สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน


ต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔  มีข่าวเล็กๆ ซึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย

นั่นคืองานเปิดตัวดวงตราไปรษณียากร “ศตวรรษชาตกาลหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ-ปรีดี พนมยงค์ พร้อมรำลึกคนดีศรีสยาม…ตามหาคำตอบ อนาคตประเทศไทย” ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ วันคล้ายวันเกิดของบุคคลทั้งสองในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ และ ๑๑๑ ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส

ในงานยังมีการเสวนา “รำลึกสามคนดีศรีสยาม ตามหาคำตอบ…อนาคตประเทศไทย” และการจัดแสดงนิทรรศการชีวิตและผลงานของทั้งสองท่าน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ไปรษณียากร สามเสนใน

กล่าวเฉพาะ ปรีดี พนมยงค์  องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓  มีกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ทั้งการเสวนาวิชาการ การจัดพิมพ์หนังสือ ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง

ทว่าสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในปีนั้น คือการจัดทำดวงตราไปรษณียากรรูปปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในอารยประเทศถือเป็นการให้เกียรติบุคคลสำคัญของชาติ  ต้องรอถึง ๑๑ ปีต่อมา แสตมป์ดังกล่าวจึงจัดทำขึ้นโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด

แสตมป์ชุดนี้มี ๒ แบบ  แบบแรกเป็นภาพ ปรีดี พนมยงค์ ขณะรับเหรียญ Medal of Freedom (Gold Palm) ชั้นสูงสุดเพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะหัวหน้าเสรีไทย จากนายโรเบิร์ต พี. แพตเทอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๔๘๙  ส่วนแบบที่ ๒ เป็นภาพปรีดีขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฉากหลังเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้ง ๒ แบบนี้เป็นผลงานการออกแบบของ ธเนศ พลไชยวงศ์ เจ้าหน้าที่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด  เขาเล่าถึงแนวคิดว่า “แบบที่ ๑ จะเน้นเรื่องการทำคุณประโยชน์ระหว่างประเทศ  ส่วนแบบที่ ๒ จะเน้นในคุณงามความดีที่มีต่อประเทศชาติโดยตรง” แสตมป์ชุดนี้วางจำหน่ายครั้งแรก ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔  ราคาดวงละ ๓ บาท  ๑ แผ่นมี ๒๐ ดวง จำหน่ายพร้อมซองราคา ๑๔ บาท  ถือเป็นครั้งแรกที่รูป ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ปรากฏบนแสตมป์ไทย

อานุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า “เนื่องจากวันที่ ๑๑ พฤษภาคมเป็นวันคล้ายวันเกิดบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่อประเทศ บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการรำลึกคุณความดีด้วยการบันทึกสิ่งสำคัญลงบนดวงตราไปรษณียากร” และระบุว่า “นายปรีดี อดีตรัฐบุรุษอาวุโส ถือเป็นบุคคลสำคัญและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย”

ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ ประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ชี้ว่าแสตมป์ชุดนี้มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีผลจนถึงทุกวันนี้  “ท่านเปลี่ยนโฉมหน้าการปกครองบ้านเรา  ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังมีบทบาทแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบ ทำให้ไทยมีเสรีภาพสมบูรณ์  สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ไทยจึงไม่แพ้สงคราม  ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียว เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังตระหนักว่าการทำความดีจะได้รับการยกย่องและจะไม่มีวันเสื่อมสูญ”

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ เล่าว่า “เมื่อปี ๒๕๔๓ ก็มีการผลักดันให้จัดทำแสตมป์ชุดนี้ขึ้น แต่ตอนนั้นติดเงื่อนไขคือบุคคลผู้นั้นต้องถึงแก่กรรมอย่างน้อย ๒๐ ปี ช่วงหลังคงมีการปรับเกณฑ์นี้ บุคคลสำคัญจึงได้รับการยกย่องนำมาทำเป็นแสตมป์มากขึ้น”

เขาบอกว่าแสตมป์ชุดนี้ถือเป็นหมุดสำคัญหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

“สิ่งที่อยากผลักดันต่อคือ แสตมป์ ‘วันสันติภาพไทย’ เพราะอีก ๔ ปีจะครบ ๗๐ ปี วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ที่นายปรีดี พนมยงค์  หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกาศสันติภาพ ทำให้การประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรของไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็น ‘โมฆะ’ ส่งผลให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม ซึ่งในทางประวัติศาสตร์สำคัญมาก”