สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ : สัมภาษณ์
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เกิดขึ้นจากการบริโภคทรัพยากรทิ้งๆ ขว้างๆ ในอัตราและปริมาณมหาศาล ขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจการตลาดที่ไม่คิดราคาต้นทุนที่แท้จริงของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น แม้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์และนิเวศวิทยาจะได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับ “บ้าน” (eco) หรือโลกใบนี้ของเราเหมือนกัน แต่ระบบเศรษฐกิจที่มนุษย์สร้างขึ้นทุกวันนี้กลับกลายเป็นระบบที่ไม่สอดคล้องกับระบบผลิตในวงจรธรรมชาติเลย

ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประชุม Earth Summit ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล นักสิ่งแวดล้อมจึงได้พยายามหาวิธีเปลี่ยนกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ใช้ภาษีและมาตรการการคลังเป็นเครื่องมือ เพื่อไม่ให้ระบบตลาดเป็นกลไกกระแสหลักที่ทำลายโลก และพลิกกลับมาเกื้อหนุนโลกอย่างที่มันควรจะเป็น จน “เศรษฐศาสตร์สีเขียว” ถูกกำหนดเป็นวาระใหญ่ในเวทีการเจรจาหาข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกในปีหน้า หรือ ๒๐ ปีหลัง Earth Summit ที่กรุงรีโออีกครั้ง เรียกกันว่าการประชุม Rio 20+

หลายประเทศกำลังให้ความสนใจกับวาระนี้ และเร่งหาแนวทางปรับตัว ส่งเสริมวิถีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะตีโจทย์แตกว่าเป็นเทรนด์ทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ไกลนัก แต่ประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่? เรามีนโยบายสวนทางกระแสโลก เราส่งเสริมให้ประชาชนซื้อรถยนต์จำนวนมาก เราขายน้ำมันในราคาแทบจะถูกที่สุดในโลก และมีทีท่าว่าจะพยายามทำให้ถูกลง เราไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดละเลิกการใช้ถุงพลาสติกเลย

เมื่อหลายๆ ประเทศเสียภาษีคาร์บอนหรือภาษีพลังงาน แต่เราไม่เสีย ในอนาคตประเทศที่มีกฎหมายภาษีคาร์บอนอาจไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากไทยแลนด์ได้ หรือมีกติกาบังคับให้ผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องเสียภาษีคาร์บอนแก่ประเทศคู่ค้า แทนที่เม็ดเงินนั้นจะจ่ายเข้าคลังประเทศไทยในรูปแบบของภาษีภายในประเทศ เราอาจต้องจ่ายให้แก่ประเทศอื่นแทน

ไม่นานมานี้ สารคดี มีโอกาสได้คุยกับ คุณไค ชเลเกลมิลช์ (Kai Schlegelmilch) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน จึงนับเป็นจังหวะดีที่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากเยอรมนี ประเทศแรกๆ ที่บุกเบิกแนวทางการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรม ระบบจัดการ และการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม จนประเทศเยอรมนีสามารถเพิ่มยอด GDP โดยไม่ต้องเพิ่มพลังการผลิตไฟฟ้า สามารถประกาศยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า และพวกเขามั่นใจว่าภายในปี ๒๕๙๓ เยอรมนีจะใช้พลังงานหมุนเวียนได้เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

คุณไค ชเลเกลมิลช์ ไว้หางเปียเส้นเล็กๆ และสวมหมวกสองใบ ใบหนึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งรองประธานองค์กรเอกชน Green Budget Germany หรือ “งบฯ เขียวเยอรมัน” ที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันหลากหลายนโยบายด้านการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมกับรัฐบาลเยอรมันและสหภาพยุโรป ส่วนหมวกอีกใบเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานและเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้แก่รัฐบาลเยอรมันโดยตรง

อยากให้เล่าที่มาและเบื้องหลังของ Green Budget Germany(GBG) และจุดประสงค์ขององค์กร
Green Budget Germany (GBG) ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๗ ราว ๖ เดือนหลังจากผลงานวิจัยที่กรีนพีซให้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเยอรมันศึกษาถึงการปฏิรูปภาษีสิ่งแวดล้อมและผลพวงทางเศรษฐกิจได้รับการตีแผ่ออกมา นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาวิจัยแบบนี้ พวกเขาพบว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สร้างงานได้ราว ๓ ถึง ๘ แสนตำแหน่ง นี่เป็นสารทางการเมืองที่มีเสน่ห์มาก : รักษาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มอัตราการจ้างงาน

ทีนี้ ทางภาคอุตสาหกรรมพลังงานก็โวยว่า พวกเขาไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ เลย ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด พวกเขาจึงต่อต้าน จนความคิดเรื่องการปฏิรูปภาษีสิ่งแวดล้อมที่เริ่มผุดขึ้นมากำลังจะถูกกดจมไป พวกเรา–ได้แก่คณะผู้ร่วมก่อตั้ง GBG เลยคิดกันว่าเราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้มันตายไป เราจะต้องพยุงแนวคิดนี้ไปให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะมันคุ้มค่าจริงๆ เราจะเก็บแนวคิดนี้ไว้โดยปรับมันให้เหมาะกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ให้ภาคอุตสาหกรรมยอมรับได้ นี่คือเหตุผลที่เราก่อตั้งองค์กรขึ้นมา เราจึงพัฒนารูปแบบที่รอมชอมมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมรับได้ สังคมรับได้ แล้วเราก็ผลักดันมัน ออกไปให้ข้อมูลกัน พวกเราไปดูตัวอย่างในต่างประเทศ แคนาดานำหน้าในเรื่องนี้ไปแล้ว เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ริเริ่ม และเราอยากจะนำรูปแบบของเขามาประยุกต์ใช้

นี่คือที่มาของการเสนอแนวคิดการปฏิรูประบบภาษีสิ่งแวดล้อมในปี ๒๕๔๒ ที่เยอรมนี ตอนนั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นครั้งแรกที่พรรคกรีนได้เข้าร่วมก่อตั้งรัฐบาล เราเริ่มใช้มาตรการนี้เมื่อต้นเดือนเมษายน ๒๕๔๒ มีการขึ้นภาษีพลังงาน แต่อีกทางหนึ่งเราก็ลดภาษีด้านที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น ค่าใช้จ่ายประกันสังคม มันสำคัญว่าต้องขึ้นภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือต้องไม่ไปกดดันหรือช็อกระบบเศรษฐกิจค่อยๆ ขึ้นทีละขั้นในลักษณะที่สังคมจะคาดการณ์และเตรียมปรับตัวได้ ทุกคนก็จะรู้ว่าเมื่อจะซื้อตู้เย็นใหม่หรือรถยนต์คันใหม่ ก็จะต้องคิดถึงภาษีพลังงานที่จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นทีละนิดเป็นขั้นบันได ทำให้รู้สึกว่า โอ้! เราจะต้องซื้อตู้เย็นหรือรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด ประหยัดพลังงานมากที่สุดเท่าที่มีในตลาดขณะนั้น ทางฝ่ายผู้ผลิตก็มีแรงกระตุ้นในลักษณะเดียวกัน เขารู้ว่าภาษีจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นเขาต้องผลิตสินค้าคุณภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดออกมา เพราะผู้บริโภคจะต้องเลือกซื้อมัน นี่คือฐานคิดเบื้องหลัง ทุกคนมีเวลาปรับตัว รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ซื้อขายและใช้กันในสังคมจะค่อยๆ ผลัดเปลี่ยนตามจังหวะการลงทุนตามปรกติ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจะไม่สูงเกินไปจนไปทำลายระบบทุน ถ้าคุณขึ้นราคาพรวดเดียวถึง ๒ เท่าใน ๑ สัปดาห์ คุณจะทำลายระบบทุนที่เป็นอยู่ทั้งหมด นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในอิหร่านและโบลิเวีย ช่วงปลายปี ๒๕๕๓ นำมาสู่การชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเพราะไม่มีใครรับมือได้ นี่แหละคือเหตุผลที่ต้องขึ้นภาษีสิ่งแวดล้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป มันยอมรับได้ง่ายกว่า

ช่วยอธิบายถึงฐานคิดและหลักการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจต่างๆ
ปัญหาคือทุกวันนี้เมื่อคุณจะขึ้นรถไฟคุณต้องจ่ายแพง จ่ายภาษีไฟฟ้า ภาษีน้ำมันดีเซล ต้องจ่ายภาษีทุกกิโลเมตรของการเดินทาง แต่การเดินทางโดยเครื่องบินไม่ต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้เลย ไม่จ่ายแม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยเหตุนี้ เมื่อผมต้องเลือกเดินทางจากจุดเอไปบี ผมอาจจะเลือกจ่ายแพงกว่าเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่จะมีใครสักกี่คนพร้อมจะเลือกอย่างนั้น ผมเลือกเพราะผมใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจของผมมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อม แต่หากจะได้ผลดีจริงๆ ก็ต้องทำให้คนร้อยละ ๙๐ ที่เหลือเลือกเหมือนผมด้วย สถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่คือความไม่เป็นธรรมของราคา ราคาไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เราใช้

ทุกวันนี้ประชากรร้อยละ ๕ ถึงร้อยละ ๑๐ ในสังคมเปรียบเสมือนคนเดินขึ้นเขา พวกเขาตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไร้เหตุผลทางการเงินโดยสิ้นเชิง แต่เขาเลือกกระทำเพื่อส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แล้วเขาก็คิดหาทางเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงเข้าหาสถาบัน ไปหารัฐมนตรี ไปหาผู้กำหนดนโยบาย และบอกว่าเราต้องพลิกสถานการณ์ เราต้องร่างกฎหมายที่จะช่วยปรับองศาความลาดชัน ให้ทางเดินสีเขียวเป็นเส้นทางที่ราบขึ้นจนคนส่วนใหญ่อยากเดิน เราจึงต้องทำให้การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมีกำไรมากขึ้น ไปสู่ทางออกสีเขียว อย่างพลังงานหมุนเวียนหรือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชากรร้อยละ ๙๐ ที่เหลือเลือกมาเดินเส้นทางนี้ มาลงทุนกันในเรื่องเหล่านี้ พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักหรอกครับ สำหรับพวกเขา สิ่งแวดล้อมเป็นเพียงผลพวงที่ดี แต่สิ่งที่เขาสนใจคือช่องทางทำธุรกิจเจ๋งๆ ต่างหาก

ในเศรษฐกิจระบบตลาด “ราคา” คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจควักกระเป๋าของทุกคน มันเป็นตัวส่งสัญญาณให้เราตัดสินใจ เราต้องใช้สัญญาณนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ที่ผ่านมากลไกนี้ทำลายสภาพแวดล้อม เนื่องจากภาษีเป็นองค์ประกอบสำคัญของราคา ภาษีจึงมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลใช้กลไกทางภาษีสร้างอิทธิพลทางการตลาดได้ ในหลายๆ ประเทศอย่างประเทศไทยมีการกำกับดูแลราคา เราจึงต้องดูว่าการกำกับราคาสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้คน เพราะคนมีแนวโน้มที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง เขารักษาผลประโยชน์ส่วนตน เขาจึงมองหาทางออกที่สมเหตุสมผลที่สุดในทางเศรษฐกิจ

แล้วภาษีสิ่งแวดล้อม (eco tax) มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่เป็นภาษีพลังงาน
แกนหลักมักจะเป็นภาษีพลังงาน ทั้งพลังงานที่เราใช้ทำความร้อน ใช้ผลิตไฟฟ้า พลังงานที่ใช้ในการคมนาคมขนส่ง นี่คือแหล่งเก็บภาษีที่ใหญ่ที่สุดเพราะทุกคนต้องใช้พลังงาน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหมายถึงรายได้สม่ำเสมอเข้าคลัง ถ้าคุณไปคิดออกภาษีสิ่งแวดล้อมที่มีตัวเลือกอื่นให้เลี่ยง เช่น ภาษีกระป๋องอะลูมิเนียมแบบกระป๋องโค้ก คนก็แค่เลี่ยงโค้กกระป๋อง หันไปกินโค้กขวดแก้วที่ตั้งขายบนชั้นวางของข้างๆ ในร้านแทน เท่านั้นเอง คิดดู คุณวางแผนจัดระบบธุรการเพื่อเก็บภาษีกระป๋อง ออกกฎหมายมาปุ๊บ เก็บภาษีไปได้แค่สองอาทิตย์ก็ไม่มีภาษีให้เก็บอีกแล้ว เพราะคนกินแต่โค้กขวดแก้ว แรงที่ลงไปกับการวางระบบก็สูญเปล่า คุณจึงต้องใช้ฐานภาษีที่กว้าง เป็นอะไรที่คนหลีกเลี่ยงไม่ได้ง่ายๆ ทันที แน่นอนว่ารายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมที่ออกมาจะลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ตามระบบผลิตและวิถีบริโภคที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่ภายใน ๒ สัปดาห์ อาจจะเป็นกว่า ๒๐ ปี คลังก็จะมีรายได้จากภาษีตัวนี้ไปได้ถึงทศวรรษหน้า

เข้าใจว่าคุณเริ่มด้วยมาตรการทางภาษี ต่อมาขยายออกไปถึงการปฏิรูประบบการคลังทั้งหมดเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างไร
การปฏิรูปภาษีสิ่งแวดล้อม (Environmental Tax Reform-ETR) ประกอบด้วยการใช้มาตรการเก็บภาษีสิ่งที่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในสังคม ในขณะที่การปฏิรูปการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Fiscal Reform-EFR) จะมีองค์ประกอบเพิ่มเข้ามาอีก ๒ ประการ ประการแรก ให้ทบทวนภาษีทั้งหมดทุกประเภทที่มีอยู่ ดูว่ามีอะไรได้รับการยกเว้นบ้าง มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางภาษีอย่างไรไหม ข้อกำหนดภาษีตัวใดเป็นอุปสรรคหรือวิ่งสวนทางกับเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้นว่า มีข้อยกเว้นการบริโภคน้ำไหม การบินได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้ถูกต้องและยุติธรรม ยกเลิกสิทธิพิเศษนี้เสีย มองไปที่ภาษีที่มีอยู่ จัดการกฎกติกาที่เป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อมเสีย

ประการที่ ๒ มองไปที่การอุดหนุนการประกอบการที่ส่งผลกระทบเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนนี้เป็นการทบทวนค่าใช้จ่าย การประกอบการอะไรบ้างที่เราใช้เงินเป็นพันล้านหนุนสิ่งที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การเกษตรที่ไม่ยั่งยืนอย่างสุดๆ หรือการตัดไม้ เราควรเลิกอุดหนุนสิ่งเหล่านี้ นี่คือองค์ประกอบทั้งหมดของการปฏิรูปการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือคุณอยากเล่นให้กว้างกว่านั้นก็ได้ ระบุไปเลยว่าแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่วิ่งสวนทางกับเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมควรจะได้รับการแก้ไข

พวกคุณมีวิธีทำงานกันอย่างไร ล็อบบี หรือทำวิจัย ?
GBG มีเจ้าหน้าที่ ๖ คน เราศึกษาโจทย์ต่างๆ ให้แก่องค์กรสิ่งแวดล้อม เช่นเอ็นจีโออย่างกรีนพีซ หรือ WWF เราให้คำปรึกษาแก่องค์กรของรัฐอย่าง GIZ (German International Cooperation หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี) จัดคอร์สอบรมให้ GIZ ว่าด้วยเรื่องการนำเสนอภาษีสิ่งแวดล้อมและการปฏิรูประบบการคลังดูว่าต้องดำเนินงานตามขั้นตอนอะไรบ้าง หาพันธมิตรทางการเมืองได้อย่างไร ประเด็นถกเถียงต่อต้านการปฏิรูปภาษีที่เจอกันบ่อยๆ มีอะไรบ้าง และจะข้ามพ้นปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ข้อมูลและตัวเลขที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง เพื่อให้มีเครื่องมือที่เหมาะสมต่อการดำเนินการปฏิรูป

เราล็อบบีเพื่อผลักดันนโยบายด้วย เราจึงต้องพัฒนาแนวคิดรูปแบบนโยบาย เราดีใจมากที่เมื่อกลางปี ๒๕๕๓ รัฐบาลเยอรมันรับข้อเสนอการปฏิรูปการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมของเราถึง ๕ ข้อจากที่เราเสนอไปทั้งหมด ๖ ข้อ และได้เริ่มดำเนินการกันเมื่อต้นปีนี้ นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของเรา พวกเราใช้เวลา ๒ ปีพัฒนามันขึ้นมา เรามองหาภาษีที่จะไม่ไปทำร้ายคนเดินถนนตัวเล็กๆ แต่จะกระทบคนที่มีรายได้สูงและปานกลาง พร้อมกับพุ่งเป้าไปที่ช่องว่างในระบบ เช่น การยกเว้นภาษีที่ไม่เป็นธรรม อย่างพฤติกรรมเสพติดการบินของเรา เป็นต้น เราสามารถบินไปมาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีเลย ปัจจุบันนี้การบินเป็นธุรกิจที่เจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดอย่างหนึ่ง จึงไม่ควรได้รับการยกเว้นภาษีอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เราเสนอ และมันโดนใจผู้กำหนดนโยบายมาก พอเราตีพิมพ์แนวคิดและข้อเสนอของเราออกมา ก็ตามติดด้วยการล็อบบีอย่างหนักเป็นเวลา ๓ เดือน กับผู้กำหนดนโยบาย ทั้งสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี โดยเฉพาะฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล

คุณขายไอเดียนี้ให้นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายรวมไปถึงภาคส่วนต่างๆ อย่างไร
ด้วยการเสนอโครงการจัดเก็บภาษีต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงนี้มีหน้าที่ต้องจัดสรรเงินอยู่แล้ว พวกเขาจะคิดเสมอว่าทำอย่างไรจะหารายได้มาชดเชยส่วนที่ขาดหายไป วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาสนใจข้อเสนอในการเพิ่มภาษี และอย่างที่เรารู้ เมื่อประเทศประสบภาวะถังแตก สิ่งเลวร้ายต่างๆ ก็อุบัติขึ้นมาได้ ในยุโรปเกิดขึ้นที่กรีซและโปรตุเกส ประชาชนในสหภาพยุโรปต้องสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเขา เขาอยู่ในภาวะย่ำแย่ ไม่มีเงินพอใช้ นี่คือเหตุผลที่รัฐมนตรีคลังมองว่าข้อเสนอของ GBG สมเหตุสมผล เพราะข้อเสนอของเรามุ่งเก็บภาษีจากสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เราไม่ต้องการให้มีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เราไม่ต้องการพลังงานนิวเคลียร์อีกต่อไป เราไม่ต้องการให้ผู้คนเดินทางโดยเครื่องบินมากเกินไป และการเพิ่มภาษีเหล่านี้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นเมื่อนำไปเทียบกับการเพิ่มภาษีชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต ภาษีรายได้ ภาษีนิติบุคคล กระทรวงการคลังย่อมจะต้องชอบเพราะจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าการเรียกเก็บภาษีชนิดอื่น อย่างที่ทราบ กระทรวงนี้เป็นกระทรวงเกรด A มันสำคัญที่สุดเพราะเป็นกระเป๋าเงินของรัฐบาล เราถึงได้จับคู่ประเด็นสิ่งแวดล้อมกับประเด็นการคลัง เราประสบความสำเร็จเพราะเราเชื่อมเรื่องนี้เข้ากับศูนย์อำนาจของระบบเศรษฐกิจ เราจึงมีพลังโน้มน้าวสูง

มีอะไรบ้างที่เราควรคำนึงถึงเมื่อคิดจะออกแบบข้อเสนอภาษีสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้
ถ้าเราหันมาดูสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย อีกไม่กี่สัปดาห์พวกคุณกำลังจะมีการเลือกตั้ง (สัมภาษณ์เมื่อเดือนมิถุนายน ก่อนการเลือกตั้งวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔) พรรคการเมืองต่างๆ เสนอสัญญาอะไรกับคุณ พวกเขาสัญญาว่าจะใช้เงินนับพันล้านบาทลงไปกับการเคหะเพื่อผู้มีรายได้ต่ำบ้าง ซื้อรถคันแรกบ้าง หรือนำไปหนุนอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ผมไม่รู้ว่ามีอะไรแค่ไหน รู้แต่ว่ามีการสัญญากันมากมาย และหากคำมั่นสัญญาเพียงส่วนน้อยนิดเป็นจริงขึ้นมา งบประมาณของประเทศจะขาดดุลมหาศาล คุณควรทำอย่างไร? คุณต้องหาทางจัดสรรงบประมาณอย่างสมเหตุสมผล ลองคิดดู ทำอย่างไรจึงจะหาเงินมารับมือกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ เป็นต้นว่า ขึ้นภาษีพลังงาน เรียกเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน ภาษีค่าไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนคิดเรื่องการประหยัดพลังงานกันมากขึ้น

ในเมืองไทยพวกคุณใช้เครื่องปรับอากาศกันเยอะมาก ใช้เยอะบิลค่าไฟก็สูง แต่คุณจะจ่ายน้อยลงถ้าบ้านเรือนและอาคารต่างๆ มีระบบหรือฉนวนกันความร้อนที่ดีกว่านี้ คุณใช้พลังงานกันสิ้นเปลืองมากเพราะคุณมีเงินมากพอที่จะจ่ายมัน แต่ในอนาคต ถ้าราคาก๊าซเพิ่มขึ้นล่ะ ถ้าพม่าเรียกราคาก๊าซสูงขึ้นล่ะ คุณเจอปัญหาใหญ่แน่นอน การเลือกที่จะประหยัดตั้งแต่ตอนนี้ย่อมจะดีกว่า วิธีเดินหน้าคือสร้างแรงจูงใจให้คนอนุรักษ์พลังงาน เพราะมันเป็นวิธีที่ถูกและคุ้มค่าที่สุด แน่นอนว่ามันมีวิธีอื่น คุณอาจตั้งกติกาจัดสรรพลังงาน บอกว่าต่อไปนี้มีเพดานห้ามใครใช้ไฟฟ้าเกิน x กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี แต่คุณจะดำเนินการอย่างไร กำกับดูแลมันอย่างไร มันเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น คุณจึงน่าจะใช้ราคาเป็นตัวกำกับและปล่อยให้แต่ละคนตัดสินใจเอง บางคนอาจจะเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศจาก ๑๘ เป็น ๑๙ องศาเซลเซียส เพราะวิธีนั้นมันง่ายมากสำหรับเขา บางคนอาจจะเลือกปั่นจักรยานแทนการขับรถยนต์ บางคนอาจจะหันมาพิจารณาเปลี่ยนตู้เย็นใหม่ที่กินไฟน้อยกว่าตู้เย็นเก่า มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเลือกวิธีการประหยัดแบบไหนอย่างไร ไม่ต้องมีการควบคุม แค่เพิ่มราคา แล้วปล่อยให้ทุกคนคิดเอาเองว่าควรทำอย่างไร แต่ละคนอาจเลือกไม่เหมือนกัน นี่คือการใช้กลไกการตลาดทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คือการปันผลสองเด้งให้ทั้งการคลังและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีรายได้เพิ่ม เนื่องจากสังคมจะไม่ลดการบริโภคพลังงานลงฮวบฮาบทันทีเพียงเพราะภาษีเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย เราจะลงทุนเปลี่ยนตู้เย็นก็ต่อเมื่อตู้เย็นที่มีอยู่เก่าจริงๆ เราคงไม่ไปเปลี่ยนตู้เย็นที่เพิ่งซื้อมาเมื่อ ๒ ปีก่อน อาจจะรอให้มันเก่าตกยุคแล้วจึงลงทุนซื้อใหม่ การบริโภคพลังงานจะลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับตราบเท่าที่มีการขึ้นภาษีเป็นช่วงๆ อยู่เรื่อยๆ เช่นกัน รัฐบาลมีรายได้เพิ่มจากการเก็บภาษี นี่คือส่วนปันผลของกระทรวงการคลัง ส่วนปันผลของทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือการลดการบริโภค ลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มันมีเสน่ห์ดึงดูดทั้งสองฝ่าย เหมือนที่สื่อมวลชนฝรั่งชอบเรียกว่า “คู่นอนแปลกฝา” ไม่มีใครคิดหรอกว่าสองฝ่ายนี้จะมาเป็นพันธมิตรกัน ที่ผ่านมาเขาต่อสู้กันรุนแรง นักสิ่งแวดล้อมต้องการเงินจากกระทรวงการคลังมาทำโครงการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องสงสัยเลย แต่ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ใหญ่กว่านั้น คุณต้องใช้แนวทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย

ผมเป็นนักอนุรักษ์และผมก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ สมัยผมเป็นนักศึกษา ผมเริ่มเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์และเริ่มรู้สึกเบื่อวิชานี้ ผมนั่งคิดว่าควรทำอย่างไรดี ควรเปลี่ยนไปเรียนชีววิทยาดีไหม เพราะผมอยากจะเป็นนักนิเวศวิทยาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เอาอย่างไรดี หรือจะเรียนเศรษฐศาสตร์ต่อไปนี่แหละ เพราะมันเป็นศูนย์กลางอำนาจ ถ้าผมเข้าใจหลักกติกาของมันได้ เข้าใจกลไกของมัน ผมอาจจะเปลี่ยนกฎกติกาและเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งจะทำให้กลไกนี้ทำงานให้สิ่งแวดล้อมแทนที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมดังที่ผ่านมา นี่เป็นที่มาว่าทำไมผมอยากเปลี่ยนกรอบคิดและแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์

คุณคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย
ครับ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยในปี ๒๕๓๑ เป็นปีที่เปลี่ยนชีวิตผม

ตอนนั้นคุณอายุเท่าไร
๒๓ ปีครับ

อะไรเป็นตัวจุดชนวน
หนังสือภาษาเยอรมันที่ผมอ่านในตอนนั้น แปลได้ทำนองว่า “หากวาระสุดท้ายของโลกใกล้เข้ามา จงปลูกต้นไม้เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง” เขียนโดย มาร์ติน ลูเธอร์ เขาเป็นชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เป็นหนังสือที่มองโลกอนาคตอย่างค่อนข้างหดหู่สิ้นหวัง ตอนนั้นผมเริ่มเรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนกราฟราคา กราฟอุปสงค์-อุปทาน มันมีอะไรบางอย่างขาดหายไป มันมองไปทางเดียว และผมก็เริ่มคิด ตอนนั้นผมกำลังเบื่อนักการเมืองอย่างสุดๆ เลย คนพวกนี้เหลือเชื่อจริงๆ เขาสามารถกล่าวสุนทรพจน์สวยหรูเรื่องสิ่งแวดล้อมในวันอาทิตย์ ฟุ้งว่าตัวเองจะทำอะไรดีงามเพื่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่พอถึงวันจันทร์เขากลับไปเปิดทางด่วนมอเตอร์เวย์สายใหม่ มันขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เหลือเชื่อ พึ่งพาไม่ได้ ผมต้องการเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ผมไม่ชอบมันเลย ผมจึงเข้าหาเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม และผมได้พบคนที่คิดเหมือนผมจำนวนมาก แต่แล้วผมก็พบว่า บางครั้งเอ็นจีโอมีสภาพเป็นเพียงเครื่องประดับ เป็นเหมือนใบไม้สวยๆ เขียวๆ ไว้ให้รู้สึกดีๆ ให้ผู้กำหนดนโยบายนำมาใช้แก้ตัว หรือมองเป็นเรื่องเล่นๆ น่าเอ็นดู แบบว่า “โอ้ นั่นไงเอ็นจีโอ พวกเขาทำอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อม” เราไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้! ผมจึงคิดว่าผมต้องเข้าใจหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์และเข้าไปสู่การเมือง เข้าไปสู่ศูนย์กลางอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎกติกา นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจไม่เรียนเป็นนักนิเวศวิทยา ผมเกาะติดกับประเด็นทางเศรษฐศาสตร์เพราะมันคืออำนาจ

คุณมองเห็นตั้งแต่ต้นว่านี่คือเครื่องมือทรงพลัง
แน่นอนครับ ราคาเป็นสิ่งที่มีพลังมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ตอนนี้แม้แต่ประเทศสังคมนิยมอย่างจีนและเวียดนามก็กำลังใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม เขาเข้าใจว่าเราต้องจูงใจคน เพราะทุกคนมีผลประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คุณควบคุมคน ๑,๓๐๐ ล้านคนไม่ได้ วิธีนั้นใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เราต้องหาเครื่องมืออื่นๆ มาช่วย เช่นใช้ราคาเป็นตัวกำกับ เป็นต้น

ช่วยยกตัวอย่างกรณีที่ประสบความสำเร็จกับกรณีที่ล้มเหลว
ผมขอเริ่มจากกรณีล้มเหลวก่อน ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๓๖ ประธานาธิบดีคลินตันเคยพยายามจะออกภาษีพลังงานที่เรียกว่า BTU tax๑ พอเขาเสนอ ไม่ทันไรภาคอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งก็มาบอกว่าพวกเขาต้องได้รับการยกเว้นด้วยเหตุผลนู่นนี่นั่น คลินตันก็บอกว่าโอเค เราจะยกเว้นพวกคุณ บรรษัทอีกแห่งก็เลยมาบ้าง บอกว่าพวกเราก็ต้องการได้รับการยกเว้นเช่นกัน แล้วบรรษัทอื่นๆ ก็ตามมาอีกเพียบ ทุกคนมาหมด แผนออกภาษีตัวนี้จึงล้มไม่เป็นท่า กรณีนี้สอนให้รู้ว่าคลินตันยอมจำนนต่อพวกล็อบบียิสต์เร็วเกินไป เขาจึงแพ้ เขาไม่ได้ออกภาษีพลังงานเลยตลอดระยะเวลาที่อยู่ในทำเนียบขาว ชัดเจนว่าบทเรียนคือ เราต้องไม่ถอยในก้าวแรก คุณต้องยึดกุมแนวคิดให้มั่นแล้วตอบข้อโต้แย้งต่างๆ ที่มักจะเจออยู่เป็นประจำจากการเสนอภาษีแบบนี้ ข้อมูลคุณต้องแม่นเพราะเขาจะพยายามพิสูจน์ไปในทางตรงกันข้าม ซึ่งจะไม่ง่ายเลยถ้าคุณทำการบ้านมาดี มีตัวเลขและข้อมูลที่ถูกต้อง

คุณต้องศึกษาข้อมูลจนรู้ชัดเจนว่าข้อเสนอมาตรการเก็บภาษีของคุณจะไม่กระทบต่อผู้มีรายได้ต่ำ เวลาที่เจอคนต่อต้านว่าข้อเสนอของคุณจะทำร้ายคนจน ซึ่งเป็นวาทกรรมโต้แย้งเจ้าประจำ คุณก็รู้เลยว่าเป็นข้อกังวลที่สมเหตุสมผลหรือเปล่า หรือเป็นแค่ข้ออ้างเดิมๆ ของคนรวยและชนชั้นกลางที่ไม่อยากจ่ายภาษีที่พุ่งเป้ามาที่พวกเขา เรื่องนี้เกิดขึ้นที่อินเดีย ชนชั้นกลางออกมาประท้วงว่าภาษีสิ่งแวดล้อมจะรังแกคนจน แต่ปรากฏว่าไม่เป็นความจริงเลย คุณจึงต้องแม่นตัวเลขและข้อมูล

ส่วนเวียดนามเป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จ เมื่อปี ๒๕๔๗ รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ตัดสินใจว่าต้องการออกภาษีสิ่งแวดล้อมภายในปี ๒๕๕๔ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะไม่มีใครเข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร GIZ เข้าไปในปี ๒๕๕๑ และเสนอความช่วยเหลือ เพราะรายงานด้านเศรษฐกิจ GIZ ก็เคยทำกับเวียดนามแล้ว ประเด็นทางสังคมก็เคยทำ เรื่องเดียวที่ยังไม่ได้ทำคือประเด็นสิ่งแวดล้อม GIZ ขอให้ผมเข้ามาเป็นที่ปรึกษาช่วงสั้นๆ และผมได้รับเกียรติเข้าไปให้คำปรึกษาแก่ท่านรองนายกฯ และทีมงาน ว่าด้วยเรื่องการร่างกฎหมายเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับภาษีสิ่งแวดล้อม พวกเขาเริ่มต้นจากศูนย์ จากที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ภายใน ๒ ปี สภาแห่งชาติก็ผ่านกฎหมายนี้ อันที่จริงในระบอบคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ปรกติกฎหมายจะผ่านด้วยคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาแห่งชาติสูงถึงร้อยละ ๘๕-๙๐ แต่คะแนนโหวตให้กฎหมายตัวนี้ยิ่งสูงมากกว่าปรกติ คือเห็นด้วยถึงร้อยละ ๙๘.๗ แล้วกฎหมายก็คลอดออกมา พวกเขาบอกผมภายหลังว่านี่เป็นการผ่านกฎหมายภาษีที่ใช้เวลาน้อยที่สุดที่เคยเป็นมา อันนี้เป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จจริงๆ

เราจัดเวิร์กช็อปหลายครั้งทั่วประเทศเวียดนามเพื่อพยายามสำรวจว่าคนคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร สมาชิกสภาฯ หลายคนต้องการกำหนดอัตราภาษีให้สูง อยากเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีมลพิษอีกหลายตัว จนผมต้องบอกว่า แม้ว่าผมจะสนับสนุนการออกภาษีสิ่งแวดล้อมแบบต่างๆ มากมายเพียงใด แต่ได้โปรดเถิด อย่าจัดให้หนักมากนักในเบื้องต้น คนจะกลัว มันจะช็อกเกินไป ต้องให้เขาลองมีประสบการณ์กับเรื่องเหล่านี้ คอยตามประเมินแล้วปรับปรุง เสริมสร้างเพิ่มเติมจากประสบการณ์เรียนรู้ที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นวิธีการที่เราทำกันในเวียดนาม พวกเขาพอใจในกระบวนการมากและกำลังจะออกภาษีสิ่งแวดล้อมอีกตัวในปีนี้ เรียกว่าภาษีถนนประจำปี เป็นภาษีที่เจ้าของรถยนต์ต้องจ่ายปีละครั้ง เป็นกรณีความสำเร็จที่น่าทึ่งมาก เราทำอะไรคล้ายๆ กันกับประเทศจีน แต่ไม่เข้มข้นเท่าเวียดนาม เข้าใจว่าจีนเองก็กำลังจะออกภาษีรถยนต์ ซึ่งมันเยี่ยมมาก

ง่ายจังเลย เป็นเพราะระบอบคอมมิวนิสต์หรือเปล่า?
ประเทศไทยก็ถือว่ามีเงื่อนไขเบื้องต้นที่ดีมาก ผมได้เห็นร่างกฎหมายการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ของคุณแล้ว ในนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการปฏิรูประบบการคลัง ตอนนี้ทางกระทรวงกำลังหารือถึงรายละเอียดในการดำเนินการ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผมมาที่นี่ ให้คำปรึกษาและอบรมคนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๓ วัน เกี่ยวกับการนำเสนอปฏิรูประบบภาษี การสร้างพันธมิตร เมื่อใดควรฉวยโอกาสผลักดันเรื่องนี้ สถานการณ์แบบไหนเปิดช่องให้เข้าไปตอบโจทย์งบประมาณแก่ท่านนายกฯ อันนี้เป็นวิธีเล่นเกมการเมือง

เมืองไทยมีความพยายามจะออกกฎหมายเก็บภาษีมลภาวะเมื่อ ๑๕ ปีก่อน แต่ทำไมผลักดันออกมาไม่ได้
ผมไม่ทราบสถานการณ์ของไทยจึงตอบไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร ผมเองก็อยากรู้ เพราะการเรียนรู้จากความผิดพลาดมันมีประโยชน์มาก เราได้รู้ว่าครั้งต่อไปจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร แต่ผมเชื่อว่าต้องมีนักการเมืองที่สนใจประเด็นเหล่านี้ อย่างที่ผมบอกตอนต้น เมื่อคุณกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ มีนโยบายประชานิยม ต้องใช้เงินมหาศาล อันนี้เป็นช่องโอกาสที่จะเสนอภาษีสิ่งแวดล้อม คุณเสนอลู่ทางหาเงิน เขาจะต้องชอบ แน่นอนว่าไม่มีใครในโลกชอบจ่ายภาษี คนไทยก็ไม่ชอบ คนเยอรมันก็ไม่ชอบ แต่เมื่อเขาเห็นผลประโยชน์ที่ได้รับ ได้เงินโปะค่าใช้จ่ายมากขึ้น มลภาวะลดลง ขยะจากหีบห่อลดลง เขาก็พร้อมจะยอมรับนโยบายถ้าดำเนินการเพิ่มภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคุณต้องมีแผนประชาสัมพันธ์นโยบาย ให้ข้อมูลแก่สังคม

ประสบการณ์ในเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในยุโรป
พบว่ามันไม่ง่าย ไม่ต้องสงสัยเลย แต่มันมีแนวทางก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เราหันไปดูได้ว่าประเทศอื่นเขาแก้ปัญหากันอย่างไร เพราะคนกำหนดนโยบายมักจะสนใจว่า “เอ้อ สวีเดน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ก็ทำกัน ทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ”

ในเอเชียก็เช่นกัน กลุ่มประเทศในเอเชียน่าจะสร้างเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย จีน ต่างก็สนใจประเด็นนี้กันอยู่แล้ว และจะมีอีกหลายประเทศที่คิดจะเริ่ม จริงๆ แล้วทุกประเทศสนใจ เพราะที่สุดแล้วทุกคนต้องทำแบบนี้ ทุกประเทศต้องต่อสู้กับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ต้องเผชิญกับบิลค่าไฟฟ้า ทุกคนอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ควรจะมีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลของแต่ละประเทศ

อยากให้คุณยกตัวอย่างการก้าวข้ามอุปสรรคในเยอรมนีหรือที่อื่นๆ
อย่างที่ผมเล่าไปแล้ว รัฐบาลเยอรมันรับข้อเสนอ ๕ ข้อจากทั้งหมด ๖ ข้อที่เรานำเสนอ เราได้เสนอภาษีเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ เพราะนิวเคลียร์ไม่เคยถูกเก็บภาษีเลย แถมยังได้เงินอุดหนุนอีกมากมาย และเราเสนอแนวทางเลิกอุดหนุนการประกอบการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทำลายสิ่งแวดล้อม คือคุณต้องดูทั้งสองด้านของงบประมาณ ด้านหนึ่งดูค่าใช้จ่ายอุดหนุนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากลดหรือเลิกไปยังช่วยประหยัดเงินในคลังได้อีกด้วย และอีกด้านหนึ่งดูการเพิ่มภาษีกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจึงเสนอภาษีนิวเคลียร์ ภาษีการเดินทางทางอากาศ เมื่อจะออกเดินทางจากสนามบินที่เยอรมนี คุณต้องจ่ายภาษีตัวนี้ตามระยะทางบิน และคุณต้องสื่อสารกับสาธารณะ ให้เข้าใจว่าการบินก่อมลภาวะและสร้างปัญหาต่อสุขภาพกว้างไกลมากแค่ไหน แต่กลับเป็นภาคขนส่งภาคเดียวที่แทบไม่ต้องจ่ายภาษีเลย การบินจึงเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด เพราะเขาไม่ต้องจ่ายต้นทุนสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ระบบขนส่งอื่นๆ จ่ายหมด ภาษีการใช้รถยนต์ในเยอรมนีสูงมาก รถไฟก็เช่นกัน มันจึงไม่ยุติธรรม ข้อมูลคุณต้องแม่น ตรรกะคุณต้องดี สื่อถึงผู้คนแล้วเขาจะเข้าใจ

การให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องทำ ๗ ครั้ง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ระบุให้ชัดว่าใครได้ ใครเป็นผู้ชนะจากนโยบายนี้ อันนี้สำคัญมาก ในปี ๒๕๔๗ เราจัดแถลงข่าวที่เจ๋งมาก เพราะเราเชิญผู้บริหารสูงสุดจากบริษัทต่างๆ มาเล่าถึงผลดีของการประกอบการจากการปฏิรูประบบภาษีสิ่งแวดล้อม พวกเขาคือผู้ชนะจากนโยบายเหล่านี้ พวกเขาได้แสดงข้อมูลตัวเลขที่หนักแน่น ต้องจ่ายภาษีพลังงานเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ประหยัดค่าประกันสังคมไปเท่าไหร่ โอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง เพราะผู้คนพากันถามหาตัวช่วยประหยัดพลังงานในบ้าน ถามหารถประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเขาก็ผลิตสินค้าเหล่านี้ป้อนตลาดได้ อันนี้เป็นเรื่องราวที่สื่อมวลชนสนใจ พวกเขาเห็นชัดว่าภาคธุรกิจสนใจเพราะมันเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ ได้กำไรดี และท้ายที่สุดมันสร้างงานเพิ่ม ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายอยากจะสาธิตให้สังคมดู

แล้วผู้บริโภคหรือผู้เสียภาษีทั่วไปไม่โวยบ้างหรือ
ไม่ต้องห่วง เรามีปัญหาเดียวกัน ประเด็นหลักคือต้องสร้างพันธมิตร เราเป็นนักสิ่งแวดล้อมส่วนน้อย เราไม่มีน้ำหนักมาก เราจึงต้องสร้างพันธมิตรกับเสียงส่วนใหญ่ ในเยอรมนี จุดร่วมคือการลดอัตราการว่างงาน ในตอนนั้นเรามีช่องทางลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน ซึ่งเป็นข่าวดีที่จะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานได้ แล้วเราจะลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงานอย่างไร? มันไม่มีปุ่มให้กดแล้วเปลี่ยนได้เลย แต่เราทำได้ด้วยการจัดระบบการเงินเสียใหม่ เช่นลดค่าประกันสังคม การเสนอภาษีพลังงานมาทดแทนการลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานจึงมีเสน่ห์ มีรายงานของรัฐบาลออกมาตั้งคำถามว่าอะไรคุ้มค่ากว่ากัน ระหว่างการลดอัตราการว่างงานที่ช่วยให้รัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น กับการไม่ทำอะไรเพราะมัวกังวลว่าคนจะไม่ชอบภาษี เยอรมนีมีคนว่างงานหลายล้านคน จึงคุ้มกว่าที่จะแก้ปัญหานี้ และยอมรับว่าอาจต้องพบกับการประท้วงเรื่องภาษีสิ่งแวดล้อม

เราเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้เมื่อปี ๒๕๔๓ หลังออกกฎหมายบังคับใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมในปี ๒๕๔๒ ตอนกลางปี ๒๕๔๓ เราเจอกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ในปี ๒๕๔๑ น้ำมันราคาแค่ ๙ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ปี ๒๕๔๓ ราคาน้ำมันพุ่งพรวดเป็น ๓๕ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในปีครึ่งราคาเพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่า เป็นจังหวะที่เราเพิ่งเริ่มเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมมาได้ไม่นานนักพอดี ซึ่งคุณอาจจะคิดว่าซวยจริงๆ เลย เพราะผู้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน เกษตรกรขับรถแทร็กเตอร์มาตะโกนเย้วๆ ใส่เรา นายกรัฐมนตรีก็ต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไรดี ท่านไม่ชอบที่ประชาชนประท้วงนโยบายภาษีสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล ท่านจึงไม่ชอบภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ท่านบอกว่า ภารกิจที่สำคัญที่สุดคือลดอัตราการว่างงาน ท่านจึงต้องลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนโยบายปฏิรูปภาษีสิ่งแวดล้อมถึงเดินหน้าไปได้แม้จะโดนต่อต้าน นี่คือบทเรียนของเรา แม้แต่เอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมหลายองค์กรก็ไม่ชอบภาษีตัวนี้เท่าไรนัก

ถ้าเราออกมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมกว้างขวางเกินไปก็จะโดนประท้วง คุณถึงต้องสร้างพันธมิตรโดยจับคู่โยงมันกับปัญหาสังคมอื่นๆ มันได้ผลดีกว่าไปทำโครงการสิ่งแวดล้อมที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจ เราอาจจะใช้ภาษีร้อยละ ๕ ดำเนินโครงการสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น แต่ไม่ใช่สัดส่วนใหญ่กว่านั้น คนจะไม่สนใจและสนับสนุน

ในกรณีที่เราไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ แต่เป็นผู้มีอำนาจที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการผูกขาดทรัพยากรและการโยนภาระค่าใช้จ่ายให้สิ่งแวดล้อมและสังคมแบกรับแทน เราจะทำให้เขาสนใจนโยบายแบบนี้ได้อย่างไร
แน่นอนว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ยากกว่าในเยอรมนี ธรรมาภิบาลเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการปฏิรูปแนวคิดนี้ ผมจึงอยากแนะนำให้องค์ประกอบข้อเสนอของคุณระบุชัดเจนว่าจะต้องมีการตรวจสอบการใช้ภาษีเหล่านี้เป็นอย่างดี คุณอาจพยายามตั้งองค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง อย่างน้อยๆ ก็อาจช่วยลดโอกาสการบริหารที่ผิดหลักธรรมาภิบาล คุณอาจจะขอความช่วยเหลือจากองค์กรระดับนานาชาติในการติดตามตรวจสอบ ผมไม่รู้ อาจจะเป็นไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก หรือองค์กรอื่น บอกเขาว่า “พวกคุณต้องดูแลหนี้ที่ให้ยืมไป ส่วนเรามีปัญหาไม่เชื่อใจรัฐบาล เราต้องการคนคอยเฝ้าติดตามเพิ่มเติม เราเชื่อใจคุณมากกว่า กรุณาทำรายงานการตรวจสอบออกมาให้สาธารณะด้วย” หรือคุณอาจจะหาเอ็นจีโอช่วยจัดทำตีพิมพ์รายงานในเรื่องนี้ และเผยแพร่แก่สื่อมวลชน ทำให้โปร่งใส สร้างแนวร่วมกับเครือข่ายผู้เสียภาษีและติดตามผู้กำหนดนโยบาย จนต้องพูดได้ว่า “ดูนั่นสิ คุณกำลังโกหกเรา คุณใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ คุณเอาเงินพวกเราไป” มันไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นอะไรที่พอทำได้ ความโปร่งใสคืออาวุธทรงพลังในการจัดการกับรัฐบาลที่ไม่ดี มันเป็นงานระยะยาว อาจไม่สำเร็จในวันพรุ่งนี้ แต่อาจจะสำเร็จในวันถัดไป

คำถามสุดท้าย เป็นไปได้หรือไม่ที่ “การคลังเขียว” จะกลายเป็นแนวปฏิบัติกระแสหลัก
เราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว เราไม่อาจเดินเส้นทางอื่น เพราะจะกลายเป็นว่าเราไปพยุงระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการทำลายมันลงในที่สุด ในระยะยาว เราไม่อาจมี “ราคา” ที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงทางระบบนิเวศ มันจะส่งผลเลวร้ายต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าที่เคยประสบกันมา

ขอขอบคุณ : คุณปิยะทิพย์ เอี๋ยวพานิช และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ประเทศไทย ประสานงานและอำนวยความ
สะดวก

*BTU(British Thermal Unit) เป็นหน่วยวัดปรมาณความร้อน BTU tax คือภาษีทีคิดตามค่าความร้อนของเชื้อเพลิง โดยยกเว้นพลังงานลม แสงแดด และพลังงานความร้อนใต้พิภพ