุรักษ์หมีแพนด้าเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นราว ๑๖ เขต ในจำนวนนี้ ๑๑ เขตอยู่ในมณฑลซื่อชวน และถึงแม้ว่อหลงจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด แต่เขตซึ่งยืนยันว่าสำรวจพบหมีแพนด้าอาศัยในป่าธรรมชาติมากที่สุด กลับเป็นที่ ถางเจียเหอ ปลายเทือกเขา หมินซาน ชายแดนมณฑลซื่อชวน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมณฑลกานซู่

อย่างไรก็ตาม ว่อหลงดูจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่าเขตอื่น เพราะไม่เพียงชื่อเสียงในฐานะ “The International Reserve Net of Man and Biosphere” ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศยกย่องให้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่ยังบวกรวมกับแรงส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จีนพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นทศวรรษก่อน และทุ่มงบประมาณเข้ามาพัฒนาเส้นทางคมนาคมจนเจริญผิดหูผิดตาไปอย่างรวดเร็ว

…ช่วงรอยต่อปลายฤดูใบไม้ร่วงกับต้นฤดูหนาว พ.ศ.๒๕๔๕ ผมใช้เวลาสิบกว่าวันเดินทางตระเวนตามหุบโตรกด้านตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลซื่อชวน จากหุบเขาหมี่ย่าหลอ ขึ้นไปเมืองม่าเอ๋อร์คัง แล้วลงใต้ผ่านเมืองจินชวน มาเมืองตันปา ก่อนจะวกกลับตะวันออก เพื่อแวะเขตอนุรักษ์ธรรมชาติซื่อกูเหนียงซาน และว่อหลง –นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่ผมมีโอกาสไปเยือนสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยหมีแพนด้า

เอ่ยกันตามรูปศัพท์ “ว่อหลง” แปลว่า “หุบเขามังกรนอน”  แล้วหากพูดกันตามนั้น ผมสงสัยว่าหากมีมังกรนอนอยู่ที่นี่จริง มันจะหลับนอนได้สนิทหรือไม่ ?!? เพราะจากบรรยากาศซึ่งเดิมเคยสงบเคร่งขรึม วันนี้กลับกลายเป็นเสมือนแหล่งชุมทางการท่องเที่ยว เต็มไปด้วยโรงแรม รีสอร์ต ตลอดจนร้านขายของที่ระลึก เรียงรายตั้งห้อมล้อมอยู่รอบ ๆ อาณาบริเวณ

ครับ… และนี่คือสภาพในวันนี้ของสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยฯ หรือที่เรียกกันว่าเป็น ‘บ้านของหมีแพนด้า’…