วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์ ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

สำหรับคนที่ติดตามการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยเวลานี้ ในที่สุดจะนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตหรือไม่

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาได้ทำให้ประชาชนแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ศรัทธาในตัวคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ และกลุ่มที่เห็นว่าคุณทักษิณเป็นภัยต่อประเทศชาติ จากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทักษิณหลายครั้ง และจบลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ด้วยเหตุผลสำคัญคือป้องกันไม่ให้ความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การนองเลือด

แต่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ พรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทยเดิม ก็ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานพร้อมๆ กับการกลับมาเมืองไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำเสมอว่าจะยุติบทบาททางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าคุณทักษิณอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชนและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาโดยตลอด

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของคุณสมัคร สุนทรเวช ประชาชนทั่วไปก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายเคยมีจะหาทางสมานฉันท์กันได้ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากราคาน้ำมันและราคาข้าวของทุกชนิดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่าจะทำให้ทุกฝ่ายละทิ้งความขัดแย้งทางการเมือง หันหน้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ

ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะพักรบ คุมเชิงกันชั่วคราว

แต่เพียงไม่กี่เดือนรอยร้าวก็เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อผู้นำรัฐบาลใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตน มีการยึดกุมสื่อไว้ในมือ ย้ายข้าราชการชั้นสูงหลายตำแหน่ง และล่าสุดเมื่อพรรคพลังประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ก็ได้กลายเป็นชนวนและตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้น

ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วนอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย มีรากมาจากรัฐประหาร ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้เชื่อว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านการลงประชามติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนเพียงกลุ่มเดียว และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รวบรัดตัดตอน ไม่ฟังเสียงของประชาชน

อารมณ์ความไม่พอใจของมวลชนทั้งสองฝ่ายเริ่มคุกรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากความเห็นที่สวนทางกัน ต่างฝ่ายต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายผ่านสื่อต่างๆ โดยตั้งอยู่บนอคติโกรธเกลียดมากกว่าเหตุผลจนส่อเค้าว่าสถานการณ์อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เคยออกมาเตือนสติสังคมไทยในเวลานี้ก็ไม่มีใครยอมฟังอีกต่อไป

สังคมไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน

ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองไทยด้วยความห่วงใย ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจแก่ สารคดี ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า เราจะฝ่าข้ามไปได้อย่างไร

แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ของสังคมไทยยังพอมองเห็นอยู่

ความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ที่มีการแบ่งขั้วเป็นหลายฝ่าย โดยเฉพาะขั้วใหญ่สองขั้วคือขั้วที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตย กับขั้วที่จะเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ อาจารย์คิดว่ามีทางไหมที่จะลดการเผชิญหน้าและหาทางออกที่ดีกว่า
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ความขัดแย้งแบบนี้จะคงอยู่กับเราไปอีกหลายปี ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรจะเลิกคิดแต่ต้นคือจินตนาการเห็นสังคมไทยในอนาคตที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อให้อีก ๕ ปี ๑๐ ปีข้างหน้าระบบราชการก็ยังอยู่กับเมืองไทย บรรดาสถาบันประเพณีที่เราเคยมีมาในสังคมก็ยังคงอยู่ ในแง่กลับกันอีก ๕ ปี ๑๐ ปีข้างหน้า กลุ่มทุนใหญ่ของเมืองไทย และความพยายามของกลุ่มทุนเหล่านั้นร่วมกับคนจนคนชายขอบซึ่งเขาเดือดร้อนและเขาอยากจะเข้ามามีส่วนใช้อำนาจรัฐ ก็ยังอยู่ในเมืองไทย เขาจะได้เข้ามากุมอำนาจรัฐแบบเด็ดขาดเหมือนสมัยคุณทักษิณหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ แต่ว่าเขาไม่หายไปจากสังคมการเมืองไทยแน่ๆ เราเริ่มต้นแบบนี้ก่อนว่าอย่าจินตนาการเห็นสังคมไทยแบบที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร นี้ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของข้อขัดแย้งที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาเมืองไทยเผชิญเหตุการณ์แบบนี้มาเป็นระยะ ในแต่ละระยะก็มีความเดือดร้อนวุ่นวายพอสมควร ตัวอย่างระลอกใหญ่ระลอกแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ กลุ่มที่เข้ามาคือนายทุนต่างชาติ เจ้าอาณานิคมทั้งหลาย แล้วก็มีกลุ่มคนที่เติบใหญ่ขึ้นมากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจที่สำคัญคือข้าราชการซึ่งก็คือคนชั้นกลางในสมัยนั้น เมื่อเขาเข้มแข็งในสังคมพอสมควร เขาต้องการส่วนแบ่งอำนาจและผลประโยชน์มากขึ้น เขารู้สึกว่าอำนาจการเมืองแบบเดิมที่อยู่กับศูนย์อำนาจเดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มันไม่สอดรับไม่สนองตอบผลประโยชน์ของเขา ในที่สุดก็ลงเอยเป็นเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ระลอกใหญ่ระลอกที่ ๒ คือตอน ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ซึ่งเหตุที่เกิดก็คือกลุ่มศูนย์อำนาจรัฐราชการเดิมต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ อยากให้ประเทศไทยทันสมัยก้าวหน้า การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมก็สร้างคนชั้นกลางแบบที่เกิดในภาคประชาสังคมเมืองขึ้นมา สร้างนิสิตนักศึกษาปัญญาชนขึ้นมา สร้างกลุ่มนายทุนทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัด ซึ่งพวกนี้ก็อึดอัดอีกเพราะว่าระบบการเมืองแบบเดิมตีกรอบจำกัดไว้ให้อำนาจเฉพาะข้าราชการอันเป็นมรดกสืบทอดที่พลิกผันเปลี่ยนแปรมาจากสมัย ๒๔๗๕ ผ่านการรัฐประหารช่วง ๒๔๙๐-๒๕๐๑ อีกส่วนหนึ่ง ในเมื่อระบบการเมืองเดิมไม่สนองตอบต่อคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งมันก็ปะทุ ตอน ๑๔ ตุลาผมคิดว่าใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะหาที่ลงตัวให้แก่คนชั้นกลางกับกลุ่มทุนทั้งในหัวเมืองต่างจังหวัดทั้งในกรุงเทพฯ ที่เติบใหญ่ขึ้นมาได้ ในสายตาผมระลอกนั้นยาวนานร่วม ๒๐ ปี จาก ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ กว่าจะจบลงก็คือ เหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ แล้วสู้กันหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่เดินขบวนประท้วงและลุกฮือขึ้นสู้ในเมือง เผชิญการใช้ความรุนแรง ลอบสังหาร ฆ่าหมู่และรัฐประหารตอน ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จนต้องเข้าป่าไปรบแล้ววางอาวุธออกมา และต่อมาก็ชุมนุมประท้วงและลุกขึ้นสู้อีก แต่ในที่สุดผมคิดว่าหลัง ๒๕๓๕ ตกลงได้แล้วว่าการเมืองต้องเปิดขึ้น ต้องมีที่ให้กับกลุ่มนายทุนหัวเมืองชนบทเข้ามาในรูปของพรรคการเมือง ในรูปของนักเลือกตั้ง ต้องมีที่ให้คนชั้นกลางเข้ามาร่วมสมทบในระบบการเมือง ผ่านการปฏิรูปการเมืองผ่านสถาบันต่างๆ

ที่เราเผชิญตอนนี้เป็นระลอกใหญ่ระลอกที่ ๓ ซึ่งเกิดเพราะเราโลกาภิวัตน์เราโลกานุวัตร เราเลือกเอง หรือพูดอีกอย่างว่าชนชั้นนำไทยทางด้านการเมืองเศรษฐกิจเลือกเอง หลังสิ้นสุดสงครามเย็นช่วงพฤษภาทมิฬ เราเลือกแล้วว่าเราจะ globalization เราจะเปิดประเทศรับกลุ่มทุนการเงินต่างชาติต่างๆ เข้ามาอย่างเสรี แล้วเดินตามตรรกะทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลก ตรรกะนั้นก็คือเราจะเอาทรัพยากรของเรา เอากำลังแรงงานของเรา เอาสินค้าเกษตรเอาวัตถุดิบต่างๆ พลังงานต่างๆ แปรเป็นสินค้าส่งขายเขา เข้าร่วมในระบบการเงินของโลก เพราะเราเชื่อว่านั่นจะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เราจะรวย มีความภาคภูมิใจกันมากว่าเราจะเป็นฮับหรือศูนย์กลางต่างๆ กระบวนการนั้นในที่สุดก็สร้างคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา คือกลุ่มที่รวยกะทันหันเพราะเชื่อมต่อกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้หรือคว้าไว้ทัน ที่สำคัญคือพวกที่โตจากตลาดหุ้น กระแสเงินสากล และไฮเทค พวกดาวเทียมไอทีต่างๆ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่จนจากโลกาภิวัตน์ คือกลุ่มคนที่จะเรียกว่าเดิมอยู่กับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ จากความเปลี่ยนแปลงแบบโลกาภิวัตน์ทำให้เขาสูญเสียฐานทรัพยากรไป เขาไม่สามารถใช้แม่น้ำใช้ป่าใช้ที่ดินเดิมเพราะมันถูกแปรไปเป็นรีสอร์ตเป็นเขื่อน เขาก็หลุดมา เขาหลุดมาเพราะว่าเขายังชีวิตโดยเป็นคนกึ่งเมืองกึ่งชนบท อยู่ชนบทแบบเดิมก็ไม่ได้เต็มที่เพราะว่าฐานทรัพยากรหมดแล้ว จะเข้าเมืองมาดิ้นรนสู้ก็ไม่สำเร็จไม่ร่ำรวยเพราะขาดการศึกษาขาดทักษะที่ตลาดต้องการ คนสองกลุ่มนี้ในที่สุดเป็นกลุ่มที่ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ บทเรียนที่ว่าก็คือการปล่อยให้อำนาจรัฐอำนาจบริหารจัดการเศรษฐกิจเรื่องการเงินการคลังอยู่ในมือคนอื่นนั้น อาจจะจัดการมันไปในทิศทางที่กระทบผลประโยชน์ของเขาก็ได้ ดังนั้นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลดฮวบ หนี้ที่ไปกู้นอกมาเพิ่มเป็นไม่รู้กี่เท่าตัวในเวลาอันสั้น ธนาคารโรงงานร้านรวงปิดตัวล้มละลาย ลูกจ้าง พนักงานตกงานเกลื่อนกลาดต้องดิ้นรนกลับไปหากินในชนบท บทเรียนของคนสองกลุ่มนี้คือเขาต้องมีส่วนแบ่งอำนาจรัฐ เขาต้องขอส่วนแบ่งอำนาจในการจัดการผลประโยชน์จัดการทรัพยากรของประเทศ เพียงแต่ว่าแทนที่เขาจะปฏิวัติแบบคณะราษฎรสมัย ๒๔๗๕ แทนที่เขาจะเดินขบวนลุกขึ้นสู้แบบนักศึกษาคนชั้นกลางตอน ๑๔ ตุลา ผมคิดว่ารูปการณ์ต่อสู้ทางการเมืองของเขาซึ่งมันชอบธรรมในยุคสมัยนี้คือ จัดตั้งพรรคการเมืองแล้วลงเลือกตั้ง ก็มาในรูปพรรคไทยรักไทย เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ ขอส่วนแบ่งอำนาจรัฐ ต้องการเข้าถึงอำนาจรัฐเพื่อใช้อำนาจรัฐนั้นมาบริหารจัดการความเสี่ยงของเขาในท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจการเมืองโลกาภิวัตน์

ผมคิดว่าในกระบวนการนั้นมันก็ไปกระทบกับอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครองสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยอยู่ แล้วอำนาจแบบของสมัยรัฐบาลทักษิณก็เป็นอำนาจที่รวบเข้ามาที่ตัวนายกรัฐมนตรี ตัวพรรคไทยรักไทยเยอะ แล้วเข้าไปบริหารจัดการผลประโยชน์กับทรัพยากรของประเทศอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ก็ทำให้มีคนที่รู้สึกไม่มั่นคงถูกคุกคามจำนวนหนึ่ง ได้แก่พวกกลุ่มทุนเก่ากลุ่มคนชั้นกลางทั้งหลาย มันเลยนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงในรูปของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และในที่สุดก็คือรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

แต่เลือกตั้งครั้งใหม่ก็กลับมาอีก
มีคำสั่งประกาศ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มีการตั้งองค์กรต่างๆ เยอะแยะไปหมดเพื่อจะเช็กบิลเล่นงานรัฐบาลทักษิณกับพรรคไทยรักไทย แต่ในที่สุดพอจะเลือกตั้ง ทั้งที่ถูกยุบพรรคไปแล้วเขาก็สามารถรวมกลุ่มเป็นพรรคพลังประชาชนแล้วชนะเลือกตั้งอีกจนได้ ตั้งรัฐบาลอีกจนได้ แล้วก็มีนอมินีเป็นนายกฯ อีกจนได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักก็คือว่า คุณไม่ได้กำลังดีลกับทักษิณหรือกับกลุ่มของเขาไม่กี่คนที่คุณคิดว่าจะสามารถใช้บางองค์กร บางคำสั่ง บางมาตราในรัฐธรรมนูญ แล้วกันเขาออกไปแล้วเรื่องจะจบ ไม่จบหรอกครับ เพราะสังคมเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแล้ว คนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว เขาอยู่แล้ว เขามาแล้ว สังคมไทยต้องหาทางอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ ไม่ได้แปลว่าต้องชอบ ไม่ได้แปลว่าต้องยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แต่แปลว่าเราต้องจินตนาการถึงระบอบการเมืองที่มีที่ทางให้คนกลุ่มนี้เข้ามา แล้วหาทางอย่างไรที่เราจะดำรงชีวิตทางการเมืองอยู่ด้วยกันในสังคมไทยได้ จัดสรรแบ่งปันอำนาจ ทรัพยากร ผลประโยชน์ ทิศทางสังคมไทยที่เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่ต้องฆ่าฟันกัน

ผมรู้สึกว่าการเมืองสองรูปแบบที่ผ่านมา ไม่ว่ารูปแบบที่กลุ่มใหม่ขึ้นมารวบอำนาจหมดแบบในสมัยรัฐบาลทักษิณ กับรูปแบบเพื่อหยุดทักษิณก็ยินดีทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหาร มันไม่เวิร์กทั้งคู่ ทั้งสองรูปแบบนั้นสังคมไทยจ่ายต้นทุนแพงมากเพื่อหาทางออกจากความพลาดพลั้งจากทางตันทางการเมืองทั้งสองรูปแบบนั้น รูปแบบการเมืองไหนที่จะทำให้พลังทั้งหมดเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้ แล้วก็ต่อสู้ขัดแย้งกันต่อไป ? ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องรักกัน สมานฉันท์กันแล้วจบ ไม่นะครับ การต่อสู้ขัดแย้งยังจะมีอยู่ต่อไป แต่เราต้องนึกถึงระบอบที่ทำให้การต่อสู้ขัดแย้งนั้นมันมีกรอบมีกติกา แล้วไม่ต้องลุกขึ้นมาฆ่าฟันและทำร้ายสังคมไทยเองในกระบวนการที่จะโค่นล้างเอาชนะ ระบอบแบบนั้นอาจใช้คำดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใช้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ในความหมายที่ว่ามีวัฒนธรรมการเมืองบางอย่างในสังคมไทยที่อาจไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกได้แต่คุณฉีกวัฒนธรรมการเมืองไทยไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างหรือรักษารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเพิ่มเติมขึ้นมาสัก ๓-๔ มาตรา จะเป็นหลักประกันยิ่งใหญ่กว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้กันอยู่ตอนนี้

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเพิ่มเติมที่ว่าจะประกอบด้วยอะไรบ้างครับ
รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ผมคิดว่าพอจะช่วยได้นั้นประกอบด้วย มาตราแรก อย่าใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายใช้และอ้างสถาบันกษัตริย์ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน ไม่ว่าฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายคุณทักษิณ ด้วยน้ำหนักด้วยจังหวะที่อาจจะต่างกันบ้าง ผลคืออะไร ? ผลคือว่าพอคุณอ้างสถาบันกษัตริย์เข้ามาอยู่ข้างคุณทางการเมือง คุณขยายความขัดแย้ง เพราะว่าสถาบันกษัตริย์มีสถานะพิเศษในสังคมไทย เป็นสถาบันที่เป็น “ของชาติ” หรือของคนไทยทุกคน พอคุณดึงลงมาแล้วบอกว่าอยู่ข้างคุณในความขัดแย้งทางการเมืองนี้ คุณกำลังขอให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งเลือกข้างไม่ได้ให้เลือกข้าง คุณกำลังทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งควรจะเป็นของคนไทยทุกคนในชาติ กลายเป็นของคนไทยบางคนบางฝ่าย และไม่เป็นของคนไทยบางคนบางฝ่าย มันทำให้ความขัดแย้งขยายใหญ่ แล้วการประนีประนอมเกิดขึ้นยาก มันทำให้มีข้ออ้างที่จะใช้ความรุนแรงในการทำลายฝ่ายตรงข้าม บางคนที่ถูกหาว่าเป็นศัตรูของสถาบันกษัตริย์ก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูกับชาติ

มาตราที่ ๒ อย่าดึงกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง กรณีที่เกิดขึ้นคือเมื่อขัดแย้งกันไปถึงจุดหนึ่งแล้วหาทางออกไม่ได้ ดุลกำลังการเมืองก้ำกึ่ง ก็หันไปดึงกองทัพเข้ามาแล้วใช้กำลังอาวุธตัดสินความขัดแย้ง ปืนชนะ ทำเช่นนั้นอันตราย เพราะเอาเข้าจริงคุณไม่ได้ชนะทางการเมือง ทันทีที่ทหารเก็บปืนถอนตัวกลับเข้ากรมกองเกิดอะไรขึ้น ? การเมืองก็พลิกอีก แล้วมันสร้างแบบอย่างที่น่ากลัวขึ้นมา คุณมีหลักประกันอะไรว่าถ้าคุณดึงกองทัพดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีลักษณะโครงสร้างซึ่งมีลักษณะระยะยาวแบบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำลายล้างบางคนแล้วจบ ไม่ นี่เป็นเกมยาว แล้วคุณดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณรู้แน่ได้อย่างไรว่าทหารจะไม่แตกแยกหรือกระทั่งจับปืนยิงกันเองเข้าสักวันหนึ่ง

มาตราที่ ๓ และ ๔ ไปด้วยกัน ผมคิดว่าบทเรียนที่เราได้ก็คือว่า ในช่วงที่กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ต่อสู้กัน สิ่งที่เขาทำลายไป สิ่งที่เขาใช้เพื่อเป็นพื้นที่ เป็นอุปกรณ์ในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม คือพื้นที่เสรีภาพกับพื้นที่ประชาธิปไตยของประชาชน พื้นที่สิทธิเสรีภาพ หมายถึงสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและแสดงออกของประชาชนพลเมือง แต่แล้วเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คนเหล่านี้พร้อมจะเหยียบย่ำทำลายพื้นที่นี้ เล่นงานสื่อ เล่นงานคนที่มาประท้วงต่อต้านคุณ ในแง่กลับกัน กรณีพื้นที่ประชาธิปไตย เพื่อจะกำจัดกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง พวกเขาก็พร้อมที่จะหยุดการเลือกตั้ง หยุดการปกครองในระบอบรัฐสภา ซึ่งมันอันตรายมากถ้าทำลายสองพื้นที่นี้ เพราะพื้นที่สองพื้นที่นี้เป็นหลักประกันว่าความขัดแย้งจะอยู่ในกรอบ ความขัดแย้งจะมีที่ยุติ มีเกมที่เปิด มีการจบเกมเพื่อเล่นเกมใหม่ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่เคารพพื้นที่สิทธิเสรีภาพ ไม่เปิดโอกาสให้คนโต้แย้งกับผู้มีอำนาจไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจ-ซึ่งผมอยากจะบอกว่าเร็กคอร์ดของทั้งสองฝ่ายแย่ทั้งคู่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ สมัยรัฐบาลทักษิณ ไปถามพวกสื่อมวลชนก็ได้ ไปถามพันธมิตรฯ ก็ได้ว่าโดนอะไรเข้าไปบ้าง สมัย คปค. สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ คปค. กับรัฐบาลสุรยุทธ์ก็โดนควบคุมตัว ก็ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไปถามพวก นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) ก็ได้-พอคุณทำแบบนี้เกิดอะไรขึ้น มันก็เท่ากับคุณไล่เขาลงใต้ดินไปใช้วิธีการต่อสู้รุนแรงนอกระบบ แทนที่คุณจะเปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้ความขัดแย้งต่อสู้กันทางความคิดการเมือง ต่อสู้กันทางนโยบายอย่างเปิดเผยในกรอบกติกา แล้วรักษาพื้นที่ประชาธิปไตยไว้ตัดสินผ่านเสียงข้างมากในการเลือกตั้งว่าในเกมนี้ใครชนะ แปลว่าคนแพ้จบเห่ไหม ? ไม่ คนแพ้ก็สู้ต่อเพื่อลงเลือกตั้งครั้งหน้า อาศัยกฎเกณฑ์กติกาเท่าที่มีต่อต้านคะคานเสียงข้างมาก ถ้าเราทำลายหลักประชาธิปไตยลงไป เราไม่ยอมให้เกมยุติที่เสียงข้างมาก มันก็ไม่มีที่ยุติ และเพราะเราไม่ยอมให้มีที่ยุติไม่ใช่หรือ ทุกวันนี้มันก็เลยเล่นเราต่อ

ดังนั้นถ้ารักษา ๔ มาตรานี้ไว้ได้ รักษาพื้นที่สิทธิเสรีภาพ รักษาพื้นที่ประชาธิปไตย ขัดแย้งกันภายในสองพื้นที่นี้ อย่าเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่าเอาทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ผมคิดว่าในที่สุดสังคมไทยคงจะเจอทางออกว่าเราจะใช้สูตรการเมืองไหนที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ จะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรที่ทำให้พลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มคนชายขอบ กับกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มคนชั้นกลาง อยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทย

ในรัฐบาลชุดนี้ปัจจุบันได้พยายามทำในสิ่งนี้บ้างหรือเปล่า
ผมเกรงว่าในแง่ของพื้นที่สิทธิเสรีภาพไม่ใช่แบบนั้น หลังจากขึ้นสู่อำนาจไม่นานก็เริ่มมีกรณีพยายามจะเข้าไปช่วงชิงใช้สื่อเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการออกความเห็นของฝ่ายค้านปรากฏขึ้น หรือการไม่ประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างของคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ ถ้าเราไม่ประกันอันนี้ก็จะเกิดเหตุประเภทมีคนที่ชุมนุมและมีคนที่มาล้อมการชุมนุม และมีคนที่ถูกทำร้ายเพราะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด แล้วมันก็ทำให้ความบาดหมางเจ็บแค้นลุกลามบานปลาย รัฐบาลมีหน้าที่ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคน ทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะมันจะช่วยประกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ในแง่การยืนยันหลักการประชาธิปไตยรัฐบาลชุดนี้ก็มั่นคงนะครับ เพราะว่าอำนาจเขาได้มาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก แต่ในแง่การรักษาพื้นที่สิทธิเสรีภาพ ผมเกรงว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะอดทนอดกลั้นไม่มากพอ แล้วการใช้อำนาจจัดการกับคนที่เห็นต่างมันก็ผลักให้ความขัดแย้งซึ่งแทนที่จะทำกันอย่างเปิดเผยสันติ เข้าไปสู่จุดที่ต้องใช้กุศโลบายเล่ห์กลใต้ดินมากขึ้น

ในแง่ของสิทธิเสรีภาพผมคิดว่าผู้ที่มีอำนาจจากการเลือกตั้งควรต้องเข้าใจ เพราะไม่แน่หรอกนะครับว่าสักวันหนึ่งเสียงข้างมากของคุณจะกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภา เกมประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนี้ มันคือเกมที่เสียงข้างมากชนะ แล้วเสียงข้างน้อยมีสิทธิที่จะเถียงต่อจนกว่าเปลี่ยนใจเสียงข้างมากได้ คุณไม่มีสิทธิ์ไปปิดปากเสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยไม่มีสิทธิ์ยึดอำนาจแล้วทำลายมติเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างน้อยมีสิทธิ์เถียงต่อ และต้องประกันต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการเถียงของเขาจนกว่าเปิดเกมใหม่ ซึ่งก็ไม่แน่เขาอาจจะกลายเป็นฝ่ายชนะในเกมใหม่นั้นก็ได้ ถ้าเขาชนะ คุณก็กลายเป็นเสียงข้างน้อย ถึงตอนนั้นคุณก็คงจะคิดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ดังนั้นไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ประชาธิปไตย แต่พื้นที่สิทธิเสรีภาพก็ต้องให้ความสำคัญ ทั้งสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน การบอดต่ออันใดอันหนึ่งนั้นเป็นปัญหาสำหรับการเมืองไทย

สี่ข้อนี้คือสิ่งที่อาจารย์คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย แล้วสถานการณ์ ณ วันนี้มีความเป็นไปได้ไหมครับที่ ๔ ข้อนี้จะเกิดขึ้นได้ ไม่สนิทใจทีเดียวนะครับ เพราะผมคิดว่ามันไม่สิ้นสุด เรื่องสิทธิเสรีภาพก็เริ่มมีการใช้อำนาจรัฐที่ได้มาจากเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งเข้าไปจำกัดจำเขี่ยสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อยมากขึ้น ในแง่ของการดึงเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็เริ่มมีการกล่าวหาแจ้งความกันในแวดวงการเมืองและสื่อมวลชนว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้แปลว่าคดีหมิ่นไม่มีพื้นมูลเลยนะครับ แต่ผมมีความรู้สึกว่าที่ผ่านมามีการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทางการเมืองมากขึ้น เพราะโครงสร้างกฎหมายอย่างที่เป็นอยู่มันง่ายเกินไป ได้มีข้อเสนอแนะจากนักนิติศาสตร์และองค์กรสิทธิเสรีภาพต่างๆ ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ เช่น มอบหมายให้บางหน่วยงานกลั่นกรองเสียก่อน เมื่อไรที่มีการกล่าวอ้าง ลำเลิกขึ้นมาว่าจะฟ้องกันในคดีทำนองนี้ ให้นำเสนอผ่านการกลั่นกรองเสียก่อนว่ามีน้ำหนักหลักฐานพอไหม ไม่ใช่เป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันทางการเมือง มีกระบวนการกลั่นกรองพอสมควรเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างสถาบันกษัตริย์กับความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจไปเกี่ยวพันกับคนที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือคุณต้องคิดถึงใจคนนะครับ พอคนคนหนึ่งถูกฟ้องว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทันทีที่คนไทยทั่วไปหรือสาธารณชนได้ยินเช่นนั้นก็จะมีความรู้สึกรุนแรง มีความรู้สึกเซนซิทิฟ แล้วก็อาจจะยากที่จะรับฟังเสียงคนคนนั้น อาจโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าคนคนนั้นมีความผิด หรือด่วนปรักปรำตัดสินคนคนนั้นล่วงหน้า มันจึงเป็นช่องโหว่ช่องว่างให้คนที่เป็นศัตรูกันทางการเมืองหยิบฉวยไปฟ้องร้องกันได้ง่ายๆ ผมคิดว่าเราต้องหาทางป้องกันเรื่องเช่นนี้ ป้องกันยังไงผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่าเราต้องหาทางวางระยะห่างให้มากขึ้นระหว่างคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ ไม่เช่นนั้นสถาบันกษัตริย์จะถูกดึงลงมาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นอันตรายต่อการเมืองไทยทั้งหมด มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง

ในแง่ทหารก็เบาบางลงไปบ้าง แต่ผมคิดว่ากองทัพไม่ได้ลอยพ้นจากสังคมไทยเสียเลยทีเดียว ความขัดแย้งในสังคมความขัดแย้งทางการเมืองย่อมมีผลกระทบต่อกองทัพ ดังนั้นการที่สังคมไทยถกเถียงกัน อย่างในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ มีฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้บางมาตรา มีฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้ทั้งฉบับ มีฝ่ายที่เห็นว่าห้ามแก้ ถ้าแก้แล้วถือว่าแก้เพื่อตัวเอง ไม่คิดหรือครับว่าทหารในกองทัพก็ได้ยินข้อถกเถียงเหล่านี้ ไม่คิดหรือครับว่าทหารในกองทัพก็ไม่ได้เห็นเหมือนกันไปหมด ผมคิดว่าเราไม่สามารถจินตนาการถึงการเมืองไทยที่กองทัพไทยมีความคิดทางการเมืองเป็นเอกภาพอีกต่อไปแล้ว เราจะพบความเป็นจริงว่าในกองทัพมีทัศนะต่อการเมือง ต่อความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นแตกต่างหลากหลายกัน ซึ่งไม่เป็นปัญหาตราบเท่าที่ทหารแต่ละคน ผู้บังคับบัญชาแต่ละคน แสดงบทบาททางการเมืองเท่ากับพลเมืองไทยคนหนึ่ง คือเรามีสิทธิ์ one man one vote หรือออกความคิดเห็นในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งเท่ากัน แต่อันตรายถ้าเกิดว่าในฐานะผู้ที่กุมอาวุธแล้วเอาอำนาจการกุมอาวุธของเขาเข้ามาเกี่ยวพันกับความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกับตน

นักวิชาการบางท่านบอกว่าถ้าเกิดความขัดแย้งในสังคมจนกระทั่งถึงขั้นนองเลือด ทหารก็จำเป็นต้องออกมาเพื่อยุติการนองเลือด
ทหารออกมาอาจจะทำให้ความรุนแรงเฉพาะหน้าลดลง แต่ว่าเป็นการเพาะเมล็ดความรุนแรงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะนั่นแปลว่าทหารเข้ามาร่วมในคู่ความขัดแย้งแล้ว ขอให้นึกดูนะครับ แน่นอน คปค. เข้าใจตัวเองตอนที่ทำรัฐประหารว่าออกมายุติความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้รุนแรงกว่านั้น แต่ผมขอถามว่าหลังจากรัฐประหาร ๑ ปี ภาพพจน์ของทหารเป็นกลางทางการเมืองมากขึ้นหรือน้อยลง ? ชาวบ้านมีลักษณะที่แบ่งกลุ่มต่อต้านทหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าเดิม ? ผมเกรงว่ามันมากขึ้น ผมเกรงว่าการปะทะกันทางการเมืองระหว่างกองทัพในฐานะสถาบันกับกลุ่มประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างออกไปมากขึ้น ดังนั้นกลายเป็นว่า ๑ ปีที่ผ่านมาทหารเข้ามาพัวพันนัวเนียกับความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วในรูปการณ์ของคนที่ถืออาวุธเข้ามาด้วย ผมคิดว่าเอาเข้าจริงกองทัพไม่เป็นเอกภาพทางการเมืองแล้ว ความฝันที่ว่าทหารทุกคนจะคิดเหมือนกันเป็นไปไม่ได้ ทหารคิดต่างกันทางการเมือง ประเด็นอยู่ตรงเราจะทำอย่างไรให้ความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันของทหารซึ่งย่อมมีเป็นธรรมดาไม่ไปพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การใช้กำลังอาวุธเข้าห้ำหั่นกัน ? ต้องแยกสองอันนี้ออกจากกันให้ได้ การแยกสองอันนี้ออกจากกันก็คือการเป็นทหารอาชีพ อาชีพทหารในฐานะผู้ป้องกันประเทศจากภัยคุกคามข้างนอกและจากภัยความมั่นคงภายใน แต่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

แม้ว่าทหารจะเข้ามาระงับเหตุอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าที่สำคัญคือกระบวนการทางการเมืองปรกติมันต้องเดินหน้าต่อไป แต่การแทรกแซงทางการเมืองของทหารในระยะ ๑ ปีกว่าที่ผ่านมามันหยุดกระบวนการทางการเมือง มันหยุดแล้วหักเหกระบวนการทางการเมือง จัดโครงสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ ท่ามกลางความพอใจของบางฝ่ายและความไม่พอใจของบางฝ่าย เพราะเหตุนั้นมันเลยทำให้ทหารเข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

ผมไม่อยากให้พูดคำว่านองเลือดกันอย่างมักง่าย เหมือนกับไม่ต้องคิดมาก สังคมไทยไม่ควรจะต้องนองเลือด แล้วเราก็เห็นกันอยู่ไม่ใช่หรือว่าไม่ว่าจะนองเลือดหรือไม่ ความขัดแย้งมากมายหลายแหล่ที่เรามี ก็ใช่ว่าจะแก้ไขได้ เพราะหลายเรื่องมันเกี่ยวพันกับอะไรที่ใหญ่กว่าประเทศเราด้วยซ้ำ ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับเรื่องวิกฤตการเงินซึ่งตอนนี้มันเกี่ยวกับอเมริกาเกี่ยวกับไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเวิลด์แบงก์เกี่ยวกับระบบการเงินโลก ความขัดแย้งในเรื่องวิกฤตอาหารซึ่งตอนนี้เกี่ยวพันกับภาวะอาหารแพงและพลังงานแพงทั่วโลก เกี่ยวพันกับแนวทางพัฒนาการเกษตรและเศรษฐกิจการค้าของนานาชาติที่ผ่านมา ความขัดแย้งในเรื่องพลังงานมันเกี่ยวกับราคาน้ำมันโลกแพง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน ทรัพยากรน้ำมันทั่วโลก แล้วยังความขัดแย้งเรื่องภาวะโลกร้อนอีก …ไม่ต้องห่วงนะครับ มันมีความขัดแย้งจำนวนมากซึ่งคนไทยประเทศเดียวไม่มีปัญญาแก้หรอก ถ้าเราจะแก้เราต้องร่วมมือกับชาติอื่นๆ ทั้งหลายในโลก เชื่อผมเถอะ ดังนั้นท่ามกลางความขัดแย้งท่วมหูท่วมหัวทั้งหลายแหล่นี้ ถ้าเอะอะอะไรก็จะเอาแต่นองเลือด ผมคิดว่าไม่มีเลือดพอให้เรานองหรอก ความขัดแย้งเหล่านั้นเราแก้ไม่ได้ต่อให้เราตีกันแหลกก็ตาม เพราะความขัดแย้งเหล่านั้นมันใหญ่เกินวิสัยที่เมืองไทยจะแก้ประเทศเดียว ฉะนั้นกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศซึ่งยังพอจะอยู่ในวิสัยที่เราแก้ได้ แต่ถ้าเราต้องฆ่ากันทุกครั้งที่เราจะแก้มัน แบบนั้นจะไหวหรือ ?

แล้วทางออกของความขัดแย้งในสังคมคืออะไร
พูดให้ถึงที่สุดคือเราต้องสามารถให้อภัยกันได้ ตอนที่เกิดปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ขึ้นใหม่ๆ ไม่นานนักก็มีผู้สูญเสียทั้งสองฝ่าย มีแม่ของทหารตำรวจที่ถูกผู้ก่อความไม่สงบทำร้ายฆ่าฟัน มีแม่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูซึ่งลูกหรือสามีเขาจะใช่ผู้ก่อความไม่สงบหรือเปล่าไม่ทราบแน่ แต่ว่าบางทีถูกเจ้าหน้าที่จับ ถูกยิงเสียชีวิต ถูกอุ้มหายไป อย่างน้อยเท่าที่ทางการยอมรับก็เกือบ ๒๐ คน ผมเคยคุยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ว่าเราควรจะให้แม่เหล่านี้ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน เพราะถึงแม้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะจัดให้คุณแม่เหล่านี้อยู่คนละฝ่าย แต่สิ่งที่พวกท่านประสบร่วมกันคือต่างก็สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่สุดไปด้วยกันทั้งคู่ ถ้าเรายังนึกถึงเมืองไทยที่มีที่ให้คนไทยพุทธ มีที่ให้คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอยู่ด้วยกันในประเทศเดียวกัน เราต้องนึกถึงสถานการณ์ที่เขากล่าวคำให้อภัยกันได้ มันเจ็บปวดมากนะครับเมื่อคุณคิดถึงเรื่องที่ว่าคนที่คุณรักที่สุดได้สูญเสียชีวิตไปในความขัดแย้งทางการเมือง แต่เราอยู่กันเป็นชาติไม่ได้ถ้าเราไม่สามารถเอ่ยคำว่าให้อภัยทั้งสองฝ่าย ผมเกรงว่าในหลายปีหลังคำคำนี้เอ่ยยากมากทีเดียว ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งความขัดแย้งรุนแรงยังไม่จบ แต่ในพื้นที่ที่กว้างขึ้นของเมืองไทย คุณจะให้คนไทยต้องล้มตายเสียหายไปเท่าไรเพื่อที่เราจะอยู่กันได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน ? คุณจะให้คนไทยต้องร้องไห้อีกเท่าไรเพื่อที่เราจะรักษาบ้านเมืองนี้ไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานแล้วเขาไม่ต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน ? ดังนั้นแทนที่จะพูดถึงการนองเลือด มาพูดถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เราจะทะเลาะกันอย่างไรโดยสันติ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปถึงจุดที่ใช้ความรุนแรงห้ำหั่นกันดีกว่า

แต่สถานการณ์ตอนนี้ดูเหมือนไม่มีใครฟังใครแล้ว
ใช่ มันไม่ฟัง แต่นี่ไม่ใช่หนแรกที่ไม่ฟังกัน ผมยังรู้สึกว่าช่วงที่น่ากลัวที่สุดคือตอนใกล้รัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ ตอนนั้นบรรยากาศตึงเครียดมาก พอรัฐประหารปั๊บมีโอกาสนองเลือดจริงๆ เพราะว่าถ้าทหารออกมารบกับทหารเมื่อไหร่ละก็เป็นอันเสร็จ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เขาไม่รบกัน หนที่สองตอนที่ นปก. เดินขบวนไปบ้านพักประธานองคมนตรี มันน่ากลัวเพราะว่าเขาเลือกตีตรงจุดที่ในแง่ความชอบธรรมสำคัญมาก แล้วคนที่ดูแลบ้านเมืองตอนนั้นก็กุมปืนและได้อำนาจมาไม่ใช่จากการเลือกตั้ง แต่ด้วยรัฐประหาร โอกาสที่จะเกิดการนองเลือดมันมีได้ ผมรู้สึกว่าจังหวะที่น่ากลัวที่สุดคือตอนนั้นและมันได้ผ่านไปแล้ว แล้วคนที่ผ่านจุดนั้นไปแล้วก็น่าจะมีสติพอที่จะหลีกเลี่ยงมันในอนาคต ผมเลยหวังว่ามันจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก แต่ผมยังรู้สึกว่าเราพูดถึงเรื่องนี้โดยไม่ค่อยรับผิดชอบนะ อย่าลืมว่าคนตายแล้วไม่ฟื้น และบรรดาผู้นำการต่อสู้ อย่างพี่เสก (เสกสรร ประเสริฐกุล) เอาเข้าจริงถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้มีคนตายแน่นอน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะควบคุมได้ แทนที่จะมีแต่ยกย่องสดุดีว่าวีรชนได้เสียสละชีวิตไปอย่างยิ่งใหญ่มีเกียรติ ผมรู้สึกว่าผู้นำที่รับผิดชอบต่อมวลชนมักเสียใจหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมากกว่า

แล้วที่แย่กว่านั้นคือพอหลังเหตุการณ์แล้ว ประทานโทษ มันไม่ได้อย่างที่คุณคิด ผมคิดว่านี่คือบทเรียน เราหวังว่าด้วยการเสียสละชีวิตผู้คนไปเยอะขนาดนี้เราน่าจะได้สิ่งที่คาดหวังจากชัยชนะเต็มร้อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เอาเข้าจริงไม่ถึงหรอก ได้ ๕๐ ก็บุญแล้ว แล้วถึงจุดหนึ่งก็ต้องมานั่งถามว่าที่ตายไปคุ้มไหม ตายไปเพื่ออะไร ผมรู้สึกว่าผู้นำที่คิดถึงเรื่องนี้น้อยไม่ค่อยรับผิดชอบเท่าไร ปลุกระดมคน เอาเลยๆๆ โดยเฉพาะคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ทำนองนี้มาเป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่คิดเรื่องนี้ เห็นชีวิตคนราคาถูกขนาดนั้นเชียวหรือ?

ในภาษาฝ่ายซ้ายจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมมีการสูญเสีย เราพยายามรักษาการสูญเสียน้อยที่สุด และต้องยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น
ถ้าคิดแบบอาจารย์ชัยวัฒน์ (สถาอานันท์) ก็คือเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือเปล่า? ทำไมเราไม่คิดถึงวิธีการต่อสู้ที่ไม่รุนแรงจะได้สูญเสียน้อยที่สุดเล่า?

เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรจะแก้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้บางมาตรา อีกฝ่ายบอกว่าน่าจะแก้ทั้งหมดโดยการตั้ง สสร. ขึ้นมา มันจะถึงทางตันไหมครับถ้าฝ่ายรัฐบาลดึงดันจะแก้เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเอง
ผมคิดว่าถ้าหากฝ่ายรัฐบาล ด้วยพลังอำนาจเสียงข้างมากในสภาที่ชนะการเลือกตั้งมา ผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญบนเวทีถึงที่สุดก็คงเป็นไปได้ที่จะแก้ เพียงแต่อย่าลืมว่ากระบวนการขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นั้น… ยิ่งกว่านั้นผมคิดว่าในทางการเมืองสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เสียงข้างมากในสภา หากคือความชอบธรรมในสายตาประชาชน ว่าการดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญอิงการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นของประชาชน อิงเสียงสังคมแค่ไหนเพียงใด ถ้ามันเป็นการหักหาญน้ำใจของสังคม ดึงดันแก้ไปด้วยพลังของเสียงข้างมากในพื้นที่อำนาจของสภาเท่านั้น อีกไม่นานคงโดนแก้กลับคืน เชื่อผมสิ เพราะเสียงข้างมากในสภามันเปลี่ยนได้ มันสามารถชิฟต์ได้ และถ้ามันชิฟต์มันก็สามารถถูกแก้คืน ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าแก้ได้หรือไม่ได้แค่นั้น ทำไมไม่ตั้งโจทย์เสียใหม่ว่าทำอย่างไรให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ฐานรองรับความชอบธรรม ได้เสียงสนับสนุนจากสังคมอย่างกว้างขวางที่สุดไม่เฉพาะจากตัวแทนในสภาเท่านั้น ถ้าตีโจทย์นี้แตก ไม่ว่าคุณจะทำเป็น สสร. ๓ หรือรูปแบบใด คุณก็จะเติมเต็มสิ่งที่ขาดตกบกพร่องไปทางการเมืองได้ เพราะสิ่งที่คุณขาดไม่ใช่เสียงข้างมากในสภา สิ่งที่คุณขาดคือความชอบธรรมและสนับสนุนจากผู้คนอย่างกว้างขวางในสังคม ถ้าทำอันนี้ได้ ไม่เพียงแต่จะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ มันยังจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนการยอมรับของประชาชน แล้วมันจะมั่นคง

เพราะแม้อำนาจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเอาชนะในเกมได้ด้วยเสียงข้างมากในสภา แต่มันจะง่อนแง่นในแง่ความชอบธรรมในสังคม แล้วอะไรที่ง่อนแง่นในแง่ความชอบธรรมย่อมอยู่ไม่ยืด รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ในกระบวนการร่างทำให้มีผู้คนจากหลากหลายวงการเข้ามาร่วมกันร่างมากที่สุดเมื่อเทียบกับฉบับก่อนๆ ทำให้ได้รับความชอบธรรมจากสังคมเยอะ ตอนนั้น ส.ส. ในสภาไม่อยากจะรับร่างด้วยซ้ำ แต่พอเสียงข้างมากของประชาชนในสังคมคอยกดดัน ในที่สุดจึงผ่าน แล้วก็อยู่ได้ตั้ง ๙ ปี ๑๐ ปี ดูเทียบกับบทเรียนหนนั้นนะครับ สิ่งที่ท่านจะทำตอนนี้มันกลับตาลปัตรเลย ท่านจะโฟกัสเฉพาะเสียงข้างมากในสภา ท่านไม่แสวงหาการยอมรับสนับสนุนจากสังคม แล้วท่านคิดว่ามันจะอยู่ได้สักกี่ปี ถ้าเดินหน้าต่อไปท่านก็จะได้รัฐธรรมนูญที่อาจจะผ่านเสียงข้างมากในสภา แต่ง่อนแง่นในแง่การยอมรับและความชอบธรรมของสังคมและประชาชน

แล้วผมคิดว่าไม่จบหรอก ต่อให้เสียงข้างมากในสภาของพรรคพลังประชาชนกับพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. บางส่วน แก้มาตรา ๒๓๗ แก้มาตรา ๓๐๙ ได้ ผมพนันเลยว่า ๕ ปีข้างหน้าไม่จบเพราะมันขาดพร่องในแง่ความชอบธรรม ความชอบธรรมในสังคมไทยซับซ้อนกว่านั้นเยอะ ความชอบธรรมส่วนหนึ่งมาจากเสียงข้างมากในสภา แต่มันมีความชอบธรรมแบบวัฒนธรรมอย่างอื่นในสังคมไทยดำรงอยู่ แล้วเราต้องหาทางอยู่กับความซับซ้อนของความชอบธรรมเหล่านี้ให้ได้ สังเกตนะครับว่าความชอบธรรมที่ใช้เป็นฐานในการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญแบบที่แนวร่วมพรรครัฐบาลทำตอนนี้เป็นความชอบธรรมที่อิงการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมันไม่พอสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาการใช้อำนาจร่วมกันของสังคมทั้งสังคม มันไม่มีความชอบธรรมแบบอื่นในสังคมที่อิงการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนเป็นฐาน ฉะนั้นประกันได้เลยว่าต่อให้แก้สำเร็จมันก็จะถูกแก้กลับ และเอาเข้าจริงก็ยังไม่รู้แน่เลยว่าจะสำเร็จหรือเปล่าด้วยซ้ำ ดังนั้นแทนที่จะไปโฟกัสตรงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับกระดาษนั้นซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องของชนชั้นนำ โฟกัสของผมอยู่ตรงกระบวนการแก้ไขที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

ดูเหมือนเวลานี้คนที่มีอาวุโสพอที่จะมาเป็นคนกลางจัดการแก้ความขัดแย้งโดยที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ณ ปัจจุบันนี้คงไม่มีใครยอมรับแล้วใช่ไหมครับ
ผมคิดว่าหายากขึ้น ผมอยากจะบอกว่าเส้นทางความขัดแย้งที่ทั้งสองฝ่ายเลือกเดินใน ๒-๓ ปีที่ผ่านมา คือเส้นทางแบบลุยด้วยเสียงข้างมากกับเส้นทางแบบรัฐประหาร มันได้ทำลายต้นทุนทางการเมืองและวัฒนธรรมของสังคมไทยไปมากมาย เราตราหน้ากล่าวหาสวมหมวกใส่กันและกันหนักกว่าแต่ก่อนเยอะ พอใครพูดจาเสนอความคิดเห็นมา เราตัดสินก่อนว่าเขาอยู่ข้างไหน แล้วถ้าไม่ใช่ข้างเรา เราก็ไม่ฟังไม่ว่าเขาจะพูดอะไร มันตลกมากเลยนะครับ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการของคุณจอม เพชรประดับ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ เสนอความคิดของท่านเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญว่าทำไมต้องแก้ทั้งฉบับ ท่านไม่เห็นด้วยกับมาตรา ๒๓๗ มาตรา ๓๐๙ ที่เป็นอยู่ตรงไหนอย่างไร แล้วก็มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่าอาจารย์วรเจตน์มีธาตุแท้ป้อง “ระบอบแม้ว” สุดตัว… คือไม่ได้เริ่มต้นว่าทัศนะนั้นมีเหตุผลข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไร แต่ป้ายสีจัดค่ายให้เขาก่อน แล้วพอจัดค่ายเสร็จคุณก็เลิกฟัง ในความหมายนี้ไม่ใช่เฉพาะ “ผู้ใหญ่” นะครับ ผู้ไม่ใหญ่ก็โดนกันไปถ้วนหน้า วัฒนธรรมประเภทสวมหมวกแบ่งค่ายให้แล้วไม่ฟังกันก็คือวัฒนธรรมเตรียมพร้อมที่จะตีกัน เพราะก่อนที่คุณจะตีกันคุณต้องเกลียดเขาให้มากพอเสียก่อนจึงจะสามารถไปตีคนแปลกหน้าอย่างไม่ลังเลได้ การที่จะเกลียดคนแปลกหน้าที่คุณไม่รู้จักมาก่อนได้มากพอ คุณต้องมียี่ห้อไปสวมหัวเขา พอมองเขาเป็นยี่ห้อนั้นปั๊บคุณเกลียดเลย กระบวนการแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย

สิ่งนี้ร้ายกาจกว่าการที่ว่ามีหรือไม่มี “ผู้ใหญ่” นี่คือสิ่งที่เราเดินมา แล้วทำให้การฟังกันและการหาทางเลือกทางออกจากการแบ่งขั้วยากขึ้น ผมอยากให้เลิกเสียทีวัฒนธรรมแบบนี้ หัดอดทนฟังกัน อย่าเริ่มต้นโดยการจับผู้คนไปอยู่ขั้วตรงข้าม สวมหมวกแล้วไม่ฟังกัน เพราะคุณกำลังปูพื้นไปสู่การตีกัน คุณอาจจะพบว่าถ้าคุณฟังดีๆ เผลอๆ คุณอาจเห็นด้วยกับเขาก็ได้ แล้วคุณอาจจะตกใจ…ทางที่ดีอย่าเริ่มต้นด้วยการแบ่งค่าย แต่เริ่มต้นโดยแบ่งประเด็น ในประเด็นนี้ใครเห็นด้วยกับคุณบ้าง ไม่ว่าเขาจะอยู่ข้างไหน ผมคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนจากการแบ่งค่ายมาสู่การแบ่งประเด็น อาจจะทำให้การแบ่งข้างแบ่งฝ่ายทางการเมืองลดหย่อนลง ถ้าเราตั้งโจทย์เสียใหม่ว่ามันไม่ใช่เรื่องของข้างทักษิณกับข้างไม่เอาทักษิณ แต่เป็นประเด็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาไหม และการมีปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรไหมที่จะแก้ไข แล้วจะแก้ด้วยกระบวนการอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยให้มากที่สุด ถ้าเราเริ่มแบบนี้จะเห็นประเด็นตามมาเยอะเลย ตั้งแต่ความชอบธรรมในกระบวนการเริ่มต้น มาตราต่างๆ ที่เป็นปัญหา มาตราจำนวนมากที่ไม่เป็นปัญหาและดีกว่าแต่ก่อน กระบวนการแบบไหนที่ทำให้การแก้นี้สามารถฟังความเห็นได้กว้างเป็นที่ยอมรับได้กว้างที่สุด ใครเห็นด้วยกับอันนี้เป็นพวกผมหมด ไม่ว่าคุณจะนามสกุลชินวัตร หรือจะนามสกุลบุญยรัตกลิน ถ้าเราเริ่มแบบนี้ก็อาจจะทำให้การแยกขั้วแบ่งข้างมันลดทอนบรรเทาไป

จริงๆ แล้วก็ยังมีพลังเงียบในสังคมไทยที่ยังไม่เลือกข้าง
ผมคิดว่ามีคนจำนวนมากเบื่อเต็มทีแล้วละ การแบ่งเป็นสองขั้วมันจะต้องอยู่ในกระบวนท่าที่ห้ำหั่น เกลียดชัง ไม่รับฟังฝ่ายตรงข้ามอย่างถึงที่สุด ไม่เมื่อยบ้างหรือ ไม่เบื่อบ้างหรือ น่าเบื่อฉิบหายเลย คุณไม่ทันอ้าปากเขาก็สรุปเรียบร้อยแล้วว่าคุณจะพูดอะไร มันหยุดการสร้างสรรค์ทางความคิดมากเลยนะ ทำไมเราไม่ตั้งสติแล้วนับหนึ่งใหม่ ทำไมเราต้องเป็นขั้วนั้นขั้วนี้เป็นค่ายนั้นค่ายนี้ เอาอย่างนี้แล้วกัน เริ่มจากคนเดียวที่ไม่เอาข้างใคร แล้วประเด็นนั้นใครร่วมด้วยเอาเข้ามาให้มากที่สุด มันก็ไม่ง่ายนะครับ ผมคิดว่ามันเริ่มมีกลุ่มคนในสังคมที่เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนทั้งสองฝ่ายมันพาไปสู่ทางตันยิ่งขึ้น ผมหวังว่าผู้มีสติดีทั้งหลายในสังคมไทยจะไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งมันกลายเป็นสองขั้ว แล้วเสนอทางเลือกอื่นซึ่งถึงแม้สองฝ่ายไม่ยอมรับเราก็ต้องเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่สังคม แล้วกดดันผลักดันให้มาทะเลาะกันในรูปการณ์ที่มีทางออกมีจุดจบอย่างสันติวิธี สำเร็จหรือไม่ไม่รู้ ก็อยู่ที่ความสามารถของสังคมไทย เพราะฉะนั้นอย่าเริ่มต้นด้วยการตราหน้าด่ากราดก็แล้วกัน ไม่งั้นมันก็ไม่รู้จะคุยกันยังไง เริ่มต้นโดยเหตุผลแล้วก็คุยกัน

แต่ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นขณะนี้น่ากลัวว่าจะคุมไม่อยู่มากกว่า
มันปลุกขึ้นมามากแล้วไม่รับผิดชอบ ในรอบ ๒-๓ ปีที่ผ่านมาทุกฝ่ายปลุก ปลุกแบบคุณเกลียดเขาจนกระทั่งเขาไม่เป็นมนุษย์ แล้วก็ทำให้มีคนรู้สึกว่าถ้าคนคนนี้หายไปจากโลกได้ ทุกอย่างก็จบ ซึ่งไม่จริงทั้งคู่เลย ให้ผมเดานะ คนสองกลุ่มที่ร้องด่าขว้างของใส่กันแถวธรรมศาสตร์สนามหลวงเพราะความขัดแย้งทางการเมือง วันรุ่งขึ้นอาจจะไปนั่งรถเมล์อยู่เบาะข้างๆ กันแล้วไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร ทั้งที่เมื่อวานนี้มันอยากจะเหยียบอยากจะฆ่ากัน คือเอาละ มันมีพลังงานทางการเมืองจำนวนหนึ่ง พลังงานทางการเมืองนี้อาจจะเป็นพลังงานที่เกิดจากอุดมการณ์ก็ได้ ด้วยความเข้าใจประชาธิปไตยแบบที่ตัวเองคิด อาจจะเป็นพลังงานการเมืองที่เกิดจากความรักชอบผู้นำก็ได้ อาจจะเป็นพลังงานการเมืองที่เกิดจากชนชั้น เราเป็นคนจน เราเป็นคนชนบท เราเป็นคนชั้นกลาง อะไรก็แล้วแต่ ทำอย่างไรที่จะชักนำให้พลังงานการเมืองซึ่งเราปฏิเสธว่าไม่มีไม่ได้ แล้วปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่าเขาจะต้องมาขัดแย้งกัน จะชักนำยังไงให้ความขัดแย้งนี้เป็นไปอย่างศิวิไลซ์และไม่นองเลือด ผมคิดว่าตอนนี้เราปลุกพลังงานแบบนี้ขึ้นมาเยอะแล้วและเขาอยากชนะ อยากชนะโดยคิดว่าถ้าชนะแล้วอีกฝ่ายจะยอมแพ้ หรือดีกว่านั้นหายสาบสูญไปจากโลกนี้เลย ซึ่งมันไม่จริง ไม่จริงทั้งคู่ ชนะแล้วเขาก็อยู่ ต่อให้ชนะแล้วเขาก็ยังกลับมา หรือกลับกันฝ่ายนั้นชนะฝ่ายนี้ก็ยังอยู่ แล้วที่เขาอยู่เพราะว่าสังคมไทยมันเปลี่ยน สังคมไทยมันได้ก่อตัวแปลกแยกกัน แล้วมันเกิดตัวแทนทางการเมืองของความแตกต่างแปลกแยกนั้นขึ้นมาแล้ว ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะทะเลาะกันอย่างสันติเราก็ฆ่ากันเท่านั้นเอง

ผมยังรู้สึกว่าลึกๆ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่ปฏิเสธความขัดแย้ง เราไม่อยากให้ขัดแย้งกัน เราอยากจะรักสงบ เราพูดถึงเรื่องความรักสามัคคีความสมานฉันท์ แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วความแตกต่างทางสังคมเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางกลุ่มก้อนทางชนชั้นมันมากขึ้น และเพราะเหตุนั้นมันก็เลยไปแสดงออกในรูปการณ์นั้น บางทีผมยังรู้สึกว่าเรื่องเอา-ไม่เอาทักษิณมันเป็นเงาของความขัดแย้งทางชนชั้น ของการแบ่งทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมลึกๆ ระหว่างคนจน คนชายขอบ คนชนบท กับคนชั้นกลางในเมือง มันก็เลยไปแสดงออกในรูปของเอาทักษิณ-ไม่เอาทักษิณ ฝากความหวังทั้งหมดว่าโดยที่บุคคลคนนี้กลับเมืองไทยได้ ชนะคดี แล้วเขาได้กลับมาเป็นนายกฯ ชีวิตเราก็คงจะดีขึ้น ลึกๆ นี่เป็นความขัดแย้งทางชนชั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่ผมรู้สึกว่ามันถูกเบี่ยงเบน มันถูกสะท้อนหักเหไป แล้วไปแสดงออกรวมศูนย์ที่บุคคลคนนี้ ซึ่งมันตลกดีเพราะว่ามันไม่มีกำลังต่อรองที่เข้มแข็ง จริงๆ ระหว่างผู้สนับสนุนเขากับผู้นำ กลุ่มผู้สนับสนุนเขาควรจะมีกำลังต่อรอง ไม่ใช่ว่าเขาจะพาไปไหนก็ได้ แต่ความสัมพันธ์กลายเป็นว่าผู้นำเดินนโยบายประชานิยมดึงพวกเขาได้ จะพาไปไหนก็เอา อันนี้มันจึงไม่เชิงเป็นรูปการณ์ปรกติของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้น แต่เป็นรูปการณ์ในลักษณะที่มันสะท้อนหักเห ตกกระทบแล้วบ่ายเบนไป แล้วตัวรองรับแรงกระทบแล้วบ่ายเบนก็คือประชานิยม ดังนั้นจะแก้มันยังไงไม่ใช่แก้ที่อาการ ไม่ใช่แก้ตรงเอาคุณทักษิณเป็นนายกฯ แล้วคนถึงจะสงบ คุณเข้าใจผิด ต้องแก้ที่โครงสร้าง คือคุณต้องสร้างระบบสังคมการเมืองที่คนจนคนชายขอบเขายืนอยู่ได้และมั่นคง จนกระทั่งประชานิยมเป็นแค่ตัวเลือกหนึ่ง

ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เอาคุณทักษิณก็มักจะพูดเสมอว่าไม่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้งพรรคพลังประชาชนหรือพรรคไทยรักไทยเดิมก็สามารถจะกลับเข้ามาได้ เพราะว่านโยบายประชานิยมที่ประสบความสำเร็จ หรือการซื้อเสียงซึ่งส่งผลแค่ไหนเราก็ไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นคนชั้นกลางในสังคมไทยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เอาคุณทักษิณก็จะรู้สึกว่ายังไงก็แพ้ ดังนั้นก็ต้องสู้แบบนี้ สู้กับทักษิณในรูปแบบวิธีการต่างๆ เขาเชื่อว่ายังไงก็ตามทักษิณจะต้องกลับมาตลอดเวลา และเขาก็ยอมรับไม่ได้ ผมคิดว่ามันคงเป็นส่วนผสมของปัจจัยที่ว่ามา แต่เมื่อเป็นเช่นนั้น เราควรมีท่าทีอย่างไร? ผมคิดว่าอันที่หนึ่งคือสู้เถอะครับ โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นเสียงข้างน้อย การอยู่ใต้รัฐบาลเสียงข้างมากที่คุณไม่ชอบ มันก็มีส่วนดีเหมือนกันที่คนชั้นกลางจะได้เรียนรู้ที่จะเป็นเสียงข้างน้อย ก็ต้องคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์เสียงข้างมากที่คุณไม่เห็นด้วยเพราะคุณมีสิทธิเสรีภาพ แล้วคุณจะต้องพยายามเปลี่ยนใจเสียงข้างมากให้หันมาเห็นด้วยกับคุณให้ได้ ถ้าเสียงข้างน้อยในสังคมรักจะเล่นเกมประชาธิปไตย ที่มีต้นทุนชีวิต ต้นทุนเลือดเนื้อน้อยที่สุด จะต้องใช้สติปัญญาสูง และต้องใช้ความอดทนอยู่กับเสียงข้างมากที่เราไม่ชอบ ออกความเห็นที่แตกต่างขัดแย้งวิพากษ์วิจารณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อเปลี่ยนใจเสียงข้างมาก ในการเปลี่ยนใจเสียงข้างมาก ข้อสำคัญที่สุดคือสามารถเสนอหลักนโยบายที่ช่วงชิงชนะใจเสียงข้างมาก รับใช้ผลประโยชน์เขาได้ดีกว่านโยบายของรัฐบาล ถ้าทำได้แบบนั้นคำถามก็จะเปลี่ยนจากว่าทำอย่างไรในเมื่อเลือกกี่ครั้งเขาก็ชนะ มาเป็นว่าทำไมเราไม่สามารถเปลี่ยนใจเสียงข้างมากได้? เป็นเพราะเขาซื้อเสียงอย่างเดียวหรือ คนอื่นก็ซื้อเสียงเป็นนะครับ หรือเป็นเพราะนโยบาย เราไม่สามารถคิดนโยบายที่ดีกว่าประชานิยมได้แล้วหรือ ถ้าเสียงข้างน้อยในสังคมไม่สามารถคิดนโยบายที่ดีกว่าประชานิยมได้ก็แพ้สิ แต่จริงหรือเปล่าว่าจินตนาการทางการเมืองในโลกมันจบสูงสุดแค่ประชานิยม? ผมคิดว่าไม่จริง

นโยบายที่ว่านี้คืออะไรครับ
เช่นหลักนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งไม่ได้ให้เพียงเฉพาะคนที่โหวตให้คุณ แต่ว่าให้กับทุกคน คนจนก็ได้ คนชั้นกลางก็ได้ คนรวยก็ได้ คนทุกคนที่เป็นคนไทยได้อย่างเสมอภาคกัน ให้หลักประกันขั้นพื้นฐานกับชีวิต ว่าคนทุกคนที่เกิดมาบนแผ่นดินนี้จะมีชีวิตที่ดีตามสมควร ขั้นต่ำสุดจะต้องไม่แย่ไปกว่านี้ โดยรัฐจะเป็นผู้เข้ามาโอบอุ้มคุ้มครอง มันมีนโยบายแบบนี้อยู่ เพียงแต่ว่าต้องเก็บภาษีเยอะ โดยเฉพาะภาษีของคนที่ร่ำรวยในอัตราและประเภทที่สูงกว่าปัจจุบันที่ประเทศไทยเก็บ แต่ถ้าคุณเก็บในอัตรานั้นประเภทนั้น เราจะมีทรัพยากรทางงบประมาณมากพอที่จะประกันสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่คนไทยทุกคน ถ้าทำแบบนั้นมันก็อาจจะชิงใจคนข้างมากได้ดีกว่าประชานิยม แทนที่จะเป็นการกระจายให้เฉพาะบางหมู่บ้านบางตำบล ที่ผ่านมากลุ่มคนจนคนชายขอบก็ได้ประโยชน์จากนโยบายประเภท ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หรือว่านโยบายสินเชื่อ กองทุนหมู่บ้าน เพียงแต่ว่ากลุ่มคนที่นโยบายของคุณทักษิณละเลยตลอดมาคือกลุ่มแรงงานในโรงงาน ซึ่งปัญหาหลักในระยะที่ผ่านมาของพวกเขาคือเรื่องการรวมตัวเป็นสหภาพเพื่อต่อรองค่าจ้างและเงื่อนไขการทำงานกับนายจ้าง ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่ง เราไม่มีนโยบายที่เรียกว่า social democracy ซึ่งแน่นอนด้านหนึ่งสอดคล้องไปกับเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการค้ำประกันสิทธิของคนงานในการรวมตัวจัดตั้งต่อรองกับนายจ้าง ให้เขาสามารถต่อรองกันอย่างเป็นระบบในเรื่องค่าจ้าง เงื่อนไขการทำงานและสวัสดิการได้ ถ้าแบบนั้นแล้วกลุ่มคนที่มีเป็นกอบเป็นกำในสังคมแต่ว่ายังไม่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนในแง่การต่อสู้ต่อรองเรื่องสิทธิประโยชน์ เขาจะได้เข้ามาร่วมผลักดันนโยบายด้วย

แล้วมันก็ยังมีนโยบายแบบอื่นอยู่นะครับ เรื่องสิ่งแวดล้อมหรืออะไรต่างๆ ซึ่งเป็นข้อกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะผู้รับผลกระทบจะกว้างขวาง ตอนนี้เราก็พูดกันมากว่าชาวนาไทยสบายดีเพราะว่าราคาข้าวแพง แต่ถ้าเราเชื่อการคาดการณ์เรื่องโลกร้อน เป็นไปได้ว่าอีกสิบกว่าปีข้างหน้าน้ำจะท่วมมากในบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวในภาคกลาง แล้วเราจะปลูกข้าวยังไง เพราะฉะนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมันจะเข้ามากระทบถึงบ้านเราแล้ว มันมีความเชื่อมโยงกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการผลิตอาหาร เรื่องเกษตรเรื่องพลังงาน ในแง่มุมนี้ผมไม่เห็นมีนโยบายของพรรคการเมืองใดที่พูดเรื่องนี้จริงๆ ผมพูดตรงๆ นะครับ แม้แต่นโยบายที่ดีที่สุดของคุณทักษิณ ก็เดินไปในเส้นทางเก่าอย่างฉลาดและฉวยใช้ประโยชน์ แต่ในที่สุดก็จะเดินไปเจอทางตัน เมื่อผลกระทบมันเกิดไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว แต่เป็นการกระทบโดยรวม มันเหมือนกับรถเมล์ทั้งคันกำลังไหลเลื่อนใกล้ขอบเหวเข้าไปทุกที พร้อมกับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน นโยบายของคุณทักษิณก็คือการแย่งเก้าอี้ที่นั่งสบายที่สุดบนรถเมล์คันนั้นมาให้ประเทศไทยนั่ง แต่เราก็ลงเหวอยู่ดี (หัวเราะ) ซึ่งถ้าเราลงเหวมันก็ตายทั้งคันรถ เราอาจจะตายคาเก้าอี้ คนอื่นตายในขณะที่ยืนโหน แต่มันน่าดีใจไหม ผมไม่เห็นว่ามันต่างกันเท่าไหร่ แล้วถ้าเราคิดถึงเรื่องนี้อย่างซีเรียสจะเห็นถึงความเป็นทางตันและไม่สมเหตุสมผลของนโยบาย ไม่เฉพาะของคุณทักษิณนะครับ แต่รวมทั้งนโยบายที่เทคโนแครตไทยเดินไปด้วย เรื่องนี้ใหญ่มาก แล้วผมเกรงว่าความขัดแย้งที่ทะเลาะกันแล้วบอกว่าจะนองเลือด ยังไม่ได้เริ่มคิดเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำไป

กับวิกฤตโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ซึ่งผลกระทบเยอะมากในแง่ความมั่นคงในแง่สุขภาพ ยังไม่ได้เริ่มเงยหน้ามามองกันเลย คิดแต่เรื่องยุบพรรค จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่แก้ไข เก้าอี้ตัวนี้ขอฉันนั่ง ฉันไม่อยากโหน ฉันอยากขอสิทธิ์กลับไปนั่งเก้าอี้ตัวนั้น ทำไมต้องให้ฉันโหนรถเมล์ด้วย มัวแต่ทะเลาะกันโดยลืมไปว่ารถทั้งคันมันกำลังจะลงเหวแล้วพี่ ! แล้วก็จะนองเลือดกันเพราะแย่งเก้าอี้ในรถเมล์ที่กำลังจะลงเหวบ้านี่ละนะ (หัวเราะ)

เรื่องสิ่งแวดล้อมกับนักการเมืองไทยเป็นอะไรที่ไม่เคยมาเจอกันตั้งนานแล้วในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะนักการเมืองไทยส่วนใหญ่มองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว
ใช่ครับ ผมคิดว่าไม่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่รวมทั้งเทคโนแครตไทยด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังทางความคิดมากในระบบราชการที่เป็นคนปูพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก็คำนึงถึงเรื่องนี้น้อยมาก ในทางตรงข้ามคนที่คิดถึงเรื่องนี้มากและมีบทบาทในเรื่องนี้มากคือกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากปัญหานี้ ก็คือกลุ่มชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่จัดตั้งในที่ต่างๆ และพยายามจะรักษาฐานทรัพยากร ผมรู้สึกว่าในระยะยาวแล้วความหวังไม่ได้อยู่ที่กลุ่มคนที่ฮึ่มๆ จะแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ในระยะยาวการเมืองที่มีความหมายที่สุดกำลังดำเนินไปในระดับรากหญ้า ดำเนินไปในระดับคนตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังต่อสู้ในประเด็นที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาฐานทรัพยากร ในขณะที่เรายังไม่ได้เริ่มคิดเรื่องนี้เลย

การเมืองไทยทุกวันนี้อาจจะไม่ทันกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก อาจารย์มองปัญหาระบอบการเมืองในโลกทุกวันนี้กับวิกฤตการณ์โลกร้อนยังไงครับ
ผมสงสัยอย่างซีเรียสว่าประชาธิปไตยในฐานะโหมดของการปกครองในระดับรัฐชาติอย่างทุกวันนี้มันจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ยังไง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ครับ ประชาธิปไตยตัดสินด้วยเสียงข้างมาก คนส่วนมากในโลกมันถูกผูกเข้าไปในวิถีทางพัฒนาหลัก เป็นวิถีการพัฒนาตลาดเสรี-บริโภคนิยมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงมาก ใช้น้ำมันมาก ใช้ถ่านหินมาก มันมัดตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว ในกระบวนการมัดตัวเองเข้าไปแบบนี้ ถ้าให้เขาโหวตว่าเขาจะเอาการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือใช้ไฟฟ้าน้อยลง เขาจะโหวตเอาการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นหรือใช้เชื้อเพลิงน้อยลง เขาจะยอมทำให้ตัวเองลำบากขึ้นทำไม บางทีผมคิดว่าเอาเข้าจริงประชาธิปไตยอาจจะเป็นระบอบการเมืองที่พูดกันถึงที่สุดแล้วในระดับรัฐชาติไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ บางทีเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกมันต้องการการจัดตั้งทางการเมืองแบบอื่น อาจจะเป็นแบบที่เหนือกว่าระดับรัฐชาติไปหรือต่ำกว่าระดับรัฐชาติลงมาหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วการจัดตั้งแบบนั้นไม่แน่ว่าจะต้องเป็นแบบประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเผด็จการ แต่ผมคิดว่าเราต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างซีเรียสแล้ว เพราะว่าความเป็นจริงของโลกวันนี้เราถูกดูดเข้าไปในวิถีพัฒนาแบบนี้ แล้วเรามีผลประโยชน์ได้เสียในวิถีพัฒนาแบบนี้ แล้ววิถีพัฒนานี้มันกำลังดึงโลกไปสู่ปัญหาหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าเสียงข้างมากจะโหวตไม่เอามันไหม ในเมื่อมีผลประโยชน์ได้เสียผูกพันในนั้นมาก แล้วมันมีมนตร์ขลังมากในแง่สะกดคนที่ถึงแม้เขาจะไม่ได้ผลประโยชน์จากระบอบนี้เท่าไร แต่เขาเห็นคนอื่นได้แล้วเขาอยากได้บ้าง

เพราะจริงๆ แล้วประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ
ซึ่งบางทีการคิดเรื่องนี้มันเรียกร้องการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เลยจากระดับกลุ่ม ต้องนึกถึงผลประโยชน์ในขอบเขตที่ปรกติเราไม่ค่อยได้เคยคิดมาก่อน คือใหญ่กว่ารัฐชาติ ในระดับขอบเขตที่เรียกว่ามนุษยชาติจริงๆ เรายังต้องคิดเลยไปถึงคนรุ่นถัดไปด้วย ซึ่งเราก็ต้องมานั่งบาลานซ์ว่าผลประโยชน์ของคนอื่นที่เราไม่รู้จักเลย ๖,๐๐๐ กว่าล้านคนในโลกนี้ ผลประโยชน์ของคนรุ่นถัดไปที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน แล้วไม่ใช่เฉพาะของคนไทยด้วย เอามาชั่งวัดกับผลประโยชน์ของคนไทยเราปัจจุบัน เราจะให้น้ำหนักกับอะไร ในกรอบประชาธิปไตยมันยากมากที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนแปลกหน้าเหล่านั้น เราก็มักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของเราไว้ก่อน

ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่ประชาธิปไตยมีความชอบธรรมเหมือนกับเป็นศาสนาใหม่ทางการเมือง แต่ผมคิดว่ามันเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันมีปัญหาจริงๆ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเผด็จการจะดีกว่าประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาเหล่านี้ จีนทุกวันนี้ก็เพิ่งติดอันดับประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าอเมริกา คือเราอยู่ในระบอบการเมืองที่ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ล้วนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศในระดับรัฐชาติจริงๆ

กลับไปเรื่องรัฐสวัสดิการ มีประเทศไหนทำแล้วประสบความสำเร็จไหมครับ แล้วในไทยเองมีแนวโน้มจะเริ่มต้นนโยบายรัฐสวัสดิการได้ไหม
เท่าที่เห็นบางประเทศทำกันขึ้นมานี้นะครับ บางทีมันต้องผ่านเงื่อนไขไม่สงครามภายนอกก็การต่อสู้ทางชนชั้นภายในอย่างเข้มข้น ตอนที่มันเกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรปเหนือ ก็เพราะว่าขบวนการแรงงานเข้มแข็ง ต่อสู้จนกระทั่งในที่สุดนายทุนบอกว่าระหว่างให้พวกลื้อนัดหยุดงานประท้วงอั๊วทุกวัน กับสร้างระบบใหม่ที่ดูแลพวกลื้อแล้วอั๊วยังทำกำไรได้ด้วย เอาแบบหลังดีกว่า มันผ่านการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างเข้มข้นจนถึงจุดหนึ่งก็เอาแบบนี้ดีกว่า หรือในกรณีอังกฤษคือผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ มา เวลาไปรบในสงครามคนส่วนใหญ่ที่ไปรบคือคนจน เขารู้สึกว่าเขาเสียสละไปขนาดนั้นแล้วดังนั้นเขาอยากจะได้ประเทศอยากจะได้สังคมซึ่งดูแลเขา ในจังหวะนั้นพอสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลของเชอร์ชิลที่ทำสงครามโลกชนะกลับแพ้เลือกตั้ง พรรคเลเบอร์เป็นฝ่ายเลือกตั้งชนะ แล้วก็ผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการเข้ามาได้ คือสังคมมันต้องผ่านความเจ็บปวด การฝ่าฟันร่วมกันบางอย่างในสังคมแล้วเราตัดสินใจด้วยกัน

ตอนนี้เราเห็นปัญหาว่าประชานิยมมันนำไปสู่โจทย์ทางการเมืองยังไง เรารู้สึกว่าเราอยากจะเอาเรื่องรัฐสวัสดิการมาแก้โจทย์อันนั้น ซึ่งมันอาจจะไม่ง่ายเพราะในกระบวนการนั้น มันเรียกร้องให้ชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคมยอมจ่ายภาษีมาก ยอมแบ่งความร่ำรวยของเขาเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ขึ้นโดยรวม แทนที่จะอยู่ในสังคมที่ไม่มั่นคงไม่น่าอยู่เพราะปัญหาความยากจน ความไม่เสมอภาค อาชญากรรม ศีลธรรมเสื่อมทราม ฯลฯ ถึงแม้ตัวเขาเองจะอยู่สบายได้แต่เอาเข้าจริงมันจะมั่นคงไหม สุขสงบเพียงใด การปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีอันนั้นผมคิดว่ายังไม่มี ในแง่กลับกันมันก็มีปัจจัยที่เป็นคุณเหมือนกันนะครับ คือเมืองไทยเราก็เป็นสังคมที่จะมากจะน้อยมันมีวัฒนธรรมธรรมเนียมประเพณีแบบพุทธแบบชุมชนที่ให้คุณค่าการเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกัน ที่เห็นคนลำบากเดือดร้อนแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากช่วยเหลือ สองอย่างนี้จะประสานกันเข้าอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ผมยังคิดไม่ได้ตลอด

แต่ปัญหาต่อไปมันน่ากลัว เพราะว่าการไม่สามารถยังชีพอยู่ได้ต่อไปข้างหน้ามันจะเป็นปัญหาในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในการประชุมเวิลด์แบงก์ที่เพิ่งผ่านมา สิ่งที่น่ากลัวของวิกฤตอาหารคือความอดอยากในปัจจุบันมันเป็นเรื่องของคนจนในเมืองที่อดอยาก ไม่ใช่คนชนบทอดอยาก มันถึงได้ปะทุระเบิดที่เมืองต่างๆ อย่างปอรโตแปรงซ์ในเฮติ ไคโรในอียิปต์ เพราะมันเป็นปัญหาคนจนในเมือง คนมันจุ้มปุ๊กรวมศูนย์อยู่กันหนาแน่นในเมืองแล้วอด อดไม่ใช่เพราะไม่มีข้าว ข้าวมีแต่มันแพง กำลังซื้อไม่ถึง มันก็ระเบิด แล้วมันระเบิดเพราะอะไร ง่ายนิดเดียว คุณไม่มีอะไรรองรับเลย คำว่ารัฐสวัสดิการคือตาข่ายรองรับตรงนั้น คุณได้หลักประกันว่าไม่ว่าใครในสังคมนี้ต้องไม่อด หิวโหยต้องได้กิน ป่วยไข้ต้องได้รักษา อยากเรียนหนังสือต้องได้เรียน สังเกตนะครับเมืองที่เกิดปัญหาเหล่านี้เป็นเมืองในสังคมที่ไม่มีตาข่ายรองรับ

ผมคิดว่าในเมืองไทยมันมีชิ้นส่วนบางอย่างประกอบกันเข้ามา มันเริ่มมีนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ซึ่งตอนนี้ไม่ต้องมีสักบาทก็ได้ มันคือขั้นเริ่มต้น แต่มันมีขอบเขตของมัน งบประมาณที่จะมาทุ่มเทให้ก็มีจำกัด ถ้าจะเอาจริงเรื่องนี้ต้องใช้การทุ่มเทและการยอมรับกันในระดับสังคม อย่านิ่งนอนใจนะครับว่าเมืองไทยเรามีข้าวเยอะแล้วเราจะไม่มีจลาจลอาหาร ประเด็นไม่ใช่ประเทศไม่มีข้าว ประเด็นคือคนจนเมืองไม่มีกำลังซื้อ

ชนชั้นกลางในสังคมไทยอาจต้องยอมจ่ายมากกว่านี้ แต่เพียงแค่มาตรการปฏิรูปภาษีที่ดิน ทั้งนายทุนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ก็ยังไม่มีใครยอมเลย
ผมยังรู้สึกว่ามันเริ่มเห็นนะว่าเรามาถึงทางที่มันจะตัน เพราะเราเลือกเดินเส้นทางเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ เราจึงเริ่มรับนโยบายแบบประชานิยมหรือสวัสดิการเข้ามา เราผลาญทรัพยากรของเรามากขึ้น มีคนถูกช่วงชิงทรัพยากรเหล่านี้มากขึ้น เสร็จแล้วก็มีกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาดำเนินนโยบายประชานิยมแล้วดึงใจคนเหล่านี้ไป ทำให้ชนะเลือกตั้งได้อำนาจรัฐ ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ แต่แล้วคุณเองก็ไม่อาจจะหยุดยั้งสิ่งเหล่านั้นได้ ประทานโทษทีเถอะ กระบวนการทั้งหมดนี้มันมาจากคุณเดินเส้นทางโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ดังนั้นถ้าคุณไม่ยอมเลิกเดิน ไม่อยากจะปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจแบบถึงรากถึงโคน คุณก็ต้องคิดหามาตรการที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ผมคิดว่าตอนที่ชนชั้นนำไทยเลือกเดินเส้นทางโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่หลังจาก พ.ศ. ๒๕๓๕ มีสองเรื่องที่เขาคาดไม่ถึง คือหนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ เขาคิดว่าเขาจะรวยขึ้นเรื่อยๆ เขานึกไม่ถึงเลยว่าจะเจ๊งขนานใหญ่แบบไม่เคยเจ๊งมาก่อน สอง เขาไม่คิดว่าจะเจอทักษิณ(หัวเราะ) ระบอบทักษิณก็เกิดขึ้นมาจากเหตุเดียวกันนั้นแหละ เขารวยขึ้นมาจากกระบวนการอันนั้น แล้วเขาชิงเสียงข้างมากของคนจนที่จนเพราะคุณเดินเส้นทางนั้นเหมือนกัน กลายเป็นกลุ่มพลังแนวร่วมของระบอบทักษิณในสังคมไทยที่คุณยังเปลี่ยนพวกเขาไม่ได้ ฉะนั้นพรรคของทักษิณลงเลือกตั้งทีไร แน่นอนก็มีคนที่โหวตไม่เอาเขาประมาณ ๑๐ กว่าล้านเสียง แต่ว่าก็มีคนมากพอที่โหวตเอาเขาจนเลือกตั้งเมื่อไหร่เขาก็จะได้เสียงข้างมาก แล้วเสียงข้างมากพวกนั้นมาจากไหน พวกเขาก็มาจากกระบวนการพัฒนาที่คุณเริ่มเองนั่นแหละ ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากให้เป็นเช่นนี้ คุณอยากจะเปลี่ยนผลลัพธ์ทางการเมืองที่คาดไม่ถึงก็ต้องคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องแงะง้างห่วงเชื่อมนั้น ต้องแย่งแฟนเขา ด้วยนโยบายที่รองรับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าดีกว่า ถ้าคุณไม่คิดอันนี้แล้วมัวแต่บ่นว่าคุณไม่ต้องการรัฐบาลอย่างทักษิณ ทว่าพอถึงเรื่องจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการมั่งคุณก็ไม่ยอม มันก็คงเหลวเปล่า ถ้าคุณไม่ต้องการลงเอยทางการเมืองแบบนั้น คุณต้องยอมแลกเปลี่ยน

ผมคิดว่าเราอยู่ในโลกการเมืองที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมันแยกกัน มันแยกกันก็เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของเสรีนิยมใหม่ มันทำให้พลังการเมืองในสังคมฉีกออก คนจนรอผู้นำประชานิยมจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ส่วนคนชั้นกลางเอาเสรีนิยม เอาสิทธิเสรีภาพ มันเริ่มฉีกออกจากกันมากขึ้น

มันไม่มีอะไรหรอกนะครับที่จะมาขวางเสียงข้างมากได้ ถ้าเราไม่อยู่ในกรอบของ the rule of law the rule of law ก็คืออำนาจรัฐบาลมีจำกัด บางอย่างรัฐบาลทำได้บางอย่างทำไม่ได้ แล้วที่รัฐบาลทำบางอย่างไม่ได้ก็เพราะบุคคลพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพที่รัฐบาลก้าวล่วงไม่ได้ กฎหมายคือเส้นคั่นแบ่งเขตระหว่างอำนาจรัฐบาลกับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ระบอบก่อนหน้านี้เป็นระบอบไม่มีเส้นคั่นดังกล่าว ซึ่งก็คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น unlimited government การปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจสัมบูรณ์ไร้ขอบเขตจำกัด ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือระบอบที่ชีวิตเราเป็นของเจ้าชีวิต แผ่นดินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เราเป็นแค่ไพร่ แต่พอมีระบอบรัฐธรรมนูญ มี the rule of law นั่นก็คือมี limited government บางอย่างรัฐบาลทำได้บางอย่างทำไม่ได้ เพราะเราเป็นบุคคลพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นอำนาจรัฐบาลต้องหยุดแค่นี้ มีเส้นที่ขีดคั่นขึ้นมา หลังเส้นนั้นมาคือสิทธิเสรีภาพเรา ถ้ารัฐบาลจะก้าวล่วงต้องได้ความยินยอมจากเราเสียก่อน นี้แหละคือวิญญาณของเสรีนิยม ผมคิดว่าในโลกปัจจุบันปัญหาคือเส้นนี้ถูกข้ามในนามของเสียงข้างมาก มีการเอาหลักประชาธิปไตยมาเบียดหลักสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีปัญหาแน่ๆ เราจะจัดดุลตรงนี้ยังไง แต่ละสังคมคงตอบไม่เหมือนกัน บางสังคมให้น้ำหนักหลักสิทธิเสรีภาพมาก บางสังคมเอนเอียงไปทางเสียงข้างมากเยอะ สังคมไทยตลกดี เราเริ่มต้นจากสังคมที่ไม่ค่อยมีประชาธิปไตยเท่าไรนัก แต่เราเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้คน คุณอยากลงทุน เชิญลง คุณอยากได้กำไร เชิญเอาเต็มที่ ผ่านช่วงเผด็จการ พอถึงวันหนึ่งเรามีประชาธิปไตยขึ้นมา เราให้อำนาจเสียงข้างมากกับประชาธิปไตยเต็มที่เลย จนเหยียบสิทธิเสรีภาพ เบียดเบียนสิทธิมนุษยชน ละเมิดมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ อันนี้คือปัญหาหลักของสมัยรัฐบาลทักษิณ ในที่สุดนำมาซึ่ง คปค. คปค. เท่าที่เขาพูดเขาอยากจะรักษาสิทธิเสรีภาพ เพราะรัฐบาลทักษิณก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก แต่ว่าสิ่งที่ คปค. ทำลายลงไปคือหลักประชาธิปไตย เป็นอันว่าเราผ่านประสบการณ์สุดขั้วทั้งสองอย่าง ซึ่งมันต่างไม่ใช่คำตอบ

คำตอบคือต้องรักษาสมดุลของสองพื้นที่นี้ให้ได้
ใช่ แต่เรื่องของเรื่องมันไม่ใช่ว่าเราไม่มีนักปราชญ์ที่รอบรู้พอจะรักษาสองพื้นที่นี้ ไม่ใช่ ปัญหารากฐานคือเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ คือการที่มีกลุ่มคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาแล้วบล็อกกันเป็นกลุ่มเสียงข้างมาก ดังนั้นพอมาแสดงออกทางการเมือง มันก็เลยมีความขัดแย้งในระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะคนในสังคมเปลี่ยน เพราะสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยน ดังนั้นรากของปัญหานี้มันมีฐานในสังคมรองรับจริงๆ การที่เสียงข้างมากละเมิดสิทธิเสรีภาพไม่ใช่ว่าเสียงข้างมากไม่รู้หรือโง่ ไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเสียงข้างมากต้องการอำนาจรัฐ และในกระบวนการช่วงชิงรวบกุมอำนาจรัฐนั้นมันก็เบียดเข้าไปในหลักสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ดังนั้นมันก็ต้องผ่านการต่อสู้ มึงผลักกู กูผลักมึงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุดที่โอเคลงตัว มีอำนาจเสียงข้างมากที่คุณพอทนได้ และมีสิทธิของเสียงข้างน้อยที่อยู่ด้วยกันกับเสียงข้างมาก มันไม่มีสูตรสำเร็จนะครับในแต่ละสังคม