เรื่อง สุเจน กรรพฤทธิ์
เมื่อเร็วๆ นี้มีการค้นพบว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอนักตูวุก (Anaktuvuk River) ตอนเหนือของรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกในปริมาณเทียบเท่ากับที่ทุ่งน้ำแข็งเขตทุนดรา (ทุ่งหิมะในเขตขั้วโลก) กักไว้ในเวลา ๑ ปี
ไฟป่าที่เกิดขึ้นกินพื้นที่ ๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร คิดเป็น ๒ เท่าของไฟป่าแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี ๒๔๙๓
“ปรกติไฟป่าในเขตทุนดราจะมีขนาดเล็กและขอบเขตจำกัดแต่ที่เห็นนี้มันมากกว่าที่เคยมีการบันทึก” มิเชลล์ แม็ก (Michelle Mack) หัวหน้าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งฟลอริดา ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยสภาพแวดล้อมในรัฐอะแลสกาและตีพิมพ์รายงานเรื่องดังกล่าวในวารสาร Nature อธิบาย
เขาชี้ว่าปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยในเขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) กำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไฟป่าที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เรื่อง “ปรกติ” อีกต่อไป เนื่องจากใน ๑ ปี พื้นดินส่วนมากในเขตทุนดราจะปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็ง อุณหภูมิจะต่ำยกเว้นในฤดูร้อน และพื้นอาจชื้นแฉะเมื่อน้ำแข็งหรือหิมะละลาย
แม็กระบุว่า “ไฟป่าในเขตทุนดรามีโอกาสเกิดขึ้นจากสภาพการณ์หลายอย่างประกอบกัน และถ้ามันเกิดขึ้นแล้วก็อาจต้องรอจนถึงเดือนตุลาคมเพื่อให้หิมะมาหยุดสถานการณ์นี้”
ในปี ๒๕๕๐ ความแห้งแล้งผิดปรกติ ฝนทิ้งช่วง อุณหภูมิสูงผิดปรกติทั่วเขตอาร์กติก นอกจากจะทำให้แผ่นน้ำแข็งในทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดฟ้าผ่าในเดือนกรกฎาคม สิ่งที่ตามมาคือไฟป่า ซึ่งผู้คนที่อาศัยในเขตอากาศแบบอื่นอาจคาดไม่ถึง
จากการคำนวณของทีมวิจัย จำนวนครั้งการเกิดไฟป่าในปี ๒๕๕๐ สูงเป็น ๒ เท่าเมื่อเทียบกับปี ๒๔๙๓
พวกเขาระบุว่าถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอีก มนุษย์อาจเผชิญสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาอันเป็นผลโดยตรงจากภาวะโลกร้อน ด้วยไฟป่าในเขตทุนดรานั้นจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากกว่า ๑๐๐ เท่า เมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขณะหิมะและน้ำแข็งละลายช่วงฤดูร้อน หรือเทียบได้กับคาร์บอนที่ทุ่งทุนดรากักเอาไว้ ๑ ปี
ไฟป่าในเขตทุนดรานอกจากจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกักเก็บคาร์บอนบนพื้นดิน มันยังปลดปล่อยคาร์บอนที่อยู่ลึกจากผิวดิน ๑๕ เซนติเมตรในเขตทุนดราซึ่งถูกกักเอาไว้ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
จากแบบจำลองที่ทำขึ้นเพื่อพยากรณ์อุณหภูมิในเขตอาร์กติกเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น อัตราความถี่ในการเกิดไฟป่าจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น
แม็กยังระบุว่า “พื้นดินที่ไฟป่าเผาไหม้จะรับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มากจนส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งถาวร (Permafrost) ละลาย ทำให้ชั้นดินยุบตัว ส่งผลกระทบต่อระบบลำธารและน้ำใต้ดินในเขตนั้น สถานการณ์นี้ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในยุคไพลสโตซีน”
อย่างไรก็ตามมีมุมมองที่แตกต่างออกไป ทีมวิจัยอื่น อาทิ ทีมของ ดร. กาอุส เชเวอร์ (Gaius Shaver) แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก ชี้ว่าแม้สิ่งที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ แต่อีกด้านหนึ่งพืชที่เติบโตขึ้นจากภาวะที่อากาศในเขตขั้วโลกอบอุ่นขึ้นก็อาจทำหน้าที่เก็บกักคาร์บอนได้มากขึ้น
“ในอนาคต อะแลสกาอาจเปลี่ยนไป จากพื้นที่ที่ปราศจากต้นไม้เต็มไปด้วยแผ่นน้ำแข็ง อาจกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต”
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในปี ๒๕๕๔ แผ่นน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกอาจจะเกิดการละลายครั้งใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๐ สอดคล้องกับที่ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ (National Snow and Ice Data Center-NSIDC) ระบุว่า “อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปในเขตขั้วโลกยังคงเพิ่มขึ้น”.