เป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้ว เมื่อฝรั่งร่างใหญ่ท่าทางใจดีเดินออกจากห้องทำงานของเขาและส่งยิ้มทักทายผู้มาเยือน
“Como esta?” (สบายดีไหม) เขาทัก ก่อนจะชวนคุยเรื่องคอนเสิร์ต Bangkok 100 Rock Festival ซึ่งมีขึ้นเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาอย่างอารมณ์ดี
สำหรับซินญอร์ฌูอาว อะซือเรดู (Joao Azeredo) นี่เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกเหนือจากภารกิจการสอนภาษาในมหาวิทยาลัย และการทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายวัฒนธรรมของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย
พูดถึงประเทศโปรตุเกส (Portugal) และชาวโปรตุเกส (Portuguese) แล้ว สิ่งที่คนไทยรู้มากที่สุดเกี่ยวกับพวกเขาดูจะมีอยู่ ๒ อย่าง คือ หลุยส์ ฟิโก้ (Louis Figo) นักฟุตบอลชื่อดังแห่งสโมสรรีลมาดริด (Real Madrid) และ ท้าวทองกีบม้า ต้นตำรับขนมหวานอย่างทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง เท่านั้น
แต่หากย้อนไปเมื่อเกือบ ๕๐๐ ปีก่อน คนไทยหรือชาวสยามยุคนั้นอาจคุ้นเคยกับชาวโปรตุเกสมากกว่าคนยุคนี้ ด้วยโปรตุเกสถือเป็นฝรั่งตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับคนไทย เป็นนักเดินเรือแสวงอาณานิคมโพ้นทะเล รวมทั้งเป็นกองทหารรับจ้างผู้นำอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารที่สำคัญ อย่างปืนไฟ เข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา
เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ถึงวันนี้ยังมีลูกหลานชาวโปรตุเกสดั้นด้นเดินทางมาทำงานไกลบ้านไม่ต่างจากบรรพบุรุษ ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ งานของเขามิใช่การแสวงหาดินแดนใหม่ หาผลประโยชน์ทางการค้า หรือแสวงโชคด้วยการเป็นทหารรับจ้างเหมือนยุคโบราณอีกต่อไป
งานในเมืองไทยของ ฌูอาว อะซือเรดู ชาวโปรตุเกสวัย ๕๑ ปี คือการสอนภาษาและเผยแพร่วัฒนธรรมโปรตุเกส
จะว่าไปแล้ว ฌูอาวอาจเกิดมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ด้วยเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะถูกลิขิตให้สัมพันธ์และสัมผัสกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาตลอด
ฌูอาวเป็นคนโปรตุเกสที่เกิด “ไกลบ้าน” คือเกิดที่ประเทศโมซัมบิก ทวีปแอฟริกา อันเนื่องมาจากพ่อกับแม่ของเขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลโปรตุเกส ซึ่งเข้าไปบริหารโมซัมบิกในฐานะประเทศอาณานิคม ดังนั้นชีวิตวัยเด็กของเขาจึงต่างจากชาวโปรตุเกสทั่วไป
“ผมเกิดปี ๑๙๕๕ เรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยปีแรกที่โมซัมบิก ช่วงเวลานั้นผมมีโอกาสเรียนหนังสือร่วมกับชาวโมซัมบิก รู้จักการอยู่ร่วมกับคนต่างสีผิวต่างวัฒนธรรม ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของโมซัมบิก อย่างภาษา การละเล่นพื้นบ้าน และการทำอาหาร ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก”
จวบจนชีพจรเริ่มย้ายลงไปที่เท้าของฌูอาวเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อครอบครัวมีอันต้องย้ายกลับโปรตุเกส สาเหตุหนึ่งเพราะที่โมซัมบิกไม่มีมหาวิทยาลัยใดเปิดสอนวิชากฎหมายที่เขาอยากเรียน อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ พ่อกับแม่ของเขาเสร็จสิ้นภารกิจในโมซัมบิกแล้ว แต่เมื่อกลับถึงโปรตุเกส ฌูอาวก็พบว่าจริง ๆ แล้วตัวเองชอบวิชาประวัติศาสตร์ จึงตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยลิสบัว (Lisboa University) ในที่สุด
จุดเปลี่ยนสำคัญของฌูอาวเกิดขึ้นในช่วงนี้เอง เพราะก่อนเขากลับประเทศไม่กี่เดือน ที่โปรตุเกสมีการปฏิวัติล้มระบอบเผด็จการเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๔ (พ.ศ. ๒๕๑๗) ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและจิตใจของฌูอาวอย่างยิ่ง
“การเมืองในโปรตุเกสยุคนั้นร้อนแรงมาก ชีวิตในมหาวิทยาลัยของผมจึงตื่นเต้นพอสมควร ผลจากการปฏิวัติครั้งนั้นทำให้โปรตุเกสมีประชาธิปไตยมาจนถึงวันนี้และทำให้ผมเปลี่ยนไป ผมมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการเมืองก็จากช่วงนี้เอง ลองคิดดูตอนนั้นผมอายุแค่ ๑๙ ปี แต่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมมากมายที่มหาวิทยาลัย เช่น การเลือกสภานักศึกษา การคัดค้านรัฐบาล สิ่งที่ผมได้มาจากชีวิตช่วงนั้นก็คือ การเรียนรู้ที่จะไม่รังเกียจผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ความคิดที่ว่าเราต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคนโดยไม่เลือกสีผิวและเชื้อชาติ การเหยียดสีผิวเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าแย่มาก”
ขณะเรียนหนังสือ ฌูอาวยังร่วมงานกับองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการนักโทษ เมื่อเรียนจบเขาก็หันไปยึดอาชีพครูในโรงเรียนมัธยมอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะตัดสินใจไปสอนหนังสือที่มาเก๊าเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี มาเก๊านับเป็นที่แรกที่ทำให้ฌูอาวได้รู้จักทวีป “เอเชีย” ก่อนจะหลงใหลดินแดนแถบนี้มากยิ่งขึ้นเมื่อตัดสินใจมารับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานฝ่ายวัฒนธรรมของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒)
“ช่วงเลิกสอนหนังสือที่มาเก๊า ผมกลับไปสอนหนังสืออยู่ที่โปรตุเกสปีหนึ่ง แต่ไม่มีความสุขเลย อาจเพราะอยู่ต่างประเทศจนชิน เลยอยากหาทางกลับมาทำงานที่ทวีปเอเชียอีก ในที่สุดก็ตัดสินใจไปสมัครงานที่ ‘สถาบันกามอยส์’ (Instituto Camoes) และ ‘สถาบันโปรตุเกสแห่งบูรพาทิศ’ (Instituto Portugues do Oriente) ซึ่งทำงานเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสในต่างประเทศร่วมกัน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศโปรตุเกสและมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก หลังจากนั้นผมจึงถูกส่งตัวมาทำงานที่สถานทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย
“ภารกิจหลักของผมในเมืองไทย คือการสอนหนังสือและทำงานในศูนย์วัฒนธรรมของสถานทูตฯ สำหรับผม งานสอนสำคัญมาก เพราะขณะสอนนอกจากจะถ่ายทอดความรู้เรื่องภาษาแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับลูกศิษย์ชาวต่างชาติอีกด้วย คุณอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเรียนภาษาโปรตุเกส ผมขอตอบว่า ทุกวันนี้มีหลายประเทศใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ในทวีปเอเชียก็มีติมอร์ตะวันออก มาเก๊า ทวีปอเมริกาใต้ก็มีบราซิล ทวีปแอฟริกาก็มีโมซัมบิก แองโกลา เซาตูเมและปรินซิปี กินีบิสเซา และเคปเวิร์ด นอกจากนี้ยังมีคนกลุ่มเล็ก ๆ ในอินเดีย ศรีลังกา และประชากรบางส่วนที่เมืองมะละกาในมาเลเซีย คนเหล่านี้ยังคงใช้ภาษาโปรตุเกสอยู่ในชีวิตประจำวัน
“สำหรับเมืองไทย ผมคิดว่ามีคนสนใจภาษาโปรตุเกสมากพอสมควร เพราะมีคนมาเรียนทุกปี เช่น นิสิตจุฬาฯ เรียนเพื่อที่จะนำไปต่อยอดในการเรียนภาษาตระกูลเดียวกันอย่างสเปนและอิตาเลียน นักศึกษาธรรมศาสตร์เรียนเป็นภาษาที่ ๓ อีกกลุ่มคือคนมาเรียนที่สถานทูตฯ ซึ่งก็มีเหตุผลต่างกันไป อย่างเช่นเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เรียนเพื่อเตรียมตัวไปเรียนต่อที่โปรตุเกส บางคนก็เรียนเพราะสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส”
ทุกวันนี้ฌูอาวเช่าบ้านอยู่กับภรรยาชาวไทยย่านถนนสีลม หากวันไหนรีบก็นั่งแท็กซี่หรือขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน แต่ถ้าไม่รีบ ฌูอาวก็เลือกที่จะเดิน เขาบอกเราว่าตอนนี้คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แล้ว และงานในเมืองไทยถือเป็นความสนุกสนาน เป็นแบบฝึกหัดสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนต่างชาติต่างภาษา ในยามว่าง นอกจากให้เวลากับครอบครัวแล้ว ฌูอาวยังเล่นดนตรีกับลูกศิษย์ลูกหาเป็นครั้งคราวด้วยความรักในเสียงเพลง (ในอดีตเขาเคยรวมกับเพื่อน ๆ ชาวโปรตุเกสที่มาเก๊าออกเทปมาแล้วในชื่อวง A Outra Banda)
“ผมมาทำงานเมืองไทยครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๙ ถึงปี ค.ศ. ๒๐๐๒ พอสถาบันฯ อยากหมุนเวียนคนทำงาน ผมก็กลับไปที่มาเก๊า ๒ ปี เมื่อพวกเขาอยากสลับคนทำงานอีก ผมก็ขอกลับมาที่นี่ จริง ๆ มีรายชื่อประเทศอื่นให้เลือกไปประจำนะครับ แต่ผมเลือกที่จะมาเมืองไทย”
แทนคำตอบที่ว่าเหตุใดเขาจึง “เลือกที่จะมาเมืองไทย” ฌูอาวเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างโปรตุเกสที่เป็นบ้านเกิด กับเมืองไทยและมาเก๊าที่เขาเคยทำงานอยู่หลายปี ให้เราฟังว่า
“ถ้าพูดเรื่องนิสัยใจคอผู้คน ผมคิดว่าคนไทยมีอุปนิสัยสบาย ๆ มากกว่าคนโปรตุเกส ในขณะที่คนโปรตุเกสมักมีความกังวลและบางทีดูเหมือนจะมีความเศร้ามากไปสักนิด แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ คนโปรตุเกสมักจะต้อนรับอาคันตุกะเป็นอย่างดีเหมือนคนไทย และเมื่อพวกเราเดินทางไปต่างประเทศก็ชอบที่จะหยิบยื่นไมตรีให้แก่ผู้คนต่างถิ่น ส่วนที่มาเก๊า แม้ภายในพื้นที่เกาะแคบ ๆ จะมีคนหลายชนชาติอาศัยอยู่รวมกัน คือมีทั้งชาวจีน ฟิลิปปินส์ มาเลย์ โปรตุเกส แถมยังมีบ่อนให้คนต่างชาติเข้าไปเสี่ยงโชค แต่คนจีนก็จะมีความเป็นจีนสูงมาก
“ส่วนในเรื่องงาน ที่มาเก๊าผมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโปรตุเกสกับวัฒนธรรมอื่นได้ง่ายก็จริง เพราะที่นั่นเคยเป็นอาณานิคมมาก่อน จึงมีสถาบันต่าง ๆ ของโปรตุเกสตั้งอยู่ แต่งานหลักของผมที่นั่นคือสอนหนังสือ ขณะที่ในเมืองไทย ผมต้องทำงานด้านวัฒนธรรมด้วยนอกเหนือจากการสอนหนังสือ ทำให้มีโอกาสเจอคนหลายแบบ แม้ตอนนี้การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมยังทำได้จำกัด คือทำได้ผ่านการสอนหนังสือเท่านั้น แต่เราก็กำลังพยายามมากขึ้น โดยดำเนินการให้มีโครงการจัดตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมขึ้นที่นี่
“ในแง่การใช้ชีวิต ชุมชนโปรตุเกสในเมืองไทยมีคนไม่มากเหมือนชุมชนโปรตุเกสที่มาเก๊า และที่มาเก๊าผมอาจจะหาอาหารโปรตุเกสรับประทานได้ง่ายกว่า เพราะที่นั่นเป็นอดีตอาณานิคมของโปรตุเกส แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะผมเองก็ชอบอาหารไทย”
ทำงานอย่างจริงจังมาร่วม ๘ ปี สัมผัสผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมมาเกือบทั้งชีวิต ฌูอาวจึงมีมุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ตัวเอง
“ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันคือวัฒนธรรม ทั้งการกิน การดื่ม ภาษา ศาสนา ศิลปะ ผมคิดว่าวัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่งต้องมีความคล้ายคลึงกันในระดับพื้นฐาน แต่จะต่างกันในรายละเอียด เช่นที่ประเทศของผม ถ้าพูดถึงภาคเหนือที่เป็นภูเขา มีอากาศหนาว คนที่นั่นก็จะมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบหนึ่ง ภาคใต้ก็จะต่างออกไปอีกเพราะเป็นทะเล ตามเกาะแก่งต่าง ๆ มีความเป็นชุมชนสูงมาก แต่เราก็ไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกันแต่อย่างใด
“ผมคิดว่าวัฒนธรรมหนึ่งยังต้องมีการติดต่อสื่อสารและผสมผสานกับอีกวัฒนธรรมหนึ่งด้วย ไม่มีวัฒนธรรมใดอยู่โดดเดี่ยวได้ ที่โปรตุเกส ลิสบัวซึ่งเป็นเมืองหลวงจะมีคนจากภาคต่าง ๆ มารวมกัน เราสามารถพบคนจากทุกภาคและทุกวัฒนธรรมได้ที่นั่น แต่เมื่อคนรุ่นต่อมาถือกำเนิด พวกเขาก็จะผสมผสานวัฒนธรรมของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ออกมาเป็นแบบของตัวเอง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมสำหรับผมถือว่าดีนะครับ มันเป็นโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่เหนืออื่นใด ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัฒนธรรมไหน ผมคิดว่าความเป็นมนุษย์สำคัญที่สุด และการทำความเข้าใจ แก้ไขความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันมาก ๆ นั้น ก็ควรจะเป็นไปอย่างสันติวิธี”
ถึงตรงนี้เราอดไม่ได้ที่จะถามความเห็นของเขาต่อเรื่องปัญหาความขัดแย้งทางภาคใต้ของไทย
“ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีวิธีแก้อย่างไร แต่รู้สึกว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา ยังมีเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องอื่น ๆ อีกมาก รัฐบาลไทยต้องหาสาเหตุและวิธีแก้ไขไปทีละจุดๆ ผมไม่อยากออกความเห็นเรื่องนี้มากนัก แต่เชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การใช้ความรุนแรงจากฝ่ายหนึ่งไม่ควรถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากอีกฝ่าย นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น”
หากใครมีโอกาสคุยกับฌูอาวจะพบว่าเขารู้จักเมืองไทยและวัฒนธรรมไทยดีอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศของเขาจะรู้จักเมืองไทยเฉพาะในแง่การท่องเที่ยวก็ตาม
“สิ่งแรกที่คนโปรตุเกสคิดเมื่อพูดถึงเมืองไทย คือทะเลและเกาะ เรื่องวัฒนธรรมไม่ค่อยมีใครทราบ คนโปรตุเกสบางคนยังติดภาพเก่าๆ คือคิดว่าไทยคงเหมือนประเทศอื่นในเอเชียเช่นจีน ซึ่งนั่นก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องมาที่นี่ การมาของผมไม่ใช่แค่นำภาษาและวัฒนธรรมมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่เป็นการนำเรื่องดี ๆ ของเมืองไทยกลับไปเล่าให้คนโปรตุเกสฟังด้วย
“ถึงตรงนี้ผมอยากบอกคนไทยว่าให้รักษาวัฒนธรรมดี ๆ เอาไว้ ขณะเดียวกันก็เปิดรับวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วย ผมไม่อยากให้คนไทยลืมวัฒนธรรมของตนเอง ไทยกับโปรตุเกสเริ่มต้นติดต่อกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๕๑๑ อีก ๕ ปีก็จะครบ ๕๐๐ ปี คนโปรตุเกสรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่มาถึงเมืองไทย ได้ชื่อว่าเป็นชาติแรกที่ได้ที่ดินจากกษัตริย์ไทยสร้างสถานทูตในกรุงเทพฯ ผมจึงอยากให้เรารักษาความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานนี้ไว้ตราบนานเท่านาน”
ก่อนจากกัน ฌูอาวเล่าแผนการในอนาคตว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย เพราะเขารู้สึกว่าได้พบบ้านที่แท้จริงแล้ว
“ถ้าคิดถึงโปรตุเกส ผมอาจกลับไปที่นั่นสักพักแล้วก็ค่อยกลับมาเมืองไทยบ้านของผม สำหรับผม สถานที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าหัวใจอยู่ที่ไหน บ้านก็อยู่ที่นั่น และหัวใจของผมก็อยู่ที่เมืองไทย”