บัญชา ธนบุญสมบัติ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าวงการวิทยาศาสตร์และสื่อสารมวลชนบ้านเราให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์แก่สาธารณชน (Public Awareness of Science) มากทีเดียว กิจกรรมนี้บางครั้งก็เรียกว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์แก่สาธารณชน (Public Understanding of Science)
ที่เป็นเช่นนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประเด็นสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในสังคมมักต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการทำความเข้าใจด้วยไม่มากก็น้อย ประเด็นดังกล่าวอาจมีตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนตัว เช่น จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ๆ ไหม ไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม เช่น จะเอาจีเอ็มโอไหม จะเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไหม และจะแก้ปัญหา(หรือแม้แต่ใช้ประโยชน์จาก)ภาวะโลกร้อนอย่างไร เป็นต้น
การสร้าง “ความตระหนัก”ดังกล่าวนี้ต้องทำอย่างถูกต้องทันท่วงที และที่สำคัญคือต้องมีศิลปะในการพลิกแพลงให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งอาจเป็นกลุ่มจำเพาะ (เช่น ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย หรือชุมชนหนึ่ง ๆ) หรือเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจำนวนมาก (เช่นสังคมโดยรวม) มิเช่นนั้นแล้วกิจกรรมที่ทำไปอาจสูญเปล่าหรือเลวร้ายที่สุดคือกลับไปสร้าง “ความตระหนก” ในหมู่สาธารณชนแทน (ไม้หันอากาศหายไปตัวเดียว…เป็นเรื่อง)
จากประสบการณ์ของผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานหลายคนพบว่า มีความผิดปรกติบางอย่างเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเมื่อแก้ไขแล้วก็ยังฟื้นกลับมาอีก บางทีก็มาในรูปแบบเดิม บางทีก็มาในรูปแบบใหม่ ความผิดปรกติที่ว่านี้ได้แก่ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์อย่างผิดพลาด ซึ่งมีแง่มุมหลากหลายและน่าสนใจไม่น้อย
ในที่นี้ผู้เขียนขอจัดแบ่งประเด็นปัญหาเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามที่ปรากฏในสังคมไทย ดังนี้
๑. ความไม่ละเอียดอ่อนเรื่องพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
๒. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์
๓. การนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับประเด็นทางปรัชญาหรือศาสนาอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ
๔. การบิดเบือนวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ในประเด็นปัญหาแต่ละกลุ่ม ผู้เขียนจะใช้กรณีศึกษาเพื่อสื่อให้คุณผู้อ่านฉุกคิดกับข้อมูลและความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ทั่วไป และหวังว่าผู้อ่านจะไปค้นคว้าในประเด็นที่สนใจจนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอแนะแหล่งข้อมูลเอาไว้ท้ายบทความ โดยใช้สัญลักษณ์ เช่น (แผนที่ลิ้น-๑) หมายถึงบทความ “แผนที่ลิ้นลวงโลก !!” เขียนโดย ดร. ว่าที่ ร.ต. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (ดูแหล่งข้อมูลอ้างอิงประกอบ)
ในทางกลับกันหากมีข้อมูลใด ๆ ในบทความที่ไม่สมบูรณ์ คลาดเคลื่อน หรือชี้ชวนให้เข้าใจผิด ผู้เขียนก็ขอน้อมรับคำชี้แนะด้วยความยินดี โดยจะแก้ไขและหาโอกาสชี้แจง เพื่อให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ต่อไป
๑. ความไม่ละเอียดอ่อนเรื่องพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับความรัดกุมของนิยามและความชัดเจนของแนวคิดต่าง ๆ โดยมักมีการกำหนดสัญลักษณ์มาตรฐานและศัพท์ทางวิชาการขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๑.๑ สัญลักษณ์
ลองดูตัวอย่างการใช้สัญลักษณ์ต่อไปนี้ ซึ่งอาจทำให้เห็นแง่มุมบางอย่างที่คุณอาจไม่เคยสังเกตมาก่อน
ทราบหรือไม่ว่าลักษณะของตัวอักษรที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ก็สำคัญ เช่น ตัว e เล็กและเป็นตัวเอนใช้แทนขนาดประจุของอิเล็กตรอน (e) ประมาณ ๑.๖ x ๑๐-๑๙ คูลอมบ์ ส่วนตัว E ใหญ่และเอนใช้แทนพลังงาน (Energy) ดังนั้น การเขียนสมการของไอน์สไตน์ในรูป e = mc2 จึงดูไม่เข้าที ที่ถูกต้องควรเขียนว่า E = mc2(ใช้ E ตัวใหญ่ส่วน m และ c ใช้ตัวเล็กและเป็นตัวเอนทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ตัว e เล็กและเอนกับตัว E ใหญ่และเอน ยังอาจมีความหมายอื่น ๆ ได้อีก เช่น e = ๒.๗๑๘๒๘…และ E แทนพลังงานภายในของระบบ เป็นต้น
เรื่องตัวอักษรใหญ่ หรือเล็ก มองเผิน ๆ อาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าคิดถึงตัวอุปสรรค (prefix) อย่างเช่น m ซึ่งหมายถึง มิลลิ (milli) หรือ ๐.๐๐๑ กับ M ซึ่งหมายถึง เมกะ (mega) หรือ ๑,๐๐๐,๐๐๐ แล้วก็คงเข้าใจความแตกต่างได้ชัดเจนเพราะต่างกันถึง ๑,๐๐๐ ล้านเท่า
ส่วนเรื่องตัวตรงกับตัวเอนนั้นคนไทยเราไม่รู้สึกเลย แต่หนังสือและบทความวิชาการที่มีมาตรฐานสากลจะแยกแยะความแตกต่างไว้ด้วย เช่น C ตัวใหญ่และตรง หมายถึง หน่วยคูลอมบ์ ส่วน C ตัวใหญ่และเอน หมายถึง ค่าความจุความร้อน (heat capacity) ของสสาร เป็นต้น และอาจมีความหมายอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
จากตัวอย่างเพียงเท่านี้จะเห็นว่าแม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีความละเอียดอ่อนมากทีเดียว ดังนั้นทั้งผู้สื่อสารและผู้รับข่าวสารทางวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้อง “ไว” ต่อความละเอียดอ่อนเหล่านี้
๑.๒ ศัพท์ทางวิชาการ
ศัพท์ทางวิชาการ (technical terms) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะศัพท์เป็นหน่วยพื้นฐานในการสื่อสาร หากใช้ศัพท์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงกัน การสื่อสารก็จะเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันถ้าใช้ศัพท์ผิดพลาดก็จะเกิดปัญหาในการตีความและแปลความหมายได้
ตัวอย่างต่อไปนี้น่าจะช่วยให้คุณผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น
คำว่า “genome” เราถอดเป็นคำทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “จีโนม” แต่คำว่า “gene” เราถอดเป็น “ยีน” ไม่ใช่ “จีน” เพราะเกรงว่าจะสับสนกับชื่อประเทศ
น้ำมัน “เบนซิน” กับ สาร “เบนซีน” (benzene) นั้นแตกต่างกัน
ถ้าวิศวกรอเมริกันพูดว่า ๑ มิล เขาไม่ได้หมายถึง ๑ มิลลิเมตรเหมือนคนไทย แต่หมายถึง ๐.๐๐๑ นิ้ว
ถ้าคนอเมริกันบอกว่าอุณหภูมิเท่านั้นเท่านี้ degree เขามักจะหมายถึง องศาฟาเรนไฮต์ (degree Fahren-heit) ยกเว้นเขาระบุชัด ๆ ว่าเป็นองศาเซลเซียส (degree Celsius) หรือหน่วยอุณหภูมิอื่น ๆ
สำหรับกรณีสุดท้ายคือเรื่องหน่วยอุณหภูมินี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะความเข้าใจผิดเรื่องนี้เคยทำให้อุปกรณ์ในโรงงานไทยเจ๊งมาแล้ว เล่าสั้น ๆ ก็คือเอกสารคู่มือบอกให้ไปตั้งอุณหภูมิของอุปกรณ์ที่ ๒,๐๐๐ องศา (ตัวเลขสมมุติ แต่ค่าอุณหภูมิประมาณนี้) ช่างเทคนิคก็พาซื่อกดปุ่มไปที่ ๒,๐๐๐ องศา แต่ความจริงแล้วองศาที่ระบุไว้ในเอกสารเป็นองศาฟาเรนไฮต์ (เนื่องจากคนอเมริกันเขียนคู่มือ) ส่วนอุปกรณ์ปรับอุณหภูมิใช้หน่วยเซลเซียส ผลก็คือเครื่องมือเสียหาย และต้องเสียเวลาไปกับการซ่อมแซม (อุณหภูมิ ๒,๐๐๐ องศาฟาเรนไฮต์ เท่ากับ ๑,๐๙๓ องศาเซลเซียส โดยประมาณ)
๒. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์
ในกรณีทั่วไปความเข้าใจคลาดเคลื่อนอาจเป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นรายละเอียด และอาจไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ถ้าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในระดับแนวคิดหลักหรือแก่นสาระ (misconception) ก็ย่อมทำให้ความเข้าใจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผิดพลาดไปมาก และอาจส่งผลเสียหายตามมาได้ในบางกรณี
ในกรณีที่ความเชื่อหนึ่ง ๆ กลายเป็นความเชื่อแบบฝังหัวซึ่งแก้ไขยากจะเรียกว่า มายาคติ (myth)
แผนที่ลิ้นที่สอนกันมานานเป็นเรื่องเข้าใจผิด (ภาพจากวารสาร Scientific American เมื่อปี ๒๐๐๑)
๒.๑ กรณีศึกษา : แผนที่ลิ้น (ลวงโลก)
เราถูกสอนกันมานานแล้วว่าส่วนต่าง ๆ ของลิ้นจะรับรสชาติต่างกัน เช่น ปลายลิ้นรับรสหวาน โคนลิ้นรับรสขม เป็นต้น เมื่อวาดเป็นภาพออกมาก็จะได้แผนภาพที่เรียกว่า แผนที่ลิ้น (tongue map) ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปตั้งแต่ในตำราเรียน บทความ ไปจนถึงหนังสือสารานุกรม
แต่ทราบไหมว่าความเชื่อที่ว่านี้เป็นมายาคติ คือเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องซึ่งฝังหัวผู้คนทั่วโลกมานานหลายสิบปีแล้ว
ในปี ค.ศ. ๒๐๐๑ วารสาร Scientific American ได้ตีพิมพ์บทความเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ ส่วนในบ้านเรานั้นผู้เขียนเคยนำเสนอเรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง นิตยสาร Update ก็เคยเสนอประเด็นนี้เป็นเรื่องเด่นประจำฉบับ
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นเท่าไรนักเพราะความเชื่อนี้ยังปรากฏอยู่ทั่วไป ดังจะเห็นได้จากข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาโดยย่อว่า นักเรียนหญิงคนหนึ่งต่อสู้กับคนร้ายที่พยายามทำมิดีมิร้ายเธอ โดยกัดปลายลิ้นของคนร้ายจนขาด และนำส่งตำรวจเป็นหลักฐาน
ต่อมาอีกราว ๒ วัน หนังสือพิมพ์ลงข่าวต่อเนื่องว่า “จับแล้วหื่นลิ้นขาด ติดเชื้อบาดทะยัก ! ‘ไม่รับรู้
รสหวาน’ ”
การที่ข่าวระบุว่า “ไม่รับรู้รสหวาน” ย่อมแสดงให้เห็นว่าความเชื่อที่ว่าปลายลิ้น (เท่านั้น) ที่รับรสหวานยังคงอยู่ และพร้อมจะได้รับการขยายผลผ่านสื่อสารมวลชนนั่นเอง
คุณผู้อ่านที่สนใจรายละเอียด โปรดอ่านได้จากแหล่งอ้างอิง (แผนที่ลิ้น-๑) และ (แผนที่ลิ้น-๒)
๒.๒ กรณีอื่น ๆ ที่มักมีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน
มีประเด็นทางวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อนำเสนอขึ้นมาเมื่อไรก็มีความผิดพลาดปะปนอยู่ร่ำไป หรือไม่ก็มีประเด็นต่อเนื่องที่ชี้ชวนให้เข้าใจผิดเสมอ ๆ ตัวอย่างเช่น
“ชิ้นส่วนโลหะ เช่น เข็มกลัด สร้อยคอ ที่คุณสวมใส่เป็นตัวล่อฟ้าผ่า” : ความเชื่อนี้นับเป็นหนึ่งในมายาคติทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายโดยทั่วไป และดูเหมือนจะแก้ไขยากทีเดียว ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากบทความ “๒๐ แง่มุมที่ควรรู้เกี่ยวกับฟ้าผ่า” ในนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑
“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อกระพือปีกที่หนึ่งทำให้เกิดพายุในอีกที่หนึ่ง” : ข้อความนี้เป็นการนำทฤษฎีเคออส (chaos theory) มากล่าวให้ฟังดูหวือหวาน่าสนใจ แต่ชวนให้เข้าใจผิดได้ง่ายมาก (misleading) นอกจากนี้ตัวชื่อทฤษฎีเองคือ ทฤษฎีเคออส ก็ชี้ชวนให้เข้าใจไปได้ง่าย ๆ ว่า ทฤษฎีนี้ทำนายว่าระบบต่าง ๆ จะต้องเข้าสู่ภาวะยุ่งเหยิงเสมอ ซึ่งไม่เป็นความจริง สามารถอ่านเรื่องนี้ได้จากเอกสารอ้างอิง (Chaos-๑) (Chaos-๒) และ (เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว)
“บิ๊กแบง (Big Bang) หรือการระเบิดปังใหญ่ เป็นการระเบิดอย่างรุนแรงของอะตอมดึกดำบรรพ์” : ข้อความนี้ชวนให้เข้าใจผิดไปว่าก่อนเกิดบิ๊กแบงมีที่ว่างอยู่แล้ว จากนั้นอะตอมดึกดำบรรพ์ (หรือจุดพลังงานอะไรก็ตาม) ระเบิดตูมออกไปในที่ว่างนั้น แต่อันที่จริงแล้วบิ๊กแบงเป็นเหตุการณ์ที่ให้กำเนิดเอกภพ โดยให้กำเนิดทั้งที่ว่าง (space) และเวลา (time) ขึ้นมา
“โลกร้อนเกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก” : ข้อความนี้ถูกต้อง แต่สิ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือ ปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้นนั้นมีกลไกแตกต่างจากปรากฏการณ์เรือนกระจกที่เกิดขึ้นในเรือนกระจกจริง (actual greenhouse) ตัวอย่างเช่น อากาศปริมาณมหาศาลในชั้นโทรโพสเฟียร์สามารถไหลเวียนได้โดยสะดวก ขณะที่อากาศในเรือนกระจกถูกกักและไหลเวียนได้ไม่มากนัก โปรดดูแหล่งข้อมูลอ้างอิง (ปรากฏการณ์เรือนกระจก) หรือ(จากอณูถึงอนันต์) หน้า ๒๕๘-๒๖๐ สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติม
๓. การนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับประเด็นทางปรัชญาหรือศาสนาอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ
การเผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางปรัชญาและศาสนาที่จะโน้มนำให้ปัจเจกบุคคลประพฤติดี ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และบรรลุถึงอุดมคติสูงสุดในระบบปรัชญาหรือศาสนาหนึ่ง ๆ ที่บุคคลนั้นยึดถือ ย่อมเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีและควรส่งเสริม เพราะจะนำพาให้เกิดความสุขทั้งต่อตัวผู้ปฏิบัติ ผู้คนโดยรอบที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงสังคมโดยรวม
ทั้งนี้การเผยแผ่หลักธรรมคำสอนดังกล่าวพึงกระทำด้วยสัมมาทิฏฐิ สติปัญญา และเมตตาธรรม
การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียงเพื่ออธิบาย ตีความคำสอนหรือความเชื่อทางปรัชญาและศาสนา เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเนื่องจากทั้งวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและศาสนาต่างก็เป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ที่มีความลึกซึ้งและละเอียดอ่อน
หากผู้ที่ทำการเปรียบเทียบมีความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา และการเปรียบเทียบเป็นไปอย่างถูกต้อง ก็ย่อมจะทำให้การเปรียบเทียบนั้นมีพลัง ทำให้ผู้รับสารเกิดความรู้ความเข้าใจและศรัทธาเลื่อมใส
แต่หากความเข้าใจด้านใดด้านหนึ่งคลาดเคลื่อน เช่นเข้าใจวิทยาศาสตร์แต่เพียงผิวเผิน ก็ย่อมทำให้การตีความเกิดความผิดพลาดไปตามคติความเชื่อส่วนตนได้โดยง่าย
ในกรณีที่มีความผิดพลาดเช่นนี้ หากผู้รับสารไม่รู้เท่าทันเนื่องจากไม่เคยศึกษาประเด็นดังกล่าวอย่างลึกซึ้งมาก่อน หรือรับสารโดยไม่มีเวลาพินิจพิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง ก็ย่อมเข้าใจผิดตามไปได้
แต่หากผู้รับสารรู้เท่าทัน ก็ย่อมสามารถเห็นข้อบกพร่องได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของการเปรียบเทียบโดยรวมลดลงไป ยิ่งถ้ามีข้อบกพร่องจำนวนมากหรือมีข้อบกพร่องที่เป็นประเด็นสำคัญ ก็ย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือหมดไปได้ ในกรณีเช่นนี้ย่อมเกิดข้อกังขาในการตีความคำสอนทางปรัชญาและศาสนาที่อ้างถึงอีกโสดหนึ่งด้วย
กรณีตัวอย่างที่จะนำเสนอให้คุณผู้อ่านนำไปพิจารณาต่อไปนี้ จะระบุที่มาเพื่อให้สามารถอ้างอิงและตรวจสอบได้ด้วยตนเอง
๓.๑ ตัวอย่างความผิดพลาดที่ตรงไปตรงมา (ซึ่งแก้ไขได้ไม่ยากนัก)
ในกรณีที่เป็นข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์ (เช่นใครค้นพบอะไร) หรือแนวคิดพื้นฐานที่มีนิยามชัดเจน ก็มักสามารถพบเห็นความคลาดเคลื่อนได้ง่าย ทำให้ชี้แจงและแก้ไขได้ไม่ลำบากนัก เช่น
มักซ์ พลังค์
“มักซ์ พลังค์ (Max Planck) เป็นผู้ค้นพบทฤษฎีควอนตัมและเทอร์โมไดนามิก”
[ข้อความจาก (วิทย์-ศาสนา ก) หน้า ๑๖]
ข้อชี้แจง : ที่ถูกต้องคือ มักซ์ พลังค์ เป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีควอนตัมยุคเก่า (the old quantum theory) สำหรับเทอร์โมไดนามิกส์ (thermodynamics) หรือวิชาอุณหพลศาสตร์นั้นมีพัฒนาการมายาวนานตั้งแต่ราวปี ๑๖๕๐ แล้ว โดยต่อมามีทั้งนักทฤษฎีและนักทดลองจำนวนมากช่วยกันเติมเต็มความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ส่วนชื่อ thermodynamics เสนอโดย
เจมส์ จูล (James Joule) ในปี ๑๘๕๘
กิลเบิร์ต เอ็น.ลิวอิส
“…ไอน์สไตน์ได้เรียกควอนตัมของแสงว่าโฟตอน…”
[ข้อความจาก (วิทย์-ศาสนา ก) หน้า ๒๒]
ข้อชี้แจง : ผู้ที่เสนอคำว่า โฟตอน (photon) เป็นนักเคมีเชิงฟิสิกส์ชื่อ กิลเบิร์ต เอ็น. ลิวอิส (Gilbert N. Lewis) โดยเสนอในปี ๑๙๒๖ ส่วนไอน์สไตน์นั้นใช้คำว่า das Lichtquant ในภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่า ควอนตัมของแสง (light quantum)
“…เมื่อมีการค้นพบ Chaos Theory (ทฤษฎีแห่งความยุ่งเหยิง) จากทฤษฎีนี้ทำให้เกิดปัญญาว่า โมเลกุลของน้ำมีสภาพของความสับสนอลหม่านยุ่งเหยิงเสียดสีกันอยู่ภายในตลอดเวลา” [ข้อความจาก (วิทย์-ศาสนา ก) หน้า ๑๒๘]
ข้อชี้แจง : ทฤษฎีที่พูดถึงโมเลกุลของน้ำซึ่งสั่นไหวและเคลื่อนที่เสียดสีกันอยู่ตลอดเวลานั้น ได้แก่ กลศาสตร์เชิงสถิติ (statistical mechanics) ส่วนทฤษฎีเคออสนั้นแม้ชื่อจะแปลว่า โกลาหลหรือยุ่งเหยิงสับสน แต่ไม่ได้มีความหมายในทางวิทยาศาสตร์อย่างที่กล่าวอ้างถึง
“ทางเดียวที่จะพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพด้วยตัวเองได้คือการพิสูจน์ทางจิต…เมื่อจิตละเอียดถึงจุดจะพบกับความมหัศจรรย์ของเวลาตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์” [ข้อความจาก (วิทย์-ศาสนา ก) หน้า ๑๗๔]
ข้อชี้แจง : การตรวจสอบผลทำนายจากทฤษฎีสัมพัทธ-ภาพในเรื่องเวลานั้น มีการทดลองทางกายภาพหลายการทดลองและได้ทำมานานแล้ว เช่น การตรวจวัดอายุขัยของอนุภาคต่าง ๆ และการใช้
ผลการคำนวณเวลาในระบบบอกพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS-Global Positioning System) เป็นต้น ข้อความดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง
สำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่าเรื่องเกี่ยวกับเวลาในทฤษฎีสัมพัทธภาพสามารถพิสูจน์ได้ด้วยจิตนั้น คงต้องตรวจสอบก่อนว่า นิยามของคำว่า “เวลา” ที่ผู้กล่าวอ้างมีประสบการณ์ตรงทางจิตนั้นตรงกับนิยามของ “เวลา” ที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพกล่าวถึงหรือไม่ เพราะแม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์เองเวลาก็มีได้หลายแบบ แล้วแต่ว่าจะอิงกับทิศทางของอะไร เช่น อิงกับทิศทางของปรากฏการณ์ตามกฎข้อที่ ๒ ของเทอร์โมไดนามิกส์ (thermodynamic arrow) อิงกับทิศทางการขยายตัวของเอกภพ (cosmological arrow) หรืออิงกับความรู้สึกหรือการรับรู้ในทางจิตวิทยาว่าเวลาผ่านไปอย่างไร (psychological arrow) เป็นต้น
๓.๒ ตัวอย่างความผิดพลาดที่มีประเด็นซับซ้อน (ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการแก้ไขมาก)
แนวคิด สมมุติฐาน ทฤษฎี หรือผลการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานที่เกี่ยวข้องมาก่อนเป็นอย่างดี หากผู้ที่นำไปกล่าวถึงไม่เข้าใจเงื่อนไขการใช้งานโดยแจ่มแจ้ง ก็ย่อมจะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาดได้โดยง่าย การแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวต้องใช้ความพยายามและเวลาอย่างมากทั้งในส่วนของผู้อธิบายและผู้ที่ต้องทำความเข้าใจ
ตัวอย่างต่อไปนี้จะให้คำอธิบายไว้เพียงเบื้องต้นเพราะประเด็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องมีความซับซ้อนเกินกว่าจะนำมาขยายความไว้ในบทความนี้ได้ทั้งหมด ทั้งนี้หากคุณผู้อ่านสนใจ ผู้เขียนจะขยายความในโอกาสต่อไป
“ทุก ๆ สิ่งในจักรวาลหลังการระเบิดครั้งใหญ่ (บิ๊กแบง) จะมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะที่ยุ่งเหยิงมากขึ้นเสมอ” [ข้อความจาก (วิทย์-ศาสนา ก) หน้า ๗๓-๗๔]
ข้อชี้แจงเบื้องต้น : ข้อความนี้ถูกบิดเบือนมาจากกฎข้อที่ ๒ ของเทอร์โมไดนามิกส์ที่ว่า “เอนโทรปี (entropy) ของระบบเอกเทศหรือระบบโดดเดี่ยว (isolated system) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหรือคงที่” โดยระบบเอกเทศในทางเทอร์โม-ไดนามิกส์หมายถึงระบบที่ไม่แลกเปลี่ยนทั้งมวลสารและพลังงานกับสิ่งแวดล้อม
ในทางเทอร์โมไดนามิกส์ ระบบเปิด (open system) ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนมวลสารและพลังงานกับสิ่งแวดล้อมได้ สามารถมีความเป็นระเบียบเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ
“พระพุทธองค์ตรัสว่า “อัตตา (ตัวตน) ของคนเรานั้นไม่เคยมีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ (อิทัปปัจจยตา)” ไอน์สไตน์ยืนยันซ้ำพร้อมสูตรทางวิทยาศาสตร์ว่า “ยิ่งเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ ยิ่งทำให้มนุษย์เราต้องถ่อมตนและสันโดษ สรรพสิ่งสัมพัทธ์กันไปหมด”…” [ข้อความจาก (วิทย์-ศาสนา ก) หน้า ๑๖๒]
ข้อชี้แจงเบื้องต้น : ประเด็นนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะชื่อทฤษฎีสัมพัทธภาพ (theory of relativity) นั้น
ชวนให้เข้าใจผิดพลาดไปได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัมพัทธ์ (คือแล้วแต่ว่าสังเกตเทียบกับใครหรืออะไร) แต่จริง ๆ แล้วในทฤษฎีนี้มีแนวคิดหรือปริมาณที่ตรงกันข้ามกับสภาพสัมพัทธ์อยู่ด้วย นั่นคือ
ความไม่แปรเปลี่ยน (in-variance) และที่น่าสนใจก็คือสมมุติฐาน ๒ ข้อที่ใช้ในการพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธ-ภาพพิเศษ (special rela-tivity) ก็คือความไม่แปรเปลี่ยนนี้ ผู้สนใจโปรดดูแหล่งข้อมูลอ้างอิง (แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์)
“…สำหรับฝาแฝดคนที่อยู่ในยาน เขาจะไม่รู้สึกว่าเวลาในยานนั้นผ่านไปอย่างเชื่องช้า ทั้งนี้เพราะทุกอย่างในระบบอ้างอิงคือยานนั้นเปลี่ยนแปลงช้าลงในสัดส่วนที่เท่ากัน…แต่เมื่อแฝดนั้นหันมามองโลกมนุษย์ผ่านทางอุปกรณ์รับส่งภาพ เขาจะประหลาดใจเมื่อพบว่าทุกสิ่งในโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เหมือนภาพยนตร์ที่ฉายเร่งความเร็ว ผู้คนเดินไปมารวดเร็ว…เมื่อเทียบกับสิ่งต่าง ๆ ที่เขาคุ้นเคยภายในยานอวกาศ” [ข้อความจาก (วิทย์-ศาสนา ข) หน้า ๖๘-๗๐]
ข้อชี้แจงเบื้องต้น : ประเด็นกล่าวถึง ปฏิทรรศน์ฝาแฝด (twin paradox) ซึ่งเป็นผลลัพธ์น่าฉงนที่สุดอันหนึ่งในทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ กล่าวโดยย่อที่สุดก็คือ มีฝาแฝด ๒ คน คนหนึ่งอยู่บนโลก อีกคนเดินทางไปในอวกาศด้วยยานอวกาศความเร็วสูง เมื่อคนที่เดินทางไปในอวกาศกลับมายังโลก ก็พบว่าตนเองแก่ช้ากว่าฝาแฝดคนที่อยู่บนโลก
ในการทำความเข้าใจปฏิทรรศน์ฝาแฝดนี้จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ตลอดเส้นทางการเดินทางของฝาแฝดคนที่ไปกับยานอวกาศ ในกรณีที่ยานอวกาศเคลื่อนที่สัมพัทธ์กับโลกด้วยความเร็วคงที่ คนบนโลกจะสังเกตเห็นว่าเวลาของคนที่อยู่บนยานผ่านไปอย่างเชื่องช้า ขณะเดียวกันคนที่อยู่บนยานก็จะสังเกตเห็นว่าเวลาของคนที่อยู่บนโลกผ่านไปอย่างเชื่องช้าด้วยเช่นกัน นี่คือความหมายของสัมพัทธภาพ
ผู้ที่สนใจเรื่องปฏิทรรศน์ฝาแฝด สามารถศึกษาได้จากภาคผนวกของเอกสาร (แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์)
ตัวอย่างความเข้าใจผิดพลาดที่ยกมานี้หากปรากฏในหนังสือหรือแหล่งข้อมูลใดเป็นจำนวนมากก็ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า เหตุใดผู้ให้ข้อมูลจึงแสดงข้อมูลและทัศนะที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้แต่ข้อมูลบางอย่างที่ตรวจสอบได้ไม่ยาก สาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น
– หนังสือหรือเอกสารที่ใช้อ้างอิงส่วนใหญ่ไม่ใช่หนังสือแนววิชาการที่เน้นความแม่นยำ แต่เป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์อ่านสนุกทั่วไป (popular science) ซึ่งทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ง่าย (simplified) แต่หากง่ายจนเกินไป (over-simplified) ก็ย่อมทำให้ผู้อ่านที่ขาดพื้นฐานที่ดีเพียงพอเข้าใจไขว้เขวไปได้โดยง่าย
– แม้หนังสือหรือเอกสารที่ใช้ในการอ้างอิงจะมีความถูกต้องในทางวิชาการ แต่หากผู้ใช้ขาดพื้นฐานที่ดีเพียงพอ (โดยเฉพาะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ซึ่งมีความจำเป็นพอสมควรสำหรับวิชาฟิสิกส์) ก็อาจทำให้ผู้ที่นำข้อมูลไปใช้มีแนวโน้มที่จะเลือกนำข้อความบางอย่างมาสนับสนุนความเชื่อของตน โดยละเลยบริบท (context) ในการใช้งานข้อความที่ยกมานั้น ลักษณะเช่นนี้ก็ย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดได้เช่นกัน
ในมุมมองด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไปในวงกว้างย่อมทำให้เกิดความสับสนต่อผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องดังกล่าว หรือทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก
แต่ถ้ามองในแง่บวก หากผู้ศึกษาสามารถวางใจไว้กลาง ๆ ไม่เชื่อข้อมูลและทัศนะต่าง ๆ ในทันที ก็อาจใช้ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นในการสืบค้น ตรวจสอบ และเรียนรู้เรื่องราวที่เป็นจริงตามหลักวิชาการต่อไป
ประกาศทางหน้าหนังสืิอพิมพ์จากคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเตือนผู้บริโภคเรื่องน้ำดื่มมหัศจรรย์
๔. การบิดเบือนวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
สินค้าและผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ซึ่งถ้าอยู่ในระดับที่พอยอมรับได้ ผู้บริโภคก็คงจะไม่ติดใจเอาเรื่องอะไร แต่หากการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงไปมาก โดยมีเจตนาทำให้เข้าใจผิด สินค้าชนิดนั้นก็เข้าข่ายสินค้าหลอกลวง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ผู้บริโภคเสียสุขภาพหรือจ่ายแพงกว่าโดยไม่จำเป็น
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในบ้านเรามีองค์กรที่เชื่อถือได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและกำกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ เช่นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยในหลายกรณี อย. ได้ใช้กฎหมายและสื่อสารมวลชนเป็นเครื่องมือในการจัดการ ตัวอย่างเช่นกรณีน้ำมหัศจรรย์ และกรณีชุดชั้นในอินฟราเรด เป็นต้น โปรดดูแหล่งข้อมูลอ้างอิง (น้ำมหัศจรรย์)
ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ อย. มีภาระรับผิดชอบดูแลโดยตรงแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกจำนวนมากที่สมควรได้รับการตรวจสอบเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอย่างคุ้มค่าคุ้มราคา
บทสรุป
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อาจใช้ในการเรียนรู้หรือทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถตัดสินใจในเรื่องหนึ่ง ๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผู้เขียนหวังว่าบทความชิ้นนี้จะช่วยจุดประกายให้บุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้อง สื่อสารมวลชน รวมทั้งสาธารณชน หันมาให้ความสนใจในการแก้ไขความบิดเบือนต่าง ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏอยู่อย่างมากมายในปัจจุบัน
หากสังคมไทยสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ก็ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาวะทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม อันจะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างถูกทิศทางและยั่งยืนต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง | |
รหัสอ้างอิง | บทความ/เว็บไซต์ |
(แผนที่ลิ้น-๑)
|
ดร. ว่าที่ ร.ต. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์. “แผนที่ลิ้นลวงโลก !!”. Update ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๒๐๗ ธันวาคม ๒๕๔๗, หน้า ๓๔-๓๙. |
(แผนที่ลิ้น-๒)
|
บัญชา ธนบุญสมบัติ. “แผนที่ชิวหาพาหลงทาง (ร่วม ๑๐๐ ปี) !”. มิติคู่ขนาน. สำนักพิมพ์สารคดี, ๒๕๔๘. หน้า ๑๕๒-๑๕๕. |
(Chaos-๑)
|
James Gleick. Chaos: Making a New Science. |
(Chaos-๓)
|
Ian Steward. Does God Play Dice? The New Mathematics of Chaos. |
(เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว)
|
บัญชา ธนบุญสมบัติ. “‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ หมายความว่าอย่างไร”.Know How & Know Why: กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง. สำนักพิมพ์สารคดี, ๒๕๔๘. หน้า ๖๓-๗๗. |
(ปรากฏการณ์เรือนกระจก)
|
“เรือนกระจกจริง vs เรือนกระจกโลก-ต่างกันอย่างไร ?”, http://gotoknow.org/blog/weather/152977 |
(จากอณูถึงอนันต์)
|
John Gribbin. บัญชา ธนบุญสมบัติ นำชัย ชีววิวรรธน์ และ นเรศ ดำรงชัย แปล. จากอณูถึงอนันต์ วิทยาศาสตร์ต้องรู้. สำนักพิมพ์สารคดี, ๒๕๔๘. |
(วิทย์-ศาสนา ก) |
ทันตแพทย์สม สุจีรา. ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น. พิมพ์ครั้งที่ ๒. สำนักพิมพ์อมรินทร์, ๒๕๕๐. |
(แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์)
|
บัญชา ธนบุญสมบัติ. แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์. สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น, ๒๕๔๘. |
(วิทย์-ศาสนา ข)
|
สมภาร พรมทา. ความเร้นลับของเวลา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๔๖. |
(น้ำมหัศจรรย์)
|
บัญชา ธนบุญสมบัติ. “ลูกเล่นลวงโลกของน้ำมหัศจรรย์”. Update ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒๑๐ มีนาคม ๒๕๔๘, หน้า ๘๖-๘๘. |