เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช , ประเวช ตันตราภิรมย์

กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  พรมแดนไทย-ลาว
เนิน ๑๔๒๘  บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
ณ แนวปะทะของกองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ ๙๕๗ (สังวร)

ปัง ปัง ปัง…ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง………………………………….
วู้ดดดดดดด…บรึม….บรึม
“ป่าโมกข์ (รหัสเรียกปืนใหญ่)…สังวร…แช็ต”
“สวนทันที…แช็ต”
“ขอช้างถีบทีละสองขา (ยิงทีละสองนัด) ลงที่เก่าเวลาเดิม…แช็ต”
“ว.๒ (รับทราบ)…ว.๘ (ปฏิบัติ)”
“จากสังวร…แช็ต”
“เยื่อพรหมจรรย์ขาด (โดนเป้าหมาย) แล้ว ถูกต้อง ? …แช็ต”
“น้ำแตก…แต่เป็น (แม่) น้ำเหือง…ก้มหน้าอีกนิด…แล้วกดเข้าไป…แต่ไม่ต้องส่าย…แช็ต”
วู้ดดดดดดด…บรึม…บรึมๆๆๆ

…การปะทะดำเนินไปท่ามกลางเปลวแดดร้อนราวกำลังผจญเพลิง…
“พวกเรา” ยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกกรณี แต่ก็พยายามที่จะรุกเข้าไปเพื่อยึดฐาน
ของฝ่ายลาว  ระยะเวลาการปะทะยิ่งนาน เสียงผู้บาดเจ็บก็ยิ่งดังมากขึ้นๆ…

บันทึก “ศึกร่มเกล้า” ยี่สิบสามปีตำนานสมรภูมิ ๑๔๒๘

๒๓ ปีต่อมา

นอกจากบันทึกส่วนตัวของทหารพราน นอกจากเสียงปืนใหญ่ ณ จุดที่พวกเขาเชื่อว่าเป็น “เขตแดน” ที่ต้องปกป้อง นอกจากเสียงร้องของคนที่ถูกยิงและบาดแผลความทรงจำที่ติดตัวคนคนหนึ่งไปตลอดชีวิต

คนไทยยุคนี้อาจจำศึกครั้งนี้ได้เพียงทหารไทยทิ้งระเบิดใส่ฝ่ายเดียวกัน และไทยแพ้ทั้งที่กำลังรบเหนือกว่า จนต้องเจรจาสงบศึก  บางคนอาจจำได้แค่เลข ๔ ตัว–๑๔๒๘

และสำหรับคนรุ่นหลัง เรื่องตลกร้ายก็คือ สงครามครั้งนี้เป็นที่รู้จักน้อยกว่าการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔ ศตวรรษก่อนเสียอีก

ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ยามที่ไทยมีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนกับกัมพูชาตลอดแนวชายแดนอีสานใต้ถึงขั้นสาดกระสุนปืนใหญ่ใส่กัน จนกระทั่งกัมพูชาส่งเรื่องกลับสู่ศาลโลก  ความ “เข็ดขยาด” และ “ฝันร้าย” จากคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี ๒๕๐๕ ก็ได้กลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกครั้ง และเรื่องของ “ศึกร่มเกล้า”–“สงครามเต็มรูปแบบ” ครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านจากความขัดแย้งเรื่องเขตแดนก่อนเกิดสงครามไทย-กัมพูชาครั้งล่าสุด ก็อาจผุดขึ้นในความทรงจำของผู้สนใจประวัติศาสตร์

ด้วยระหว่างบรรทัดของประวัติศาสตร์ศึกร่มเกล้านั้น มีรายละเอียดบางอย่างที่คล้ายและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างน่าพิศวง และเป็นเรื่องที่เราควรนำมาทบทวนด้วยมุมมองใหม่

 

เนิน ๑๔๒๘ และบ้านร่มเกล้า

๑๔๒๘

คือเนินเขาที่อยู่ติดแม่น้ำเหืองฝั่งตะวันตก ชื่อของมันมาจากพิกัดความสูง ๑,๔๒๘ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ใช้โปรแกรม Google Earth สำรวจจะพบว่า เนิน ๑๔๒๘  อยู่ในจุดที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ห่างจากอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเกือบ ๑๐๐ กิโลเมตร

ในประวัติศาสตร์ เนินแห่งนี้คือพื้นที่ “ไกลปืนเที่ยง” จากศูนย์อำนาจอาณาจักรล้านช้างและสยาม  เนิน ๑๔๒๘
ปรากฏตัวครั้งแรกบนแผนที่ก็ล่วงเข้าปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ตรงกับยุคล่าอาณานิคม เมื่อมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส (ซึ่งขณะนั้นครอบครองเวียดนามและกัมพูชาแล้วบางส่วน) ต้องการ “เส้นเขตแดน” ที่แน่นอน หลังเกิดความขัดแย้งเรื่อง “ดินแดน” และ “แนวพรมแดน” กับ “ราชอาณาจักรสยาม” สมัยรัชกาลที่ ๕

สิ่งที่ทำให้เนินแห่งนี้และพื้นที่โดยรอบอยู่ในความรับรู้ของผู้คนมาจากหนังสือสัญญา ๒ ฉบับ

ฉบับแรกคือ “หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ซึ่งได้ลงชื่อกันที่กรุงปารีศ ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์
รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ (ค.ศ. ๑๙๐๔/พ.ศ. ๒๔๔๗)” ที่รู้จักในปัจจุบันว่า “สนธิสัญญาปี ๑๙๐๔” ซึ่งตำราเรียนสำนักชาตินิยมระบุว่าทำให้สยามได้จันทบุรีคืนหลัง “เสียดินแดน” ให้มหาอำนาจฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง  ไล่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๖ สมเด็จนโรดม กษัตริย์กัมพูชาลงนามในสนธิสัญญาเป็นรัฐใต้อารักขาฝรั่งเศส  ปี ๒๔๓๑ สยามเสียแคว้นสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก  และปี ๒๔๓๖ สยามเสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒

อย่างไรก็ตาม งานวิชาการประวัติศาสตร์หลายชิ้นวิเคราะห์ว่าสยามอาจไม่ได้ “เสียดินแดน” แต่สยามอาจ “แพ้การชิงดินแดน” ต่างหาก  งานวิจัยระดับปริญญาโทเรื่อง “การเรียกร้องดินแดน พ.ศ. ๒๔๘๓” ของ ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ตีพิมพ์ใน สมุดสังคมศาสตร์ ระบุว่าสยามยุครัชกาลที่ ๕ อยู่ในกระบวนการสร้างชาติ มีแรงกดดันในฐานะอดีตมหาอำนาจแถบนี้ ดังนั้น “ไม่เพียงแต่สยามจะดำเนินการปกป้องและรักษาสิทธิของตนทั้งโดยวิธีการอ้างสิทธิธรรมตามระบบบรรณาการแบบเดิม และการอ้างสิทธิตามแบบอย่างโลกตะวันตกในรูปของสนธิสัญญา ดังนั้นสยามจึงอยู่ในฐานะ ‘การต่อสู้แย่งชิงดินแดนกับฝรั่งเศส’ ด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้ เนื้อหาในสนธิสัญญาปี ๑๙๐๔ ที่เกี่ยวกับเนิน ๑๔๒๘ และบ้านร่มเกล้า คือข้อ ๒ ที่ว่า “ฝ่ายเขตร์แดนในระหว่างเมืองหลวงพระบางข้างฝั่งขวาแม่น้ำโขงแลเมืองพิไชย (พิษณุโลก) กับเมืองน่านนั้น เขตร์แดนตั้งต้นแต่ปากน้ำเฮียง (เหือง) ที่แยกจากแม่น้ำโขงเนื่องไปตามกลางลำน้ำแม่เฮียง จนถึงที่แยกปากน้ำตางเลยขึ้นไปตามลำน้ำตางจนบรรจบถึงยอดภูเขาปันน้ำ…”

ข้อความนี้ได้ถูกทำให้ชัดขึ้นใน “สัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนติดท้ายหนังสือสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕” ที่ระบุในข้อ ๒ ว่า “เขตรแดนเมืองหลวงพระบางนั้นตั้งแต่ทิศใต้ในแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเหืองแล้วต่อไปตามกลางลำน้ำเหืองนี้จนถึงที่แรกเกิดน้ำนี้ที่เรียกชื่อว่า ภูเขาเมี่ยง…”

ฉบับที่ ๒ คือ “หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์แห่งรีปับลิกฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๙๐๗ / พ.ศ.๒๔๕๐)” ซึ่งรู้จักกันในนาม “สนธิสัญญาปี ๑๙๐๗” ที่ทำให้เส้นเขตแดนสยามด้านติดอินโดจีนของฝรั่งเศสมีรูปร่างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สนธิสัญญานี้ทำให้เกิดคณะกรรมการผสมฯ เพื่อทำแผนที่ “ผนวก ๑” มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร จำนวน ๑๑ ระวาง/แผ่น แสดงเส้นเขตแดนสยามกับลาวและกัมพูชาของฝรั่งเศสตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) มาจนถึงเมืองตราด (เส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารที่มีปัญหาก็รวมอยู่ในแผนที่ชุดนี้ด้วย ปรากฏในระวางชื่อ “ดงรัก”-Map of Dangrek)

เส้นเขตแดนส่วนที่แบ่งพิษณุโลกกับแขวงไชยะบุรีอันมีเนิน ๑๔๒๘ และพื้นที่บ้านร่มเกล้านั้นปรากฏในระวาง “แม่น้ำเหือง” (Map of Huang River) โดยเส้นเขตแดนช่วงนี้เริ่มที่ภูขัดภูเมี่ยงต้นน้ำเหือง จากนั้นขีดลงไปทางใต้ตามแนวแม่น้ำซึ่งถึงจุดหนึ่งก็จะไหลวกไปทางตะวันออกเข้าสู่เขตจังหวัดเลย

อย่างไรก็ตาม เส้นเขตแดนบริเวณดังกล่าวนี้ยังไม่มีการปักปันชัดเจน เนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการสำรวจดินแดนที่แน่นอน  คณะทำงานอาจหมายยอดเขา ยึดแนวแม่น้ำ (ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา) แล้วขีดเส้นลงบนแผนที่ความละเอียดต่ำ

ระเบิดเวลาจึงถูกวาง ด้วยปรากฏภายหลังว่าในพื้นที่มีน้ำเหือง ๒ สายคือ “เหืองป่าหมัน” และ “เหืองง่า”

เหืองป่าหมัน (ลาวเรียก “เหืองใหญ่”) ไหลจากภูสอยดาวโดยมีทิศทางไหลเบี่ยงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ก่อนจะวกมาทางตะวันออกซึ่งจะไหลมาบรรจบกับเหืองง่า (ลาวเรียก “เหืองน้อย”) ที่มีต้นกำเนิดจากภูเมี่ยงในกลุ่มเทือกเขาเดียวกันทว่าไหลเบี่ยงลงมาทางทิศตะวันออก โดยแม่น้ำ ๒ สายนี้มาบรรจบกันทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอชาติตระการก่อนไหลลงแม่น้ำโขง พื้นที่ระหว่างแม่น้ำ ๒ สายนี้มีขนาด ๘๐ ตารางกิโลเมตร
(ดูแผนที่หน้า ๑๖๙ ประกอบ)

ปัญหาคือ แม่น้ำเหืองที่เป็นเส้นเขตแดน หมายถึงแม่น้ำเหืองสายใด

ปัญหานี้ถูกปล่อยไว้เนิ่นนาน ผ่านยุคสมัยที่ไทยได้ดินแดนแถบนี้จากฝรั่งเศสอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยความช่วยเหลือของญี่ปุ่น (คือพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบาง ตั้งเป็น “จังหวัดลานช้าง”) ก่อนจะเสียไปอีกเมื่อสงครามยุติลงในปี ๒๔๘๙ จากสนธิสัญญาวอชิงตัน ค.ศ.๑๙๔๖ (พ.ศ. ๒๔๘๙) ซึ่งไทยยอมลงนามเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติโดยไม่ถูกคัดค้านจากฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม

พอเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ตะเข็บชายแดนตรงนี้ก็กลายเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ถือเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังรัฐบาลกับกองกำลัง พคท. เป็นระยะ

จนปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ทางการไทยตั้ง “บ้านร่มเกล้า” ขึ้น  เอกสารอัดสำเนาของกองทัพภาคที่ ๓ ว่าด้วย “ยุทธการบ้านร่มเกล้า” ระบุว่าหลังการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในแถบนี้ยุติลง ทางการ “ให้ราษฎรชาวเขาที่อยู่อาศัยกระจัดกระจาย รวมทั้ง ผกค. และมวลชนจากเขตงานภูขัด ภูเมี่ยง และภูสอยดาว ที่เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย อาศัยในรูปของหมู่บ้านป้องกันตนเองตามแนวชายแดนด้านเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก” และให้ชื่อหมู่บ้านเป็นทางการในปี ๒๕๒๖ ว่า “บ้านร่มเกล้า” ในหมู่บ้านประกอบด้วย “ชาวเขาเผ่าม้งจำนวนกว่า ๑๐๐ ครอบครัว มีจำนวน ๖๔๐ คน ที่ตั้งหมู่บ้านห่างจากเขตชายแดนไทย-สปป. ลาว ประมาณ ๘ กม.” ทั้งนี้ในพื้นที่แถบเดียวกันยังมีการให้สัมปทานป่าไม้แก่เอกชนอีกด้วย

เหตุการณ์นี้อาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ทางการใช้อำนาจปกครองในพื้นที่อย่างเต็มที่ หลังจากก่อนหน้านี้มุ่งเน้นปราบปรามการเคลื่อนไหวของ พคท. และต้องเผชิญสถานการณ์สงครามในอินโดจีน

ขณะที่ลาวหลังสงครามอินโดจีนนั้นก็หันมาสนใจพื้นที่ชายแดนมากขึ้น พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ อาทิ ป่าไม้ แร่ธาตุ ทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนึ่งในคณะวิจัย “โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนเรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน” ของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งศึกษาปัญหาเขตแดนไทย-ลาวระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ อธิบายสถานการณ์ในยุคนั้นซึ่งเป็นยุคปลายสงครามเย็นว่า “กิจกรรมในพื้นที่เหล่านี้มีความเปราะบาง แม้สงครามอินโดจีนจบลงแล้ว แต่ลาวก็เปลี่ยนไปปกครองคนละระบอบกับไทย ทำให้ความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีนักเนื่องจากหวาดระแวงซึ่งกันและกัน”

ในที่สุด ระเบิดเวลา “เส้นเขตแดน” ก็เริ่มทำงานในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐

 

ความเมืองเรื่อง “เหืองง่า”

หากตรวจสอบข่าวในหนังสือพิมพ์เก่าทั้งของไทยและลาว จะพบว่าชนวนศึกร่มเกล้าเกิดขึ้นในช่วงสายของวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ เมื่อทหารลาวกลุ่มหนึ่งทำลายรถแทรกเตอร์ของบริษัทอุตรดิตถ์มอเตอร์เวิร์คและรถจี๊ปของบริษัทรุ่งตระการทำไม้ ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต ๑ ราย โดยทางการลาวระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตตาแสง (ตำบล) นาบ่อน้อย เมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี และชี้ว่าบ้านร่มเกล้าอยู่ลึกเข้าไปในเขตลาว ๒ กิโลเมตร

สุภลักษณ์ผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ระบุว่า “ในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ เส้นเขตแดนจุดนี้กำหนดโดย ‘สัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนติดท้ายหนังสือสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕’ ข้อ ๒ ที่ถือแม่น้ำเหืองเป็นเส้นเขตแดน แต่ถ้อยคำในสนธิสัญญาไม่ให้รายละเอียดในภูมิประเทศจริงว่าหมายถึงที่ใดกันแน่”

งานวิจัยของสุภลักษณ์ชี้ว่า ต้นเหตุคือไทยถือเส้นเขตแดนที่แม่น้ำเหืองง่าทางตะวันออกของบ้านร่มเกล้า ขณะที่ลาวมองว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่แม่น้ำเหืองป่าหมันด้านตะวันตกของหมู่บ้าน

รัฐบาลไทยอ้างแผนที่ที่ทำโดยคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยาม (Commission de Délimatation entre I’Indochine et Le Siam) มาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ระวาง “แม่น้ำเหือง” ซึ่งเส้นเขตแดนขีดตามแม่น้ำเหืองง่า (แผนที่ฉบับนี้ทำขึ้นคราวเดียวกับแผนที่ระวาง “ดงรัก” ที่ระบุปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา ทว่าไทยปฏิเสธแผนที่ฉบับนี้เมื่อขัดแย้งกับกัมพูชา) อีกฉบับคือแผนที่ L7017 มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ แผนที่ทหารที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ทำขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปี ๒๕๒๑ แสดงบ้านร่มเกล้าอยู่ในเขตไทย

ส่วนทางลาว หนังสือพิมพ์ ปะชาชน และ เวียงจันใหม่  กระบอกเสียงของรัฐบาลลาวในช่วงนั้น อ้างแผนที่ชุด L708 มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ พิมพ์ปี ๒๕๑๐ โดยกรมแผนที่ทหารบกไทยและกองทัพสหรัฐฯ แผนที่ L708 ที่พิมพ์ในปี ๒๕๑๐ สุดท้ายคือแผนที่ L7017 พิมพ์ปี ๒๕๑๒ (คนละฉบับกับ L7017 ที่พิมพ์ปี ๒๕๒๑) โดยทั้ง ๓ ฉบับแสดงเส้นเขตแดนตามแม่น้ำเหืองป่าหมัน  ทั้งนี้ลาวชี้ว่าแผนที่เหล่านี้หน่วยงานไทยเป็นผู้ทำและไทยต้องยอมรับ ทั้งให้เหตุผลว่าไม่ควรใช้เหืองง่าเพราะภาษาลาว “ง่า” แปลว่า “สาขา/กิ่งก้าน” เหืองง่าจึงเป็นแม่น้ำสาขา ไม่ใช่แม่น้ำเหืองสายหลัก

ขณะที่ไทยบอกว่าต้องเป็นเหืองง่าเพราะต้นน้ำอยู่ภูเมี่ยงตามสนธิสัญญา ขณะที่เหืองป่าหมันมีต้นน้ำอยู่ภูสอยดาว ทว่าลาวกลับมองภูสอยดาวและภูเมี่ยงเป็นเทือกเดียวกัน  อีกทั้งลาวยึดครองเนินสำคัญแถบนี้คือ ๑๔๒๘, ๑๓๗๐, ๑๑๔๘ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐

อย่างไรก็ตาม หลักฐานชิ้นหนึ่งซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึง คือ รายงานข้าหลวงใหญ่อินโดจีนถึงรัฐมนตรีอาณานิคมฝรั่งเศสที่หารือเรื่องเส้นเขตแดนบริเวณนี้ ระบุว่า “ลำน้ำเหืองนั้นประกอบด้วยลำน้ำสองสายคือน้ำเหืองน้อยและน้ำเหืองใหญ่ซึ่งในสนธิสัญญามิได้ระบุไว้ชัดเจน จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้แน่ชัด…”

ต่อมามีหนังสือรายงานอีกฉบับหนึ่งส่งกลับฝรั่งเศสใจความว่า “…รัฐมนตรีแห่งฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ได้ส่งโทรเลขหมายเลข ๔๒ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ มาให้ข้าหลวงใหญ่  เนื้อความในโทรเลขระบุว่าให้น้ำเหืองใหญ่เป็นเส้นเขตแดน (ลงนามรับรองโดยหัวหน้าปักปันเขตแดนฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายไทย คือพันตรี กีซาร์ มองเกอร์ กับพระองค์เจ้าบวรเดช) ในเงื่อนไขนี้ หมู่บ้านทุกหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำนี้เป็นของสยาม และหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายเป็นของหลวงพระบาง เส้นเขตแดนที่ระบุไว้ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เรา (ฝรั่งเศส)”

ตามหลักสากล การถอดชนวนความขัดแย้งเช่นนี้ทำได้ ๓ ทาง คือ “เจรจา” โดยยึดสนธิสัญญาและแผนที่  ใช้ “กลไกระดับนานาชาติ” เช่นศาลโลก  และสุดท้ายคือ “สงคราม”

ปี ๒๕๓๐ รัฐบาลไทยและลาวเลือกใช้ “สงคราม” ตัดสินปัญหานี้

ยุทธการสอยดาว

หากกางแผนที่ทหารจะพบว่า ถัดจากน้ำเหืองง่าที่ไหลทางด้านตะวันออกของบ้านร่มเกล้า ถัดเข้ามาตลอดแนวคือ
จุดยุทธศาสตร์สำคัญอันประกอบด้วยเนิน ๑๑๘๒, ๑๑๔๖, ๑๓๗๐, ๑๔๒๘, ๑๑๑๒, ๙๐๕ ที่เรียงตัวตลอดแนวแม่น้ำจากเหนือลงใต้  ส่วนบ้านร่มเกล้านั้นตั้งอยู่ลึกเข้ามาจากเนิน ๑๔๒๘ ไม่ไกลนัก

ปัจจุบันบ้านร่มเกล้าอยู่ห่างอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ๗๐ กิโลเมตร  จาก
ตัวอำเภอขับรถไปตามถนนหลวงหมายเลข ๑๒๓๗ และ ๑๒๖๘ ที่ไต่ไปตามหน้าผาสูงชัน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๔ ชั่วโมง

หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ โอบล้อมด้วยทิวเขาสูง ๓ ด้าน ทางตะวันตก เหนือ และตะวันออก  การเข้าถึงหมู่บ้านทำได้จากทางทิศใต้เท่านั้น (ดูแผนที่หน้า ๑๖๙ ประกอบ)

วันที่ผมไปสำรวจพื้นที่ ผมไม่พบแม่น้ำเหืองป่าหมันทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน พบแต่ลำห้วยหนึ่งชื่อ “ห้วยควาย” ซึ่งชาวบ้านบางคนบอกว่าคือแม่น้ำเหืองป่าหมันเก่า

บ้านร่มเกล้ามีคนม้งซึ่งเป็น “อดีตสหาย” (แนวร่วม พคท.) อาศัยอยู่จำนวนมาก และปัจจุบันจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดหมู่บ้านใหม่อีกแห่งคือ บ้านสงบสุข

ในหมู่บ้านมีร่องรอยศึกร่มเกล้าหลงเหลือไม่กี่อย่าง ที่ยังมีชีวิตชีวาคือ อดีต “ฐานเอกราช” ที่มั่นทหารพรานซึ่งมีบทบาทในการรบครั้งนั้นถูกแปรสภาพเป็น “ฐานตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๑๕๓” อยู่ไม่ห่างจากทางเข้าหมู่บ้าน  หลุมหลบภัยหลังโรงเรียนบ้านร่มเกล้าที่ถูกทิ้งร้าง  สุดท้ายคือป้อมรักษาการณ์เก่าใจกลางหมู่บ้านที่สร้างขึ้นในระหว่างศึกครั้งนั้น

ร่องรอยที่ชัดที่สุดคือ “ความทรงจำ” ของคนในหมู่บ้านที่รอดชีวิตมาได้

“สมัยนั้นในหมู่บ้านมีบ้านราว ๔๐ หลัง เป็นกระต๊อบ  พอมีการโจมตีเอกชนที่เข้ามาทำไม้ นายทหารจากกรมทหารพรานที่ ๓๔๐๕ ผู้บังคับการกองร้อยทหารม้า ตัวแทนบริษัททำไม้และผมซึ่งขณะนั้นรักษาการตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เลยต้องไปหาข้อเท็จจริงที่จุดเกิดเหตุ” เซี่ยโล่ แซ่ลี วัย ๕๔ ปี ซึ่งเป็นไม่กี่คนในหมู่บ้านที่จำศึกร่มเกล้าได้ดี อธิบายจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทั้งหมด

ความที่เขาเป็นอดีตสหาย พคท. ทำให้ทราบว่าหลักฐานในที่เกิดเหตุคือปลอกกระสุนปืนอาก้านั้นผลิตในเชโกสโลวาเกีย รอยรองเท้าผ้าใบเป็นแบบของโซเวียตน่าจะผลิตในเวียดนาม ทั้งหมดบ่งว่ากองกำลังดังกล่าวไม่ใช่กำลังของ พคท. ตามที่ทางการไทยสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ที่สำคัญคือพบหนังสือประท้วงเป็นกระดาษขนาดเท่าฝ่ามือ  “เขียนเป็นภาษาลาวบอกว่าตั้งแต่ภูเมี่ยงถึงริมน้ำเหืองป่าหมันเป็นของลาว ห้ามรัฐบาลไทยสนับสนุนชาวม้งที่ต่อต้านรัฐบาลลาว ห้ามตัดไม้ในพื้นที่ ถ้าไม่ฟังจะผลักดันตามกฎหมาย”

ไม่นานหลังจากนั้น สถานการณ์ก็เลวร้ายลง มีการตรวจพบความเคลื่อนไหวของทหารลาวตามจุดยุทธศาสตร์โดยรอบหมู่บ้าน แล้วพวกเขาก็พบว่าตนคือเหยื่อรายต่อมาของความขัดแย้งเรื่องเขตแดน

ในที่สุด เช้ามืดวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๐ บ้านร่มเกล้าก็ถูกถล่มด้วยปืนใหญ่

เซี่ยโล่เล่าว่าเคราะห์ดีที่หลายคนมีทักษะการรบติดตัวอยู่บ้างทำให้รอดตาย  “เราหลบกันตามมีตามเกิด ยิงมาหลายชนิดทั้งปืนครก ปืนใหญ่ จรวด RPG ปืนกล ยิงตั้งแต่กลางดึกถึงตีสี่ บ้านพังหลายหลัง พวกผมได้รับคำสั่งให้อพยพ  หลังเสียงปืนสงบ ผมกลับมาดูพบศพทหารลาว ๒ ศพ ชาวบ้านโดนกระสุน ๒ คน  ตอนนั้นทำใจแล้วว่าที่นี่เป็นสมรภูมิรบแน่นอน และเราคงต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น”

บันทึกความทรงจำของทหารไทยที่ร่วมรบในศึกร่มเกล้าจำนวนมากยืนยันตรงกันว่า ช่วงกลางปีจนถึงปลายปี ๒๕๓๐  เนิน ๑๔๒๘ และจุดยุทธศาสตร์รอบบ้านร่มเกล้ากลายเป็นสมรภูมิเลือด เมื่อกองทัพภาคที่ ๓ ของไทยส่งทหารเข้าผลักดันทหารลาวอย่างเต็มที่หลังปะทะกันอย่างประปรายมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม

พ.อ.วัฒนชัย คุ้มครอง อดีตผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ กองพันทหารม้าที่ ๑๘ หนึ่งในทหารผ่านศึก เล่าสภาพสมรภูมิไว้ในบทความของ น.อ. วิพันธุ์ ชมะโชติ (เผยแพร่ใน www.iseehistory.com) ว่าในสมรภูมิ ทหารไทยเสียเปรียบเนื่องจากทหารลาวยึดชัยภูมิบนพื้นที่สูงเพื่อตั้งรับการบุก ทำให้การเข้าตีมีความสูญเสียสูงมาก

“ฝ่ายเรามี ‘พื้นที่’ ดำเนินกลยุทธ์กว้างไม่ถึง ๕๐ เมตร ทั้งยังลาดชัน การเข้าโจมตีจึงเป็นลักษณะไม่ผิดอะไรกับการรบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอดีต คือต้องเข้ายิงโจมตีลักษณะ ‘แถวตอนเรียงหนึ่ง’ ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจการยิง ‘เต็มรูปแบบ’ จากทหารที่มีหนึ่งกองร้อยได้  บางครั้งทหารด้านหน้าเปิดฉากยิงปะทะข้าศึก แต่ทหารที่ตามมาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการรบ…เป็นการรบภายใต้ ‘สภาพพิเศษ’ ซึ่งฝ่ายเราไม่ได้เตรียมตัวมา เนื่องจากจัดกำลังเต็มรูปแบบลักษณะที่จะรุกเข้าโจมตีที่หมายเป็น ‘แถวหน้ากระดาน’ ด้วยยุทธวิธีรบตามแบบ”

ต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐ การรบรุนแรงและถี่ขึ้น กองทัพไทยตัดสินใจเปิดฉาก “ยุทธการสอยดาว ๐๑” ส่งกำลังทหารราบและทหารม้าจากกองทัพภาคที่ ๓ เข้าเสริมกำลังทหารพรานและกำลังทหารหลักที่รบอยู่ในพื้นที่แล้วบางส่วน ใช้เครื่องบินขับไล่ F-5 สนับสนุนการโจมตีทางอากาศ (Close air support) โดยแนวรบสำคัญจะอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ซึ่งส่วนมากเป็นยอดเนินสำคัญ  ที่หมายสำคัญที่ต้องตีให้ได้คือ เนิน ๑๔๒๘ (ที่หมาย ๑)  เนิน ๑๓๗๐ (ที่หมาย ๒) เนิน ๑๑๔๐ (ที่หมาย ๓) (ที่หมายนี้ระบุในแผนที่ชุด L7017 แต่ไม่ปรากฏในแผนที่ของกองทัพไทยในหน้า ๑๖๙)

ปลายปี ๒๕๓๐ การรบในสภาพดังกล่าวดำเนินต่อไป เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามทหารไทยยังไม่อาจยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญส่วนใหญ่ไว้ได้แม้จะใช้อาวุธหนัก

ธนวัฒน์ วงศ์ลีศิริวิวัฒน์ ครูโรงเรียนบ้านร่มเกล้าซึ่งขณะเกิดสงครามอายุ ๖ ขวบ เล่าสถานการณ์ขณะนั้นให้ฟัง “พื้นที่โรงเรียนบ้านร่มเกล้าที่เห็นตอนนี้คือพื้นที่ที่เขาเอาศพทหารมาพัก จำได้ว่ารถยีเอ็มซีที่เข้าพื้นที่สู้รบหลังหมู่บ้าน ขาเข้าไม่ได้บรรทุกอะไร ขากลับเต็มไปด้วยศพทหารไทย  ตอนกลางคืนแสงสีแดงที่เกิดจากการยิงปืนใหญ่ระหว่างฝั่งภูเขาเป็นสายพุ่งตัดท้องฟ้าสีดำ ความเป็นอยู่ลำบากมาก อาหารก็ขาดแคลน ไม่มีใครมีความสุขที่ต้องออกจากบ้านตัวเอง”

 

“หลายชีวิต” ในสมรภูมิร่มเกล้า

ในที่สุด ต้นปี ๒๕๓๑ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกไทยขณะนั้น ก็ประกาศผลักดันข้าศึกออกจากพื้นที่โดยใช้ “ยุทธวิธีทุกรูปแบบ”

เขาชี้ว่าไทยกำลังรบกับกลุ่มประเทศอินโดจีน (ลาว เวียดนาม) โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เป็นที่ประจักษ์โดยแน่ชัดแล้วนะครับว่า ประเทศลาวก็ตาม ประเทศที่สนับสนุนก็ตาม ได้เลือกใช้วิธีปฏิบัติทุกหนทาง หนทางที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ก็ได้มีการแทรกซึมเข้ามาเป็นจำนวนมาก เข้ามาในพื้นที่ของเราแล้วสร้างปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยโดยทั่วไป…เราจะปล่อยให้สถานการณ์นี้เนิ่นนานไปไม่ได้ แต่เราจะต้องใช้วิธีแบบฝ่ายตรงข้าม ก็คือไม่คำนึงถึงขอบเขตและวิธีการทั้งสิ้น ซึ่งกองทัพบกจะเริ่มดำเนินการในลักษณะเต็มที่ในระยะเวลาที่จะถึงนี้” (มติชน ๑๐ ก.พ. ๒๕๓๑)

ถ้าพิจารณาบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศช่วงนั้นจะพบว่า ปี ๒๕๓๑ อยู่ในปลายยุคสงครามเย็น สังคมไทยยังคงมีแนวโน้มสูงที่จะระแวงเพื่อนบ้านซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์  คำกล่าวของ พล.อ.ชวลิตจึงส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเชื่อมั่นในข้อมูลดังกล่าว

และยังผลให้ศึกร่มเกล้าเข้าสู่ช่วงรุนแรงและนองเลือดที่สุดใน “ยุทธการสอยดาว ๐๒” จากประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์

ประภาส รวมรส ปลัดอำเภอภูเวียงฝ่ายความมั่นคง อดีตทหารพรานสังกัดกองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ ๙๕๗ ค่ายปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเข้าสู่สนามรบตั้งแต่ต้นปี ๒๕๓๑ ด้วยวัย ๑๙ ปี เล่าว่ากองทัพบกใช้ “ทหารพราน” ซึ่งเป็น “ทหารรับจ้าง” เป็นแนวหน้าในศึกนี้ โดยสั่งเข้าตีจุดที่ยากที่สุดคือเนิน ๑๔๒๘ ซึ่งถือเป็นหน่วยนำร่องก่อนที่ทหารหลักจะตามไปเสริม

ประภาสกรำศึกในสมรภูมิร่มเกล้าตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ประสบการณ์เฉียด
ตาย ๒๗ วันนั้นยังชัดเจนในความทรงจำ  เขาเล่าว่าที่หมายทางทหารของไทยมีทั้งหมด ๕ จุด ที่หมาย ๑ คือเนิน ๑๔๒๘ เป็นจุดที่ต้องยึดให้ได้ และทหารพรานจากค่ายปักธงชัย ๙ กองร้อยกับ ๑ ฐานยิง ประกอบด้วยปืนใหญ่ขนาด ๘๐ ๑๑๐, ๑๒๐ มม. ได้รับมอบหมายให้อยู่ในแนวหน้าตีจุดนี้ส่วนจุดอื่น ๆ ทหารหลักเป็นผู้รับผิดชอบ

“กองทัพไทยอ่านเกมขาดว่าค่าตัวทหารหลักแพงกว่าทหารพรานที่มีค่าอาหารวันละ ๒๔๐ บาท ค่าจู่โจม ๑๘๐ บาท ตายแล้วจ่ายแค่ ๒ แสนบาทจบ  คิดดูว่าเขาส่งทหารยศจ่าสิบเอกเท่านั้นมาคุมหน่วยผม ไม่ใช้นายร้อยเพราะไม่คุ้ม  ปรกติทหารพรานถูกฝึกรบนอกแบบ (สงครามกองโจร) แต่ศึกนี้จัดกำลังในแบบ ซึ่งไม่เหมาะ  ตอนไปถึงที่นั่นปืนใหญ่เราล้อมที่หมาย ๑ เป็นรูปครึ่งวงกลม เราต้องเข้าตีเนิน ๑๔๒๘ จากด้านหนึ่ง ถ้าตีได้จะตีเนินที่เหลือได้ทั้งหมด  ที่ร่มเกล้าภูมิประเทศเป็นภูเขาดิน พอฝนตกจะลื่นมาก เนิน ๑๔๒๘ ชันราว ๗๐ องศา ไม่มีที่ราบ  ฐานของลาวไม่ได้อยู่ยอดเนิน แต่อยู่ต่ำลงมาจากยอดเนิน  เขาทำแนวตั้งรับไว้ ๓ แนว แนวแรกคือรั้วขวาก ไม้รวก  แนวที่ ๒ คือกับระเบิด  แนวที่ ๓ คือคูเลด (สนามเพลาะ) แนวตั้งรับจากแนวแรกถึงแนวสุดท้ายลึก
๑ กิโลเมตร  ตามโคนไม้ก็วางระเบิดเต็มไปหมดเพราะรู้ว่าเวลายิงกันทหารไทยจะไปตรงนั้น  ปืนใหญ่ลาวแม่นมากขณะที่ปืนใหญ่ไทยยิงไม่แม่น แม้จะเป็นฝ่ายรุกแต่ใจเราตั้งรับเพราะเสี่ยงมาก  ยิงกันพักเดียวโดนหามลงมาทีละคน ๆ  ผมคิดแล้วว่าจะถึงคิวเราเมื่อไหร่ ได้ยินเสียงทหารลาวตลอดแต่ไม่เห็นตัวเลย”

จ่าสิบเอกนายหนึ่งจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒๑ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งระหว่างศึกร่มเกล้าสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ลพบุรี เล่าสถานการณ์อีกมุมของสนามรบให้ฟังว่า “ปืนใหญ่แต่ละกระบอกของเรารัศมีการยิงเกิน ๓๐ กิโลเมตร ปัญหาคือมีคำสั่งจากผู้ใหญ่ว่าต้องรอให้ลาวยิงถึงโต้กลับได้  บางทีเราคำนวณพิกัดได้แล้ว แต่กว่าจะขออนุญาตยิง ปืนใหญ่ข้าศึกก็เปลี่ยนที่ตั้งไปแล้ว  บางทีเห็นตำแหน่งปืนใหญ่ข้าศึกแต่ก็ทำอะไรไม่ได้  สรุปคือยิงสนับสนุนไม่ได้เต็มที่ทั้งที่พร้อมมาก”

นั่นเป็นผลให้ประภาสและทหารในแนวหน้าต้องรบอย่างยากลำบาก ทหารจำนวนมากเสียชีวิต หลายคนพิการจากการเหยียบกับระเบิด หลายครั้งพวกเขาต้องแบกศพเพื่อนกลับมาแนวหลัง

ส่วนเหตุการณ์ในแนวหน้า อดีตทหารสังกัดหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ ๓ นายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งก่อนสงครามฝังตัวหาข่าวในพื้นที่เนื่องจากสื่อสารกับชาวม้งได้คล่อง และระหว่างสงครามนำหน่วยทหารพรานเข้าตีจุดต่าง ๆ รวมถึงทำสงครามนอกแบบ ได้เล่าความโหดไว้อย่างเห็นภาพว่า

“ผมนำทหารพรานเข้าจุดที่จะตีเนินต่าง ๆ  วิธีรบคือผมกับทหารคนหนึ่งจะนำหน้าหน่วย ทิ้งระยะ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร มีอะไรเราเจอก่อน เช่นกับระเบิด  หลายครั้งผมเข้าไปปาดคอข้าศึกทิ้ง ตอนนั้นมีคำสั่งด้วยวาจาให้ตัดคอหรือหูข้าศึกกลับมาเพราะมีค่าหัวและส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ข้าศึกกลัว ศีรษะข้าศึกจะถูกส่งไปที่กองบัญชาการเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นลาวหรือต่างชาติ ผมทำแต่ไม่เห็นได้ค่าหัวสักที  ฟังแล้วคุณอาจรับไม่ได้ ช่วงหลังก็เอามาย่างกินด้วย หลัง ๆ ตัดหัวไม่ไหวเปลี่ยนเป็นตัดหูแทน  สถานการณ์แบบนี้ทำให้ทหารในสมรภูมิต้องเหี้ยมผิดมนุษย์  ผมไม่อยากให้มีคำสั่งแบบนี้อีกเพราะสร้างความแค้นให้ทั้งสองฝ่าย”

หลังจากนั้นเขากับทหารพลร่มชุดหนึ่งยังได้รับภารกิจเข้าไปชี้ที่ตั้งฐานปืนใหญ่ลาวซึ่งอยู่ลึกจากชายแดนเข้าไปในเมืองบ่อแตน  “ผมกับพลร่มระดับหัวกะทิ ๑๒ นายลอบเข้าลาวทางชายแดนด้านอุตรดิตถ์ นอนในที่ที่ไม่คิดว่าจะนอนได้ กินอาหารที่ไม่ต้องปรุง  ผลคือทำลายปืนใหญ่ลาวได้ ๒ กระบอกและถอนตัวกลับมาได้ นี่คือการปฏิบัติการนอกประเทศที่ไม่ได้ถูกบันทึก”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาเล่าไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีปฏิบัติการและพฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยในสงครามครั้งนี้ไม่มีนักข่าวสำนักใดเกาะติดปฏิบัติการทางทหารในแนวหน้าแม้แต่สำนักเดียว

ส่วนการสู้รบทางอากาศ ข้อมูลจากเอกสารกองทัพภาคที่ ๓ ระบุว่าไทยเปิดการโจมตีด้วยเครื่องบินขับไล่ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๓๐ โดยใช้ฝูงบิน F-5 จากฐานบินที่นครสวรรค์และอุดรธานี  เที่ยวบินโจมตีถี่ขึ้นช่วงต้นปี ๒๕๓๑  ถึงตอนนั้นพื้นที่ปฏิบัติการบางส่วนได้ล้ำออกไปในเขตเมืองบ่อแตนของลาวหรือออกนอกประเทศแล้ว

ก่อนที่การโจมตีทางอากาศจะถี่ที่สุดช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑

“พวกผมรับคำสั่งก่อนออกปฏิบัติการไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง” น.อ. ไพโรจน์ เป้าประยูร อดีตนักบินที่ ๒ ของเครื่องบินตรวจการณ์ขนาดเบาติดอาวุธ OV-10 C Bronco ประจำกองบินที่ ๔๑ ฝูงบิน ๔๑๑ จังหวัดเชียงใหม่ รำลึกความหลัง

เขาเล่าว่าขณะนั้นรัฐบาลไทยใช้ศักยภาพกองทัพอากาศอย่างเต็มที่เพื่อยึดพื้นที่คืนให้ได้

“ตอนนั้นฝูงบิน F-5 ทำงานหนักมาก เพราะโจมตี/ทิ้งระเบิดมานานหลายเดือน หน่วยเหนือกลับมาคำนวณว่าเครื่องบินแบบใดทิ้งระเบิดแม่นที่สุด จากสถิติคือ OV-10  เขาจึงตัดสินใจเรียกใช้เรา  ปรกติฝูงบินผมมีหน้าที่หลักคือลาดตระเวนและกู้ภัยกรณีเครื่องบินขับไล่ตก เหมือนหนังเรื่อง Behind Enemy Lines ซึ่งในเนื้อเรื่องจะมีหน่วยบินหน่วยหนึ่งเข้าไปช่วยนักบินขับไล่ที่หลบอยู่ในแดนข้าศึก แต่เมื่อให้โจมตีเราก็ทำได้เช่นกัน”

เช้ามืดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  ร.อ.ไพโรจน์ (ยศขณะนั้น) กับ น.ท. สมนึก เยี่ยมสถาน ผู้บังคับฝูงบิน ๔๑๑ ขับ OV-10 หมายเลข ๐๘ จากกองบิน ๔๑ มาที่กองบิน ๔๖ (พิษณุโลก) พร้อม OV-10 อีก ๓ ลำ  ที่นั่น พวกเขาร่วมกับเครื่องบินโจมตีแบบต่าง ๆ อีกไม่ต่ำกว่า ๒๐ ลำเตรียมไปโจมตีข้าศึกที่บ้านร่มเกล้า

ทว่า เมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า สภาพอากาศที่บ้านร่มเกล้าปิด มีเที่ยวบินขับไล่ F-5 เที่ยวเดียวเท่านั้นที่ออกไปทิ้งระเบิดในที่หมายสำคัญได้ ที่เหลือต้องรอสแตนด์บายที่ฐาน

ในที่สุดเวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ OV-10 ของเขาก็ทะยานขึ้นจากกองบิน ๔๖ ใช้เวลา ๔๐ นาทีเข้าสู่เขตสงคราม  “เราบินโดยไม่สื่อสารทางวิทยุ พอเข้าสมรภูมิเสียงแรกที่ได้ยินมาจากนักบิน F-5 ที่ทิ้งระเบิดก่อนเรา  เขาร้องในวิทยุว่า ‘SAM Break’ เป็นภาษานักบินที่หมายถึงโดนจรวดต่อต้านเครื่องบินขับไล่  ผมยังคงมุ่งหน้าไปจิกหัวทิ้งระเบิด จู่ ๆ เครื่องก็กระดอน หันไปก็พบว่าปีกขวาขาดแล้ว ตอนนั้นรู้แล้วว่าโดนแซมสอย”

น.อ. ไพโรจน์เล่าว่าหลังจากนั้นเขากับผู้ฝูงก็ดีดตัวและเจอประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม  “ตอนดีดตัว ผมได้ยินเสียงร่มกาง รอบ ๆ ตัวเงียบมาก เห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนกลที่ยิงเราจากพื้นดิน เห็นกระสุนพุ่งเข้ามาหา โชคดีเฉียดไปโดนร่มหมด เสียงดัง ปุ ปุ ปุ ปุ ปุ  ตาซ้ายผมโดนสร้อยที่สวมอยู่ตีจนปิดตอนดีดตัว ตาขวาเบลอไปหมด มองข้างล่างก็เห็นร่มผู้ฝูงอยู่ไม่ไกล พอถึงพื้นก็เจอตัวเองอยู่ใกล้สนามบินบ้านนากอก พูดได้ว่าลงไปเกือบกลางกองพันเขา”

เขากับผู้ฝูงพยายามหนี ทว่าในที่สุดก็ถูกจับ แล้วถูกนำตัวไปขังไว้ที่เวียงจันทน์ในฐานะเชลยศึก ถูกสอบสวนอย่างหนักต้องอยู่ในคุกทั้งสิ้น ๑๒ วัน

นอกจากการสูญเสีย OV-10  กองทัพอากาศไทยยังสูญเสียเครื่องบิน F-5 อีก ๒ ลำ จากอาวุธชนิดเดียวกันที่ กองทัพประชาชนลาว (ทปล.) นำมาใช้ในสนามรบ ทว่านักบินไม่ได้ถูกจับเป็นเชลย

ในช่วงท้ายของสงคราม การโจมตีทางอากาศยังผิดพลาด ก่อความสูญเสียอย่างหนักแก่หน่วยที่เข้าตีเนิน ๑๔๒๘ โดยในการทิ้งระเบิดครั้งหนึ่ง แรงระเบิดทำให้หน่วยทหารหน่วยหนึ่ง “ละลาย” เกือบทั้งกองพัน ซึ่งต่อมาเรื่องนี้กลายเป็นคำเล่าลือว่าทหารไทยบอมบ์พวกเดียวกันเอง

น.อ.ไพโรจน์เล่าเบื้องหลังที่เขาทราบมาจากทหารที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ว่า “ไม่ใช่ความผิดใคร  ผมมีเพื่อนเป็นทหารม้า ม.พัน ๑๘ เราคุยกันหลังสงคราม ระเบิดไม่ได้ทิ้งพลาด สถานการณ์คือขณะนั้นทหารบกส่งกำลังขึ้นไปเยอะ จะให้ถอยก็ลำบาก  ระเบิดที่ทิ้งตอนนั้นคือ Guided Bomb Unit หรือ GBU-12 ใช้เลเซอร์นำวิถีขนาด ๒,๐๐๐ ปอนด์ ถือเป็นการใช้ครั้งแรก ๆ ของกองทัพอากาศ ซึ่งแรงระเบิดเกินคาด ไม่นับลูกถัดมาที่กลิ้งจากเนินมาเจอหน่วยทหารไทยอีก ความสูญเสียจึงมากเกินคาดคิด”

ส่วนพลเรือนไม่เฉพาะคนบ้านร่มเกล้าที่ได้รับผลกระทบ คนในพื้นที่ถัดออกมาก็ได้รับผลจากสงครามครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ บริเวณอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ถูกยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่ลาวกว่า ๔๐ ลูก แม้ว่าจะห่างบ้านร่มเกล้ากว่า ๔๐ กิโลเมตร แต่ก็ทำให้อาคารบ้านเรือนในตัวอำเภอเสียหายและมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

ขณะที่ในลาว ประชาชนที่บ้านเหมืองแผ่ บ้านใหม่ บ้านนาหล่ม บ้านนาเทา บ้านบ่อหางนา บ้านโพนสะหวัน บ้าน
นากาว โดนปืนใหญ่ไทยยิงถล่ม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง  ยังไม่นับความอดอยากอันเนื่องจากการปิดด่านชายแดนทั้งหมดที่ติดกับไทยในช่วงท้ายสงคราม

ทั้งนี้ ความเสียหายทางการค้าที่เกิดกับพ่อค้าคนไทยจากการปิดด่านชายแดนทุกด้านอยู่ที่ ๑๐๐ ล้านบาท (ประชาชาติธุรกิจ ๖ ก.พ. ๒๕๓๑)

 

“ชาตินิยม” ของคนที่ไม่ได้รบ

ห่างจากสนามรบหลายร้อยกิโลเมตร ที่กรุงเทพฯ กับเวียงจันทน์ แนวรบทางการทูตร้อนระอุไม่แพ้กัน

กระทรวงการต่างประเทศทั้งไทยและลาวทำหนังสือกล่าวหาอีกฝ่ายไปยังองค์การสหประชาชาติ เรียกทูตอีกฝ่ายมายื่นหนังสือประท้วง กล่าวหาอีกฝ่ายรุกล้ำอธิปไตย  ตามเมืองต่าง ๆ มีการชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตของอีกฝ่าย ทั้งนี้รัฐบาลไทยยังนำทูตจาก ๓๔ ประเทศที่ประจำในกรุงเทพฯ ไปดูแนวรบ พบปะนักการทูตจากประเทศสังคมนิยมซึ่งเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจรบของลาว

ส่วนแนวรบด้านสื่อนั้น งานวิจัย “ความสัมพันธ์ไทย-ลาว ในสายตาของคนลาว” ของ เขียน ธีระวิทย์ และคณะ ที่เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๔๔ ให้ภาพแนวรบด้านสื่อสิ่งพิมพ์ระดับชาติระหว่างศึกนี้ไว้ว่า หากดูหนังสือพิมพ์ลาว ๒ ฉบับคือ ปะชาชน และ เวียงจันใหม่  และหนังสือพิมพ์ไทย ๒ ฉบับ คือ ไทยรัฐ และ มติชน พบว่า

“ปรกติหนังสือพิมพ์ไทยโขกสับ (วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งประณาม) รัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลของตนอย่างไม่ไว้หน้า แต่เวลามีศึกกับต่างชาติ หนังสือพิมพ์ไทยกับหนังสือพิมพ์ลาวรายงานเข้าข้างรัฐบาลของตนอย่างซื่อสัตย์คล้ายกัน”

โดยหนังสือพิมพ์ลาวกล่าวถึงทหารลาวที่สู้ในสนามรบว่าเป็น “ประชาชนและทหารประจำท้องถิ่น” ต่อสู้กับ “ทหารปฏิการไทย” ที่ป่าเถื่อน ใช้อาวุธหนัก เครื่องบินเอฟ กระสุนเคมี  ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยบิดเบือนว่ามีทหารเวียดนามและทหารต่างชาติมาช่วยลาวรบ

ทั้งนี้ จากการสืบค้นบทความของคอลัมนิสต์และบุคคลสำคัญยุคนั้นเพิ่มเติม ผมยังพบความเห็นทำนองสนับสนุนให้ทหารรบอย่างเต็มที่ อาทิ

“ถามมีทหารไว้ทำไม-หรือกลัวลาว คึกฤทธิ์ข้องใจรัฐบาล ปล่อยลาวล้ำอธิปไตย” (มติชน ๑ ก.พ. ๒๕๓๑)

“รบเพื่อธรรมะไม่บาป-แนะพระสงฆ์ให้กำลังใจแนวหน้า พระปัญญาฯ (นันทภิกขุ) ปลุกขวัญทหาร ตายเสียยังดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้” (สยามรัฐ ๘ ก.พ. ๒๕๓๑)

ส่วนแนวรบในสื่อประเภทอื่นก็เข้มข้นไม่แพ้กัน วิทยุซึ่งเข้าถึงประชาชนจำนวนมากในยุคนั้น รัฐบาลไทยเปิดเพลงปลุกใจให้รักชาติ ขณะที่ลาวใช้การโฆษณาชวนเชื่อและวิทยุคลื่นสั้นซึ่งรับฟังได้ไกลถึงกรุงเทพฯ โจมตีไทย  สื่อทีวีไม่มีข้อมูลชัดเจนนอกจากปากคำทหารผ่านศึกไทยที่เล่าว่าฝั่งลาวติดตามข่าวสารจากทีวีไทยตลอดเวลา เนื่องจากสัญญาณทีวีเมืองไทยนั้นข้ามแม่น้ำโขงไปถึงลาว

สงครามสื่อระหว่างสองประเทศซาลงเมื่อปรากฏข่าว พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำลาว เดินทางไปเยือนลาวเงียบ ๆ โดยต่อมาปรากฏว่านายไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีลาว (ขณะนั้น) ส่งสารถึง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทย (ขณะนั้น) ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ โดยเสนอหยุดยิง ตั้งกรรมการผสมพิสูจน์เขตแดน และติดต่อเลขาธิการสหประชาชาติเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย  ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะตอบสารในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เห็นพ้องให้ปรึกษาหารือ ส่งผลให้เกิดการเจรจาช่วงวันที่ ๑๖-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑

ลาวส่งคณะผู้แทนทหารนำโดย พล.อ.สีสะหวาด แก้วบุนพัน หัวหน้าเสนาธิการทหารสูงสุด กองทัพประชาชนลาว (ทปล.) มาเจรจากับคณะผู้แทนทหารไทยนำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศดอนเมือง  ระหว่างเจรจาทั้งสองฝ่ายแสดงความเป็นกันเองอย่างยิ่ง โดย พล.อ. สีสะหวาดกล่าวกับ พล.อ. ชวลิตว่า “เราเป็นพี่เป็นน้องกันนะ” (สยามรัฐ, มติชน ๑๗ ก.พ. ๒๕๓๑)

ระหว่างนั้น ทั้งสองฝ่ายสั่งให้วิทยุและสื่อของตนลดการเปิดเพลงปลุกใจและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ “บรรยากาศการเจรจาดีขึ้น” อย่างไรก็ตาม ขณะที่เกมการทูตเข้มข้นอยู่ในเมือง ในสนามรบทั้งสองฝ่ายยังคงเสริมกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่แนวรบอยู่ตลอดเวลา และความสูญเสียก็ยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

ผลการประชุมคือแถลงการณ์ร่วม “หยุดยิง” วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ มีข้อสรุปคือ หนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงตั้งแต่ ๐๘.๐๐ น. ของวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  สอง จะถอยจากแนวปะทะฝ่ายละ ๓ กิโลเมตร  สาม ตั้งคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานตรวจการปฏิบัติตามข้อตกลง  และสี่ หลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยอาวุธ โดยจะให้มีการเจรจาภายใน ๑๕ วัน

สัญญาหยุดยิงนี้ได้รับการปฏิบัติจนเสร็จสิ้น หลังจากนั้น พล.อ. ชวลิตนำคณะผู้แทนทหารและสื่อมวลชนเดินทางไปเยือนกรุงเวียงจันทน์ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  “เที่ยวกันจนม่วนซื่นแล้วเลี้ยง ‘สเต๊กเก้ง’ แกล้มแชมเปญ” (สยามรัฐ ๒๓ ก.พ. ๒๕๓๑) ก่อนจะหารือกันและรับตัวนักบิน OV-10 ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกกลับประเทศในวันต่อมา โดยกำหนดกับนักบินว่าต้องให้ข่าวว่า OV-10 ลำที่ตกนั้นกำลังอยู่ในภารกิจ “ลาดตระเวน” มิใช่ภารกิจ “โจมตี”

ท่ามกลางคำวิจารณ์บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีน้อยอย่างเห็นได้ชัดในการเจรจาสงบศึก

หลังศึกร่มเกล้า

นับจากยุติศึกร่มเกล้าอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑  ในช่วง ๒๓ ปีที่ผ่านมา ไทยกับลาวมีความคืบหน้าในการปักปันเขตแดนเป็นลำดับ

สิ่งที่เห็นชัดคือ ทั้งสองฝ่ายพยายามเจรจา ลดการเผชิญหน้า โดยทำให้เรื่องนี้เป็น “ปัญหาเทคนิค” แม้ช่วงหลังสงครามใหม่ ๆ การเจรจาจะยากลำบากเนื่องจากทั้งสองฝ่ายตีความสนธิสัญญาต่างกัน แต่เรื่องก็ไม่เคยบานปลายถึงขั้นยกระดับสู่การให้ชาติที่สามหรือองค์กรระดับนานาชาติเข้ามาแทรกแซง

ผลจากความพยายามดังกล่าว ปี ๒๕๓๙ จึงเกิด “ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวร่วมกัน” โดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คือ สนธิสัญญาปี ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาปี ๑๙๐๗  พิธีสารแนบท้ายและแผนที่ที่ทำขึ้นตามข้อตกลงทุกฉบับที่กล่าวถึงข้างต้น

มีการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว” (Thai-Lao Joint Boundary Commission-JBC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งไทยและลาวเป็นประธานร่วม กรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายละเท่ากัน  ปัจจุบันคณะกรรมการชุดดังกล่าวประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการทั้งหมด ๘ ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือปี ๒๕๕๐

ที่น่าสนใจคือมีการทำหลักเขตแดนร่วมกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ โดยเขตแดนทางบกที่ปักปันเสร็จสิ้นและได้รับการรับรองจากทั้งสองฝ่ายแล้ว ปัจจุบันมี ๑๙๐ หลัก คิดเป็นระยะทาง ๖๗๖ กิโลเมตร หรือร้อยละ ๙๖ ของเส้นเขตแดนทางบกทั้งหมด (ตัวเลขนี้ไม่ตรงกับข้อมูลของลาว เนื่องจากลาวคำนวณบนพื้นฐานความยาวเส้นเขตแดนที่ตนอ้างสิทธิ) โดยมีหลักเขตแดนที่ยังเห็นต่างกัน ๒๕ แห่ง

บริเวณบ้านร่มเกล้าและเนิน ๑๔๒๘ คือหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว

ปัจจุบันจึงอาจกล่าวได้ว่าบ้านร่มเกล้าอยู่ในสถานะ “ไม่แน่นอน” เนื่องจากปักปันเขตแดนยังไม่เสร็จสิ้น

ทว่าในทางปฏิบัติ ไทยใช้อำนาจอธิปไตยในพื้นที่อย่างเต็มที่ อาทิ ทำถนน จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ

เซี่ยโล่ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านร่มเกล้า ให้ภาพสถานการณ์ปัจจุบันว่า “จำไม่ผิดทหารลาวนั่งเฮลิคอปเตอร์มาที่นี่ปีละครั้ง ทหารไทยก็มาตรวจพื้นที่เช่นกัน ดูว่าต่างฝ่ายต่างถอย ๓ กิโลเมตรจากแนวรบตามข้อตกลงเดิมหรือไม่  คนบ้านร่มเกล้าที่เอาวัวไปเลี้ยงก็เข้าใกล้เนิน ๑๔๒๘ แค่เฉียด ๆ ไม่กล้าเข้าถึงตัวเนินเพราะมีกับระเบิดอยู่เยอะ เป็นพื้นที่อันตราย  จริง ๆ ไทยก็สร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่ม วางเสาไฟฟ้า พัฒนาหมู่บ้าน ล่าสุดมีการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านร่มเกล้า ๑ และ ๒ เมื่อปี ๒๕๕๒ ลาวประท้วงค่อนข้างรุนแรงหาว่าเราสร้างตรงบริเวณต้นน้ำเหือง ป่าหมันจะทำให้แม่น้ำสายเล็กลง แต่ทางลาวก็ตัดถนนเข้าใกล้เนิน ๑๔๒๘ เช่นกัน ในอนาคตถ้าเรื่องต้องไปถึงศาลโลกก็ต้องไป ผมอยากให้ได้ข้อยุติเสียทีเพราะต่อไปที่นี่ต้องเป็นยุทธภูมิอีก ลาวจะได้เปรียบมากเพราะเขาตัดถนนเข้ามาในพื้นที่แล้ว”

สอดคล้องกับที่ตำรวจตระเวนชายแดนฐานเอกราชนายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ยังจัดกำลังลาดตระเวนแถบเนิน
๑๔๒๘ เป็นปรกติเช่นเดียวกับทหารลาว โดยเนิน ๑๔๒๘ “ไม่มีฝ่ายไหนเข้าครอบครอง ส่วนเส้นทางลาดตระเวนต่างฝ่ายต่างหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เราพยายามปรับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยกำลังให้ดีขึ้น อนาคตก็อยากให้มากินข้าว เล่นกีฬาร่วมกัน”

ส่วนคนรุ่นถัดมาอย่างครูธนวัฒน์บอกว่าอยากให้การปักปันเขตแดนได้ข้อยุติเสียที  “กังวลอยู่ลึก ๆ พอพื้นที่ไม่แน่นอนว่าของใคร คนที่นี่จะขยายที่ทำกิน ต่อเติมบ้านก็ลำบาก อาคารเรียนโรงเรียนก็อาศัยทำไม่รู้ไม่ชี้จนสร้างอาคารถาวรได้ ไม่อย่างนั้นก็มีสภาพเป็นกระต๊อบ  ผมอยากให้ตรงนี้คือเมืองไทย คนที่นี่ก็มีบัตรประชาชนได้สัญชาติไทยกันส่วนมาก แต่ถ้าเป็นของลาวจริง รัฐบาลไทยก็ต้องจัดที่ให้เราอยู่”

อัจฉรา จันแก้ว ครูโรงเรียนบ้านร่มเกล้าอีกคนหนึ่งซึ่งมาประจำที่นี่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เล่าว่า แม้คนรุ่นหลังในหมู่บ้านจะไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์มากนัก แต่ความทรงจำเรื่องนี้ก็ถูกส่งต่อผ่านการสอดแทรกในวิชาสังคมศึกษาและการแสดงละครในโรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงของไทย ซึ่งเนื้อหาของละครที่ว่านั้น “สอนให้รักชาติ รักบ้านเกิด”

ที่น่าสนใจคือ หากสำรวจความทรงจำของคนไทยที่อยู่นอกพื้นที่โดยเฉพาะคนไทยรุ่นปัจจุบัน จะพบว่าศึกร่มเกล้า
“เลือนราง” ยิ่งนักในความทรงจำ  คนที่ยังจดจำก็พยายาม “บันทึกไว้เงียบ ๆ” และบางคนถึงกับพยายาม “ลืม”

ชุดความจำเรื่อง “ศึกร่มเกล้า” ของสังคมไทยจึงสับสนและมีรายละเอียดวนอยู่กับเรื่องไม่กี่เรื่อง อาทิ ไทยรบแพ้ ไทยบอมบ์กันเอง และลาวไม่น่าไว้ใจเพราะจ้องฮุบบ้านร่มเกล้า ซึ่งทั้งหมดเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์หลังสงครามยุติไม่นาน คือมีใบปลิวลึกลับโจมตีกองทัพอากาศทำโดยผู้ใช้นามแฝง “ทหารม้า” ระบุว่าความเสียหายกว่าครึ่งของกองทัพไทยมาจากการโจมตีผิดเป้าของกองทัพอากาศ  อีกเรื่องคือการปลุกระดมของคอลัมนิสต์คนสำคัญจำนวนมากให้คนไทยอย่าไว้ใจลาว

ที่สำคัญ คนที่จดจำเรื่องนี้ได้มักมีอายุเกิน ๔๐ ปี ถ้าเป็นทหารผ่านศึกส่วนมากมักปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ หรือเลือกจะไม่เปิดเผยตัว  ยิ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งการหรือเห็นเหตุการณ์ขณะนั้นอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนักข่าวอาวุโสอีกท่านก็ถึงกับปฏิเสธการให้ข้อมูลอย่างสิ้นเชิง

ส่วนชุดความทรงจำเรื่องนี้ในหมู่คนลาว เท่าที่มีข้อมูลคือมีการนำชุดนักบิน OV-10 ของไทยไปแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์กรุงเวียงจันทน์  ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องถ้าไม่นับข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เก่าที่มีนักวิชาการไทยทำวิจัยไว้แล้วก็ค้นหาได้ยากยิ่ง  ด้านประเทศคอมมิวนิสต์อย่างลาว คนที่นั่นก็ไม่มีเสรีภาพในการรับรู้หรือให้ข้อมูลข่าวสารอย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผมรวบรวมได้จึงมีจำกัด ประวัติศาสตร์เรื่องศึกร่มเกล้าในหลายส่วนจึงยังคงเป็นปริศนาให้คนรุ่นหลังหาคำตอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหลือจากศึกครั้งนี้คืออุทาหรณ์ในการแก้ปัญหาเขตแดนด้วยสงครามและการโฆษณาชวนเชื่อโจมตีอีกฝ่าย ซึ่งผู้ได้รับผลเสียหายที่สุดก็คือประชาชนคนธรรมดา

ในวันที่ศึกร่มเกล้าเป็นเพียงอดีตเรื่องหนึ่งที่ผ่านพ้นไปกับกาลเวลา ผู้สั่งการรบ คนเชียร์ให้รบ ผู้ออกไปรบ และผู้ได้รับผลกระทบจากการรบ ต่างมีชีวิตและชะตากรรมแตกต่างกันไป

พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. หลังเกษียณ ลงเล่นการเมืองและก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพนักการเมือง คือเป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๐)  ปัจจุบันยังมีบทบาทในแวดวงการเมือง

พล.อ. สีสะหวาด แก้วบุนพัน หัวหน้าเสนาธิการทหารสูงสุด ทปล. ปัจจุบันเป็นกรมการเมืองพรรคประชาชนปฏิวัติลาวและประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้น ปัจจุบันเป็นประธานองคมนตรี

นายไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีลาวขณะนั้น ภายหลังเป็นประธานประเทศ (ประธานาธิบดี)  เสียชีวิตในปี ๒๕๓๕ ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

ทว่า สำหรับผู้ปฏิบัติงานระดับล่างที่ต้องกรำศึกในสมรภูมิ สงครามส่งผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างยิ่ง

ประภาส รวมรส ปัจจุบันรับราชการที่อำเภอหนึ่งทางภาคอีสาน ยังมี “แผลความทรงจำ” ติดตัว

เพื่อนหลายคนของเขาที่เป็นอดีตทหารพรานต้องพิการและมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก หลายคนต้องหันเหชีวิตไปเป็นมือปืนรับจ้าง

อีกหลายคนเป็นเกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว และหลายคนทำงานไม่สะอาดในโลกมืด

น.อ. ไพโรจน์ เป้าประยูร ปัจจุบันยังคงรับราชการกับกองทัพอากาศ  ไม่ชอบนอนในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ บางครั้งมีอาการป่วยทางกระดูกอันเป็นผลจากการดีดตัวจากเครื่องบิน OV-10 และถูกจับกุมคุมขังในคราวนั้น

ประชาชนบ้านร่มเกล้ายังไม่แน่ใจอนาคตของตัวเองและกังวลถึงอนาคตของลูกหลานที่ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ และเวียงจันทน์  ยังไม่นับผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามในฝั่งลาวที่เราเข้าไม่ถึง รวมถึงทหารไทยและลาวที่เสียชีวิตจำนวน ๖๒๖ คนซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีการพูดถึง

และสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นคำถามสำคัญคือ สงครามคราวนั้นให้อะไร ?

เอกสารอ้างอิง

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย ๑. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๔.
  • ทวีเกียรติ เจนประจักษ์. ข้อพิพาทเขตแดนไทย-ลาว. กรุงเทพฯ : สกว.และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๐.
  • ประภาส รวมรส. ๑ ปีหลังสงครามร่มเกล้า. กรุงเทพฯ : เอนท์ไลท์เทนด์บุคส์, ๒๕๕๒.
  • ประภาส รวมรส. ๒๗ วันควันปืนกับซากศพ สมรภูมิร่มเกล้า. กรุงเทพฯ : อนิเมทกรุ๊ป, ๒๕๕๐.
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. ปัญหาบ้านร่มเกล้าหรือเมืองบ่อแตนที่ยังไม่ยุติ. กรุงเทพฯ : เพื่อนพ้อง, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
  • สุรชัย ศิริไกร, ดร. “ร่มเกล้า เสียงปืนยังไม่สิ้น บทเรียนจากปัญหาเส้นแบ่งเขตแดน…”. สารคดี ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙ พฤษภาคม ๒๕๓๑.
  • อรอนงค์ ทิพย์พิมล และคณะ. เขตแดนสยามประเทศไทย-มาเลเซีย-พม่า-ลาว-กัมพูชา ๖. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๔.

ขอขอบคุณ : คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, คุณศรัณย์ ทองปาน, ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ศูนย์รวมพรรณไม้ร่มเกล้าในพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก, โรงเรียนบ้านร่มเกล้า (ประชานุเคราะห์), ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว, สทอภ.