เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 – วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” หรือ “วันมหาวิปโยค” เมื่อนิสิต นักศึกษาและประชาชนกว่า 500,000 คนชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและคัดค้านอำนาจรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร (ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514)
การเดินขบวนเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกไปตามถนนราชดำเนินสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนจะปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร กลายเป็นการจราจล และเกิดการนองเลือด มีนักศึกษาและประชาชนสูญเสียชีวิต 77 คนและบาดเจ็บ 857 คน
เหตุการณ์สงบลงในค่ำวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อ “สามทรราชย์” ถนอม ประภาส ณรงค์ หนีออกนอกประเทศ และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ ปัจจุบันได้มีการก่อสร้าง “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวบริเวณ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิ 14 ตุลา ขึ้นด้วย
ต่อมาในปี 2545 รัฐบาลได้มีการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันประชาธิปไตย” เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นับเป็นหนึ่งในการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่