เรื่องและภาพ : จักรพันธ์ุ กังวาฬ
ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ คนกลุ่มหนึ่งในนาม คณะธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ ได้เริ่มออกเดินจากพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง บริเวณบ้านเมืองนะเหนือ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พวกเขารู้ว่าหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล เพราะตั้งใจมั่นว่าจะเดินเท้าลัดเลาะไปตามสายน้ำแม่ปิง สู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนจรดอ่าวไทย รวมระยะทางการเดินกว่า ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ผ่าน ๑๕ จังหวัด และใช้เวลารอนแรมประมาณ ๔ เดือน
เหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดธรรมยาตราครั้งนี้ ก็เพราะพวกเขาตระหนักว่าในปัจจุบันธรรมชาติกำลังถูกทำลาย จึงตัดสินใจที่จะเดินบำเพ็ญเพียรตามสายน้ำ ทั้งเพื่อเป็นการฝึกฝนเรียนรู้มิติภายในจิตใจของตนเอง ต่อสู้กับความยากลำบากนานัปการ และมิติภายนอกได้แก่การเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม สภาพปัญหาที่กำลังคุกคามป่าไม้ แม่น้ำ และผู้คนสองฟากฝั่ง
การเดินธรรมยาตราคือการเดินด้วยความสงบ ด้วยจิตมุ่งมั่น รับรู้การสัมผัสทุกย่างก้าว ขณะเดียวกันก็มีการพบปะพูดคุยกับผู้คนระหว่างทาง เพื่อรับรู้ รับฟังปัญหาและความต้องการของแต่ละชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่บนภูเขาสูงไปจนถึงที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำ ตกกลางคืนมีการสวดมนต์ภาวนา และตั้งวงเสวนากันในเรื่องต่าง ๆ
คณะที่ร่วมเดินธรรมยาตรามุ่งหวังว่า การเดินเท้านับพันกิโลเมตรครั้งนี้จะฟื้นฟูความรัก ความศรัทธา และความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ และสร้างความตระหนักรู้ว่าทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ในการปกป้องดูแลป่าไม้และสายน้ำร่วมกัน
สารคดี มีโอกาสเข้าร่วมคณะธรรมยาตราฯ ในบางช่วง ต่อไปนี้คือบันทึกการเดินทางของพวกเขา…
๑
๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ วันเริ่มต้นเปิดตัวโครงการ ธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ ณ พุทธสถาน ที่ถนนท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ราวบ่ายโมงครึ่ง คนที่มาร่วมงานก็ตั้งขบวนเป็นแถวยาว เดินตามถนนท่าแพ ลงไปยังชายหาดริมฝั่งแม่น้ำปิง เชิงสะพานนวรัฐ เพื่อทำพิธีบูชาพระอุปคุต
ท่ามกลางสายตาผู้คนที่ชุมนุมอยู่บนฝั่งราว ๗๐-๘๐ คน และอีกหลายคนทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยืนดูอยู่บนราวสะพานนวรัฐ พ่อหลวงสมบูรณ์ บุญชู จากอำเภอสารภี สวมกางเกงตัวเดียวเปลือยร่างท่อนบน ค่อย ๆ ว่ายน้ำออกห่างจากฝั่งแล้วดำหายลงไปในสายน้ำแม่ปิง
ชั่วอึดใจชายวัยกลางคนก็โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำอีกครั้ง มือข้างที่ชูขึ้นนั้นกำก้อนหินที่งมขึ้นมาจากก้นแม่น้ำ
ตามความเชื่อแต่โบราณ พระอุปคุตสิงสถิตอยู่ใต้ท้องน้ำและคอยช่วยปกปักรักษาสายน้ำ ดังนั้นวันนี้ผู้ร่วมคณะธรรมยาตราฯ จึงมาร่วมทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตให้ขึ้นมาจากแม่น้ำ เพื่อช่วยปกปักรักษาพวกเขาให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ตลอดการเดินทาง
โดยมี “ปู่จารย์” หรือชายสูงวัยผู้รู้ทางพิธีกรรมชาวล้านนาเป็นผู้สวดมนต์อธิษฐานจิต แล้วให้คนมีศีลมีธรรม ในที่นี้คือพ่อหลวงสมบูรณ์ เป็นคนดำลงไปงมก้อนหิน–ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอุปคุต จากใต้ท้องน้ำ
เชื่อกันว่าหากดำลงไป ๓ รอบแล้วยังงมก้อนหินที่มีลักษณะกลมเกลี้ยงสวยงามปราศจากรอยหักบิ่นขึ้นมาไม่ได้ แสดงว่าพระอุปคุตอาจไม่รับนิมนต์
ดังนั้น เมื่อพ่อหลวงสมบูรณ์งมก้อนหินลักษณะดีได้จากการดำน้ำครั้งเดียว คนบนฝั่งที่เฝ้ารอด้วยใจจดจ่อจึงถอนหายใจโล่งอกและปลื้มปีติ
พระอุปคุตในรูปของหินจากใต้ท้องน้ำถูกอัญเชิญมาไว้บนพานใส่ข้าวตอกดอกไม้ และจุดธูปเทียนแสดงความเคารพพร้อมถวายอาหารคาวหวาน
จากนั้นผู้มาร่วมพิธีกรรมก็ตั้งขบวนเดินกลับไปยังพุทธสถาน
ภายในหอประชุมกว้างใหญ่ของพุทธสถาน ผู้สนใจเข้าร่วมงานคับคั่ง บนเวทีมีการแนะนำตัวคณะธรรมยาตราฯ เริ่มจากคนต้นคิด คือ นิคม พุทธา ผู้มีบทบาททำงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติมายาวนานจนเป็นที่รู้จัก เมื่อกลางปี ๒๕๕๓ นิคมได้ร่วมเดินเพื่อสันติปัตตานี กับคณะของอาจารย์โคทม อารียา พระไพศาล วิสาโล อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ และอีกหลายท่าน ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ กระทั่งริเริ่มโครงการธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยเดินเท้าจากเชียงใหม่ถึงบ้านเกิดที่เกาะสมุย และเป็นผู้เขียนหนังสือ เดินสู่อิสรภาพ เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของโครงการนี้ ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “จิตวิญญาณ ศรัทธาแห่งสายน้ำ” อย่างจับใจผู้ฟังในหอประชุม ดังใจความตอนหนึ่งว่า
…ผมได้อ่านพระคัมภีร์ฤคเวท บทสวดสดุดีสายน้ำ กล่าวถึงฤๅษีวิศวามิตร เมื่อท่านกำลังจะข้ามสายน้ำในวันหนึ่ง ท่านได้กล่าวกับสายน้ำว่า ขอให้สายน้ำหยุดก่อน ท่านจะข้ามน้ำ ตัวท่านมีอิทธิฤทธิ์
สายน้ำตอบว่า เราเดินทางไปตามบัญชาแห่งสวรรค์ มิใช่เดินทางไปตามใจปรารถนาของใคร ถ้าท่านประสงค์จะข้ามก็เชิญข้าม เรามีหน้าที่ไหลไปตามครรลองที่สวรรค์กำหนดไว้แล้ว
เมื่อฤๅษีวิศวามิตรได้ยินสายน้ำกล่าวเช่นนั้น ก็สำนึกรู้ว่าตนเองมีความหยาบคายในใจ ไม่แสดงความเคารพต่อสายน้ำ จึงได้กล่าววาจาที่สุภาพนุ่มนวลต่อสายน้ำ ว่าตัวท่านเดินทางมายาวไกล ขอให้สายน้ำได้โปรดเมตตาให้ท่านข้ามไปด้วย
สายน้ำเมื่อได้ฟังฤๅษีวิศวามิตรกล่าวถ้อยคำอันไพเราะ อ่อนโยน นุ่มนวล จึงกล่าวตอบว่า ขอให้ท่านข้ามไป เราจะ
ประคับประคองท่านประดุจดังมารดาประคับประคองบุตรให้ดื่มนมจากถัน แล้วฤๅษีวิศวามิตรก็ข้ามน้ำไปได้ และกล่าวขอบคุณต่อสายน้ำนั้น
ผมนำบทนี้มาเล่า ความหมายสำคัญที่อยากจะกล่าวคือ เมื่อใดที่จิตใจของมนุษย์มีความเคารพคารวะต่อธรรมชาติ
โดยเฉพาะสายน้ำ สายน้ำก็จะประคับประคองเรา ดุจดังมารดาประคับประคองบุตรดื่มนมจากถัน ผมเข้าใจว่าปัจจุบันนี้คงเป็นเพราะเราแสดงความหยาบคายหรือไม่เคารพ สายน้ำจึงไม่ปรานีเราเท่าที่ควร
แต่เข้าใจว่าในขณะนี้พวกเราจำนวนหนึ่งมีความรู้สึกว่า เราอยากจะแสดงความเคารพและศรัทธาต่อสายน้ำในวิถีที่ไหลไปตามครรลอง เรามาร่วมกันในความหมายที่จะระลึกนึกถึงสายน้ำ เราจะคารวะสายน้ำ เราจะเดินตามสายน้ำ
และผมเชื่อว่าถ้าเดินตามสายน้ำ เราจะไม่หลงทาง และเราจะไปสู่ท้องทะเล ไปสู่มหาสมุทรที่มีความหมายลึกล้ำ…
๒
เย็นวันนั้นคณะผู้ร่วมเดินธรรมยาตราก็นั่งรถจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปยังอำเภอเชียงดาวที่อยู่ห่างไปราว ๗๐ กิโลเมตร และเข้าพักแรมในค่ายเยาวชน ท่ามกลางอากาศเย็นยะเยือก แม้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว
เช้าวันต่อมา เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีโอกาสรู้จักกันดียิ่งขึ้น จากการตั้งวงสนทนาและแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง
แกนหลักของกลุ่มนอกจาก นิคม พุทธา หรือที่เราเรียกว่า “พี่อ้วน” แล้ว ยังมีคนหนุ่มสาวอย่างเต้ง-อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย และโอ๋-วริสรา กริชไกรวรรณ ซึ่งจะเป็นคนคอยดูแลจัดการเรื่องต่าง ๆ ตลอดการเดินทาง
กลุ่มของพระสงฆ์ที่มาเข้าร่วมคณะธรรมยาตราฯ ได้แก่ หลวงพ่อประจักษ์ ธัมมปทีโป พระนักอนุรักษ์ที่อุทิศชีวิตรักษาป่าดงใหญ่ และได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ ๑๐ เมื่อปี ๒๕๕๑ ท่านเดินทางมาจากอีสานพร้อมพระลูกวัดและแม่ชีจำนวนหนึ่ง หลวงพ่ออาทิตย์ อธิปุญโญ จากวัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังมีสมณะจากสันติอโศก คือ สมณะกลางดิน โสรัจโจ แห่งสำนักปฏิบัติทะเลธรรม จังหวัดตรัง
นอกนั้นเป็นอาสาสมัครเดินธรรมยาตราซึ่งมีทั้งกลุ่มคนหนุ่มสาว วัยกลางคน และผู้สูงวัย
ช่วงสายของวัน ชาวคณะก็เดินทางโดยรถยนต์ไปที่วัดพุทธพรหมปัญโญ (วัดถ้ำเมืองนะ) ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่า และเป็นที่ตั้งของผืนป่าต้นกำเนิดสายน้ำปิง
ตามกำหนดแล้วช่วงบ่ายวันนี้มีพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำตามวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ประมาณบ่ายสองโมงพี่อ้วนก็นำชาวคณะเดินออกจากวัด ไปตามถนนลาดยางค่อนข้างแคบที่ทอดวนเลียบไหล่เขา ค่อย ๆ สูงชันขึ้นไปทีละน้อย
ราวบ่ายสามโมงเราเดินมาถึงค่ายทหาร “ฐานปฏิบัติการบ้านเมืองนะเหนือ” ผ่านบริเวณนั้นไปถนนบนดอยเปลี่ยนเป็นเส้นทางดินลูกรังที่เลาะเลียบเข้าใกล้ตะเข็บชายแดนไทย-พม่ามากขึ้นทุกขณะ
พี่อ้วนบอกให้ขบวนหยุดเดินเมื่อผ่านค่ายทหารมาไม่ไกลนัก จากถนนบนไหล่ดอยที่พวกเรายืนอยู่ มองผ่านหุบเขากว้างไกลจะเห็นธงชาติไทยบนยอดเสาสูงโบกสะบัดอยู่ลิบ ๆ ใกล้แนวสุมทุมพุ่มไม้
เขาอธิบายว่า เสาธงชาติที่เห็นคือหลักหมายของสุดเขตประเทศไทย หลังแนวเสาธงก็คือดินแดนของประเทศพม่า ทว่าอยู่ในเขตปกครองของชนเผ่าว้า ซึ่งมองเห็นอย่างชัดเจนว่าแนวทิวเขาปกคลุมด้วยผืนป่าสมบูรณ์เขียวทึบ แตกต่างจากที่ราบในหุบเขาฝั่งไทยที่โล่งเตียนเพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร
ขบวนหยุดเดินอีกครั้งบริเวณไหล่ดอยที่มีต้นไทรใหญ่ขึ้นอยู่ริมทาง เพื่อทำพิธีบวชต้นไม้และเลี้ยงผีขุนน้ำ มีคนมาสมทบจำนวนมาก ทั้งกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำบลเมืองนะ และกลุ่มชาวลาหู่ หรือที่มักรู้จักกันในนามชาวมูเซอ ชายและหญิงแต่งกายชุดประจำเผ่าตัดเย็บด้วยผ้าสีดำปักลายเลื่อมพราย ขณะที่กลุ่มชายสูงวัยซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องการประกอบพิธีกรรมชาวลาหู่ ที่เรียกกันว่า “โตโบ” สวมชุดสีขาวสะอาด และสวมหมวกทรงกรวยแหลมสีขาว
พิธีบวชต้นไม้ เริ่มต้นโดยคณะสงฆ์นำแถบผ้าจีวรสีส้มผืนยาวพันรอบต้นไทรใหญ่ โดยมีพวกผู้ชายเป็นผู้ช่วย จากนั้นกลุ่มผู้หญิงก็ผลัดกันเข้าไปโอบกอดไทรต้นนี้
“สายน้ำแม่ปิงกำเนิดจากป่าบริเวณนี้ การที่เราทำพิธีบวชต้นไม้ ไทรต้นนี้เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นตัวแทนต้นไม้อีกหลาย ๆ ต้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง อยากให้เราโอบกอดต้นไม้ เพื่อให้รู้ว่าเราเองน้อมจิตน้อมใจ อยากจะให้ธรรมชาติคงอยู่ เป็นการแสดงความเคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติ ต้นไม้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ให้กำเนิดสายน้ำแม่ปิง” พี่อ้วนกล่าวกับทุกคน
ต่อจากนั้นพี่น้องชนเผ่าลาหู่และกลุ่มคนเมืองต่างประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำ สวดมนต์และถวายเครื่องเซ่นอาหารคาวหวานที่โคนต้นไทรใหญ่
พ่อก๋อง ผู้อาวุโสคนเมืองกล่าวว่า “เฮามาไหว้ผีต้นน้ำ เพราะลำน้ำก็เหมือนน้ำนมของแม่ที่เลี้ยงเฮาโตมา แล้วพี่น้องเฮามีข้อห้าม อย่าขี้ลงน้ำ เพราะในน้ำมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์”
พี่อ้วนเสริมว่า “ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผีมีจริงหรือไม่ ถ้าใจเราคิดว่าศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมก็ศักดิ์สิทธิ์ แต่การที่เรามีท่าทีเคารพนอบน้อมธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติอยู่ได้ ถ้าเรามีท่าทีรังเกียจธรรมชาติ ธรรมชาติอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้”
นับว่าเป็นช่วงเวลาอันมีค่าที่คนที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำได้มาพบเจอเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกัน
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เป็นตัวแทนของคณะธรรมยาตราฯ กล่าวกับคนต้นน้ำตอนหนึ่งว่า
“…วันนี้อยากจะกล่าวกับพี่น้องที่อยู่บนที่สูงให้ทราบว่า พวกเราเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของคนที่อยู่ที่ราบ ที่สำนึกถึงความผิดพลาด เราอยากจะขอขมา อยากจะกล่าวคำขอโทษ แล้วหลังจากนี้ไปจะช่วยกันแสดงความเคารพ และแสดงความสำนึกรู้ในบุญคุณของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสายน้ำ แผ่นดิน ต้นไม้ หรืออากาศ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือแม่ผู้ให้กำเนิดเรา เราจะสำนึกในพระคุณ แล้วเราจะโค้งคารวะด้วยจิตที่นุ่มนวลต่อสภาวะธรรมชาติทั้งหมดทั้งมวลที่ให้ชีวิตเรา ผมขอขอบพระคุณพี่น้องที่อยู่บนที่สูง…”
๓
หลังพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ พวกเราเดินลงดอยไปสู่ที่ราบในหุบเขา ตัดผ่านไร่ข้าวโพดและไร่กระเทียมเรียงราย เพื่อไปดูและสัมผัสกับสายน้ำปิง
พวกเรามาถึงพื้นที่แปลงเกษตรผืนหนึ่ง ขณะชาวบ้านไทใหญ่หลายคนกำลังใช้จอบขุดดินเตรียมการเพาะปลูก เดินต่อมาไม่ไกลนักก็มาถึงริมน้ำปิง ลักษณะเป็นลำห้วยสายเล็กไหลคดโค้งลัดเลาะไปมา ใคร ๆ ก็กระโดดข้ามไปอีกฝั่งได้สบาย ผิดกับแม่น้ำปิงกว้างใหญ่ยามไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเราได้เห็นขณะเข้าร่วมพิธีบูชาพระอุปคุตที่เชิงสะพานนวรัฐ
อสม. คนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านท้องถิ่นบอกเราว่า สายน้ำปิงบริเวณนี้เป็นลำห้วย ก็เพราะมันเป็นต้นน้ำหรือหัวน้ำ เพิ่งไหลมาได้ไม่ไกลจากต้นกำเนิด
ภายหลังพี่อ้วนได้อธิบายให้เราทราบว่า แม่น้ำปิงกำเนิดจากยอดดอยถ้วย อยู่ห่างจากจุดที่เรากำลังยืนอยู่นี้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ลึกเข้าไปในเขตปกครองของชาวว้า ภูมิประเทศแถบนั้นประกอบด้วยภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยป่าอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีซอกเขาที่เป็นร่องลึกจำนวนมาก จึงจัดว่าเป็น “ป่าขุนน้ำ” เพราะต้นไม้ที่ขึ้นหนาแน่นจะช่วยซึมซับน้ำฝนที่ตกลงมา ก่อเกิดสายน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลลงมาตามซอกเขา เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก แล้วมารวมกันเป็นลำห้วยที่ใหญ่ขึ้น กลายเป็นต้นกำเนิดสายน้ำปิงที่ไหลมาสู่ประเทศไทยในที่สุด
ความจริงแล้วป่าต้นน้ำครอบคลุมพื้นที่จากฝั่งพม่าต่อเนื่องมาถึงฝั่งไทยเป็นผืนเดียวกัน กระทั่งเริ่มมีการถางป่าเปิดพื้นที่เกษตรในฝั่งประเทศไทย จนป่าเริ่มเว้าแหว่งโล่งเตียนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เห็นในวันนี้
ทหารนายหนึ่งจากฐานปฏิบัติการบ้านเมืองนะเหนือให้ข้อมูลกับเราว่า
“ทางฝั่งพม่าจะมีค่ายทหารของว้าตั้งฐานเรียงกันอยู่บนแนวเขาประชิดชายแดน มีทั้งฐานเล็กฐานใหญ่ ลึกเข้าไปจะเป็นฐานทหารพม่าซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ส่วนทางฝั่งไทยชาวบ้านแถบนี้ส่วนมากเป็นชาวไทใหญ่ มีอาชีพทำข้าวไร่ ไร่ข้าวโพด ไร่กระเทียม ไร่พริก”
ระหว่างเดินกลับผ่านแปลงเกษตรตามรายทาง ชาวไร่หลายคนสะพายถังโลหะทรงกลมกลางหลังกำลังเดินพ่นสารเคมีฟุ้งเป็นละอองฝอย
เรามีโอกาสได้คุยกับ เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ ครูแดง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาร่วมเดินธรรมยาตราในช่วงต้นนี้ด้วย
ครูแดงมีทัศนะว่า “พี่มองว่าการจัดการลุ่มน้ำทั้งหมด ซึ่งหมายถึงป่า ดิน น้ำ เรายังไม่ให้ความสำคัญ แล้วก็กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ อย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ดูแลป่า แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลเรื่องการเกษตร การปลูกพืช ส่วนกรมทรัพยากรน้ำดูแลเรื่องน้ำ ทีนี้เราจะเห็นว่าในเขตป่าต้นน้ำแม่ปิง แต่มีการปลูกกระเทียม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลรุกเข้าไปถึงป่า แล้วก็มีการใช้สารเคมีเข้มข้น
“นี่คือจุดอ่อนอย่างยิ่งของประเทศไทย ซึ่งเราควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการจัดระบบโซนนิง ศึกษาระบบนิเวศ ศึกษาระบบลุ่มน้ำทั้งหมด แล้วก็ต้องแก้ปัญหาความเห็นแก่ตัว ใครมีที่ดินมากมาย ใครมีที่รุกป่า ใช้ที่ดินอย่างไม่ถูกต้องกับระบบนิเวศ เช่นกีดขวางทางไหลของน้ำ ต้องปรับปรุงแก้ไขหมด
“อย่างการที่เรามาเดินธรรมยาตราครั้งนี้ เป็นการเดินเพื่อน้อมนำจิตใจไปสู่ความเคารพ ความมีศรัทธา และความกตัญญู ความเข้าใจต่อธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในกฎแห่งธรรมชาติ แต่มนุษย์เดี๋ยวนี้ไม่ยอมรับว่าตนอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ เราคิดว่าเราเป็นเจ้าของธรรมชาติ จะใช้ดิน ใช้น้ำ ใช้ป่า ใช้ทรัพยากรอย่างไรก็ได้ นี่ละเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างยิ่ง”
๔
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน เป็นวันแรกของการเดินธรรมยาตรา
เวลา ๐๘.๓๐ น. อากาศยังหนาวเย็น ชาวคณะตั้งขบวนอยู่ด้านหน้าวัดพุทธพรหมปัญโญที่มาอาศัยค้างแรมตั้งแต่เมื่อคืน
ก่อนเริ่มออกเดิน ทุกคนยืนสงบนิ่งหลับตา สำรวมจิตใจ แล้วกล่าวภาวนาพร้อมกันด้วยถ้อยคำว่า
ทุกย่างก้าวในวันนี้ เราจะเดินด้วยความสงบอย่างมีสติ เพื่อสันติสุขในใจเรา
และเพื่อระลึกรู้บุญคุณของผืนดิน ป่าไม้และสายน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงและเกื้อกูลชีวิตของเรา
เราจะเปิดใจรับรู้ทุกข์สุขของสรรพชีวิตด้วยความอ่อนโยนและนอบน้อมต่อธรรมชาติตามรายทางเบื้องหน้านี้
ขอให้สรรพชีวิตจงเป็นสุข ปลอดพ้นจากภัยทั้งปวง ขอให้ทุกชีวิตเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน อยู่อย่างบรรสานสอดคล้องด้วยเมตตาต่อกัน
ขอให้บุญกุศลที่เราพร้อมใจบำเพ็ญในวันนี้ จงเป็นปัจจัยให้สันติสุขบังเกิดในแผ่นดินนี้
ขอความบริสุทธิ์สดใสจงคืนสู่สายน้ำแม่ปิงอย่างยั่งยืนนานตลอดไป
ขบวนเริ่มก้าวเดิน พระสงฆ์นำหน้า ฆราวาสอยู่ด้านหลัง รวมแล้ว ๒๐ กว่าชีวิต
การเดินเท้าวันแรกมีระยะทางไม่ไกลนัก ประมาณ ๖ กม. เพื่อให้ทุกคนได้ปรับตัว ไม่หักโหมจนเกินไป โดยมีจุดหมายอยู่ที่สำนักวิปัสสนาภาวนาอนัตตารามเป็นสถานที่พักแรม
ขบวนเดินไปตามถนน ผ่านชุมชนไทใหญ่บ้านเมืองนะเหนือ และบ้านเมืองนะกลางที่ผู้อาศัยมีทั้งกลุ่มชาวจีนฮ่อ ชาวปกากะญอ และชาวลาหู่
กลุ่ม อสม. ตำบลเมืองนะมาสมทบกับพวกเราที่นี่เพื่อร่วมเดินไปด้วยกัน
จากนั้นเดินผ่านบ้านเมืองนะใต้ และชุมชนชาวลาหู่บ้านเจียจันทร์ กระทั่งมาถึงสำนักวิปัสสนาภาวนาอนัตตาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดถ้ำวัว ช่วงก่อนเที่ยง
หลังมื้ออาหารกลางวัน กลุ่ม อสม. พาคณะธรรมยาตราไปดูบริเวณที่สายน้ำ ๓ สายมาบรรจบกัน
พวกเราใช้เวลาเดินราวครึ่งชั่วโมง เส้นทางตัดผ่านป่าชุมชน ทุ่งโล่งเห็นทิวเขาโอบล้อม ผ่านพื้นที่เกษตร สวนส้ม ไร่กระเทียม กระทั่งมาถึงบริเวณป่าละเมาะที่สายน้ำปิง น้ำเกี๋ยง และน้ำฮู (น้ำรู) ไหลมาบรรจบกัน
สายน้ำปิงบริเวณนี้ขยายกว้างขึ้นกว่าต้นน้ำปิงตรงบ้านเมืองนะเหนือ ชายแดนไทย-พม่า ที่เราเห็นมาเมื่อวาน
๕
ห้าวันแรกของการเดินธรรมยาตรา คือตั้งแต่วันที่ ๑๑-๑๕ พฤศจิกายน ชาวคณะเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร
๑๒ พฤศจิกายน หรือในวันที่สองนั้น พวกเราต้องเดินจากเช้าจรดเย็นเป็นระยะทางราว ๑๘ กิโลเมตร
ยามเช้าอากาศสดชื่นเย็นสบาย หลังจากผ่านย่านชุมชนและร้านขายของค่อนข้างพลุกพล่าน ถนนสายเล็กก็ทอดขึ้นเนินสองข้างทางแวดล้อมด้วยป่าไม้เขียวขจี บางขณะแว่วเสียงนกร้องมาจากในป่า บรรยากาศเช่นนี้ช่วยให้แต่ละคนก้าวย่างด้วยจิตใจที่สุขสงบและรู้สึกตัว
ขณะที่แวะพักริมทาง พี่อ้วนพยายามชี้ชวนให้เพื่อนร่วมเดินสังเกตธรรมชาติรอบตัว หรือให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
เมื่อขบวนเคลื่อนผ่านย่านชุมชนหรือแปลงเกษตรที่ชาวไร่กำลังทำงาน พวกเราบางคนจะเดินเข้าไปหาชาวบ้านเพื่อแจกแผ่นพับของโครงการธรรมยาตราฯ และพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาและเหตุผลของการเดินครั้งนี้
ทว่าเนื่องจากการเดินระยะทางยาวไกล ผู้อาวุโสหลายคนที่สะสมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาตั้งแต่เมื่อวานเริ่มออกอาการไม่ดี
ป้าหวั่น หรือ จิราพร ไกรพิทยากร จากจังหวัดตรังเริ่มมีอาการปวดหัวเข่าจนบวมแดงตั้งแต่เช้า ตกบ่ายฝืนเดินต่อไม่ไหวจนต้องนั่งไปกับรถกระบะอำนวยความสะดวกของโครงการฯ
ส่วนป้านักบุญ อโศกตระกูล ผู้สูงอายุชาวสันติอโศกอีกคนที่มาร่วมคณะธรรมยาตราฯ ขณะเดินตามถนนขึ้นเนินชันลูกหนึ่งมีอาการขาเกร็ง หัวใจเต้นแรง ต้องขึ้นรถไปอีกคนหนึ่ง
ตลอดทั้งวันนี้พวกเราเดินตามถนนที่ทอดขึ้นสูงลงต่ำ ผ่านเนินเขาลูกแล้วลูกเล่า บางช่วงสองข้างทางเป็นป่าไม้ร่มครึ้ม สลับกับบางช่วงเป็นแปลงเกษตร มองเห็นไร่ข้าวโพดกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา
ล่วงเข้าวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน หลังเดินออกจากวัดนาหวายตั้งแต่เช้า ตอนบ่ายนั้นพวกเราเดินตัดท้องนากว้าง มุ่งหน้าไปสู่ภูเขาที่ปกคลุมด้วยผืนป่า
ต่อจากนั้นเป็นเส้นทางเดินในป่า เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มครึ้ม มีเถาวัลย์ห้อยระโยงเกี่ยวกระหวัด ขณะไม้พุ่มขึ้นเบียดเสียดสองข้างทาง เราย่ำเดินไปบนพื้นดินชื้นที่ปูทับด้วยซากใบไม้แห้ง ลัดเลาะตามสายน้ำปิงที่เป็นลำธารใสกว้างไม่ต่ำกว่า ๔ เมตร ไหลเชี่ยวแรงผ่านโขดหินน้อยใหญ่ในท้องธาร
เส้นทางเดินในป่าธรรมชาติให้ความรู้สึกชุ่มชื่นในใจแตกต่างกับขณะเดินริมถนนฝ่าเปลวแดดร้อนแรงในตอนบ่าย
หลังจากนั้นเส้นทางเดินแยกจากสายน้ำปิง พวกเราเดินขึ้นสู่เนินชัน จังหวะหนึ่งเมื่อหยุดยืนบนที่สูงแล้วมองกลับลงไป สายน้ำปิงที่ไหลคดโค้งกลางผืนป่าเขียวทึบเป็นภาพที่ชวนให้ประทับใจอย่างยิ่ง
จวบจนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน คณะธรรมยาตราฯ ก็เดินมาถึงจุดหมายที่วัดป่าบุญนาคในตอนเย็นมากแล้ว
วัดป่าเก่าแก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดแม่น้ำปิง เช้าวันต่อมาเมื่อเดินลงไปที่ริมตลิ่ง เราจึงได้เห็นว่าสายน้ำปิงบริเวณนี้ขยายตัวเป็นลำน้ำใหญ่ที่กว้างไม่ต่ำกว่า ๕-๖ เมตร
๖
แต่ละวันคณะธรรมยาตราฯ เริ่มเดินตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยขออาศัยพักค้างแรมที่วัดระหว่างทางซึ่งทีมงานส่วนหนึ่งล่วงหน้ามาติดต่อขออนุญาตไว้แล้ว
หลังมื้ออาหารเย็นและทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว เวลาทุ่มครึ่งทุกคนจะมาพบกันอีกครั้งเพื่อร่วมกันสวดมนต์ นั่งสมาธิสงบจิตใจ
หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาตั้งวงสนทนาพูดคุยกันอย่างเปิดใจ ว่าแต่ละวันใครมีความคิด ความรู้สึกอะไรอยากระบายให้คนอื่นฟัง หรือพบเห็นปัญหาเรื่องใดและคิดว่าควรมีทางออกอย่างไร บางคืนก็มีชาวบ้านมาร่วมพูดคุย เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่เกิดในท้องถิ่น
ต่อไปนี้คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งของแต่ละคน
“คนในเมืองเวลาพูดถึงน้ำใช้ ก็นึกได้แค่น้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำ คิดไปไม่ถึงว่าสายน้ำมีกำเนิดจากต้นไม้ในป่า”
“รู้สึกกังวล มีไร่สวนติดป่าต้นน้ำปิง สารเคมียาฆ่าแมลงจะไปไหน นอกจากไหลลงน้ำ”
“ถ้าชาวบ้านศรัทธาในสายน้ำเหมือนศรัทธาในพุทธศาสนาก็จะดี เป็นโจทย์ที่ควรจะคิดต่อไป”
“พระสงฆ์ก็มีบทบาทช่วยรักษาธรรมชาติ ถ้าสอนให้เด็ก ๆ มีธรรมะ ต่อไปธรรมชาติจะดีขึ้น”
หรือ “เราจะทำให้ผู้คนศรัทธาในสายน้ำได้อย่างไร เราอาจคิดแทนคนในพื้นที่หลาย ๆ อย่าง เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้คุยกับชาวบ้านเท่าที่ควร”
จนกระทั่งนำมาสู่ข้อสรุปในช่วงต้นของการเดินทางที่ว่า
“เราไม่ได้มาแก้ปัญหาให้ได้ในทันที แต่มารับรู้รับฟัง ประมวลวิเคราะห์ปัญหา มาช่วยกันคิดว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งหลายได้อย่างไร”
๗
คณะธรรมยาตราฯ พ้นเขตอำเภอเชียงดาวเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน จากนั้นเส้นทางเดินเท้าผ่านอำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม กระทั่งเข้าสู่ตัวจังหวัดเชียงใหม่ หยุดพักอยู่ที่นั่นระหว่างวันที่ ๑๗-๒๒ พฤศจิกายน ในช่วงที่มีงานเทศกาลลอยกระทง บรรยากาศริมแม่น้ำปิงยามกลางคืนจึงคึกคักด้วยผู้คน ท้องน้ำเต็มไปด้วยกระทงใบน้อย แสงเทียนในกระทงแต่ละใบแต่งแต้มแม่น้ำเป็นประกายวิบวับ
หลังจากนั้นชาวคณะเดินออกจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอฮอด มาถึงอำเภอดอยเต่า หยุดพักอยู่ที่วัดแปลงห้า ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแปลงห้า ตำบลท่าเดื่อ เพื่อรอขึ้นเรือโดยสารแล่นผ่านทะเลสาบดอยเต่าไปขึ้นฝั่งที่สันเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
ทะเลสาบแห่งนี้เกิดจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อกักเก็บน้ำนั่นเอง
หัวค่ำวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ชาวบ้านแปลงห้าหลายคนมานั่งคุยกับคณะธรรมยาตราฯ
หมู่บ้านแปลงห้าเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ กระทั่งต้องอพยพโยกย้ายหนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่พื้นที่ใหม่ในปัจจุบัน
ผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า ก่อนการสร้างเขื่อนภูมิพล สายน้ำปิงตั้งแต่บริเวณอำเภอดอยเต่ามาถึงสันเขื่อนในปัจจุบันมีแก่งมากถึง ๓๒ แก่ง แต่ละแก่งสูงลดหลั่นกันไป ตั้งแต่ ๑๕-๒๐ เมตร
เมื่อทางราชการประกาศว่าน้ำจะท่วม ขอให้มีการอพยพโยกย้ายเมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว ชาวบ้านยังไม่เชื่อ ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ จึงไม่ยอมโยกย้ายในตอนแรก กระทั่งเขื่อนภูมิพลเริ่มกักเก็บน้ำ จนถึงปี ๒๕๐๙ ระดับน้ำก็ท่วมสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านต้องรีบอพยพหนีน้ำกันอย่างโกลาหล สมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ ต้องใช้วัวควายเทียมเกวียนขนของ สมบัติบางอย่างขนไม่ทันก็ต้องปล่อยให้จมหายไปกับสายน้ำ
สิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนให้เราฟังก็คือ ในวันนี้ที่พวกเขาอพยพมาอยู่ในที่ดินซึ่งรัฐจัดสรรให้ แต่สภาพความเป็นอยู่ยังยากลำบาก รายได้หลักมาจากการหาปลาในทะเลสาบ และการทำสวนลำไยซึ่งมีความไม่แน่นอน ต้นทุนการผลิตก็สูง ทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก ทั้งที่เป็นหมู่บ้านอยู่ติดเขื่อน
๘
เช้าวันที่ ๑ ธันวาคม พวกเราเดินจากวัดแปลงห้ามาถึงริมทะเลสาบดอยเต่า ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที
อากาศเย็นสบายไม่ถึงกับหนาวจัด ละอองหมอกขาวฟุ้งลอยเรี่ยเหนือผืนน้ำเรียบนิ่งกว้างใหญ่สุดสายตา ท้องฟ้าจรดผืนน้ำกลมกลืนเข้าหากันเป็นสีฟ้าอมเทา
พาหนะของพวกเราคือเรือโดยสารชั้นเดียวมีหลังคาขนาดไม่ใหญ่นัก แต่เพียงพอต่อการบรรทุกทั้งพระสงฆ์และฆราวาสรวม ๒๐ กว่าชีวิต ผู้โดยสารนั่งกับพื้นตามแนวกราบเรือทั้งสองฝั่ง
เรือแล่นออกจากฝั่งมุ่งสู่ทิศใต้ เราขึ้นไปนั่งบนหลังคาเรือ ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ผืนน้ำเวิ้งว้างถูกโอบล้อมด้วยทิวเขาสูงลดหลั่นซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เห็นแต่ไกล เมื่อพระอาทิตย์ลอยสูงขึ้น แสงแดดส่องสะท้อนผิวน้ำเป็นประกายระยิบระยับ ต่อมาเวิ้งน้ำถูกบีบให้แคบเข้า สองฝั่งถูกขนาบด้วยโตรกผาสูงซึ่งปกคลุมด้วยผืนป่าเบญจพรรณ บางช่วงที่เรือแล่นผ่านมองเห็นสายน้ำตกสีขาวไหลจากเชิงผาลงมาสู่ทะเลสาบที่เป็นสีเขียว
ทิวทัศน์ตระการตาเช่นนี้ทำให้การล่องเรือมีความเพลิดเพลิน ทว่าเบื้องหลังของมันก็มีปัญหาบางประการซุกซ่อนอยู่
เรานึกย้อนถึงค่ำคืนวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน หรือคืนวานที่พวกเรายังพักแรมที่วัดแปลงห้า และมีชาวบ้านมาร่วมวงพูดคุยกันเช่นเคย
เราได้รับรู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูนเป็นแหล่งใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกลำไยนับแสนไร่ นอกจากนั้นการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิดก็มีการใช้สารเคมีเกษตรกันอย่างเข้มข้น
ผลก็คือในช่วงฤดูแล้งต่อฤดูฝนจะเกิดปรากฏการณ์ “ปลาเมา” เมื่อฝนแรกชะล้างสารเคมีจากเรือกสวนไร่นาลงไปตามสายน้ำต่าง ๆ ทะเลสาบดอยเต่าจึงเป็นแหล่งรองรับน้ำปนเปื้อนสารเคมีเข้มข้นจากแม่น้ำปิงและสายน้ำอื่น ๆ
ในช่วงเวลานี้ของทุกปีจึงเกิดเหตุการณ์ปลาเมาเพราะขาดออกซิเจนในน้ำ จนต้องโผล่ขึ้นมาลอยเป็นแพบนผิวน้ำทะเลสาบจำนวนมหาศาล
ชาวบ้านเล่าว่าชาวประมงรู้เรื่องนี้ดี พากันลอยเรือช้อนปลาใกล้ตายพวกนี้ไปขายทีละมาก ๆ บางคนช้อนปลาคืนหนึ่งมีรายได้นับหมื่นบาท
ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือการสะสมของตะกอนในเขื่อน พวกเราได้ถกกันเรื่องนี้เมื่อเรือล่องทะเลสาบพาเรามาถึงจุดแวะพักแรมคืนแรก ที่เรือนแพของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลบริเวณแก่งก้อ ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อเวลาเที่ยงกว่า
วงสนทนาเริ่มขึ้นหลังจากพวกเรากินอาหารกลางวันเสร็จแล้ว
พี่อ้วน-นิคม พุทธา อธิบายว่า การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำทำให้ดินตะกอนที่ถูกน้ำชะมาลงในเขื่อนไม่อาจระบายออกไปทางปลายน้ำได้ตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการสะสมพอกพูนเป็นชั้นหนาขึ้นทุกทีที่ใต้ท้องน้ำประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของเขื่อนจึงลดน้อยลงทุกขณะ
“เรื่องตะกอนเป็นภัยมืดที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง ตะกอนที่สะสมมาก ๆ มันมาแทนที่น้ำ ระดับน้ำที่เสาวัดระดับน้ำหน้าเขื่อน ๒๐๐-๓๐๐ เมตร คนก็คิดว่าเก็บน้ำได้มากขึ้น ที่จริงแล้วเป็นเพราะปริมาณตะกอนสะสมใต้ท้องน้ำเพิ่มขึ้นต่างหาก”
หนานเสริฐ อายุ ๕๓ ปี คนขับเรือที่พาเรามา เล่าว่า “ดินมันไหลหลากมากับน้ำจากทางเหนือเป็นสีแดง มาตกตะกอนทับถมสูงขึ้นปีละเป็นศอก ช่วงไหนน้ำน้อยทางที่เฮาล่องเรือมาจนถึงที่นี่จะเป็นเกาะ เป็นดินโผล่ขึ้นมา เรือจะวิ่งบ่ได้เลย
“ช่วงที่เขื่อนปล่อยน้ำไปให้คนทางใต้ น้ำในทะเลสาบแห้งใหม่ ๆ คนยังเดินบ่ได้เลย เพราะตะกอนมันอ่อนขนาดควายลงไปกินหญ้ายังล้มจมโคลน มันลุกบ่ได้ ติดอยู่ในโคลน คนเลี้ยงวัวเลี้ยงควายต้องคอยเรียก คอยระวังทุกวัน ถ้ามันล้มแล้ววันสองวันมันก็ตาย”
กระทั่งเช้าวันที่ ๒ ธันวาคม วุฒิพงษ์ ดงคำฟู ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง แวะมาที่แพเพื่อดูแลความเรียบร้อย เราจึงได้พูดคุยกับ “ผู้ช่วยเปี๊ยก” ในเรื่องการสะสมของตะกอนในเขื่อนภูมิพล
เขาให้ข้อมูลว่า “เมื่อแรกสร้างเขื่อนภูมิพลถือว่ากักเก็บน้ำได้เต็มที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าหลังจากนั้นในพื้นที่เหนือเขื่อนมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีการเปิดพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเข้มข้น ทำให้ตะกอนจากพื้นที่เกษตรถูกชะไหลลงมาตามแม่น้ำปิงหรือลำน้ำสาขาต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผลกระทบก็คือประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำก็ลดน้อยลงไป ช่วงที่น้ำน้อยการสัญจรทางน้ำจะมีปัญหา เช่นเรือใหญ่ล่องผ่านไปไม่ได้ ทำให้เกิดผลเสียในเรื่องการท่องเที่ยวหรือการขนส่งทางน้ำ
“ปัญหาตะกอนน่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำด้วย เพราะว่าระดับน้ำลดก็วิกฤตแล้ว ยิ่งมาเจอตะกอนสะสม ปลาบางชนิดที่อยู่น้ำลึกไม่อาจอาศัยอยู่ได้ แม้ว่าคงมีการปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเจอวิกฤตแบบนี้บ่อยมากขึ้นก็อาจส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำด้วย
“ต้องอยู่ที่รัฐบาลจะมองว่าปัญหานี้ถึงขั้นวิกฤตหรือเป็นปัญหาระดับชาติไหม เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อคนใต้เขื่อนที่ใช้น้ำ ไม่ว่าในเขตจังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อาจจะลงไปถึงคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถ้าขุดลอกเอาตะกอนจากลำน้ำปิงที่สะสมในเขื่อนมาหลายสิบปีออกไปได้ ก็จะทำให้เขื่อนภูมิพลมีประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำได้เต็มความจุที่คำนวณไว้ มันก็จะส่งผลให้เรามีน้ำใช้ในช่วงที่ต้องการ ไม่ว่าเรื่องการชลประทานหรือการผลิตไฟฟ้า”
๙
เรือโดยสารพาชาวคณะธรรมยาตราฯ มาถึงสันเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เมื่อตอนสายของวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓
หลังจากนั้นคณะธรรมยาตราฯ เดินตามสายน้ำปิงลงมาทางใต้ ผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชร จนมาถึงนครสวรรค์
ช่วงที่เดินผ่านจังหวัดตากและกำแพงเพชรตอนปลายเดือนธันวาคม ผู้ร่วมเดินธรรมยาตรามีจำนวนลดลงเหลือสิบกว่าชีวิต เนื่องจากสมาชิกบางส่วนรวมทั้งคณะสงฆ์ของหลวงพ่อประจักษ์จำเป็นต้องแยกกลับไปทำกิจธุระ ทว่าคนที่เหลือก็เดินต่ออย่างไม่ย่อท้อ
สิ่งที่พบเห็นระหว่างทางก็คือ แม่น้ำปิงในเวลานั้นมีน้ำค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันก็มีการขุดทรายในแม่น้ำบางช่วง ส่งผลให้ริมตลิ่งทรุด
เมื่อคณะธรรมยาตราฯ เดินมาถึงจังหวัดนครสวรรค์ มีการจัดงาน “ธรรมยาตรา ณ สี่แคว” ระหว่างวันที่ ๘-๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของกลุ่มตลอดจนข้อมูลสถานการณ์ของแม่น้ำ ป่าไม้ และสภาพแวดล้อมที่พบเห็นระหว่างทางเดินให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้าง
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการเสวนา โดยมีตัวแทนจากคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมาร่วมพูดคุย ทั้งมี
การแสดงดนตรี อ่านบทกวี และการร่วมภาวนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นำโดยพระไพศาล วิสาโล และคณะหมู่บ้านพลัมของท่านติชนัทฮันห์ รวมทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ๕ ลุ่มน้ำ มีผู้สนใจมาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งเครือข่ายของผู้จัดงาน บุคคลทั่วไป และสื่อมวลชน
ระหว่างพักอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ พี่อ้วนยังพาชาวคณะธรรมยาตราฯ ไปสำรวจปากน้ำโพ บริเวณที่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
“พอมายืนที่ปากน้ำโพ ถ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านซ้ายมือเป็นแม่น้ำปิงที่ไหลรวมกับแม่น้ำวัง ทางขวามือเป็นแม่น้ำยมที่ไหลรวมกับแม่น้ำน่าน ผมก็ขับรถย้อนกลับขึ้นไปสำรวจแม่น้ำยม น่าตกใจเหมือนกัน เพราะว่ามันเหมือนกับคลอง คือ ขุ่นข้น แดง นิ่งสนิท แล้วเมื่อไปสำรวจแม่น้ำน่านอีก พบว่าสายน้ำขุ่นข้น แสดงให้เห็นว่ามีการชะล้างดินลงมาสู่แม่น้ำมาก ผมลองถามชาวบ้าน เขาบอกท้องร่องแม่น้ำน่านเป็นดินโคลน น้ำเลยค่อนข้างขุ่น แต่ใจผมคิดถึงต้นแม่น้ำน่านที่เคยไปเห็นมา เป็นภูเขาสุดลูกหูลูกตาที่พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นไร่ข้าวโพด” พี่อ้วนเล่าให้ฟัง
จากจังหวัดนครสวรรค์ คณะธรรมยาตราฯ เดินตามสายน้ำเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแหล่งทำนาปลูกข้าวขนาดใหญ่
“แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง มาถึงอยุธยา เป็นแม่น้ำที่น้ำเหลือน้อยมาก อาจเป็นเพราะมีการสูบน้ำไปทำนาปรังกันมาก” พี่อ้วนกล่าว
เมื่อน้ำลดระดับลงไปมาก เผยให้เห็นร่องรอยของแม่น้ำที่เคยกว้างใหญ่ ขอบตลิ่งสองฝั่งที่ลาดชันลึกลงไปเกือบถึงท้องน้ำ ยิ่งชวนให้ใจหาย ทว่าขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นร่องรอยหรือคราบไคลของระดับน้ำที่ท่วมสูงติดอยู่ตามผนังของโบสถ์วิหาร ตึกรามบ้านช่อง หรือโรงสีข้าวที่อยู่ริมน้ำ
แสดงให้เห็นสภาพแวดล้อมที่เสียสมดุล ยามแล้งแม่น้ำก็แห้งขอด ถึงฤดูน้ำหลากก็ไหลเข้าท่วมสร้างความเสียหายแก่พื้นที่
“เมื่อก่อนน้ำคงไม่ท่วมขนาดนี้ ไม่เช่นนั้นคนคงไม่สร้างวัดหรือโรงสีริมแม่น้ำ แสดงว่าเพิ่งเกิดน้ำท่วมเมื่อ ๗-๘ ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้น ก็เพราะว่าพอน้ำหลากมาแล้วมันไม่ได้ระบายออกไป อาจเป็นเพราะคนสร้างถนนหนทางปิดกั้นทางน้ำ ไม่มีคูคลองระบายน้ำ หรือว่าที่ลุ่มที่น้ำเคยขังได้ไม่มีอีกต่อไป
“สิ่งที่เราเห็นทำให้เศร้าสลดใจเหมือนกัน ว่ามนุษย์ไม่เข้าใจธรรมชาติ เพราะเขาใช้วิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการสร้างพนังกั้นน้ำเป็นแท่งคอนกรีตหนาเป็นศอก สูงราว ๒-๓ เมตร กั้นริมฝั่งยาวตลอดแนว แม่น้ำกลายเป็นเส้นตรง ไม่คดโค้งตามธรรมชาติ”
ในทัศนะของพี่อ้วน แม่น้ำนั้นต้องไหลไปตามร่องน้ำที่มีลักษณะคดโค้ง มีการไหลช้าบ้างเร็วบ้าง ไหลผ่านไปตาม
เกาะแก่งหิน มีหาดทรายชายน้ำ ริมตลิ่งปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย มีช่วงที่น้ำลึก น้ำตื้น มีร่มเงาและมีช่วงที่แดดส่องถึง ดังนั้นแม่น้ำที่แห้งขอด น้ำนิ่ง ไม่มีเกาะแก่ง ไม่มีร่มเงาไม้ใหญ่ และสองฝั่งแม่น้ำดาดด้วยคอนกรีตหรือหิน จึงสูญเสียจิตวิญญาณของความเป็นแม่น้ำ
อย่างไรก็ตาม แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อไหลผ่านจังหวัดอยุธยามีแม่น้ำสายอื่นไหลมาสมทบ ได้แก่แม่น้ำป่าสักที่ไหลมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ และแม่น้ำลพบุรีที่มาจากจังหวัดลพบุรี ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้มีน้ำมากขึ้นและน้ำใสยิ่งขึ้น
คณะธรรมยาตราฯ ได้ไปที่วัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา พี่อ้วนนั่งดูสายน้ำและครุ่นคิด ภายหลังเขาถ่ายทอดความคิดที่เกิดขึ้นให้เราฟัง
“ผมชอบดูบริเวณที่สายน้ำไหลมาบรรจบกัน มันมีความหมายตรงที่ว่า สายน้ำไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะไหลไปสู่ที่ต่ำ แล้วก็ไหลมาบรรจบกัน การที่สายน้ำไหลมารวมกันมันทำให้เกิดพลังและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ พวกเราก็เหมือนเป็นหยดน้ำคนละหยด ถ้าต่างคนต่างอยู่ก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้ามารวมกันก็เป็นสายธารที่ไหลไปได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม”
๑๐
ตลอดเส้นทางที่ชาวคณะธรรมยาตราฯ เดินตามสายน้ำเจ้าพระยา จากจังหวัดอยุธยาลงมาถึงจังหวัดปทุมธานี พบว่าในพื้นที่ยังมีการทำนาปรังอย่างเข้มข้น อีกทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ริมแม่น้ำจำนวนมาก
เมื่อเข้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี บริเวณบ้านวัดสำแล ซึ่งเป็นจุดที่ปากคลองประปาเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อผันน้ำในแม่น้ำส่งไปทำน้ำประปาที่กรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่เฝ้าปากคลองประปาเล่าให้ฟังว่า น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกส่งไปทำน้ำประปาสำหรับบริโภคทั้งในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และปริมณฑล
พี่อ้วนเข้าไปสอบถามว่า ถ้าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงจนไม่อาจสูบเข้าคลองประปาได้จะทำอย่างไร
เจ้าหน้าที่ตอบว่า เขาก็ต้องประสานงานกับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนป่าสัก ให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนสู่เจ้าพระยา
เมื่อถูกถามต่อว่าถ้าน้ำในเขื่อนมีไม่พอจะทำอย่างไร คราวนี้เขาไม่มีคำตอบให้
ในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลถูกนำมาใช้ในหลายด้าน ไม่ว่าด้านการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาปรัง รวมทั้งใช้ในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อีกทั้งปริมาณตะกอนสะสมใต้อ่างเก็บน้ำก็ทำให้ประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำลดลง
เมื่อรวมกับเหตุการณ์ที่ได้ผ่านพบระหว่างทาง ภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาหลายช่วงลดน้อยจนเกือบแห้งขอดติดท้องน้ำ ยิ่งชวนให้รู้สึกน่าเป็นห่วง…
เหตุการณ์ครั้งนี้ชวนให้นึกย้อนไปถึงค่ำคืนหนึ่งช่วงแรกของการเดินธรรมยาตรา ระหว่างตั้งวงสนทนาแล้วสมาชิกคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า
“คนในเมืองเวลาพูดถึงน้ำใช้ ก็นึกได้แค่น้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำ คิดไปไม่ถึงว่าสายน้ำมีกำเนิดจากต้นไม้ในป่า”
วันนี้เราได้เห็นแล้วว่า น้ำประปาที่เราเปิดไหลจากก๊อกน้ำนั้นมีที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และหากสืบสาวย้อนกลับไปอย่างถึงที่สุด แม่น้ำเจ้าพระยาและสายน้ำอื่น ๆ ที่ไหลมาบรรจบล้วนมีต้นกำเนิดจากป่าต้นน้ำ จากต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมภูเขาสูง
“ถ้าวันหนึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหือดแห้งหายไป คนกรุงเทพฯ จะตกใจไหม จะรู้สึกอย่างไร แล้วเขาจะเอาน้ำที่ไหนมาใช้” พวกเราคนหนึ่งตั้งข้อสงสัย
๑๑
การเดินตามแม่น้ำเจ้าพระยา จากจังหวัดปทุมธานี ผ่านจังหวัดนนทบุรี กระทั่งเข้าเขตกรุงเทพฯ ชาวคณะธรรมยาตราฯ พบว่าในแม่น้ำมีผักตบชวาและขยะมากขึ้น ริมฝั่งยังมีโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารบ้านเรือนหนาแน่นขึ้นเป็นลำดับ
วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ คณะธรรมยาตราฯ มาถึงจังหวัดนนทบุรี แวะพักแรมที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ย่านปากเกร็ด
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ชาวคณะเริ่มเดินตั้งแต่เช้าตรู่ ๐๖.๐๐ น. ออกจากวัดชลประทานฯ เดินเลียบริมถนนติวานนท์ เลี้ยวเข้าซอยติวานนท์ ๔๕ มุ่งหน้าไปทางสนามบินน้ำ เดินลอดใต้สะพานพระนั่งเกล้า ผ่านเรือนจำกลางบางขวาง มาถึงท่าน้ำนนทบุรี แล้วทั้งหมดขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยา ปะปนกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ
เมื่อขึ้นฝั่งที่ท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้า ขบวนธรรมยาตราฯ ก็เดินต่อ ข้ามสะพานอรุณอมรินทร์ ผ่านย่านโรงพยาบาลศิริราชที่ผู้คนจอแจสับสน ค่อยเลี้ยวเข้าไปยังวัดระฆังโฆสิตาราม คืนนี้คณะจะพักแรมกันที่นี่
หลายคนเมื่อเก็บสัมภาระเข้าที่พัก ก็ออกมาที่ท่าน้ำของวัด ชื่นชมทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยากว้างใหญ่ รับลมแม่น้ำเย็นรื่น พวกเขารู้ว่าใกล้จะเดินถึงจุดหมายเข้าไปทุกทีแล้ว
เช้าวันต่อมาคณะธรรมยาตราฯ ออกจากวัดระฆังฯ มุ่งหน้าไปข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้ามาที่ท่าเรือฝั่งพระนคร จากนั้นขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงที่ท่าเรือวัดราษฎร์บูรณะ แล้วเดินเท้าเข้าเขตพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีจุดหมายปลายทางที่วัดไพชยนต์พลเสพย์
กระทั่งวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เริ่มเดินออกจากวัดไพชยนต์ฯตั้งแต่หกโมงเช้า ผ่านตลาดพระประแดงที่พลุกพล่านด้วยผู้คนและรถรา เส้นทางช่วงต่อมานั้นผ่านย่านที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เรียงรายสองฝั่งถนน กระทั่งออกมาถึงถนนศรีสวัสดิ์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขสวัสดิ์
พวกเราเดินเรียงกันเป็นขบวนท่ามกลางแดดบ่ายร้อนจัดแผดเผา สองฟากถนนเห็นแต่อาคารสิ่งก่อสร้างแข็งกระด้างแทบไร้ร่มเงาไม้ ในถนนกว้างใหญ่ทั้งสองฝั่งก็เต็มไปด้วยรถยนต์สารพัดชนิดวิ่งตะบึงผ่านไปมาอย่างรวดเร็ว
ขบวนเดินมาถึงวัดพระสมุทรเจดีย์ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลาประมาณบ่ายสองโมง
๑๒
เนื่องจากในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ จะมีการจัดงาน “ธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ” ที่บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ดังนั้นระหว่างวันที่ ๔-๕ กุมภาพันธ์ สมาชิกคณะธรรมยาตราฯ บางส่วนต้องนั่งรถยนต์ย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมงาน
ในช่วงเวลาเดียวกัน พี่อ้วน-นิคม พุทธา ได้นำคณะภิกษุและฆราวาสที่เหลือ เคลื่อนย้ายจากวัดพระสมุทรเจดีย์ไปพำนักที่วัดขุนสมุทราวาสหรืออีกชื่อหนึ่งว่าวัดขุนสมุทรจีน เป็นเวลาสองคืน
วัดขุนสมุทราวาส ตั้งอยู่ที่บ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ โดยที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนถือว่าเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
หลายสิบปีก่อนวัดขุนสมุทราวาสตั้งอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลนับเป็นกิโลเมตร แวดล้อมด้วยบ้านเรือนชาวบ้านในชุมชน กระทั่งเริ่มเกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกขณะค่อย ๆ ท่วมลึกกลืนกินผืนแผ่นดินเข้ามาเรื่อย ๆ บ้านเรือนถูกน้ำกลืนหายจนชาวบ้านต้องอพยพถอยร่นขึ้นไปบนฝั่ง จนกระทั่งเหลือเพียงวัดขุนสมุทราวาสตั้งอยู่กลางผืนน้ำเวิ้งว้าง เป็นอนุสรณ์ว่าบริเวณนั้นเคยเป็นแผ่นดินมาก่อน
ทุกวันนี้วัดขุนสมุทราวาสคงตั้งอยู่กลางน้ำ จากอดีตที่เคยมีพื้นที่กว้างขวางถึง ๗๖ ไร่ คงเหลือพื้นที่ประมาณ ๕-๖ ไร่ ตัวโบสถ์บางส่วนจมอยู่ใต้น้ำ จนชาวบ้านต้องช่วยกันยกพื้นไม้ของโบสถ์ให้สูงขึ้นเพื่อหนีน้ำ และหากมองจากวัดออกไปจะเห็นแนวเสาไฟฟ้าเรียงรายอยู่กลางทะเลในระยะไกล บ่งบอกให้รู้ว่านั่นคือแนวถนนที่จมหายอยู่ใต้น้ำ
ไม่เฉพาะชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ทว่าจังหวัดสมุทรปราการที่มีแนวชายฝั่งทะเลยาว ๔๕ กิโลเมตร ก็ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา ผืนดินถูกน้ำทะเลกลืนหายไปแล้วถึง ๑๑,๑๐๔ ไร่
ข้างต้นนั้นเป็นข้อมูลจากการศึกษาของ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย
นักวิชาการท่านนี้ระบุว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ สภาวะโลกร้อนที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น ความรุนแรงของคลื่นลมในทะเล ปัญหาป่าชายเลนถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ เพื่อทำฟาร์มเลี้ยงหอยหรือนากุ้ง
รวมทั้งสาเหตุที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือปริมาณตะกอนปากแม่น้ำที่ลดลงเนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นบริเวณต้นน้ำ
เพราะตามธรรมชาติแล้วแม่น้ำแต่ละสายจะพัดพาตะกอนจากต้นน้ำมาทับถมเป็นสันดอนบริเวณปากแม่น้ำจำนวนมาก เปรียบเสมือนแผ่นดินงอกออกไปในทะเล
ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ช่วงระหว่างนั่งเรือล่องอ่างเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพล แล้วได้รับรู้ข้อมูลทั้งจากชาวบ้าน คนขับเรือ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ถึงปัญหาที่มีตะกอนถูกกักสะสมอยู่ใต้เขื่อนปริมาณมหาศาล ไม่อาจระบายออกไปสู่ปลายน้ำได้…
๑๓
การจัดงาน “ธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ” ณ สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ มีผู้สนใจมาร่วมงานจำนวนมาก ในงานประกอบด้วยกิจกรรมการเสวนา ที่ผู้ร่วมเดินธรรมยาตราส่วนหนึ่งขึ้นเวทีแบ่งปันประสบการณ์สู่ผู้ฟัง ทั้งยังมีการแสดงดนตรี นิทรรศการภาพถ่ายระหว่างการเดินทาง และการร่วมภาวนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาในยามเย็น โดยมีพระไพศาล วิสาโล เป็นผู้นำภาวนา
ค่ำคืนวันนั้นชาวคณะธรรมยาตราฯ นั่งรถยนต์ย้อนกลับไปพักแรมที่วัดพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
กระทั่งวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเดินธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ
วันนี้คณะธรรมยาตราฯ มีกำหนดเดินจากวัดพระสมุทรเจดีย์ไปสิ้นสุดที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าของกองทัพเรือ ที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาบรรจบกับทะเลอ่าวไทย
เช้าตรู่ เวลาประมาณหกโมงครึ่ง ฟ้าเริ่มมีแสงสลัว ทุกคนมายืนตั้งขบวนหน้าประตูวัด กล่าวคำภาวนาก่อนออกเดินเหมือนเช่นทุกวัน
หัวขบวนคือพระสงฆ์จำนวน ๑๕ รูป ซึ่งรวมถึงคณะของหลวงพ่อประจักษ์ที่กลับมาสมทบตั้งแต่จังหวัดอยุธยา และสมณะจากสันติอโศกอีก ๑ รูป ส่วนฆราวาสนับได้สิบกว่าชีวิต ในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่ร่วมเดินด้วยกันมาตั้งแต่ต้นจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กับสมาชิกอีกส่วนที่ทยอยมาสมทบในภายหลัง ทุกคนยืนนิ่งสำรวมจิตใจให้สงบ ก่อนเริ่มก้าวเดิน…
ขบวนธรรมยาตราฯ เดินไปตามถนนที่ทอดยาว พระอาทิตย์ยามเช้าลอยสูงขึ้นทุกขณะ ร่องรอยของการเดินทางไกลปรากฏบนร่างกายของหลายคน ไม่ว่าผิวหน้าหรือผิวกายที่คล้ำเกรียมขึ้นจนเห็นได้ชัดเพราะการเดินกลางแดดมานานวัน เสื้อที่ใส่ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนผ้าบางและเปื่อยยุ่ย กางเกงที่มีรอยปะ หรือรองเท้าใหม่เอี่ยมที่สวมเดินจนกระทั่งเก่าคร่ำสึกหรอจวนพัง
กระทั่งมาถึงป้อมพระจุลฯ เมื่อเวลาประมาณเก้าโมงเช้า
มีหน่วยงานและบุคคลในพื้นที่มารอต้อนรับอยู่แล้วในห้องประชุม ในวันสุดท้ายนี้พวกเรายังมีการตั้งวงสนทนากับ
คนในท้องถิ่น
พันจ่าโท อุดร บุญช่วยแล้ว ปลัด อบต.แหลมฟ้าผ่า และเป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแหลมฟ้าผ่า บรรยายให้ฟังว่าพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องมลพิษ เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่จำนวนมาก และปัญหาใหญ่ที่เรารับรู้มาแล้วเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง
. . .
บ่ายโมงของวันนั้น ชาวคณะธรรมยาตราฯ มาทำพิธีคารวะสายน้ำที่ศาลาริมทะเลอ่าวไทย ในเขตป้อมพระจุลจอมเกล้า
ภายในศาลาเปิดโล่ง พระสงฆ์นั่งบนแท่นที่นั่งริมระเบียงศาลา ส่วนฆราวาสชายหญิงนั่งกับพื้น หันหน้าไปทางด้านหน้าศาลา มองเห็นท้องฟ้าปลอดโปร่งและผืนทะเลเวิ้งว้างเป็นสีเทากว้างใหญ่
หากนับจาก ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ วันแรกของการเดินธรรมยาตรา ก็เป็นเวลาร่วม ๓ เดือนแล้วกว่าชาวคณะธรรมยาตราฯ จะเดินมาถึงจุดหมาย ที่ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่ท้องทะเล
ทุกคนหลับตานิ่ง สำรวมจิตใจ พนมมือแล้วกล่าวคำภาวนาเพื่อสายน้ำอีกครั้ง
พระสงฆ์สวดคาถาชยันโต ขณะพานที่ประดิษฐานพระอุปคุตถูกนำไปวางไว้บนหัวเสาด้านหน้าศาลา
หลังจากนั้นทุกคนผลัดกันไปที่หน้าศาลา หยิบดอกไม้ที่เตรียมไว้โปรยลงไปในทะเล
ภารกิจการเดินทางไกลเพื่อแม่น้ำครั้งนี้มาถึงปลายทางด้วยดี ทว่าก่อนการแยกย้าย ทุกคนล้อมวงพูดคุยเปิดใจกัน
อีกครั้ง เพื่อทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาร่วมกัน ทั้งความสำเร็จหรือความล้มเหลว แง่มุมของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง รวมทั้งสภาพปัญหาของสิ่งแวดล้อมและแม่น้ำที่พานพบตลอดทาง
เรื่องที่หลายคนมีความเห็นคล้อยตามกันก็คือ ไม่อยากให้การเดินธรรมยาตราเพื่อแม่น้ำครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย หากในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปพวกเขามุ่งหวังว่าจะได้มาเดินร่วมกันเช่นนี้อีก ทั้งเพื่อฝึกฝนขัดเกลาจิตใจตัวเอง และเพื่อส่งเสียงบอกให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ
คงเป็นดั่งแม่น้ำที่เราได้เห็นตลอดการเดินทาง เมื่อไหลจากต้นกำเนิดนั้นเป็นเพียงลำห้วยสายเล็ก ๆ แต่ยิ่งไหลไปไกลก็ยิ่งมีลำน้ำน้อยใหญ่ไหลมาสมทบ กระทั่งกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลไปสู่ทะเล
เช่นเดียวกับการเดินทางไกลของคณะธรรมยาตราฯ หากมีคนที่คิดเห็นไปในทางเดียวกันเข้ามารวมกลุ่มมากขึ้น ๆ ก็จะกลายเป็นเครือข่ายที่มีพลังพอจะส่งเสียงก้องให้ผู้คนได้ยิน