เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์


แต่ละคุ้มบ้านของหมู่บ้านเลตองคุจะมีป้ายชื่อสมาชิกติดอยู่ด้านหน้า นามสกุลส่วนใหญ่ตั้งโดยเจ้าหน้าที่ราชการที่มาทำทะเบียราษฎร์ คนที่ไม่มีนามสกุลเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีสัญชาติไทย


รอบระเบียงอาคารบ้านเรือนของคนกะเหรี่ยงฤาษีจะกั้นด้วยแผ่นไม้ฉลุลายสวยงาม และยังทำให้คนในภาพดูเด่นขึ้นเมื่อได้ลวดลายเหล่านั้นเป็นฉากหลัง


เพียงภาพแรกที่เห็นหมู่บ้านปรากฏอยู่ตรงหน้า ก็ให้ความรู้สึกตื่นใจไหวระรัวด้วยเรื่องราวภูมิหลังของหมู่บ้านที่เคยรับรู้มาก่อน
กระท่อมไม้ไผ่และบ้านไม้ยกพื้นสูง กั้นขอบระเบียงด้านหน้าด้วยไม้กระดานฉลุลาย เรียงรายอยู่สองฟากทางซึ่งกว้างพอให้รถยนต์แล่นผ่านได้-แม้ว่าหมู่บ้านนี้จะไม่เคยมีรถยนต์เข้ามาถึงเลย ปลายถนนทอดหายเข้าไปในหมู่บ้าน นำคนเดินทางเข้าไปรู้เห็นความลึกเร้นของเลตองคุคล้ายเป็นตำนานปรัมปราที่เลือนรางในความรับรู้ของผู้คนในเมือง เกี่ยวกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีแห่งป่าตะวันตก ความมีอยู่จริงของชุมชนที่ผู้คนทั้งชายหญิงไว้ผมยาวเกล้ามวย และยังแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าประจำเผ่าก็บ้านเมืองในยุคสมัยนี้แล้ว แทบจะดูเหมือนไม่มีชุมชนตกสำรวจหลงเหลืออยู่ในเขตประเทศไทยอีก และกระแสความเจริญของโลกสมัยใหม่ก็แพร่กระจายเข้าเจาะทะลวง สร้างความเปลี่ยนแปลงและชักนำผู้คนออกมาสู่โลกภายนอก จะเป็นเกาะเปลี่ยวร้างกลางทะเลไกล บนดอยสูงกลางการโอบล้อมด้วยทิวผาซับซ้อน หรือหมู่บ้านห่างไกลสุดชายแดน ยังมีหมู่บ้านที่ไม่มีความกระจ่างชัดในความรับรู้ ไม่เคยถูกทำวิจัย ไม่มีคำตอบหรือคำอธิบายในรูปของเอกสารวิชาการอยู่อีกหรือ ?

บางที เลตองคุอาจเป็นชุมชนหนึ่งที่ท้าทายต่อคำถามนี้


จนทุกวันนี้คนในชุมชนก็ยังคงดำรงตนกันอยู่ในวิถีเดิม เมื่อมาที่สำนักฤาษี หากไม่ได้แต่งกายในชุดประจำเผ่า ผู้ชายจะถอดเสื้อและเครื่องประดับต่างๆ ออกหมดเป็นการแสดงความนอบน้อมต่อองค์ฤาษี


กรุงเทพฯ-เลตองคุ

ชาวเลตองคุยุคนี้ทุกคนยังรับรู้เรื่องที่ปู่ย่าตายายเล่าต่อกันมาว่า กรุงเทพฯ กับเลตองคุสร้างวันเดียวกัน สองเมืองนี้จึงมีความเกี่ยวโยงกันอยู่ สถานการณ์หรือความเป็นไปใดๆ
ที่เกิดในที่หนึ่ง จะสะท้อนถึงชะตาของอีกเมืองได้ เพราะเมืองทั้งสองสร้างวันเดียวกันจึงมีดวงเมืองเดียวกัน

เรื่องเล่านี้เป็นมุขปาฐะปากเปล่าที่ไม่อาจหาข้ออ้างอิงในเชิงเอกสาร ด้วยการจดบันทึกเป็นเรื่องนอกเหนือวิถีชีวิตของชาวเผ่ายุคโบราณ แต่ดูจากทำเลที่ตั้ง ตรงนั้นเป็นที่ตั้งเมืองได้จริง

เลตองคุเป็นเพียงหมู่บ้านชนเผ่าก็จริง แต่ที่ตั้งชุมชนไม่ได้อยู่บนยอดดอย ไหล่เขา หรือหุบแคบๆ อย่างบ้านชาวเผ่าทั่วไป หากตั้งอยู่บนแนวเนินกว้างขวางพอจะตั้งเมืองได้ ถัดออกไปรอบนอกขนาบด้วยผาเขาสูงเป็นกำแพงธรรมชาติ

ตัวชุมชนตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ ๓ สาย ไพล่ให้นึกไปถึงเมืองลี่เจียง เมืองมรดกโลกของมณฑลยูนนาน (จีน) บ้านเรือนจำนวน ๒๐๐ กว่าหลังคากระจายกันอยู่ตามระลอกเนิน ที่กว้างพอให้บ้านแต่ละหลังตั้งอยู่ห่างๆ กันได้ มีพื้นที่ในแนวรั้วพอจะทำสวนครัวและปลูกไม้ยืนต้นพื้นบ้าน ได้อาศัยดอกผลและความร่มรื่น และเป็นความชุ่มชื่นแก่ผืนดิน นอกเหนือจากที่ปลูกเป็นสวนโดยเฉพาะ ซึ่งอาจแยกอยู่อีกที่หนึ่งต่างหาก จากขนาดพุ่มของไม้ผลและความสูงของต้นหมากมะพร้าวในหมู่บ้าน พอมองเห็นได้ว่าพวกเขาคงไม่ได้เพิ่งตั้งถิ่นฐานกันวันสองวัน เมืองกรุงเทพฯ มีอายุ ๒๐๐ กว่าปี เลตองคุก็คงไม่น้อยกว่านั้น

แต่โดยฐานะตามเขตการปกครองปัจจุบัน เลตองคุก็เพียงหมู่บ้านหนึ่งของตำบลแม่จัน ในเขตอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่มีอาณาเขตกว้างขวางขนาดเดินกันเป็นหลายชั่วโมงหรือเป็นครึ่งค่อนวันกว่าจะถึงหมู่บ้านใกล้เคียง เว้นแต่ทางตะวันตกที่อยู่ริมตะเข็บชายแดน เพียงข้ามฝั่งแม่น้ำสุริยะเข้าไปก็เป็นหมู่บ้านพี่น้องกะเหรี่ยงฝั่งพม่าร่วม ๒๐-๓๐ หมู่บ้าน

จากเลตองคุมีเส้นทางเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ๓ สาย ทางแรกตัดตรงออกไปยังบ้านเปิ่งเคลิ่ง จากที่นั่นจะมีรถสองแถวโดยสารวิ่งเข้าตัวอำเภออุ้มผางที่อยู่ห่างออกไป ๘๗ กิโลเมตร แต่ระยะทางราว ๑๖ กิโลเมตรจากหมู่บ้านเลตองคุออกมาถึงทางรถที่บ้านเปิ่งเคลิ่งนั้น เป็นเส้นทางเล็กแคบผ่านไหล่เขาสูงชัน มีช่วงที่ต้องผ่านลำห้วยและผ่านช่องหินแคบ จึงสัญจรได้แต่การเดินเท้ากับใช้รถมอเตอร์ไซค์ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จึงนิยมใช้เส้นทางอ้อมไปทางตะวันตก ข้ามแม่น้ำสุริยะที่เป็นเส้นแบ่งแดนประเทศ เข้าไปอาศัยเส้นทางในเขตพม่าช่วงหนึ่ง ก่อนวกกลับเข้าฝั่งไทยที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ซึ่งโดยระยะทางจะไกลกว่า ทั้งยังต้องจ่ายค่าผ่านทางให้ทหารพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงไม่น้อยกว่า ๔ ด่าน แต่เป็นทางราบและกว้างพอสำหรับรถอีแต๊กที่ชาวบ้านประยุกต์ใช้รถไถนาเดินตามต่อพ่วงกระบะไม้เป็นรถบรรทุกอเนกประสงค์ โดยจ่ายค่าผ่านทางด่านละ ๔๐ บาทเป็นขั้นเริ่มต้น หากบรรทุกสินค้าข้าวของก็จะถูกคิดบวกไปตามอัตรา

ส่วนอีกทางเป็นเส้นทางเก่าแก่ ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพียงทางเดินเท้าผ่านป่าเขา จากหมู่บ้านออกไปทางตะวันออก ตัดข้ามเทือกเขาสูงเชื่อมไปยังหมู่บ้านพี่น้องกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้หลายสิบหมู่บ้าน ทั้งในเขตจังหวัดตากไปจนถึงกาญจนบุรี และเราก็ได้อาศัยเส้นทางสายนี้เข้าสู่เลตองคุ


ลุกหลานเลตองคุรุ่นใหม่ กับทิวสวนหมากที่ยืนต้นสูงชะลูดเป็นหลักหมายบอกระยะเวลายาวนานของการตั้งถิ่นฐาน


ในหมู่บ้านแห่งนี้แม้แต่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ก็รู้จักเลี้ยงน้องเป็นแล้ว แต่ผมของเธอและรวมถึงเด็กหญิงคนอื่นๆ ทั้งหมู่บ้านจะถูกโกนเกลี้ยงหัว จนกว่าจะดูแลรักษาความสะอาดเองได้ จึงปล่อยผมยาวและไม่มีการตัดทรง


เดินทางกลางป่า อุ้มผาง

บ้านหม่องกั๊วะและบ้านมอทะ เป็นสองชุมชนที่อยู่ใกล้กันในช่วงกลางของแม่น้ำแม่จัน มอทะเป็นบ้านใหม่แต่เก็บรักษาวัฒนธรรมประจำเผ่าไว้ได้อย่างมั่นคง ในหมู่บ้านมีศูนย์วัฒนธรรม เป็นที่รวมคนในชุมชนและละแวกใกล้เคียงตั้งกลุ่มทอผ้า และทำเครื่องจักสานที่จำเป็นต้องใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน กับเป็นที่จัดแสดงงานศิลปหัตถกรรมของชนเผ่า
ไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังและคนที่ผ่านไปมาได้รู้จัก และในช่วงเทศกาลปีใหม่ของเผ่าจะมีงานบุญเจดีย์ ซึ่งจัดใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่บ้านกะเหรี่ยงในทุ่งใหญ่นเรศวร

ส่วนบ้านหม่องกั๊วะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ทิวต้นหมาก มะพร้าว และไม้พื้นบ้านอื่นๆ ยืนต้นสูงชะลูดหนาแน่นอยู่หน้าเขาลูกโดดรูปร่างเหมือนลอมฟาง ที่ตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งเป็นฉากหลังของหมู่บ้าน นักเดินทางนาม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เคยเดินตามเส้นทางของนักปฏิวัติไปถึงหมู่บ้านนี้เมื่อ ๓ ทศวรรษก่อน บันทึกภาพในวันเวลานั้นด้วยตัวหนังสือไว้ในงานเขียนเรื่อง “เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง : ความทรงจำอันขาดวิ่นของนักเดินทางผู้ว้าเหว่” อย่างเห็นภาพและได้อารมณ์ความรู้สึก ว่า “วันที่เดินถึงม่องควานั้นบรรยากาศที่พบมันช่างเหมาะกับตำนานที่ว่าเสียนี่กระไร ผมยังจำภาพหนุ่มกะเหรี่ยงไว้ผมยาวกลางศีรษะและปล่อยตีนผมสยายประบ่าได้อย่างชัดเจน เขานุ่งโสร่งดีดพิณโค้งแบบพม่าอยู่บนชานเรือนใต้ถุนสูง ตาสวยเหม่อมองไปข้างหน้าอย่างไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ผมรีบเก็บรายละเอียดของภาพนี้ไว้ในความทรงจำ และถ้าใครมากระซิบว่าสมบัติพระศุลีอยู่แถวนั้นก็คงจะเชื่อเอาง่ายๆ”

มีคำเล่าด้วยว่า เดิมหม่องกั๊วะเคยเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีเช่นกัน และจนทุกวันนี้ก็ยังมีคนนับถือฤๅษีอยู่

ซึ่งในบัตรประชาชนของชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ฯ ที่นับถือฤๅษีนั้น ในช่องศาสนาจะระบุชัดเจนว่า “ฤๅษี”

ตามทางเดินจากบ้านหม่องกั๊วะไปทางตะวันตกไม่ทันเหนื่อยก็ถึงหมู่บ้านแกวอทะ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่นับถือฤๅษีกันทั้งหมู่บ้าน พ้นจากนั้นไปการสัญจรต้องอาศัยเส้นทาง
ไปไร่ไปนาของชาวบ้าน และสองฟากทางก็อาจเป็นที่นาแคบๆ ริมลำห้วย ที่ไร่เก่า และหมู่ไม้พื้นบ้านอย่างทุเรียน ขนุน ส้มโอ เงาะ หมาก มะพร้าว ที่ชาวบ้านเที่ยวหยอดเมล็ดเอาไว้อย่างหวังความร่มรื่นแก่ผืนดินมากกว่าจะหวังผลเชิงพาณิชย์

ทางเดินไต่ระดับขึ้นไปตามไหล่เขาจนไปทอดอยู่บนที่สูงอีกระดับ เส้นทางต่อจากนั้นเริ่มเลือนลงจนแทบไม่เห็นร่องรอยในบางช่วง หากไม่มีคนท้องถิ่นนำทางมาด้วยก็คงยากที่จะไปได้ถูก และไม่อาจหวังว่าจะถามเส้นทางจากใครได้ พอพ้นจากแถบไร่นาที่ทำกินมาแล้ว ทางป่าก็เปลี่ยวร้างอย่างแท้จริง ที่พอจะเห็นร่องรอยอยู่บ้างก็มีแต่รอยกีบและกองมูลของวัวควายที่เจ้าของปล่อยเลี้ยงไว้ตามยถา นานๆ จะขึ้นมาดูสักที

เอกลักษณ์หนึ่งของป่าทุ่งใหญ่ฯ น่าจะได้แก่ป่าไผ่ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป ปล้องลำขนาดใหญ่กว่าขาผู้ใหญ่ ขึ้นรวมกันอยู่ในกอที่ไม่เคยมีใครตัดฟัน ลำเก่าเฉาตายไป หน่อใหม่แทงยอดขึ้นมาแทนทุกปี ขยายกอคืบกินพื้นที่กว้างใหญ่อย่างนานกว่าจะผ่านไปได้แต่ละหย่อม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ร่วมทางมาด้วยกันบอกว่า ลำผุของมันเป็นฟืนอย่างดีที่สุด ที่พวกเขาได้พึ่งยามต้องค้างแรมกลางป่าช่วงหน้าฝน ซึ่งไม้ทั้งป่าเปียกชื้นไม่ยอมเป็นฟืนก่อไฟ

สลับกับดงไผ่ป่า บางช่วงเส้นทางผ่านไปกลางทิวไม้ยางที่ยืนต้นตรง สูงชะลูดหนาแน่นเป็นดง โคนต้นขนาดเท่าครกไปจนถึงเกินคนโอบ บางช่วงเป็นลานราบโล่งๆ ที่พาให้นึกเชื่อมไปถึงเหตุการณ์ในตำนาน ที่เล่ากันว่าองค์ฤๅษีจำเลอช่วย เคยพาชาวบ้านตัดป่าและขุดตอไม้เป็นบริเวณกว้าง ทำสนามบินไว้รอรับเจ้าหญิง ซึ่งท่านรู้จากนิมิตว่าจะเสด็จมาเยือน คนรุ่นปัจจุบันส่วนหนึ่งเข้าใจว่าจุดดังกล่าวคือสนามหน้าโรงเรียน ตชด. บ้านเลตองคุ ที่เป็นลานกว้าง เฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้หลายลำ แต่ผู้เฒ่าบ้านมอทะที่เคยเป็นลูกศิษย์ขององค์ฤๅษีแจะยะบอกว่า จุดดังกล่าวอยู่กลางป่าบนเส้นทางเดินหม่องกั๊วะ-เลตองคุ

หลังกินข้าวป่ากันริมลำห้วยสายที่สอง ทางเดินต่อจากนั้นยังคงเลาะลึกเข้าไปในป่าดิบที่แทบไม่เคยมีกิจกรรมใดๆ ของมนุษย์เกิดขึ้นเลย ใบไม้ร่วงทับถมกันหนาจนมองไม่เห็นดิน ทั้งที่แถบนั้นเป็นป่าดิบไม่ผลัดใบ และชุกชุมด้วยทากดูดเลือดแม้เป็นในยามแล้งจัด

ยิ่งล่วงลึกเข้าไปตามเส้นทาง ผืนป่ายิ่งดูหนาแน่นด้วยไม้ใหญ่ต้นตรงและสูงชะลูดอย่างชวนให้นึกไปถึงเรือขุดตามวัดริมแม่น้ำ

บางทีจู่ๆ ก็เห็นโขดศิลาขนาดมหึมาโผล่ยอดแหลมขึ้นจากดินเหมือนเจดีย์หินแทรกอยู่กลางป่าดิบ บางช่วงก็มีแนวผาขนาบเป็นกำแพงไปกับเส้นทาง และมีเหมือนกันที่ได้เห็นต้นไม้ใหญ่ตั้งโคนอยู่บนโขดหินสูงเป็นสิบเมตรแล้วหย่อนรากหลายสาขาขนาดใหญ่กว่าลำขาคนลงมารับอาหารจากผืนดิน

ผ่านทางกลางป่าใหญ่ที่โอบล้อมอยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้านเลตองคุมาเกินครึ่งค่อนวัน ทางช่วงปลายก่อนเข้าสู่หมู่บ้านเป็นทางดิ่งลงอย่างทารุณ ขณะที่เรี่ยวแรงในตัวเราได้ถูกใช้ไปกับเส้นทางที่ผ่านมาเสียแทบหมดสิ้นแล้ว-กับทางชันที่ต้องยกย่างฝืนแรงโน้มถ่วงของโลกขึ้นไปทีละก้าวสั้นๆ ถึงตอนลงก็ยังต้องอาศัยเรี่ยวแรงไม่น้อยกว่ากันในการหยัดกายไม่ให้หล่นไถลลงไปอย่างไร้การควบคุม

เคยอ่านเจอคำพระป่าว่าการเดินเท้านั้นไม่ว่าจะยาวไกลอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจ หากถือว่านั่นเป็นการเดินจงกรม เป็นโอกาสที่จะได้ฝึกความเพียร

ก็พอได้น้อมนำมาเป็นหลักในการฝึกตนให้วางใจไว้ในจังหวะเท้าที่ก้าวไปในแต่ละย่างได้บ้าง แต่ความเหนื่อยล้าของร่างกายกับน้ำหนักเป้บนหลังก็บั่นทอนใจมากเหมือนกัน สองบ่าที่รับน้ำหนักเป้สัมภาระมาเกือบ ๑๐ ชั่วโมง เจ็บระบมเหมือนรอยไม้เรียวที่เคยโดนครูหวดก้นเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยทโมน

แม้ในช่วงวัยรุ่นมาจนวัยหนุ่มจะคุ้นเคยดีกับการแบกเป้เดินดอย แต่เป็นสิบปีหลังมานี้ความสะดวกสบายจากการใช้รถก็พลอยพาให้ร่างกายห่างหายการใช้แรงไปมาก เพื่อนในทีม สารคดี อีก ๒ คน กับ ๓ หมอสาวซึ่งเป็นคนเมืองทั้งหมดก็ดูจะอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน ผิดจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ๓ คน กับชาวบ้าน ๒ คน ที่มีการเดินเท้าอยู่ในวิถีชีวิต จังหวะก้าวของพวกเขายังดูเป็นปรกติดี

เหนื่อยกายจนไพล่นึกไปถึงคนปกากะญอตามเขตภูเขาที่เคยผ่านพบ พวกเขาเดินขึ้นลงดอยลูกแล้วลูกเล่าพร้อมกือ(ตะกร้าไม้ไผ่สานละเอียด) บนหลัง และบางทียังอุ้มลูกเล็กไว้กับตัวด้วย หรือภาพของผู้อพยพตามแนวชายแดนที่หอบหิ้วสัมภาระรุงรังและลูกน้อยไปสู่ที่ปลอดภัยกันอย่างทุลักทุเลและอดทน

ถ้าต้องเดินทางไปโดยเงื่อนไขเช่นนั้น เราจะยังมีเรี่ยวแรงพอไปถึงจุดหมายไหม

ทางป่าระยะทาง ๒๐ กว่ากิโลเมตรที่คนท้องถิ่นใช้เวลาเดิน ๕-๖ ชั่วโมง สำหรับคนแปลกถิ่นจากในเมืองใช้เวลาไป ๙ ชั่วโมง เด็กหนุ่มบ้านมอทะที่เป็นคนนำทางพูดขึ้นกลางความอิดโรยของทุกคนว่าเขาใช้เส้นทางนี้มาตั้งแต่เด็ก ตอนเป็นนักเรียนชั้น ป.๕ อยู่โรงเรียนในหมู่บ้าน ก็เคยเดินเท้ามารอรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ที่โรงเรียน ตชด. บ้านเลตองคุ เขาคุ้นเคยกับทางสายนี้เพราะเดินมาเยี่ยมบ้านย่าที่เลตองคุอยู่เป็นประจำ โดยปรกติถ้าออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ ก็ถึงทันกินข้าวเที่ยงที่บ้านย่า

เราเดินทางออกมาจากบ้านหม่องกั๊วะแต่เช้าเช่นกัน แต่กว่าจะถึงเลตองคุก็จวนได้เวลาอาหารเย็น

และทันได้เห็นอัสดงของวันกลางฤดูร้อน ที่แดดสีเหลืองจัดจ้าส่องลอดลายไม้ฉลุบนระเบียงบ้านคนกะเหรี่ยง


ผู้ชายไว้ผมยาวเกล้ามวยเป็นจุกไว้เหมือนหน้าผาก ถ้าแต่งอย่างครบครันต้องมีแถบผ้าคาดทับด้วย เสื้อต้องเป็นแบบผ่าอก มีกระดุม ไม่ต้องสวมทางศีรษะแบบเสื้อยืด และต้องไม่มีลายดอกหรือลายเส้นตัดกันเป็นตาราง เสื้อเชิ้ตผ้าพื้นสีสันสดใสที่ตัดเย็บเองภายในหมู่บ้านอย่างที่เด็กหนุ่มสองคนในภาพสวมอยู่ จึงได้มาพร้องกับแฟชั่นสไตล์ย้อนยุคของคนเมืองได้อย่างกลมกลืน
แป้งทานาคา ยาสูบ กับหมากพลู แนบแน่นอยู่กับวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงอย่างแยกไม่ออก เมื่อกินต่อเนื่องเป็นเวลานานฟันจะเป็นสีนิลไปทั้งปาก และอีกอย่างที่ต้องมีติดตัวยามมาทำบุญคือสร้อยประคำสำหรับใช้ในการนั่งสมาธิภาวนา
ชาวกระเหรี่ยงฤาษีจะถือศีลเคร่งครัด งดการเสพของมึนเมาทุกชนิด แต่สำหรับการสูบยาที่เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตคนในป่า- อาจถือเป็นข้อยกเว้น ผู้เฒ่าในภาพจึงสามารถนั่งสูบยาภายในสำนักฤาษีได้ และองค์ฤาษีเองก็สูบกล้องยาแบบเดียวกันนี้ (ภาพ : วีรศักร จันทร์ส่งแสง)


หมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีแห่งเดียวในประเทศไทย

หมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีเป็นความลึกลับชวนอัศจรรย์ใจคนที่รับรู้ ครั้นใครได้มาเห็นจริงก็จะยิ่งตอกย้ำความรู้สึกนั้น ผู้คนชายหญิงทั้งหมู่บ้านปล่อยผมยาวไม่มีการตัดเป็นทรง และแม้ไม่ใช่เรื่องยากเย็นกับการจะหาเสื้อผ้าตามสมัยนิยมมาใช้ แต่คนแทบทั้งหมู่บ้านยังเลือกที่จะสวมใส่ชุดประจำเผ่า ซึ่งอาจเป็นเสมือนคำประกาศทั้งต่อตนเองและคนอื่นๆ ว่าเขาคือกะเหรี่ยง

ชนเผ่าที่คนทั่วไปคุ้นเคยในชื่อ กะเหรี่ยง หรือ ยาง ในประเทศไทยมีอยู่ ๒ กลุ่มหลัก ได้แก่ สะกอ ที่พอใจจะเรียกตัวเองว่า ปกากะญอ มากกว่าชื่ออื่นที่คนอื่นเป็นผู้เรียกขาน พวกเขาส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเขตภูเขาทางภาคเหนือลงมาจนถึงภาคตะวันตก บางทีจึงถูกเรียกว่า กะเหรี่ยงดอย

อีกกลุ่มคือ กะเหรี่ยงลุ่ม หรือกะเหรี่ยงน้ำ มีถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดเพชรบุรี ประจวบฯ ราชบุรี จนถึงกาญจนบุรี และตาก พวกเขาเรียกตัวเองว่า โปว์ หรือ โพล่ เพื่อแยกแยะกลุ่มของตนกับปกากะญอ แต่ไม่ขัดเคืองกับการที่ใครจะเรียกว่ากะเหรี่ยง

สำหรับที่หมู่บ้านเลตองคุ เป็นชุมชนของคนโพล่ แต่ที่แตกต่างจากพี่น้องในหมู่บ้านอื่นส่วนใหญ่ในป่าทุ่งใหญ่ฯ ก็คือ พวกเขานับถือฤๅษีกันทั้งหมู่บ้าน

เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ผู้ชายกะเหรี่ยงฤๅษีจะไม่ตัดผมอีกเลย ปล่อยผมยาวจนเกล้ามวยได้ก็หวีวาดมาข้างหน้า ม้วนเป็นจุกไว้เหนือหน้าผาก ตามแบบอย่างของ อิสิเปอะม้อโก องค์อิสิในตำนานความเชื่อ ที่เล่ากันว่า เตอะจาเม หรือพระผู้สร้าง ส่งมาให้ควบคุมสิ่งไม่ดีในตัวมนุษย์ตั้งแต่ครั้งสร้างโลก ส่วนผมของผู้หญิงก็ปล่อยยาวไม่มีการตัดเป็นทรง โดยมุ่นมวยไว้แถวท้ายทอย

สำหรับชุดเสื้อผ้า หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดสีขาวยาวถึงน่อง เมื่อแต่งงานแล้วจะใส่ซิ่นทอเอง พื้นสีแดงเป็นหลัก มีลายทางขวาง สวมเสื้อทอสีแดง ท่อนบนอาจเป็นสีดำ ม่วง ฟ้า น้ำเงิน เขียว ชายด้านล่างปักลายและอาจร้อยประดับด้วยเมล็ดธัญพืช ส่วนผู้ชายจะใส่ชุดยาวสีขาว มีแถบสีแดงหรือสีบานเย็นพาดยาวจากคอถึงชายด้านล่าง หรือไม่ก็นุ่งโสร่งที่ไม่เย็บเหมือนผ้าถุง กับเสื้อผ่าอกมีกระดุม ที่ไม่ต้องสวมทางศีรษะ และไม่มีลายเส้นเป็นรูปตาราง ส่วนเด็กๆ ใส่ชุดชิ้นเดียวสีขาวยาวถึงน่อง เหมือนกันทั้งเด็กหญิงเด็กชาย และส่วนใหญ่โกนผมเกลี้ยงหัวเหมือนกันทั้งหญิงชาย แต่จะแยกความต่างได้โดยดูจากแถบสีและเนื้อผ้าของชุดที่สวมใส่

นั่นเป็นเอกลักษณ์ภายนอกที่มองเห็นได้ทันที แต่ลึกลงในวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงจะยึดมั่นในศีล ๕ อย่างเคร่งครัด โดยมีองค์ฤๅษีเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ ดำรงตนอยู่ในความถูกต้องดีงาม รักษาจิตใจไม่ให้ตกไปตามกิเลส เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพื่อรอเข้าสู่ยุคพระศรีอาริยเมตไตรยที่จะมาถึงในวันข้างหน้า

พวกเขารักษาศีลธรรมอย่างเข้มงวด ไม่ดื่มเหล้าหรือเสพของมึนเมา การคบชู้ผิดประเวณีถือเป็นความผิดรุนแรงถึงขั้นถูกเนรเทศออกจากหมู่บ้าน และจำนวนหนึ่งไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ส่วนที่กินก็จำกัดอยู่เพียงบางชนิด การเลี้ยงสัตว์ไว้ฆ่ากินถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด ในบ้านเลตองคุจึงไม่มีสัตว์เลี้ยงที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ อย่างหมู เป็ด ไก่

และคงเป็นหมู่บ้านเดียวในประเทศไทย ที่ปกครองโดยองค์ฤๅษี และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ


เฉพาะผู้ชายที่สามารถเข้าถวายของหรือกราบไหว้องค์ฤาษีได้ถึงบนชานระเบียงหน้าศาลาฤาษี ส่วนผู้หญิงจะถูกจำกัดไว้ส่วนหลัง โดยมีร่องเล็กๆ เป็นเส้นบอกเขต


ในวันพระจะเป็นทั้งวันทำบุญ และวันหยุดพักผ่อน ชาวกะเหรี่ยงฤาษีจากหมู่บ้านต่างๆ จะมารวมกันอยู่ที่สำนักฤาษี


สำนักฤๅษีเลตองคุ

ถึงไม่มีเสียงไก่ขันปลุก แต่คนกะเหรี่ยงเลตองคุก็ตื่นเช้าอยู่โดยวิถีชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ในวันหยุด

อยู่กับงานในไร่นาสวน ไม่มีวันหยุดราชการหรือวันนักขัตฤกษ์ แต่ชาวบ้านป่าถือวันพระเป็นวันหยุด โดย ๗ วันจะถึงวันพระ ๑ ครั้ง ตามปฏิทินของฤๅษี และในวันนั้นคนทั้งหมู่บ้านจะหยุดงานไปทำบุญกันที่สำนักฤๅษี

วัดหรือสำนักฤๅษีอยู่นอกหมู่บ้านทางทิศใต้ บนฝั่งตะวันออกของห้วยทีหม่อโกรที่ต้นน้ำไหลออกมาจากป่าลึก มองจากภายนอกสำนักฤๅษีเลตองคุดูไม่ต่างจากวัดทั่วไปตามชนบท ที่มีพื้นที่กว้างขวาง รอบนอกรายล้อมด้วยไม้ยืนต้นนานาชนิด ทั้งหมากมะพร้าวจนถึงไม้ผลพื้นบ้าน แต่ในส่วนที่เป็นศาสนสถานถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่มีกฎเกณฑ์เคร่งครัด

ก่อนผ่านประตูเข้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนต้องถอดรองเท้าวางไว้ข้างนอก เรือนหลังแรกด้านหน้าสุดเป็นบ้านพักของศิษย์วัยเยาว์ หรืออาจเปรียบว่าเป็นกุฏิของสามเณรตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับช้างเลี้ยง ที่เลตองคุทั้งชาวบ้านและองค์ฤๅษีต่างก็เลี้ยงช้างไว้สำหรับใช้บรรทุกข้าวของ และก็เช่นเดียวกับการเลี้ยงวัวควาย ที่จะเลี้ยงโดยปล่อยให้หากินเองอยู่ในป่า ถึงตอนจะใช้งานจึงค่อยขึ้นไปตามหาตัว วันเดินทางจากหม่องกั๊วะเข้ามายังเลตองคุ ตอนใกล้ถึงหมู่บ้านเรายังเห็นรอยช้างเพิ่งเดินผ่านทาง ต้นไม้เล็กล้มลู่ยังเขียวสดไม่ทันเฉา สร้างความกังวลให้ชาวบ้านคนนำทางไม่น้อย เนื่องจากเขาเคยเจอมาด้วยตัวเองว่าช้างพวกนั้นค่อนข้างดุ เคยไล่พวกเขาหนีกันป่าราบมาแล้ว ถึงหมู่บ้านแล้วคนนำทางยังพูดซ้ำอยู่หลายครั้งว่า รอยช้างเลี้ยงของชาวเลตองคุที่พบระหว่างทางนั้นสร้างความกังวลให้เขามากในการเดินทางเที่ยวนี้

จากนั้นทางเดินซีเมนต์ที่มีเพิงหลังคาคลุมจะนำเข้าไปสู่ใจกลางของวัด ตรงนั้นมีศาลาฤๅษีซึ่งเป็นเรือนไม้ยกพื้น ตั้งเผชิญหน้าอยู่กับลานที่นั่งมีเพิงหลังคาคลุม สำหรับชาวบ้าน
ผู้หญิงจะถูกจำกัดเขตไว้เฉพาะบริเวณนี้กับข้างศาลาฤๅษีด้านติดริมทางเดิน และไม่สามารถเข้าถวายของต่อองค์ฤๅษีด้วยตัวเองได้ ลึกเข้าไปด้านในเป็นที่พักของศิษย์อาวุโสกับโรงครัว ส่วนด้านหลังเป็นบ้านบริสุทธิ์ เรือนนอนขององค์ฤๅษี หอเก็บงาช้างแกะสลักพระพุทธรูป ต่อเนื่องไปถึงจุดไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกรวม ๗ แห่ง สำหรับผู้นับถือฤๅษี และลูกศิษย์วัดที่อาจเปรียบได้กับพระเณรที่บวชเรียนในพุทธศาสนา

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องหากลูกต้องการไปเป็นศิษย์องค์ฤๅษี แม้ว่านั่นอาจเป็นเหมือนการตัดขาดจากกัน แต่การเข้าเป็นศิษย์ในสำนักฤๅษีทำให้ผู้ชายได้รักษาศีลอย่างจริงจังตั้งแต่เด็ก โดยมีองค์ฤๅษีเป็นผู้อบรมธรรมด้วยการให้โอวาทและตอบปัญหาต่างๆ ทั้งยังได้รู้จักฝึกทำงานทำมาหากินร่วมกับเหล่าศิษย์ฤๅษีคนอื่นๆ ในสำนัก อยู่ในนั้นพวกเขามีเพื่อนมาก แต่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ตามใจอยาก

เด็กชายจะเข้าเป็นศิษย์สำนักฤๅษีได้เมื่อโตพอจะดูแลตัวเอง และร่วมมือกับศิษย์คนอื่นทำไร่ได้ เมื่อเข้ามาจะมีการโกนคิ้วโกนผมเป็นสัญลักษณ์ของการพ้นจากสถานภาพเดิม แล้วไปกราบไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ๗ แห่ง จากนั้นจะไว้ผมยาวเกล้ามวย นุ่งชุดยาวสีขาวแถบสีบานเย็น ผ้าคาดหัวหรือด้ายผูกข้อมือเป็นสีขาวล้วน

เข้ามาเป็นศิษย์สำนักฤๅษีแล้ว เมื่อยังไม่ครบ ๓ ปีจะไม่สามารถลาออก หรือแม้แต่จะเข้าไปในหมู่บ้าน ครบ ๓ ปีแล้วแม้ได้รับอนุญาตให้เข้าหมู่บ้านได้ แต่ห้ามขึ้นบ้าน และห้ามค้างคืนนอกวัด แต่สำหรับศิษย์ใกล้ชิดที่พักค้างอยู่ในบ้านบริสุทธิ์กับองค์ฤๅษี จะไม่ได้ออกไปในหมู่บ้าน เนื่องจากอาจเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งองค์ฤๅษี จึงต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับองค์ฤๅษีที่ไม่มีการครองเรือน ไม่มีภรรยา และไม่ย่างกรายเข้าเขตหมู่บ้าน ดำรงตนอยู่ในฐานะผู้นำสูงสุดทั้งด้านความเชื่อและการปกครอง

เล่ากันว่าแต่เดิมองค์ฤๅษีจะเป็นผู้แต่งตั้งฤๅษีผู้ใหญ่ปกครองดูแลหมู่บ้านต่างๆ โดยมีเลตองคุเป็นศูนย์กลาง การติดต่อสัมพันธ์กับทุกฝ่ายจากภายนอกก็ต้องผ่านทางองค์ฤๅษี ที่อาจถือเสมือนกษัตริย์ของชนชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ก็เปรียบได้

ปัจจุบันบทบาทในฐานะประมุขด้านการปกครองอาจคลายความสำคัญลงไป แต่ความเป็นผู้นำทางจิตใจยังคงเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย ในทุกวันพระและวันงานบุญสำคัญ ชาวบ้านไม่เฉพาะแต่ในเลตองคุ แต่กะเหรี่ยงฤๅษีที่นับถือฤๅษีจากบ้านต่างๆ ทั้งในเขตอุ้มผางถึงกาญจนบุรี รวมทั้งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุริยะ ๒๐ กว่าหมู่บ้าน จะหลั่งไหลกันมาทำบุญที่สำนักฤๅษีเลตองคุ

จนอุปมาได้ว่าเลตองคุเป็นเหมือนเมืองหลวงของกะเหรี่ยงฤๅษี ไม่เฉพาะในเขตไทยแต่รวมไปถึงหมู่บ้านในเขตพม่าด้วย เหมือนนครลาซาที่เป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชนบนหลังคาโลก

และอีกเรื่องหนึ่งที่กะเหรี่ยงฤๅษีแห่งเลตองคุสามารถเทียบเคียงพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานของทิเบต คือการสืบทอดตำแหน่งองค์ประมุขโดยอาศัยนิมิต


ฤาษีองค์ปัจจุบันยกกรอบรูปถ่ายของฤาษีองค์ก่อนมาให้ดูด้วย ขณะเล่าย้อนถึงผู้เป็นอาจารย์


อิสิ (ฤๅษี) = จากต้นจนปลายสุด

กะเหรี่ยงฤๅษีเรียกผู้นำความเชื่อของเขาว่า อิสิ มีความหมายว่า ตั้งแต่ต้นจนปลายสุด แต่คนไทยอาจถือตามศัพท์พุทธศาสน์ ที่ให้ความหมายของคำว่า อิสิ ในภาษาบาลีว่า “ฤษี ผู้แสวงธรรม ได้แก่นักบวชนอกพระศาสนาซึ่งอยู่ในป่า, ชีไพร, ผู้แต่งคัมภีร์พระเวท”

แต่ฤๅษีแห่งเลตองคุ ไม่ใช่นักพรตผู้แสวงหาความวิเวกอยู่กลางป่าเพียงลำพัง หรือเป็นฤๅษีชีไพรอย่างในตำนานชาดกที่คนไทยคุ้นเคย หากเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณความเชื่อ
สายหนึ่ง ที่มีความเป็นมาเล่าไว้ชัดเจน จากคนสู่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนคนในปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่ายาวนานเพียงใด

เริ่มแต่กาลที่เล่ากันว่า หัวหน้าชุมชนกะเหรี่ยงยุคโบราณ เข้าป่าล่าสัตว์ไปพบกับพระธุดงค์กลางไพรลึก และได้รับการอบรมสั่งสอนธรรมจนเกิดความเลื่อมใสในคำสอน จึงได้ชื่อว่า ย่อแฮ หรือ ผู้ได้รับความดีงามแล้ว

ย่อแฮได้รับพระเกศาของพระพุทธเจ้า ๘ เส้น สำหรับให้นำไปบรรจุในพระเจดีย์แล้วทำบุญกราบไหว้ พร้อมทั้งให้ถือศีล ๕ เขาออกเดินไปทางทิศตะวันตกตามคำแนะนำ จนเจอสถานที่แห่งหนึ่งจึงสร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศาโดยมีเทวดาลงมาช่วยสร้างด้วย คนกะเหรี่ยงเรียกเจดีย์นั้นว่า โคะตะกู้ หรือเจดีย์ตอบแทนคุณ (พระพุทธเจ้า) ซึ่งชาวกะเหรี่ยงยังเชื่อกันว่าที่ตั้งเจดีย์นั้นคือเมืองย่างกุ้งในปัจจุบัน แต่ถูกเรียกชื่อเพี้ยนไป

ต่อมาคนกะเหรี่ยงถูกพม่ารุกรานจนต้องล่าถอยมาทางตะวันออก และหลังจากนั้นชะตากรรมของชนเผ่าผู้ยึดมั่นในพุทธศาสนาก็ตกอยู่ใต้การกดขี่ไล่ล่าของผู้รุกราน ต้องหลบหลีกการคุกคามอยู่ตามป่าเขาเถื่อนถ้ำ

จนในที่สุดก็มีผู้มาโปรด เป็นเด็กชายชื่อ กว่อแว ระหว่างหลบหนีทหารพม่าอยู่ในถ้ำ เขาบอกชาวบ้านว่าต้องการขี้ผึ้งมาทำเทียนป้องกันภัยจากศัตรู เมื่อกว่อแวจุดเทียนขึ้น
ทหารพม่าก็หลับไปหมด ตื่นขึ้นอีกทีคนกะเหรี่ยงหายไปแล้ว และที่คอของทหารพม่าทุกคนมีรอยปูนป้าย เหมือนเป็นเครื่องหมายบอกว่าถ้าจงใจจะเอาชีวิตพวกเขาก็เป็นเรื่องที่ทำได้

ระหว่างถอยหนีการตามล่าของทหารพม่านี่เอง กว่อแวบอกชาวบ้านว่าสัตว์ใหญ่ ๔ เท้าที่เคยใช้เลี้ยงผีนั้น จำเป็นต้องนำมาเป็นพาหนะในการหลบหนี ส่วนการเลี้ยงผีให้นำหมูและไก่มาใช้แทน เด็กชายที่เป็นผู้นำได้ไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากตัวชาวกะเหรี่ยงทุกคนไปไว้ในหมูและไก่ ให้ผีที่รับการเซ่นไหว้ช่วยรับไปแทน นับแต่นั้นมาคนกะเหรี่ยงฤๅษีจึงไม่กินหมูไก่ที่เลี้ยงตามบ้าน เพราะเชื่อว่าเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้าย ส่วนสัตว์ใหญ่ ๔ เท้าอย่างช้าง วัว ควาย ก็ไม่กินเพราะถือเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณช่วยให้หนีรอดจากผู้ปองร้าย

ชาวกะเหรี่ยงภายใต้การนำของกว่อแว รอนแรมมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุริยะ จนถึงบริเวณใกล้หมู่บ้านเลตองคุในปัจจุบัน กว่อแวก็นิมิตเห็นว่าตรงนี้จะเป็นที่อาศัยถาวรของชาวกะเหรี่ยง จึงตั้งถิ่นฐานอยู่บนผาน้ำตก หรือ “เลต่อโคะ” และตั้งสำนักอยู่ห่างหมู่บ้านขึ้นไปทางต้นน้ำ โดยมีกว่อแวเป็น อิสิ หรือฤๅษี องค์แรกของเลตองคุ

แต่การตามล่ากวาดล้างกลุ่มชนที่ไม่มุ่งร้ายตอบก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป จนกว่อแวถูกจับตัวได้ในถ้ำทางต้นน้ำเหนือชุมชน และถูกฆ่า ดวงวิญญาณของเขากลับสู่สรวงสวรรค์ และไปร้องทุกข์กับพระผู้สร้าง (เตอะจาเม) ว่าจะไม่ลงไปโลกมนุษย์อีกแล้ว แต่พระองค์บอกว่า โลกมีทั้งคนดีและคนไม่ดี จึงส่งเพื่อนของกว่อแวลงไปเป็นฤๅษีองค์ถัดมาเพื่อให้แก้ไขคนที่ไม่ดี

สิ่งสำคัญที่ฤๅษีองค์ที่ ๒ ทำคือ การให้ชาวบ้านเลิกเลี้ยงผี จนเกิดการต่อรองเงื่อนไขและถูกท้าทายจากยักษ์หัวหน้าผีว่า ถ้าท่านทำเพื่อมวลมนุษย์จริงก็ให้พิสูจน์ด้วยการโดดเข้ากองไฟ ซึ่งท่านก็ได้สละชีวิตตนเองในกองเพลิงตามคำท้า ชาวบ้านจึงเรียกฤๅษีองค์ที่ ๒ ว่า พืออิสิโจ่วยุ (พือ หมายถึง ปู่ ตา เป็นคำที่คนกะเหรี่ยงใช้เรียกคนเฒ่าฝ่ายชาย ที่เคารพนับถือ) มีความหมายว่า เพื่อชาติ แต่บางตำนานว่า พืออิสิโจ่วยุเป็นผู้นำที่ปลุกวิญญาณชาวกะเหรี่ยงให้ต่อสู้กับพม่าผู้รุกรานอย่างอหิงสาเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และการโดดเข้ากองไฟของท่านก็เป็นการประท้วงต่อรองกับอำนาจที่ชั่วร้าย

หลังจากนั้นวันหนึ่ง วัวของชาวบ้านหายเข้าไปในป่า เจ้าของออกตามหาแล้วไปพบเด็กชายคนหนึ่งอาสาจะช่วยตามวัวให้ หากเจ้าของวัวเอาขี้ผึ้งมาให้เขาทำเทียน แต่ชายคนนั้นไม่สนใจ เขาออกตามวัวของตัวเองต่อไป

แต่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็ยังเจอแต่เด็กชายคนเดิมอยู่นั่นเอง เมื่อกลับมาเล่าให้ภรรยาที่บ้านฟัง นางแนะนำให้สามีทำตามที่เด็กขอ ได้ขี้ผึ้งไปแล้วเด็กชายบอกเขาจะทำเทียนปักไว้ตรงนี้

เมื่อชายเจ้าของวัวกลับบ้านก็ปรากฏว่าวัวของเขากลับไปถึงก่อนแล้ว เขากับคนในหมู่บ้านจึงมาช่วยกันสร้างศาลา กราบไหว้ และเรียกเด็กชายคนนั้นว่า แจะเบอะ แปลว่า ตั้งหลักได้มั่นคง เป็นฤๅษีองค์ที่ ๓ แห่งเลตองคุ

พืออิสิแจะเบอะได้วางรากฐานหลายอย่างที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน อย่างการสร้างเจดีย์ตามแบบของพือย่อแฮขึ้นภายในสำนักฤๅษี เพื่อกราบไหว้ระลึกคุณพระพุทธเจ้า

การจัดงานบุญเผาไฟ ระลึกถึงพืออิสิโจ่วยุ

จัดงานวันขึ้นปีใหม่ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา

จัดให้มีการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๗ แห่งในวันพระ




ศาลางาช้าง(ภาพบนสุด) เป็นศูนย์กลางของพิธีทำบุญและสวดมนต์ภาวนาในวันพระ โดยมีกลุ่มลูกศิษย์ฤาษีอยู่ด้านหน้าสุด ถัดมาเป็นกลุ่มผู้ชายซึ่งจะแต่งชุดประจำเผ่าสีขาวเท่านั้นเมื่อเข้าร่วมพิธีกรรม และกลุ่มผู้หญิงที่ใส่ผ้าถุงและเสื้อทอเองหลากสี ผมม้วนมวยไว้ท้ายทอยนั่งอยู่ด้านหลังป้ายเขตอนุญาตสำหรับสตรี พิธีกราบไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เฉพาะคนที่กินเจ


วันพระ (ฤๅษี)

วันพระของคนกะเหรี่ยงฤๅษี ถือตามปฏิทินขององค์ฤๅษี ซึ่งจะอยู่ก่อนวันพระตามปฏิทินไทยวันหรือสองวัน อย่างวันพระใหญ่ของเดือน ๖ ปีนี้ (ขาล)เทียบกับปฏิทินไทยตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (๒๖ เมษายน ๒๕๕๓)

ในวันพระชาวกะเหรี่ยงทั้งหมู่บ้านจะหยุดทำงาน หุงข้าว ทำขนม เอาผลิตผลพืชผัก ผลไม้ ไปทำบุญที่สำนักฤๅษี ซึ่งเฉพาะผู้นับถือฤๅษีเท่านั้นที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ๗ แห่งได้ แต่ในช่วง ๒-๓ ปีหลังมานี้ก็ยิ่งเข้มงวดมากขึ้น เมื่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ถูกสงวนไว้สำหรับชาวบ้านที่กินเจเท่านั้น

ส่วนคนนอกที่ไม่ใช่ผู้นับถือฤๅษี ทำได้เพียงมองดูสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดจากภายนอก โดยมีหนุ่มกะเหรี่ยงฤๅษี ๒-๓ คนแนะนำไล่ไปทีละจุด

จุดไหว้จุดแรก มีไม้ลำเล็กปักอยู่รวมกัน ล้อมด้วยก้อนหิน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเกิด

จุดไหว้ที่ ๒ บ้านบริสุทธิ์ เป็นที่นอนขององค์ฤๅษีในยามกลางคืน ก่อนขึ้นบ้านหลังนี้ฤๅษีจะหวีผมเรียบร้อย และล้างหน้าล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน กลางบ้านมีเตาไฟซึ่งจะถูกก่อไว้ไม่ให้ดับตลอดคืน องค์ฤๅษีนอนด้านหนึ่ง กับกลุ่มลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดไม่เกิน ๕ คนนอนอีกด้าน

จุดไหว้ที่ ๓ เป็นเสาไม้มีแผ่นไม้ตีติดอยู่ด้านบน เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เช่นเดียวกับจุดไหว้ที่ ๔ ที่เป็นเสาไม้แทนพระรัตนตรัย

จุดไหว้ที่ ๕ เป็นหมู่พระพุทธรูปทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่ และที่แกะสลักบนงาช้างขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่บนศาลาเดียวกับจุดไหว้ที่ ๖ ที่เป็นหีบเก็บพระไตรปิฎก สำหรับกราบไหว้ขอพรและสิ่งดีงาม

จุดไหว้ที่ ๗ เป็นสะพานทำจากไม้ ๒ ท่อน เปรียบเป็นสะพานดินและสะพานฟ้า วางนอนต่อกันตามยาว แต่เว้นช่องไว้ไม่ให้เชื่อมถึงกัน เหมือนเป็นหลุมดักคนชั่ว และเป็นประตูที่เทวดาจะมาโอบอุ้มคนดีเข้าสู่แดนสวรรค์ชั้นฟ้า ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตใครแต่ละคน

ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นส่วนที่หวงห้ามไว้สำหรับผู้นับถือฤๅษีที่กินเจเท่านั้น

แต่การถวายของแด่องค์ฤๅษีผู้ชายทุกคนยังทำได้ ของถวายส่วนใหญ่เป็นพืชผลที่หาได้ในท้องถิ่นจำพวกผัก ผลไม้ ธัญญาหาร ฤๅษีรับไว้แล้วก็ส่งต่อไปยังโรงครัว สำหรับหุงปรุงไปไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ๗ แห่งในวันพระ และสำหรับเลี้ยงดูลูกศิษย์ที่ตอนนี้มีอยู่ราว ๔๐ คน

เสียงระฆังก้องกังวานขึ้นกลางแสงแดดยามสาย ชาวบ้านที่เอกเขนกจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่ในศาลาและตามร่มไม้ ทยอยมารวมตัวกันแถวลานริมทางเดิน หน้าศาลางาช้าง ในช่วงนี้เฉพาะคนกินเจเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีกรรม และพวกผู้หญิงจะถูกกันพื้นที่ไว้แถบหนึ่งทางด้านหลัง เมื่อทุกคนต่างเข้าสู่ภวังค์แห่งสมาธิกับสายประคำในมือตน ภายในสำนักก็เงียบสงัดเหลือแต่เสียงลมโชยชายใบไม้ไหว

จบการนั่งสมาธิภาวนา องค์ฤๅษีนำขบวนลูกศิษย์ลงมาไหว้จุดไหว้แรก แล้วไปนำชาวบ้านสวดมนต์ที่หน้าศาลางาช้าง พิธีกรรมวันพระก็เสร็จสิ้นลงในช่วงก่อนเที่ยง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงจับกลุ่มกันอยู่ภายในวัดต่ออย่างไม่ต้องเร่งร้อนที่จะกลับบ้าน เพราะในวันพระถือเป็นวันหยุดพักผ่อนของพวกเขาด้วย

ส่วนกลุ่มคนหนุ่มที่เข้ามาเป็นลูกศิษย์ฤๅษีนั้น จะไม่กลับขึ้นบ้านอีกเลยจนกว่าจะออกจากการเป็นศิษย์ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่เป็นอยู่ตลอดชีวิต และมีคนหนึ่งที่จะต้องรับสืบทอดเป็นฤๅษีองค์ต่อไป


ของเล่นของลูกป่า


วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงฤาษียังมีส่วนที่ผูกโยงกับพิธีกรรมความเชื่ออยู่มาก เมื่อใครมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิต เขาจะปัดเป่าด้วยการทำพิธีสะเดาะเคราะห์


ตำนานองค์ฤๅษี

ก่อนจะละสังขาร ฤๅษีองค์ที่ ๓ ที่มีนามว่า แจะเบอะ ได้บอกว่าเมื่อไม่มีท่านแล้ว เสาะเจี๊ยะ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งจะสืบตำแหน่งแทน

นั่นเป็นครั้งแรกและกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมาจนปัจจุบัน ในการสืบทอดตำแหน่งองค์ฤๅษีด้วยนิมิตของผู้เป็นฤๅษีองค์ก่อน

เดิมฤๅษีจะแต่งชุดสีขาว มีแถบสีบานเย็นพาดตามแนวตั้ง ตามแบบที่ชาวบ้านผู้ชายสวมใส่อยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อเสาะเจี๊ยะขึ้นเป็นฤๅษีองค์ที่ ๔ พืออิสิแจะเบอะได้มาเข้าฝันให้นุ่งห่มขาว ท่านบอกนิมิตฝันของตนกับชาวบ้าน แล้วนำผ้าขาวกว้าง ๔ ศอก ยาว ๔ ศอกครึ่ง มาทำเป็นผ้านุ่ง และห่มผืนกว้าง ๔ ศอก ยาว ๕ ศอก

และจากนั้นมา การวางรูปแบบกฎเกณฑ์ใดก็จะถือตามการนิมิตฝันขององค์ฤๅษี

ในสมัยฤๅษีองค์ที่ ๕ ที่ชื่อ แจะแป๊ะ ได้ส่งลูกศิษย์ ๓ คนไปเรียนหนังสือกับคนไทย หวังว่าจะใช้สื่อสารและบันทึกเรื่องราวต่างๆ ได้ แต่ถูกรังเกียจไม่ให้เรียน ฤๅษีแจะแป๊ะจึงพาชาวบ้านสาบานไม่เรียนหนังสือไทยตลอดไป ตามในบันทึกที่ฤๅษีองค์ที่ ๙ เขียนไว้เป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “พอแล้วๆ ลูกหลานเอ๋ย ต่อไปลูกหลานอย่าได้ไปเรียนเลย เราจะบอกให้พวกเราฟัง วิชาความรู้ไม่สมควรกับเราเลย เพราะเขาไม่ให้เราเรียน ให้พวกชาติอื่นไปเรียนเถอะ ชาติเราอย่าไปเรียนเลย…ไม่คุ้มกับเรา ต่อลูกต่อหลานก็อย่าไปเรียน ทำบุญทำทานของเราดีกว่า ชาติของเราคุ้มกับการทำบุญ”

เมื่อผิดหวังจากทางตะวันออก ต่อมาฤๅษีแจะแป๊ะส่งศิษย์อีก ๓ คนไปรับการศึกษาในวัดทางฝั่งพม่า ทีแรกได้รับการปฏิเสธจากพระพม่า แต่มีพระมอญรับตัวไว้ และได้บวชสามเณรในเวลาต่อมา เมื่อกลับมาหาอาจารย์ที่เลตองคุ และเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ฤๅษีแจะแป๊ะเห็นว่าเมื่อลูกศิษย์ของตนห่มผ้าเหลืองได้ ท่านก็น่าจะห่มได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะยังไม่มีนิมิตตลอดสมัยของท่าน

ในช่วงสมัยฤๅษีแจะแป๊ะ มีช้างแสนรู้ตัวหนึ่ง เข้าใจภาษามนุษย์ ให้ไปส่งของที่ไหนไปได้โดยไม่ต้องมีคนไปด้วย เมื่อตายลงชาวบ้านอาลัยอยากสักการะ ฤๅษีแจะแป๊ะจึงส่งงาช้างไปให้ช่างทางฝั่งพม่าแกะสลักเป็นพระพุทธรูป นำกลับมาตั้งให้ชาวบ้านบูชากราบไหว้ และไม่นานหลังจากนั้น มีชาวมอญถูกทหารพม่าไล่ล่าแตกหนีมาถึงเลตองคุ และได้ถวายพระไตรปิฎกแด่ฤๅษีแจะแป๊ะ สำนักฤๅษีเลตองคุจึงมีพระไตรปิฎกไว้กราบไหว้บูชา เก็บอยู่ในหีบบนศาลาเดียวกับงาช้างแกะสลักพระพุทธรูป

ส่วนการนุ่งห่มเหลืองอย่างพระสงฆ์ มีขึ้นในสมัยฤๅษีองค์ที่ ๖ ที่ชื่อ เก๊ะเคาะ หรือขาเป๋ ตามลักษณะทางร่างกายของท่าน

ฤๅษีแห่งเลตองคุองค์ที่ ๗ ชื่อ เสาะเทียะ ช่วงหนึ่งท่านเล่าถึงนิมิตว่า เสื้อผ้าทั่วไปแบบที่ชาวบ้านใส่กันอยู่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มของคนกะเหรี่ยง โดยเฉพาะที่มีลายเส้นตัดกันเป็นรูปท้องนา อีกไม่นานเมื่อถึงเวลาจะมีคนมาเอาคืน ขอให้เตรียมเสื้อผ้าในแบบของตัวเองไว้

คำสอนขององค์ฤๅษีเสาะเทียะยังได้รับการปฏิบัติสืบต่อมาจนปัจจุบัน

เด็กๆ ในหมู่บ้านจะใส่ชุดยาวสีขาว สวมจากทางศีรษะ ซึ่งสำหรับเด็กผู้หญิงจะใส่ไปจนโตเป็นสาว เมื่อแต่งงานแล้วจึงเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อทอประจำเผ่า ส่วนผู้ชายจะใส่ชุดยาวสีขาวมีแถบสีแดงหรือสีบานเย็นพาดกลางตามแนวตั้ง สวมจากทางศีรษะ หรือไม่ก็นุ่งโสร่งที่ไม่เย็บเป็นผ้าถุง ใส่เสื้อสีใดก็ได้แต่ต้องไม่มีลายหรือเส้นตัดกันเป็นตารางเหมือนท้องนา และต้องเป็นเสื้อผ่าอก มีกระดุม ไม่เป็นแบบเสื้อยืดที่ต้องสวมทางศีรษะ ทุกวันนี้ในหมู่บ้านมีร้านตัดเย็บเสื้อผ้าตามแบบที่ไม่ขัดกับหลักคำสอนของฤๅษี และก็ดูเป็นที่นิยมของชายหนุ่มในหมู่บ้าน กับแบบเสื้อเชิ้ตตัดจากผ้าพื้นสีสดหลากสี เดินตะเข็บคู่ด้วยด้ายเส้นโตสีขาว สวมเข้ารูปพอดีตัว ดูคล้ายๆ แฟชั่นสไตล์ย้อนยุคของคนในเมือง

ในงานบุญสงกรานต์ปีหนึ่ง ฤๅษีเสาะเทียะได้เตือนชาวกะเหรี่ยงฤๅษีจากที่ต่างๆ ที่เดินทางมาร่วมงาน ให้เตรียมเนื้อเตรียมตัวรับความทุกข์ยากเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น สิ่งใดสมควรนุ่งห่มก็นุ่ง สมควรกินก็กิน สิ่งที่ไม่สมควรก็อย่าทำ สัญญาณเตือนเหล่านี้ฤๅษีองค์ก่อนๆ ก็เคยบอกไว้แต่ชาวบ้านไม่เชื่อฟัง ทำให้ทุกองค์ไม่พอใจ ไม่กลับมาอีก

ท่านบอกด้วยว่าใครจะไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่ให้จำคำพูดนี้ไว้ให้ดี

เช้าวันหลังงานบุญสงกรานต์ องค์ฤๅษีเสาะเทียะบอกว่าตนจะไปแล้ว ให้แจะยะเป็นฤๅษีองค์ถัดไป และให้จำเลอช่วยไปดูแลในเขตพม่า พอถึงตอนบ่ายท่านก็ทิ้งสังขาร

แจะยะ เป็นเด็กชายจากหมู่บ้านหม่องกั๊วะ มาเป็นศิษย์ที่สำนักฤๅษีเลตองคุตั้งแต่เล็ก เมื่อท่านขึ้นเป็นฤๅษีองค์ที่ ๘ ลูกหลานกะเหรี่ยงฤๅษีในแถบนั้นล้มตายจำนวนมาก องค์ฤๅษีแจะยะบอกกับชาวบ้านว่า สมัยของท่านทำความดีได้ไม่เท่าฤๅษีองค์ก่อนๆ ทำให้ชาวบ้านทุกข์ยากเดือดร้อนกันมาก ท่านจะขอสร้างบารมีด้วยการมีครอบครัวขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ ฤๅษีแจะยะจึงมีเมีย และต่อมามีลูก ๒ คน

ฤๅษีแจะยะ หรือ กะเตาะ หรือ ช่วยเผอแตะ บอกด้วยว่า ท่านยังมีภาระต้องแก้บาปให้ทหารพม่าที่ฆ่าพืออิสิกว่อแว ผู้เป็นฤๅษีองค์ที่ ๑ แห่งเลตองคุด้วย โดยต้องทำให้ผู้นำของเขาเสียเลือดเนื้อเท่าเทียมกัน

ความขัดแย้งยาวนานและการถูกกดขี่จากพม่าคงทำให้ชาวกะเหรี่ยงรู้สึกฝังใจอยู่ในส่วนลึกเสมอว่านั่นเป็นหนี้แค้นที่ต้องทวงคืน เมื่อผู้นำที่เข้มแข็งและกล้าหาญปลุกขวัญโดยอ้างถึงนักรบของพระเจ้าที่อยู่ยงคงกระพัน พวกเขาก็พร้อมที่จะตะลุยเข้าไปในดงศัตรูที่มีอาวุธทันสมัยกว่า ทำให้เกิดการสูญเสียกำลังคนไปเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งเป็นทหารของกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง เป็นเหตุให้หัวหน้าทหารกะเหรี่ยงไม่พอใจ จับตัวฤๅษีแจะยะไปคุมขัง แล้วสังหารท่านในที่สุด

ในระยะเดียวกันมีจ่าตำรวจจากอำเภออุ้มผางเข้ามานำช้าง ๒ เชือกของสำนักฤๅษีเลตองคุออกไป โดยบรรทุกงาช้างแกะสลักพระพุทธรูป และงาช้างขนาดใหญ่อีกคู่ออกไปด้วย

ยังดีที่ต่อมาตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ได้แจ้งให้ชาวบ้านไปรับคืน แต่ก็ได้มาเพียงช้าง ๒ เชือก กับงาช้างแกะสลัก ส่วนงาช้างขนาดใหญ่อีกคู่หายสาบสูญไป


จากแท่งงาช้างกลายเป็นพระพุทธรูปฉลุลายละเอียดลออด้วยฝีมือของช่างศิลป์ยุคโบราณ ธิดาของพระสุวรรณ เจ้าเมืองสังขละบุรีเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ได้ถวายให้สำนักฤาษีเลตองคุ กระทั่งชาวบ้านได้มอบให้วัดกะเหรี่ยงในเขตพม่า พร้อมกับพระพุทธรูปสำริดรมดำเมื่อช่วงฤดูร้อนปี ๒๕๔๘ แต่หลังจากนั้นทางการไทยได้ตามทวงคืนมา ปัจจุบันเก็บอยู่ที่อำเภออุ้มผาง


งาช้างแกะสลัก

นอกจากงาช้างคู่ใหญ่น้ำหนักร่วม ๔๐ กิโลกรัม แกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปอย่างละเอียดตั้งแต่โคนจนถึงปลายงาอย่างวิจิตรน่าอัศจรรย์ ที่มีมาแต่สมัยฤๅษีองค์ที่ ๕ ในสมัยฤๅษีองค์ที่ ๘ สำนักฤๅษีเลตองคุยังได้งาช้างเพิ่มอีก ๓ คู่ โดย ๒ คู่ได้มาจากธิดาของพระสุวรรณ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ได้รับบรรดาศักดิ์ปกครองชุมชนกะเหรี่ยงแถบลุ่มน้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี

พระสุวรรณได้ยินว่าที่เลตองคุมีองค์ฤๅษี ใครไปทำบุญขอพรจะได้ในสิ่งที่ขอ ท่านจึงเดินทางมาขอพรจากองค์ฤๅษีแจะยะ เมื่อกลับไปปรากฏว่าชาวบ้านอยู่ดีกินดีขึ้น

หลังพระสุวรรณถึงแก่กรรม ธิดาของท่านจึงนำงาช้าง ๒ คู่มาถวาย โดยบอกว่าบิดาของเธอและชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยพรจากองค์ฤๅษีแจะยะ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงแถบลุ่มน้ำแควน้อย กาญจนบุรี ต่างนับถือฤๅษีกันทั้งสิ้น

งาช้างที่ธิดาพระสุวรรณนำมาถวาย คู่หนึ่งฉลุเป็นรูปพระพุทธรูป แต่ขนาดเล็กกว่าคู่ที่สำนักฤๅษีเลตองคุมีอยู่แต่เดิม ส่วนอีกคู่ฉลุเป็นรูปพญานาค

ต่อมาชาวบ้านนำงาช้างคู่หนึ่งที่ได้จากธิดาพระสุวรรณนั่งช้างจะไปถวายในหลวง แต่เมื่อเดินทางไปถึงแถบลำน้ำแควใหญ่ ช้างตื่นวิ่งเข้าไปในไร่จนถูกเจ้าของไร่ยิงตาย ชาวกะเหรี่ยงเลตองคุจึงได้กลับมาแต่งาคู่ใหญ่ขนาดเกือบเท่างาช้างแสนรู้ที่สลักรูปพระพุทธรูป แต่ภายหลังงาช้างคู่นี้ได้หายไปจากเลตองคุในคราวจ่าตำรวจจากอำเภออุ้มผางนำออกไป

งาช้างอีกคู่จากธิดาพระสุวรรณ ที่ฉลุเป็นรูปพระพุทธรูป เป็นที่สักการบูชาของชาวกะเหรี่ยงฤๅษี อยู่คู่กับงาช้างแสนรู้คู่ใหญ่มาเป็นร้อยปี จนเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ งาช้าง
คู่นี้หายไปอยู่ที่วัดบนยอดเขาในเขตพม่าอย่างมีเงื่อนงำซับซ้อน

แล้วถูกติดตามกลับมาได้โดยการประสานงานของกองร้อย ตชด.ที่ ๓๔๗ ปัจจุบันยังเก็บอยู่ที่อำเภออุ้มผาง เนื่องจากชาวบ้านไม่ต้องการรับคืน

ส่วนงาช้างคู่ที่ฉลุลายเป็นรูปพญานาค ชาวบ้านสมัยนั้นต้องการนำไปทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง โดยเดินจากหมู่บ้านออกไปทางบ้านหม่องกั๊วะ แต่เจอปัญหาตามแนวชายแดนเดินทางต่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่รับปากจะนำงาช้างไปถวายแทน หลังจากนั้นองค์ฤๅษีเคยให้ชาวบ้านไปถามข่าว ก็ได้รับคำตอบว่าได้นำทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว แต่ชาวบ้านไม่เคยแน่ใจเลยว่านั่นเป็นความจริงหรือไม่ นี่เป็นเหตุการณ์ในสมัยฤๅษีองค์ที่ ๙ หรือพืออิสิจำเลอช่วย


ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่กลับสับสน

น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันที่เมื่อถามพืออิสิมอแน่ หรือมุเจ่ องค์ฤๅษีในปัจจุบัน เกี่ยวกับลำดับองค์ฤๅษีแห่งเลตองคุ ท่านบอกว่าตัวเองเป็นองค์ที่ ๙

การไม่มีระบบการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาจสร้างความคลาดเคลื่อนสับสน หรืออาจเป็นเหตุผลอื่นใด–อย่างที่ชาวกะเหรี่ยงฤๅษีจำนวนหนึ่งเชื่อว่าฤๅษีเลตองคุมี ๙ องค์เท่านั้น

ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดก็พูดเช่นเดียวกับท่านว่า พืออิสิมอแน่ เป็นฤๅษีองค์ที่ ๙ แต่เมื่อลองให้เขาไล่นับรายชื่อพืออิสิเรียงมาแต่องค์แรกจนถึงปัจจุบัน เขานับได้รวม ๑๐ ชื่อ

ขณะที่ลุงพินิจ ดัชนีนำชัย ผู้เฒ่าบ้านหม่องกั๊วะที่เคยเป็นลูกศิษย์ในสำนักฤๅษีเลตองคุ สมัยพืออิสิช่วยเผอแตะ ก็บอกว่าอาจารย์เขานั่นแหละเป็นฤๅษีองค์ที่ ๙ ส่วนพืออิสิจำเลอช่วย และพืออิสิมอแน่นั้นเป็นเพียงผู้รักษาการ ท่านจึงยังนุ่งห่มขาวอยู่ เช่นเดียวกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่เลตองคุบางคนก็บอกว่า ฤๅษีองค์ที่ ๙ คือองค์ที่นับย้อนกลับไปก่อน ๒ องค์หลังสุดนี้

ความลักลั่นกำกวมนี้อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการที่พืออิสิ ๒ องค์หลังสุดนี้ต่างมาจากเขตพม่า อีกทั้ง ๒-๓ ปีหลังมานี้องค์ฤๅษีมอแน่ยังบอกให้ชาวบ้านที่นับถือฤๅษีหันมากินเจ ก็ยิ่งเป็นการกันคนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถปฏิบัติตนตามแนวทางนี้ได้ ออกไปนอกวิถีความเชื่อ

หลังองค์ฤๅษีแจะยะถูกทหารกะเหรี่ยงกู้ชาติสังหาร สำนักฤๅษีเลตองคุว่างเว้นอิสิอยู่ ๗ ปี จนชาวบ้านไปเชิญพืออิสิจำเลอช่วยมาจากพม่า ท่านจึงถือเป็นฤๅษีองค์แรกที่มาจากภายนอก โดยก่อนหน้านั้นจะมาจากศิษย์ที่อยู่ภายในสำนักทั้งสิ้น

ในสมัยองค์ฤๅษีจำเลอช่วย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ขยายอิทธิพลมาถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษี และได้รับการตอบรับจากชาวบ้านทันที ด้วยฤๅษีองค์ก่อนได้กล่าวกับสาวกไว้ว่า วันหนึ่งพี่น้องจากทางตะวันออกจะมาช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีชนชาวกะเหรี่ยงให้มีแผ่นดินของตนเอง ไฟปฏิวัติตามแนวทางของ พคท.จึงไหม้ลามไปทั่วถิ่นของคนกะเหรี่ยง พิธีกรรมและความเชื่อเดิมถูกละเลย สำนักฤๅษีก็ทรุดโทรมไปมากเพราะขาดการปรับปรุงซ่อมแซม หลังคารั่วยามฝนตก พระไตรปิฎกเปียกชื้นเสียหายทั้งหมดในคราวนั้น

ภายหลังป่าแตก กองกำลังปฏิวัติสลายตัว อิสิจำเลอช่วยส่งงาช้างฉลุลายพญานาคไปทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง แม้ไม่อาจหาความชัดเจนแน่นอนได้ว่าไปถึงพระองค์หรือไม่ แต่หลังจากนั้นองค์ฤๅษีได้พาชาวบ้านตัดป่าขุดตอไม้ออกเป็นบริเวณกว้าง ท่านบอกว่าวันหนึ่งจะมีเจ้าหญิงเสด็จมาที่นี่ ต้องสร้างสนามบินไว้รอ ที่กล่าวกันในทุกวันนี้ว่าคือบริเวณลานกว้างหน้าโรงเรียน ตชด. บ้านเลตองคุ แต่ผู้เฒ่าบางคนบอกว่าอยู่กลางป่านอกหมู่บ้าน

แล้วในสมัยฤๅษีองค์ต่อมา สมเด็จพระเทพฯ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์มาที่หมู่บ้านเลตองคุ


การมาเป็นศิษย์อยู่ที่สำนักฤาษี เด็กหนุ่มจะได้ฝึกการถือศีลอย่างเคร่งครัด และมีคนหนึ่งที่ตั้องรับสืบทอดเป็นฤาษีองค์ต่อไป

 


บ้านหลายหลังถือการกินเจอย่างเคร่งครัด นอกจากทุกคนในครอบครัวจะงดบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีป้ายบอกห้ามใครนำเนื้อสัตว์ขึ้นบ้านด้วย

๑๐
“บ้านหลังนี้กินเจ ห้ามนำเนื้อสัตว์ขึ้นบ้าน”

ฤๅษีองค์ต่อมาจากพืออิสิจำเลอช่วย คือองค์ฤๅษีมอแน่ ท่านมาจากหมู่บ้านในเขตพม่าเช่นเดียวกับผู้เป็นอาจารย์ ท่านไม่รู้ภาษาไทยแต่สามารถสื่อสารกันได้โดยผ่านล่ามหนุ่มกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน

พืออิสิมอแน่ อยู่ในวัยราว ๖๐ โครงหน้าสง่างามได้รูป มีราศีของความเป็นผู้นำ ห่มร่างที่กำยำสมส่วนไว้ในผ้าขาวย้อมด้วยแก่นขนุนซึ่งเริ่มเก่าซีดกระดำกระด่าง และผูกข้อมือด้วยด้ายขาว ท่านขึ้นเป็นองค์ฤๅษีแห่งเลตองคุมาได้ ๒๐ กว่าปีแล้ว ไม่มีบันทึกที่แน่นอนเกี่ยวกับปีที่ท่านขึ้นรับตำแหน่ง แต่ตามบันทึกการเดินทางของ สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธ์ ที่เข้ามาร่วมงานบุญที่เลตองคุในปี ๒๕๓๑ นั้น ยังอยู่ในสมัยของฤๅษีองค์ก่อน และท้ายบันทึกผู้เขียนบอกด้วยว่า เขาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของฤๅษีผู้เฒ่าองค์นั้นในต้นปีถัดมา

ฤๅษีเลตองคุองค์ปัจจุบันเล่าว่า ท่านเข้ามาเป็นลูกศิษย์ในสำนักฤๅษีเลตองคุตั้งแต่เป็นหนุ่ม แล้วได้ขึ้นเป็นองค์ฤๅษีตอนอายุใกล้ ๔๐ ปี และจากนั้นมาท่านก็ไม่เคยเข้าไปในหมู่บ้านอีกเลย ตามข้อปฏิบัติที่องค์ฤๅษีจะไม่เข้าไปในเขตบ้าน ไม่มีภรรยา ไม่สร้างครอบครัว แต่ออกไปทำไร่ทำนาเช่นเดียวกับชาวบ้าน

อิสิจะได้รับการยอมรับเป็นองค์ฤๅษีที่สมบูรณ์ก็เมื่อได้เปลี่ยนไปนุ่งห่มเหลือง แต่ฤๅษีองค์ปัจจุบันยังนุ่งห่มขาวเนื่องจากนิมิตว่าพืออิสิองค์ก่อนบอกว่าให้ห่มเหลืองได้ แต่พืออิสิองค์ถัดไปก่อนนั้นซึ่งมาปรากฏในนิมิตพร้อมกัน บอกว่ายังห่มเหลืองไม่ได้

ทุกวันนี้องค์ฤๅษีก็ออกไปทำไร่ข้าว ไร่ข้าวโพด ไร่พริก ไร่ผัก กับลูกศิษย์ และภายในสำนักยังเป็นที่ทำงานฝีมือพวกจักสาน งานไม้ ของบรรดาลูกศิษย์ด้วย

ฤๅษีไม่จับเงิน ซึ่งถือว่าเป็นของไม่สะอาด แต่ลูกศิษย์รับไว้แทนได้

อาหารทานวันละ ๒ มื้อ เช้าและเย็น ยกเว้นในช่วงเข้าพรรษาจะทานมื้อเดียว เฉพาะตอนค่ำหลังหนึ่งทุ่มไปแล้ว

แต่เดิมมาเนื้อสัตว์ไม่ใช่สิ่งต้องห้ามทั้งกับองค์ฤๅษีและชาวบ้านที่นับถือฤๅษี เพียงแต่ต้องไม่ใช่หมูเป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้ฆ่ากิน กับสัตว์ป่าบางชนิด และปลา ซึ่งมีข้อห้ามไว้ นอกนั้นสามารถล่าหามาเป็นอาหารได้ ตามวิถีของชาวป่าที่จำเป็นต้องหาอยู่หากินเพื่อดำรงชีพ แม้แต่ลูกศิษย์ในสำนักฤๅษีก็ได้รับอนุญาตให้เข้าป่าล่าสัตว์

จนเมื่อ ๒-๓ ปีมานี้เอง องค์ฤๅษีมอแน่ได้บอกชาวบ้านว่าต้องกินเจ และเฉพาะคนที่ถือการกินเจอย่างเคร่งครัดเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมพิธีกรรมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

เรื่องนี้สร้างความสั่นสะเทือนในหมู่ชาวกะเหรี่ยงฤๅษีพอสมควร แม้ว่าโดยทั่วไปชาวกะเหรี่ยงฤๅษีตามหมู่บ้านต่างๆ จะถือมังสวิรัติชั่วชีวิตอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่คนอีกจำนวนหนึ่งก็ยังถือปฏิบัติไม่ได้ เฉพาะที่หมู่บ้านเลตองคุมีแค่ราว ๖๐ ครัวเรือน จากจำนวนทั้งหมด ๒๐๐ กว่า ที่พร้อมน้อมปฏิบัติตามที่องค์ฤๅษีบอก และส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่เพิ่งมาจากทางเขตพม่า เช่นเดียวกับลูกศิษย์ในปัจจุบันที่มีอยู่ราว ๔๐ คน ก็มาจากชุมชนทางเขตพม่าเกือบทั้งสิ้น

พะวา (ไม่มีนามสกุล ยังไม่มีบัตรเป็นคนไทย) เคยเป็นศิษย์ในสำนักฤๅษีเลตองคุอยู่ ๑๐ ปี ตั้งแต่สมัยฤๅษีองค์ก่อนต่อเนื่องมาถึงองค์ปัจจุบัน ตอนหลังเขาลาออกมาดูแลพ่อแม่ และครองเรือน มีเมีย มีลูก ๒ คน บ้านของพะวาเป็นครอบครัวหนึ่งที่ถือกินเจ

เขาบอกว่า การถือกินเจสมาชิกในบ้านต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าใครสักคนในครอบครัวถือไม่ได้ก็ลำบาก แต่เขากับลูกเมียถือปฏิบัติมาได้ ๒ ปีกว่าแล้ว

หน้าบ้านของเขามีป้ายบอกชัดเจน ทั้งตัวหนังสือไทยและกะเหรี่ยงว่า “บ้านหลังนี้กินเจ ห้ามนำเนื้อสัตว์ขึ้นบ้าน” เช่นเดียวกับบ้านทุกหลังในหมู่บ้านที่ถือกินเจ

บ้านของพวกเขาสะอาดสะอ้าน ในวันพระนอกจากหยุดงานไปทำบุญที่สำนักฤๅษี ยังถือเป็นวันหยุดพักผ่อนอย่างแท้จริง เขาจะหุงหาอาหารไว้มากเหมือนมีงานเลี้ยงย่อมๆ ชักชวนเพื่อนบ้านที่ถือกินเจมาทานอาหารและนั่งคุยเล่นกัน ใครผ่านไปมาหน้าบ้านจะถูกเชิญให้ขึ้นบ้านและตั้งวงกินข้าว และตามมารยาทของคนกะเหรี่ยง ใครได้รับเชิญแล้วจะปฏิเสธไม่ได้เสียด้วย ทำอย่างนั้นจะถือเป็นการรังเกียจเจ้าของบ้าน

แต่ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าแนวปฏิบัติใหม่นี้ได้กันคนในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งออกไปจากความเชื่อเดิม


ฤาษีมอแน่ กับงาช้างคู่แกะสลักพระพุทธรูป สิ่งมงคลคู่บ้านคู่เมืองของเลตองคุ

๑๑
ฤๅษี-กินเจ-คริสต์ วันนี้ที่เลตองคุ

“ถึงเวลาแล้ว”

ฤๅษีมอแน่ตอบสั้นๆ ผ่านการแปลของหนุ่มกะเหรี่ยงชื่อ พรชัย คีรีดุจจินดา หลังเขาถ่ายทอดคำถามถึงท่านว่า ทำไมต้องกินเจ

“ท่านรู้ได้อย่างไร ?”

“รู้จากนิมิต”

องค์ฤๅษีพูดน้อย ท่านยินดีให้ซักถาม แต่จะตอบเพียงสั้นๆ

ใครเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเลตองคุ ไม่ว่าในฐานะเขยหรือสะใภ้ต้องเข้านับถือฤๅษี

“คนที่จะเข้านับถือฤๅษีต้องทำอย่างไรบ้าง ?”

“ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก แค่มาทำพิธีที่วัด แล้วถือกินเจ”

“ถ้าคนจากข้างนอกจะเข้ามาแค่เยี่ยมเยือน ?”

“ยินดีต้อนรับ”

“แม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนกินเจ ?”

องค์ฤๅษีตอบอย่างคมคาย “อย่างคุณที่มานั่งคุยกับเราอยู่นี่ก็ไม่ได้กินเจใช่ไหม”

“อะไรคือหัวใจของการนับถือฤๅษีครับ ?”

“ศีล ๕”

การที่องค์ฤๅษีพาชาวบ้านผู้ศรัทธาถือกินเจ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการละเว้นศีลปาณาฯ อย่างเป็นรูปธรรมไปได้ข้อหนึ่ง เมื่อตัดการกินเนื้อออกไปได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปไล่ล่าคร่าชีวิตสัตว์อื่น นอกจากนี้ ในยุคปัจจุบันทั้งบ้านเลตองคุและหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีแห่งอื่นๆ ในเขตไทย ล้วนแต่ตกอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก
-ด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง การกินเจของชาวบ้านจะส่งผลโดยตรงต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า ทั้งยังช่วยเลี่ยงจากการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์

แต่นี่อาจเป็นเรื่องหนักหนาเกินจะปฏิบัติได้สำหรับชาวบ้านป่าซึ่งไม่ได้มีทางเลือกมากนักในเรื่องอาหารการกิน หนุ่มกะเหรี่ยงชื่อ อะปุ๊ บอกว่าตอนแรกที่ฤๅษีบอก เขาก็ถือกินเจด้วย แต่ทำอยู่ได้พักหนึ่งก็ไม่ไหว ต้องกลับมากินสิ่งที่หาได้ตามเดิม เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเลตองคุที่ยังไม่สามารถถือกินเจได้

วันพระที่หมู่บ้านเลตองคุในปัจจุบันจึงมีคนไปทำบุญที่สำนักฤๅษีน้อยลง เพราะเฉพาะผู้ที่กินเจเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีกรรม และเข้าไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ๗ แห่งได้ ส่วนคนที่ไม่กินเจก็สามารถมาวัดถวายของต่อองค์ฤๅษีได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ร่วมในพิธีกรรม

คนในหมู่บ้านจึงเหมือนถูกแบ่งแยกไปโดยปริยาย เป็นกลุ่มที่กินเจกับไม่กินเจ และจะมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรหรือไม่ก็ตาม เลตองคุในยุคหลังศาสนาคริสต์แพร่มาถึงแล้ว และเริ่มมีคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่หลังคาเรือนเข้ารับนับถือ แต่ยังไม่มีการตั้งโบสถ์ในชุมชน

ก็ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง ข้างชาวกะเหรี่ยงเลตองคุที่เคยนับถือฤๅษีเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมู่บ้าน อาจถึงคราวต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง

หากย้อนมองความเป็นมายาวนานนับแต่ฤๅษีองค์ที่ ๑ นี่ไม่ใช่สถานการณ์แรกที่เลตองคุต้องเผชิญ แต่หมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีแห่งนี้ก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นทั่วเมืองไทย

ทุกวันนี้แม้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีกรรมที่สำนักฤๅษี แต่คนทั้งหมู่บ้านยังคงดำรงตนอยู่ตามจารีตเดิมของชาวกะเหรี่ยง ไว้ผมยาวเกล้ามวย ใส่เสื้อผ้าตามแบบที่องค์ฤๅษีวางไว้เป็นกฎเกณฑ์ ยามเมื่อไปพบองค์ฤๅษีที่สำนัก ผู้ชายจะแต่งชุดยาวสีขาวมีแถบสีบานเย็น หรือหากอยู่ในชุดอื่นเมื่ออยู่ต่อหน้าองค์ฤๅษี เขาจะต้องถอดเสื้อและเครื่องประดับอื่นออกหมด เป็นการแสดงความเคารพถ่อมตนต่อผู้นำแห่งความศรัทธาของเขา

ทั้งที่หากมองในเชิงกายภาพ หมู่บ้านเลตองคุในปัจจุบันไม่ได้ห่างไกลจากการติดต่อกับเมืองภายนอกมากนัก ไม่ว่าโดยทางเดินเท้า หรือเส้นทางรถ (อีแต๊ก)ที่อาศัยถนนในเขตพม่า

ในหมู่บ้านมีไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ใช้กันเกือบทุกหลังคาเรือน สำรองไฟไว้ในหม้อแบตเตอรี่สำหรับเป็นแสงสว่างในยามค่ำคืน และในฤดูที่มีแสงแดดจ้าดียังเพียงพอจะฉายหนังแผ่นดูกันได้บ้าง

แต่คนที่เลตองคุยังไม่ค่อยได้ดูทีวีเพราะปัญหาห่างไกลสัญญาณ


กล้องถ่ายรูปแบบมีจอแสดงภาพ ยังถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาของผู้หญิงและเด็กๆ

๑๒
เลตองคุ-ลาซา

คืนก่อนออกเดินทางมาเลตองคุ เราพักค้างคืนกันที่หมู่บ้านหม่องกั๊วะ ช่วงหัวค่ำได้นั่งล้อมวงคุยกันข้างเตาไฟ ฟังลุงสมหมาย ทรัพย์รังสิกุล เล่าสภาพวิถีชีวิตของพี่น้องกะเหรี่ยงยุคปัจจุบัน

ช่วงหนึ่งผู้อาวุโสแห่งหมู่บ้านหม่องกั๊วะพูดขึ้นในสำเนียงไทยปนกะเหรี่ยงของแกว่า “คนที่ดูทีวีเก่งๆ นี่ จะไม่ค่อยเชื่อฟังที่เราสอนแล้ว”

ครั้นขากลับจากหมู่บ้านเลตองคุ พวกเราเดินออกไปตามเส้นทางสู่หมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ซึ่งรถโดยสารจากในตัวเมืองอุ้มผางจะมาสุดสายที่นั่น

แล้วในระหว่างทางกลางทุ่งสลับกับเทือกเขาที่เปลี่ยวร้าง เราพบผัวเมียกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านเลตองคุคู่หนึ่ง เดินทางมากับข้าวของพะรุงพะรังที่เพิ่งซื้อมาจากในเมือง

ฝ่ายชายอุ้มลังกระดาษใบเขื่อง ซึ่งข้างในคงบรรจุอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ แต่จุดเด่นอยู่ที่ฝ่ายภรรยาซึ่งเดินตามหลัง

นางอยู่ในชุดประจำเผ่าของผู้หญิงกะเหรี่ยง เทินจานดาวเทียมสีดำขนาดใหญ่ครอบหัวเหมือนเป็นงอบขนาดยักษ์ ในแสงแดดใสกระจ่างยามสายที่สาดอาบความเวิ้งว้างทางเปลี่ยวของหุบเขาชายแดนตะวันตก

ภาพชาวกะเหรี่ยงคู่ยากบากบั่นลำเลียงเทคโนโลยีแห่งความบันเทิงของโลกยุคใหม่ฝ่าไปกลางทุ่งเนินที่โอบล้อมด้วยทิวเขาสูงเวิ้งว้าง พาใจให้ประหวัดไปถึงผู้คนในชุมชนบนหลังคาโลกแถบทิเบต

ทุกวันนี้ประชากรขององค์ทะไลลามะ ไม่ว่าจะอยู่ตามภูเขาห่างไกลหรือกลางทุ่งกว้างอันโดดเดี่ยว ก็สามารถดูโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้จากทั่วโลก กรุงลาซา-เมืองหลวงของประเทศก็เปลี่ยนไปมาก แต่นครศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้นยังเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของชาวพุทธนิกายวัชรยานอยู่เหมือนเดิม

ผู้เฒ่ากะเหรี่ยงบ้านหม่องกั๊วะ หมู่บ้านต้นทางซึ่งมีสัญญาณโทรทัศน์เข้ามาถึงก่อน บอกว่าทีวีทำให้ลูกหลานรุ่นหลังกลายเป็นคนสอนยาก เพราะเชื่อทีวีมากกว่าผู้อาวุโสในหมู่บ้าน

ป่านนี้จานดาวเทียมคงนำสัญญาณโทรทัศน์ไปถึงเลตองคุแล้ว แต่ความเป็นไปของหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีแห่งเดียวของประเทศไทยในกาลข้างหน้า คงมีแต่นิมิตขององค์ฤๅษีเท่านั้นที่จะบอกได้

อ้างอิง
กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๔, รายงานการศึกษาเฉพาะกรณี เรื่อง อิสิ กับ บ้านเลตองคุ, ๒๕๔๑
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, ๒๕๔๖
สมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธ์, “บันทึกการเดินทางสู่หมู่บ้านกะเหรี่ยงเลตองคุ” สารคดี ฉบับเมษายน ๒๕๓๓
สยามอารยะ ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๓๗
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง, ๒๕๓๔

ขอบคุณ
บ้านคีรีดุจจินดา พ่อยอดตาแฮ, แม่มะนีจี, มะเขนี, โทเจ่พ่อ, ปพนสรรค์ และบ้านลุงสมหมาย ที่หม่องกั๊วะ ได้อาศัยกินอยู่ระหว่างเก็บข้อมูล
พรชัย คีรีดุจจินดา, ปรียานุช คีรีดุจจินดา, ต่อศักดิ์ คีรีการะเกด, พะลาโปย, พะวา และครอบครัว, พีหน่อช่วย และชาวบ้านเลตองคุทุกท่าน ที่ช่วยให้ข้อมูลแนะนำหมู่บ้าน และเป็นล่ามแปลภาษากะเหรี่ยง
จอรอ คีรีมาลี, จอแบ ฉายานามชัย, บุญพันธ์ ศรีฉลวยมาลัย, อุดร คำลือ, วินัย เวชสกุลพูนสุข เป็นคนนำทางเข้าหมู่บ้าน
กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๔๗, พ.ท. ทพญ. อังศิกา กุศลาสัย, คุณปองธรรม สุทธิสาคร, คุณสุชาติ จันทร์หอมหวล ช่วยสนับสนุนข้อมูล
พญ. นิตยา ภิญโญตระกูล, ภญ. วัจนา ตั้งความเพียร ได้เดินทางร่วมกัน

ขอบคุณพิเศษ ภญ. ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร สำหรับทุกความช่วยเหลือตลอดการทำงานชิ้นนี้