นักเรียนกรุงเทพคริสเตียน วัย ๑๘ ปี
เกษร สิทธิหนิ้ว : เรื่อง / ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ
เป็นความจริงที่ว่า ประเทศเรามีเยาวชนคนเก่งและรู้คิดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ “เสียง” ของเขาดังไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย อย่างกรณีการเปลี่ยนแปลงค่าจีดีพีของระบบเอ็นทรานซ์ ทุกครั้งที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับเด็ก-วัยรุ่น เขาคือแหล่งข่าวอันดับต้น ๆ ที่นักข่าวมักจะติดต่อขอสัมภาษณ์
ไม่ใช่เพราะเป็นนักเรียนเรียนเก่งของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน หรือเป็นนักเรียนในโครงการอัจฉริยะทางภาษาไทย และโครงการอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ของ พสวท. แต่มุมมองที่ “ไม่เด็ก” ของเด็กอายุ ๑๘ ปีที่ได้ติดตามความเป็นไปของสังคมทุก ๆ ด้านอย่างเอาจริงเอาจัง และลงมือเคลื่อนไหวในเรื่องที่เด็กพึงมีสิทธิ์มีเสียงต่างหาก ที่ทำให้ “เสียง” ของเขาเป็นที่ยอมรับในหลาย ๆ เวที
นี่เป็นทัศนะสั้น ๆ ต่อประเด็นที่ว่า เด็กไทยไร้คุณภาพลงทุกวันหรือไม่
“ผมไม่คิดว่าเด็กวัยรุ่นยุคนี้เละเทะอย่างที่เราพูดกัน แต่เป็นเพราะสื่อตีแผ่ความชั่วนั้นออกมาอย่างกว้างขวางมากกว่า สิ่งที่ไม่ดีเราก็ต้องตีแผ่ แต่ต้องถามว่าสื่อส่วนใหญ่ตีแผ่อย่างไร ตีแผ่แบบเป็นการชี้นำหรือไม่ ได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและเสนอเนื้อหาสาระ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือยัง
“เมื่อเกิดปัญหา สื่อก็จะฉายสปอตไลท์ไปยังตัวเด็ก อย่างเรื่องเด็กตีกัน สื่อฉายภาพไปที่ เด็กอาชีวะ จนเรามีแต่ภาพว่าเขาเป็นพวกชอบใช้ความรุนแรง ประเทศเกาหลีใต้เขาถือว่าสายอาชีวะคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเขาเจริญ แต่บ้านเราเด็กสายสามัญดี สายอาชีวะไม่ดี มันเป็นการซ้ำเติม ทำให้คุณค่าของความเป็นอาชีวะลดลง ปัญหาก็เรื้อรังและทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อคุณภาพของสื่อในบ้านเราเป็นอย่างนี้ สภาพสังคมที่มีแหล่งเรียนรู้น้อยกว่าสถานบันเทิงเป็นสิบเท่า มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย ก็พอจะตอบคำถามได้ว่า เด็กปัจจุบันเลว หรือแย่กว่าเดิมไหม
“เรื่องเคอร์ฟิวเด็กผมเชื่อว่ารัฐบาลหวังดี ผมเห็นด้วยในหลักการ แต่ในแนวทางปฏิบัติยังมีช่องโหว่ เช่น เด็กจะใช้เป็นข้ออ้างไม่กลับบ้าน เพราะเคอร์ฟิว สุดท้ายก็ไปมั่วสุมที่อื่น เท่ากับว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็ก แต่ไปเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องเวลา สถานที่ เมื่อมีช่องโหว่อย่างนี้ ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้หลักการมันแน่น ไม่ใช่คัดค้านอย่างเดียว ไม่เอาอะไรสักอย่าง รัฐบาลอาจจะต้องออกกฎหมายให้ครอบคลุม มีผลบังคับทั้งประเทศ ส่วนวิธีปฏิบัติก็ไปปรับให้สอดคล้องกับแต่ละบริบทของสังคมนั้นๆ เด็กบางคนที่ต้องทำงานเลี้ยงชีพในตอนกลางคืน รัฐก็ออกเป็นบัตรอนุญาตให้เขา มันพบกันครึ่งทางได้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้
“อนุสัญญาสิทธิเด็กในกรอบ ๔ บอกว่าเด็กมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการรับรู้สิ่งที่เขาต้องได้รับผลกระทบ ก่อนร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กได้คุยกับเด็กหรือยัง เด็กมองเห็นช่องโหว่ได้ดีกว่า ผู้ใหญ่รู้ไม่ทันเด็กหรอกครับ ต่อให้ผู้ใหญ่ตามทัน เด็กก็มีกลวิธีที่จะเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องเวลา สถานที่ และวิธีปฏิบัติไปเรื่อยๆ
“เราต้องยอมรับว่า เด็กไม่มีความลุ่มลึกด้านความคิดเทียบเท่าผู้ใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ไม่มี แต่เด็กมี คือ ความเดียงสาทางความคิดที่ไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง เราจึงต้องฟังเสียงเด็ก”