ภัควดี วีระภาสพงษ์
ภาพลักษณ์ยากูซ่าในสายตาคนทั่วไปมักถูกมองว่านิยมใช้ความรุนแรง และชาวยากูซ่ามักมีรอยสักเต็มตัว
หลังจากเกิดมหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น เราได้ยินข่าวคราวและคำชื่นชมจากทั่วสารทิศโลกถึงความอดทน ความสงบ และความมีวินัยของคนญี่ปุ่น ขณะที่รัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นตลอดจนนานาชาติร่วมแรงร่วมใจกันส่งความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ ยังมีความเคลื่อนไหวเงียบ ๆ จากโลกใต้ดินของญี่ปุ่นที่ส่งความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนผู้เคราะห์ร้ายเช่นกัน พวกเขาทำงานกันอย่างเงียบเชียบ มีระเบียบ กล้าหาญ และอาจมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าปฏิบัติการช่วยเหลือบนดินด้วยซ้ำ
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากสึนามิพัดถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น กลุ่มยากูซ่าที่ใหญ่ที่สุด ๓ อันดับแรกของประเทศก็ออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนทันที อาหาร น้ำ ผ้าห่ม ถ่านไฟฉาย ส้วมสำเร็จรูป และสิ่งจำเป็นในการยังชีพทุกชนิด ถูกนำขึ้นรถบรรทุกแล่นออกจากสำนักงานของยากูซ่าอย่างเงียบเชียบและไม่มีการประชาสัมพันธ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
กลุ่มยากูซ่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น คือ กลุ่มยามางุชิ-กุมิ เปิดสำนักงานสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้ประชาชนเข้ามาพักอาศัย รวมทั้งส่งปัจจัยยังชีพออกไปหลายคันรถบรรทุก
กลุ่มยากูซ่าที่ใหญ่อันดับ ๒ คือ กลุ่มซุมิโยชิ-ไค ถึงขนาดให้ที่พักแก่ชาวต่างชาติที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเรื่องดังกล่าวแทบไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะยากูซ่าส่วนใหญ่มักมีแนวคิดขวาจัดและชิงชังชาวต่างชาติ
แต่กลุ่มที่ทำงานขันแข็งและส่งความช่วยเหลือออกไปมากที่สุดคือ กลุ่มอินางาวะ-ไค ซึ่งเป็นกลุ่มยากูซ่าที่ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ กลุ่มอินางาวะ-ไคส่งรถบรรทุกขนาด ๔ ตันออกไปกว่า ๒๕ คัน สาเหตุที่ยากูซ่ากลุ่มนี้ทุ่มเทความช่วยเหลือมากที่สุด ก็เพราะกลุ่มอินางาวะ-ไคมีรากฐานและความผูกพันแน่นแฟ้นอยู่ในเขตโทโฮกุหรือพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายที่สุดนั่นเอง ในช่วงเที่ยงคืนระหว่างวันที่ ๑๒ และ ๑๓ มีนาคม กลุ่มอินางาวะ-ไคขนเสบียงถึง ๕๐ ตันไปที่ศาลากลางเมืองฮิตาชินากะ และขนถ่ายลงมาวางไว้เงียบ ๆ โดยไม่กระโตกกระตากให้ใครรู้ว่าข้าวของความช่วยเหลือทั้งหมดนี้มาจากกลุ่มยากูซ่า เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้รังเกียจกลุ่มแก๊งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งของจากพวกเขา นอกจากนี้พวกเขายังกล้านำสิ่งของเข้าไปช่วยประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่สนใจสวมชุดป้องกันรังสีหรือกินโพแทสเซียมไอโอไดด์ล่วงหน้าแต่อย่างใด
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มยากูซ่ามีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนท่ามกลางภัยพิบัติ ในเหตุธรณีพิโรธครั้งร้ายแรงที่เมืองโกเบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นราว ๓ แสนคนได้รับความเดือดร้อน ครั้งนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการทำงานอันเชื่องช้างุ่มง่ามไม่ทันการณ์ ตรงกันข้ามกับกลุ่มยากูซ่าที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งอาหาร สร้างสถานพยาบาลชั่วคราว แม้กระทั่งนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลด้วยเฮลิคอปเตอร์ กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าอันธพาลเหล่านี้เป็นพวกแรกที่บุกลุยเข้าไปถึงพื้นที่ประสบภัยพิบัติและให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที
จาก “ไอ้ขี้แพ้” สู่แก๊งอิทธิพล
ไม่มีใครรู้แน่นอนว่ายากูซ่ามีต้นกำเนิดแท้จริงเมื่อไร แต่กลุ่มยากูซ่าทั้งหมดในปัจจุบันมีรากเหง้าสืบสาวกลับไปได้ถึงช่วงกลางยุคเอโดะ (ยุคเอโดะครอบคลุมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๔๖-๒๔๑๑) กลุ่มคนที่เป็นต้นเหง้าของยากูซ่ามี ๒ กลุ่มด้วยกัน นั่นคือกลุ่มนักค้าของเถื่อนของโจรและกลุ่มนักพนัน คนทั้งสองกลุ่มนี้ถือเป็นชนชั้นต่ำในสังคมญี่ปุ่นและเป็นที่ดูถูกดูแคลนของคนทั่วไป
คำว่า “ยากูซ่า” มีที่มาจากตัวเลข ๓ ตัวรวมกัน นั่นคือ ๘ (ยา) ๙ (กู) ๓ (ซ่า) เลข ๓ ตัวนี้บวกรวมกันได้ ๒๐ ซึ่งในเกมไพ่ของญี่ปุ่นถือว่าเป็นไพ่ที่ไม่มีแต้มในการพนัน จำนวน “๘๙๓” คือไพ่ที่ “ไร้ประโยชน์” และ “แพ้” การนำเลขจำนวนนี้มาเรียกตัวเองว่า “ยากูซ่า” จึงมีความหมายถึงการเป็น “คนไร้ประโยชน์” หรือ “ไอ้ขี้แพ้” ซึ่งก็สอดคล้องกับสายตาชาวญี่ปุ่นทั่วไปที่มองนักค้าของเถื่อนของโจรกับนักพนันเป็นคนชั้นต่ำและ “ไอ้ขี้แพ้” ในสังคม
ไม่ว่ายากูซ่าจะเรียกตัวเองว่ายากูซ่าเพราะยอมรับว่าตัวเองเป็น “ไอ้ขี้แพ้” หรือเพราะอยากประชดทัศนคติที่ดูถูกดูหมิ่นตน หรือเพราะอยากให้กำลังใจตัวเองว่าตนต่อสู้มาจากความเป็นศูนย์ก็ตาม แต่ยากูซ่าไม่ใช่แก๊งอันธพาลธรรมดา ยากูซ่าไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นพวกหัวไม้ที่ชอบใช้ความรุนแรง พวกเขามองตัวเองเป็นกลุ่มองค์กรแบบอัศวิน เป็นลูกผู้ชายที่ห้าวหาญ และมีหลักปรัชญาเป็นของตัวเอง
หลักปรัชญาของยากูซ่ามีคำเรียกว่า นิงเคียว-โด เป็นแนวคิดที่เน้นในคุณค่าของมนุษยธรรม ความยุติธรรมและหน้าที่ และไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อน ยากูซ่ามักย่อหลักปรัชญานี้เหลือเพียงคำขวัญสั้น ๆ ว่า “ช่วยเหลือผู้อ่อนแอและต่อสู้กับผู้เข้มแข็ง”
แต่หากบอกว่ายากูซ่าปฏิบัติตามหลักนิงเคียว-โดนี้จริง ๆ ก็คงมองโลกแบบโรแมนติกมากไปหน่อย ถึงแม้หลักการจะดี แต่ในภาคปฏิบัตินั้นยากูซ่าก็ขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบผู้อ่อนแอและผู้เสียเปรียบในสังคม แล้วพอเจอผู้เข้มแข็งจริง ๆ แทนที่จะยืนหยัดต่อสู้ กลับหลบลี้หนีหน้าก็มี
จากชนชั้นที่ต่ำต้อยในสังคม กลุ่มยากูซ่ากลายเป็นแก๊งอิทธิพลผู้มีอำนาจไม่น้อยในสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม รัฐบาลสหรัฐฯ อาศัยกลุ่มยากูซ่ามารักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมซึ่งพังทลายจากสงคราม นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังซื้อบริการจากนายใหญ่ยากูซ่าที่ชื่อ โยชิโอะ โคดามะ ให้ทำหน้าที่กวาดล้างประชาชนที่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ ต่อมาภายหลัง โคดามะคนนี้เองที่สนับสนุนการเงินในการก่อตั้งพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือพรรคแอลดีพีซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภาญี่ปุ่นมานานกว่า ๕๐ ปี จนเพิ่งมาสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาไปเมื่อ ๒-๓ ปีมานี้เอง การที่ยากูซ่าสร้างสายสัมพันธ์กับนักการเมืองได้เช่นนี้ย่อมทำให้อิทธิพลอำนาจของมันแข็งแกร่งมากขึ้น เมื่อครั้งประธานาธิบดีบารัก โอบามา มาเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว กรมตำรวจญี่ปุ่นก็ขอความร่วมมือจากหัวหน้ากลุ่มยากูซ่าในโตเกียวทั้งหมดให้ช่วยกันดูแลความประพฤติลูกน้องและสอดส่องรักษาความสงบในเมืองหลวง
ธุรกิจของยากูซ่ามีทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ธุรกิจถูกกฎหมายก็เช่นการรับจ้างรักษาความปลอดภัย (รปภ.) การเล่นหุ้น การปล่อยกู้ บางองค์กรใหญ่ ๆ ก็พยายามหันมาทำธุรกิจถูกกฎหมายมากขึ้น เช่น รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น
ส่วนที่ก้ำกึ่งจะเรียกว่าผิดกฎหมายก็ไม่เชิง มีอาทิ การเรียกค่าคุ้มครองซึ่งอาจมากหรือน้อยก็ได้ คนไทยคนหนึ่งที่เคยไปทำร้านอาหารในจังหวัดอิบารากิเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเล่าว่า เพื่อนชาวญี่ปุ่นพาเขาไปคำนับ “คุณพ่อใหญ่” ผู้มีอิทธิพลประจำเขตนั้น เมื่อคำนับกันแล้ว “คุณพ่อใหญ่” ก็สั่งให้ “เด็ก ๆ” ช่วยดูแลไม่ให้ใครไปสร้างความวุ่นวาย โดยมีการแลกเปลี่ยนตอบแทนคือ “เด็ก ๆ” ของ “คุณพ่อใหญ่” จะนำดอกไม้ประดับมาเปลี่ยนให้ร้านทุก ๒ วัน ไม้ยืนต้นใส่กระถางนำมาเปลี่ยนให้ทุก ๒ สัปดาห์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ ๑ หมื่นเยน ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก
ยากูซ่ายังหาเงินจากการค้าของเถื่อน การพนัน และที่เป็นปัญหามากก็คือการค้ามนุษย์ โสเภณีทั้งผู้ใหญ่และเด็กมักอยู่ภายใต้อิทธิพลของยากูซ่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากูซ่าสร้างชื่อเสียให้ตนเองมากที่สุด รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ มีการออกกฎหมายต่อต้านการซ่องสุมเป็นซ่องโจรมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ และในช่วงระยะหลัง ๆ ตำรวจก็พยายามควบคุมปราบปรามพฤติกรรมของกลุ่มยากูซ่าอย่างเข้มงวด แต่ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มก็มองว่ายากูซ่าคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดอาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การฉกชิงวิ่งราว การล้วงกระเป๋า การปล้น ฯลฯ ทำให้ท้องถนนในญี่ปุ่นมีความปลอดภัย พวกเขาจึงเห็นว่ายากูซ่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และเป็น “ความชั่วร้ายที่จำเป็น”
ในปัจจุบันทั้งประเทศญี่ปุ่นมีผู้เป็นสมาชิกกลุ่มยากูซ่ารวมกันประมาณ ๘ หมื่นคน การเป็นสมาชิกไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย กลุ่มยากูซ่าเปิดสำนักงาน มีนามบัตร มีกระทั่งนิตยสารสำหรับคนคลั่งไคล้ยากูซ่า กลุ่มยากูซ่าที่ใหญ่ที่สุด ๓ อันดับแรกคือ กลุ่มยามางุชิ-กุมิ กลุ่มซุมิโยชิ-ไค และกลุ่มอินางาวะ-ไค มีสมาชิก ๔๐,๐๐๐ คน ๑๒,๐๐๐ คน และ ๑๐,๐๐๐ คน ตามลำดับ ตำรวจจะคอยควบคุมดูแลเฉพาะพฤติกรรมของสมาชิกเหล่านี้ในลักษณะเดียวกับที่คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์คอยควบคุมการปั่นหุ้นของโบรกเกอร์ทั้งหลาย
เหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมสร้างความเสียหายแก่ญี่ปุ่นมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฎ
เหรียญสองด้านของการทำดี
ถึงแม้กลุ่มยากูซ่าพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เอาหน้าเอาตาจากปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนครั้งนี้ แต่ข่าวคราวก็ยังกระเส็นกระสายกระจายออกไปทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ แม้กระทั่งสำนักข่าวรอยเตอร์ก็ยังทำข่าวเรื่องนี้ ซึ่งยิ่งตอกย้ำภาพพจน์ที่ดีของชาวญี่ปุ่น ในเว็บไซต์หนึ่งมีชาวอเมริกันมาแสดงความคิดเห็นท้ายบทความในทำนองว่า แม้แต่แก๊งมาเฟียญี่ปุ่นยังมีคุณธรรมมากกว่าแก๊งชาวอเมริกัน โดยเขาพาดพิงถึงแก๊งอันธพาลที่ออกมาปล้นและสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเหตุภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาที่ผ่านมา
กระนั้นก็ยังมีคนไม่น้อยที่มองว่า ใช่ว่ากลุ่มยากูซ่าไม่หวังผลประโยชน์อะไรในใจ การถูกตำรวจควบคุมปราบปรามอย่างเข้มงวดในระยะหลัง กอปรกับภาพพจน์ของกลุ่มที่ติดลบในสายตาประชาชนจำนวนไม่น้อย นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะประกอบกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคม อย่างน้อยก็ทำให้ตำรวจเห็น “ความจำเป็น” ของ “ความชั่วร้าย” จนอาจนำไปสู่การประนีประนอมกันในเชิงพฤตินัย ยากูซ่าบางกลุ่มอาจมองเลยไปถึงการบูรณะฟื้นฟูบ้านเมืองที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต การประพฤติตัวดีเช่นนี้อาจทำให้พวกเขามีโอกาสมากขึ้นในการประมูลงานรับเหมาก่อสร้าง และจะว่าไปแล้ว สิ่งของที่พวกเขาบริจาคให้ประชาชนก็มาจากเงินที่พวกเขาเอารัดเอาเปรียบประชาชนในพื้นที่มาตลอด การทดแทนกลับคืนไปบ้างในยามลำบากยากเข็ญก็นับว่าสมน้ำสมเนื้อกันแล้ว
ไม่ว่ากลุ่มยากูซ่าจะทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์หรือหวังผลตอบแทนในระยะยาวก็ตาม ในยามวิกฤตการณ์ ความช่วยเหลือเหล่านี้ต้องนับว่ามีคุณค่าล้นเหลือ อีกทั้งเราปฏิเสธไม่ได้ถึงความรวดเร็วและความใจถึงใจป้ำในการทำงานของพวกเขา ซึ่งก็ยังดีกว่าความช่วยเหลือแบบเอาหน้าเอาตาแต่ไร้ประสิทธิภาพของบางองค์กร
แม้พฤติกรรมส่วนใหญ่ของยากูซ่าอาจเฉไฉไปจากหลักนิงเคียว-โด แต่บางครั้งบางคราวชาวยากูซ่าที่มีจุดเด่นเป็นรอยสักเต็มตัวก็อาจหวนกลับมาสู่วิถียากูซ่าที่แท้จริง ดังเช่นในเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งล่าสุด สมาชิกผู้ไม่ออกนามของยากูซ่ากลุ่มหนึ่งกล่าวว่า “ในยามวิกฤต ไม่มีความแตกต่างระหว่างยากูซ่ากับประชาชนธรรมดา หรือระหว่างชาวญี่ปุ่นกับชาวต่างชาติ เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์และเราต้องช่วยเหลือกัน” บางครั้งความภาคภูมิใจก็สำคัญกว่าผลตอบแทน