โครงการภูมิวัฒนธรรมในการสนับสนุนจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
หงส์ สัญลักษณ์ของคนมอญ
“มอญ” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ มีถิ่นฐานดั้งเดิมบริเวณแคว้นอัสสัมในอินเดีย ก่อนอพยพเข้ามาพม่าตอนใต้ ก่อร่างสร้างบ้านเมืองสืบเนื่องกันตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ คือ เมืองสะเทิม (Thaton) เมาะตะมะ (Martaban) และหงสาวดี (Hansavati)
ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อาณาจักรมอญหงสาวดีถูกรุกรานโดยอาณาจักรใกล้เคียงบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้มีคนมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยามจำนวนมาก จากหลักฐานประเภทพระราช-พงศาวดารพบว่า คนมอญอพยพเข้ามายังสยามหลายครั้ง คือ ในสมัยอยุธยา ๖ ครั้ง ในสมัยกรุงธนบุรี ๑ ครั้ง และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ๒ ครั้ง
ถิ่นฐานบ้านเรือนคนมอญในไทย
ในสมัยอยุธยาคนมอญได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานชานพระนคร และเขตต่อแดนกับเมืองนนทบุรี ปทุมธานี ในสมัยกรุงธนบุรีมีการอพยพเพิ่มเติมเข้ามาที่ปากเกร็ด นนทบุรี ที่สามโคก ปทุมธานี และในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคนมอญอพยพเข้ามาอีก โดยตั้งบ้านเรือนสมทบที่ปทุมธานี นนทบุรี และเคลื่อนย้ายไปยังนครเขื่อนขันธ์หรือสมุทรปราการในปัจจุบันด้วย
คนมอญที่อพยพเข้ามาอาจแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ “กลุ่มมอญเก่า” หมายถึงคนมอญที่เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงก่อนรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มมอญเหล่านี้ถูกผสมกลมกลืนกลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว อีกกลุ่มคือ “กลุ่มมอญใหม่” หมายถึงกลุ่มมอญที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๕๘) และรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗) มอญกลุ่มนี้ยังหลงเหลืออัตลักษณ์ความเป็นมอญอยู่บางพื้นที่ เช่น ชุมชนมอญในเขตนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ สำหรับในเขตกรุงเทพฯ ยังคงมีชุมชนมอญที่รักษาอัตลักษณ์ความเป็นมอญเอาไว้ในปัจจุบัน ดังนี้
ประเพณีเทศน์มหาชาติ ๒ ธรรมาสน์
บนเรือสำเภาจำลอง วัดประดิษฐาราม ธนบุรี
ชุมชนมอญย่านวัดประดิษฐาราม เขตธนบุรี
คนมอญย่านวัดประดิษฐารามริมคลองบางไส้ไก่แห่งนี้คงเหลือคนเฒ่าคนแก่พูดภาษามอญอยู่บ้าง เช่นคุณป้าจินตนา อิ่มวัฒน์ วัย ๘๐ เศษ ยังใช้ภาษามอญสื่อสารกับเพื่อนบ้านในวัยเดียวกัน ส่วนเยาวชนในชุมชนไม่ใช้ภาษามอญสื่อสารกันแล้ว
อัตลักษณ์อื่นที่สะท้อนถึงรากเหง้าความเป็นมอญประกอบด้วยอาหารการกิน เช่น แกงส้ม แกงมะตาด แกงมะสั้น ลูกสล็อต แกงกระเจี๊ยบ รวมทั้งประเพณีที่ยังสืบสานกันมา คือประเพณีเทศน์มหาชาติ ๒ ธรรมาสน์บนเรือสำเภาจำลอง ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันออกพรรษา
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นผู้สร้างวัดสุทธาโภชน์ ลาดกระบัง
(ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ วัดสุทธาโภชน์ ลาดกระบัง
ชุมชนมอญย่านวัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง
ตามประวัติ ชุมชนมอญแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอม-เกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้มีเชื้อสายมอญ กล่าวคือเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นผู้สร้างวัดสุทธาโภชน์นั้นเป็นเหลนของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) และเป็นพระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ (ต้นสกุลกฤดากร) เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนมอญในย่านคลองมอญและคลองลำปลาทิว
ปัจจุบันคนมอญในย่านนี้ยังรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมอญไว้ เช่น อาหารการกินแบบมอญ ความเชื่อเรื่องการนับถือผี การแต่งกาย ภาษาพูดซึ่งยังมีใช้สื่อสารในกลุ่มผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังคงสืบทอดประเพณีอย่างมอญอยู่ เช่น ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ การแข่งเรือพื้นบ้านในคลองลำปลาทิว เป็นต้น
ชุมชนมอญย่านวัดบางกระดี่ วัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน
ชุมชนมอญย่านวัดบางกระดี่และวัดท่าข้ามตั้งอยู่ริมคลองสนามชัยเช่นกัน แต่ต่างกันในเรื่องความเข้มข้นทางอัตลักษณ์ความเป็นมอญ กล่าวคือชุมชนมอญบางกระดี่มีการรักษาอัตลักษณ์อย่างมอญเอาไว้มากกว่าชุมชนมอญท่าข้ามที่แทบไม่หลงเหลือความเป็นมอญให้เห็นในปัจจุบัน เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะย่านท่าข้ามอยู่ใกล้ใจกลางกรุงเทพฯ มากกว่า และอยู่ไม่ไกลจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อซึ่งมีห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ตลอดสองข้างทาง คนมอญแถบนี้จึงซึมซาบวัฒนธรรมไทยของสังคมเมืองสมัยใหม่จนหลงลืมวิถีชีวิตความเป็นมอญไปแทบหมดสิ้น
ชุมชนมอญย่านวัดบางกระดี่นี้ถือว่ารักษาอัตลักษณ์ความเป็นมอญไว้ได้มากกว่าชุมชนมอญอื่น ๆ ใเขตกรุงเทพฯ ทั้งภาษาพูด การแต่งกายและทำอาหารแบบมอญ รวมทั้งยังสืบสานวัฒนธรรมมอญด้านอื่น ๆ ได้แก่ การเล่นสะบ้า การละเล่นมหรสพมอญเรียกว่า “ทะแย” พิธีตักบาตรน้ำผึ้งในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พิธีตักบาตรดอกไม้ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ การกวนกะละแมในวันสงกรานต์ รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ ได้แก่ การรำผีมอญ การเข้าทรงเจ้าพ่อบางกระดี่ เป็นต้น
วิถีชีวิตคนมอญเมืองหลวงเป็นเช่นคนมอญในสังคมลุ่มน้ำ ยังคงลักษณะพึ่งพาและเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติอยู่ เห็นได้จากมีการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของคนมอญในรูปของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยแต่ละครอบครัวยังรักษาวิถีชีวิตพื้นถิ่นอยู่ ได้แก่ ใช้เรือในการสัญจร ลงข่ายหว่านแหหาปลา ทอเสื่อด้วยกก ถักเปลเด็ก และทำแซ่ด้วยโหม่งจาก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ที่บางกระดี่ท่ามกลางสังคมเมืองที่ขยายตัวเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
คลองสนามชัย สายน้ำสำคัญของชุมชนมอญบางกระดี่-ท่าข้าม
วัดท่าข้าม ศูนย์กลางชุมชนมอญในอดีต
แท้จริงแล้วย่านวัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ครั้งหนึ่งเคยมีชุมชนมอญขนาดใหญ่ไม่ต่างจากชุมชนมอญบางกระดี่ในปัจจุบัน แต่ความเจริญด้านวัตถุและวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ที่ขยายตัวเข้ามาในพื้นที่ ทำให้วิถีชีวิตแบบมอญดั้งเดิมสูญสิ้นไป
เดิมพื้นที่แถบนี้เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นฐานคนมอญที่กระจายตัวมาจากสมุทรสาครเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยมีวัดท่าข้ามซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศูนย์รวมจิตใจคนมอญที่นี่ ดังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ในหนังสือ “บางขุนเทียน” : ส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย และกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า “วัดท่าข้ามแต่เดิมเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนมอญแถบคลองสนามชัยและคลองด่าน ซึ่งปัจจุบันยังพอหลงเหลือผู้เฒ่าผู้แก่คนมอญอยู่บ้าง” คนมอญที่ยังหลงเหลือมักรวมตัวกันที่วัดท่าข้ามเพื่อประกอบศาสนพิธีในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา มีการใช้ภาษาพูดสื่อสารในกลุ่มคนวัยเดียวกันสืบต่อมา แต่อัตลักษณ์อื่น ๆ เช่นประเพณีและพิธีกรรมอย่างมอญได้สูญหายไปหมดแล้ว
จิตรกรรมวิถีชีวิตมอญที่ศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม บางขุนเทียน
จิตรกรรมวิถีชีวิตมอญวัดท่าข้าม ภาพสะท้อนสังคมมอญโบราณ
วิถีชีวิตอย่างมอญพบเห็นได้เพียงภาพสังคมมอญโบราณในจิตรกรรมที่ศาลาการเปรียญวัดท่าข้ามหลงเหลือให้หวนรำลึกถึงเท่านั้น
ภายในศาลาการเปรียญบริเวณคอสอ (แผ่นไม้ที่ประกบติดระหว่างหลังคากับชายคา) และส่วนของจันทัน (แผ่นไม้ที่ประกบด้านล่างหลังคาอยู่ระหว่างเสา) ปรากฏภาพจิตรกรรมทั้งทศชาติชาดกและวิถีชีวิตชาวมอญในอดีต กล่าวคือ
ศาลาการเปรียญวัดท่าข้ามเป็นอาคารไม้สักขนาดใหญ่ มีเสาประกอบอาคารจำนวน ๘ ต้น ระหว่างเสาบริเวณคอสอ ปรากฏภาพจิตรกรรมเรื่องทศชาติชาดกช่องละ ๑ พระชาติ แบ่งเป็นด้านข้างซ้ายขวาจำนวน ๘ ช่อง และด้านสกัดคือด้านทิศตะวันตก-ตะวันออกอีก ๒ ช่อง รวมเป็น ๑๐ ช่อง สิบพระชาติของพระพุทธเจ้า คือ พระเตมีย์ชาดก พระมหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก พระเนมีราชชาดก มโหสถชาดก พระภูริทัตต์ชาดก วิทูรบัณฑิตชาดก พระพรหมนารทชาดก พระจันทกุมารชาดก และพระเวสสันดรชาดก
บริเวณท้องจันทันซึ่งอยู่ถัดจากคอสอลงมาเป็นภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตและพิธีกรรมของชาวมอญในอดีต จากจันทันด้านทิศใต้วนตามเข็มนาฬิกาประกอบด้วยภาพต่อไปนี้
ภาพวิถีชีวิตผู้คนย่านท่าข้ามเมื่อครั้งยังทำนากันอยู่ ลุงสังเวียน พลับพลึงสี สัปเหร่อประจำวัด ให้ข้อมูลว่าเดิมพื้นที่แถบนี้เป็นทุ่งนา ผู้คนค่อย ๆ เลิกทำนาราว พ.ศ. ๒๕๐๐ ด้วยที่ทางเริ่มอัตคัดและมีการปลูกสร้างบ้านเรือนมากขึ้น ดังภาพเกี่ยวกับการทำนาได้แก่
ภาพพ่อลูกถือคันไถเทียมควายกำลังไถนาเพื่อเตรียมการปักดำ
ภาพผู้หญิงสองคนกำลังปักดำ สอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในชุมชนว่าท้องนาแถบท่าข้ามในอดีตนั้นมีน้ำมาก ทำนาหว่านไม่ได้ผลเพราะเมล็ดข้าวจะลอยไปตามน้ำจึงต้องใช้การปักดำเป็นหลัก
ภาพการลงแขกเกี่ยวข้าวหลังจากเมล็ดข้าวโตเต็มรวง
ภาพการนวดข้าวและรวมข้าวให้เป็นกองก่อนนำเข้ายุ้งฉางเพื่อเก็บไว้ใช้ในครัวเรือนและเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูกาลต่อไป
ภาพกลุ่มชาวมอญชายหญิงกำลังนั่งเฉลิมฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยว
ภาพต่อจากชุดวัฒนธรรมการทำนาเป็นภาพเกี่ยวกับพิธีกรรมในชีวิตดังนี้
ภาพประเพณีและพิธีกรรมการปลงศพของชาวมอญ เป็นภาพชายฉกรรจ์กำลังเลื่อยไม้เตรียมต่อโลงศพซึ่งเรียกว่า “อะลา” และเตรียมทำพิธีเผาศพที่ตายดี อนึ่งตามคัมภีร์โลกสิทธิของชาวมอญจะพิจารณาว่าศพนั้นตายดีหรือไม่ หากตายดีจะมีการต่อโลงและประกอบพิธีกรรมอย่างสมเกียรติ ทว่าหากตายไม่ดีจะต้องนำศพไปฝังเท่านั้น
ภาพต่อมาเป็นพิธีเผาศพของชาวมอญ ในภาพมีผู้หญิงเตรียมประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงแขกเหรื่อ ส่วนการฌาปนกิจศพมีกองไฟไว้ให้ผู้เข้าร่วมพิธีนำธูปเทียนต่อไฟกองดังกล่าวเพื่อเผาศพ
อาจารย์อำพล คมขำ ผู้ทำวิจัยเรื่อง “จิตรกรรมภายในศาลาการเปรียญวัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร” ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพผู้ชายสองคนยืนขนาบเมรุเผาศพซึ่งไฟกำลังลุกโชน โดยอธิบายว่าอาจเป็นพิธี “โยนผ้าราไฟ” อันเป็นการโยนผ้าข้ามโลงศพไปมา ๓ ครั้ง ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่าไฟที่แผดเผาไหม้ศพผู้ตายเปรียบเสมือนไฟแห่งโลภะ โทสะ โมหะ และผ้าที่โยนไปมาโดยไม่ถูกไฟไหม้นั้นเปรียบได้กับจิตใจบริสุทธิ์ของผู้ตายที่มุ่งสู่ความหลุดพ้นจากอคติทั้งปวง
ภาพกลุ่มคนกำลังเสพยา อาจเป็นฝิ่น
ภาพลำดับถัดมาเป็นภาพนรกภูมิ ที่คนทำบาปกำลังถูกลงทัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ
ภาพพิธีศพชาวมอญอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคนที่ตายไม่ดี ในภาพมีการหามหีบบรรจุศพ มีคนอุ้มกระบุงวิญญาณที่เรียกว่า “เปิงหะนาว” ภายในมีเสื้อผู้ตายและกระจกเร่งเดินนำหน้าเพื่อไปฝังที่ป่าช้า โดยนำศพมัดตราสัง วางบนไม้ไผ่สานคล้ายฟาก มีชายอีกหนึ่งคนขุดหลุมฝังศพ
ภาพจิตรกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนท่าข้ามแต่เดิมเคยเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ หลายภาพสะท้อนถึงวิถีชีวิตชาวมอญท่าข้ามในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการทำนา การสังสรรค์ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มคนมอญด้วยกัน รวมถึงพิธีกรรมปลงศพอันเป็นแบบแผนเฉพาะกลุ่มที่ทุกวันนี้แทบไม่ปรากฏให้เห็น
กล่าวได้ว่าสภาพสังคมมอญในเมืองหลวงยุคปัจจุบัน แม้อัตลักษณ์ความเป็นมอญยังมีอยู่แต่ก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมอื่นจากภายนอกที่ทันสมัยกว่าและปราศจากรากเหง้าเช่นวัฒนธรรมมอญแต่เดิมซึ่งสืบทอดมาอย่างยาวนาน หากเยาวชนในท้องถิ่นไม่ได้รับการปลูกฝังให้เห็นคุณค่าด้วยแล้ว ไม่นานเกินชั่วอายุคน วัฒนธรรมดั้งเดิมของมอญในเมืองหลวงคงสูญหายจนไม่อาจสืบสาวได้ว่าบรรพบุรุษเป็นใครมาจากไหนโดยแน่แท้