จุดเทียนรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร ในคืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ณ ที่ทำการเขตฯ ห้วยขาแข้ง บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ของเขา — อนุสรณ์ที่สะท้อนถึงตัวตนของ สืบ นาคะเสถียร ในความเป็นคนช่างเรียนรู้ คนที่ได้เจอตัวจริงของเขาจะคุ้นตากับภาพหัวหน้าสืบที่ต้องมีกล้อง สมุด ปากกา ติดตัวเสมอยามเดินเข้าสู่ป่า (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
ภาพ สืบ นาคะเสถียร โถมตัวปั๊มหัวใจกวางตัวเขื่องที่นอนแน่นิ่งอยู่ในท้องเรือ กระทบใจนริศอย่างแรงและเขายังได้ใช้วีดิทัศน์ชุดนี้ปลุกใจตัวเองเสมอในยามท้อแท้จากการงาน นริศเป็นหัวหน้าภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรีด้านตะวันออกของลำน้ำแควใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ป่าตะวันตก” ที่หัวหน้าสืบขีดวงไว้ในแผนที่ ในช่วงที่เขาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าซึ่งเขาเห็นว่าเป็นหัวใจของผืนป่าในเมืองไทย
เขาพูดไว้แต่ครั้งนั้นว่า “การที่จะรักษาป่าทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้งให้ยั่งยืนได้จริง ต้องคิดทั้งระบบนิเวศผืนป่าตะวันตก”ถึงวันนี้ ๒๐ ปีเต็มนับแต่วันที่เขาจากไป งานรักษาผืนป่า
ตะวันตกเกิดความตื่นตัวคืบหน้าไปเป็นลำดับ ป่าได้รับการปกปักรักษา สัตว์ป่าได้มีที่อาศัย ที่สำคัญ คนในป่า–ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าก็ได้รับการดูแลด้วย โดยความเห็นชอบของส่วนราชการด้านป่าไม้ จากการประสานของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ซึ่งอาจถือเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่จะนับว่าเป็นต้นแบบของเมืองไทยก็คงว่าได้ ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้-ชาวบ้าน-เอ็นจีโอ สามารถสร้างความร่วมมือกันได้แทนการทะเลาะเบาะแว้งเผชิญหน้ากัน
จึงป่าตะวันตกในวันนี้ มีคน-ต้นไม้-สัตว์ป่า อยู่ร่วมกันได้ และโดยเฉพาะผู้คนในถิ่นเหล่านั้นนอกจากไม่ต้องเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้แล้ว ยังได้เข้ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าด้วย ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร องค์กรเอกชนที่ถูกก่อตั้งขึ้นหลัง สืบ นาคะเสถียร เสียสละชีวิต ๑๘ วัน เพื่อเป็นกำลังในการสืบเจตนารมณ์ของชายผู้ปกป้องผืนป่าด้วยชีวิตของตัวเอง
“หลังคุณสืบเสียชีวิต ๑๘ วัน เพื่อนพ้องน้องพี่ก็มาประชุมกันว่าการจะให้เกิดความยั่งยืนต้องตั้งเป็นมูลนิธิ” รตยา จันทรเทียร ยังจำเหตุการณ์ช่วงนั้นได้ดี แม้ผ่านมา ๒๐ ปีเต็มแล้ว ตอนนั้นเธอรับราชการอยู่เป็นปีสุดท้ายก่อนเกษียณจากตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ซึ่งครั้งหนึ่งสืบในวัยเพิ่งจบปริญญาตรีใหม่ๆ ก็เคยมาทำงานอยู่ในองค์กรนี้ แต่รตยาบอกว่ายังไม่ได้รู้จักกันเป็นส่วนตัวในช่วงนั้น
ที่ประชุมก่อตั้งมูลนิธิฯ มีฉันทานุมัติให้เธอเป็นประธานคนแรก และยังคงเป็นอยู่จนปัจจุบัน
“คนนำผลการประชุมมาบอกว่า ที่ประชุมแต่งตั้งให้อาจารย์รตยาเป็นประธาน ต้องเป็นนะ ดิฉันก็บอกว่า คุณสืบเขาเสียสละทั้งชีวิตเพื่อรักษาผืนป่าและสัตว์ป่า แล้วรตยาเป็นใครถึงจะไม่รับ แค่นี้ หรือมากกว่าก็ทำได้ ก็รับเป็นประธานมูลนิธิฯ มาตั้งแต่นั้น”
๒๐ ปีก่อน สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพื่อประกาศกับโลกว่าผืนป่าแห่งนี้กำลังถูกคุกคามและต้องการการดูแลอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่
เสียงปืนนัดเดียวนั้นกึกก้องขึ้นก่อนรุ่งสางของวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ และคืนสู่ความเงียบที่กลางป่าห้วยขาแข้ง แต่มันได้ส่งผลสะท้อนสะเทือนออกมาถึงในเมือง ถึงนานาประเทศ
ผู้คนทั่วประเทศเสียดายอาลัยต่อการจากไปของเขา และจากนั้นชื่อนามของเขาได้รับการสดุดีและกล่าวขานถึงในฐานะวีรบุรุษที่เป็นสัญลักษณ์ของการพิทักษ์ป่า แม้ล่วงผ่านกาลเวลามาร่วมสองศตวรรษ ชื่อของเขายังจำหลักมั่นอยู่ในใจคน และน่าเชื่อได้ว่าชื่อของลูกผู้ชายคนนี้จะอยู่ในความรับรู้ของผู้คนไปยาวนานกว่าชั่วชีวิตของคนเรา
เขาฆ่าตัวตาย แต่ตัวเขาไม่ตายไปจากใจคน ประธานมูลนิธิสืบฯ ในปัจจุบัน ที่ออกตัวว่าความจริงเธอไม่ได้สนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับคุณสืบเลย แต่มีแนวคิดเดียวกัน และที่ทำงานอยู่ในทุกวันนี้ก็ด้วยศรัทธาในสิ่งเดียวกัน พูดถึงนามที่ยังคงยืนยงอยู่หลังความตายของชายชื่อ สืบ นาคะเสถียร ว่า คงไม่ใช่เพราะวิธีที่เขาฆ่าตัวตาย แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณค่าและความเป็นคนจริงในตัวเขา
เสือโคร่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ในฐานะนักล่าอันดับ ๑ ปัจจุบันในผืนป่าตะวันตกมีประชากรเสือโคร่งประมาณ ๒๐๐ ตัว มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภาพนักวิจัยกำลังเก็บข้อมูลเสือโคร่งตัวหนึ่ง ที่ถูกวางยาสลบในป่าห้วยขาแข้ง |
สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ อาทิ วัวแดง ควายป่า สมเสร็จ สามารถพบเห็นได้มาก และบ่อยขึ้นในผืนป่าห้วยขาแข้ง ภาพ : WCS (Wildlife Conservation Society) |
สืบ นาคะเสถียร เป็นคนจริง ทั้งในคำเล่าของคนที่ได้ทำงานร่วมยุคกับเขา และจากหลักฐานที่มีให้เห็น อย่างในวีดิทัศน์ประวัติศาสตร์ที่เป็นที่สุดความประทับใจของนริศนั้นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง นั่นเป็นเหตุการณ์ในคราวอพยพช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่กำลังจะจมน้ำจากการปิดเขื่อนเชี่ยวหลาน
ช่วงนั้นสืบทำงานวันละ ๑๖ ชั่วโมง แข่งกับระดับน้ำที่ท่วมสูงขึ้นทุกวันกับงบประมาณอันจำกัด ยามออกสู่การงานในภาคสนาม เขาจะนำหน้าลูกน้องเสมอ
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ได้ร่วมติดตามไปดูการทำงานของเขาในช่วงปี ๒๕๒๙ ด้วยในฐานะสื่อมวลชน เล่าเหตุการณ์หนึ่งว่า ระหว่างเข้าช่วยชะนีตัวหนึ่ง งูจงอางตัวยาวราว ๓ เมตรก็พุ่งจากโพรงไม้ลงไปในน้ำ หัวหน้าสืบสั่งให้แล่นเรือตามไปจับตัวมัน เพราะปล่อยไปมันก็ไม่มีทางว่ายไปถึงฝั่งที่อยู่ห่างไกลได้ ต้องหมดแรงจมน้ำตายในที่สุด
แล้วจงอางก็ถูกสวิงช้อนขึ้นมาอยู่บนเรือ
“คราวนี้ทุกคนมองหน้ากันเลิ่กลั่ก ใครจะเสี่ยงตายเป็นคนจับงูยัดใส่กระสอบ…ยังไม่ทันไรสืบก็ใช้มือกดหัวจงอาง เจ้าจงอางใช้เขี้ยวพิษกัดสวิงอย่างแรงพร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษสีเหลืองใสๆ ไหลเยิ้มออกมาจนหมด จากนั้นพวกเราช่วยกันจับงูออกจากสวิงยัดใส่กระสอบ”
ความจริงเขาจะสั่งให้คนอื่นทำงานที่เสี่ยงนั้นแทนก็ได้ เพราะเขาอยู่ในฐานะหัวหน้าโครงการ แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำอย่างนั้น กับงานที่ต้องเสี่ยงอันตรายเขาจะเป็นคนแรกที่ลงมือ เขาไม่นั่งดูคนอื่นทำงาน แต่จะนำไปก่อนเสมอ เมื่อเจอสัตว์ป่าว่ายอยู่ในน้ำ เขาจะโดดน้ำลงไปเอง
เขาบอกว่าถ้าผู้นำทำงานหนัก ทำงานที่ลำบาก ทุกคนจะมีกำลังใจทำงานมากขึ้น หัวหน้าเสียสละได้ ทุกคนก็จะเสียสละได้
นั่นเป็นความคิดจิตใจของหัวหน้าสืบ ขณะอยู่ในช่วงหนุ่มใหญ่วัย ๓๗ ปี เมื่อปี ๒๕๒๙ ที่เขาทำหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าฯ
แต่ย้อนกลับไป ๒๐-๓๐ ปีก่อนหน้านั้น ครั้งเขายังเป็นเด็กอยู่ที่ปราจีนบุรี เด็กชายสืบยศ (ชื่อเดิม) ก็เคยเป็นนักยิงนกตกปลาตัวยง เมื่อโตขึ้นมาหน่อยเขาทำปืนเถื่อนขึ้นใช้เอง และเป็นที่รับรู้กันในละแวกนั้นว่าเขายิงปืนแม่นมาก จนพ่อที่ในขณะนั้นเป็นนายอำเภอ (ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี) ขู่ว่าถ้าไม่เลิกเล่นปืนจะจับตัวส่งโรงพัก เขากับน้องชายจึงเอาปืนไปทิ้งคลอง…
มีวาทะหนึ่งของเขาที่พูดกับเพื่อนในเวลาต่อมาว่า “เราทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาก่อน”
หลังจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา สืบสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร-ศาสตร์ จบแล้วยังไม่มีตำแหน่งว่าง เขาจึงไปทำงานปลูกต้นไม้อยู่กับส่วนสาธารณะ การเคหะแห่งชาติ ก่อนจะออกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวนวัฒนวิทยาที่คณะวนศาสตร์ และสอบเข้ากรมป่าไม้ได้อันดับที่ ๓ แต่เขากลับเลือกไปอยู่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า แทนที่จะเลือกเป็นป่าไม้อย่างที่นิยมกันมากที่สุด โดยเขาได้ไปประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ในปี ๒๕๑๘
หลังจากนั้นเขาสอบได้ทุนไปเรียนต่อด้านอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ อยู่ปีหนึ่ง แล้วกลับมาเป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ไม่นานก็ย้ายตัวเองมาทำงานวิชาการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำงานวิจัยศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ ชลบุรี ศึกษาวิจัยชีวิตกวางผาที่ดอยม่อนจอง จนสูญเสียลูกน้องที่รักไปคนหนึ่ง จากการตกเขาเนื่องจากอุบัติเหตุไฟป่า รวมทั้งการวิจัยสัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้ง ที่ทำให้เขามาได้ยินเสียงปืนในผืนป่าที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ปี ๒๕๒๙ สืบไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลจากการสร้างเขื่อนกลางป่าดิบทำให้ป่าแสนกว่าไร่กลายเป็นทะเลสาบ เกิดเกาะแก่งใหญ่น้อย ๑๖๒ เกาะ สัตว์ป่ากว่า ๓๐๐ ชนิดติดค้างอยู่ตามเกาะและพุ่มไม้ รอวันอดตายหรือไม่ก็จมน้ำ
งานของสืบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในเมืองไทยด้วย เขาต้องศึกษาวิธีการจากต่างประเทศ ผ่านหนังสือและวิดีโอรายการซิงเกอร์ เวิลด์ ซึ่งมีสารคดีช่วยชีวิตสัตว์จากการสร้างเขื่อนในประเทศเวเนซุเอลา และเมื่อเขาทำรายงานเรื่อง “การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน” ออกมาก็ถือเป็นครั้งแรกของการศึกษาผลกระทบด้านสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนในประเทศไทย
และรายงานเรื่องนี้ยังเป็นข้อมูลทางวิชาการชิ้นสำคัญที่ทำให้เขื่อนอีกแห่งที่กำลังจะสร้างกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ถูกระงับไป
สืบสรุปประสบการณ์จากการทำงานครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “การสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
โครงการอพยพฯ ของเขาช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้ ๑,๓๖๔ ตัว ซึ่งเขาเห็นว่าไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ป่าที่จมน้ำตาย
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปิดแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำแม่กลองตอนบน ซึ่งจะทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจมน้ำ ๑.๔ แสนไร่ และรัฐบาลมีแนวโน้มจะอนุมัติโครงการในช่วงปี ๒๕๓๐ สืบเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้าน ทั้งที่เขาก็อยู่ในฐานะข้าราชการกรมป่าไม้ และรายงานการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานที่เขาทำไว้ ก็มีผลอย่างมากที่ทำให้โครงการถูกพิจารณาระงับไป
นับแต่นั้นมาสืบก็ได้พัฒนาตัวเองจากบทบาทนักวิจัยมาสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวไปด้วย เขาใช้พื้นฐานความรู้ทางวิชาการออกไปพูดทำความเข้าใจเรื่องป่าไม้และสัตว์ป่าตามเวทีสาธารณะต่างๆ
ทุกครั้ง เขาจะเริ่มด้วยประโยคที่ออกมาจากใจว่า “ผมพูดในนามของสัตว์ป่า…”
ปลายปี ๒๕๓๒ สืบอยู่ในช่วงของการตัดสินใจระหว่างรับทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ กับไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จนในเดือนธันวาคม
ปีนั้น เขาก็ตกลงใจเลือกอย่างหลัง
เขาบอกกับคนรอบข้างว่า “ผมสามารถให้ทุกสิ่งกับห้วยขาแข้งได้”
ซึ่งช่วงนั้น ห้วยขาแข้งกำลังถูกคุกคามอย่างหนักทั้งการลักลอบล่าสัตว์และตัดไม้ สืบเองยังออกปากว่า พูดได้เลยว่ามีการฆ่าสัตว์ป่ากันอยู่ทุกวัน
เขาพยายามนำเรื่องนี้เสนอต่อผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง กรมป่าไม้เองก็ไม่ได้สนับสนุนสิ่งใด เขาเริ่มมองเห็นว่าหนทางเดียวที่จะทำให้ป่าห้วยขาแข้งได้รับการคุ้มครอง คือต้องผลักดันให้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ งานหนักของเขาจึงอยู่ที่การเร่งทำข้อมูลเสนอองค์การยูเนสโก
เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเวลานั้นไปตรวจพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี สืบถูกกลั่นแกล้งจากบริษัททำไม้แห่งหนึ่ง ด้วยการแจ้งกับรัฐมนตรีคนนั้นว่ามีการลักลอบตัดไม้ในป่าห้วยขาแข้ง ต่อมาสืบถูกเรียกตัวไปชี้แจงที่กรุงเทพฯ เรื่องนี้เองที่อาจเป็นต้นเค้าของข่าวลือกระแสหนึ่งภายหลังเขาเสียชีวิตว่า หัวหน้าสืบก็มีส่วนเกี่ยวพันกับการตัดไม้
ต่อข้อร้องเรียน สืบเตรียมข้อมูลอย่างดีเพื่อชี้แจงว่านั่นเป็นการทำไม้นอกเขตรักษาพันธุ์ฯ และชาวบ้านแอบตัดโดยมีผู้ใหญ่ในอำเภอลานสัก อุทัยธานี หนุนหลัง ทั้งยังพยายามบอกถึงปัญหาอันหนักอึ้งที่เขาและลูกน้องต้องประสบ
แต่กลับได้รับคำตอบจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพียงสั้นๆ ว่า “คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมอีก”
เหตุการณ์นี้ทำให้เขายิ่งเชื่อว่าความพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายของเขาไม่ได้รับการตอบสนองเลย เขาสิ้นหวังกับระบบราชการ และรู้สึกว่าไม่อาจทำอะไรได้มากกว่านี้แล้ว
คนใกล้ชิดเริ่มสังเกตเห็นว่าหลังเหตุการณ์นั้นเขาเครียดและกดดันมากขึ้น สัปดาห์สุดท้ายในชีวิตเขา เจ้าหน้าที่นำตัวพรานล่าสัตว์ที่ถูกจับได้พร้อมซากสัตว์และอาวุธมาที่สำนักงานเขตฯ สืบลงมาดูด้วยความเครียดสุดขีด เพราะก่อนหน้านั้นลูกน้องคนหนึ่งที่ออกลาดตระเวนตามคำสั่งเขาถูกลอบยิง เขาตะโกนต่อหน้าพรานที่ถูกจับกุมว่า “ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูดีกว่า”
๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ สืบไปทำงานในสำนักงานตามปรกติ กระทั่งบ่ายจึงเริ่มเอาของที่เคยหยิบยืมใครมากลับคืนเจ้าของ ตกเย็นเขาชวนลูกน้องที่สนิทให้เอาเหล้าออกมากินกัน
ซึ่งคนหนึ่งในนั้นได้เล่าในภายหลังว่า
“กินไปคุยไปจนประมาณสองทุ่ม แกบอกให้พี่ยงยุทธวิทยุไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าจะไม่ไปแล้ว จะส่งวิดีโอไปให้แทน”
ลูกน้องชื่อ หม่อง หรือ จิตประพันธ์ กฤตาคม ซึ่งได้คุยกับหัวหน้าสืบเป็นคนสุดท้าย เล่าถึงนาทีท้ายๆ ที่เขาได้อยู่กับหัวหน้าที่กำลังจะจากเขาไปตลอดกาล
“จนประมาณห้าทุ่ม ผมก็ขอแยกตัวไปเข้าเวร สักประมาณครึ่งชั่วโมงพี่สืบก็เดินตามออกมาขอบุหรี่สูบ และนั่งคุยกับยามถามทุกข์สุข ซึ่งก็แปลกเพราะยามคนนี้ทำงานมานานแล้ว แต่แกถามเหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน คุยได้ไม่นานแกก็บอกว่า เดี๋ยวพี่กลับไปบ้าน ผมอาสาจะไปส่ง แกบอกไม่ต้อง แล้วหันมายิ้มเหมือนกับคนที่มีความสุขที่สุด พร้อมกับยกมือขึ้นแล้วบอกว่า หม่อง พี่ไปแล้วนะ”
ราวตีสี่ของวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ ยามที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ยินเสียงปืนนัดหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดอะไร ช่วงนั้นเสียงปืนในป่าห้วยขาแข้งมีให้ได้ยินเป็นธรรมดา
จนล่วงสิบโมงเช้า เจ้าหน้าที่เริ่มแปลกใจที่หัวหน้าสืบยังไม่ลงมากินข้าว หม่องจึงอาสาเดินไปตาม ก็พบร่างที่ไร้ลมหายใจของหัวหน้าสืบนอนอยู่บนเตียง กับกระดาษแผ่นหนึ่งที่เขาเซ็นลงชื่อไว้ใต้ข้อความที่เขียนเองว่า
“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
ความตายของ สืบ นาคะเสถียร เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ คนไทยทั่วไปที่อยู่ในวัย ๒๐ กว่าขึ้นไปในตอนนี้คงจำข่าวสารและกระแสความตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ในช่วงนั้นได้
ตอนนั้น ตะวันฉาย หงษ์วิลัย เด็กหนุ่มบ้านนอกจากหมู่บ้านชายป่าแม่วงก์ นครสวรรค์ ทำงานเป็นพนักงานขายของในร้านสะดวกซื้ออยู่กรุงเทพฯ และโดยพื้นเพเขาสนใจเพลงเพื่อชีวิตและประวัติชีวิตของคนที่ต่อสู้เพื่ออุดมคติ เขาชื่นชอบเพลงคาราวานและอ่านหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์
“ตอนที่ได้ยินข่าวคุณสืบยิงตัวตาย ทำให้ผมนึกไปถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ในความแน่วแน่ต่อสิ่งที่ตนตั้งใจมั่น มันไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์คนหนึ่งจะยอมเสียสละตัวเองเพื่อธรรมชาติ ในสังคมเราจะมีสักกี่คนที่มีจิตใจแบบนี้ ก็ทำให้เราตั้งใจมั่นว่าอยากจะทำงานแบบนี้บ้าง โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้แค่ไหน แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอด”
แต่ชีวิตยังซัดเซเขาไปอีกไกล จนเหน็ดเหนื่อยกับงานลูกจ้างในเมืองกรุงจึงหันกลับบ้านเกิด มาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำกิจกรรมเยาวชนเรื่องสิ่งแวดล้อม จนได้รู้จักกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ความตั้งใจแต่เดิมที่จะได้ทำอะไรตามแนวทางของสืบก็หวนกลับมาอีกครั้ง
“ในที่สุด ภาณุเดช เกิดมะลิ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามฯ ของมูลนิธิสืบฯ ก็ชวนว่า ไปทำงานกับผมไหม ?” ตะวันฉายย้อนตอนเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับมูลนิธิสืบฯ
หลังจากนั้นเขาลงไปอยู่กับชุมชนปกากะญอในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย ๒ ปี ทำให้ได้เห็นวิธีคิดและวิถีของชนเผ่า กระทั่งเปลี่ยนวิธีคิดและสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเรื่องคนกับป่าในตัวเขาเองด้วย จากนั้นตะวันฉายก็กลับมาทำเรื่องป่าชุมชนในแถบบ้านเกิดที่นครสวรรค์ จนกลายเป็นจุดตั้งต้นของการขยายเครือข่ายออกไปใน ๖ จังหวัดทั่วผืนป่าตะวันตก
สภาพความสมบูรณ์ของป่าบริเวณลำห้วยขาแข้ง ใจกลางของผืนป่าตะวันตก
(ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช)
ในผืนป่าตะวันตกมีประชากรช้างป่ามากกว่า ๕๐๐ ตัว เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ
(ภาพ : WCS (Wildlife Conservation Society))
๔
“ป่าตะวันตก คำนี้บัญญัติโดยคุณสืบ” รตยา จันทรเทียร ยืนยันด้วยหลักฐาน “เขาขีดเส้นวงลงบนแผนที่ และเขียนไว้ด้วยว่า จะรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ป่าห้วยขาแข้งไว้ได้ ต้องรักษาป่าตะวันตกไว้ทั้งผืน เข้าใจว่าทำในช่วงรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการมรดกโลก คุณสืบเสียสละชีวิตวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ ทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้งได้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในเดือนธันวาคม ๒๕๓๔ ซึ่งคุณสืบได้เสนอเรื่องไว้ก่อนแล้ว”
ทุกวันนี้แผนที่ผืนป่าตะวันตกที่ สืบ นาคะเสถียร ขีดวงไว้ด้วยลายมือ ใส่กรอบแขวนอยู่บนผนังห้องทำงานของเธอที่สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มุมแยกกษัตริย์ศึก กรุงเทพฯ
แนวเขตในแผนที่นั้นกินคลุมพื้นที่ของ ๖ จังหวัดทางตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร จนถึงตอนล่างของจังหวัดตาก
ตอนกลางของแผนที่จะเห็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นเหมือนไข่แดงที่ถูกล้อมด้วยอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติพุเตย โดยมีอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ขนาบอยู่ด้านเหนือ ส่วนด้านตะวันตกจดพรมแดนประเทศพม่า
รวมเนื้อที่ ๑๑,๗๐๖,๕๘๖ ไร่ หรือ ๑๘,๗๓๑ ตารางกิโลเมตรจากเขตป่าอนุรักษ์ ๑๗ แห่งที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ยกเว้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงที่แยกขาดออกไปทางด้านเหนือ แต่ตอนนี้ประธานมูลนิธิสืบฯ บอกว่าผืนป่าได้เชื่อมต่อถึงกันด้วยป่าชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันทำและดูแลอยู่
เป็นผืนป่าอนุรักษ์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหล่อเลี้ยงคนภาคกลางและภาคตะวันตก เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา สาละวิน แม่กลอง ท่าจีน เป็นที่มาของธาตุอาหารตามธรรมชาติสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมในแถบลุ่มน้ำตอนล่าง รวมทั้งเป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ ที่มีการสำรวจพบพันธุ์พืชมากกว่า ๔,๐๐๐ ชนิด และสัตว์มีกระดูกสันหลังมากกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งที่พบในประเทศไทย
ผืนป่าแห่งนี้เป็นที่รวมความหลากหลายของสัตว์ป่าที่กระจายพันธุ์มาจากหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์
มีการอ้างอิงตัวอย่างสัตว์ป่าที่เป็นตัวแทนจากเขตสัตว-ภูมิศาสตร์ต่างๆ ที่พบในผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex) อาทิ
นกเงือกคอแดง ที่กระจายพันธุ์มาตั้งแต่ป่าดิบเชิงเทือกเขาหิมาลัย
กระทิง กระจายพันธุ์มาจากอินเดีย
สมเสร็จ กระจายพันธุ์มาตั้งแต่คาบสมุทรมลายู
ทั้งโดยขนาดและที่ตั้งอันเป็นจุดบรรจบของเขตสัตว-ภูมิศาสตร์ต่างๆ นั้น ทำให้ป่าตะวันตกเต็มไปด้วยสถิติตัวเลขที่แสดงถึงความหลากหลายและปริมาณของสัตว์ป่าอันน่าตื่นตา ในหลายบรรทัดข้างล่าง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า ๑๕๐ ชนิด
นกมากกว่า ๔๙๐ ชนิด
สัตว์เลื้อยคลานมากกว่า ๙๐ ชนิด
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากกว่า ๔๐ ชนิด
ปลามากกว่า ๑๐๘ ชนิด
โดยมีศูนย์กลางอยู่แถบตอนกลางของผืนป่าตะวันตกอันได้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” แห่งแรกของประเทศไทย โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก หน่วยงานภายใต้สังกัดของสหประชาชาติที่มีหน้าที่หลักในการให้ความรู้ เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ ของโลก
ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับการยอมรับในความสำคัญระดับโลก ด้วยสภาพพื้นที่อันเป็นตัวแทนของระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และสภาพป่า มีทั้งเนินเขา เทือกเขา ทุ่งหญ้า ที่เหมาะต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต ส่งผลให้ผืนป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และถือเป็นตัวแทนของผืนป่าใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังดำรงสภาพทางชีววิทยาของความเป็นป่าไว้ได้อย่างสมบูรณ์
ข้อมูลจากการสำรวจทางวิชาการระบุว่า ในจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดที่พบในผืนป่าอุษาคเนย์ มีอยู่ในป่าแห่งนี้ถึงร้อยละ ๓๓ ป่าทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้งจึงถือเป็นแหล่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และจากสัดส่วนดังกล่าว มีอยู่ถึง ๒๘ ชนิดที่อยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าหายากยิ่งของโลก ซึ่งอยู่ในภาวะถูกคุกคาม ยกตัวอย่างบางชนิดได้แก่ เสือโคร่ง ควายป่า วัวแดง สมเสร็จ นกยูง นกเงือกคอแดง
ในผืนป่าที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกแห่งนี้ สัตว์ขนาดใหญ่หลายชนิดยังมีประชากรอยู่ในระดับที่ถือว่ามั่นคง
ช้างป่ามากกว่า ๕๐๐ ตัว
เสือโคร่งมากกว่า ๑๐ ตัว
ควายป่า (ที่พบเป็นฝูงสุดท้ายของประเทศ) ๔๐ ตัว
นกเงือก พบถึง ๖ ชนิด จากที่มีอยู่ในประเทศไทย ๑๓ ชนิด (ทั่วโลกมี ๕๔ ชนิด ในป่าเขตร้อนของเอเชียและแอฟริกา) ได้แก่ นกแก๊ก นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกคอแดง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ซึ่งมีประชากรชนิดละมากกว่า ๕๐ ตัว และนกกกกับนกเงือกกรามช้าง มีประชากรชนิดละมากกว่า ๑๐๐ ตัว
นกยูง ประเมินว่ามีอยู่ราว ๔๐๐ ตัว ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ตัวเลขในหลายบรรทัดข้างต้น เป็นสถิติจากการประเมินตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ แต่ผ่านมาถึงปี ๒๕๕๓ นี้ ที่ผืนป่าได้รับการดูแลและมีการจัดการในแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้อง ก็เป็นที่แน่ชัดว่าจำนวนจริงของสัตว์ในผืนป่าย่อมต้องสูงกว่าตัวเลขที่แสดงอยู่บนบัญชรนี้
ถ้อยคำที่ สืบ นาคะเสถียร เคยปรารภไว้เมื่อ ๒๐ ปีก่อนว่า การจะรักษาป่าทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้งให้ยั่งยืนได้จริง ต้องคิดทั้งระบบนิเวศผืนป่าตะวันตก ได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในวันนี้
รตยา จันทรเทียร เล่าถึงการทำงานเพื่อรักษาป่าตะวันตกทั้งผืนว่า เริ่มจากการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มีโอกาสเข้าถวายรายงานต่อเจ้าชายนักอนุรักษ์จากประเทศเดนมาร์ก ที่เสด็จมาประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๓๙ พระองค์มีพระประสงค์จะให้การสนับสนุน ปีถัดมาคณะกรรมการมูลนิธิฯ จึงนำเรื่องเข้าหารือกับกรมป่าไม้ กระทั่งนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ในป่าตะวันตกทั้ง ๖ จังหวัด และตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทำงานข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน สำรวจข้อมูลชุมชน สัตว์ป่า ลักษณะของผืนป่า และกิจกรรมในผืนป่า กระทั่งได้ผลการศึกษาออกมาชุดหนึ่ง ที่เธอบอกว่าน่าจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ผืนป่าขนาดใหญ่ได้มีข้อมูลอย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อเป็นฐานในการวางแผนการดูแลรักษา
หญิงอาวุโสประธานมูลนิธิสืบฯ เล่าถึงงานที่ดำเนินต่อจากนั้นว่า
“แนวคิดสำคัญคือต้องจัดการอย่างมีส่วนร่วม จึงจะทำให้ผืนป่า สัตว์ป่า และคนอยู่ได้ โดยมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับป่า ก็คิดกันว่าต้องมีคนกลาง เอ็นจีโอเป็นคนกลางระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ มูลนิธิสืบฯ ไม่เคยทำงานชุมชนมาก่อนเลย แต่เราเชื่อว่าเราเข้าใจประชาชน เข้าใจป่า เข้าใจสัตว์ป่า และเพื่อจะรักษาผืนป่านี้ไว้ มูลนิธิสืบฯ ยินดีรับเป็นคนกลางในการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วม จึงทำข้อตกลงร่วมกัน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗”
ในชื่อโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (Joint Management of Protected Areas) หรือ JoMPA ที่แปลงเสียงเป็นภาษาไทยว่า จอมป่า ได้อย่างเหมาะเจาะและได้ความหมาย
“ตอนเริ่มโครงการเราคิดว่าทำแค่ ๑๐ ชุมชน ใน ๔ เขตป่าอนุรักษ์ โดยในข้อตกลงเขียนไว้ว่าจะเผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังป่าอนุรักษ์อื่นๆ ด้วย คือหลังจากพูดคุยเป้าหมายเป็นที่เข้าใจกันแล้วก็เห็นด้วยตรงกันว่า ชาวบ้านแค่อยากอยู่ดีมีสุข ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้ต้องการโฉนดสิทธิ์ แล้วทำอย่างไรถึงจะให้เขาอยู่ได้ ในเมื่อเขาทำไร่หมุนเวียน ก็ทำแนวเขตกัน วางกติการ่วมกันว่าจะไม่ขยายออกไปนอกเขต ขณะเดียวกันก็จะช่วยดูแลด้วย แม้หลายคนในกรมอุทยานฯจะยังไม่ยอมรับเรื่องไร่หมุนเวียน แต่ถ้าชาวบ้านทำกินอยู่ภายในแนวเขตก็ยอมรับได้ ก็ทำกันในระดับนั้นก่อน ที่ทำไม่ใช่ว่าเราเก่งเราดี แต่มาช่วยกันว่าทำอย่างไรให้ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ด้วย”
หลังทำมา ๖ ปี จนจบโครงการระยะที่ ๑ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๒ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรสามารถเข้าทำงานในป่าได้ทั้งหมดที่มีอยู่ ๑๒๙ ชุมชน หญิงอาวุโสประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผู้ได้ฉายาว่า นางสิงห์เฝ้าป่า บอกว่าในจำนวนดังกล่าวมีอยู่ ๔ ชุมชนเท่านั้นที่ยังต้องทำงานหนักต่อไป
ภาพอดีตเมื่อปี ๒๕๓๑ สืบ นาคะเสถียร นั่งลงคุยกับผู้นำชาวกะเหรี่ยงแถบลุ่มน้ำจัน (อุ้มผาง) |
(บน) เช่นเดียวกับในทุกวันนี้ ที่การประชุมประจำเดือนของชุมชนกะเหรี่ยงในเขตฯ อุ้มผางจะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยทุกครั้ง (กลาง) บ้านกุยเคลอะ ตั้งชุมชนอยู่ช่วงกลางของลำน้ำแม่จัน ข้ามสะพานไม้ไผ่นี้ไปก็เป็นเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน ซึ่งมีทั้งไร่หมุนเวียนและป่าใช้สอย (ล่าง) จุดสกัดกุยเลอตอ “ประตูป่า” ของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่อำเภออุ้มผาง ตาก พื้นที่ทางตอนเหนือของผืนป่าตะวันตก (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
“ต้องยกเครดิตให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามของเรา ที่เขาตั้งใจทำงานแล้วทำให้เกิดปรากฏการณ์ กลายเป็นรูปแบบวิธีการจัดการผืนป่าที่คนในท้องถิ่นดั้งเดิมเข้ามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า” ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พูดถึงผลของโครงการจอมป่า แล้วย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น
“เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมาได้ถึงขั้นนี้ ทำไปเรียนรู้ไป ตอนแรกว่าจะเข้าไปแก้ปัญหาการขยายที่ทำกินในเขตป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าให้ได้ คิดแค่การหมายแนวเขต แต่มาไกลกว่าที่คิดไว้ ทำๆ ไปปรากฏว่ากลายเป็นรูปแบบในการจัดการป่าแบบใหม่ ให้คนที่อยู่ในป่ามาร่วมอนุรักษ์ด้วย ไม่ขยายพื้นที่เข้าไปในเขตป่าเพื่อไม่ต้องมีข้อขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ให้คนที่อยู่ในป่าที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ หันมาเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์”
เขาเล่าถึงสิ่งที่มูลนิธิฯ ทำว่า คือการแก้ปัญหาภายใต้แนวทางที่เป็นไปได้ และเป็นธรรมกับทั้งป่าและคน ตั้งแต่การเข้าพบรัฐมนตรี อธิบดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่เอื้อในการเข้าทำงาน และการลงไปทำประชาคม สร้างเวทีพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ สร้างระบบของชุมชน รวมทั้งการสื่อสารความสำเร็จของการจัดการป่าแบบมีส่วนร่วมออกสู่สาธารณะ
โดยกฎหมายภาคเอกชนไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปทำงานในป่า แต่มูลนิธิสืบฯ อาศัยช่องทางตามข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ที่ทำร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามโดยอธิบดี ประธานมูลนิธิสืบฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้นมูลนิธิฯ ก็สร้างเจ้าหน้าที่ทำงานในภาคสนาม
“ผมเองก็เข้ามาในโครงการจอมป่า ก่อนนั้นมูลนิธิสืบฯ ไม่เคยมีผู้บริหารแบบเต็มเวลา” ศศินเป็นเลขาธิการคนที่ ๖ แต่เป็นคนแรกที่ทำงานแบบเต็มเวลา และเป็นเหมือนหัวหน้าทีมของเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ เขตงานครอบคลุมทั่วผืนป่าตะวันตก
“วันแรกพี่ศศินพาเข้าชุมชน แล้วก็ปล่อยผมไว้ให้อยู่กับชาวบ้านเลย”
นริศ บ้านเนิน เล่าจุดเริ่มต้นของเขากับงานในฐานะเจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขาเคยมีประสบการณ์ทำงานกับเยาวชนและชุมชนป่าชายเลนที่บ้านเกิดในจังหวัดจันทบุรีมาก่อนบ้าง แล้วมาทำอยู่กับชุมชนแถบสุพรรณบุรีเมื่อปี ๒๕๔๗ กระทั่งต่อมาก็ได้ร่วมงานกับโครงการจอมป่า
“ทำงานทุกวัน อยู่กับชาวบ้านสนุกมาก ต่างคนต่างช่วยกัน มันมีกำลังใจมาก เข้าป่า เหนื่อย บางทีก็ถูกชาวบ้านหลอกมั่ง แต่ทำงานร่วมกัน เวลาแก้ปัญหาได้มันภูมิใจ ยิ่งทำก็ยิ่งมันมากขึ้นเรื่อย ไม่ใช่แค่ทำงานให้มูลนิธิฯ แต่เหมือนว่าเราเป็นคนในชุมชนไปแล้ว”
นริศเล่าภาพงานที่เขาคลุกคลีอยู่ในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา
“ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าชุมชน ไปทำความรู้จักผู้นำ ปรับทุกข์ผูกมิตร ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ก่อนชาวบ้านมีปัญหากับเจ้าหน้าที่มาก ผมก็ไปเสนอ ผมมีทางออก-เอาไหม ?”
พื้นที่ทำงานของนริศอยู่ที่ชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ในจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรีด้านตะวันออก
“อย่างที่บ้านตีนตก” เขายกตัวอย่างบางชุมชน “บ้านเดียวแต่ถูกแบ่งเป็น ๓ ส่วน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าสงวน คนในชุมชนเป็นพี่น้องกะเหรี่ยง ต้องฟันป่าทำไร่หมุนเวียน ก็เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่มายาวนาน”
“พอเจ้าหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้าน ไม่เหลือชาวบ้านสักคนแล้ว วิ่งหนีหมด” สมชาย บ้านกลางสมภพ ชาวบ้านตีนตกที่นั่งอยู่ข้างๆ พูดเสริมขึ้น
“เพราะเขามาจับอย่างเดียว ดายหญ้าในไร่ที่ยังมีตอซังอยู่ก็จับ ถางหญ้าข้างบ้านก็โดนจับ ถือว่าอยู่ในเขตอุทยานฯพอเป็นคดีชาวบ้านก็แพ้ เพราะผิดกฎหมายอยู่แล้ว ติดตะรางสถานเดียว”
“เราก็เริ่มจากการทำแนวเขตรอบพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน แกนนำชุมชนและเจ้าหน้าที่อุทยานเดินทำแผนที่ร่วมกันโดยใช้ระบบจีพีเอส แล้วเอาข้อมูลมาพูดคุยทำประชาคมแบบมีส่วนร่วม แล้วยึดเป็นข้อตกลงเบื้องต้น อย่างของบ้านตีนตกพื้นที่ในแนวเขตตกราวพันไร่ แต่เขาไม่ได้เปิดโล่งทั้งหมด มีป่า ไร่หมุนเวียน เฉพาะไร่ประจำเท่านั้นที่เปิดโล่ง” นริศเล่าทางออกของปัญหา
“ชาวบ้านเขาไม่ได้ใช้ปุ๋ย จึงปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นโต ดินฟื้นตัว จึงค่อยเวียนกลับมาทำไร่ใหม่” สมชาย คนหนุ่มสายเลือดกะเหรี่ยงเล่าถึงวิถีไร่หมุนเวียนของคนในเผ่า
กำพล สวัสดิ์บริรักษ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ซึ่งนั่งอยู่ในที่นั้นด้วยเล่าว่า “เดินสำรวจร่วมกันว่าที่ทำกินของชาวบ้านอยู่ตรงไหนบ้าง ได้รับข้อมูลมาก็เอามาทำงานร่วมกันต่อ ตอนนี้ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ไม่มีความขัดแย้งแล้ว”
“เป้าหมายต่อไปคือทำอย่างไรให้ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รู้สึกเป็นเพื่อนกันอย่างสนิทใจ” นริศพูดถึงจังหวะก้าวของการทำงานต่อ “ให้คุยกันได้ มีกิจกรรมร่วมกัน เวลามีประชุมประจำเดือนของชุมชน ก็เชิญเจ้าหน้าที่เข้าร่วมบ้าง เชิญชาวบ้านมาอบรมที่อุทยานฯ บ้าง ถึงตอนนี้พอมีปัญหาอะไรผู้นำชุมชนสามารถยกหูโทรศัพท์โทร.หาหัวหน้าอุทยานแห่งชาติได้ ในชุมชนก็ใช้ประโยชน์กันอยู่ในแนวผ่อนปรนตามที่ตกลงกัน และช่วยกันควบคุมดูแลไม่ให้ขยายออกไป”
“ลาดตระเวนก็ร่วมกับชาวบ้าน” สยาม จ้อยร่อย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ให้ภาพปัจจุบันระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่างเขากับชาวบ้านตีนตก “มีเหตุอะไร เกิดไฟไหม้ มีการบุกรุกป่า ชาวบ้านจะแจ้งมา บางทีมีเสือลงมากินวัวควายชาวบ้าน ผมก็จะไปดู”
“สองปีมานี้ไม่มีความขัดแย้งหรือการจับกุมสักคดีแล้ว” สมชายรายงานสถานการณ์ในผืนป่า ภายหลังการเข้ามาของโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ทำให้พวกเขาได้อยู่ดีมีสุขกันตามอัตภาพ
ไม่เฉพาะแต่ทางซีกตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่ จังหวัด กาญจนบุรี ที่เกิดการเชื่อมประสานรอยร้าวความบาดหมางระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน จนคลี่คลายไปในทางที่ดี ในผืนป่าทางฟากตะวันตกของแม่น้ำแควใหญ่ กิจกรรมทำนองเดียวกันนี้ก็กำลังดำเนินอยู่เช่นกัน
เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียรชื่อ อุดม กลับสว่าง ทำงานอยู่กับหลายชุมชนที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี อย่างที่บ้านปอสามต้น หรือบ้านใหม่ไร่ป้า ในตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งใหม่เมื่อปี ๒๕๓๓ แทนบ้านไร่ป้าที่ถูกน้ำท่วมหลังการปิดเขื่อนเขาแหลม แล้วปีต่อมาก็มีการประกาศอุทยานแห่งชาติเขาแหลม นับแต่นั้นการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในหมู่บ้านก็ดำเนินมาตลอด
จนมีโครงการจอมป่าเข้ามาเมื่อ ๖-๗ ปีก่อน
“เราเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิสืบฯ เกาะติดอยู่ในพื้นที่กับพี่น้องชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน จากข้อมูลทำให้เห็นแล้วว่ามีชุมชนอยู่ในป่าตะวันตก ๑๒๙ แห่ง การจะย้ายออกเป็นเรื่องยาก จึงต้องหาวิธีจัดการ ทำอย่างไรให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าอยู่ได้ หัวใจมีอยู่เท่านี้”
อุดมเล่าแนวคิดก่อนเข้าสู่เนื้องานที่ทำ ไล่มาแต่การสำรวจข้อมูลชุมชน ทั้งในด้านประวัติการก่อตั้ง ผู้คน วัฒนธรรม และการทำแผนที่เดินดินให้รู้จักบ้านทุกหลังในชุมชน จากนั้นไปสู่การสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ในชุมชน โดยทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ เดินสำรวจแนวเขตร่วมกัน ทั้งนี้การกันพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน จะถือตามการใช้จริงอย่างเคร่งครัด หย่อมป่าที่อยู่ในพื้นที่ทำกินก็ต้องถูกวงกันเอาไว้ด้วย
นี่เป็นวิธีการที่ใช้เป็นแบบแผนหลักในการทำงานกับทั้ง ๔๘ ชุมชนในพื้นที่กาญจนบุรี และทุกชุมชนในป่าตะวันตก
“เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานจะไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน เวลาเกิดการทำลายป่าเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาจับ จับแล้วแทบออกจากหมู่บ้านไม่ได้ เพราะถูกล้อมไม่ให้เอาผู้ต้องหาออก”
อุดมเล่าย้อนสภาพปัญหาเดิม จนมีเอ็นจีโอเข้ามาเป็นคนกลาง
“นัดเจอกันครั้งแรก เราขอชาวบ้านว่าอย่าด่าเจ้าหน้าที่ เขาต้องทำไปตามหน้าที่ ชาวบ้านก็ทำเพื่อมีชีวิตรอด ก็ขอทางเจ้าหน้าที่ว่าอย่าโทษชาวบ้าน รากของปัญหามันยาวนาน
ถ้าพี่น้องจะเอาประโยชน์อย่างเดียว และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเดียวก็แตกหัก มันต้องมีถอยคนละก้าว ไม่อย่างนั้นก็เดินต่อไปไม่ได้”
จากนั้นก็นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาดูแลป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการ
“พอเกิดคณะกรรมการป่าชุมชน มีการวางกรอบกติกา มีข้อตกลงและการทำความเข้าใจกันก็ทำให้นั่งกินข้าวกินเหล้าด้วยกันได้ เดี๋ยวนี้ถ้ามีการบุกรุกทำลาย ชาวบ้านจะแจ้งเจ้าหน้าที่เองเลย เกิดกระบวนการทำงานร่วมกัน ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็ลดลง”
“มูลนิธิสืบฯ เข้ามาแนะนำว่าให้เข้าใจกับอุทยานฯ ให้ตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นมาช่วยกันดูแลป่า ตั้งกฎกติกาขึ้นมา” ชวน นาโห้ เป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้านปอสามต้นที่ทำงานมาตั้งแต่ต้น “ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เห็นด้วย บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย ว่ากรรมการตั้งขึ้นมาเพื่อโจมตีชาวบ้าน ไม่ให้ทำไร่ในป่า ไม่ให้ขายที่ ความจริงเราแค่ไม่ต้องการให้ป่าถูกทำลายไปมากกว่านี้ เรามีกติกาว่าการขายที่ทำได้เฉพาะเมื่อจะย้ายถิ่นเท่านั้น ใครขายต้องย้ายออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่นเลย ต้องกันการบุกรุกเอาที่ขาย เราต้องชี้แจงว่าป่ามันจะหมดแล้ว ถ้ายังปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ น้ำมีแต่จะน้อยลง ปีนี้น้ำในเขื่อนลดลงเยอะ ห้วยหลายสายหายไป เราเป็นคนอยู่ในป่า น้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เราต้องรักษาป่าต้นน้ำ ไม่ใช่เฉพาะเพื่อเรา แต่เพื่อคนข้างล่างด้วย”
เขากับเพื่อนอีก ๒ คนคือ ชัยยศ ประดับทองผา และ คำอ้าย ทองผาประวัตร อยู่ในชุดเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวแบบมีหลายกระเป๋า คล้ายชุดสนามของทหาร แต่เป็นสีดำทั้งชุด มีตราติดแขนและหน้าอกพร้อมป้ายชื่อ ซึ่งเป็นชุดเครื่องแบบของกรรมการป่าชุมชนที่ใช้แบบเดียวกันทั้งป่าตะวันตก
แกนนำชุมชนในเครื่องแบบชุดดำนี้จะทำหน้าที่ออกลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่เดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย และคอยดูแลรักษาป่า ใครจะปลูกบ้านใหม่ต้องแจ้งกรรมการหมู่บ้าน เพื่อประสานกับเจ้าหน้าที่ ถ้าต้องการใช้ไม้ไผ่ จะได้รับการแนะนำไม่ให้ตัดยกกอ หากเป็นไม้ให้ใช้ไม้ที่ล้มเอง หรือที่เรียกว่า ไม้ล้มหมอนนอนไพร
แต่อย่างไรก็ตามการครอบครองพื้นที่ในเขตอุทยานฯ ตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ การติดป้ายหมายแนวเขตอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการยึดครองพื้นที่ พวกเขาจึงเลือกที่จะใช้หลักเขตเชิงสัญลักษณ์ อย่างการปลูกต้นไม้
“เริ่มจากบ้านหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว จนเดี๋ยวนี้ยังไม่มีการล้ำออกไปนอกแนวต้นสักที่ปลูกเลย ก็หมดปัญหาเรื่องความขัดแย้งกับอุทยานฯ ภายในแนวเขตก็ให้พี่น้องชาวบ้านจัดการกันเอง ตอนนี้ที่หมู่บ้านลิเจีย ผมเอากล้าสะตอไปให้พี่น้องปลูกเป็นแนวเขต ๓,๐๐๐ ต้น” อุดมเล่าถึงงานที่ทำมาก่อน
ส่วนที่บ้านปอสามต้น กิจกรรมปลูกป่าในเขตป่าได้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓
“เราคิดกันมานานแล้ว แต่ยังรวมคนไม่ได้ พอคณะกรรมการป่าชุมชนเกิดขึ้น ชาวบ้านก็เข้ามาร่วมมือ กำนันก็ติดต่อหากล้าไม้มาและกำหนดวันปลูกป่า” ชวน นาโห้ พูดหลังกล้าไม้ต้นสุดท้ายในจำนวน ๒,๕๐๐ ต้นถูกปลูกลงดิน
ไพโรจน์ จิตรจำเริญ ชาวบ้านปอสามต้น และเป็นกำนันตำบลปิล็อกคนปัจจุบัน บอกว่า “หลังประกาศอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เราต่อสู้ด้วยการประท้วง ๘ ครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔-๒๕๔๐ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างใด ตอนจะอพยพหมู่บ้านออกเรายินดีจะไปถ้ามีที่รองรับ แต่ทางการไม่มีที่ทำกินให้ จนมีมติ ครม. ๓๐ มิ.ย.๒๕๔๑ ที่เปิดช่องให้ชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ชาวบ้านจึงต่อรองขออยู่อาศัยในช่วง ๘ กิโลเมตรตามเส้นทางทำไม้เดิมที่ยาว ๑๖ กิโลเมตร ที่ประชุมเห็นชอบ และมูลนิธิสืบฯ เข้ามาเป็นคนกลางในการเดินแนวเขตที่ทำกินร่วมกันของเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เป็นความพอใจของทั้งสองฝ่าย ตอนนี้การบุกรุกป่าแทบไม่มีแล้ว เนื่องจากชาวบ้านได้มีส่วนร่วมดูแลด้วย”
ส่วนกิจกรรมปลูกป่านั้นกำนันไพโรจน์เล่าว่า คิดขึ้นมาเนื่องจากปีนี้น้ำในเขื่อนเขาแหลมแห้งลงอย่างวิกฤต ก็คิดว่าการปลูกสร้างป่าเพิ่มของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนบ้าง
กล้าไม้ยางนา สีเสียด ประดู่ ขี้เหล็ก สะเดา มะขามป้อม จำนวนราว ๒,๕๐๐ ต้นถูกลำเลียงจากแปลงเพาะภายนอก เข้ามาตามเส้นทางกลางป่าสายเล็ก จนจดริมเขื่อนก็ถูกขนย้ายต่อลงเรือ เนื่องจากหมู่บ้านปอสามต้นตั้งอยู่ลึกเข้าไปตามร่องห้วย ไม่มีทางรถไปถึง และหย่อมบ้านบางส่วนก็เป็นเรือนแพอยู่กลางน้ำ
ในการนำกล้าลงปลูก นอกจากคนในหมู่บ้านที่เป็นกำลังหลักแล้ว ยังมีอาสาสมัครหนุ่มสาวจากในเมืองเกือบ ๑๐ คนที่รวมตัวกันในชื่อกลุ่มกลมกลิ้ง ได้มาลงแรงร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย
และเรื่องพิเศษที่เป็นความตื่นเต้นของคนในหมู่บ้านลึกสุดหลังเขื่อนก็คือ นายอำเภอทองผาภูมิเดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย
กำนันตำบลปิล็อกพูดในนามชาวบ้านปอสามต้นว่า “ตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านมาเมื่อปี ๒๕๓๓ ยังไม่เคยมีข้าราชการผู้ใหญ่เข้ามาเลย นี่เป็นครั้งแรกในรอบ ๒๐ ปีนับตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านมา ท่านนายอำเภอถาวร ลีลาพันธุ์ ที่มารับตำแหน่งนายอำเภอทองผาภูมิได้ไม่ถึงปี ได้เข้ามาเป็นคนแรก”
ทุกคนจึงหวังว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น พงษ์ศักดิ์ ม่วงงาม หัวหน้าภาคสนามมูลนิธิสืบฯ เขตพื้นที่กาญจนบุรีที่เป็นผู้ประสานมาตั้งแต่ต้น จนเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านหันหน้าเข้าหากันได้ พูดถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างยินดีว่า
“ที่ผ่านมาทะเลาะกันเพราะคุยกันคนละที และคุยกันปากเปล่า พอทำให้สองฝ่ายคุยกันได้ เดินหมายแนวเขตร่วมกัน เจ้าหน้าที่ได้มาดูด้วยตัวเองว่าตอนนี้ชุมชนทำประโยชน์ถึงไหน ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้เรื่องจีพีเอสด้วย ใช้เครื่องมือเป็น ได้แผนที่มาก็เอาแผนที่นั้นขึ้นเวทีประชาคมร่วมกัน จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาดูแล มีกติกาที่ผ่านการประชาคม และต้องรับข้อตกลงไม่ออกนอกแนวเขต”
เป็นรูปแบบวิธีการเดียวกันที่เป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนทั้ง ๔๘ แห่งในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และทั้ง ๑๒๙ ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าตะวันตก ยกเว้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่ไม่มีชุมชนอยู่ในเขตป่า
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
สืบ นาคะเสถียร เป็นหัวหน้าที่ให้ความใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่ และสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่เป็นแนวหน้าในการรักษาป่า แต่มักจะถูกละเลยจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งการลาดตระเวณ การเป็นผู้ช่วยนักวิจัยสัตว์ป่า และการตั้งกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่เหล่านี้
ภาพ : WCS(Wildlife Conservation Center) |
หลังประสบความสำเร็จกับชุมชนในป่า ก็เกิดแนวคิดในการขยายงานออกมาสู่ชุมชนที่อยู่ตามขอบป่าด้วย ในรูปของป่ากันชนที่จะเป็นกันชนให้กับผืนป่าอนุรักษ์
“ตรงไหนมีภูเขาหรือที่ว่างที่ยังเป็นป่าธรรมชาติอยู่ ก็ชวนชาวบ้านมาช่วยกันรักษาไว้ ช่วยกันดูแลเพื่อใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ขนาดพื้นที่สัก ๒๐ ไร่ ไปจนถึงเป็นหมื่นไร่แล้วแต่สภาพ หรือบางที่ชาวบ้านเขาดูแลอยู่แล้ว แต่อยากให้มันเป็นทางการ มีข้อกำหนดชัดเจน ให้กรมอุทยานฯ รับรอง เขาก็เข้ามาร่วม”
รตยา จันทรเทียร อ้างถึงชื่อ สมบัติ ชูมา หัวหน้าภาคสนามมูลนิธิสืบฯ เขตอุทัยธานี เมื่อเล่าถึงเรื่องนี้
“เราเริ่มป่าชุมชนริมห้วยขาแข้ง ๓๐ ป่า สมบัติ ชูมา เขาเสนอแนวคิด ๓๐ ป่ารักษาทุกโรค ทำแบบป่ารุกบ้าน คือแทนที่จะเข้าหาของป่า อยากได้อะไรก็เอามาปลูกไว้ริมบ้าน เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ตอนนี้ทำในชื่อโครงการภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก”
ที่มี ตะวันฉาย หงษ์วิลัย เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งบางส่วนก็ครอบคลุมไปถึงชุมชนในป่าด้วย เขาให้ภาพกว้างของงานในความรับผิดชอบว่า
“โครงการภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก มี ๒๖๔ ชุมชน รวมกันเป็นเครือข่าย เป็นชุมชนขอบป่า ๑๓๕ ชุมชน ชุมชนในป่า ๑๒๙ ชุมชน ๑๕ กลุ่มชาติพันธุ์ ใน ๖ จังหวัด ทุก ๓ เดือนตัวแทนกรรมการจังหวัดละ ๑๕ คนจะมาประชุมร่วมกัน ใช้พลังของเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบาย ในช่วงเวลาปรกติแต่ละเครือข่ายย่อยก็ทำงานของตัวเองไป”
ตะวันฉายเองอยู่ในเครือข่ายป่าชุมชนแม่เปิน-แม่วงก์-ชุมตาบง ซึ่งมีพื้นที่ทำงานอยู่ในเขต ๓ อำเภอดังกล่าวของจังหวัดนครสวรรค์ สมาชิกจากทุกป่าชุมชนจะมาประชุมกันทุกวันที่ ๒๒ ของเดือน แต่ในการประชุมประจำวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ มีความพิเศษที่ต่างจากการประชุมครั้งอื่นคือ เป็นวันทำพิธีเปิดจุดสกัดของชุมชนบ้านปางสักด้วย
บ้านปางสัก หมู่ ๑๒ ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน ตั้งอยู่ประชิดเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งมีป่าชุมชนขนาด ๘๐๐ ไร่เป็นจุดเชื่อม ป้อมยามจุดสกัดถูกสร้างขึ้นที่ท้ายหมู่บ้าน บริเวณปากทางเข้าผืนป่าชุมชน
เป้าหมายหลักของเราอยากได้การร่วมแรงใจของชาวบ้าน ไม่ใช่กีดกันใคร ศุทรา เมืองเจริญ ประธานป่าชุมชนบ้านปางสัก พูดถึงที่มาของการตั้งจุดสกัด
“ถึงฤดูเห็ด หน่อไม้ จะมีคนไม่ได้ร่วมดูแลป่าเลยเข้ามาเยอะมาก กลุ่มคนที่ดูแลป่าแทบไม่ทันเขา เคยได้ยินเรื่องการทำจุดสกัด เลยพากันไปดูงาน ไม่อยากให้เกิดผิดพลาด จึงต้องไปดูให้เห็นรูปธรรมก่อน ตะวันฉายแนะนำให้ไปดูที่อำเภอไพศาลี ดูแล้วเอามาปรับเป็นของเรา ความคิดเรื่องการทำจุดสกัดก็เพื่อให้คนข้างนอกได้มีส่วนร่วมในการดูแลป่าทำนุบำรุงป่าบ้าง อาจเสียค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ ให้ชุมชนได้ใช้เป็นกองทุนในการปลูกป่า ทำแนวกันไฟ”
ตะวันฉายพูดเรื่องเดียวกันนี้ว่า
“จุดสกัดถือเป็นที่ทำงานร่วม คนเฝ้าจะเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน ที่ใส่ชุดเครื่องแบบสีดำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาอยู่ด้วยกันเพื่อป้องกันการกระทำผิด ประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า ไม่ใช่เพื่อการเอาเปรียบรังแกกัน แต่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ให้ทุกคนได้ใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และมีส่วนร่วมในการรักษา”
งานพิธีเปิดจุดสกัดบ้านปางสัก มีเพื่อนสมาชิกจากชุมชนต่างๆ ในเครือข่ายฯ แม่เปิน-แม่วงก์-ชุมตาบง มาร่วมกันอย่างอบอุ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
“ผมเป็นหัวหน้าชุดปราบปราม มาอยู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ แต่เพิ่งมาอยู่ที่ห้วยแม่กะสี ตำบลแม่เปิน เมื่อปี ๒๕๔๙” จงจิตร์ มุ้งทอง พนักงานราชการป่าไม้ แนะนำตัว “งานหลักคือออกตรวจ ปราบปราม ยามว่างก็พัฒนาน้ำตกให้งามตา กับชุมชนก็ร่วมกิจกรรมตามหมู่บ้าน และร่วมประชุมกับเครือข่ายป่าชุมชนทุกเดือน มีงานอะไรก็เข้าร่วม ชาวบ้านเจอการกระทำผิดก็มาแจ้งที่หน่วย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมก็มีการลักลอบโค่นไม้ ไปจับได้แต่เครื่องมือ คนทำหนีไปได้”
“ลาดตระเวนเจอการกระทำผิดก็ประสานเจ้าหน้าที่” เดช เขียวเขตวิทย์ ผู้ใหญ่บ้านคลองห้วยหวาย ประธานเครือข่ายป่าชุมชนแม่เปิน-แม่วงก์-ชุมตาบง และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก พูดถึงกิจกรรมของชุมชน “ชาวบ้านแถวนี้ดูแลรักษาป่ากันมานานแล้ว คนข้างนอกเข้ามาใช้แล้วเกิดความเสียหาย เราก็เริ่มสร้างกติกาขึ้นมา ตรงไหนเสื่อมโทรมก็ปลูกเพิ่ม หน้าแล้งทำแนวกันไฟ ลาดตระเวนป่า เชิญหน่วยงานมาร่วมทำประชาคมชาวบ้าน ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน และได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมป่าไม้”
เมื่อพูดถึง สืบ นาคะเสถียร ผู้ใหญ่บ้านวัยหนุ่มใหญ่บอกว่า
“คนแถวนี้รู้จักดี โดยเฉพาะตัวผมที่บ้านเกิดอยู่อุทัยธานี ตอนผมยังเด็กเวลาท่านมาประชุมชาวบ้านผมก็เคยเห็น ท่านไม่ใช่คนถือเนื้อถือตัว พูดคุยกับชาวบ้านเป็นกันเอง”
และพูดถึงความเชื่อมโยงจากสิ่งที่เขาเห็นสืบทำในวันนั้น มาถึงตัวเขาในวันนี้ว่า
“คนอื่นเขาจะมองอย่างไรผมไม่รู้นะ แต่ผมเองยึดถืออุดมการณ์ตามแนวทางนั้น ที่เราทำคนอื่นอาจมองไม่เห็น แต่เราก็ไม่ได้หวังตรงนั้น เพียงแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสานต่ออุดมการณ์ตามแนวทางของท่านไว้ให้ได้”
นี้คงเป็นประจักษ์หลักฐานหนึ่งว่าสิ่งที่สืบลงแรงทุ่มเททำมา ยังคงอยู่ในใจคนและส่งผลอยู่ไม่รู้วาย
เครือข่ายภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก เริ่มจากโครงการ ๓๐ ป่ารักษาทุกโรคที่อุทัยธานี ขึ้นมาทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร ที่ตะวันฉายดูแลอยู่ และต่อมาก็ต่อเนื่องไปถึงอุ้มผาง ส่วนทางใต้ก็ขยายไปถึงสุพรรณบุรี กาญจนบุรี พื้นที่ทำงานของ นริศ บ้านเนิน
นอกจากชุมชนในป่า ๓๓ ชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ๓ แห่งในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี นริศยังทำงานกับชุมชนขอบป่าด้วย รวมทั้งสิ้นแล้วตกราว ๘๐ ชุมชน มีคณะกรรมการป่าชุมชน (ชุดเครื่องแบบสีดำ) ราว ๘๐๐ คนอยู่รายรอบขอบป่าในช่วงรอยต่อของสองจังหวัด
ที่สามแยกทางขึ้นเขาเหล็ก ซึ่งปลายทางของทางหลวงชนบทที่ทอดจากริมเขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ มาบรรจบกับทางหลวงหมายเลข ๓๔๘๐ ที่ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ ซึ่งเป็นที่ตั้งจุดสกัด ที่ชาวชุมชนถือว่าเป็นประตูป่า
ป้อมจุดสกัดตั้งอยู่บนที่ดินส่วนตัวของเอกชนรายหนึ่งที่เจียดพื้นที่ส่วนตัวให้กับการอนุรักษ์
“คุณนริศมาว่าจะอนุรักษ์ทรัพยากรป่า หาสถานที่ ผมไม่เคยอยู่ป่ามาก่อน ลูกชายมาซื้อที่ดินที่นี่ไว้ ผมมาดูแลให้ มาอยู่แล้วก็อยากร่วมอนุรักษ์ พอเขามาขอที่ตั้งป้อม ผมก็ให้ไม่ลังเล การลงทุนสร้างป้อมมูลนิธิสืบฯ เป็นผู้ออกทุน” นาวาโท เสน่ห์ แสงเพชร ข้าราชการบำนาญที่เพิ่งมาเป็นสมาชิกใหม่ของตำบลสมเด็จเจริญ พูดถึงป้อมจุดสกัดที่ตั้งอยู่หน้าบ้านของตัวเอง และพูดต่อว่า “แต่ชาวบ้านบางคนก็ต่อว่า ว่าจะหาภัยใส่ตัวเอง…”
“บางทีคนเขาไม่เข้าใจ ว่าทำไมเราไม่อยากให้คนมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่” นริศเล่ารายละเอียด “เป็นงานป้องปรามคนที่ทำลายทรัพยากร ถนนเส้นนี้เป็นถนนเส้นใหญ่ที่เข้าสู่ป่า เราคิดว่าถ้าทำประตูป่าป้องปรามถนนเส้นนี้ได้ จะช่วยป่าได้มาก หรือบางทีเมื่อถึงฤดูก็มาเก็บเกี่ยวประโยชน์ แล้วคนที่เขาดูแลล่ะ ตอนดูแลคุณมาช่วยปลูกป่าไหม มาช่วยดับไฟป่าไหม เวลาเขาทำกิจกรรมอะไรกันได้มาช่วยไหม แต่พอถึงหน้าเก็บหาผลประโยชน์คนข้างนอกมากันเต็มเลย จะให้คนที่ดูแลทำอย่างไรล่ะ เขาทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ แต่คนข้างนอก เขาไม่รู้ระบบ ไม่รู้กติกานี่ เขามาใช้ประโยชน์เต็มที่ เจออะไรเอาหมด”
ต่อเนื่องขึ้นทางเหนือในพื้นที่สมเด็จเจริญจนถึงตำบลวังยาวของอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีป่าชุมชนของบ้านต่างๆ อยู่ตลอดแนวป่าอุทยานแห่งชาติ
เฉพาะในตำบลสมเด็จเจริญมีป่าชุมชนของ ๓ หมู่บ้านต่อกันเป็นผืนใหญ่ร่วม ๓ หมื่นไร่ ที่ก่อตั้งและดำเนินไปโดยการนำของกำนันสุรสิทธิ์ รุ่งรัตนพงษ์พร
“เมื่อปี ๒๕๕๑ รัฐบาลมีงบอยู่ดีมีสุขให้แต่ละหมู่บ้านทำโครงการเสนอไป หลายหมู่บ้านทำเรื่องส่งเสริมอาชีพ เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ อย่างนั้นได้กินครั้งเดียว หมดปีก็จบ หายหมด เราจึงปรึกษากันว่าจะเอามาทำเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถ้าเราช่วยกันดูแลป่าก็จะเป็นมรดกของหมู่บ้าน หาเห็ด หาหน่อไม้ สมุนไพร หรือจะซ่อมแซมบ้าน ทำได้หมด ใช้ไม่หมด ชาวบ้านเห็นด้วย จึงของบมาตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่า จัดอบรม สร้างป้อมจุดสกัด หน้าแล้งทำแนวกันไฟ เดินลาดตระเวนป่าเดือนละ ๑-๒ ครั้ง อยู่เวรยามที่ป้อม ที่มูลนิธิฯ ช่วยเอาวัสดุมาให้สร้างประตูป่า ถ้าป่ายังอยู่กับเรา เราอยู่ได้”
“งานนี้มันใหญ่มาก แต่ในเมื่อเราถูกเลือกแล้ว…” นริศพูดขึ้นมาในช่วงหนึ่ง “คนทำงานทุกคนคิดว่า เราถูกเลือกจากคุณสืบ จากป่าแล้ว ถูกเลือกจากชุมชนอีก เราเลิกไม่ได้ ส่วนหนึ่งมันเป็นความหวังของชุมชน เป็นความหวังของมูลนิธิฯ ที่จะรักษาป่าที่เหลืออยู่เอาไว้ให้ได้ เราทำงานนี้โดยมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คุณสืบยังอยู่กับเรา เวลาทำอะไรที่ยากๆ เราต้องยกมือไปทางป่า บอกพ่อปู่ฤๅษีทุ่งใหญ่ฯ บอกคุณสืบให้ช่วยเรา ช่วยดลบันดาลให้เรามีกำลังใจ”
นริศบอกว่าความจริงตัวสืบนั้นเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน มีอยู่ปีหนึ่งก่อนเข้ามาทำงานนี้ เขาได้ไปร่วมงานที่ห้วยขาแข้ง แล้วได้ดูวีดิทัศน์การช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ได้เห็นบทสัมภาษณ์สดของคุณสืบ รวมทั้งภาพตอนที่สืบปั๊มหัวใจกวาง
เขาลุกไปเปิดเครื่องเล่นให้ดูภาพเคลื่อนไหวประกอบคำเล่า
เป็นภาพทีมช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่นำโดย สืบ นาคะเสถียร แล่นเรือหางยาวไปกลางเวิ้งน้ำกว้าง ประกบกวางตัวเขื่องที่เขาข้างหนึ่งหักหายไปแล้ว คนบนเรือพยายามโยนบ่วงเชือกคล้องจับตัวมัน แต่ยังไม่สำเร็จ จนช่วงหนึ่งสืบกระโดดลงไปในน้ำด้วย ภาพตัดกลับมาเมื่อกวางถูกจับขึ้นมานอนแน่นิ่งอยู่กลางท้องเรือ สืบซึ่งเพิ่งว่ายน้ำกลับมาเกาะกราบเรือ ปีนกลับขึ้นเรือไปยืนคร่อมตัวกวาง วางสองฝ่ามือลงแถวชายโครง แล้วโถมตัวลงกดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ผมยืนดูอยู่นานมาก” นริศเล่าถึงคราวที่เขาดูครั้งแรก “ตั้งแต่แกโดดลงจากเรือ ว่ายน้ำในเขื่อนเชี่ยวหลานไปจับกวาง ว่ายๆๆๆ ไปจับ เหนื่อยมากเลย กลับมายืนหอบ เหนื่อย ถ่มน้ำลายทิ้ง ปาดเหงื่อ แล้วปั๊มหัวใจให้มันอีก ดูแล้วโอ้โห แล้วตอนที่แกไปนั่งตากฝน รอสัตว์ที่แกจะช่วย พอมันมาติดตาข่าย แกโดดไปกอดมันก่อนเลย แล้วช่วยกันจับ มันเห็นความมุ่งมั่นของแก”
เวลาลงไปหาชาวบ้านตามชุมชน นริศจึงมักพาวีดิทัศน์ชุดนี้ไปแบ่งปันให้ชาวบ้านได้ดูด้วย ที่เป็นความประทับใจเขามากที่สุดก็ในคราวงานวันมรดกโลกที่ตลาดบ้านไร่ อุทัยธานี เขายกโทรทัศน์ไปเปิดให้คนดู แล้วมีป้าคนหนึ่งมานั่งร้องไห้อยู่หน้าจอ หญิงชาวบ้านคนนั้นพูดกับเขาว่า เธอรู้จักหัวหน้าสืบ แต่ไม่เคยรู้ว่าท่านทำอะไรมามากมายอย่างนั้น
ส่วนตัวเองนริศบอกว่าเขาเก็บวีดิทัศน์ชุดนี้ไว้กับตัวเสมอ และเอามาเปิดดูทุกครั้งที่รู้สึกท้อกับการงาน
“เห็นความทุ่มเทของแกก็ยิ่งรู้สึกว่าเราทำน้อย ที่บอกว่าเราเหน็ดเหนื่อย แกเหนื่อยยิ่งกว่าเราเยอะ เจ็บปวดมากกว่าเราเยอะ”
ท้ายสุดชายหนุ่มที่ทำงานอยู่กับป่าและคนในป่าพูดถึงวีรบุรุษในใจเขาว่า
“ทุกคนรักชีวิต แต่คนที่ยอมให้ตัวเองเป็นเครื่องมือทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงมีน้อยมาก แต่หลังจากหัวหน้าสืบเสียสละชีวิตก็เริ่มมีมากขึ้น”
ป่าชุมชน
การเดินแนวเขตทำกันอย่างละเอียด เดินเท้า และบันทึกลงแผนที่ระบบจีพีเอส หย่อมป่าที่แม้จะถูกล้อมด้วยที่ทำกินก็จะไม่ถูกบุกเบิกเพิ่ม ในภาพนี้เป็นป่าชุมชนของบ้านปางสัก อำเภอแม่เปิน นครสวรรค์ ริมป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่เห็นทิวเขาเขียวเข้มห่างออกไป |
รูปธรรมหนึ่งของการประสานพลังของสามฝ่ายในผืนป่าตะวันตก หน้าสุด-ตะวันฉาย หงษ์วิลัย เอ็นจีโอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คนยืน-จงจิตร์ มุ้งทอง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และ ศุทรา เมืองเจริญ ชาวบ้านปางสักที่อยู่ในเครื่องแบบคณะกรรมการป่าชุมชนชุดสีดำ พวกเขาจับมือกันดูแลป่าในแถบแม่เปิน แม่วงก์ ชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ และเชื่อมประสานความร่วมมือของทั้งสามฝ่าย เจ้าหน้าที่-เอ็นจีโอ-ชาวบ้าน เช่นเดียวกันทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก |
การปลูกป่า กิจกรรมหนึ่งของชุมชนที่ดูแลป่า ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่ ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกเรื่องความรักป่าลงในใจคนด้วย (ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์) |
บนฝาผนังด้านหนึ่งของบ้านโบราณที่เป็นสำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พื้นที่อุ้มผาง เป็นแผนผังโครงสร้างการทำงานและแนะนำคนทำงานในองค์กร โดยมีรูป สืบ นาคะเสถียร แผ่นใหญ่ติดอยู่บนสุด กับข้อความว่า หัวหน้าใหญ่ของพวกเรา
ซึ่ง ยุทธชัย บุตรแก้ว ที่เป็นหัวหน้าภาคสนามมูลนิธิสืบฯ พื้นที่อุ้มผาง ก็ไม่เคยรู้จักตัวจริงของสืบ แต่เขาชื่นชมยกย่องในแนวทาง และทุกวันนี้เขากำลังเดินตามรอยทางของ สืบ นาคะเสถียร อยู่จริงๆ
หนึ่งในภาพถ่ายของ สืบ นาคะเสถียร ที่ติดตาคนมากที่สุด คือภาพที่เขานั่งคุยอย่างใกล้ชิดเป็นกันเองกับผู้เฒ่ากะเหรี่ยง บนพื้นดินกลางป่า ตามข้อมูลว่าสถานที่ในภาพอยู่แถวแม่จันทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งสืบเคยเดินเท้าสำรวจสัตว์ป่า จากป่าอุ้มผางข้ามภูก่องก๊องที่เป็นสันปันเขตจังหวัด เข้าสู่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเขตจังหวัดกาญจนบุรี
ตามที่มีคนรุ่นน้องเขาบันทึกว่า “พี่สืบใช้เวลาเดินป่าครั้งนี้นานกว่าสองสัปดาห์ เราได้เห็นธาตุแท้ของความทรหด แม้ว่าเท้าทั้งสองจะเจ็บ เดินล้มลุกคลุกคลาน ถูกหนามเกี่ยวตามลำตัวและหู ดูเหมือนว่าพี่สืบจะไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้ แคมป์ที่หลับนอนในป่าก็ใช้ผ้าพลาสติกปูลงบนพื้นดิน และมุงผ้าพลาสติกผืนใหญ่เพื่อกันน้ำค้าง อาหารที่เตรียมไปแม้ว่าจะไม่พอเพียง ความลำบากต่างๆ ก็ประสบ ดูเหมือนว่าพี่สืบไม่เคยปริปากบ่นด้วยคำพูดใดๆ เลย”
ปัจจุบันป่าของอำเภออุ้มผางอยู่ในเขตของ ๒ ป่าอนุรักษ์คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ภายใน ๒ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของอำเภออุ้มผางมีชุมชนอยู่ในป่ากว่า ๓๐ ชุมชน เป็นคนกะเหรี่ยง (โพล่) และปกากะญอ
ยุทธชัยบอกว่าเขาเข้าไปในพื้นที่ในช่วงที่ความขัดแย้งกำลังคุกรุ่น
“พื้นที่แถวนี้เตรียมจะเหมือนชายแดนใต้ ก่อนสงครามจะเกิดเราไปจบกันที่โต๊ะเจรจาก่อน ไม่อย่างนั้นสงครามเกิดแน่ ชุมชนอ้างเรื่องอยู่มาก่อน เจ้าหน้าที่อ้างหลักหมายอ้างแผนที่ เราก้าวไปดักหน้าก่อนไม่ให้ความขัดแย้งไปถึงจุดแตกหัก เป็นแนวทางสันติและทุกฝ่ายไม่เสีย ป่าก็อยู่”
เขาใช้เวลา ๑ ปีในการสร้างความเข้าใจ พูดคุยกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ทำข้อมูลชุมชนนำร่อง ๗ หมู่บ้านในเขตปกครองตำบลแม่จัน และอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ได้แก่ บ้านกุยเลอตอ บ้านกุยต๊ะ บ้านกุยเคลอะ บ้านพอกะทะ บ้านมอทะ บ้านหม่องกั๊วะ และบ้านไกบอทะ
“ชาวบ้านบอก ตรงไหนให้ทำกินได้ก็บอกมา ตรงไหนไม่ให้ทำก็ไม่ว่า ให้บอกมาให้ชัดเจน ส่วนเจ้าหน้าที่ก็บอก ชาวบ้านอย่าขยายพื้นที่ อย่าไปรุกป่าเพิ่ม ไม่ใช่ว่าจะให้อยู่กันไม่ได้เลย”
แลกเปลี่ยนและฟังความต้องการของแต่ละฝ่ายแล้วก็มานั่งคุยกัน ซึ่งเขาต้องเข้าไปเตรียมแต่ละฝ่ายมาก่อนด้วย
“ว่าชาวบ้านเขาจะคุยเรื่องนี้ๆ ให้ทางเจ้าหน้าที่เตรียมคำตอบไว้ กับทางชุมชนก็เตรียมว่า เจ้าหน้าที่เขามีข้อกฎหมายอย่างนี้นะ เราพอจะมีช่องทางทำอย่างไรได้บ้าง ต้องหาแนวทาง”
คุยกันจนสามารถจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน เมื่อตั้งได้จะถือเป็นจุดเปลี่ยน
“จากนั้นก็เดินสำรวจพื้นที่ทำกินร่วมกัน เจ้าหน้าที่เองก็ได้เห็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างละเอียด ที่ยังเป็นหย่อมป่า ป่าตามริมห้วยก็ถูกกันไว้ มีการลงแผนที่ แล้วนำมาวางกติกา”
สมเกิด คำปาน พนักงานราชการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง พูดถึงกิจกรรมนี้ว่า “การสำรวจพื้นที่หมู่บ้านไหน เราใช้คณะกรรมการของบ้านนั้นมาร่วมเดิน การได้ลาดตระเวนร่วมกัน ได้ความเป็นเพื่อนจากการได้เหนื่อยยากด้วยกัน ต่อแพข้ามห้วยด้วยกัน ปีนผา กินข้าวเที่ยงตอน ๓-๔ โมงเย็นด้วยกัน ก็เกิดความไว้วางใจจากการได้เห็นน้ำใจกัน”
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางอีกคนชื่อ ยงยุทธ ตระหง่านกุลชัย ซึ่งเป็นชาวบ้านกุยต๊ะด้วย บอกว่าเขาเป็นคนในชุมชนแต่ก็ต้องทำตามที่นายสั่ง จนเมื่อมีโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมขึ้นมาจึงเริ่มคุยกันได้ เขามาร่วมการประชุมของชุมชนทุกเดือน “ทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ถือตามข้อตกลง อย่างการทำไร่หมุนเวียน ต้องไม่ทำซ้ำในไร่ซากที่เกิน ๕ ปี ไม่อย่างนั้นจะโดนจับ ซึ่งตอนนี้นอกจากมีความผิดทางอาญายังจะถูกฟ้องทางแพ่งด้วย ซึ่งมีการคำนวณออกมาแล้วว่าไร่ละ ๑.๖ แสนบาท”
“ตอนนี้ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่มีน้อยมาก” ยุทธชัยสรุปภาพรวมสถานการณ์ในผืนป่าอุ้มผาง “ที่มีบ้างก็มักเป็นเรื่องส่วนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ทำตามข้อตกลง”
เขาพูดแทนชาวบ้านว่า “การประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชุมชนไม่เคยรู้เรื่อง บางชุมชนอายุถึง ๒๐๐ ปี แต่ทั้งหมดอยู่มาก่อนการประกาศ แต่ถ้าเอาแต่การเรียกร้องสิทธิหรืออะไรต่างๆ มันก็ไม่จบไม่สิ้น จะมีแต่ความขัดแย้ง”
และพูดถึงเจ้าหน้าที่ว่า การที่มีโครงการจอมป่าเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่เห็นด้วยมาก “เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็มีแต่ต้องจับกันไม่มีที่สิ้นสุด มันเหมือนไม่มีทางเลือก แต่วิธีนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าลดความขัดแย้ง และชุมชนให้ความร่วมมือ เกิดผลดีมากกว่าผลเสียเยอะ จากเจ้าหน้าที่หลักร้อยคน ตอนนี้มีชาวบ้านเป็นพันๆ คนมาช่วยดูแลรักษาป่า”
ยุทธชัยคำนวณตัวเลขให้เห็นคร่าวๆ ว่า จาก ๗ ชุมชนนำร่องในตอนเริ่มต้น ขยายออกไปอีก ๒๐ ชุมชนในเขตฯ อุ้มผาง บวกกับอีก ๗ หมู่บ้านในเขตฯ ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก รวม ๓๔ ชุมชน มีคณะกรรมการป่าชุมชนทั้งสิ้น ๕๔๑ คน รวมกับชุมชนในเขตป่าสงวนอีกร่วม ๕๐ กว่าชุมชน ก็ตกเกือบ ๑,๐๐๐ คน ที่มาจากแกนนำชุมชน เข้าร่วมเครือข่ายภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก ปิดวงรอบผืนป่าตะวันตกในเขตไทยรอบด้านพอดี
สอดคล้องตามข้อมูลความเห็นของ ปราโมทย์ ราตรี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ที่บอกว่า “เขตฯ อุ้มผางติดต่อกับเขตฯ ทุ่งใหญ่ฯ และเขตฯ ห้วยขาแข้ง เป็นทั้งตัวเชื่อมและตัวป้องกันผืนป่ามรดกโลก และในป่าก็มีชุมชนอยู่ ก็ต้องทำให้ชุมชนเข้าใจว่าเรามาทำอะไรที่เป็นการป้องกันป่ามรดกโลก”
เขายังเล่าจากประสบการณ์ว่า การอนุรักษ์ทำให้ชาวบ้านแทบไม่ได้กินข้าว เพราะการถางป่าทำไร่เจ้าหน้าที่ต้องจับ ซึ่งชาวบ้านก็เป็นคนยากจน จึงมีเรื่องกระทบกระทั่งกันมาตลอด
“พอโครงการจอมป่าเกิดขึ้นโดยองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ เป็นคนกลางเข้ามาเชื่อม เพื่อบอกว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไร ชาวบ้านทำอะไร ก็เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันขึ้น”
หัวหน้าเขตฯ อุ้มผางออกปากเองว่า
“ถ้าเราไม่เอาชุมชนเป็นผู้ร่วมอนุรักษ์ ใช้เจ้าหน้าที่เป็นหมื่นคนก็เฝ้าไม่ได้ เพราะพื้นที่กว้างใหญ่มาก จึงต้องทำให้ชาวบ้านเขาเข้าใจว่าเราเฝ้าป่านี้เพื่ออะไร เป็นการสร้างแนวร่วม สร้างจิตสำนึกร่วมกัน แต่คนที่ไม่เข้าใจก็ยังมี การใช้กฎหมายก็ยังต้องมีอยู่ การเจรจานั้นเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ภาพชัดเจนขึ้นเมื่อมีคนกลางเข้ามา”
เมื่อความขัดแย้งลดลง ทางฟากของชาวบ้านก็หันมาพัฒนาส่งเสริมเรื่องอาชีพและการฟื้นฟูวัฒนธรรม
มีการรวมตัวกันไปดูงานเพื่อกลับมาทำป่าสวน ๔ ชั้น กันในพื้นที่ของตัวเองอย่าง ประวัติ ศรีกนกสายชล ชาวบ้านกุยต๊ะ ตำบลแม่จัน
รอบบ้านเขามีเนื้อที่ไม่กว้างขวางนัก แต่การมีป่าซ้อนกันอยู่ถึง ๔ ชั้นในที่แปลงเดียว ก็ทำให้มีกินอยู่อย่างเพียงพอ
ชั้นล่างสุดเป็นผักหญ้าที่กินหัวและใบอย่าง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ หวาย ผักนานาชนิด ถัดขึ้นมาเป็นไม้พุ่มเตี้ยจำพวก ผักหวาน ชะอม กระถิน ชั้นที่ ๓ เป็นไม้ผลยืนต้น มะม่วง ขนุน มังคุด มะยม มะขาม และบนสุดเป็นไม้เรือนยอดสูงอาทิ หมาก มะพร้าว
ยุทธชัยช่วยให้คำอธิบายเสริมต่อพืชพรรณที่งอกงามอยู่รอบๆ บ้านของประวัติว่า “มองเรื่องการกินอยู่ของคนปลูกเป็นลำดับแรก กิน แบ่งปัน ซึ่งเป็นวิถีเดิมของพี่น้องกะเหรี่ยงอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือจึงค่อยขาย”
นอกจากนี้ใน ๗ ชุมชนกะเหรี่ยงในเขตฯ อุ้มผาง ยังรวมตัวกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์ที่นำโดยผู้อาวุโสของชุมชน ชื่อกลุ่มต้นทะเล ในความหมายว่าต้นกำเนิดของหยดน้ำในทะเลอยู่ที่นี่ ป่าอุ้มผางที่คนกะเหรี่ยงดูแลรักษากันอยู่โดยวิถีชีวิต อย่างการทำไร่หมุนเวียน มีกฎข้อห้ามเกี่ยวกับการรักษาพื้นที่ และการห้ามทำลายชีวิตบางชนิดโดยเด็ดขาด อาทิ นกเงือก สมเสร็จ ชะนี เก้งหม้อ
มีข้อตกลงเบื้องต้นในหมู่สมาชิกของกลุ่มต้นทะเลว่า พวกเขาจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการทำเกษตร ทำงานอนุรักษ์ด้วยความสามัคคีกัน และการรักษาวัฒนธรรมของเผ่า ด้วยความตั้งใจว่าหากวิถีของชนเผ่าในหนแห่งใดหมดสิ้นไป ก็ให้คงเหลืออยู่กับสมาชิกในกลุ่มต้นทะเล
ในการประชุมของชาวกะเหรี่ยงในเขตฯ อุ้มผางประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ เวียนมาจัดที่หมู่บ้านกุยต๊ะ คนจากทั้ง ๗ ชุมชนทยอยมารวมตัวกันในศาลาประชาคมของหมู่บ้านตั้งแต่เช้า พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ การประชุมดำเนินไปตามวาระประเด็น ผ่านทั้งภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยงตามถนัดของคนที่นำเสนอแสดงความเห็น ในส่วนที่จำเป็นจะมีการแปลให้ทุกคนในวงได้เข้าใจร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
จนท้ายสุดของการประชุม ชายกะเหรี่ยงอาวุโสผู้นำสูงสุดของชาวกะเหรี่ยงในแถบนั้น ถูกเชิญให้กล่าวฝากข้อคิดต่อลูกหลานและคนเข้าร่วมประชุมได้นำไปทำงานต่อ
โดยบทบาทตามธรรมชาติผู้อาวุโสวัย ๘๒ ปีคนนี้คงอยู่ในฐานะไม่ต่างจากผู้นำกะเหรี่ยงในภาพถ่ายที่หัวหน้าสืบนั่งลงคุยด้วยเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน นอกจากภาพถ่าย ไม่มีบันทึกว่าผู้เฒ่าในภาพบอกอะไรกับหัวหน้าสืบบ้าง
แต่ทุกถ้อยคำของลุงพินิจ ดัชนีนำชัย ที่ให้ข้อคิดกับที่ประชุมที่หมู่บ้านกุยต๊ะเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ นั้นทั้งหนักแน่น ลึกซึ้ง คมคาย ครอบคลุม อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นปราชญ์แห่งป่า ผ่านการแปลที่ได้ทั้งเนื้อหาและอารมณ์ของเด็กหนุ่มรุ่นหลานชื่อ ประวัติ ศรีกนกสายชล
คำของผู้เฒ่าบอกว่า
หันหน้ากลับมาคุยกันเสีย รักกันให้มาก จำกันให้แม่น ถ้าเราทำไม่ได้สงครามโลกครั้งที่ ๓ จะเกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าคนไทย ไม่ว่ากะเหรี่ยงหรือชนเผ่าไหน ให้รักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ทุกชาติทุกเผ่าถ้าไม่หันหน้ามารักกัน ทะเลาะกัน ดวงอาทิตย์จะไม่ร้อน จันทร์จะไม่ส่องแสง ดาวจะร่วงหมดฟ้า
ทุกวันนี้มีปัญหามาก เพราะเราเอาจากธรรมชาติมามาก ธรรมชาติจะเอาคืน ไฟพิโรธจะเกิดขึ้น ธรรมชาติจะลงโทษเรา สักวันหนึ่งเงินจะหาย ไม่กี่ปีธนาคารโลกจะล้ม
ทำอย่างไรธรรมชาติจะไม่ลงโทษเรา
ผู้เฒ่าขอฝากลูกหลานว่า อย่าทะเลาะกัน รู้จักพอ และหันหน้ากลับมาคุยกัน
เส้นลายมือของ สืบ นาคะเสถียร ที่ขีดกำหนดขอบเขตของผืนป่าตะวันตกลงบนแผนที่ ก่อนเขาจะเสียสละชีวิตไม่นาน ด้วยเจตนารมณ์ว่าจะต้องรักษาผืนป่าให้ได้ อันประกอบด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๑๗ แห่งที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกัน ทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต่อมาแนวคิดของเขาได้รับการสานต่อจากทุกฝ่าย ในการจัดการดูแลผืนป่าตะวันตกแบบมีส่วนร่วม ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เอ็นจีโอ และชาวบ้าน |
อ้างอิง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, “ห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติ”, ไม่ระบุปีที่พิมพ์
เพ็ญพรรณ อินทปันตี, วิถีแห่งจอมป่า รักษาป่าตะวันตก, ๒๕๕๒
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, “รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร”, สารคดี ฉบับสิงหาคม ๒๕๔๓
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, ตะโกนก้องจากพงไพร, ๒๕๓๔
อนรรฆ พัฒนวิบูลย์, “บันทึกจากป่าตะวันตก กับการอยู่รอดของสัตว์ป่า”, สารคดี ฉบับพฤศจิกายน ๒๕๔๕
ขอขอบคุณในความเอื้อเฟื้อ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติพุเตย