เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช


“ฮาจิเมะโรบอต” (Hajime Robot) กำลังนำถาดจากโต๊ะลูกค้ามาจัดเก็บเพื่อเตรียมส่งล้างภายในร้าน Hajime Robot Restaurant ร้านอาหารแห่งนี้เป็นร้านอาหารแห่งแรกของไทยที่นำหุ่นยนต์มาบริการลูกค้า เจ้าของร้านบอกว่าข้อดีของหุ่นยนต์คือ “ไม่เคยมาสาย ไม่เคยลาป่วย และไม่เคยอู้งาน” 

ปัจจุบัน ความหมายของคำว่า“หุ่นยนต์” (Robot) ยังไม่มีข้อยุตินักวิทยาศาสตร์และสถาบันที่เกี่ยวข้องต่างนิยามความหมายของคำคำนี้แตกต่างกันไป

ดร.ชิต เหล่าวัฒนาผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(FIBO) ผู้ผลักดันและวางรากฐานการศึกษาวิทยาการหุ่นยนต์คนสำคัญของเมืองไทยให้นิยามในทัศนะของเขาไว้ง่ายๆว่า “หุ่นยนต์มีคุณสมบัติ ๓ อย่างคือหนึ่งรับรู้ได้(perception) หมายถึงสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมได้ สองการตีความ(cognition) และสาม มีความสามารถในการเคลื่อนไหว(mobility) คุณสมบัติข้อที่ ๓ นี้เองที่แยกหุ่นยนต์ออกจากเครื่องจักรชนิดอื่นๆ”

โดยคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้เกิดจากอุปกรณ์ที่มาประกอบกันเป็นหุ่นยนต์อาทิเซ็นเซอร์(Sensor) ทำหน้าที่รับความรู้สึกร้อนเย็นตรวจสิ่งกีดขวางถือเป็น perception module ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมวิเคราะห์สิ่งที่รับรู้โดยนำข้อมูลนั้นมาตัดสินใจว่าทำงานต่อไปอย่างไรถือเป็น cognition module สุดท้ายคือ มอเตอร์สายพานองค์ประกอบอื่นๆที่ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวไปยังจุดต่างๆส่วนนี้คือ mobility module

หุ่นยนต์แบ่งเป็นหลายระดับตามความสามารถจากต่ำไปสูงเริ่มตั้งแต่ควบคุมโดยมนุษย์ (Manual-handling device หรือ Tele-Robot) ถูกโปรแกรมทำงานล่วงหน้าโดยไม่สามารถเปลี่ยนแผนได้(Fixed-sequence Robot) ถูกโปรแกรมทำงานแต่ปรับเปลี่ยนแผนงานได้ (Variable-sequence Robot) ผู้ควบคุมสอนหุ่นยนต์และหุ่นยนต์ทำตามสิ่งที่ผู้ควบคุมสอน(Playback Robot) ผู้ควบคุมบันทึกข้อมูลเชิงตัวเลขการเคลื่อนที่ให้หุ่นยนต์หุ่นยนต์จะทำงานเองโดยไม่ต้องสอนงาน(Numerical Control Robot) สุดท้ายคือหุ่นยนต์ที่เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมได้ ตัดสินใจเองได้และทำงานได้ด้วยตัวเอง(Intelligent Robot)

ดร.ชิตยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า “Tele-Robot ที่คนไทยรู้จักดีคือหุ่นยนต์กู้ภัยที่ควบคุมระยะไกล ส่วน Fixed และ Variable-sequence Robot คือแขนกลที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับ Intelligent Robot คือหุ่นยนต์สำรวจอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร”

แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ในภาพยนตร์หรือการ์ตูนมากกว่าหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นใช้งานจริง แม้ว่าทุกวันนี้หุ่นยนต์ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคการผลิตของไทยมากขึ้นแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ชี้ว่า ในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ ร้อยละ ๙๙ ของประชากรหุ่นยนต์ในไทยเป็น “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ฮาร์ดดิสก์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าทุกวันนี้ไทยมีประชากรหุ่นยนต์อุตสาหกรรมราว ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ตัว ในจำนวนนี้มีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งานอาทิ หุ่นยนต์หยิบจับตัวถังรถยนต์(Welding) มีลักษณะเป็นแขนกลขนาดยักษ์ หุ่นยนต์ผลิตฮาร์ดดิสก์ลักษณะคล้ายกล่องเครื่องมือภายในมีกลไกจับชิ้นส่วนขนาดเล็กที่ต้องการความละเอียดในการประกอบเป็นต้น

“หุ่นยนต์อุตสาหกรรมไม่ได้มีหน้าตาเหมือนที่คนชอบจินตนาการว่าจะคล้ายกับหุ่นยนต์ที่เห็นในภาพยนตร์หรือคล้าย ‘อาซิโม’ ของฮอนด้า มันมีรูปร่างเป็นแค่แขนหรือขาเคลื่อนไหวได้หลายแกนทำงานได้เร็วและละเอียดในระดับ ๓/๑,๐๐๐ นิ้ว(เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์) เราไม่สามารถมองการทำงานของปลายแขนนี้ได้ทัน ลำพังตัวเดียวไม่ได้มีความสามารถในการผลิตเหนือมนุษย์มากมายแต่ถ้าต่อมันเข้ากับระบบสารสนเทศและทำงานร่วมกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ตัวอื่นๆสมรรถนะการผลิต(Industrial Productivity) จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะมันทำงานได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาแม่นยำและมีประสิทธิภาพมาก” ดร.ชิตให้ภาพของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม คือหุ่นยนต์ประเภทแรกที่เข้ามาในไทยในฐานะแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ชาญชัย ทรัพยากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ โรงงานบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นซึ่งมาลงทุนในเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ เล่าว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมตัวแรกๆน่าจะเข้ามาเมืองไทยช่วงต้นพุทธทศวรรษ ๒๕๓๐(พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๕) มีลักษณะเป็นแขนกล สำหรับโตโยต้าเริ่มมีการนำมาติดตั้งเป็นครั้งแรกที่โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าสำโรงอำเภอสำโรงจังหวัดสมุทรปราการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ค่ายรถยนต์ที่มาลงทุนสร้างโรงงานในเมืองไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๙ ซึ่งนี่คือปัจจัยที่ทำให้เกิดความจำเป็นในการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต

“ก่อนหน้าทศวรรษ ๒๕๓๐ เราผลิตรถไม่กี่ร้อยคันต่อวันการนำหุ่นยนต์มาใช้ยังไม่คุ้มแต่เมื่อต้องผลิตรถยนต์มากขึ้นเพื่อการส่งออกความเร็วความแม่นยำก็จำเป็นมากขึ้น หุ่นยนต์ที่เรานำมาใช้ช่วงแรกเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่หยิบจับตัวถังรถยนต์และหุ่นยนต์เชื่อมจุดหุ่นยนต์พ่นสีฯลฯซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานหนักและอันตราย” คุณชาญชัยอธิบาย

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบต่อมาที่เข้ามาในเมืองไทย คือหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ทำงานในโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ โดยทำงานแทนมนุษย์ในงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ผลิตฮาร์ดดิสก์มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุงผู้จัดการฝ่ายวางแผนโรงงานเทพารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการเล่าว่าบริษัทซีเกทเทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด เริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาในสายการผลิตตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ช่วงแรกมีลักษณะเป็นแขนกลคล้ายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในโรงงานประกอบรถยนต์ทว่าเมื่อวัสดุที่ใช้ผลิตฮาร์ดดิสก์มีขนาดเล็กลงโดยเฉพาะแผ่นโลหะเคลือบสารแม่เหล็ก(Media) ที่ใช้เป็นจุดบันทึกข้อมูล (มีลักษณะคล้ายจาน) ลดขนาดลงเรื่อยๆ หุ่นยนต์จึงพัฒนารูปแบบเป็นกล่องที่ภายในมีแขนกลสำหรับประกอบชิ้นส่วนต่างๆของฮาร์ดดิสก์เข้าด้วยกันโดย๑กล่อง(ตัว) คิดเป็นสายการผลิต ๑ สาย สามารถป้อนโปรแกรมเปลี่ยนการทำงานได้ตามความเหมาะสม

“ช่วงนั้นความต้องการฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ระบบนี้จึงเข้ามาช่วยเรื่องความเร็วในการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นเพราะหุ่นยนต์ไม่ล้าเหมือนมนุษย์ทำให้ได้ชิ้นงานมีคุณภาพ ถ้าเรายังคงใช้แรงงานคนก็อาจทำได้ไม่เร็วและมีประสิทธิภาพเท่าหุ่นยนต์ อีกอย่างการใช้แรงงานคนผลิตฮาร์ดดิสก์ในปริมาณมากๆสิ่งที่ตามมาคือต้นทุนในการจ้างงานและขยายโรงงาน” คุณศิริรัตน์อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐-๒๕๔๐ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์และฮาร์ดดิสก์ของไทยล้วนนำเข้าหรือ“ซื้อ” จากต่างประเทศตามสเปกที่บริษัทแม่กำหนดมา ไม่ปรากฏว่าในบ้านเรามีการผลิตหุ่นยนต์ออกสู่ตลาดภายในประเทศอย่างจริงจังแต่อย่างใด

ครั้งแรกที่คนไทยสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมขึ้นเองเริ่มขึ้นในปี ๒๕๑๙โดยนักศึกษาปริญญาตรีแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนามว่าชิตเหล่าวัฒนา เขาทำโครงงานวิจัยสร้างหุ่นยนต์แขนกลสำหรับโรงงานอุตสาห-กรรมชื่อ “Industrial Robot, Robo Mod 3 (Model 3)” ซึ่งทำงานได้โดยโปรแกรมที่เขียนขึ้นเอง

ดร.ชิตทบทวนการสร้างหุ่นยนต์ตัวนั้นให้ฟังว่า “ได้แรงบันดาลใจจากรูปแขนกลที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์รายวันเลยสร้างหุ่นยนต์เชื่อมเคลื่อนไหวได ้ ๕ แกน(ทิศทาง) ขึ้นมา ผมพยายามทำให้มันทำงานได้หลายประเภทด้วยนอกจากเชื่อมเป็นลักษณะของงานวิจัย ในตอนนั้นเสียงตอบรับก็ไม่ดีนักไม่มีใครนึกออกว่าทำไมต้องใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมเลยมีคนตั้งคำถามว่าคนไทยจะสร้างหุ่นยนต์เพื่ออะไรแรงงานเราก็มีมากแถมราคาถูก”

หลังจากงานวิจัยชิ้นนี้หลายปี หุ่นยนต์ฝีมือคนไทยมีสถานะเป็นแค่ “งานวิจัย” เท่านั้น ประชากรหุ่นยนต์ไทยทั้งหมดมาจากการสั่งซื้อจากต่างประเทศ และส่วนมากเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ทำงานในโรงงาน ต่างกับญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ที่พัฒนาหุ่นยนต์ประเภทอื่นโดยเฉพาะหุ่นยนต์บริการ จนหุ่นยนต์ออกมามีบทบาทนอกโรงงานและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์

ต่อมามีความพยายามพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับ “วิทยาการหุ่นยนต์” (Robotics) ในสถานศึกษาหลายแห่ง ดังเช่น ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีก่อตั้ง“ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม” ในปี ๒๕๓๘ ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะเป็น “สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม” (Institute of Field Robotics-FIBO) โดยปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ FIBO มีการก่อตั้งห้องปฏิบัติการทดลอง (LAB) เพื่อศึกษาวิทยาการหุ่นยนต์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ BART LAB (Center for Biomedical and Robotics Technology) ของมหาวิทยาลัยมหิดล การก่อตั้งห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นต้น


การประกอบรถยนต์โดยหุ่นยนต์ในสายการผลิตของโรงงานบ้านโพธิ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ในสายการผลิต หุ่นยนต์แต่ละตัวจะรับส่งการทำงานอย่างเป็นระบบตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ พวกมันมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี ๒๕๕๒ อุตสาหกรรมนี้ทำรายได้เข้าประเทศถึง ๒.๗๕ แสนล้านบาท ด้วยปริมาณการผลิตรถยนต์ ๑ ล้านคันเศษ(ส่งออก ๕ แสนคันเศษ)


การทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์บริการชื่อ “ดินสอ” ภายในสำนักงานของบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด “ดินสอ” เคลื่อนที่ด้วยล้อและสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ ออกแบบโดยวิศวกรและทีมงานคนไทยล้วนๆ เพื่อผลิตขายให้ผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆ ที่ต้องการนำหุ่นยนต์ไปใช้งานด้านประชาสัมพันธ์และบริการ

พุทธศักราช ๒๕๕๓ เมื่อคนไทยเริ่มสร้างหุ่นยนต์แข่งกับฝรั่ง

หลายปีที่ผ่านมา ความตื่นตัวเรื่องวิทยาการหุ่นยนต์ของเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น เมื่อนักศึกษาไทยหลายกลุ่มสร้างหุ่นยนต์ออกไปแข่งขันในเวทีนานาชาติและคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมาบ่อยครั้งอาทิการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย(Thailand Rescue Robot Championship) ที่เริ่มจัดเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๔๗ ผู้ชนะการแข่งขันรายการนี้ได้เป็นตัวแทนไปร่วมการแข่งขัน “World Robocup Rescue” ซึ่งทีมจากประเทศไทยคว้าแชมป์ติดต่อกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๒ ยังไม่นับการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทอื่นๆอาทิ Thailand Humanoid Robot Soccer Championship การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ที่จัดมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน World Robocup Soccer: Humanoid League รุ่นต่างๆ ในระดับโลก

ดร.ชิตเล่าว่า การสร้างหุ่นยนต์เพื่อไปแข่งขันหุ่นยนต์ก็ไม่ต่างกับการสร้างหุ่นยนต์ประเภทอื่นคือต้องเริ่มต้นคิดว่า “โจทย์” คืออะไรและโจทย์นี้จะกลายเป็นแผนที่นำทางในการสร้างหุ่นยนต์

“ช่วงเริ่มต้นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งคือความคิดนอกกรอบ หนีจากสิ่งดั้งเดิมที่เคยทำกันมาคือต้องพยายามไม่ดูตำราหรือดูงานคนอื่น ถ้าหุ่นยนต์ที่เราออกแบบไปตรงกับงานของมืออาชีพที่ทำมาแล้วก็แปลว่าเราใช้ได้ แต่ถ้าไม่ตรงกับของใครเลยแปลว่าเราได้ต่อยอดความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว”

จากนั้นต้องตีโจทย์ เพื่อให้ได้ภาพด้านสมรรถนะ (Technical Performance) อาทิ ข้อกำหนดทางวิศวกรรมว่าสื่อสารได้ไกลเท่าไรมีส่วนประกอบอะไร ตัวเลขทางวิศวกรรมเหล่านี้ยังเกี่ยวพันไปถึงรายละเอียดการออกแบบการบำรุงรักษาต้องวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อหาต้นทุนที่เหมาะสมดังนั้น“บ่อยครั้งที่ไอเดียบรรเจิดหลายอย่างไม่สามารถนำไปสู่การสร้างชิ้นงานจริงได้”

ต่อมาคือการพิจารณาระบบโดยรวม (System Design Consideration) ซึ่งต้องคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ โครงสร้างรับแรงบิดและข้อต่อ ลักษณะอุทกสถิตยศาสตร์ (Hydrostatics) อากาศสถิตยศาสตร์ (Aerostatics) แม่เหล็กศาสตร์ (Magnetics) จุดสมดุลระหว่างสถิตยศาสตร์กับพลศาสตร์ ตลอดจนระบบถ่ายพลังงานและการส่งถ่ายกำลังดังนั้นการที่เยาวชนไทยตีโจทย์และสร้างหุ่นยนต์ที่ทำงานได้จริงไปแข่งขันได้รับชัยชนะกลับมาจึงถือเป็นก้าวสำคัญ “สิ่งแรกที่เราได้คือการทำลายแนวคิดที่ว่าไทยไม่ใช่ต้นกำเนิดเทคโนโลยีประเภทนี้เราประกาศแล้วว่าเราเรียนรู้ได้และเอาชนะเจ้าของเทคโนโลยีได้ พูดไม่อายว่าเด็กของเราเทคนิคไม่ดีเท่าเขาแต่ที่ชนะเพราะว่าคนของเราสมานตัวเองกับเทคโนโลยีได้อย่างกลมกลืนคือใช้ได้อย่างยืดหยุ่นและแก้ไขสถานการณ์ได้ดี”

อาจารย์หลายท่านที่เคยดูแลทีมเยาวชนไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ในต่างประเทศต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า เรื่องนี้ถือเป็นประสบการณ์ซึ่งหาได้ยากในเยาวชนชาติอื่น กล่าวคือเยาวชนไทยใช้อุปกรณ์ที่พวกเขาเรียกกันติดปากว่า “เทคโนโลยีบ้านหม้อ-คลองถม” อันหมายถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มาประกอบเป็นหุ่นยนต์ส่วนมากล้วนหาซื้อมาจากตลาดบ้านหม้อและคลองถมซึ่งเป็นตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯทั้งสิ้นเนื่องจากของในตลาดแห่งนี้มีราคาเพียง๑ใน๓เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่ขายอยู่ในต่างประเทศ แน่นอนว่าคุณภาพด้อยกว่าแต่ก็ทำงานได้ระดับหนึ่งและด้วยความที่มันมีปัญหาบ่อยเลยกลายเป็นบทเรียนสำคัญสอนให้เด็กไทยรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างช่ำชอง

“ครั้งหนึ่งในรายการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ต่างประเทศ แสงในสนามจ้าไปจนทำให้เซ็นเซอร์ของหุ่นยนต์ทีมไทยรวนทีมอื่นก็มีปัญหาเยาวชนทีมอื่นคิดไม่ตกว่าควรทำอย่างไรแต่เด็กไทยตัดเอาถุงพลาสติกมาคลุมเซ็นเซอร์เท่านั้นก็ใช้งานได้ปรกตินี่เป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเด็กไทย” ดร.ชิตยกตัวอย่าง

ในการแข่งขันหุ่นยนต์รายการต่างๆ ล้วนมีจุดหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ประเภทนั้นๆ ตัวอย่างการแข่งขันหุ่นยนต์รายการหนึ่งคือ “การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย ๒๕๕๒” (Thailand Humanoid Robot Championship 2009) อันถือเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ (เตะฟุตบอล) รายการที่ใช้เทคโนโลยีสูงสุดในยุคปัจจุบัน เนื่องจากขณะแข่งหุ่นยนต์จะทำงานโดยอัตโนมัติทั้งหมดทั้งนี้นอกจากหุ่นยนต์แต่ละตัวจะมีความสามารถในการเล่นฟุตบอลแล้วยังต้องสามารถรู้จักและสื่อสารกับหุ่นยนต์ในทีมเดียวกันเพื่อเล่นเป็นทีมได้หุ่นยนต์แต่ละตัวต้องประมวลผล(คิดวิเคราะห์ตัดสินใจ) ด้วยตัวเอง ต้องมีโปรแกรมประมวลผลภาพที่จะแยกให้ออกว่าอะไรคือลูกบอลอะไรคือประตูและสามารถลุกขึ้นมาได้เมื่อถูกกระแทกจนล้ม

การแข่งขันรายการนี้เริ่มต้นขึ้นจากความฝันของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการให้หุ่นยนต์มาเตะฟุตบอลกับมนุษย์ภายใน ๔๐ ปีข้างหน้าในเอกสารของผู้จัดการแข่งขันในเมืองไทยที่แจกกับสื่อมวลชนระบุว่าจัดขึ้นเพื่อ“พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติให้แก่นิสิตนักศึกษาพร้อมกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยในการทำโครงการหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนสูง (Advanced Robotics) และที่สำคัญเพื่อหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน World Robocup Soccer: Humanoid League ที่ประเทศสิงคโปร์ในปี ๒๕๕๓”

ภาณุวัฒน์ สินศรานนท์ นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีหนึ่งในสมาชิกทีมKMUTT ที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการนี้เล่าให้ฟังว่า“การแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทนี้มีในต่างประเทศนานแล้ว ปี๒๕๕๒ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดแข่งขันในเมืองไทยดังนั้นสิ่งที่สมาชิกในทีมต้องทำคือแบ่งหน้าที่พัฒนาหุ่นยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์เช่นโปรแกรมควบคุมระบบพลังงานชิ้นส่วนต่างๆที่ต้องเปลี่ยนให้ดีขึ้นต้องทำอยู่ตลอดเวลาก่อนจะถึงวันแข่งขันจริงใครทำสองส่วนนี้ได้ดีกว่าก็เป็นผู้ชนะไป”

การแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทอื่นก็ไม่แตกต่างกันมากนัก คือโจทย์จะเปลี่ยนไป แต่ละทีมที่เข้าแข่งขันก็ต้องสร้างหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์ให้ลุล่วง สมาชิกในแต่ละทีมจะต้องแบ่งหน้าที่เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเช่นเดียวกัน

การแข่งขันอีกรายการหนึ่งที่น่าสนใจคือ “Thailand Rescue Robot Championship” หรือที่คนในวงการเรียกกันติดปากว่า“การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย” ถือเป็นรายการแข่งขันที่มีผู้เข้าร่วมอย่างคึกคักโดยในปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมามีผู้เข้าแข่งขันถึง ๑๐๐ ทีมจาก ๖๔ สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

“บ้านเราถือว่าคึกคักที่สุด เป็นลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้เพราะรายการเดียวกันนี้ในญี่ปุ่นมีทีมเข้าแข่งขันเพียง ๑๐ ทีม” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยเล่าถึงความเป็นมาของการแข่งขันรายการนี้ว่า“โจทย์ของหุ่นยนต์กู้ภัยเป็นโจทย์ที่นักวิชาการคิดขึ้นจากปัญหาที่พบเราไม่ได้จัดแข่งขันเพื่อสนุกอย่างเดียวแต่เป็นการบีบให้พัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้เพราะเวลาเกิดภัยพิบัติอย่างตึกถล่มสิ่งที่ทีมกู้ภัยน่าจะทำคือส่งหุ่นยนต์เข้าไปสำรวจพื้นที่ก่อนเพื่อความปลอดภัยอย่างเหตุการณ ์๙/๑๑ คืนแรกอเมริกาหาผู้รอดชีวิตแทบไม่พบและทีมกู้ภัยที่ตามเข้าไปก็กลัวว่าโครงสร้างที่เหลือของตึกจะถล่มซ้ำลงมาอีกเลยคิดว่าถ้าเจาะรูแล้วส่งหุ่นยนต์ลงไปทำแผนที่หาสัญญาณชีพอย่างน้อยก็จะทำให้งานของทีมกู้ภัยง่ายขึ้นและปลอดภัยกว่าเดิม”

ดร.จักรกฤษณ์บอกว่า หุ่นยนต์กู้ภัยแบ่งได้๒แบบคืออัตโนมัติ(Autonomous) และควบคุมระยะไกล (Tele-Operation) แต่ละแบบมีความยากง่ายในการสร้างต่างกันหน้าตาหุ่นยนต์กู้ภัยเท่าที่มีการสร้างส่วนมากมีลักษณะเป็นรถสายพานลำเลียงมีแขนกลหยิบสิ่งของและยื่นเซ็นเซอร์ไปตรวจสอบสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งหมดออกแบบเพื่อที่จะทำงานในพื้นที่ขรุขระเต็มไปด้วยกองวัตถุกีดขวางและมีอันตรายรอบด้านได้ดีที่สุดแต่ก็มีหุ่นยนต์กู้ภัยที่มีลักษณะเป็นวัตถุบินเช่นกันโดยมีแนวคิดว่าจะสนับสนุนหุ่นยนต์กู้ภัยภาคพื้นดินในเรื่องของการทำแผนที่และการถ่ายภาพทางอากาศ

ทั้งนี้ การแข่งขันหุ่นยนต์แต่ละประเภทถือเป็นการฝึกฝนทักษะของเยาวชน บางรายการยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมแข่งขัน อาทิ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ซึ่งหลังแข่งจะมีการนำข้อดีข้อเสียของหุ่นยนต์แต่ละตัวมาแลกเปลี่ยนกันแบบหมดเปลือก อันจะทำให้วิทยาการด้านนี้ก้าวหน้าไปเร็วมากเพราะต่างฝ่ายต่างอาศัยบทเรียนของอีกทีมมาปรับปรุงหุ่นยนต์ของตนโดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก หุ่นยนต์บางประเภทยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อาทิ หุ่นยนต์กู้ภัย เป็นต้น

เมื่อ ๔-๕ ปีก่อน ความสำเร็จของเยาวชนไทยในการสร้างหุ่นยนต์ไปแข่งขันได้สร้างความหวังให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของเมืองไทยทว่าบ้านเรากลับไม่มีอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่จะมารองรับบุคลากรด้านนี้ จนเมื่อเร็วๆนี้น่าสนใจว่าอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ของไทยกำลังเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้งเมื่อคนไทยกลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้งบริษัทซีทีเอเซียโรโบติกส์จำกัด (CT ASIA Robotics Co., Ltd.) ในช่วงปลายปี ๒๕๕๒ นับเป็นเอกชนรายแรกของประเทศที่ผลิตหุ่นยนต์บริการในเชิงพาณิชย์ขึ้น

พวกเขาเปิดตัวบริษัทพร้อมหุ่นยนต์ชื่อ “ดินสอ” ที่มีความสามารถในการโต้ตอบกับมนุษย์ ปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้ทำงานบริการได้หลายประเภท และกำลังเริ่มบุกตลาดหุ่นยนต์บริการในเมืองไทย

นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังอนุมัติ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ(พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๕)” ที่นำเสนอโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. และ FIBO

แผนยุทธศาสตร์นี้สรุปสถานการณ์และภาพรวมวิทยาการหุ่นยนต์ไทยในปัจจุบันไว้ว่า

ด้านการศึกษาวิทยาการหุ่นยนต์ : ไทยมีกิจกรรมหลากหลายและได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นผลจากความร่วมมือของภาคเอกชนและรัฐอย่างไรก็ตามมีสถานศึกษาที่เปิดสอนเกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์น้อยมาก

ด้านการวิจัยและพัฒนา : ไทยมีศักยภาพแข่งขันกับต่างประเทศได้แต่งานวิจัยและบุคลากรที่ทำงานด้านนี้อย่างจริงจังมีไม่เกิน๔๐คนซึ่งถือว่าน้อยมาก

ด้านการประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์ : ไทยมีการใช้งานหุ่นยนต์หลายสาขาโดยผู้ใช้หลักคืออุตสาหกรรมยานยนต์และฮาร์ดดิสก์ส่วนมากเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศด้วยมูลค่าสูง

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าไทยมีความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงออกยุทธศาสตร์สำคัญ ๕ ด้านเพื่อรองรับ ประกอบด้วย การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อมุ่งเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

คงต้องรอดูต่อไปว่าแผนยุทธศาสตร์นี้จะถูกนำไปปฏิบัติได้จริงมากน้อยเพียงใด


ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยกรุงเทพกำลังออกแบบเปลือกของหุ่นยนต์บริการ ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งมาว่าจ้างออกแบบหุ่นยนต์เพื่อให้บริการลูกค้าในร้าน อัครพงษ์ เอกศิริ หัวหน้า Robotics Laboratory คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ บอกว่าการทำงานนี้ต้องใช้ศาสตร์หลายแขนง นอกจากศาสตร์ด้านเทคนิคยังต้องใช้ศาสตร์ด้านศิลปะด้วย อย่างเช่นเปลือกที่นำมาทดลองสวมหุ่นยนต์นั้นเป็นผลงานของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์



บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทยประจำปี ๒๕๕๒ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อหาตัวแทนประเทศเข้าร่วมแข่งขัน World Robocup Soccer(Humanoid League) 2010 ที่สิงคโปร์ การแข่งขันรายการนี้ถือเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงที่สุดในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการแข่งขันประเภทอื่น ด้วยเมื่อปล่อยตัวลงสนาม หุ่นยนต์จะทำงานโดยอัตโนมัติ ไม่มีการควบคุมหรือแทรกแซงจากมนุษย์แต่อย่างใด


อนาคตของหุ่นยนต์

ไอแซก อาซิมอฟ บัญญัติกฎ ๓ ข้อของหุ่นยนต์ในนิยายวิทยาศาสตร์ของเขาไว้ว่า

๑. หุ่นยนต์จะต้องไม่ทำร้ายมนุษย์หรือนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ได้รับอันตราย
๒. หุ่นยนต์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งมนุษย์ ยกเว้นในกรณีที่คำสั่งนั้นขัดแย้งกับกฎข้อที่๑
๓. หุ่นยนต์จะต้องป้องกันตนเอง ตราบเท่าที่การป้องกันตนเองนั้นไม่ขัดแย้งกับกฎข้อที่๑หรือ๒

ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่ากฎ ๓ ข้อของหุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติหรือไม่ก็ตาม ประเด็นนี้กำลังถูกท้าทายจากการพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์ที่ไม่เป็นไปตามแนวทาง “สันติภาพ”

เพราะปรากฏว่าเริ่มมีการใช้หุ่นยนต์ในการสงครามมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๔๔ ในการสู้รบที่ชายหาดนอร์มังดีระหว่างกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายเยอรมนี ฝ่ายเยอรมนีใช้ Goliat หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “รถถังตัวด้วง” เคลื่อนที่ด้วยสายพานลำเลียงบรรทุกดินระเบิดหนัก ๗๐-๑๐๐ กิโลกรัม เข้าไปจุดระเบิดทำลายสะพานรถถังและสิ่งก่อสร้างต่างๆ

ถึงปัจจุบันมีข้อมูลว่า สหรัฐฯก็ผลิตหุ่นยนต์ทางทหารจำนวนมากและนำไปใช้ในสนามรบสำคัญ ตัวอย่างน่าสนใจคือ RQ-1/MQ-1 Predator อากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle-UAV) ซึ่งสหรัฐฯ ใช้มาตั้งแต่ปี ๑๙๙๕ ในสนามรบที่ปากีสถานอัฟกานิสถานอิรักบอสเนียเซอร์เบียและเยเมน UAV เครื่องนี้ควบคุมจากระยะไกล มีระยะทำการถึง ๗๔๐ กิโลเมตรมีเซ็นเซอร์ตรวจจับข้าศึกบรรทุกอาวุธได้จำนวนหนึ่งเชื่อมต่อข้อมูลกับดาวเทียมเพื่อหาตำแหน่งของตัวเองและเป้าหมายได้ ปัจจุบันอากาศยานไร้นักบินพัฒนาต่อมาถึงรุ่น MQ-9 Reaper ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีความสามารถมากกว่า UAV รุ่นแรกๆ

ค.ศ. ๒๐๐๘ กองบินที่๑๗๔ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันภัยทางอากาศให้นิวยอร์กเป็นฝูงบินแรกของสหรัฐฯที่ทั้งฝูงบินเป็นอากาศยานไร้คนขับทั้งหมดหลังจากปลดระวางเครื่องบินขับไล่F-16 ที่หมดอายุงานแล้วเปลี่ยนมาใช้อากาศยานไร้คนขับ MQ-9 Reaper ทั้งฝูง

หุ่นยนต์สงครามของสหรัฐฯ ที่น่าสนใจคือ TALON ในช่วงเหตุการณ์ ๙/๑๑ หุ่นยนต์ตัวนี้เคยเข้าไปทำงานกู้ภัยในพื้นที่ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มถึง๔๕วันโดยไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์

โดยทั่วไป มันมีหน้าตาคล้ายหุ่นยนต์กู้ภัยที่เห็นกันบ่อยตามสนามแข่งขันบ้านเราหนัก๒๗-๔๕ กิโลกรัมเคลื่อนที่ด้วยล้อสายพานบนตัวติดอาวุธซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการอาวุธจะถูกควบคุมจากระยะไกลโดยมนุษย์ TALON ทำงานได้ทุกสภาพอากาศ มีกล้องส่องเวลากลางคืนกล้องอินฟราเรดตรวจจับความร้อนในระยะ๑กิโลเมตร แบตเตอรี่ลิเทียม-ไออนใช้งานได้ถึง ๗ วันหากจอดนิ่งๆหรือ ๘.๕ ชั่วโมงระหว่างปฏิบัติภารกิจมันถูกนำไปใช้ในสนามรบครั้งแรกปี ๒๐๐๗ เมื่อกองทัพสหรัฐฯส่งไปที่อิรักพร้อมติดอาวุธให้ ถือเป็นครั้งแรกที่หุ่นยนต์ถืออาวุธเข้าสู่สนามรบแต่พวกมันก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกปฏิบัติการแต่อย่างใด

จากข้อมูลที่ปรากฏในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สหรัฐฯ มีอาวุธลักษณะนี้ใน ๓ เหล่าทัพถึง ๑๐ แบบ อยู่ในระหว่างการพัฒนาอีกหลายแบบ หากมองเรื่องต้นทุน การผลิตหุ่นยนต์เพื่อทำสงครามถือว่าคุ้มค่าเช่นกรณีอากาศยานไร้คนขับเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนเพื่อฝึกนักบินหรือติดตั้งระบบรักษาชีวิตภายในเครื่องบินขับไล่ฯลฯการลงทุนสร้างUAV ใช้เงินทุนต่ำกว่ามาก

ดร.ชิตยังยืนยันว่า ปัจจุบันกองทัพปฏิวัติประชาชนจีนผลิตหุ่นยนต์สำหรับทำสงครามขึ้นมาแล้วจำนวนหนึ่งดังนั้นหากสงครามเต็มรูปแบบระหว่างรัฐในอนาคตเกิดขึ้นแน่นอนว่าหุ่นยนต์จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ซึ่งทั้งหมดนี้ขัดกับกฎ ๓ ข้อของอาซิมอฟอย่างสิ้นเชิง

๒๖ กรกฎาคมค.ศ. ๒๐๐๙ หนังสือพิมพ The New York Times รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และนักวิชาการของสหรัฐฯได้มาประชุมร่วมกันที่แคลิฟอร์เนียถึงความเป็นไปได้และผลกระทบจากการที่หุ่นยนต์อาจจะเริ่มตัดสินใจได้เองพวกเขาถกเถียงกันว่าควรจะใส่ระบบอัตโนมัติให้กับหุ่นยนต์ในระดับใดมีความเป็นไปได้ที่โปรแกรมของหุ่นยนต์จะผิดพลาดหรือติดไวรัสหรือไม่ที่น่าคิดคือหุ่นยนต์บางตัวถูกโปรแกรมมาให้มีความสามารถหลายด้านเช่นเติมพลังงานได้เองตัดสินใจโจมตีด้วยอาวุธได้เองจะน่ากลัวแค่ไหนหากพวกมันติดไวรัสยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันไวรัสบางตัวพัฒนาไปถึงระดับที่หลบหลีกการทำลายของโปรแกรมต้านไวรัสได้และมีสถานะเป็น“แมลงสาบที่ชาญฉลาด” อย่างไรก็ตามพวกเขาเชื่อว่าสถานการณ์หุ่นยนต์ลุกขึ้นมาต่อต้านมนุษย์แบบในภาพยนตร์จะไม่เกิดขึ้นแต่ที่น่ากลัวคือความผิดพลาดและอุบัติเหตุจากกรณีไวรัสและความผิดพลาดของโปรแกรมมากกว่า ผู้เข้าร่วมประชุมบางคนยังแสดงความเห็นว่าควรใช้หุ่นยนต์ในการสู้รบหรือไม่โดยเฉพาะกรณีหุ่นยนต์ที่ตัดสินใจได้เอง

นอกจากรายงานชิ้นนี้ เราจะพบเห็นข่าวความก้าวหน้าของวิทยาการหุ่นยนต์ในปัจจุบันซึ่งรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีความพยายามทำให้หุ่นยนต์แสดงอารมณ์ไปจนถึงขั้นมีความรู้สึกไม่ต่างกับมนุษย์ ถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจเริ่มขนลุกเมื่อจินตนาการถึงการโจมตีของหุ่นยนต์ที่หลุดจากการควบคุมอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Terminator III: Rise of the Machines หรือ I, Robot ที่วันดีคืนดีปัญญาประดิษฐ์เกิดเพี้ยนตีความกฎ๓ข้อของอาซิมอฟใหม่ว่าการ“ปกป้อง” มนุษย์คือการ“ควบคุม” มนุษย์จนลุกขึ้นมายึดอำนาจ

“แต่เรื่องแบบนั้นก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์” ดร.ชิตให้ความเห็น ก่อนอธิบายว่าเรื่องเหล่านี้ยังห่างไกลจากความจริง

“เทคโนโลยีล้วนเป็นดาบสองคม อาทิปืนเอาไว้ปกป้องหรือทำร้ายคนอื่นก็ได้แต่คนที่จะนำมาใช้ทำลายมนุษย์ก็คือมนุษย์ด้วยกัน ตอนนี้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกจรวดโทมาฮอว์กของสหรัฐฯก็บินติดตามความร้อนและตัดสินใจเรื่องเส้นทางเข้าสู่เป้าหมายได้หุ่นยนต์สงครามที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ยิงโจรก็มีคำถามว่าถ้าโจรผ่านไปแล้วมันเกิดยิงล่าช้าไปโดนคนอื่นจะเกิดอะไรขึ้นนี่ก็ถือว่าทำลายหลักการไปแล้ว”

ดร.ชิตยังระบุว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ไปถึงระดับที่เห็นในภาพยนตร์ ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษเพราะตอนนี้หุ่นยนต์ที่ฉลาดที่สุดก็ยังสู้ผึ้งไม่ได้ในเรื่องการประมวลผลและตัดสินใจ

“หุ่นยนต์มีระบบตรรกะ เช่นมีรู๒รูให้เข้า ๑ ใน ๒ รูนี้แต่ในความเป็นจริงเราไม่รู้ว่าจะเจออะไรอาจจะเจอรู ๓ รูแล้วจะทำอย่างไรถ้ามีสิ่งที่ไม่ได้คาดหมาย ผึ้งเจอสถานการณ์นี้ยังบินหลบหลีกได้นี่คือสิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ หุ่นยนต์อาซิโมที่ว่าเดินได้ดีที่สุดในตอนนี้ผลักก็จะล้มคะมำภายใน ๕๐ ปีนี้เรื่องการลุกขึ้นมาของหุ่นยนต์แบบในภาพยนตร์ยังไม่น่าเป็นไปได้แต่มีความเป็นไปได้ว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์และมนุษย์นั่นแหละที่ใช้หุ่นยนต์ประหัตประหารและทำเรื่องไม่ดีเสียเอง”

ขณะที่ ดร.จักรกฤษณ์มองว่าเป็นเรื่องอนาคต แต่ดูจากจินตนาการและแนวโน้มก็น่าสนใจว่าถ้าไม่ระมัดระวังก็อาจเกิดเหตุการณ์แบบในภาพยนตร์ขึ้นได้เช่นกัน “เวลาพวกเราสร้างหุ่นยนต์กฎ๓ข้อคือตรรกะตามปรกติเป็นจรรยาบรรณที่ควรมีสมัยที่เรียนปริญญาเอกผมสร้างหุ่นยนต์ที่เป็นหุ่นยนต์อีกตัวที่เหมือนมันได้สร้างหุ่นยนต์โมดูลาร์ที่เหมือนเซลล์ซึ่งเรียงตัวติดกัน ถ้าช่างจินตนาการสักหน่อยวันหนึ่งหุ่นยนต์แบบแรกของผมคงเพิ่มจำนวนแล้วลุกขึ้นมาครองโลกเหมือนในภาพยนตร์ I, Robot ตัวที่ ๒ ถ้าสร้างในระดับนาโนเมตรได้มันอาจเข้าใกล้หุ่นยนต์ไล่ล่าใน Terminator II ที่เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวได้ มองจากฐานเทคโนโลยีเรื่องแบบนี้เป็นไปได้ดังนั้นต้องระมัดระวังและมีมาตรการป้องกันเพราะในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น จินตนาการของผู้สร้างภาพยนตร์ก็ไม่ได้หลุดโลกและหลายอย่างที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นล้วนเกิดจากจินตนาการเหล่านี้”

ในอนาคต หุ่นยนต์จะลุกขึ้นมาครองโลกหรือไม่ หุ่นยนต์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามากแค่ไหน เราจะไว้ใจหุ่นยนต์ได้หรือไม่ บางทีเรื่องที่ต้องกลับมานั่งคิดมากกว่าความกังวลเหล่านี้คือการคำนึงถึง“จิตใจ” และ“ปรัชญา” ของผู้สร้าง

ซึ่งก็คือมนุษย์อย่างพวกเรานั่นเอง

บรรณานุกรม
จักรพันธุ์ กังวาฬ. “โรคหัวใจ มฤตยูเงียบใต้โพรงอก”. สารคดี ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒๕๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙.
เฉลิมพล ปุณโณทก. ไขความรู้วิทยาศาสตร์และศิลปะกับหุ่นยนต์ดินสอ. กรุงเทพฯ : บริษัท ซีทีเอเซียโรโบติกส์จำกัด, ๒๕๕๒.
ชัยวัฒน์ คุประตกุล, ดร. หุ่นยนต์และอาวุธล้างโลก. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๔๘.
ชิต เหล่าวัฒนา, ดร. สมองคนสู่สมองกลอัจฉริยะ. กรุงเทพฯ : ปาเจรา, ๒๕๔๙.
“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ ๒๑ที่คนไทยต้องรู้จัก”. สารคดี ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๗๔ สิงหาคม ๒๕๔๒.
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๕). ๒๕๕๑.

ขอขอบคุณ :
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา, ผศ. ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์, คุณอัครพงษ์ เอกศิริ, คุณเฉลิมพล ปุณโณทก, คุณอดิศักดิ์ โรหิตะศุน, คุณวราภรณ์ พงษ์ไพบูลย์, คุณปิยะวรรณ มูลใจตา, คุณอดิศักดิ์ ดวงแก้ว, คุณศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง, คุณขวัญจิต สุดสวัสดิ์, คุณสัญชัย ทองจันทรา, คุณกิตติ สวัสดิ์วราห์กุล, คุณเจนจิรา บุญยิ่งยงสถิตย์, คุณชาญชัย ทรัพยากร, คุณเกรียงศักดิ์ แก้วชื่น, คุณวรสิทธิ์ หนูเขียว, คุณภูมิสิทธิ์ สิริวโรธากุล, คุณอนันทศักดิ์ สายยนต์, คุณวรัศฐา กัยวิกัย

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทยจำกัด, บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์จำกัด, บริษัท ซีทีเอเซียโรโบติกส์จำกัด, บริษัทซีเกท เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย, Hajime Robot Restaurant