โลกใบใหญ่ สิ่งแวดล้อม
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

จอกหูหนูยักษ์(Giant salvinia) เป็นวัชพืชร้ายแรงสุดชนิดหนึ่งของโลก
มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเบียดแน่นเป็นแพขนาดใหญ่
ทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงด้านล่าง ออกซิเจนละลายลงสู่แหล่งน้ำได้น้อย (ภาพ : ดร.ศิริพร ซึงสนธิพร)

 

องค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Year of Biodiversity) เพื่อเสริมสร้างความตระหนักในความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากพบว่ามีปัจจัยหลายประการก่อให้เกิดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของโลก อาทิ การบุกรุกพื้นที่ป่า การทำกสิกรรมเชิงเดี่ยว โรคระบาด ภาวะโลกร้อน ตลอดจนการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species)

ปัจจุบันประเทศไทยมีสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นกว่า ๓,๕๐๐ ชนิด และยังมีผู้นำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในการเกษตร เป็นสัตว์เลี้ยง ไม้ดอกไม้ประดับ หรือเก็บรวบรวมไว้ที่สวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์

ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่กำลังเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพของไทยและของโลกว่า “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหมายถึงชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นชีวภูมิศาสตร์หนึ่งมาก่อน แต่ถูกนำเข้ามาหรือเข้ามาเองโดยวิธีใด ๆ จากแหล่งอื่น การดำรงอยู่หรือสืบพันธุ์ของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความสามารถในการปรับตัวในแหล่งใหม่

“ปรกติการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งโดยธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดเข้ามาในประเทศไทยแล้วกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพด อ้อย ชุมเห็ดเทศ เป็ดเทศ เมื่อเราได้ประโยชน์จึงไม่รู้สึกว่าถูกคุกคาม แตกต่างจาก ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน’ ที่เข้ามาแล้วสามารถตั้งถิ่นฐาน แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง กลายเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นสูญพันธุ์ คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพเดิม”


จอกหูหนูยักษ์ (สีเขียวเข้มกลางภาพ) เจริญเติบโตปกคลุมผิวน้ำ
แม่น้ำแม่กลองบริเวณวัดท่าล้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
เมื่อกลางปี ๒๕๕๓ ส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ท้องถิ่น
อาทิ ตับเต่า ต้อยติ่งสาย (ภาพ : ดร.ศิริพร ซึงสนธิพร)

 

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่องมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น นิยามหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทยออกเป็น ๔ รายการ ประกอบด้วย

รายการที่ ๑ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว อาทิ หงอนไก่ฝรั่ง สาบเสือ เชื้อโรคแท้งติดต่อในโค มดคันไฟ หอยทากยักษ์แอฟริกา ปลาซักเกอร์หรือปลากดเกราะ ปลาช่อนแอมะซอน เต่าแก้มแดง นกพิราบ นกกระจอกใหญ่ เป็นต้น

รายการที่ ๒ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน อาทิ ผักเป็ดแดง กุ้งขาว ผีเสื้อหนอนเจาะผลเงาะ เพลี้ยแป้งอ้อย หอยนักล่าสีส้ม ปลาเทราต์สายรุ้ง
ปลาหางนกยูงไต้หวัน กบบูลฟร็อก นากหญ้า เป็นต้น

รายการที่ ๓ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่นแต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย อาทิ ป่านมะนิลา บุหงาส่าหรี ถั่วคุดสุ หอยนักล่าสีชมพู ปลาปิรันยา อีกัวนา นกหงส์หยก นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป เป็นต้น

รายการที่ ๔ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย อาทิ โรคราของกุ้ง ผักแว่นใบใหญ่ เพลี้ยไฟกล้วยไม้ มดอาร์เจนตินา ต่อยุโรป หอยกะพงเมดิเตอร์เรเนียน กระรอกสีเทา เป็นต้น

ดร. ศิริพร ซึงสนธิพร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ยกตัวอย่างจอกหูหนูยักษ์ เฟินน้ำต่างถิ่นที่พบการระบาดในแม่น้ำแม่กลอง ว่า “จอกหูหนูยักษ์เป็นวัชพืชน้ำร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เติบโตและขยายพันธุ์เร็ว กำจัดยาก เพราะต้นที่หักเพียง ๑ เซนติเมตรสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ทันที ในเวลา ๓ เดือนเพิ่มน้ำหนักสดได้ถึง ๖๔ ตันต่อไร่ ใกล้เคียงกับผักตบชวา รอบปีที่ผ่านมาพบการแพร่ระบาดในแม่น้ำแม่กลอง ปกคลุมพืชท้องถิ่น อาทิ ตับเต่า-ผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมเก็บมารับประทานจิ้มน้ำพริก ต้อยติ่งสาย-พันธุ์ไม้น้ำสวยงามพบเฉพาะลุ่มน้ำภาคกลาง

“นอกจากนี้ยังพบว่าสถานที่ที่มีจอกหูหนูยักษ์ขึ้นหนาแน่น น้ำจะเริ่มเน่า ปลาจะหายไป พันธุ์ไม้ใต้น้ำไม่มีการสังเคราะห์แสง สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ จึงอาจสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำนั้น เพราะชั้นที่มีความหนา ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ทำให้แสงแดดและอากาศไม่สามารถลอดผ่านลงไปได้ ขอเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง พบเห็นที่ใดให้แจ้งทางการหรือกำจัดออกจากแหล่งน้ำด้วยการนำไปตากแห้งแล้วเผาหรือฝังกลบ”

โสมวรรณ สุขประเสริฐ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางป้องกันปัญหาการรุกรานจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในภาพรวมว่า “ปัญหาการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมักเกิดจากความไม่รู้ รวมถึงการลักลอบนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นแล้วปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยขาดความตระหนักต่อผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานสิ่งแวดล้อม แผนการต่อไปของสำนักฯ คือการศึกษาว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นคุกคามและส่งผลกระทบต่อชนิดพันธุ์อื่นในประเทศอย่างไร จำนวนเท่าไร มีผลต่อสังคม เศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าเท่าไร เพื่อให้มีหลักฐานเป็นรูปธรรมสำหรับนำข้อมูลมาเผยแพร่และสร้างความตระหนักได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือการหาวิธีควบคุมและกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วในประเทศไทย”