คำว่า “นิตยสาร” หรือ magazine มีรากศัพท์มาจากภาษาอารบิก แปลว่า โกดังเก็บของ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะนิตยสารเก็บเรื่องราวและรูปภาพที่หลากหลายทั้งยาวสั้นและใหญ่น้อยไว้ในที่เดียวกัน

“การออกแบบ” (design) ไม่เพียงแต่ทำให้โกดังเก็บเรื่องอย่างนิตยสารสะดุดตาสะดุดใจคุณผู้อ่าน แต่ยังแสดงออกถึงบุคลิกภาพเฉพาะ และช่วยนำทางให้คุณผู้อ่านได้เดินเข้าไปหยิบ “ของ” ที่สนใจเฉพาะตัวในโกดังแห่งนี้ได้โดยง่ายด้วย

นิตยสารเกิดขึ้นมาในโลกนี้ราวศตวรรษที่ ๑๘ และงานออกแบบนิตยสารก็ทำหน้าที่ของมันตั้งแต่ยุคนั้นจวบจนถึงยุคนี้ – อันเป็นยุคที่รูปร่างหน้าตาของนิตยสารมีความจำเป็นและสำคัญต่อการอยู่รอดอย่างยิ่งยวด

จำนงค์ ศรีนวล เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการฝ่ายศิลป์คนแรกของ สารคดี เป็นผู้ออกแบบทั้งเนื้อตัวและหัว สารคดี รุ่นคลาสสิกที่ผ่านมา ปัจจุบันเขาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด ดูแลรูปร่างหน้าตาหนังสือเล่มของสำนักพิมพ์ในเครือ

ในสายตานักออกแบบนิตยสารและหนังสือคนหนึ่ง นิตยสารในอดีตและปัจจุบันที่เขาเคยได้ดูและอ่านเหล่านี้ มีอิทธิพลทางความคิดทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา

เฟื่องนคร
“ช่วงที่เรียนอยู่ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนังสือชุดของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และเพื่อนหนุ่ม นี่น่าสนใจที่สุด เป็นงานที่อาร์ติสต์ นักเลย์เอาต์หนังสือ มาช่วยกัน มารวมกันได้ลงตัว เป็นหนังสือชุดที่รุ่นผมถือว่ามีการออกแบบที่จ๊าบมาก ฟอนต์บนปกหนังสือเขาก็ประดิษฐ์เอง มีฟอนต์แปลก ๆ ให้ดู ผมดูการเขียนภาพประกอบของ ช่วง มูลพินิจ การเขียนการ์ตูนของ ต่าย’ตูน การเลย์เอาต์หนังสือซึ่งใช้สง่าย ๆ มีแถบสีที่แตกต่างไปแต่ละเดือน เขาจะตั้งชื่อและมีคอนเส็ปต์ของเขา เช่น ‘พฤษภาคม อุไร’ ‘เมษายน ระวี’ ‘กันยายน สะคราญ’

“อิทธิพลของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มันมีมากสำหรับคนรุ่นผม บางทีเขาจะมีศัพท์แปลก ๆ มาให้อ่าน และในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓ นั้น psychedelic art (ศิลปะที่แสดงออกถึงความรื่นเริงในจิตของศิลปินที่เกิดจากการเสพยาหรือกัญชาซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดประสาทหลอน) กำลังฮิต เดิม ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขาเป็นฮิปปี้กลับมาจากอเมริกา เขาจะเอางานสไตล์นี้เข้ามามีบทบาทมาก ในหนังสือชุดนี้จะมีภาพเพนต์เป็นรูปดอกไม้ ผีเสื้อสวย ๆ อย่างในยุคบุปผาชน

“คนที่ทำภาพประกอบ เขียนตัวหนังสือ ทำโลโก้ ให้หนังสือชุดนี้ ผมถือว่ามันสุดยอดแล้วสำหรับดีไซน์เฉพาะอย่าง แม้ว่าไม่ได้จัดคอมโพสิชันแบบหนังสือสมัยใหม่ หรือแบ่งหน้าหนังสือเป็นกริด เพราะเส้นทางของการออกแบบหนังสือของไทยไม่ได้มาอย่างที่เอาสิ่งพิมพ์เป็นตัวตั้ง ไม่ได้เป็นระบบอุตสาหกรรม มันเหมือนเป็นกึ่ง ๆ หัตถกรรม

“เป็นหนังสือที่ผสมผสานทั้งงานวรรณกรรม ทั้งงานออกแบบสิ่งพิมพ์ ตัวหนังสือ ทั้งงานดรออิ้งที่อยู่ภายในเล่ม ผมอ่านด้วย ดูด้วย ฝึกดรออิ้งไปด้วย”

LIFE
“ผมสนใจ LIFE จริง ๆ จัง ๆ ประมาณปี ๒๕๑๒ ที่ นีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์ ตอนนั้นที่เพาะช่างเขาเอาทีวีมาตั้งให้นักเรียนดูถ่ายทอดสด เป็นที่ฮือฮามาก LIFE ลงภาพของ นีล อาร์มสตรอง และมีรูปโลกที่ถ่ายจากดวงจันทร์ด้วย ภาพที่เห็นทำให้เราเริ่มสนใจภาพถ่ายมาตั้งแต่ต้น ที่เรียกได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราสนใจการถ่ายภาพ แต่เนื่องด้วยตอนนั้นยังไม่มีสตางค์ซื้อกล้อง ก็สนใจเปิดดูเฉย ๆ

“ชอบการจัดวางเลย์เอาต์ที่มันค่อนข้างเด็ดขาด ชัดเจน ใช้ภาพที่แสดงท่าทางและแอ็กติ้งมาก คือไม่ใช่ภาพแบบเร้าอารมณ์หรือดรามาติก แต่เป็นเหมือนคนชอบร้องตะโกนโวยวาย อเมริกันชอบประกาศตัวเอง เขาจะมีวิธีการสร้างฮีโร่ อย่างเช่นเวลาปราศรัยก็มีธงชาติอเมริกันติดอยู่หลังประธานาธิบดี วิธีการถ่ายภาพที่ LIFE เอามาใช้ เป็นวิธีที่ภาพถ่ายทำงานได้ผลมาก ทำให้เกิดผลกระทบและชี้นำความคิดของผู้อ่านอย่างมาก จนมีลักษณะเป็นโฆษณาชวนเชื่ออยู่ด้วย สมมุติว่าภาพที่ควรจะมีเฟรมยาว ๆ ก็อาจจะครอปเข้ามาจนทำให้รู้สึกว่า คนคนนี้หรือกลุ่มนี้เป็นฮีโร่ มีองค์ประกอบที่คับ ๆ ทำให้เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจกับมัน attractive มาก ๆ ใช้สีขาวจัดดำจัด โพสต์ท่าค่อนข้างรุนแรง มันทำให้เราเชื่อ ทำให้เราเคลิ้ม ในการนำเสนอเขาจะแยกประเด็นชัดเจน ให้เข้าใจง่าย และเราก็ซึมซับมันเข้าไป อย่างเล่มที่รวม ๑๐๐ คน (ฉบับ The 100 Most Important Americans of the 20th Century) ดูแล้วรู้สึกว่าทำไมคนเก่งสาขาโน้นสาขานี้ไปรวมอยู่ที่อเมริกาหมด สุดยอดเลยนะ หรือเวลาที่ LIFE ลงภาพความโหดร้ายและความน่ารันทดของสงครามให้ดู แต่พอคนดูแล้ว อเมริกาจะเป็นพระเอกอยู่ดี ”

National Geographic
“ตอนที่เป็นนักศึกษา ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรียลิสติกนี่มีพลังในตัวเอง ส่วนมากเวลาเรียนอาร์ต จะไปทางครีเอทีฟเสียมาก พอมาเห็น National Geographic แรก ๆ เราก็ยังไม่รู้ตัว รู้แต่ว่ามันสวย มันดี จากนั้นจึงค่อย ๆ เรียนรู้จากมันว่าภาพเรียลิสติกนี่มันมีพลัง ถ้าหากเราทำให้มันเข้าที่เข้าทางหรือทำเป็น มันจะมีพลังมาก ๆ ถึงแม้ว่ามันอยู่ในนามของความเป็นสารคดี (feature) ก็ตาม

“จริง ๆ แล้วการถ่ายทอดสังคมของ LIFE กับ National Geographic ก็คล้าย ๆ กัน คือมีลักษณะการใช้สื่อถ่ายทอดตัวหนังสือและภาพเหมือนกัน แต่วิธีที่ให้พลังกับภาพนี่ไม่เหมือนกัน ภาพของ National Geographic จะให้เห็นประเด็นง่าย ๆ กว้าง ๆ ไม่ได้สื่อเข้าไปถึงบุคลิกภาพโดยตรงของบุคคลในภาพอย่าง LIFE National Geographic ทำน้อยแต่ว่ามีพลังมากเหมือนกัน คือมาในแง่ของความอิ่มเรื่องสี อิ่มเรื่องข้อมูล รายละเอียดของเนื้อเรื่อง เรื่องความยากในการถ่ายภาพ เช่น ถ่ายนกบินเป็นสเต็ป ๆ

“National Geographic เป็นหนังสือที่ทำให้เราต้องมองตัวเองใหม่ วางตำแหน่งของความเป็นนักดูกับนักถ่ายทอดใหม่ ทำให้ผมต้องมาดูว่า เขาถ่ายภาพนี้หมายความว่าอย่างไร”

COLORS
“COLORS เพิ่งออกมาได้ไม่นานนี้เมื่อผมเลยวัยหนุ่มแล้ว แรก ๆ เห็นแล้วยังไม่มีสิ่งกระทบใจนัก แต่ตอนหลังมีรูปช้างในประเทศไทยมาลง ผมก็รู้สึกว่าภาพถ่ายนี่มันไม่ต้องมีตัวหนังสือบรรยายมาก แต่มันให้ผลกระทบในแง่ความคิด เพียงภาพเดียว สองภาพจบ ไม่ต้องมาบรรยายกันมาก ผมมองว่าสังคมมันซับซ้อนขึ้น เราพูดอะไรเยอะ ๆ ด้วยภาพรวมทั้งหมดไม่ได้ ถอดออกมาชิ้นสองชิ้นแบบจิ๊กซอว์แล้วทำให้เกิดผลเท่านั้นพอ

“วิธีการนำเสนอของเขาค่อนข้างดี อย่างฉบับวาเลนไทน์สเปเชียลนี้ มันถึงเลือดถึงเนื้อ เป็นนิตยสารที่มีความแปลก ดิบ เถื่อน ตรงไปตรงมา เพี้ยนนิด ๆ ในขณะที่คนทำนิตยสารบ้านเรามักจะไม่กล้านำเสนอสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังแต่น่าสนใจ เพราะกลัวจะไม่ขาย เรามักเลือกของที่ลงตัวมากกว่า

“ถ้าถามว่านี่เป็น art ไหม มันก็ไม่เป็นเสียทีเดียว แต่มันมีสารที่สื่อกับเราได้และอธิบายเรื่องกับเราได้”