วันชัย ตัน
ภาพประกอบ DINHIN

เจอร์รี ฟรายด์แมน วัย ๕๘ ปี เป็นช่างภาพอาชีพมาตลอดชีวิต มีสตูดิโอขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ตัดสินใจเลิกกิจการสตูดิโอถ่ายภาพ และเริ่มต้นทำงานที่ตื่นเต้นท้าทายกว่า โดยออกเดินทางไปรอบโลกเพื่อตามหาคนที่มีอายุมากที่สุด

เมื่อ ๓ ปีก่อน ช่วงปลายฤดูหนาว ขณะที่อุณหภูมิติดลบ ๓.๓ องศาเซลเซียส เจอร์รี ฟรายด์แมน เดินทางมายังเมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย เพื่อมาพบกับ แดมชากิน กอนเดนดาร์จา ลามะทิเบตวัย ๑๑๐ ปี ผู้ซึ่งได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตตอนอายุ ๑๐๖ ปี ฟรายด์แมนประหลาดใจมากที่พบว่าลามะรูปนี้ยังมีฟันครบทุกซี่ ตลอดชีวิตท่านไม่เคยต้องไปหาหมอ ความเจ็บป่วยอย่างเดียวที่พบคือโรคปวดหลัง

“ท่านเป็นบุคคลที่น่ายกย่องที่สุดเท่าที่ผมเคยพบมา ใบหน้าของท่านบ่งชัดถึงความสุขุมเยือกเย็นอย่างที่ผมไม่เคยพบเจอมาก่อน”

ลามะรูปนี้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอายุเกิน ๑๑๐ ปี จำนวนกว่า ๕๐ คน ที่ฟรายด์แมนสัมภาษณ์และถ่ายภาพเพื่อจัดทำหนังสือ Earth’s Elders : The Wisdom of the World’s Oldest People

ก่อนออกเดินทาง ฟรายด์แมนได้พบข้อมูลว่า ในโลกใบเล็กนี้มีผู้อายุเกิน ๑๐๐ ปีอยู่ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีประมาณ ๖๐ กว่าคน และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

“เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นพบวิธีการตรวจสอบอายุของมนุษย์ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นถ้าไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารมายืนยัน ก็ไม่มีทางพิสูจน์อายุของคนได้” ฟรายด์แมนกล่าว

ครั้งหนึ่งฟรายด์แมนเดินทางไปพบคุณยายแอนน์ สมิท วัย ๑๑๒ ปี ที่บ้านพักคนชราในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ เธอปล่อยให้เขารอเป็นชั่วโมงโดยบอกว่าจะทำขนมให้เขารับประทาน

“คุณยายต้องการทดสอบผมว่าจะมีความอดทนเพียงใด ทั้งยังมีคำพูดทิ้งท้ายที่น่าคิดด้วยว่า คนที่มีชีวิตยืนยาวมาถึง ๑๑๒ ปี จะรู้ว่าเวลาไม่มีความสำคัญอีกต่อไป”

หลังจากนั้นฟรายด์แมนก็ออกเดินทางค้นหาคนแก่ไปทั่วโลก จากสหรัฐอเมริกา เขาข้ามน้ำข้ามทะเลสู่อิตาลี โปรตุเกส สเปน โมร็อกโก มองโกเลีย ทิเบต กระทั่งได้ข้อสรุปบางประการว่า

“เมื่อคนเหล่านี้เข้าสู่วัยชรา พวกเขาจะได้รับการเคารพนับถือจากคนในชุมชนเสมือนเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตและเปี่ยมด้วยคุณค่า โดยเฉพาะในวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวตะวันออก อายุเป็นที่มาของการได้รับความเคารพ แตกต่างจากในสังคมตะวันตกซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งใหม่ๆ เป็นโลกของคนรุ่นใหม่ พวกเขาจึงไม่ค่อยให้ความเคารพผู้สูงอายุมากนัก”

จากการเดินทางไปทั่วโลก ฟรายด์แมนแทบไม่พบคนสูงอายุที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว โมโหง่าย คนชราที่เขาได้พบมักจะเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีความอดทนต่อความทุกข์ยากในชีวิต แม้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน แต่ก็มีครอบครัว เครือญาติ และมิตรสหายที่มั่นคง นอกจากนี้คนในครอบครัวก็มักจะมีอายุยืนยาว

ฟรายด์แมนบอกว่ารายได้จากการขายหนังสือจะมอบให้แก่มูลนิธิ Earth’s Elders องค์กรสาธารณกุศลที่เขาก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้หวังผลกำไร

“ผมได้กำไรอยู่แล้วทุกๆ วัน เพียงแต่มันไม่ใช่ตัวเงิน สิ่งที่ผมได้พบเห็น ได้รับจากการพูดคุยกับผู้คนเหล่านี้ มันเปลี่ยนชีวิตของผมให้ดีขึ้น ช่วยเปิดดวงตาของผมให้เห็นความดีงามของมนุษย์

“พวกเขานั่งอยู่ที่นั่น รอคอยที่จะมอบเรื่องเล่าอันสุดวิเศษให้แก่เรา และคุณก็แค่ตั้งใจฟังเท่านั้น”

วันนี้คุณเริ่มต้นเดินทางบ้างหรือยัง