ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์
อาจารย์อาคิยาม่าออกแบบโปสเตอร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๗๙ เพราะเห็นว่า
จะกลายเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต จนบัดนี้อาจารย์ก็ยังคงทำงานออกแบบในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
ในเว็บไซต์ของอาจารย์ทาคาชิ อาคิยาม่า (Takashi Akiyama) ที่มีลักษณะเหมือนสมุดบันทึกจำนวนหลายร้อยหน้า คือเต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยกับรูปถ่าย หลายพันรูป มีอยู่หน้าหนึ่งเป็นสัมภาษณ์สั้นๆ จากนิตยสาร Tsuhan เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ เกี่ยวกับการทานอาหารชื่อโอชาซึเคะ (Ochazuke _ เป็นข้าวราดน้ำชาร้อนโรยด้วยสาหร่ายหรือเครื่องปรุงอื่นๆ แกล้มผักดองประเภทต่างๆ) อาจารย์พูดว่า “ผมมักจะทานโอชาซึเคะในระหว่างทำงาน…กลิ่นอันเข้มข้นของสาหร่ายที่ลอยอยู่บนไอน้ำร้อนเป็นอะไรที่จริงแท้ เมื่อเข้าปาก ความอร่อยของธรรมชาติและรสชาติกระจายอยู่เต็มลิ้น”
ในหน้านิตยสารมีภาพอาจารย์อาคิยาม่าถือถ้วยอาหารดังกล่าวในมือขวาและตะเกียบในมือซ้ายพร้อมรับประทาน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนี่เป็นภาพในหน้านิตยสาร ธรรมดาๆ หน้าหนึ่ง แต่ภาพและบทสัมภาษณ์นี้ทำให้ผมฉุกใจคิดถึงตัวงานของอาจารย์ขึ้นมาทันที เพราะลายเส้นที่เรียบง่ายแบบการ์ตูนของอาจารย์เมื่อมองดูผาดๆ ครั้งแรกจะรู้สึกเหมือนอาหารที่กล่าวถึง คือประกอบได้ง่ายมากแต่เมื่อพินิจพิจารณาเราจะพบว่าภาพต่างๆ มีเนื้อหาที่น่าสนใจและให้รสชาติของความคิดที่ละเอียดอ่อนดุจกลิ่นหอม และรสชาติของสาหร่ายกับเครื่องปรุงต่างๆ กระจายอยู่เต็มแผ่นโปสเตอร์
อาจารย์อาคิยาม่าชอบเรียกงานตัวเองว่าเป็น “อีกภาษาหนึ่งของมนุษย์” ซึ่งเป็นคำกล่าวเชิงอุดมคติใฝ่ฝันหาภาษาที่มนุษย์ทั่วโลกเข้าใจได้ตรงกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าการสื่อสารผ่านภาษานั้นมักจะมีอุปสรรคเสมอๆ กล่าวกันว่ามีภาษาพูดในโลก มากกว่า ๓,๐๐๐ ภาษา และภาษาเขียนกว่า ๔๐๐ ภาษา แม้จำนวนอันมากมายนี้จะเป็นหลักฐานบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของสติปัญญามนุษย์ แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อต้องสื่อสารข้ามภาษา ความอุดมสมบูรณ์นี้ กลับเป็นข้อจำกัดและนำมาซึ่งความเข้าใจผิด ใหญ่บ้างเล็กบ้างตามแต่กรณี ทำอย่างไรจึงสามารถสื่อสารข้ามภาษา นี่คือคำถามที่มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบัน คำตอบก็คือ ภาพ ในขณะที่ภาษามีเงื่อนไขจำนวนมาก (เช่น คำศัพท์ ไวยากรณ์ หรือบริบททางวัฒนธรรม) ภาพเป็นสิ่งที่อาศัยเงื่อนไข การตีความน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามในทัศนะของอาคิยาม่า ภาพบางประเภทก็มีข้อจำกัด เช่นภาพถ่ายที่แม้จะสื่อเนื้อหาได้ชัดเจน แต่ก็ติดปัญหาว่าภาพถ่ายเหมือนจริงหรือเป็นรูปธรรมมากจนยากจะสื่อสารเนื้อหาอื่นๆ เช่นความคิดที่มีลักษณะเป็นนามธรรมได้
อาคิยาม่าจึงสนใจภาษาดั้งเดิมของมนุษย์ คือภาพวาดลายเส้นแบบง่ายๆ นึกถึงภาพบนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคโบราณ ที่จับใจเมื่อยามพบเห็นและชวนให้พิศวงอยู่เสมอๆ ภาพลักษณะนี้ หรือที่เรียกในภาษาของงานออกแบบกราฟิกว่า “ภาพประกอบ” (illustration) มีศักยภาพอยู่ที่ความสามารถในการสื่อสารที่ภาษาและภาพประเภทอื่นไปไม่ถึง ยิ่งภาพประกอบในแง่มุมที่มีลักษณะเป็นการ์ตูนด้วยแล้ว ยิ่งสามารถทำให้เรื่องที่พูดได้ยากพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อสารได้กับคนทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติ
ตัวอย่างที่ทำให้เห็นประเด็นนี้ได้ดีที่สุดเห็นจะเป็นงานชุด “Condom Boy”
Aids Condom Boy(Man), ๑๙๙๒ |
Aids Condom Boy(Lady), ๑๙๙๒ |
Aids Condom Boy(Earth), ๑๙๙๒ |
Aids Condom Boy(Target), ๑๙๙๒ |
Aids Condom Boy(Venus), ๑๙๙๒ |
โปสเตอร์ชุด “Condom Boy” ในโครงการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ เป็นการตีโจทย์ที่ยากแก่การนำเสนอ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น |
งานออกแบบโปสเตอร์ส่วนใหญ่ของอาจารย์อาคิยาม่า เป็นงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างและไม่มีผลตอบแทนทางธุรกิจ อาจารย์กล่าวเปรียบเทียบว่านักหนังสือพิมพ์ก็มีสื่อของตนเอง เช่นเดียวกับโทรทัศน์หรือวิทยุ นักออกแบบก็มีสื่อเช่นกัน ในกรณีนี้คือโปสเตอร์ ความสำคัญอยู่ที่เนื้อหาที่ต้องการสื่อ และบทบาทที่นักออกแบบคาดหมายกับตัวเอง
ช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ ต่อต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ มีการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์กันอย่างเอาจริงเอาจังไปทั่วโลกรวมไปถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย ปัญหาชวนปวดหัวสำหรับนักออกแบบสื่อประเภทต่างๆ มีอยู่ ๒-๓ เรื่อง หนึ่งก็คือการพูดเรื่อง
เพศสัมพันธ์ในสื่อสาธารณะของสังคมเวลานั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายอย่างน่าพิศวง (ตัวอย่างที่เด่นชัดในบ้านเราเห็นจะเป็นกรณี คู่มือวัยใส* เมื่อ ๘-๙ ปีที่ผ่านมา) อีกเรื่องหนึ่งน่าจะเป็นว่ากลุ่มเป้าหมายของการรณรงค์ที่เป็นวัยรุ่นนั้นทำให้เกิดปมขัดแย้งขึ้นมาระหว่างการกระตุ้นให้ใช้ถุงยางอนามัยแต่ไม่อยากกระตุ้นให้มีเพศสัมพันธ์มากขึ้น
อาจารย์อาคิยาม่าออกแบบโปสเตอร์ในโครงการนี้โดยการสร้างสรรค์ “คอนดอมบอย” (Condom Boy) ตัวคาแร็กเตอร์ถุงยางอนามัยที่ดูเหมือนเด็กน่ารักวิ่งประกบไปกับภาพอื่นๆ สื่อความหมายหลากหลายในแง่มุมที่การรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์น่าจะพูดยืนยันในประเด็นหลัก คือ การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่นการใช้อุดมคติของความเป็นผู้หญิงผ่านภาพวีนัสที่วาดโดยศิลปินอิตาลีสมัยเรอเนซองซ์ชื่อ บอตติเชลลี คอนดอมบอยที่วิ่งอยู่บนไหล่ซ้ายของวีนัสช่วยทำให้เราเข้าใจการกระตุ้นให้ใช้ถุงยางอนามัย ด้วยความที่มีลักษณะเป็นการ์ตูน เจ้าคอนดอมบอยจึงพูดเรื่องนี้ได้ในแง่มุมน่ารักน่าชังแบบเด็กๆ
ความจริง ด้วยศักยภาพของงานชุดนี้ทำให้คำอธิบายดูไม่จำเป็น (นอกจากนี้ยังทำให้ไอเดียของอาจารย์อาคิยาม่าเสียไปเนื่องจากต้องการสื่อสารข้ามภาษา ดังนั้นการดูภาพก็ควรจะเพียงพออยู่แล้ว) อย่างไรก็ตาม อยากจะขอเสริมอีกนิดหนึ่ง นอกจากสีที่สดใสจะส่งเสริมความน่ารักของคาแร็กเตอร์ไปในตัวงานชุดนี้ ที่เหนือชั้นในสายตาผมคือโปสเตอร์ ๒ ชิ้นที่เป็นคอนดอมบอยเล่นกับอวัยวะเพศชายและหญิง ในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับภาพ เราพอจะตระหนักว่าการวาดภาพจู๋กับจิ๋มในสื่อสาธารณะ (นอกเหนือจากบริบทแบบตำราเรียนกายวิภาคหรือวิทยาศาสตร์) นั้นทำได้ยากมาก แต่ภาพทั้งสองนี้สามารถนำเสนอภาพดังกล่าวในฐานะจุดโฟกัสได้อย่างสบายตา น่ารัก ไม่หยาบคาย
ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ขันในภาพที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ คอนดอมบอยเที่ยววิ่งไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไปห่อหุ้มโลก เป็นเป้าสังหารราวกับสายลับในภาพยนตร์ กระโดดโลดเต้นดั่งมีชีวิต ในแง่ของอารมณ์ขัน อาจารย์บอกว่าชอบงานของนักวาดโปสเตอร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ เรย์มงด์ ซาวิยัค (Raymond Savignac) ที่มีลักษณะเป็นการ์ตูนและมีอารมณ์ขันเช่นกัน ทั้งสองเชื่อว่าอารมณ์ขัน
เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาความเครียดได้ดีที่สุด และอารมณ์ขันจากภาพก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรจะหาได้ในชีวิตประจำวัน
ลักษณะของอารมณ์ขันและความเรียบง่ายแบบการ์ตูนของภาพซึ่งอาจารย์ย้ำว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การพูดข้ามภาษาเป็นไปได้ นับเป็นภาษาสากลที่สุดในบรรดาภาษาที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา
“ทำภาพให้เคลื่อนไหว ให้ลมหายใจแห่งชีวิตแก่คาแร็กเตอร์” เป็นคำกล่าวของอาจารย์อาคิยาม่าที่ดูเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวโดยนักวาดภาพประกอบชาวญี่ปุ่นในดินแดนที่การสื่อความผ่านคาแร็กเตอร์เป็นเหมือนภาษาที่สองของคนในชาติญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งคาแร็กเตอร์นับตั้งแต่ โอซามุ เท็ตซึกะ (Osamu Tezuka) นำเสนอ “แอสโตรบอย” (Astro Boy) หรือ “เจ้าหนูปรมาณู” เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๓ ปัจจุบันแทบไม่มีอาณาบริเวณใดที่ตัวคาแร็กเตอร์เหล่านี้จะไปไม่ถึง ตั้งแต่คนโค้งคำนับ “ขออภัยในความไม่สะดวก” หน้าไซต์งานก่อสร้าง จนถึงเฮลโลคิตตี้ แมวน่ารักที่ระบาดไปทุกหัวระแหง ตั้งแต่ตุ๊กตาเด็กเลียปากของร้านขนมปังฟูจิยะ ไปจนไคไคคิคิ (Kaikai Kiki) ของ ทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) ศิลปินที่ถือกันว่าเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นยุคปัจจุบันในสายตาสังคมโลก ตอกย้ำด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทูตอะนิเมะเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างชาติ เป็นคาแร็กเตอร์หุ่นยนต์แมวไร้หูโดราเอมอนตั้งแต่ปี ๒๐๐๘
Illustration Posters in China-Korea-Japan, ๒๐๐๗ |
Takashi Akiyama in Ginza – Humor Illustration, ๒๐๐๗ |
Mount Fuji on a Fine Breezy Day in Autumn, ๒๐๐๗ |
Chinese Poster Takashi Akiyama, ๒๐๐๘ |
Message Illustration Poster in Toyama, ๒๐๐๔ |
Illustration Studies Tama Art University-Art (Artery and Vein), ๒๐๐๘ |
Message Illustration Poster (Voice), ๒๐๐๖ |
Takashi Akiyama in Bangkok, ๒๐๐๙ |
งานออกแบบที่ไม่ได้นำเสนอในเชิงธุรกิจ สามารถมีพลังนำเสนอประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม เช่น การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ปัญหาครอบครัว และความอบอุ่น ไปจนถึงเนื้อหาที่สื่อสารกับคนทั้งโลก เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม
อาจารย์อาคิยาม่าก็พยายามสร้างคาแร็กเตอร์เช่นกัน ด้วยการให้ชีวิตแก่ภาพในโปสเตอร์จำนวนมากที่วาดขึ้นเพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมโลกที่อาจารย์สนใจทำมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๙ สัตว์ต่างๆ ถูกสร้างให้มีชีวิตชีวา มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน นอกจากนั้นวัตถุอย่างลูกโลกอันเป็นสิ่งที่ไม่น่าวาดให้มีคาแร็กเตอร์ได้ก็ถูกวาดจนมีชีวิต วิธีการหลักคือการให้อารมณ์ที่เกิดจากกิริยาอาการต่างๆ ของลูกโลก เช่นเดียวกับซุ้มติดโปสเตอร์ (kiosk) อันเป็นวัตถุไร้ชีวิตก็ถูกวาดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา คอนดอมบอยที่กล่าวไปแล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดี
ในแง่ของการวาด อีกหนึ่งเทคนิคที่พบในงานของอาจารย์อาคิยาม่าเสมอๆ คือเส้นเคลื่อนไหว (motion line) สำหรับนักอ่านการ์ตูนแบบเราๆ ท่านๆ คงทราบดีว่าเส้นเคลื่อนไหวนั้นเป็นส่วนสำคัญอันขาดไม่ได้ของการ์ตูนเล่าเรื่อง
ที่อ่านกันอยู่ทีเดียว โดยเฉพาะการ์ตูนแนวบู๊หรือแนวกีฬาที่เส้นเคลื่อนไหวแทบจะกลายเป็นพระเอกของเรื่องเลยทีเดียว ในกรณีของอาจารย์ แม้เส้นเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดแอ็กชัน แต่ก็เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและสร้างให้ภาพเหล่านั้นมีชีวิตชีวา
นับแต่เริ่มต้นทำงานเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๙ อาจารย์อาคิยาม่าสร้างสรรค์ผลงานจำนวนมาก บ้านเกิดของอาจารย์คือเมืองนางาโอกะ ในจังหวัดนิงาตะ ได้รวบรวมคอลเล็กชันที่อาจารย์ทำไว้กว่า ๕๐๐ ชิ้น จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์โปสเตอร์ Takashi Akiyama Poster Museum Nagaoka พิธีเปิดมีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการตอกย้ำความสำคัญของงานโปสเตอร์และภาพประกอบแบบมีคาแร็กเตอร์ในสไตล์นี้
ปัจจุบันอาจารย์อาคิยาม่าดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาออกแบบกราฟิก มหาวิทยาลัยศิลปะทามะ (Tama Art University) หนึ่งในมหาวิทยาลัยศิลปะที่ดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น อาจารย์ทำทั้งงานสอนและงานวิจัยชิ้นสำคัญๆ ที่สำเร็จแล้วหลายชิ้น เช่นงานวิจัยว่าด้วยโปสเตอร์ที่ใช้ภาพประกอบของประเทศเอเชียตะวันออก คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น จัดเป็นนิทรรศการและตีพิมพ์เป็นหนังสือ
อันจะทรงความสำคัญต่อไปในอนาคต
“ปากกาคมกว่าอาวุธ” คือคำพูดเก่าแก่ที่อาจารย์อาคิยาม่าชอบใคร่ครวญถึงรสชาติที่สื่อสารออกมาในภาพของอาจารย์ เราอาจจะเสริมเข้าไปว่า “ปากกาดีกว่าอาวุธ” เพราะการสื่อสารกันให้ได้และมีอารมณ์ขันด้วยนั้น ดีกว่าการรบราฆ่าฟันห้ำหั่นกันเป็นไหนๆ
*คู่มือวัยใส จัดพิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๔๓ โดยองค์การสยาม-แคร์ ประเทศไทย ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง บ้างว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก มีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม บ้างก็ว่าเป็นหนังสือสอนเพศศึกษาที่ตรงที่สุดและเข้าถึงวัยรุ่นมากที่สุด