ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
patwajee@gmail.com
ภาพประกอบ : เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง

หากคุณเป็นนักท่องเว็บ อาจมีโอกาสเห็นโฆษณาชุด Anti-Soda ของสำนักงานสุขภาพแห่งนิวยอร์กในเว็บไซต์ Youtube ที่ทั้งรูปภาพและเนื้อหาตรงไปตรงมาชนิดที่บางคนบอกว่าอยากอาเจียนเมื่อเห็นหนุ่มหล่อกำลังดื่มไขมันเขละๆ สีช้ำเลือดช้ำหนองจากกระป๋องน้ำอัดลม ตามด้วยข้อความว่าน้ำอัดลมวันละแก้วจะทำให้น้ำหนักตัวคุณเพิ่มขึ้นถึงปีละ ๑๐ ปอนด์ (๔.๕ กิโลกรัม)

สมาคมเครื่องดื่มของสหรัฐฯ ถึงกับเต้นผางออกมาบอกว่าเป็นโฆษณาที่เล่นกับความรู้สึกของผู้คน แต่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มได้ผลิตเครื่องดื่มที่ลดแคลอรีลงมาเฉลี่ยถึง ๒๑ เปอร์เซ็นต์แล้ว

ว่ากันว่านี่คือการต่อกรกับยักษ์ใหญ่ชนิดที่เทียบรุ่นกันไม่ได้ เพราะขณะที่โค้กใช้งบการตลาดมากเป็นอันดับ ๖ ของโลกจำนวนถึง ๒.๖๗ พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเป๊ปซี่อยู่อันดับที่ ๒๗ ใช้เงินไป ๑.๓๙ พันล้านเหรียญ แต่นิวยอร์กกลับใช้เงินกับโฆษณาชุดนี้แค่ ๕ หมื่นเหรียญ โดยเผยแพร่ผ่านสื่อทางสังคม เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ในรูปแบบของแคมเปญไวรัสที่พวกนักการตลาดนิยมใช้กัน ซึ่งก็ดูเหมือนจะได้ผลเพราะแค่ไม่กี่วันก็มีคนคลิกเข้าไปดูแล้วนับแสนครั้ง (เข้าไปดูได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=-F4t8zL6F0c&feature=player_embedded)

จะด้วยถูกปิดหูปิดตาจากผู้ผลิต การตลาดในสื่อกระแสหลัก หรือความอยากบังตาก็ตามแต่ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มกับความอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่กำลังขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ผู้กล้าและเที่ยงตรงทั้งไม่ตกเป็นเครื่องมือของภาคอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยกล้าฟันธงว่าเครื่องดื่มเติมสารให้ความหวานและเครื่องดื่มโซดาเหล่านี้เป็นแหล่งที่มาของโรคร้ายสารพัด และโรคร้ายที่คุ้นหูกันดีก็คือโรคอ้วนและโรคกระดูกพรุน

ทั้งนี้ผลการศึกษาหลายชิ้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มเติมสารให้ความหวานกับการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ (ไม่ได้เป็นโดยกำเนิด) โดยในการศึกษาผู้หญิงอเมริกัน ๙๑,๒๔๙ คน เป็นเวลา ๘ ปี พบว่าผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้วันละครั้ง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มชนิดเดียวกันเพียงเดือนละครั้งถึง ๑ เท่าตัว ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งต้องเผชิญกับภาวะน้ำหนักตัวเกิน และผู้หญิงผิวดำมีความเสี่ยงเรื่องน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่การศึกษาผู้หญิงจำนวน ๘๘,๕๒๐ คน พบว่าผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้วันละครั้ง มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าผู้ดื่มเพียงเดือนละครั้งถึง ๒๓ เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่ดื่มวันละ ๒ ครั้ง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น ๓๕ เปอร์เซ็นต์

แถลงการณ์ของสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) ระบุว่า ในระหว่างปี ๒๕๔๔-๒๕๔๗ คนอเมริกันเติมน้ำตาลในอาหารสูงถึง ๒๒.๒ ช้อนชาต่อวัน (๓๕๕ แคลอรีต่อวัน) โดยในระหว่างปี ๒๕๑๓-๒๕๔๘ คนอเมริกันกินน้ำตาลเพิ่มขึ้นถึง ๑๙ เปอร์เซ็นต์ (๗๖ แคลอรีต่อวัน) และเครื่องดื่มชนิดหวานมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณน้ำตาลเหล่านี้ การกินน้ำตาลมากเกินไปสัมพันธ์กับความผิดปรกติด้านการเผาผลาญอาหารในร่างกายและโรคร้ายอื่น มีหลักฐานว่าการกินน้ำตาลสัมพันธ์กับการนำพลังงานเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป น้ำหนักเพิ่ม ได้รับสารอาหารสำคัญน้อยลง ทางสมาคมฯ จึงแนะนำว่าผู้หญิงอเมริกันควรได้รับพลังงานจากน้ำตาลไม่เกิน ๑๐๐ แคลอรีต่อวัน และผู้ชายไม่เกิน ๑๕๐ แคลอรีต่อวัน…ซึ่งเป็นปริมาณที่เทียบเท่ากับพลังงานจากน้ำอัดลมเพียงกระป๋องเดียวเท่านั้น

ด้าน มาเรียน เนสต์เล (Marion Nestle) แถวหน้าของการตีแสกหน้าอุตสาหกรรมอาหารสากล ผู้เขียนหนังสือ Food Politics: How the Food Industry Influences Nutrition and Health กล่าวว่าเครื่องดื่มเป็นแหล่งกาเฟอีนเพียงแหล่งเดียวในอาหารเด็ก โคคาโคล่า ๑ กระป๋องมีกาเฟอีน ๔๕ กรัม เครื่องดื่มบางชนิดมีกาเฟอีนเกินกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัม ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่พบในกาแฟเลยทีเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มกับน้ำหนักตัวชัดเจนมาก นักวิจัยคำนวณว่าการดื่มน้ำอัดลม ๑ ครั้ง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนถึง ๑.๖ เท่า ส่วนผู้ใหญ่ที่ดื่มน้ำอัดลมมีความเสี่ยงต่อกระดูกผุแตกหัก ๓-๔ เท่าของผู้ที่ไม่ดื่ม นอกจากนี้น้ำตาลและกรดในเครื่องดื่มยังละลายสารเคลือบฟันได้ง่ายอีกด้วย

นายแพทย์เจมส์ เอ. โฮเวนสไตน์ (James A. Howenstine) ผู้เขียนหนังสือ A Physician’s Guide to Natural Health Products That Work บอกว่ามีการทดลองที่น่าสนใจว่าน้ำตาลจากน้ำอัดลมเพียงกระป๋องเดียวสามารถทำลายความสามารถในการทำลายเชื้อโรค gonococcal ของ
ร่างกายนานถึง ๗ ชั่วโมง

ด้านดอกเตอร์แมคเคย์ นักโภชนาการจากสถาบันวิจัยการแพทย์แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ บอกว่า ที่สถาบันฯ มีการทดลองใส่ฟันมนุษย์ลงในเครื่องดื่มโคล่า และพบว่าฟันจะค่อยๆ อ่อนตัวลงและเริ่มละลายภายในเวลาอันสั้น กรดในเครื่องดื่มโคล่าเข้มข้นเกือบจะเท่ากับกรดในน้ำส้มสายชู แต่ถูกความหวานของน้ำตาลฉาบหน้าไว้ทำให้เด็กไม่สังเกตว่าตนกำลังดื่มกรดฟอสฟอริก น้ำตาล กาเฟอีน สีและกลิ่นสังเคราะห์

แครอล ไซมอนทาคชิ (Carol N. Simontacchi) ผู้เขียนหนังสือ The Crazy Makers: How the Food Industry Is Destroying Our Brains and Harming Our Children บอกว่าเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวานแอสปาแตมจำนวน ๑ ลิตร ผลิตเมทานอล (แอลกอฮอล์จากไม้ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการทำงานของสมอง) จำนวน ๕๕ กรัม เมื่อดื่มภายในระยะเวลาสั้นๆ (๑ วัน) เมทานอลจะเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่า ๒๕๐ มิลลิมิตร ซึ่งมากเกินกว่าปริมาณที่สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (EPA) กำหนดไว้ถึง ๓๒ เท่า

รู้อย่างนี้คุณคงอยากหันไปหาเครื่องดื่มอื่นแทนน้ำอัดลม แต่โปรดระวัง เพราะนี่คือพฤติกรรมหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจึงหันมาออกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ลดแคลอรี เติมสารอาหาร วิตามินและเกลือแร่ แล้วตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แปลกๆ ชนิดที่ฟังแล้วเคลิบเคลิ้มว่าดื่มแล้วจะกลายเป็นคนผอม ฉลาด และสุขภาพดีมาหลอกล่อให้หลงกล

โปรดอย่าลืมว่าเครื่องดื่มเหล่านี้มีข้อมูลและแง่มุมเชิงลบที่ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดในโฆษณา บางชนิดแคลอรีต่ำเกือบเป็นศูนย์แต่กลับอุดมไปด้วยกาเฟอีนและสารให้ความหวานเทียมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ไดเอทโค้กที่ให้พลังงานเพียง ๑ แคลอรี แต่มีแอสปาแตมสูงถึง ๑๒๕ มิลลิกรัม เปรียบเทียบกับโค้กคลาสสิกที่ให้พลังงาน ๙๗ แคลอรี แต่แอสปาแตมเป็นศูนย์ เป็นต้น (ดูตารางประกอบ) เช่นเดียวกับเป๊ปซี่แม็กซ์ที่ใช้สโลแกน Don’t Worry, No Sugar…แต่ไม่ได้บอกว่ามีอะไรมาแทนที่น้ำตาล

เครื่องดื่มบางชนิดเติมวิตามินเข้าไปเพียงเล็กน้อย แต่หยิบยกมาพูดเสียใหญ่โต ดังเช่นกรณีไดเอทโค้ก พลัส (Diet Coke Plus) ที่บริษัทโคคา-โคล่าระบุว่าเป็นน้ำอัดลมปราศจากแคลอรี แต่มีส่วนผสมของวิตามินบีและเกลือแร่ ๒ ชนิดคือสังกะสีและแมกนีเซียม ซึ่งต่อมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ออกจดหมายเตือนถึงบริษัทโคคา-โคล่าว่าโฆษณาเกินจริง น้ำอัดลมดังกล่าวไม่มีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากพอที่จะเติมคำว่า “plus” ลงไปในฉลากของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอาหารที่ผ่านการอนุญาตให้สามารถเติมคำดังกล่าวได้ต้องมีสารอาหารทางโภชนาการอย่างน้อย ๑๐ เปอร์เซ็นต์

มาสู่เรื่องที่แม้ไม่เกี่ยวกับน้ำอัดลมแต่เกี่ยวโยงกัน บ้านเราตอนนี้กำลังฮิตเครื่องดื่มจากกรดอะมิโน ซอย เปปไทด์ ที่มีการนำเสนอในฐานะเครื่องดื่มบำรุงสมอง โดยอาศัยงานวิจัยจากญี่ปุ่นประกอบว่ากรดอะมิโนตัวนี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเร็วกว่ากรดอะมิโนตัวอื่นๆ บริษัทใหญ่อย่างโอสถสภาเจ้าของเปปทีนซึ่งเป็นเจ้าแรกของเครื่องดื่มชนิดนี้ วางเดิมพันอนาคตทางการตลาดของเปปทีนไว้สูงมากถึงขนาดกล้าทุ่มงบโฆษณาถึงปีละ ๔๐๐ ล้านบาทเพื่อสร้างความรับรู้เรื่องกรดอะมิโนตัวนี้และสร้างแบรนด์สู่ความเป็นหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับต้องพบปัญหาใหญ่เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งถอดถอนระงับใบอนุญาตโฆษณาชุดแรกทางสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ของเครื่องดื่มเปปทีน โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้ขออนุญาตก่อนและมีการใช้ข้อความที่สร้างความสับสน…เพียงแค่นี้ก็น่าจะสื่อได้ว่าสาระหลักที่อยู่เบื้องหลังเครื่องดื่มบำรุงสมองประเภทนี้ แท้จริงมิใช่เรื่องคุณค่าของสารอาหารแต่เป็นผลกำไรมหาศาล

สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญก็อยู่ที่ว่าคุณจะยอมตกเป็นทาสความอยากและเหยื่อของโฆษณาเหล่านี้หรือไม่ หากต่อสู้กับความเย้ายวนใจของน้ำอัดลมไม่ไหวขอแนะนำให้กลับไปดูโฆษณา Anti-Soda ของสำนักงานสุขภาพแห่งนิวยอร์ก สำหรับผู้ที่อยากฝึกสมองโดยไม่ต้องอาศัยอะมิโน ซอย เปปไทด์ ก็ลองใช้วิธีตั้งคำถามและหาคำตอบเรื่องความคุ้มค่าระหว่างเงินที่ต้องเสียไปกับเครื่องดื่มราคาขวดละเกือบร้อยกับสิ่งที่จะได้กลับมาก็แล้วกันค่ะ …ถ้าคิดสะระตะว่าคุ้มค่าและจ่ายไหวก็ลุยเลยค่ะ

ข้อมูลโภชนาการของน้ำอัดลมชนิดขวด และกระป๋องขนาด ๒๔๐ มิลลิลิตร (ในสหรัฐอเมริกา)

 

ชนิดเครื่องดื่ม โคคา-โคล่า คลาสสิค
โคคา-โคล่า ซีโร่
ไดเอท โค้ก
สไปรท์ สไปรท์ ซีโร่
พลังงาน (แคลอรี) ๙๗ ๐.๗ ๙๖ ๒.๔
คาร์โบไฮเดรต (มิลลิกรัม) ๒๗ ๐.๑ ๐.๑ ๒๖
โซเดียม (มิลลิกรัม) ๓๓ ๒๘ ๒๘ ๔๗ ๒๔
โพแทสเซียม (มิลลิกรัม) ๓๑ ๑๒ ๗๓
ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) ๔๑ ๓๖ ๑๘
กาเฟอีน (มิลลิกรัม) ๒๓ ๒๓ ๓๑
แซ็กคาริน (มิลลิกรัม)
แอสปาแตม (มิลลิกรัม) ๕๘ ๑๒๕ ๕๐
อะเซซัลเฟม โพแทสเซียม (มิลลิกรัม) ๓๑ ๓๔

 

ที่มา : เรียบเรียงจาก Soft Drink Nutrition Information for Carbonated Beverages (United States) Serving Size: 8 FL OZ (240 ml.), 2/25/2009, www.thecoca-colacompany.com