บัญชา ธนบุญสมบัติ
buncht@mtec.or.th
ถ้าคุณคิดจะอุ่นพิซซ่าสักชิ้น หรือทำให้เครื่องดื่มแสนโปรดร้อนขึ้นอีกนิด (อย่างรวดเร็ว) คุณจะใช้อะไร? เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงจะบอกว่า ‘ใช้เตาอบไมโครเวฟสิ’ … เป็นคำตอบสุดท้าย!
แต่แค่อุ่นอาหารหรือเครื่องดื่มนี่เป็นเรื่องเล็ก ๆ เพราะคู่มือประกอบอาหารด้วยเตาไมโครเวฟนั้นมีมาตั้งนานแล้ว แถมบางรุ่นที่ไฮเทคยังสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมปรุงอาหารจากอินเทอร์เน็ตได้ โดยคุณแม่บ้านเพียงแต่เตรียมของให้พร้อม กดปุ่ม แล้วก็รอเท่านั้น (ไม่แน่ว่าในอนาคตจะมีเตาอบไมโครเวฟ “รุ่นคาราโอเกะ” ระหว่างที่ร้องเพลงรอด้วยรึเปล่า?)
เครื่องใช้ไฮเทคสามัญประจำบ้านอย่างนี้มีกำเนิดยังไงน่าสนใจทีเดียว เราลองมาเจาะเวลาย้อนหาอดีตกันโดยไป ณ จุดตั้งต้น ซึ่งฝุ่นควันของสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะจางลงได้ไม่นาน …
ในปี ค.ศ.1946 ณ บริษัทเรย์ทีออน (Raytheon Corporation) เพอร์ซี สเปนเซอร์ ได้ค้นพบโดยบังเอิญว่า แท่งช็อคโกแล็ตในกระเป๋าของเขาละลายเมื่อเขาอยู่หน้าอุปกรณ์แม็กเนตรอน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลอดสุญญากาศที่สำคัญในระบบเรดาร์ สเปนเซอร์รู้สึกพิศวงเหลือเกิน จึงได้ลองเอาเม็ดข้าวโพดไปวางไว้ใกล้ ๆ เจ้าหลอดมหัศจรรย์นั่น ผลที่ได้น่าตื่นตาตื่นใจจริง ๆ เพราะเม็ดข้าวโพดเริ่มปริพองออก แล้วพุ่งกระจายเต็มห้องแล็บ … (ไมโครเวฟ) ป๊อบคอร์นชุดแรกของโลกได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว
ไม่มีอะไรจะมาฉุดอัจฉริยะนักประดิษฐ์คนนี้ได้แล้ว เพราะในเช้าวันต่อมา สเปนเซอร์กับเพื่อนวิศวกรคนหนึ่ง ได้ทดลองวางหลอดแม็กเนตรอนไว้ใกล้ ๆ กับไข่ดิบ แม้ว่าเขาจะทำการทดลองค่อนข้างระมัดระวัง โดยวางไข่ไว้ในหม้อที่เจาะรูด้านข้าง เพื่อให้มองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เมื่อถึงจุดเข้าด้ายเข้าเข็ม ไข่ก็เริ่มสั่น … จากสั่นน้อย ๆ กลายเป็นเจ้าเข้า … คู่หูของสเปนเซอร์ก็เลยอดใจไม่ไหว แหย่หน้าเข้าไปดูใกล้ ๆ และทันใดนั้น ไข่ก็ระเบิดออกกระจายเต็มหน้า ต้อนรับวิศวกรขี้สงสัย “อย่างอบอุ่น” กลายเป็นตำนานเล่าขานจนถึงปัจจุบัน!
เมื่อคณะกรรมการบริหารของบริษัทได้รับชมการสาธิต “ไข่ระเบิด” แล้ว ก็ตัดสินใจลงทุนผลิตอุปกรณ์ทำอาหารแบบใหม่ล่าสุดนี้ แต่เนื่องจากชื่อที่ใช้เรียกในขณะนั้น คือ อุปกรณ์ให้ความร้อนไดอิเล็กทริกความถี่สูง (high frequency dielectric heating apparatus) ยาวมาก จึงมีการประกวดตั้งชื่อใหม่ และในที่สุดก็ได้ชื่อกิ๊บเก๋คือ เรดาร์เรนจ์ (Radarange) ซึ่งย่อมาจาก Radar + Range เพราะหลอดแม็กเนตรอน ซึ่งเป็นหัวใจของเตาอบไมโครเวฟนับเป็นผลพลอยได้จากเทคโนโลยีเรดาร์นั่นเอง
แต่เตาอบไมโครเวฟเวฟเครื่องแรกของโลกนั้นสูง 5 ฟุตครึ่ง หนักถึง 750 ปอนด์ แถมต้องต่อท่อน้ำระบายความร้อน และที่สำคัญคือแพงระยับ (เครื่องละประมาณ 5000 ดอลลาร์!) จึงไม่น่าแปลกใจที่มีใช้แค่ในภัตตาคาร รถไฟและเรือเดินสมุทรเป็นหลัก … นานถึง 20 ปี!
ต่อมาในราวปี ค.ศ.1952-1955 บริษัทญี่ปุ่น ชื่อ Tappan สามารถย่อขนาดหลอดแม็กเนตรอนได้สำเร็จ แถมยังกำจัดระบบระบายความร้อนด้วยน้ำออกไป คนทั่วไปก็เลยมีโอกาสได้ใช้เตาอบไมโครเวฟบ้าง โดยราคาเริ่มตกลงมาเรื่อย ๆ จาก 1295 ดอลลาร์ ในปี ค.ศ.1955 จนถึง 495 ดอลลาร์ ในปี ค.ศ.1967 (เดี๋ยวนี้ราคาเท่าไร ลองสืบดูเองได้)
คราวหน้าถ้าคุณใช้เตาอบไมโครเวฟอุ่นหรือปรุงอาหาร ก็ลองคิดถึงสเปนเซอร์กับเพื่อนของเขาที่แหย่หน้ารับ “ไข่ระเบิด” บ้างสักนิด เพราะความซุกซนและช่างสังเกตนั้น บางครั้งก็เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ ที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย
พูดถึงเรื่อง ‘ไข่ระเบิด’ เลยทำให้นึกได้ว่า ในช่วงที่ไข้หวัดนกกำลังอาละวาดหนักในบ้านเราอยู่นั้น เด็ก ๆ ของเราที่ชอบออกกำลังกายโดยการยกพวกตีกัน ได้ใช้ ”ไข่” (ของไก่นะครับ) เป็นอาวุธขว้างใส่คู่อริ ซึ่งถ้ามือระเบิดจะโอ้อวดความคิดสร้างสรรค์ของตน ก็คงจะประกาศเสียงดังฟังชัดว่า
“ฮ่า .. ฮ่า .. นี่คือ อาวุธชีวภาพ ราคาประหยัด รุ่นล่าสุดของเรา!”
แนะนำขุมทรัพย์ทางปัญญา
- สำหรับคุณผู้อ่านที่ต้องการเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับเตาอบไมโครเวฟ ขอแนะนำบทความ Who Invent Microwaves? ที่ http://www.gallawa.com/microtech/history.html และบทความ How Microwave Ovens Work ที่ http://home.howstuffworks.com/microwave.htm