นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ครั้งที่แล้วเล่าเรื่องความเครียด ความเครียดเป็นเรื่องดีเพราะความเครียดจะกระตุ้นเราให้พัฒนาตนเองจนกระทั่งมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆ นานาที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต แต่ถ้าเครียดนานๆ ก็สามารถเป็นโรคเครียดได้ด้วย
บางคนเรียก “โรคเครียด” ว่า “โรคประสาท” ทั้งสองคำมีความหมายในตัวมันเองโดยไม่จำเป็นต้องแปลกลับไปเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ เพราะจะยิ่งสับสนอลหม่านเสียเปล่าๆ
“เครียด” เวลาใครพูดคำนี้ขึ้นมา เราก็มักเข้าใจได้ว่า อ้อ ! เขาเครียด
“ มันประสาท” เวลาใครพูดถึงใครอีกคนแบบนี้ ก็มักเป็นที่เข้าใจว่าเจ้าหมอนั่นออกจะประสาทๆ แต่ก็คงไม่ถึงกับเป็นบ้าไปแล้ว
สรุปว่าทั้งเครียดและประสาทนั้นดูท่าจะยังดีอยู่แต่ก็ไม่ปรกติเสียทีเดียว
โรคเครียดหรือโรคประสาทมีหลายชนิด ที่พบบ่อยๆ คือ โรควิตกกังวล โรคกลัว โรคแพนิก โรคย้ำคิดย้ำทำ ที่เหลือเป็นโรคที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ไม่รู้จะแปลเป็นไทยให้ไม่น่าเกลียดหรือรู้เรื่องได้อย่างไร แล้วจะค่อยๆ เล่าให้ฟังวันหลังครับ
วันนี้เล่าเรื่อง “โรควิตกกังวล” เป็นอย่างแรก โรควิตกกังวลสามารถหมายถึงโรคในภาษาอังกฤษได้ ๒ โรค คือ anxiety neurosis และ generalized anxiety disorder ซึ่งอันที่จริงแล้วก็โรคเดียวกันแต่สื่อความหมายต่างกัน คำแรกเป็นศัพท์บัญญัติขององค์การอนามัยโลก คำหลังเป็นศัพท์บัญญัติของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน
คำแรกคือ anxiety neurosis สื่อความหมายว่าผู้ป่วยมีปมขัดแย้งบางประการซ่อนอยู่ในใจคือ conflict และผลจากการทิ้งปมขัดแย้งนี้ไว้เป็นเวลานานๆ โดยไม่ยอมแก้ไขก็จะทำให้เกิดอาการทางร่างกายต่างๆ นานา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นอาการเสียสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มือเท้าชา ตกใจง่าย และนอนไม่หลับ เวลาพูดคุยกับผู้ป่วยก็มักจะเห็นว่าผู้ป่วยมีสีหน้าวิตกกังวล ท่าทางอยู่ไม่เป็นสุข ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการมือสั่นจนกระทั่งสังเกตได้ด้วย อาการเหล่านี้มีตั้งแต่เป็นๆ หายๆ ไปจนถึงเป็นบ่อยๆ รบกวนคุณภาพชีวิต
จะเห็นว่านี่คือผลต่อเนื่องจากเรื่องความเครียดที่เล่าให้ฟังในฉบับที่แล้ว เวลาคนเราอยากได้อะไรบางอย่างแล้วไม่สามารถเอามาได้ดั่งใจก็มักจะเครียด วิธีแก้ปัญหามี ๒ วิธีคือพัฒนาความสามารถเอามาให้ได้จะได้หายเครียด หรือไม่ก็เลิกอยากได้เสียทีก็หายเครียดเหมือนกัน แต่ถ้าติดอยู่ตรงกลางคือเอาแต่อยากได้แล้วก็ไม่พัฒนาตนเอง ก็จะเครียดอยู่เช่นนั้นนานๆ จนกระทั่งวันหนึ่งกลายเป็นโรคเครียดหรือโรคประสาทในที่สุด
ลองอธิบายโดยใช้เรื่องปมขัดแย้งก็ได้ ด้านหนึ่งอยากได้แต่ไม่ได้เสียที อีกด้านหนึ่งก็อยากจะปล่อยวางแต่ยังไม่อยากปล่อยวาง เช่นนี้เป็นปมขัดแย้งแบบอ่อนๆ พบเห็นได้ทั่วไป พูดง่ายๆ ว่าเอาแต่อยากได้แต่ไม่มีปัญญาเอามาแถมไม่ยอมปล่อยวางเสียอีก ก็สมควรเครียดถูกต้องแล้ว กลายเป็นโรควิตกกังวลสมใจ แต่บางครั้งปมขัดแย้งก็รุนแรงมาก เช่นปรารถนาให้คนที่รักตายเพราะเหตุใดก็ตาม ปรารถนาให้แม่ตายเพราะแม่ใจร้ายเหลือเกิน ปรารถนาให้คู่สมรสตายเพราะคู่สมรสใจร้ายเหลือเกิน ปรารถนาให้ลูกตายเพราะลูกป่วยด้วยโรคร้ายแรงเป็นที่ทนทุกข์ทรมานของทุกฝ่าย แต่ความปรารถนาเช่นนี้น่ากลัวมากเกินไป คนทั่วไปคงได้แต่ปรารถนา มิกล้าลงมือฆ่าคนที่รักเป็นแน่ เช่นนี้จึงเกิดปมขัดแย้งที่รุนแรง หากปล่อยทิ้งไว้ก็เกิดโรคเครียดหรือโรคประสาทที่รุนแรงยิ่งกว่าโรควิตกกังวลได้
โรควิตกกังวลที่หมายถึง anxiety neurosis จึงสื่อความหมายถึงโรคที่มีปมขัดแย้งในใจเป็นสำคัญ ถ้าแก้ไขปมขัดแย้งนั้นได้ตัวโรคก็หายไป
อีกคำหนึ่งคือ generalized anxiety disorder สื่อความหมายถึงสาเหตุทางชีววิทยามากกว่า กล่าวคือผู้ป่วยโรคนี้มีขนาดของท่อที่เชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ของระบบประสาทอัตโนมัติเล็กกว่าปรกติ ทำให้คลอไรด์อิออนเคลื่อนผ่านเข้าออกเซลล์ลำบาก คลอไรด์อิออนเป็นประจุลบจึงทำให้ไฟฟ้าสถิตระหว่างภายในและภายนอกเซลล์เสียสมดุล เกิดเป็นอาการทางร่างกายต่างๆ นานาแบบเดียวกัน สภาพเช่นนี้เป็นปัจจัยทางชีววิทยาของบุคคลและสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีเรื่องเครียดหรือปมขัดแย้งใดๆ เลย การรักษาจึงไม่มุ่งเน้นไปที่การค้นหาความเครียดหรือปมขัดแย้ง แต่ใช้ยาคลายเครียดรักษาตรงๆ ยาคลายเครียดจะทำงานด้วยการไปจับตรงบริเวณที่เรียกว่า GABA receptor บนผิวเซลล์ ทำให้ท่อคลอไรด์อิออนที่ว่าขยายใหญ่ขึ้น คลอไรด์อิออนเคลื่อนที่ไปมาระหว่างภายในและภายนอกเซลล์สะดวกขึ้นทำให้ไฟฟ้าสถิตอยู่ในสมดุล คำอธิบายเหล่านี้มีประโยชน์ช่วยให้เราเข้าใจว่าบนโลกใบนี้มีกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องกินยาคลายเครียดตลอดชีวิต และสามารถกินได้ตลอดชีวิตโดยไม่เสพติดด้วย เพราะพวกเขาจำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ไขสมดุลของไฟฟ้าสถิตดังที่อธิบายนั่นเอง
อย่างไรก็ตามมีข้อวิจารณ์ตามมาด้วยว่า คำเดิมขององค์การอนามัยโลกคือ anxiety neurosis ดีอยู่แล้ว เพราะสื่อความหมายว่าเราควรหาสาเหตุของความเครียดหรือปมขัดแย้งแล้วแก้ไข แต่คำใหม่ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันคือ generalized anxiety disorder โยนความรับผิดชอบไปที่ชีววิทยาเต็มๆ และบอกเป็นนัยๆ ว่าให้กินยาคลายเครียดตลอดชีวิต ชวนให้มีการตั้งข้อสงสัยในภายหลังว่าเกณฑ์วินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันหลายๆ โรคนั้นตอบสนองบริษัทยามากน้อยเพียงไร
เรารักษาโรควิตกกังวลได้ ๒-๓ วิธี
แน่นอนว่าวิธีที่ ๑ ดีที่สุดนั่นคือไปแก้ไขสาเหตุ แก้ได้ก็แก้ซะ เช่น ปลดหนี้ ลาออกจากงาน หย่าซะให้รู้แล้ว เป็นต้น แต่ปัญหาคือสาเหตุส่วนใหญ่มักแก้ไขไม่ได้ เช่น คู่สมรสปันใจให้คนอื่น ลูกไม่รักดี แม่ยายขี้บ่น ลูกพิการ ไฟไหม้บ้าน เป็นต้น เหตุที่เรามักแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากอุปนิสัยของคนอื่นหรือเหตุสุดวิสัย เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปแก้นิสัยคนอื่นหรือแก้ไขอดีต หากใครยังฝันหวานว่าเราสามารถแก้นิสัยคนอื่นได้ แก้ไขอดีตได้ หรือฝันหวานว่าคนเราเปลี่ยนนิสัยกันได้ง่ายๆ เหมือนพระเอกนางเอกละครตอนจบ ก็ขอให้รู้ว่ากำลังเพ้อฝัน
เมื่อวิธีแรกทำไม่ได้ ให้มาทำวิธีที่ ๒ คือ “อดทน” และ “ทำใจ” ทั้งสองกรณีเป็นทักษะที่ต้องฝึก บางคนทำได้เร็วบางคนทำได้ช้าแล้วแต่กรรม
มีอีกวิธีที่ทำได้ง่ายมากและได้ผลดีแต่ไม่ค่อยมีใครยอมทำ คือออกกำลังกายทุกวัน ถ้าเครียดมากให้ออกกำลังมากๆ ถ้าออกกำลังมากแล้วยังไม่หายเครียดแปลว่าไม่มากพอ ถ้าใจสั่นให้ออกกำลังมากยิ่งขึ้นอีก (หมายถึงเมื่อมั่นใจว่าไม่ใช่โรคหัวใจนะครับ) ถ้านอนไม่หลับให้ออกกำลังมากๆ ยิ่งขึ้นไปอีก การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจิตจะไม่เห็นผลในทันที ต้องอาศัยเวลานานพอสมควร ราวๆ ๑ เดือนขึ้นไป ระหว่างรอให้การออกกำลังกายทุกวันส่งผลที่ดีก็ให้อดทนและทำใจไปพลางๆ
วิธีสุดท้ายไม่แนะนำ แต่ถ้าหมดหนทางและคิดว่าหากใช้วิธีนี้แล้วคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นก็ลองดูได้ นั่นคือกินยาคลายเครียด ควรให้จิตแพทย์เป็นผู้จ่ายยาคลายเครียด เพราะจะได้ชนิดและขนาดของยาที่ถูกต้อง เหมาะสม และหากจำเป็นต้องกินติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็จะได้มั่นใจว่าปลอดภัย
การกินยาคลายเครียดนานๆ ในความดูแลของจิตแพทย์มิใช่เรื่องใหญ่ สาเหตุเพราะเรามักแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ได้ดังได้กล่าวมาแล้ว เราเปลี่ยนใครไม่ได้เลย เอาไปขอแลกบ้านอื่นก็ไม่ได้ เอาไปคืนใครก็ไม่ได้ อดทนก็ได้ไม่นาน ทำใจก็ไม่ไหว ถ้าเช่นนั้นกินยาเพื่อให้อดทนมากขึ้น ทำใจได้ง่ายขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดีต่อคนรอบข้าง ดีต่อลูกๆ ก็กินเถอะครับ