สุวรรณา เปรมโสตร์ : รายงานและถ่ายภาพ

ชาวบ้านใน อ.สอง ต้านการสร้างเขื่อนมาตลอด ๒๐ ปี

จะมีนายกรัฐมนตรีกี่คนในโลกนี้ที่ประกาศผลักดันโครงการสร้างเขื่อนในวันสิ่งแวดล้อมโลก !

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายนที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีได้ยกโครงการสร้างเขื่อนกาญจนาภิเษกที่ทุกคนรู้จักในนาม “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง จากที่มีกระแสคัดค้านมาตลอดเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี และปัจจุบันก็ยังไม่ได้เริ่มสร้าง นายกฯ สมัครอ้างว่าป่าสักทองในลุ่มน้ำยมเวลานี้เป็น “ป่าเสื่อมโทรม” รวมไปถึงมี “นกยูงโง่” แค่ ๓ ตัวอาศัยอยู่เท่านั้น จึงสมควรที่จะมีการพิจารณาให้เดินหน้าสร้างเขื่อนอีกครั้ง

ในเดือนเดียวกัน ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต จึงนำสื่อมวลชนเดินทางไป อ. สอง จ. แพร่ และ อ. เชียงม่วน จ. พะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เพื่อไขข้อข้องใจในสิ่งที่นายกฯ พูด

มีนกยูงไหม ? คำตอบ = มี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่ยมให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันในพื้นที่ป่าของอุทยานฯ มีนกยูงราว ๔-๕ ฝูง ฝูงละ ๒๐-๔๐ ตัว ชาวบ้านเพิ่งได้ยินเสียงนกยูงร้องเมื่อสัปดาห์ก่อน

มีป่าสักไหม ? คำตอบ = มี จากจุดชมวิวเราเห็นดงป่าสักทอดตัวยาว ๑๒ กิโลเมตรตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม บริเวณที่มีต้นสักหนาแน่นนั้นมีประมาณ ๖๐๐ ต้นต่อ ๑ ตารางกิโลเมตร (สื่อมวลชนยังอาศัยใบสักขนาดใหญ่ที่ร่วงอยู่ทั่วไปในป่ารองนั่งเปิบข้าวเหนียวมื้อเที่ยงกันอย่างเพลิดเพลิน)

และอันที่จริงแล้ว พื้นที่นั้นมีอะไรมากกว่าป่าสักกับนกยูง

“คุณสมัครจะไปรู้อะไรถ้าเคยไปแต่ตลาด อตก.” ผู้ใหญ่เส็ง ขวัญยืน หนึ่งในแกนนำชาวบ้านแซว

ตลาดในหมู่บ้านดอนชัยเริ่มคึกคักตั้งแต่ตีห้า ลุงโน้ง เกินเมือง นำหน่อไม้ที่แกเข้าไปขุดหาเองในป่าเมื่อวานมาขาย และรอเวลาที่จะออกไปขุดใหม่ตอนเจ็ดโมงเช้าวันเดียวกัน เราจึงถือโอกาสตามลุงไปด้วย

ลุงโน้งเดินสไลด์ขึ้นลงตามเนินเขาริมแม่น้ำยมอย่างแคล่วคล่อง ป่ารกไปด้วยต้นไผ่ (และหนาม !)
ทัพมดที่แตกฮือออกมาในบางหลุมหน่อไม้ที่ลุงขุด ยุงตอมหน้าว่อนเมื่อเหงื่อเริ่มออก ที่สำคัญหน่อไม้ไม่ได้มีอยู่ใต้ต้นไผ่ทุกต้น ! มืออาชีพอย่างลุงเท่านั้นถึงจะขุดแล้วเจอทุกที่ ยังไม่ถึงชั่วโมงดีลุงโน้งได้หน่อไม้ขาว ๆ งาม ๆ มาย่ามหนึ่ง นำไปต้มเสียหน่อยหนึ่งย่ามนี้ก็ไปขายที่ตลาดได้เงินเป็นร้อยบาทแล้ว

ครอบครัวคุณวันชัย วงศ์ขยัน คนหมู่บ้านดอนแก้ว เป็นผู้รับซื้อพืชผักจากคนหาของป่าตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เล่าว่าในฤดูฝนเขารับซื้อหน่อไม้ดิบทุกวัน วันละ ๓๐๐-๔๐๐ กิโลกรัม กิโลกรัมละ ๑๕ บาท นำมาต้มและนำไปขายที่ตลาดในอำเภอเมือง ตกกิโลกรัมละ ๒๐ บาท เมื่อหักค่าน้ำมันและต้นทุนทุกอย่างแล้ว การไปขายที่ตลาดเที่ยวหนึ่ง ๆ ได้กำไรครั้งละ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท นี่ยังไม่รวมเจ้าอื่น ๆ ที่เป็นผู้รับซื้ออีกหลายบ้าน

การขุดหน่อไม้ได้ทั้งในจำนวนที่มากและในเวลาอันรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญ อาชีพของคนที่นี่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ ลุงโน้งเก็บหน่อไม้เก่งก็เพราะป่าที่นี่มีหน่อไม้อาชีพและทักษะอื่นก็มีการสืบทอดมาเรื่อย ๆ จากคนรุ่นก่อน ความรู้ในการยังชีพถูกถ่ายทอดผสมผสานกับตำนานผีที่เป็นประเพณีนับถือของหมู่บ้าน

ลุ่มน้ำยมยังเต็มไปด้วยป่าสักอันสมบูรณ์

ป่าแม่ยมเต็มไปด้วยพืชผักเศรษฐกิจให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บของป่าขายหมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปี ทุกวันนี้ยังมีหลายบ้านที่อยู่ได้ด้วยการเก็บของป่าขายเพียงอย่างเดียว (ส่วนมากเป็นคนในหมู่บ้านแม่เต้น อ. สอง) การเก็บหน่อไม้เป็นเพียงตัวอย่างพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่เราได้เห็นกับตาเนื่องจากเดือนมิถุนายนเป็นฤดูกาลที่มีหน่อไม้พอดี ทว่าตลอดปีป่าแม่ยมเป็นแหล่งของเห็ด ไข่มดแดง ผักหวาน และพืชผักอีกถึง ๔๙ ชนิดผลัดกันไปตามฤดูกาล จากงานวิจัยจัดทำโดย “คณะนักวิจัยจาวบ้านแก่งเสือเต้น” ร่วมกับเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยชุมชน และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ระบุว่ารายได้ของชาวบ้านที่เกิดจากของป่าคิดเป็นเงินหลายแสนบาทต่อปี

ตอนบ่าย ๆ ลุงโน้งนอนพักผ่อนระหว่างต้มหน่อไม้ที่เก็บมาได้เมื่อเช้า รอที่จะนำไปขายอีกครั้งที่ตลาดในวันรุ่งขึ้น ลุงอยู่กันแค่สองคนกับภรรยา รายได้หลักของบ้านมาจากการเก็บหน่อไม้ขาย นาน ๆ ครั้งลุงจะรับจ้างทาสีและซ่อมบ้าน บ้านนี้ปลูกสารพัดผักสมุนไพรไว้ทำกับข้าวเอง รองน้ำฝนดื่มปั๊มน้ำจากห้วยมาใช้ในห้องน้ำเงินที่มีอยู่เป็นจำนวนแค่ “พอใช้” สำหรับซื้อข้าว ยาและน้ำมันเติมมอเตอร์ไซค์เท่านั้น

“ถึงจะอยู่แบบจน ๆ แต่เราก็ขออยู่แบบนี้” เพื่อนข้างบ้านลุงที่มานั่งพักผ่อนด้วยกันยามบ่ายพูดขึ้น หากการสร้างเขื่อนและย้ายที่ทำกินจะนำมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่าดังที่ใครกล่าวอ้างจริง แต่นั่นเท่ากับเป็นการเริ่มต้นใหม่ ความเชี่ยวชาญในอาชีพที่ใช้เวลาทั้งชีวิตสั่งสมมากลายเป็นสูญเปล่า โดยเฉพาะ
ลุงโน้งและชาวบ้านอายุ ๕๐- ๖๐ ปีขึ้นไปที่มีชีวิตประจำวันไม่ต่างจากลุงโน้ง จะเริ่มอาชีพใหม่ชีวิตใหม่อย่างไร

“ชีวิตประจำวันของลุงโน้งกับผู้คนอีกราว ๒,๘๐๐ ครอบครัวที่มีชีวิตไม่ต่างกันเลยกับลุง” คือรายงานล่าสุดของเราจากพื้นที่เขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการรายงานข้อมูลชีวิตเพิ่มเติมจากรายงานสถิติตัวเลขที่พูดกันมานานกว่า ๒๐ ปี แต่ก็ยังไม่มีการยกเลิกการสร้างเขื่อนอย่างถาวรเสียที

และหากจะว่าไป การดำรงอยู่ของป่าอันสมบูรณ์นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดูแลของชาวบ้านเองด้วย ชาวบ้านรวมตัวและออกกฎร่วมกันในการดูแลป่า เช่น ห้ามตัดไม้ เผาถ่าน หยุดการตัดต้นสัก
เพื่อสร้างบ้าน หรือห้ามชักนำพ่อค้าเข้ามาตัดไม้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ รวมทั้งการปลูกป่าเพิ่มเติมในหลายวาระ ในวันที่เราเดินทางกลับกรุงเทพฯ ทาง อบต. ก็ยังนำต้นกล้าสักมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปปลูกกันเพิ่มอีกหลายพันต้น

ลุงโน้งกับภรรยาก็ปลูกต้นสักนับพันต้นบนพื้นที่ ๔ ไร่ของตัวเองมาตั้งแต่ ๑๐ ปีที่แล้ว เพื่อรอผลให้ต้นสักโตพอที่จะขายหรือใช้งานได้ในอีก ๔๐ ปีข้างหน้า ปีนี้ลุงโน้งอายุ ๖๗ แล้ว สิ่งที่แกหวังคงไม่ใช่สำหรับตัวเอง แต่เป็นการปลูกเพื่อลูกหลานในอนาคต

ชาวบ้าน ต.สะเอียบ บวชป่าปีละครั้งในดงสักงาม

ล่าสุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรายงานชิ้นต่าง ๆ โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔๖ ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น…และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน” คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลชัดเจนว่า”ให้พิจารณายกเลิกโครงการแก่งเสือเต้นเป็นการถาวรโดยทันที”

ป่าคือซูเปอร์มาร์เกตของคนที่นี่ ทุกอาชีพของคนพื้นที่นี้เกิดขึ้นจากสภาพของป่าและการอยู่ร่วมกับป่ามาตลอดชีวิต ทุกครอบครัวไม่เพียงใช้ประโยชน์จากป่าแต่ฝ่ายเดียว แต่มีกลยุทธ์ในการดูแลรักษาป่าให้คงความสมบูรณ์ด้วย

(ขอถามคำถามเดิมอีกครั้งว่า) สมควรหรือไม่ที่เขาทั้งหมดต้องเก็บผ้าเก็บผ่อนย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยเฉพาะเพื่อแลกกับการสร้างเขื่อนที่ไม่ได้มีประโยชน์จริงตามเจ้าของโครงการว่าไว้

ขอขอบคุณ : ชาวบ้านดอนชัยทุกท่าน คุณธีรวุฒิ ออมแก้ว และคุณสุดารัตน์ ชัยมงคล สมาชิก
อบต. หญิงคนแรกของตำบลสะเอียบ ที่เอื้อเฟื้อที่คุ้มหัว อาหาร(หน่อไม้กินกับน้ำพริกแสนอร่อย) และน้ำอาบ (จากแม่น้ำยม) แก่เราอย่างอบอุ่น

 

  • คนตำบลสะเอียบ ๔ หมู่บ้าน ราว ๑,๐๐๐ ครอบครัว และคนอำเภอเชียงม่วน ๑๑ หมู่บ้าน ไม่น้อยกว่า ๑,๘๐๐ ครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐาน
  • การสร้างเขื่อนต้องแลกกับการสูญเสียป่าสักธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แห่งเดียวและแห่งสุดท้ายของประเทศไทย มีความสมบูรณ์ติดอันดับ ๑ ใน ๓ ของโลก รวมพื้นที่ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นมูลค่า ๒ พันล้านบาท (กรมป่าไม้ ๒๕๓๙) และจะมีมูลค่ามากขึ้นในอนาคตด้วย
  • เมื่อสูญเสียป่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเฉพาะถิ่น (Micro Climate) ทำลายแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่อาจประเมินค่าได้
  • โครงการขัดกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ให้ประเทศมีป่าอนุรักษ์จำนวนร้อยละ ๒๕ เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหลือเพียงร้อยละ ๑๔ เท่านั้น
  • เขื่อนสร้างในเขตรอยเลื่อนแพร่ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ มีพลังห่างจากที่ตั้งเขื่อนออกไป ๓๑ กิโลเมตร และเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๗ มาตราริกเตอร์
  • เขื่อนไม่สามารถป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากเมื่อสร้างเสร็จและใช้งาน ปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่า ๒ ใน ๓ ของความจุของอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ซึ่งมีความจุเพียง ๑,๑๗๕ ล้านลูกบาศก์เมตร เล็กกว่าเขื่อนภูมิพล ๑๑ เท่า ถือเป็นเขื่อนที่เล็กมาก ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำท่วมได้
  • กำลังผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนคิดเป็น ๐.๔๘ ของกำลังการผลิตติดตั้งที่ประเทศต้องการ ซึ่งถือว่าน้อยมาก
  • และอย่างไรก็ตาม การรณรงค์ลดการใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานดูจะเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า (เสริมกันไปกับวันรณรงค์ปิดไฟทั่วประเทศ) “ต้นไม้กับน้ำหน้าเขื่อนอะไรจะเย็นกว่ากัน คุณสมัครคงคิดว่าสร้างเขื่อนแล้วจะได้มีไฟฟ้าไปติดแอร์ ท่านคงคิดว่าคนไทยจะติดแอร์ทุกบ้าน” – นี่ก็คำพูดแซวแบบคัน ๆ ของผู้ใหญ่เส็ง ขวัญยืน อีกนั่นแหละ
  • การสร้างเขื่อนทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศอย่างรวดเร็ว และในปริมาณที่อาจจะสูงถึง ๔ แสนเมตริกตัน ซึ่งเป็นตัวการทำให้ “โลกร้อน”
  • อย่างไรก็ตาม หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอว่าน่าจะมีการศึกษาและทำรายงานผลกระทบจากการสร้างเขื่อนใหม่ทั้งหมด ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อชุมชน และต่อระบบนิเวศ เนื่องจากรายงานแต่ละชิ้นจัดทำกันตั้งแต่เมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว