วันชัย ตัน
ภาพประกอบ : DINHIN
“เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว”
แต่ไหนแต่ไร เวลาอยากอธิบายถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศให้เห็นภาพง่าย ๆ เรามักนึกถึงประโยคนี้
แต่มายุคนี้คงต้องเปลี่ยนมาพูดว่า
“หม่ำ ‘บิ๊กแมค’ สะเทือนถึงป่าฝนแอมะซอน”
เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มกรีนพีซได้กล่าวหาบริษัทแมคโดนัลด์ ผู้ผลิตฟาสต์ฟูดรายใหญ่ของโลก ว่ามีส่วนในการทำลายป่าฝนแอมะซอนในประเทศบราซิล
เรื่องของเรื่องก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตถั่วเหลืองได้บุกรุกโค่นป่าแอมะซอนจำนวนหลายหมื่นไร่ในบราซิลเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ถั่วเหลือง โดยถั่วเหลืองที่ปลูกได้จะถูกส่งไปแปรรูปเป็นอาหารไก่ ส่งตรงไปยังฟาร์มไก่ เพื่อขุนไก่ในฟาร์มให้อ้วนพีพร้อมจะกลายไปเป็น “แมคนักเกต” ให้คอฟาสต์ฟูดได้อร่อยกันถ้วนทั่ว
กรีนพีซกล่าวว่ามีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าถั่วเหลืองจากไร่ที่แอมะซอนถูกส่งออกจากบราซิลไปยังยุโรป
“สามบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ของอเมริกาซึ่งกุมตลาดถั่วเหลืองส่วนใหญ่ในยุโรป กำลังทำลายป่าฝนแอมะซอนเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกพืชอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ในยุโรป ยกตัวอย่าง บริษัทคาร์กิลล์ หนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ ได้สร้างท่าเรือของตัวเองใจกลางผืนป่าแอมะซอนโดยผิดกฎหมาย และได้ส่งออกถั่วเหลืองติดต่อกัน ๓ ปี เป็นปริมาณถึง ๑.๖ ล้านตัน ไปยังบริษัทผู้ผลิตอาหารไก่ในเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ก่อนจะนำไปเลี้ยงไก่ที่ใช้ทำแมคนักเกตของแมคโดนัลด์ทั่วยุโรป”
ในการนี้ กรีนพีซใช้ทั้งเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ใช้เครื่องบินตรวจทางอากาศ รวมถึงแอบเข้าไปสำรวจภาคพื้นดิน เพื่อตามรอยการบุกรุกผืนป่าฝนอันสมบูรณ์เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง
เกวิน เอ็ดเวิร์ด แห่งกลุ่มกรีนพีซ กล่าวว่า
“ฟาสต์ฟูดยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์กำลังทำลายผืนป่าแอมะซอนเพื่อให้ได้อาหารราคาถูก ดังนั้นขณะที่คุณกินแมคนักเกต คุณอาจกำลังกัดกินผืนป่าแอมะซอนไปทีละคำ ๆ”
มีการประเมินว่าในรอบ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าฝนแอมะซอนจำนวนแสนกว่าไร่ถูกทำลายลงโดยผิดกฎหมายเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง โดยที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้แต่นั่งดูตาปริบ ๆ เพราะอิทธิพลจากเม็ดเงินอันมหาศาล
นอกจากนี้แม่น้ำหลายแห่งยังได้รับผลกระทบจากยาฆ่าหญ้าที่ใช้ในการปลูกถั่วเหลือง นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาการใช้แรงงานทาสในการปลูกถั่วเหลืองด้วย
ป่าแอมะซอนไม่เพียงถูกบุกรุกทำลายเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่ถั่วเหลืองไว้เลี้ยงไก่ป้อนให้แก่ผู้ผลิตฟาสต์ฟูดชื่อดังเท่านั้น หากยังถูกบุกรุกทำลายเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวด้วย เห็นได้จากสถิติการผลิตถั่วเหลืองของบราซิลที่เติบโตขึ้นถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และฝูงวัวก็เพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า คือจาก ๒๖ ล้านตัวเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพิ่มเป็น ๕๒ ล้านตัวในปัจจุบัน ทำให้บราซิลกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกถั่วเหลืองมากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ของโลก
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ภัยของฟาสต์ฟูดมีมากกว่าที่คิด
นอกจากทำลายสุขภาพแล้ว ยังทำลายป่าอีกต่างหาก