ปาฐกถา โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
จัดโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓
ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ท่านประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้เรามาพบกันเพื่อแสดงความคารวะต่อมิตรผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งจากไปเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่อุทิศชีวิตให้กับการพิทักษ์สัตว์ป่าและผืนป่าในประเทศไทย ตลอดจนเป็นผู้จุดประกายที่เรืองโรจน์โชติช่วงที่สุดให้กับขบวนอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศของเราปัจจุบันชื่อของท่านยังคงสถิตสถาพรอยู่ในนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หลายท่านคงจำได้ว่าในปี ๒๕๓๓ ความตายของคุณสืบเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งบดขยี้หัวใจของคนทั้งประเทศ มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้หลายคนต้องหันมาสนใจเรื่องป่าและสัตว์ป่าเป็นครั้งแรกในชีวิต และจำนวนไม่น้อยต้องหันมาถามตัวเองว่าได้ทำอะไรบ้างแล้วหรือยัง ในการช่วยรักษามรดกธรรมชาติไว้ให้ลูกหลาน
ภาพของ สืบ นาคะเสถียร เป็นภาพของข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆ ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการพิทักษ์ผืนป่า แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรครอบด้าน ตั้งแต่ความไม่จริงใจของนักการเมืองที่เรืองอำนาจ ระบบราชการอันเย็นชา งบประมาณทำงานอันน้อยนิด การคุกคามของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่ลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ ไปจนถึงชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ต้อง “บุกรุก” ป่าอย่างไม่มีทางเลือก
ทั้งหมดนี้นับเป็นภารกิจอันหนักหนาสาหัส เกินกว่าที่คนคนเดียวจะแบกรับไว้ได้ ในที่สุด ความคับแค้นที่สั่งสมก็ทำให้คุณสืบตัดสินใจส่งข่าวสารต่อสังคมไทย ด้วยวิธีการเฉียบขาดที่สุด และมีราคาแพงที่สุด
วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ เป็นวันที่ฟ้าหลั่งฝน คนหลั่งน้ำตา…
แน่ละ ความตายของคนเรานั้น อาจพิจารณาได้จากหลายมิติ และอาจค้นหาความหมายได้ในหลายระดับ เพราะฉะนั้นในกรณีของ สืบ นาคะเสถียร จึงพูดได้ในบางมุมมองว่าแท้จริงแล้วคุณสืบไม่ได้จากไป หากเพียงเปลี่ยนรูปแบบในการดำรงอยู่ หรือ “จากไปเพื่อจะได้อยู่ร่วมชั่วนิรันดร์”
ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้ สืบ นาคะเสถียร ยังคงอยู่กับพวกเรา ทั้งในฐานะจิตวิญญาณที่เชื่อมร้อยกับทุกอณูของสรรพชีวิตในผืนป่า อีกทั้งในฐานะแรงบันดาลใจของผู้รักธรรมชาติทุกคน
ใช่หรือไม่ว่า สืบ นาคะเสถียร ไม่ได้หายไปไหน หากในรูปของมูลนิธิฯ คุณสืบยังคงเฝ้าดูแลผืนป่าตะวันตก ตลอดจนดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติในอีกหลายๆ ด้าน
อย่างไรก็ตาม…
ทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา การสานต่อเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร ได้กลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทยแล้ว และยิ่งมิได้หมายความว่าสถานการณ์อนุรักษ์ธรรมชาติทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยกำลังประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
เมื่อ ๒๐ ปีก่อน แม้ว่า “เสียงตะโกนจากพงไพร” ของคุณสืบจะดังกึกก้องไปทั่วทั้งประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะขานรับคำขอร้องของเขา ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่ยึดถือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นแนวทางแห่งชีวิต
ผมจำได้ว่า เคยเขียนเตือนเรื่องนี้ไว้แล้วในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งอุทิศให้แก่ สืบ นาคะเสถียร โดยตรง
“วีรบุรุษนั้นเหมือนจะมาก่อนกาลเวลาเสมอ ทั้งนี้เพราะพวกเขาคือผลพวงจากความต่ำต้อยของผู้อื่น…สิ่งที่ชวนโศกสลดก็คือเมื่อวีรบุรุษล้มลงด้วยความเหนื่อยล้า โลกไม่อาจหามือผู้ใดไปประคองได้ นอกจากมือของผู้ต่ำต้อยที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ต่อจากนั้น…ทุกคนก็แบกร่างเขาไปบนเส้นทางที่ตนเองคุ้นเคย”
พูดก็พูดเถอะ ในฐานะเลขาธิการคนแรกของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ผมได้เห็นขบวนแห่แหน “วีรบุรุษ” ผู้นี้ด้วยตาของตนเอง ยามนั้นใครๆ ก็อยากได้ของขลังชิ้นใหม่ อยากได้ชื่อ สืบ นาคะเสถียร ไปแต่งแต้มกิจกรรมและกิจการของตน ไม่เว้นแม้แต่บริษัทห้างร้านที่ขายอุปกรณ์โค่นป่าตัดต้นไม้ และเวทีประกวดนางงาม
กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ หลายคนคิดว่าจะใช้ชื่อสืบไปทำอะไรก็ได้ ขอเพียงระบุว่า “รายได้บางส่วนมอบให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร” ก็พอแล้ว
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนั้น แม้ผู้คนจำนวนมากจะสะเทือนใจอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่ช้าไม่นานพวกเขาก็รุดหน้าไปตามเส้นทางดั้งเดิมที่ปราศจากสำนึกเกี่ยวร้อยกับสิ่งใด… เส้นทางที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเห็นชีวิตอื่นเป็นเพียงวัสดุใช้สอย
นี่เป็นทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นปัญหาจิตสำนึก ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นกระแสหลักทั้งในโลกและในประเทศไทยมาตลอดระยะ ๒๐ ปี… แน่นอน สภาพดังกล่าวย่อมส่งผลให้โลกเลวลง
ถึงตรงนี้ ผมขออนุญาตชวนท่านมาทบทวนสถานการณ์ของโลกธรรมชาติในปัจจุบัน
หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าในอดีตเมื่อประมาณสองสามพันปีก่อน ป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rainforests) เคยครอบคลุมพื้นที่ราว ๑๔ เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกส่วนที่เป็นแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ในระยะไม่กี่ศตวรรษมานี้ รวมทั้งตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา ป่าเขตร้อนในปัจจุบันกลับมีพื้นที่เหลือเพียง ๖ เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกส่วนที่ไม่ใช่น้ำ
ตัวเลขที่เหลือเชื่อก็คือ ทุกวันนี้ ผืนป่าเขตร้อนในขอบเขตทั่วโลกยังคงถูกทำลายถึงวันละมากกว่า ๒ แสนเอเคอร์ (๑ เอเคอร์เท่ากับ ๒.๕ ไร่) ซึ่งเท่ากับ ๑๕๐ เอเคอร์ต่อนาที หรือ ๗๘ ล้านเอเคอร์ต่อปี บรรดาผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าหากอัตราการทำลายป่ายังคงดำเนินไปในลักษณะนั้น ป่าเขตร้อนก็อาจหายไปจากโลกภายในเวลาอีกไม่ถึง ๔๐ ปี
ป่าเขตร้อนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และแมลงของโลก ซึ่งประเมินกันว่ามีอยู่ประมาณ ๑๐ ล้านชนิด ล้วนอาศัยอยู่ในป่าแบบนี้ ดังนั้น การสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวจึงส่งผลให้สรรพชีวิตต้องจากไปอย่างเลี่ยงไม่พ้น มีการคำนวณว่าในแต่ละวัน พืช สัตว์ และแมลงประมาณ ๑๓๗ ชนิดต้องสูญพันธุ์ไปด้วยสาเหตุที่ป่าถูกทำลาย ซึ่งหมายถึงว่าในแต่ละปีโลกกำลังสูญเสียพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และแมลงถึง ๕ หมื่นชนิดเลยทีเดียว
อันที่จริง ไม่เพียงพืชและสัตว์เท่านั้นที่ถูกคุกคามจากการทำลายป่า มนุษย์เองก็สูญเสียปัจจัยที่เกื้อหนุนความอยู่รอดของตนไปอย่างประเมินค่ามิได้ ทั้งนี้เนื่องจากอย่างน้อย ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของอาหารในโลกที่พัฒนาแล้วล้วนมีแหล่งที่มาจากป่าเขตร้อน และตัวยาที่ใช้ในการแพทย์แผนตะวันตกก็มาจากป่าเขตร้อนถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าป่าเขตร้อนเป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตออกซิเจน ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ช่วยควบคุมอุณหภูมิและความคงเส้นคงวาของภูมิอากาศโลก
ดังนั้น การสูญเสียผืนป่าจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการก่อภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งส่งผลต่อไปสู่ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ และได้กลายเป็นภัยร้ายแรงสำหรับมนุษยชาติอยู่ในปัจจุบัน
ในระยะหลังๆ นี้ ท่านทั้งหลายก็คงเคยได้ยินข่าวเรื่องน้ำท่วมใหญ่ในประเทศต่างๆ หรือพายุรุนแรงที่พัดเข้าถล่มในทุกภูมิภาคของโลก ตลอดจนภาวะแห้งแล้งผิดปรกติ และคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนในหลายที่หลายแห่ง
กล่าวสำหรับในเมืองไทย แม้ว่าหลังจาก สืบ นาคะเสถียร ได้พลีชีพไปไม่นาน ผืนป่าตะวันตกอันประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรรวมกับป่าอนุรักษ์อีกจำนวนหนึ่ง จะถูกยกฐานะเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก (คิดเป็นพื้นที่ราว ๑๑ ล้านไร่) แต่ในสถานการณ์โดยรวมหลังปี ๒๕๓๓ พื้นที่ป่าก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ตกปีละประมาณ ๑ ล้านไร่เศษ กระทั่งเวลาผ่านมาถึงช่วง ๒๕๔๓-๒๕๔๗ พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกเพิ่มเติมก็ยังกินบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล รวมแล้วเกือบ ๔ ล้านไร่
ผมคงไม่ต้องพูดก็ได้ว่าผลที่เกิดจากการทำลายผืนป่าในประเทศไทยย่อมไม่ต่างจากการทำลายป่าเขตร้อนในประเทศอื่นๆ…สัตว์ป่าและพันธุ์พืชหลายชนิดล้มหายตายจาก อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ สภาพน้ำท่วมฉับพลันและภาวะฝนแล้งเกิดขึ้นในความถี่สูง กระทั่งเกิดขึ้นพร้อมกัน
ปัจจุบัน ประเมินกันว่าประเทศไทยมีป่าอนุรักษ์เหลืออยู่ร้อยละ ๑๗.๖๖ ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ ๙๐.๖ ล้านไร่ แต่นี่เป็นการนับรวมพื้นที่ป่าชายเลนเอาไว้ด้วย ซึ่งหมายถึงว่าป่าบกมีเหลือน้อยกว่านั้น
ถามว่าทำไมเราจึงหยุดยั้งการทำลายป่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ทั้งปวงล้วนชี้ชัดว่านี่คือการฆ่าตัวตายรวมหมู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่บนพื้นพิภพแห่งนี้?
ผมเคยครุ่นคิดถึงปัญหาดังกล่าวมานานหลายปี แล้วสรุปได้ว่าประเด็นมันมิได้มีแค่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า หากยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับชีวิตของตนเอง
กล่าวเช่นนี้หมายความว่ากระไร? พูดง่ายๆ คือการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอื่นโดยน้ำมือมนุษย์นั้น มิได้เกิดจากความไร้จิตสำนึกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างเดียว (แม้ว่าข้อนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญ) แต่การที่ผู้คนทำลายป่าตลอดจนสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและสังคมด้วย
มันเป็นระบบที่ด้านหนึ่งปลุกเร้าให้มีการผลิตและการบริโภคอย่างปราศจากขอบเขต และในอีกด้านหนึ่งก็สร้างความไม่เป็นธรรมในด้านการกระจายทรัพย์สินตลอดจนโอกาสต่างๆ ในชีวิต จนกระทั่งคนจำนวนมหาศาลไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อแสวงหาความอยู่รอด
กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ ผู้คนรุกล้ำทำลายธรรมชาติ เพราะถูกปลุกเร้าหรือไม่ก็ถูกขับต้อนจากคนด้วยกัน
อย่างไรก็ดี กระบวนการดังกล่าวจะเกิดได้ยาก หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ามุมมองที่มนุษย์มีต่อชีวิตของตนไม่โน้มเอียงไปในทางวัตถุนิยมสุดขั้วดังที่เป็นอยู่ ไม่เข้าใจชีวิตผิดๆ ว่าเป็นเพียงการดำรงอยู่แบบ “ตัวกูของกู” และคิดแต่จะอาศัยสิ่งภายนอกมาสร้างตัวตนหรือสนองความพอใจของอัตตา
ดังนั้น ผมจึงจำเป็นต้องยืนยันว่าการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ ไม่เพียงเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน หากยังถูกขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชีวิตอีกอย่างหนึ่ง จากนั้นกระบวนการทั้งหมดจึงถักทอขึ้นเป็นสภาวะไร้จิตสำนึกอย่างสิ้นเชิง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล
แน่ละ เมื่อแยกแยะลงไปแล้ว การสูญเสียผืนป่าเขตร้อนอาจจะมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การตัดไม้ไปขาย การเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับเกษตรกรรม การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขุดแร่ทำเหมือง และการขยายตัวของแหล่งท่องเที่ยว
แต่ถ้าจะให้กล่าวอย่างสรุปรวบยอดแล้วก็คงต้องยืนยันว่าการทำลายผืนป่าและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ มีสาเหตุหลักมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และ
ความไม่เป็นธรรมทางสังคม
การที่ป่าเขตร้อนมีอยู่เฉพาะในดินแดนใกล้เส้นศูนย์สูตร ผืนป่าแทบทั้งหมดจึงอยู่ในประเทศยากจน เพราะฉะนั้นวิธีหารายได้ง่ายๆ อย่างหนึ่งของประเทศเหล่านี้คือการตัดไม้ขายให้ประเทศที่ร่ำรวยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกตะวันตก สำหรับในซีกโลกตะวันออกนั้นมีญี่ปุ่นเป็นลูกค้าสำคัญ
ยิ่งไปกว่านี้ ป่าเขตร้อนบางแห่งเช่นแถบลุ่มน้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ ยังถูกทำลายอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อเปิดพื้นที่ให้กิจการปศุสัตว์ ซึ่งผลิตเนื้อวัวส่งไปยังประเทศมั่งคั่ง สภาพดังกล่าวนับว่าเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาป่าอะเมซอนได้ช่วยแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเป็นออกซิเจนในปริมาณมหาศาล ออกซิเจนของโลกนั้นถูกสร้างขึ้นโดยป่าอะเมซอนถึงกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการทำลายป่าเขตร้อนเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจโลก เกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมของผู้คนในประเทศที่ร่ำรวย แม้ผู้คนในประเทศเหล่านั้นอาจไม่เคยตัดไม้หรือเผาป่าด้วยตนเอง แต่ก็อยู่เบื้องหลังการสูญเสียป่าเขตร้อนด้วยอำนาจซื้อที่เหลือเฟือ
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้ประเมินไว้ว่า ทรัพยากรของโลกประมาณ ๔ ใน ๕ ส่วน หรือร้อยละ ๘๐ นั้นถูกบริโภคโดยประเทศที่มั่งคั่ง ซึ่งมีคนอยู่รวมกันแล้วแค่ร้อยละ ๒๐ ของประชากรโลกเท่านั้นเอง
แต่ก็อีกนั่นแหละ ประเด็นดังกล่าวไม่ได้จบลงแค่ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ หากยังเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศโลกที่สามเอง และนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญไม่แพ้กันที่นำไปสู่การทำลายพื้นที่ป่า
ในประเทศที่มีผืนป่าเขตร้อนขนาดใหญ่อย่างบราซิล ปรากฏว่าที่ดินทำกิน ๔๒ เปอร์เซ็นต์ถูกถือครองโดยคนแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชาวไร่ชาวนาไร้ที่ดินนั้นมีจำนวนมากถึง
ครึ่งหนึ่งของประชากรบราซิลทั้งหมด ดังนั้นคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมคนยากคนจนเหล่านี้จึงต้องรุกเข้าไปตั้งรกรากในป่าอะเมซอน
เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทย นักวิชาการประเมินกันว่าที่ดินที่ถือครองได้ (คือไม่ใช่ที่ดินของรัฐ) มีถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในมือของคนเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชากรไทย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ต้องเอาที่ดินเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ไปแบ่งกันอยู่อาศัยหรือทำกิน ซึ่งก็แน่นอน คนจำนวนมากมายมหาศาลย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งอันใด ในประเทศไทยมีชาวนาไร้ที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก และที่รุกเข้าไปหาที่ทำกินในเขตป่าสงวนก็มีจำนวนนับล้านคน
พูดก็พูดเถอะ แม้แต่ในเขตป่าอนุรักษ์ก็ยังมีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมากกว่า ๔ แสนครัวเรือน แต่ปัญหานี้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าปัญหาอื่น เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านได้อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนการประกาศจัดตั้งเขตอุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมักเป็นชาติพันธุ์ส่วนน้อย เช่นชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าตะวันตก และชาวมลายูในผืนป่าทางใต้ เป็นต้น
ประชาชนเหล่านี้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอยู่ร่วมกับป่ามากกว่าพวกที่รุกเข้าไปจากภายนอก และถ้าหากไม่ถูกระบบทุนนิยมพาไปทางอื่นเสียก่อน ก็ไม่น่าจะก่อความเสียหายอะไร
อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยรวมแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการสูญเสียผืนป่าในประเทศไทยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาความยากจน และปัญหาความยากจนก็มีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้คนจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน หรือเข้าไม่ถึงฐานทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการหาเลี้ยงชีพ
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเป็นผลมาจากแนวทางพัฒนาที่ไม่สมดุล ซึ่งหมายถึงว่าความยากจนในชนบทนั้นเกิดจากการถูกละเลยทอดทิ้ง กระทั่งถูกจงใจเอาเปรียบโดยนโยบายของรัฐด้วย ชาวไร่ชาวนาไทยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมกลับได้รับการสนับสนุนดูแลเป็นอย่างดี
ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างรายได้อย่างมหาศาล ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเอง ซึ่งยืนยันไว้ว่าในปี ๒๕๕๐ กลุ่มประชากรร้อยละ ๒๐ ที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศถึงร้อยละ ๕๔.๙ ในขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ ๒๐ ที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ ๔.๔ เท่านั้น สำหรับกลุ่มประชากรที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน (ประมาณเดือนละ ๑,๔๐๐ บาท) ซึ่งถือว่ามีรายได้ไม่พอเพียงในการดำรงชีวิตนั้น มีถึงประมาณ ๕.๔ ล้านคน
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่ายิ่งพัฒนา ช่องว่างระหว่างรายได้ก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้น แต่สิ่งที่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้บอกไว้คือรายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม …กระจุกตัวอยู่ในสังคมเมือง
ดังนั้นปัญหาความยากจนจึงเป็นสถานการณ์ในชนบทเสียส่วนใหญ่ จากการประเมินของ UNDP (สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) อย่างน้อย ๑ ใน ๑๐ ของครัวเรือนในชนบทไทยยังคงเป็นคนยากไร้
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินเรื่องราวของชาวนาคนหนึ่งจากจังหวัดปราจีนบุรี เธอเล่าให้ฟังว่าหลังจากขายข้าวที่เกี่ยวเสร็จในฤดูหนึ่งได้ ๑ แสนบาท ปรากฏว่ามีเงินเหลือกลับบ้านเพียง ๒๕ บาทเท่านั้นเอง รายได้ทั้งหมดต้องนำไปใช้หนี้ค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์ข้าวและยาฆ่าแมลง ในฤดูถัดมา การเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล เมื่อขายข้าวเสร็จแล้วเธอยังต้องตกเป็นหนี้อีก ๒ แสนบาท
ผมเชื่อว่าเรื่องของชาวนาผู้นี้สามารถเป็นภาพสาธิตของสถานการณ์ที่ชาวนาไทยกำลังเผชิญอยู่โดยรวม สิ่งที่น่าวิตกอย่างหนึ่งในเวลานี้ก็คือภาวะยากจนของชาวไร่ชาวนานั้นมักจะแยกไม่ออกจากการมีหนี้สิน และการมีหนี้สินก็มักนำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งหมายถึงว่ากระบวนการสูญเสียที่ดินของชาวนายังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าในยุคโลกาภิวัตน์ การเข้ามาของกลุ่มทุนข้ามชาติบวกกับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทย ยิ่งทำให้ที่ดินทำกินและฐานทรัพยากรอื่นๆ ถูกนำมาไว้ภายใต้กลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ที่ดินเปลี่ยนมือได้โดยง่าย และกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินยิ่งกระจุกตัวมากกว่าเดิม ทั้งเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์และการเก็งกำไร
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การรุกเข้าไปหาที่ทำกินใหม่ในผืนป่า หรือการรับจ้างนายทุนบุกรุกผืนป่าโดยผู้ยากไร้ คงจะยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป
เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมตลอดเวลา ๒๐ ปีหลังจากความตายของ สืบ นาคะเสถียร ปัญหาการรุกพื้นที่ป่าและการสูญเสียผืนป่าในประเทศไทยจึงยังเกิดขึ้นอย่าง
ต่อเนื่อง
เมื่อผืนป่าสูญหายสัตว์ป่าก็จากไป แต่ใครเล่าจะตำหนิคนยากคนจนได้ลงคอ…นี่เป็นความร้าวรานใจของคุณสืบมาตั้งแต่ต้น และเป็นความร้าวรานใจของนักอนุรักษ์ธรรมชาติเสมอมา
พูดถึงประเด็นนี้ ผมคงต้องขอแสดงความชื่นชมมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภายใต้การนำของอาจารย์รตยา จันทรเทียร ที่ได้ขับเคลื่อนโครงการ “จอมป่า” (JoMPA: Joint Management of Protected Areas) หรือ “โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม” มาเป็นกรอบการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ผมเห็นว่านี่เป็นโครงการบุกเบิกที่สำคัญยิ่ง เพราะทิศทางของอนาคตนั้น การรักษาผืนป่าตลอดจนฐานทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล หรือแม่น้ำลำธาร ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
บทเรียนของมูลนิธิสืบฯ ในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยกำหนดแบบแผนของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หรือจัดความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ต่อไปจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการชำระล้างพิษภัยจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล
คำขวัญของโครงการที่กล่าวว่า “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสือก็อยู่ได้” นั้น นับว่าจับประเด็นใจกลางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้อย่างคมชัดและงดงาม มันมีความหมายลึกซึ้งของการอยู่รอดร่วมกัน และสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของสรรพชีวิตที่เกี่ยวร้อยกันในฐานะบุตรหลานของจักรวาล
ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ คำขวัญดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของ สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างยิ่ง
ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของคุณสืบที่ถูกบันทึกไว้
“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนจะต้องอยู่ได้ก่อน เพราะว่าคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไร คนพวกนี้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับป่าไม้ เขาควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากป่า ผมคิดว่าป่าจะอยู่หรือจะไปอยู่กับคนกลุ่มนี้ด้วย”
ถึงตรงนี้ ท่านทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่าประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่านั้นเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมนับเป็นอุปสรรคหนักหน่วงยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากเราต้องการเข้าใจความจริงให้ครบถ้วนทุกมิติ ก็คงไม่สามารถมองภารกิจอนุรักษ์ธรรมชาติแบบแยกส่วนได้ หากควรต้องพิจารณาปัญหานี้ในบริบทของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่า ผู้ที่รักธรรมชาติควรต้องเป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ที่รักความเป็นธรรม และนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่เอาจริง หรือไม่หลอกตัวเอง ควรต้องมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม
ยกตัวอย่างเช่น เราควรต้องสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน การกระจายรายได้ ตลอดจนการสร้างความเป็นธรรมในด้านอื่นๆ เพื่อให้ผู้เสียเปรียบมีทางเลือกมากกว่าเดิม
ตามหลักพุทธธรรมเรื่อง อิทัปปัจจยตา…ปรากฏการณ์ทั้งหลายล้วนเกิดจากการชุมนุมของนานาปัจจัย… เพราะฉะนั้นการมุ่งพิทักษ์ป่าโดยไม่แก้ปัญหาสังคมควบคู่กันไป ก็เท่ากับละเลยต้นตอของปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญ
ต่อไป ผมขออนุญาตพูดถึงสาเหตุการทำลายธรรมชาติจากอีกมุมหนึ่ง ซึ่งซ่อนลึกอยู่ในสภาวะจิตของผู้คน
ก่อนหน้านี้ผมได้เอ่ยไว้แล้วครั้งหนึ่งว่า กระบวนการทำลายธรรมชาตินั้นจะเกิดได้ยาก หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ามุมมองที่มนุษย์มีต่อชีวิตของตนไม่โน้มเอียงไปในทางวัตถุนิยมสุดขั้ว และไม่เข้าใจชีวิตผิดๆ ว่าเป็นเพียงการดำรงอยู่แบบตัวกูของกู และคิดแต่จะอาศัยสิ่งภายนอกมาสร้างตัวตนหรือสนองความพอใจของอัตตา
ผมตระหนักดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่จะไม่พูดถึงเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นต้นตอบ่อเกิดของการทำลายล้างธรรมชาติที่ซ่อนเร้นแต่มีพลังมากที่สุด ตลอดจน
เป็นปัญหาที่แก้ยากเสียยิ่งกว่าปัญหาความอยุติธรรมทางสังคม
การที่ในทางความคิด มนุษย์ได้แยกตัวเองออกจากธรรมชาติ และปฏิบัติต่อธรรมชาติโดยปราศจากความเคารพยำเกรงนั้น เป็นผลพวงมาจากการเข้าใจผิดว่ามนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามมีตัวตนดำรงอยู่อย่างแท้จริง จากนั้นก็ยึดติด หวงแหน และปรุงแต่งสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นตัวเอง
สภาวะจิตดังกล่าวได้ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับความจริงขึ้นหลายอย่าง ที่สำคัญคือการใช้วัตถุสิ่งของนับไม่ถ้วนมาปรุงแต่งชีวิตให้รู้สึกดีไปตามจินตนาการของตน นอกจากนี้ก็ยังติดหลงอยู่กับการถือครองกรรมสิทธิ์ในสิ่งภายนอกเหล่านั้น ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งลืมไปว่าทุกคนล้วนแล้วแต่อยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว
แน่นอน สภาวะจิตเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อทรัพยากร ธรรมชาติ และระบบนิเวศของโลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะการผลิตและการบริโภคที่ล้นเกินเพื่อประกอบการปรุงแต่งอัตตา ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยต้นทุนจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ที่ดิน แร่ธาตุ ท้องทะเล แหล่งน้ำจืด หรือป่าดงพงไพร
พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ของกินของใช้ที่เราบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่ได้มีต้นทางมาจากธรรมชาติ แม้แต่สิ่งที่ดูเหมือนมาจากโรงงาน อย่างน้ำมันที่ใช้เติมรถยนต์ ของใช้พลาสติก ตู้เหล็กเก็บเอกสาร ถ้วยกาแฟ เครื่องสำอาง หรือกระเบื้องมุงหลังคา ฯลฯ ต่างก็มีต้นทางมาจากวัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น
ปัญหามีอยู่ว่าการผลิตและการบริโภคที่ล้นเกินดังกล่าว ไม่เพียงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้นไปเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และทำลายระบบนิเวศของโลกด้วย
ทุกวันนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ในระดับสากลต่างมีข้อสรุปแล้วว่าภาวะโลกร้อนที่กำลังร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้น เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ค่อนข้างแน่นอน และเราก็สามารถสรุปเองได้ไม่ยากว่าการกระทำดังกล่าวถูกเร่งเร้าขึ้นเป็นทวีคูณด้วยลัทธิบริโภคนิยม จากนั้นยังสรุปต่อไปได้ด้วยว่าลัทธิบริโภคนิยมเป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำทั้งในระดับโลกและภายในประเทศของเราเอง
ดังจะเห็นได้จากสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปรากฏว่าสหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ตามมาด้วยยุโรปตะวันตก รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในโลกที่สามที่มีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหรือผลิตเพื่อส่งออกค่อนข้างมาก
สำหรับประเทศไทยเอง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะลดลง ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่คงเน้นการขยายตัวของอุตสาหกรรม และเป็นไปตามวิถีการเคลื่อนไหวใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ซึ่งต้องเผาพลังงานกันอยู่ตลอดเวลา
กล่าวสำหรับผลของภาวะโลกร้อนจะเป็นเช่นใดนั้น ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะติดตามเรื่องนี้กันพอสมควรอยู่แล้ว และผมเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าท่าน เพราะฉะนั้นคงจะ
ไม่พูดมากในประเด็นนี้ ผมเพียงแต่อยากย้ำว่าความรุนแรงอันเกิดจากการโต้กลับของธรรมชาตินั้น อาจถึงขั้นที่มนุษย์ไม่สามารถรับมือได้
ที่ผ่านมาเราได้เห็นความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศมาหลายครั้งแล้ว ได้เห็นพายุเฮอริเคนที่กระหน่ำเมืองนิวออร์ลีนส์ในสหรัฐอเมริกา ได้เห็นสภาพน้ำท่วมใหญ่และดินถล่มในอินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และประเทศจีน เห็นความแห้งแล้งที่นำไปสู่สภาพไฟไหม้ป่าในแทบทุกมุมโลก ตลอดจนเห็นคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตคนในทั้งยุโรปและเอเชีย
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นแค่คำเตือน ถ้าหากภาวะโลกร้อนมีระดับร้ายแรงขึ้นถึงจุดที่เหนือการควบคุม การเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของโลก ซึ่งรวมทั้งการละลาย
ของบรรดาธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลก จะก่อให้เกิดภัยพิบัติมากกว่านี้หลายเท่า
จากรายงานของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ในอนาคตน้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นระหว่าง ๗-๒๓ นิ้ว เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นเพียง ๔ นิ้ว ก็จะเข้าท่วมเกาะและพื้นที่จำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโลกมีประชากรนับร้อยล้านคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในระดับความสูงไม่เกิน ๑ ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล คนเหล่านี้จะต้องย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าพื้นที่ทะเลทรายจะขยายกว้างมากขึ้น น้ำทะเลจะเป็นกรด การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรอาจเปลี่ยนทิศทาง ส่งผลให้เกิดยุคน้ำแข็งย่อยๆ ในยุโรป พายุรุนแรง ภาวะแห้งแล้ง คลื่นความร้อน ไฟป่าและภัยธรรมชาติต่างๆ จะเกิดขึ้นบ่อยมากจนกลายเป็นสภาพปรกติทั่วไป สุดท้ายสัตว์นับล้านสปีชีส์จะสูญพันธุ์จากการที่ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง
กล่าวสำหรับความเป็นไปได้ของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นถึง ๙๐ เซนติเมตรในอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าถิ่นที่อยู่ทั้งของคน สัตว์ และพืชจะหายไปเป็นพื้นที่มหาศาล ชายหาดจากเพชรบุรีถึงสงขลาอาจจะหายไป ป่าชายเลนจะมีปริมาณพรรณไม้ลดลง น้ำเค็มจะรุกเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาถึง ๔๐ กิโลเมตร และความเสียหายร้ายแรงจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานคร
แต่จะว่าไป ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพย่อของอนาคตเท่านั้นเอง ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนที่คาดการณ์ไว้โดยวงการวิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ยังมีรายละเอียดอีกมาก และมีเรื่องเลวร้ายมากกว่านี้
คำถามมีอยู่ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ในเมื่อรู้ชัดอยู่แล้วว่าโลกร้อนเพราะน้ำมือมนุษย์ โลกร้อนเพราะการผลิตการค้าเพื่อกำไรสูงสุด โลกร้อนเพราะการบริโภคที่ล้นเกิน
ตามความเห็นของผม คำตอบที่ดูเหมือนจะเป็นแบบกำปั้นทุบดิน แต่ตรงคำถามที่สุดคือ เราคงต้องรีบเปลี่ยนทิศทางการใช้ชีวิต ซึ่งมีนัยยะถึงขั้นการเปลี่ยนจิตสำนึกครั้งใหญ่ มีนัยยะถึงขั้นเปลี่ยนแบบแผนอารยธรรม
พูดกันสั้นๆ ง่ายๆ คือเราต้องรีบถอนอุปาทานของลัทธิบริโภคนิยมให้ทันเวลา
แน่ละ ในปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ลัทธิบริโภคนิยมไม่ได้จำกัดตัวอยู่ในประเทศที่มั่งคั่งเท่านั้น หากยังลุกลามราวกับไฟบรรลัยกัลป์อยู่ในประเทศโลกที่สามอย่างประเทศไทยด้วย มันคือกระบวนการที่จะดึงเงินออกจากมือของประชากรส่วนน้อยที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ซึ่งประกอบด้วยคนแค่หยิบมือเดียวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สภาพดังกล่าวเริ่มต้นในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ จากนั้นภายในเวลาไม่นาน ค่านิยมเรื่องการใช้ชีวิตอย่างสมถะสำรวม หรือกินอยู่อย่างประหยัดมัธยัสถ์ นุ่งเจียมห่มเจียม ก็ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง และบริโภคนิยมได้กลายเป็นวิถีชีวิตหลักของผู้คนที่มีอำนาจซื้อในประเทศนี้
ในปัจจุบัน เราอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมแบบ “เบื่อก็ซื้อใหม่ พอใจก็ซื้ออีก” ได้กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาไปแล้ว
แต่ก็อีกนั่นแหละ คนเราจะใช้ชีวิตเช่นนั้นได้จะต้องประกอบด้วยสภาพจิตที่พร่ามัวอย่างน้อย ๓ เรื่อง คือ หนึ่ง ลืมไปว่าชีวิตเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวและต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากกว่าการเสพสุขสำราญไปวันๆ สอง ลืมไปว่ายังมีเพื่อนมนุษย์อีกเป็นจำนวนมากที่ลำบากยากแค้นและต้องการการแบ่งปันปัจจัยดำรงชีพ และสาม ลืมไปว่าธรรมชาติมีขีดจำกัดในการรองรับความต้องการของมนุษย์ และการเบียดเบียนธรรมชาติมากเกินไปจะส่งผลร้ายกลับมา
ตามความเข้าใจของผม ความพร่ามัวทางจิตวิญญาณเช่นนี้ล้วนแล้วแต่มีรากฐานอยู่ที่อุปาทานเรื่อง “ตัวกูของกู”…มีรากเหง้าอยู่ที่การยึดติดในอีโก้ (Ego) หรืออัตตาตัวตน
เพราะคิดว่าตัวเองมีอยู่จึงบังเกิดความปรารถนาสารพัดอย่าง เพื่อปรุงแต่งสิ่งที่เรียกว่าตัวเองนั้น เพราะคิดว่าตัวเองมีอยู่จึงยึดติดในการสะสมครอบครองสรรพสิ่ง และเพราะ
คิดว่าตัวเองไม่เพียงมีอยู่ หากยังแยกขาดจากผู้อื่นสิ่งอื่นตลอดจนโลกธรรมชาติ จึงมองสรรพชีวิตและโลกธรรมชาติเป็นเพียงสิ่งสนองความต้องการ
ใช่หรือไม่ว่าลัทธิบริโภคนิยมซึ่งเป็นเรือธงของระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ทำงานได้ผลก็เพราะอาศัยการปลูกฝังมายาคติเหล่านี้
จริงอยู่ มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่ให้ปุถุชนคนทั่วไปเลิกยึดติดเรื่องตัวตน เป็นเรื่องยากที่คนเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่สนองความต้องการของตัวเองเลย อีกทั้งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ในโลกนี้โดยไม่รบกวนธรรมชาติบ้าง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะหันเหทิศทางของอารยธรรมจากวัตถุนิยมสุดขั้ว (Extreme Materialism) ไปสู่อารยธรรมแบบจิตวิญญาณนิยม(Spiritualism) ไม่ได้ ประเด็นที่เรากำลังคุยกันไม่ใช่เลิกการบริโภคโดยสิ้นเชิง หรือเลิกอิงอาศัยธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เพราะมันเป็นไปไม่ได้ หากอยู่ที่ปัญหาการบริโภคที่ล้นเกิน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
แน่ละ การสร้างอารยธรรมใหม่ในทิศทางนี้จำเป็นต้องอาศัยการทำความเข้าใจกันใหม่เกี่ยวกับโลกและชีวิต และย้ายกระบวนการสร้างความพอใจของคน จากอาศัยเงื่อนไขภายนอกมาสู่ความสงบข้างใน เปลี่ยนการแข่งขันมาเป็นร่วมมือ เปลี่ยนการครอบครองมาเป็นแบ่งปัน และที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนวิถีชีวิตที่แยกตัวออกจากธรรมชาติมาเป็นอยู่ร่วมและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
อันที่จริง ชีวิตมนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมาตลอด ดังจะเห็นจากปรากฏการณ์เกิดแก่เจ็บตาย ที่เราแชร์กับชีวิตอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ปรากฏรูปในฐานะมนุษย์
ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการธรรมชาติยังสร้างพวกเราขึ้นมาด้วยมวลธาตุเดียวกันกับสรรพชีวิตในโลกนี้ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ มันเป็นมวลธาตุที่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ไว้แล้วว่าล้วนมาจากการก่อเกิดและดับสูญของดวงดาว มาจากการกระหน่ำชนโลกยุคแรกโดยดาวหางและอุกกาบาตจำนวนนับไม่ถ้วน
หรือพูดอย่างรวบรัดก็คือ เรามาจากปรากฏการณ์ในระดับจักรวาล
ทุกวันนี้บรรดามวลธาตุจากดาวดับซึ่งถูกนำมาสู่โลกโดยดาวหาง ฝนดาวตกหรือผีพุ่งไต้ ยังคงผสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งปวง รวมทั้งในตัวมนุษย์ด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าการดำรงอยู่ของมนุษย์ทุกคนนั้นเป็นน้ำเนื้อเดียวกันกับโลกทั้งใบ เป็นน้ำเนื้อเดียวกันกับทั่วทั้งจักรวาล ต้นไม้ สรรพสัตว์ ภูเขา สายน้ำ ท้องฟ้า อากาศ ล้วนเป็นญาติใกล้ชิดของเรา เป็นส่วนหนึ่งของเรา พอๆ กับที่เราเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา
นี่คือความจริงที่เราควรยึดกุมไว้เป็นแก่นแกนแห่งสำนึกทั้งปวง
ดังที่ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ บุตรธิดาแห่งดวงดาว
“เธอเดินทางมาแสนไกล จากเปลวไฟแห่งมหาอัคนี สู่มหาเมฆดึกดำบรรพ์ แปรผันเป็นวงจักรแห่งดารา อันคลี่คลายเป็นสมุทรพสุธาใต้ห่าฝนและแถบรุ้ง…
“เธอคือส่วนเสี้ยวของดวงดาวที่มิได้เปลี่ยนรูปโดยอุบัติเหตุ หากเป็นผลแห่งอุบัติการณ์…แท้จริงเธอคือจิตวิญญาณ อันเอกภพแสดงตน”
สำหรับผม นี่เป็นจุดบรรจบที่สำคัญมากระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ นอกเหนือไปจากการค้นพบควอนตัมฟิสิกส์ในศตวรรษที่ผ่านมา มันทำให้เราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าที่ศาสดาทั้งปวงสอนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เรื่องสมมุติเลื่อนลอย และในทางตรงกันข้าม การที่มนุษย์ยุคใหม่แต่ละคนยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั้น กลับเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไร้สาระอย่างยิ่ง
ในหลักธรรมของพุทธศาสนา แนวคิดเรื่องสุญญตา (หรือความว่าง) ยืนยันว่าสรรพสิ่งและสรรพชีวิตล้วนอิงอาศัยกันเกิดขึ้น มีอยู่ กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นกันและกัน
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสิ่งใดมีแก่นสารในตัวเอง ไม่มีสิ่งใดมีแก่นสารแยกต่างหากจากสิ่งอื่น ไม่มีสิ่งใดชีวิตใดที่มีอัตตาตัวตนอย่างแท้จริง ทั้งหมดเป็นอนัตตา
ในศาสนาแบบเทวนิยม การเป็นส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมด คือเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า ซึ่งก็ไม่ต่างอันใดกับการเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เช่นเดียวกับพุทธธรรม คำสอนดังกล่าวมีนัยยะกำราบอีโก้ (Ego) ซึ่งจะนำไปสู่ความสมถะสำรวมเรื่องความต้องการ และย้ายความพอใจในชีวิตไปสู่การมอบตัว (Surrender) ต่อฟ้าดิน
คำสอนทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่เป็นเรื่องจำเป็น ถ้าเราอยากหันเหทิศทางของอารยธรรมออกจากการเบียดเบียนธรรมชาติ มาเป็นอยู่ร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการขัดเกลา ลดละตัวตน กระทั่งสลายตัวตนถ้าทำได้ เพราะอัตตาตัวตนคือต้นตอบ่อเกิดของการปรุงแต่ง ซึ่งนำไปสู่การบริโภคที่ล้นเกิน
ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมร้ายแรงที่โลกเผชิญอยู่ ผมยังมองไม่เห็นทางออกอื่นใด นอกจากการมุ่งไปในทิศทางนี้
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว ขบวนอนุรักษ์ธรรมชาติและงานอนุรักษ์ธรรมชาติจะต้องเป็นความเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณด้วย เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวอื่นๆ ในอ้อมกอดของสุญญตา งานอนุรักษ์ธรรมชาติไม่อาจเกิดขึ้นแบบแยกส่วนได้
มันจะมีประโยชน์อะไรที่เราจะออกจากเมืองไปปลูกต้นไม้คนละสองสามต้น แล้วกลับมาเอารัดเอาเปรียบกันผ่านกลไกตลาด กลับมาเผาผลาญพลังงาน เพิ่มภาวะโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม
อารยธรรมที่มีความสงบทางจิตวิญญาณเป็นแกนกลาง ย่อมอาศัยเงื่อนไขทางวัตถุน้อยลง ข้อนี้จะทำให้เป็นไปได้มากขึ้นที่จะเลิกมองผืนป่าเป็นเพียงมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นไปได้มากขึ้นที่จะเลิกนำที่ดินมาเป็นสินค้าเสรี เลิกมองทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งปวงว่ามีแค่ประโยชน์ใช้สอยแล้วกลับมาเห็นทั้งจักรวาลเป็นบ้านเกิด และสรรพชีวิตเป็นมิตรสหาย
พูดให้ชัดขึ้นก็คือ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะหดแคบตัวเองลงไป เพื่อจะได้พื้นที่ชีวิตอันใหญ่กว้างมากกว่าเดิม เหมือนดังที่คำสอนของเต๋ากล่าวไว้ว่า “นกน้อยอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ แต่ใช้ไม้กิ่งเดียวสร้างรวงรัง”
แน่ละ สำหรับพวกเราที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา การออกจากมายาโดยสิ้นเชิงคงไม่ใช่เรื่องง่าย และหนทางที่มนุษย์จะก้าวไปสู่อารยธรรมแบบจิตวิญญาณก็อาจยังอีกยาวไกล
แต่เราก็จำเป็นต้องปักธงผืนนี้ไว้ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อจะได้มีทิศทางให้ก้าวเดิน แม้เฉพาะหน้าเราอาจจำเป็นต้องอยู่กับมายาบ้าง แต่ก็ควรรู้ว่ามันเป็นมายา
อันที่จริง เมื่อมองจากมุมนี้ ชีวิตและความตายของ สืบ นาคะเสถียร ย่อมไม่ใช่บทเรียนเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติในความหมายแคบๆ หากเป็นแบบอย่างของวิถีชีวิตทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Life) ที่ชัดเจนมากทีเดียว
ใช่หรือไม่ว่าในยามอยู่ คุณสืบเองก็ใช้ชีวิตอย่างสมถะสำรวม มิได้มุ่งไปที่การสะสมทรัพย์สินอันใด ท่านนับญาติกับทั้งสัตว์ป่าและต้นไม้ อุทิศตนดูแล กระทั่งใช้ความตายของตนเป็นแถลงการณ์ร้องทุกข์แทนพี่น้องเหล่านั้น
ด้วยการผนึกตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติดังกล่าว ทุกวันนี้ สืบ นาคะเสถียร จึงยังมีชีวิตอยู่
๒๐ ปีผ่านไปแล้ว แต่เรายังคงสัมผัสพลังของท่านได้จากมิติทางด้านจิตวิญญาณ…
ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง