คำข้าว : เรื่อง
วายูร : ภาพประกอบ
ความตายของ รูดอล์ฟ ดีเซล นั้นเป็นปริศนา
ระหว่างเดินทางจากเมืองแอนต์เวิร์ป เบลเยียม เพื่อเข้าร่วมงานเปิดโรงงานสัญชาติเบลเยียมแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ รูดอล์ฟ ดีเซล หายตัวไปจากห้องพักในเรือตั้งแต่เรือยังไม่ออกพ้นเขตประเทศเบลเยียมด้วยซ้ำ
หลังจากนั้น ๒ วัน ศพของเขาก็ถูกพบในแม่น้ำ
เชื่อกันว่า การเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องยนต์ดีเซล อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
รูดอล์ฟ ดีเซล (ค.ศ. ๑๘๕๘-๑๙๑๓) มีเชื้อชาติเยอรมัน แต่เกิดที่ปารีส ฝรั่งเศส เข้าเรียนที่อังกฤษ ก่อนไปต่อระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัยที่มิวนิก เยอรมนี
เขาเป็นวิศวกรผู้โด่งดัง ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ภาษาศาสตร์ และนักทฤษฎีด้านสังคมศาสตร์ด้วย
ว่ากันว่า สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ของดีเซลมีลักษณะร่วม ๓ ประการเสมอ นั่นคือ ๑. เกี่ยวข้องกับการถ่ายเทความร้อนตามกฎฟิสิกส์ ๒. กลไกต่างๆ ถูกออกแบบอย่างสร้างสรรค์ และ ๓. ความต้องการของสังคมทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์
ดีเซลเคยบอกว่า เครื่องยนต์ดีเซลนั้นขับเคลื่อนได้ด้วยน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ
เขายังทำนายด้วยว่า การใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิงแม้จะยังดูเหมือนไม่สำคัญนักในวันนี้ แต่ในอนาคตจะมีความสำคัญไม่แพ้น้ำมันปิโตรเลียมทีเดียว
ดีเซลตั้งใจจะพัฒนาเครื่องยนต์ของเขาให้สามารถสร้างเป็นเครื่องยนต์ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ ใครเงินถุงเงินถังหรือเบี้ยน้อยหอยน้อยก็ใช้เครื่องยนต์ชนิดนี้ได้ทั้งนั้น แถมเครื่องยนต์นี้ยังใช้ได้กับน้ำมันชนิดที่หาได้ในท้องถิ่นอีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ช่างพื้นบ้านรายย่อยสามารถแข่งขันกับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งผูกขาดการใช้เครื่องจักรไอน้ำ–เครื่องกำเนิดพลังงานที่ทั้งใหญ่เกินไป ทั้งแพง และทั้งสิ้นเปลือง
ปี ๑๘๙๔ เขาจดสิทธิบัตรเครื่องยนต์ที่สันดาปภายในกระบอกสูบ ภายใต้ชื่อ “เครื่องยนต์ดีเซล”–ผลงานที่ได้รับการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้กับเรือดำน้ำ เรือเดินสมุทร พาหนะต่าง ๆ รวมทั้งใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย
ดีเซลตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซลออกขาย การค้าของเขาเจริญสุด ๆ และมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายแฟรนไชส์การผลิตเครื่องยนต์ในประเทศต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตรในขณะนั้นยังหละหลวม ดีเซลต้องเสียสตางค์ฟ้องร้องต่อสู้เรื่องการละเมิดสิทธิบัตรไปมากมาย และโรงงานของเขาก็ขาดทุนย่อยยับ
ดังนั้นเมื่อชาวประมงพบศพของเขาหลังจากการหายตัวไป ๒ วัน จึงมีบางคนสันนิษฐานว่า เขาฆ่าตัวตายเพราะหมดตัว
บ้างก็ว่า เขาถูกสายลับเยอรมันฆาตกรรม เนื่องจากออกใบอนุญาตการผลิตเครื่องยนต์ให้แก่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับเยอรมนี เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส
ส่วนญาติ ๆ บอกว่า เขาถูกโยนลงทะเล และแบบแปลนสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ของเขาก็ถูกขโมยไปด้วย
ส่วนบางคนบอกว่า บริษัทน้ำมันปิโตรเลียมมีส่วนรู้เห็นในการเสียชีวิตครั้งนี้ เพราะกลัวสูญเสียผลประโยชน์ที่ตัวเองผูกขาดไว้
ไม่ว่าจะอย่างไร ความตายของ รูดอล์ฟ ดีเซล ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ดี
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับ 254 เมษายน 2549 และหนังสือ คนสร้างคำ