เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์


“เมื่อก่อนมีมือปืนเข้ามาที่นี่เรื่อยๆ นะ ถ้าตอนดึกหมาเห่าผิดปรกติ ฉันจะหลบไปนอนโคนต้นไม้ต้นนู้นบ้างต้นนี้บ้าง ตอนนี้เงียบไป แต่ก็มีการคุกคามอื่นๆ เช่น มีหน่วยทหารและอาสาสมัครที่ทางจังหวัดส่งมาตั้งอยู่ที่ปากทางเข้า เขาอ้างว่าให้มาอารักขา แต่จริงๆ แล้วเขามีเจตนาไม่ดี จะมาสอดส่องจับผิดหลวงพ่อ”

บทสัมภาษณ์ใน สารคดี ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๕ พฤษภาคม ๒๕๓๔

คนรุ่นใหม่หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า หลวงพ่อประจักษ์คือใคร หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน ชื่อของหลวงพ่อประจักษ์เป็นข่าวพาดหัวตามหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ในฐานะพระตัวแสบสำหรับราชการและนายทุนที่ต้องการทำลายป่า ขณะที่ในสายตาของชาวบ้านแล้ว ท่านคือพระนักอนุรักษ์ผู้เด็ดเดี่ยว ไม่ยอมก้มหัวให้แก่การทำลายป่าดงใหญ่ จนต่อมาความอุดมสมบูรณ์ของป่าดงใหญ่ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน

แต่รางวัลที่ท่านได้รับคือการถูกคุกคาม ตามล่าเอาชีวิต จนต้องหนีออกจากพื้นที่ ถูกกดดันให้สึก ถูกทำลายชื่อเสียงต่างๆ นานา จนชื่อของท่านเงียบหายไปเป็นเวลานาน

พระประจักษ์ในชื่อฆราวาส ประจักษ์ เพชรสิงห์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นคนบ้านแพะ ตำบลปากข้าวสาร อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ในวัยเด็กเคยบวชเณร และลาสิกขาออกมาหางานทำสารพัด ตั้งแต่ขายขนมปัง ขายไอศกรีมตามตลาด เป็นคนงานก่อสร้างถนนสายสระบุรี-โคราช สนามบินอู่ตะเภา เขื่อนยันฮี ฯลฯ

ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ภาพลักษณ์ที่พบเห็นทั่วไปคือหนุ่มรูปร่างใหญ่ ล่ำสัน ผิวคล้ำ และเคยถูกยิงได้รับบาดเจ็บ พอหายจึงตัดสินใจอุปสมบทเมื่ออายุ ๓๙ ปี และมาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อำเภอแก่งคอย เริ่มฝึกกรรมฐานกับหลวงพ่อคำตัน

“ตอนอายุ ๓๐ กว่า เคยไปทวงหนี้คนที่เสียพนันฉัน แล้วเขาก็ยิงฉันจนบาดเจ็บสาหัส เลยตั้งใจว่าถ้ารอดตายจะบวชให้แม่”

พระประจักษ์ออกธุดงค์จาริกตามป่าเขาทั่วประเทศ ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนจรดปาดังเบซาร์เป็นเวลานับสิบปี ไปปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาส หลวงปู่ชา สุภัทโท หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จนกระทั่งในปี ๒๕๓๒ หลวงพ่อประจักษ์และพระรูปอื่นได้ธุดงค์ผ่านป่าดงใหญ่ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วท่านก็พบสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม นั่นคือเขาหัวผุด อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนดงใหญ่ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า ๖ แสนไร่ และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำมูน

บริเวณนี้หลวงพ่อประจักษ์เล่าให้ฟังว่า มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นกระทิง วัวแดง เสือ หมูป่า ขณะปฏิบัติธรรมท่านยังเห็นไก่ฟ้าพญาลอเดินหากินอยู่ต่อหน้า

ชาวบ้านแถวนั้นได้มอบป่าเขาหัวผุดที่สมัยนั้นพวกเขาเข้าไปจับจองให้หลวงพ่อช่วยดูแล ด้วยหวังว่าจะหยุดยั้งการที่หน่วยราชการสมคบกับนายทุนต้องการจะทำลายป่าแห่งนี้เพื่อปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส

ในเวลานั้น ทหารในเครื่องแบบหลายนายได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบังคับให้ชาวบ้านและหลวงพ่อออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าป่าแห่งนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม

หลวงพ่อประจักษ์อาศัยแรงศรัทธาของชาวบ้านทำพิธีบวชป่าขึ้น โดยนำผ้าเหลืองและสายสิญจน์มาล้อมต้นไม้ไว้ให้เป็นเขตอภัยทานห้ามบุกรุกทำลายป่า ซึ่งน่าจะเป็นการบวชป่าครั้งแรกในประเทศ และยังเป็นการรวมพลชาวบ้านเกือบ ๑,๐๐๐ คนเพื่อปกป้องป่าดงใหญ่ผืนนี้ รวมถึงการตั้งกลุ่มเยาวชนรักป่าขึ้น พร้อมกับคำสั่งสอนของหลวงพ่อที่พูดให้ชาวบ้านเข้าใจว่า คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

แต่สิ่งที่ได้รับในปีแรกๆ ก็คือ กระสุนปืนจากอาวุธสงครามนานาชนิดที่ระดมยิงเข้าใส่ที่พำนักสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นเอ็ม-๗๙ หรือปืนอาก้า จนภายในสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ต้องมีบังเกอร์ราวกับอยู่ในสมรภูมิ เพื่อบีบบังคับให้หลวงพ่อประจักษ์ออกจากพื้นที่

ปี ๒๕๓๔ เมื่อครั้ง สารคดี ไปสัมภาษณ์หลวงพ่อประจักษ์ ท่านยังพาชมรอยกระสุนและบังเกอร์ชั่วคราว ในช่วงเวลานั้นสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้กลายเป็นที่ศึกษาดูงานของนักอนุรักษ์จำนวนมาก จากข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ที่รายงานความขัดแย้ง ความรุนแรงในพื้นที่ไม่เว้นแต่ละวัน

สุดท้ายพระนักอนุรักษ์ผู้นี้ถูกทางการแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านถูกจับและส่งเข้าเรือนจำเพื่อหวังกดดันให้ท่านสึก ข่าวการจับพระนักอนุรักษ์ป่าแพร่ออกไปสร้างความสะเทือนใจให้แก่ประชาชนผู้รักความเป็นธรรมอย่างยิ่ง

“เขามีเจตนาจะให้ฉันออกจากป่าโดยสึกฉันเสีย… แต่อย่างไรฉันก็ไม่ยอม ทนายมากระซิบว่าอย่ายอมสึก เพราะถ้าสึกอาจถูกนำไปฆ่าทิ้งได้”

ภายหลังออกจากคุกได้ไม่นาน ท่านพยายามยืนหยัดรักษาป่าต่อไป แต่ก็ยังถูกฟ้องข้อหาบุกรุกป่าอีก ในที่สุดท่านถูกกดดันอย่างหนักให้ต้องหนีออกจากพื้นที่ และลาสิกขาที่บ้านเกิดเพื่อต่อสู้คดีถึง ๗ คดี ต้องหนีภัยไปซ่อนตัวอยู่ตามถ้ำ บางครั้งอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ก็พาไปอยู่ตามบ้านมิตรสหาย ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ท่านต้องขึ้นศาลราว ๕๐-๖๐ ครั้ง และในที่สุดบางคดียกฟ้อง บางคดีถูกปรับ และบางคดีรอลงอาญา จนปัจจุบันพ้นมลทินหมดแล้วทุกคดี

สุดท้ายท่านก็กลับมาบวชอีกครั้งที่วัดป่าธรรมชาติ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาหลวงพ่อประจักษ์ ธัมมปทีโป ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชรษฐพลภูลังกา ซึ่งเป็นวัดร้างแถบเทือกเขาภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย มีพระมาจำพรรษาปฏิบัติธรรม ๙ รูป สามเณร ๒ รูป และแม่ชี ๓ คน ท่านเดินลงจากเขาออกบิณฑบาต ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร ฉันอาหารมื้อเดียว ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา เดินจงกรมเป็นกิจวัตร

ท่านกับพระลูกวัดได้ฟื้นฟูป่าในบริเวณนั้นขึ้นมา ด้วยการเพาะต้นกล้ายางนาเป็นหลัก ปลูกต้นยางนาทุกปีจนนับได้หลายหมื่นต้นแล้ว และทำให้ป่าที่เคยเสื่อมโทรมกลับอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสขึ้นเขาไปเยี่ยมหลวงพ่อประจักษ์ในวัย ๗๐ เศษ ท่านยังแข็งแรง ใบหน้าอิ่มเอิบ สงบและมีเมตตาต่อพวกเรา พาเดินดูต้นไม้ที่ปลูกอย่างกระฉับกระเฉง ท่านบอกว่าหลายปีมานี้ได้ร่วมมือกับชาวบ้าน กลุ่มเยาวชนหลายหมู่บ้าน วัดและสำนักสงฆ์อีก ๔๐ แห่งรอบเทือกเขาภูลังกา ก่อตั้งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินำผืนป่ากลับคืนมา

หลายสิบปีผ่านไป หลวงพ่อประจักษ์ยังใส่ใจในการอนุรักษ์ป่าไม่เปลี่ยนแปลง ท่านได้หาต้นกล้ายางนามาเพาะทุกปี ปีละนับพันต้น จนถึงปัจจุบันท่านร่วมมือกับคนในพื้นที่ปลูกต้นยางนาไปแล้วเป็นหมื่นต้น โดยปลูกเสริมตามบริเวณป่าเสื่อมโทรมและปลูกเป็นแนวกันชนระหว่างสวนยางพาราของชาวบ้านกับเชิงเขาภูลังกา

ในปี ๒๕๕๑ คณะกรรมการตัดสินรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ ๑๐ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้ประกาศมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคลดีเด่น ให้แก่หลวงพ่อประจักษ์ ในฐานะบุคคลที่ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตยืนหยัดดูแลรักษาผืนป่าอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้ว่าจะถูกกล่าวหา ถูกประทุษร้ายร่างกายและจิตใจ แต่ท่านก็ไม่หวั่นไหว

หลวงพ่อประจักษ์อาจจะเป็นภิกษุรูปแรกที่นำรูปแบบการบวชป่ามาใช้ในการปกป้องผืนป่าเป็นครั้งแรก และน่าจะเป็นภิกษุรูปแรกที่พยายามสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจว่า “คนอยู่กับป่าได้” ซึ่งต่อมาถือเป็นหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวป่าชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้

เวลาผ่านไป แต่สิ่งที่หลวงพ่อประจักษ์ไม่เคยเปลี่ยนก็คือ ตลอดชีวิตของท่าน มุ่งมั่นดูแลรักษาผืนป่าไว้ให้อนุชนรุ่นหลังอย่างเงียบๆ ไม่ยินดียินร้ายกับลาภยศสรรเสริญ หรือเสียงด่าทอจากผู้คนที่เข้าใจท่านผิด ท่านพูดเสมอว่า

“ออกมาอยู่โคนไม้แล้วจิตใจอิสระ ไม่มีรั้ว ไม่มีห้องคุมขัง คบหาธรรมชาติ เห็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ฉันอยู่กับต้นไม้ มองเห็นชีวิตที่มันเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนมันต้นเล็กๆ มันดูดน้ำแร่ธาตุ แล้วมันก็โตขึ้น มีดอกใบ แล้วก็ร่วงหล่น เหมือนชีวิตคนเราเหมือนกัน คนเราต้องตาย ทีนี้อยู่แล้วทำอะไรบ้าง”