หนึ่งเดือนเศษนับจาก ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ยึดพื้นที่ชุมนุมตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางถึงราชดำเนินนอกตั้งเวทีปราศรัยหลักที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ สถานการณ์ก็เริ่มทวีความตึงเครียดขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมยกระดับการกดดันรัฐบาลด้วยการยึดพื้นที่แยกราชประสงค์อันเป็นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร เมื่อ ๓ เมษายน ๒๕๕๓ ตั้งเวทีปราศรัยคู่ขนานไปกับเวทีสะพานผ่านฟ้า ก่อนจะยุบเหลือเวทีราชประสงค์เพียงแห่งเดียวหลังจากปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ของรัฐบาลที่สะพานผ่านฟ้าเมื่อ ๑๐ เมษายนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ทำให้ต้องมีการปิดการจราจรตลอดถนนราชดำริถึงแยกประตูน้ำและแยกศาลาแดง ถนนพระรามที่ ๑ ถึงแยกปทุมวัน ถนนเพลินจิตถึงแยกวิทยุ เป็นเหตุให้ห้างสรรพสินค้ารวมทั้งโรงแรมในบริเวณดังกล่าวต้องปิดให้บริการโดยปริยาย อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ เกษรพลาซ่า โรงแรมแกรนไฮแอทเอราวัณ สยามพารากอน สยาม-ดิสคัฟเวอรี่ ฯลฯ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อหน่วยงานต่างๆ ในละแวกนั้น อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ฯลฯ

การปักหลักชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ดำเนินมายาวนานกว่า ๑ เดือน อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการยึดพื้นที่สาธารณะอันเป็นพื้นที่ใจกลางเศรษฐกิจของประเทศในการชุมนุมทางการเมือง ด้วยอาณาบริเวณที่ขยายวงกว้างและจำนวนผู้ชุมนุมที่มากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้สังคมตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างหนัก

๑๓-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เมื่อรัฐบาลเริ่มปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” และ “ขอคืนพื้นที่” บริเวณแยกราชประสงค์ ทำให้เกิดการปะทะอย่างต่อเนื่องระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุม นปช. ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงตลอดจน “พื้นที่รอบนอก” ได้รับผลกระทบ บางพื้นที่ถูกปิดตาย ไม่สามารถเข้าออกชุมชนได้นานเป็นสัปดาห์ บางพื้นที่ผู้คนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เนื่องจากไม่อาจแบกรับความกดดันจากสภาวะที่ไม่ต่างจาก “สงครามกลางเมือง” ได้

ท้ายที่สุด สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการวางเพลิงสถานที่ราชการและเอกชน เมืองหลวงของประเทศไทยตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากแดนมิคสัญญี

สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร รายงานสรุปสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เฉพาะในกรุงเทพ-มหานครทั้งสิ้น ๓๖ แห่ง กระทรวงการคลังประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า ๑.๔๕ แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๑.๕ ของจีดีพี

เป็นความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่ยากจะลืมเลือน

ทีมงาน สารคดี ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งของการเมืองไทย

ถอดรหัส ผลจากพฤษภา ’๕๓ (ข้อมูลตั้งแต่กรกฎาคม ๒๕๕๓)

  • ตั้งแต่ ๑๕ มีนาคม-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในกรุงเทพฯ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ๑,๔๐๖ คน เสียชีวิต ๘๗ คน
  • เฉพาะ ๑๙-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ มีผู้เสียชีวิต ๑๖ คน (พลเรือน ๑๕ คน ทหาร ๑ นาย) บาดเจ็บ ๑๑๔ คน (พลเรือน ๑๐๐ คน ทหาร ๑๔ นาย) ในต่างจังหวัดมีผู้เสียชีวิต ๒ คน ยังระบุผู้บาดเจ็บได้ไม่ครบ ณ ขณะนี้มี ๒๓ คน (ขอนแก่น ๑๓ คน, อุดรธานี ๓ คน, มุกดาหาร ๑ คน, อุบลราชธานี ๖ คน)
  • ผู้สูญหายหลังจากวันที่ ๑๙ พฤษภาคม จำนวน ๘๘ ราย พบแล้ว ๕๑ ราย (หญิง ๓ คน ชาย ๔๘ คน) อยู่ในระหว่างดำเนินการ ๓๗ ราย (หญิง ๔ คน ชาย ๓๓ คน)
  • สื่อวิทยุชุมชนถูกปิด ๗๕๗ สถานีทั่วประเทศ ๑๔ สถานีถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำกำลังเข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ที่ใช้ออกอากาศทั้งหมด
  • รัฐบาลประกาศปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ และกระทบต่อความมั่นคงแล้ว ๔๓,๐๐๐ เว็บ
  • คดีจากสถานีตำรวจนครบาลจนถึง ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ มีทั้งสิ้น ๒,๗๓๐ ราย หมายจับเพื่อควบคุมเบื้องต้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ๘๔ หมาย, คดีอาญาที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ๘๘๖ หมาย, การฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ๑,๓๓๔ หมาย และติดตามจับกุมโดยไม่มีการออกหมาย ๙ ราย) จับกุมแล้ว ๑,๙๘๔ ราย
  • ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เกิดการวางเพลิงอาคาร ๔๔ แห่งทั่วประเทศ กรุงเทพฯ ๓๖ แห่ง ต่างจังหวัด ๘ แห่ง อาคารที่ถูกเผาและได้รับการประเมินความเสียหาย ได้แก่ เซ็นเตอร์วัน ความเสียหายไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท เซ็นทรัลเวิลด์ ไม่พบตัวเลขการประเมิน แต่หากคิดจากส่วนที่เสียหาย ๓๐ % ของอาคารมูลค่าก่อสร้าง ๒.๖ หมื่นล้านบาท จะมีมูลค่าความเสียหาย ๗,๘๐๐ ล้านบาท โรงหนังสยาม ๖๐๐ ล้านบาท อาคารศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลังเก่า ๒๕๐ ล้านบาท สถานีโทรทัศน์ NBT ขอนแก่น ๑๒๖ ล้านบาท ศาลากลางจังหวัดมุกดาหารหลังเก่า ๘๐ ล้านบาท อาคารเทศบาล ศาลากลางจังหวัดอุดรธานีหลังเก่า และพื้นที่โดยรอบ ๓๐๐ ล้านบาท ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่าและพื้นที่โดยรอบ ๙๘ ล้านบาท
  • กรุงเทพมหานครประเมินค่าความเสียหายของหน่วยงานกรุงเทพมหานครในด้านสาธารณูปการและทรัพย์สินทางราชการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑๘๒,๓๖๒,๐๐๐ บาท
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ากระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ๐.๕-๒.๓ % คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียประมาณ ๕๓,๐๐๐-๒๓๐,๐๐๐ ล้านบาท
  • สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) ประเมินมูลค่าความเสียหายสำหรับการสูญเสียรายได้ของผู้ประกอบการในย่านราชประสงค์จำนวน ๒,๐๘๘ ราย ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม โดยมีมูลค่าความเสียหายคิดเป็น ๑๑,๒๗๕ ล้านบาท แบ่งเป็นการสูญเสียรายได้ของธุรกิจค้าปลีกประมาณ ๑๐,๔๘๘ ล้านบาท และการสูญเสียรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรม ๑๐ แห่งในย่านดังกล่าวประมาณ ๗๘๗ ล้านบาท ในส่วนของพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจดังกล่าวมีจำนวน ๓๐,๖๖๑ คน
  • ค่าใช้จ่ายของ ศอฉ. ตั้งแต่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๓ ใช้กำลังพลที่ ๖๔,๐๐๐ อัตรา นับเฉพาะค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นเงิน ๓,๔๐๐ ล้านบาท (ตั้งแต่ ๒๓ มีนาคม-๓๐ พฤษภาคม) หากรวมค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คงมียอดสูงถึงกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท

ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : รวบรวม

ที่มา : ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน, มูลนิธิกระจกเงา, สำนักข่าว INN ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ / ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ / ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓, มติชนออนไลน์ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ / ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๓, ไทยรัฐ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓, กรุงเทพธุรกิจ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ / ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓, โพสต์ทูเดย์ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓, คมชัดลึก ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓, ข่าวสด ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓