เหตุการณ์ “6 ตุลา 19” – วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดเหตุการณ์ล้อมฆ่าหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ชุมนุมประท้วงขับไล่ จอมพล ถนอม กิตติขจร (ซึ่งหนีออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” แล้วบวชเณรที่สิงคโปร์ก่อนจะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร) ออกนอกประเทศ แต่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมของคอมมิวนิสต์ต่างชาติที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์
เหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน ทหาร กลุ่มนวพล กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และอื่น ๆ พร้อมอาวุธสงครามครบมือได้เข้ากวาดล้างและจับกุมผู้ที่ชุมนุมอย่างรุนแรง โดยทางรัฐบาลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 ศพ แต่เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่า 530 คน (แต่มีการคาดการณ์กันว่ามีผู้เสียชีวิตจริง ๆ กว่าพันคน) บาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก ถูกจับกุมข้อหากบฎ 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน
ในตอนเย็นวันเดียวกันนี้ คณะทหารในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา หลังจากเหตุการณ์นี้ ได้มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี โดยแกนนำนักศึกษา 19 คนถูกคุมขังตีตรวนโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้เข้าล้อมปราบไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ ต่อมาก็ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด
เหตุการณ์ “6 ตุลา 19” นับเป็นการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ และเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครกล้าตอบ