ภาพ : จรูญ ทองนวล ศูนย์ภาพเนชั่น
“แค่เห็นแววตาที่มุ่งมั่น ทำให้ตัดสินใจได้เลยว่าเราจะฝากชีวิตไว้กับเขา เพราะมั่นใจว่าผู้ชายคนนี้เป็นนักสู้ สามารถปกป้องคุ้มครองเราได้แน่นอน”
พิมพ์ชนา เอกสมญา เล่าย้อนภาพเหตุการณ์ช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของสาวอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา อดีตเทพีสงกรานต์ผู้เลอโฉมในวัย ๑๗ ปี กับชายหนุ่มใบหน้าคมเข้มอายุย่าง ๒๐ ปีจากบ้านทุ่งหรี่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนตำรวจภูธร และได้บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกในฐานะตำรวจชั้นประทวนประจำสถานีตำรวจภูธรบันนังสตาเมื่อปี ๒๕๑๓
ความที่พลตำรวจหนุ่มกับเพื่อนตำรวจ วิชัย แจ้งสกุล (ปัจจุบันคือ พ.ต.ท. วิชัย แจ้งสกุล รอง ผกก.สส.สภ. บันนังสตา จังหวัดยะลา) เช่าบ้านอยู่ด้วยกันในซอยเดียวกับบ้านพักอาศัยของหญิงสาว บริเวณข้างมัสยิดบันนังสตา ทำให้หนุ่มสาวมีโอกาสได้รู้จักกันครั้งแรกในเดือนมีนาคม ๒๕๑๔ และอีก ๗ เดือนต่อมา คือวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๑๔ ทั้งคู่ก็ตัดสินใจเดินเข้าสู่ประตูวิวาห์ในถิ่นเกิดฝ่ายภรรยาซึ่งบิดาของเธอเป็นตำรวจนอกพื้นที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่บันนังสตาและแต่งงานกับมารดาของเธอผู้เป็นชาวบันนังสตาโดยกำเนิด
อย่างไรก็ดี ก่อนจะถึงวันสำคัญแห่งชีวิต ชายหนุ่มก็ลาจากว่าที่ภรรยาเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ตามป่าเขา ปล่อยให้ฝ่ายหญิงเตรียมงานอยู่ที่บ้านคนเดียว กว่าจะมาเห็นหน้าค่าตากันอีกทีก็เมื่อก่อนกำหนดวันงานเพียงวันเดียว และเมื่อพิธีสมรสผ่านพ้นไปแล้ว ชายหนุ่มก็ยังคงทุ่มเททำงานอย่างมุ่งมั่นอดทน
ชะตากรรมแห่งการจากพรากด้วยภาระหน้าที่ของฝ่ายสามี กลายเป็นความชาชินที่ฝ่ายภรรยาต้องจำยอม และจำต้องดำรงตนเสมือนอยู่ตัวคนเดียว เดียวดายในโลกของความเป็น “ครอบครัว” หรือต่อมาคือการอยู่เพียงลำพังกับลูกๆ ทั้ง ๔ คน คือ ชุมพล เสรษฐวุฒิ รัฐวิชญ์ และโรจนินทร์ เอกสมญา ที่ตัวเธอต้องเลี้ยงดูสั่งสอน ขณะเดียวกันยังต้องทำอาหาร ซักผ้า ทำงานบ้าน รวมถึงเย็บผ้าหารายได้เสริมไปด้วย
นี้คือเศษเสี้ยวของชีวิตคนคนหนึ่งที่จักถูกเชิดชูเป็น “วีรบุรุษ” ในกาลต่อมา เป็นชีวิตที่ต้องแลกกับ “เวลา” ที่เบียดบังจากสมาชิกในครอบครัว สี่สิบปีในชีวิตราชการ เขามุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย ขบวนการโจรก่อการร้าย หรือผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่อย่างจริงจัง มีการรุกไล่อย่างถึงลูกถึงคน และเข้าถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าจนได้รับการยอมรับทั้งในอดีตตราบกระทั่งปัจจุบัน
อาจนับว่าชีวิตของเขา–พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา เริ่มต้น ณ ที่แห่งนี้ ไต่เต้าจากตำรวจยศ “พลตำรวจ” ค่อยๆ สั่งสมผลงาน สร้างชื่อเสียงจนโด่งดัง กระทั่งอีก ๔๐ ปีต่อมาก็สิ้นสุดชีวิต ณ ที่แห่งเดียวกันในฐานะ “ผู้กำกับยอดมือปราบ” ความตายของเขาส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อวงการสีกากีและสะท้อนให้เห็นถึงความอยุติธรรมในวงการตำรวจไทย
ณ ถิ่นฐานเริ่มต้นและสิ้นสุดเส้นทางชีวิตของ “จ่าเพียร” ถูกเรียกขานกันว่า “บันนังสตา”
บันทึกภาพร่วมกันกับทีมงานกู้เฮลิคอปเตอร์ตก ราวปี ๒๕๓๐
วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ จ่าเพียรนำกำลังเข้ายิงปะทะต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ภูเขาปาแตรายอ ต.เก๊ะรอ อ.รามัน จ.ยะลา กระทั่งสามารถยึดค่ายพักได้ และฝ่ายตรงข้ามถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ๑ คน
จ่าเพียรในระหว่างนั่งพักจากการลงปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นวัตรปฏิบัติปรกติของเขา ทั้งเพื่อปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ และทำงานมวลชนในพื้นที่ไปพร้อมกัน (ภาพ : จากครอบครัวจ่าเพียร)
จ่าเพียรหยุดพักรับประทานอาหารร่วมกับทีมงานขณะร่วมกันกู้เฮลิคอปเตอร์ตำรวจตกที่เขื่อนบางลาง เมื่อปลายปี ๒๕๕๐ สะท้อนถึงการใช้ชีวิตที่สมถะเรียบง่าย เป็นกันเอง และไม่ถือตัว
ฉากชีวิตที่บันนังสตา
พุทธศักราช ๒๔๕๐ อำเภอบันนังสตามีชื่อเรียกขานแต่เดิมว่า บาเจาะ ขึ้นกับเมืองรามันสมัย ๗ หัวเมือง กระทั่งต่อมาได้มีการยกเลิกหัวเมืองต่างๆ และย้ายอำเภอมาตั้งในที่แห่งใหม่แล้วตั้งชื่อว่าอำเภอบันนังสตา คำว่าบันนังสตาเป็นภาษามลายูปัตตานี แปลว่า นามะปราง หรืออีกความหมายหนึ่ง บือแน แปลว่า หมู่บ้านหรือทุ่งนา และ สตา แปลว่า การหยุดพักชั่วคราว อันหมายถึงพื้นที่ที่ผู้คนผ่านทางมาในแต่ละยุคสมัย
ในอดีตบันนังสตาเป็นชุมชนสำคัญเสมือนเป็นเมืองหน้าด่าน ด้วยที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิสำคัญ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับอำเภอยะหา อำเภอกรงปินัง และอำเภอรามัน ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอรือเสาะและอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และทิศตะวันตกติดต่อกับรัฐเกดะห์หรือไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย
ที่สำคัญคือบันนังสตาเป็นพื้นที่ที่แม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน จากสันปันน้ำบนเทือกเขาสันกาลาคีรีพรมแดนไทย-มาเลเซียในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เลาะเลียบผ่านใจกลางป่าฮาลา-บาลา ผ่านอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา และไหลผ่านจังหวัดปัตตานีที่อำเภอยะรัง ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองปัตตานี
สายน้ำปัตตานีที่มีความยาวตลอดลำน้ำประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร นอกจากจะถูกใช้เพื่อการเกษตรและการบริโภคแล้ว ยังเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญยิ่งในยุคประวัติศาสตร์สมัยอาณาจักรลังกาสุกะ-ศรีวิชัย ในฐานะเส้นทางข้ามคาบสมุทรเกดะห์-ปัตตานี และเประ-ปัตตานี สามารถเชื่อมต่อการเดินทางค้าขายทางเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ และมีเส้นทางบกข้ามคาบสมุทรจากเกดะห์และเประทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมายังฝั่งตะวันออก ผ่านทางช่องเขาซึ่งมีความสูงไม่มากนัก มีลำน้ำเชื่อมต่อฝั่งทั้งสอง จากปากแม่น้ำเกดะห์ในมาเลเซียหรือไปไกลถึงเกาะปีนัง และปากแม่น้ำปัตตานีฝั่งไทยเพื่อออกสู่ทะเลโดยสะดวก
และนั่นแน่นอน, ย่อมต้องสัญจรผ่าน “จุดพักพลนักเผชิญโชค-บันนังสตา” แหล่งพบปะของผู้คนสารพัดจนถูกกล่าวขานว่าเป็นจุดรวมพลของ “นักเผชิญโชค” และแหล่งกบดานของเหล่ามิจฉาชีพจนกลายเป็นเสมือน “แดนคนเดน” เพราะมีภูมิประเทศเหมาะแก่การหลบซ่อนตัวและเคลื่อนไหวไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้โดยสะดวก
ห้วงเวลาที่สมเพียร พลตำรวจหนุ่ม มาประจำการอยู่ที่บันนังสตาในปี ๒๕๑๓-๒๕๑๔ เป็นช่วงขณะที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย ทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส และยะลา เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลมาเลเซีย หลังเกิดจลาจลเชื้อชาติในมาเลเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๒ รัฐบาลไทยและมาเลเซียต้องร่วมมือทำการโหมปราบอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องสิทธิแห่งดินแดนรัฐปัตตานีคืน หรือที่ถูกเรียกว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งคุกรุ่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ มาถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เริ่มเกิดขึ้นเป็นระยะๆ บ้างรุนแรง บ้างเงียบหาย โดยฝีมือของกลุ่มขบวนการ เช่น กลุ่มพูโล บีอาร์เอ็น ฯลฯ
กระทั่งเกิดเหตุปล้นปืนในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ชื่อเสียงของบันนังสตาโด่งดังถึงขีดสุด เมื่อปรากฏข่าวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุร้ายหลายครั้ง กระทั่งถูกจับตามองในฐานะเป็นแหล่งเคลื่อนไหวสำคัญแห่งหนึ่งของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรอบใหม่ ส่งผลให้สัดส่วนประชากรชาวไทยพุทธประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลดลงอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะเหตุการณ์กรือเซะเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ กลุ่มก่อการเปิดฉากโจมตีพื้นที่หลายจุด หนึ่งในนั้นก็คือโรงพักบันนังสตา ซึ่งมีเยาวชนพร้อมอาวุธปืนและมีดบุกเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ถึงในโรงพัก ก่อนถูกตอบโต้จนเสียชีวิต
ร่วม ๑๐ ราย และมีเหตุการณ์อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจักรยานยนต์บอมบ์ข้างโรงพัก การซุ่มยิง การลอบวางระเบิด ฯลฯ
จากชุมชนใหญ่ในอดีตที่มีทั้งโรงภาพยนตร์ฉายกันถึงเที่ยงคืน มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเที่ยงคืน ผู้คนหลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่หลังเกิดเหตุความไม่สงบ ข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานความมั่นคงมีตัวเลขบ่งชี้ว่า ราษฎรไทยพุทธอพยพออกจากพื้นที่อำเภอบันนังสตาไปเป็นจำนวนมาก เช่นในปี ๒๕๕๐ มีคนไทยพุทธอาศัยอยู่ที่บันนังสตา ๑๐,๓๒๓ คน เพียง ๑ ปีให้หลังคือปี ๒๕๕๑ เหลือคนไทยพุทธ ๕,๙๐๐ คน และปัจจุบันนับว่าเหลือน้อยยิ่งนักจากประชากรทั้งหมด ๕๓,๖๐๒ คนใน ๕๐ หมู่บ้าน ๖ ตำบล
ดังนั้นแล้ว เมื่อเป็นแหล่งซ่องสุมสำหรับผู้คนที่คิดต่างทั้งในเชิง “อุดมการณ์” หรือในแง่มุมของการแสวงหาสารพัด “ผลประโยชน์” ด้วยมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงเป็นใยแมงมุมไปถึงสถานที่หลายแห่งได้ ทำให้ใครก็ตามที่ต้องมารับผิดชอบพื้นที่นี้จำเป็นต้องทุ่มเททำงานอย่างหนัก
สำหรับจ่าเพียร นี้คือพันธกิจสำคัญอันเป็นผลพวงจากที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างผลงานเลื่องชื่อด้วยวีรกรรมปราบโจรจนเป็นที่โจษขานไปทั่วชายแดนใต้มาแล้ว ทำให้ถูกเลือกมาประจำพื้นที่นี้อีกครั้ง และตัวเขาก็มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ หวัง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้ประชาชน ท่ามกลางไฟสงครามรอบใหม่ในชายแดนใต้
เป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” ที่ต้องยอมสละแม้ชีวิตที่เหลืออยู่
ประมาณปี ๒๕๑๗-๒๕๑๘ สมเพียร เอกสมญา ถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนนักเรียนพลตำรวจ รุ่น ๑๕ ขณะติดยศ “สิบตำรวจโท” จนภายหลังด้วยผลงานการปฏิบัติงานที่โดดเด่น ทำให้สามารถก้าวกระโดดล้ำหน้าเพื่อตำรวจรุ่นเดียวกันไปมาก (ภาพ : จากครอบครัวจ่าเพียร)
ภาพหนึ่งเดียวของครอบครัว “เอกสมญา” ที่สมาชิกอยู่พร้อมหน้า พ่อ-แม่ และลูกทั้ง ๔ คน ถ่ายที่ร้านถ่ายรูปแห่งหนึ่งในตัวเมืองยะลา ภรรยาของจ่าเพียรเล่าว่า เป็นช่วงที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมาก แต่อยากได้ภาพสมาชิกในครอบครัวไว้เป็นที่ระลึก เพราะขนาดวันแต่งงานก็ไม่ได้มีรูปถ่ายไว้เนื่องจากความอัตคัตขัดสน (ภาพ : จากครอบครัวจ่าเพียร)
หนึ่งในวันแห่งความภาคภูมิใจ เมื่อ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นประจำปี ๒๕๕๑ จากสมาคมตำรวจ (ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น)
กว่าจะมาเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเทือกเขาบูโด
วัยเด็ก, กับชีวิตที่บ้านเกิด–บ้านทุ่งหรี่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เด็กชายสมเพียร แซ่เจ่ง หรือ “เนี้ยบ” เกิดและเติบโตมากับวัฒนธรรมแบบผสมผสานไทย-จีน ด้วยความที่บิดา–นายโกว แซ่เจ่ง เป็นคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำเดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ หากแต่เขาได้จากไปเมื่อเด็กชายยังเยาว์วัยนัก ความอัตคัดขัดสนของครอบครัวทำให้สมเพียรผ่านชีวิตวัยเยาว์มาอย่างยากลำบาก ต้องต่อสู้ดิ้นรนมาตลอด โดยมีเพียงมารดา–นางไกร แซ่เจ่ง เป็นผู้เลี้ยงดูกระทั่งเติบใหญ่ (ต่อมานางได้รับรางวัลแม่ดีเด่น ประเภทแม่ผู้เสียสละ ประจำปี ๒๕๓๘)
“ตอนเป็นเด็กเขาเป็นคนอดทน เรียนหนังสืออยู่ที่เทพาเช้ามาไปโรงเรียนมักโดนครูตีตลอด หาว่าเกเรเพราะไปโรงเรียนสาย แต่ความจริงแล้วสาเหตุที่ไปสายเพราะเขาเป็นเด็กวัด ไปขออาศัยอยู่ที่วัดพิกุลบุญญาราม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา นอกจากต้องตามไปช่วยหิ้วปิ่นโตให้พระเวลาเดินบิณฑบาตเช้าแล้ว ยังต้องจัดการเรื่องอาหารของพระให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน พอโตมาหน่อยต้องหารายได้ไว้สำหรับเล่าเรียนหนังสือ ไปรับจ้างกรีดยาง กรีดยางมาใหม่ๆ ขายไม่ได้เพราะต้องตากให้แห้งเสียก่อน แต่ไม่มีเงินกินข้าว ต้องใช้วิธีเอาขี้ยางไปคลุกกับดินโคลนให้ดูกระดำกระด่างเพื่อจะขายให้ได้” เพื่อนวัยเยาว์สะท้อนภาพความยากลำบากเวลานั้น
ครั้งหนึ่ง ด้วยความเป็นเด็กวัดซึ่งเป็นเสมือนที่รวมหัวของเพื่อนวัยทโมน ในฐานะน้องใหม่เขาถูกเพื่อนร่วมวัดกลั่นแกล้ง เช่นเด็กวัดรุ่นพี่ถ่มน้ำลายรดข้าวในจาน แต่เขาต้องอดทนแข็งใจไม่ตอบโต้เพราะคำของเจ้าอาวาสที่ว่าใครมาอาศัยอยู่ในวัดแล้วห้ามก่อเรื่อง หากไม่เชื่อฟังจะถูกไล่ออกจากวัดทันที จึงเกรงว่าตนจะถูกไล่ออกจากวัดแล้วไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือต่อ
“แต่ถัดมาอีกวัน เขาคิดหาวิธีการเอาคืนบ้างเพราะคงแค้นอยู่ในใจ พอได้จังหวะจึงใช้วิธีไล่ถ่มน้ำลายในจานข้าวของเด็กวัดที่เคยกลั่นแกล้งไปทีละจานจนหมดครบทุกคน แต่ละคนก็ไม่กล้าลงมือตอบโต้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นคนตรงไม่ยอมคนจริงๆ”
หลังผ่านพ้นประสบการณ์เป็นเด็กวัดชนิดที่เรียกว่าต้องหาวิธีเอาตัวรอดให้ได้ทุกรูปแบบ ในที่สุดด้วยความใฝ่เรียนเพราะเชื่อว่าจะเป็นการปูพื้นฐานสำคัญสำหรับอนาคต สมเพียรใช้ความพยายามจนสามารถเรียนจบระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนนครศรีธรรมราช และตั้งเป้าว่าจะสอบเป็นนักเรียนพลตำรวจโรงเรียนตำรวจภูธร ๔ ยะลาให้ได้
“เวลานั้นนโยบายของรัฐกำหนดไว้ว่าใครที่จะสอบเป็นนักเรียนพลตำรวจต้องเปลี่ยนนามสกุลเสียก่อน จะใช้แซ่ไม่ได้ เขาจึงขออนุญาตใช้นามสกุลของเพื่อนคนหนึ่งคือ เอกสมญา เพราะคิดว่าการจะไปขอตั้งนามสกุลใหม่นั้นคงใช้เวลานาน เกรงว่าจะไม่ทันกับการสอบเข้า”
จากนั้นมา นายสมเพียร แซ่เจ่ง จึงกลายเป็นนายสมเพียร เอกสมญา ก่อนจะมีคำนำหน้าเป็นยศชั้นของตำรวจที่เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้น
สมเพียร เอกสมญา เป็นตำรวจชั้นประทวนประจำสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา ตั้งแต่ปี ๒๕๑๓-๒๕๒๖ จึงได้เลื่อนยศเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ก้าวขึ้นเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.ยะหา จังหวัดยะลา หลังจากนั้นมาชีวิตราชการวนเวียนอยู่หลากหลายที่ ส่วนใหญ่มักเป็นพื้นที่แถบชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นสงขลา ยะลา หรือปัตตานี หรือเหนือขึ้นไปจากชายแดนใต้บ้างก็เช่น สตูล พัทลุง ระนอง ฯลฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้นเขาได้สร้างวีรกรรมนับร้อยครั้งในการต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็น หน.ฉก.ปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นับจากนั้นมา นามจ่าเพียรกลายเป็นชื่อที่น่าเกรงขามของเหล่าผู้ก่อการ จนได้รับฉายาว่า “จ่าเพียร : นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเทือกเขาบูโด” ขณะเดียวกันตัวเขาก็ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะหลายครั้ง ทั้งนี้ระหว่างได้รับบาดเจ็บสาหัสครั้งที่ ๔ เมื่อปี ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๒๕ อีกทั้งได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ารับการอบรมนายตำรวจโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก
แม้จะก้าวหน้าในอาชีพตำรวจอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่จ่าเพียรยังคงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคือการลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับลูกน้องทุกครั้ง และจะเป็นคนเดินนำหน้าตลอด นั่นอาจเป็นที่มาของการได้รับบาดเจ็บถึง ๘ ครั้งจากการยิงปะทะต่อสู้นับร้อยครั้ง ทั้งถูกยิง ถูกสะเก็ดระเบิด กระทั่งทำให้ข้อเท้าข้างซ้ายพิการ แต่ก็สามารถสังหาร ยึดอาวุธปืน ทำความเสียหายให้แก่ฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก
“พี่เพียรเป็นคนโผงผาง ทำงานติดดิน ชอบทำงานปราบปราม ใช้วิธีจัดชุดย่อยๆ แบบกองโจร เป็นสงครามจรยุทธ์ แกกินนอนเหมือนโจร เรียกว่าเปิดปฏิบัติการแบบเกลือจิ้มเกลือกันเลย ชำนาญพื้นที่มาก หลับตาเห็นภาพเลยว่าตรงไหนเป็นตรงไหน” เพื่อนตำรวจที่เคยปฏิบัติงานร่วมกันมา ปัจจุบันทำงานด้านการสืบสวนร่วมอยู่กับแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สะท้อนภาพการทำงานของจ่าเพียร
ท่วงทำนองการทำงานของจ่าเพียรมักใช้วิธีจรยุทธ์ไปตามป่าเขา เดินทางลงพื้นที่ไปกับลูกน้องทุกครั้ง ทำให้แทบจะเหยียบย่ำแทบทุกภูแถบนี้มาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภูเขากอลอแป ภูเขาตะโละแค ภูเขาบูเก๊ะดายะ ภูเขาปาตูปูโต๊ะ ภูเขาบูเก๊ะปูโละ ภูเขายือริ ภูเขาบียอ เทือกเขาเจาะบันตัง เทือกเขาสิเงะ เทือกเขาบายิ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เทือกเขากาลัง รอยต่อระหว่างอำเภอเมืองยะลากับอำเภอบันนังสตา เทือกเขาเจาตูปา เทือกเขากุวอดางา ตำบลสะเอ๊ะ อำเภอเมืองยะลา ภูเขาโต๊ะจือแร ตำบลกรงปินัง อำเภอเมืองยะลา ภูเขาบ้านท่าน้ำ ภูเขาจาเราะแป ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ภูเขาบูเก๊ะกาเมง ภูเขากูดง เทือกเขาบ้านนาชิบูกู๊ ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ภูเขาบ้านหาดทราย ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ฯลฯ
“สมเพียรเป็นคนจริงจังในการงาน ถึงลูกถึงคน เข้าถึงประชาชน มีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นพี่น้องมุสลิมมากมาย เขาจึงเป็นผู้ที่มีชาวบ้านเชื่อถือศรัทธาในความจริงจัง ฉะนั้นเขาจึงได้รับข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้ามซึ่งทำให้เขามีผลงานในการปะทะต่อสู้บ่อยครั้ง และประสบความสำเร็จเป็นที่เชื่อถือของผู้บังคับบัญชา จนกระทั่งเขาได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งถือว่าเป็นวีรบุรุษผู้กล้าที่แท้จริง และจากการปฏิบัติหน้าที่ต่อมา เขาได้รับประกาศนียบัตรผู้มีผลงานสู้รบดีเด่นจากกระทรวงมหาดไทย ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้น ๒ ประเภท ๑ และได้รับหนังสือชมเชยจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เป็นที่ประจักษ์ของเพื่อนร่วมงานและบุคคลทั่วไป เป็นบุคคลที่น่าชมเชยและถือเป็นแบบอย่างของตำรวจที่ดีคนหนึ่ง” พลตำรวจเอก สุนทร ซ้ายขวัญ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเคยได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการภาค ๔ ฉายให้เห็นภาพของจ่าเพียรในหนังสือ“จ่าเพียร” นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเทือกเขาบูโด
ขณะที่พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา (สบ ๑๐) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่จ่าเพียรให้ความเคารพนับถือมากและเคยได้ร่วมปฏิบัติงานกันมา สะท้อนว่าจ่าเพียรเป็นผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งในการคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาในการป้องกันปราบปรามการก่อความไม่สงบ เพื่อสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาชน แม้จะอยู่ท่ามกลางความขาดแคลนหลายอย่างก็ไม่เคยเสียกำลังใจ
“ตลอดเวลาที่ผมได้เคยร่วมปฏิบัติงานกับพันตำรวจเอกสมเพียรในการต่อสู้กับขบวนการก่อความไม่สงบ ทำให้เห็นได้ว่าพันตำรวจเอกสมเพียรเป็นแบบอย่างของตำรวจที่แท้จริง ในการอุทิศตน เสียสละความสุขส่วนตัว โดยถือว่าหน้าที่คือชีวิต”
นั่นคือสิ่งที่จ่าเพียรทำมาตลอดชีวิตที่รับราชการมา คือนอกจากต้องสละความสุขส่วนตัวเพื่อหน้าที่แล้ว ยังต้องสละเวลาในการดูแลครอบครัว มาทุ่มเทให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ กลายเป็นชีวิตที่ต้อง “เลือก” โดยแท้
“ในบั้นปลายชีวิต หวังแค่ว่าหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ผมเองอยากกินน้ำชา นั่งนินทาเพื่อน แล้วก็กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว…” ถ้อยคำสุดท้ายของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ดูเหมือนจักล่องลอยไปกับสายลมร้อน และชีวิตปลิดปลิวท่ามกลางสายฝนหลงฤดูกระหน่ำหนักในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓
จ่าเพียรกำลังสนทนากับนายยะฟา ยะโก๊ะ(คนนั่งตรงข้าม) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๘ บ้านคลองชิง ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา พร้อมกับทีมงานภาคประชาชนที่มาร่วมประชุม ปรึกษาหารือเพื่อวางแนวทางการทำงาน ภาพนี้ถ่ายก่อนจ่าเพียรจะเสียชีวิตไม่นาน
ภายหลังจากพิชิต ๑ ใน ๖ ผู้ก่อการร้ายระดับมือพระกาฬ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “สงครามจรยุทธ์” สมบูรณ์แบบครั้งสุดท้าย ณ พื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา [ภาพ : “นกน้อย” (ส.ยะลา)]
สงครามครั้งสุดท้ายของวีรบุรุษชายแดนใต้
“เช้าขึ้นตะวันดับ สายฝนก็สาดก็ซัด เมฆหมองน้ำนองไพรสณฑ์ หน่วยยูงทองก็ยังสู้ทน เพื่อรับใช้ประชาชน ไม่เคยให้เขาแคลน ครั้นถึงคราวอาหารหมด หัวอกรันทด ต้องอดไปตามแพลน แถมยังนอนไส้แข็ง หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่มีใครรู้ทัน ถ้าหากคุณเป็นตำรวจนังตาอย่างฉัน ไม่ช้าสามวัน แล้วคุณจะกลั้นใจตาย โอ้ ! ข้าวสารก็หมดเมื่อวาน กะปิ น้ำตาล เหลือเพียงนิดหน่อย น้ำปลาอย่างดีไม่มีร่องรอย เหลือเพียงหัวกลอยที่เพิ่งขุดมา ขาดเพียงหอม พริกแกง แตงกวา มะกรูด มะนาว น้ำมันทอดปลา หมดไปทั่วทั้งครัวแหละหนา อนิจจา หมาแดกปลาแห้ง ปวดใจเหลือที่ อดบุหรี่แทบลงแดง แถมยังนอนไส้แข็ง หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่มีใครรู้ทัน (กัน) หากคุณเป็นตำรวจนังตาอย่างฉัน ไม่ช้าสามวัน แล้วคุณจะกลั้นใจตาย”
ข้างต้นคือบทเพลง “ยูงทองแค้น” ที่จ่าเพียรในฐานะหัวหน้า “ชุดปฏิบัติการยูงทอง” ร่วมแต่งเนื้อร้องกับทีมงาน สะท้อนภาพชีวิตตำรวจในพื้นที่ชายแดนใต้ได้อย่างชัดเจน
นับเนื่องจากวัยฉกรรจ์ นายตำรวจหนุ่มไฟแรงเช่นจ่าเพียรได้ปฏิบัติภารกิจลับหลายครั้งจนเริ่มได้รับการยอมรับจากเพื่อนตำรวจหรือผู้ร่วมปฏิบัติงาน โดยเฉพาะความสามารถพิเศษเรื่องการ “นำคน” เข้าดักซุ่มจนปะทะต่อสู้กับคนร้ายอย่างห้าวหาญ ลาดตระเวนเจนจัดไปแทบทุกอณูพื้นที่ของบันนังสตาจนเรียกว่าแทบจะหลับตาเดินได้ สั่งสมชื่อในฐานะมือปราบ “จับตาย” ฝีมือการปราบปรามอันโดดเด่นยากจะหาใครทัดเทียม แต่ขณะเดียวกันตัวเขาก็ผ่านเหตุการณ์ “เฉียดตาย” นับครั้งไม่ถ้วน
เพียง ๑ ปีให้หลังคือในปี ๒๕๒๖ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอยะหา จังหวัดยะลา จ่าเพียรซึ่งขณะนั้นเพิ่งได้รับเลื่อนยศเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรเป็น ว่าที่ ร.ต.ต. สมเพียร เอกสมญา ก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เฉียดตายอีกครั้งเมื่อไปปิดล้อมผู้ก่อการที่อำเภอสะบ้าย้อย แล้วไปเหยียบกับระเบิดจนแขนหัก กรามฉีก ริ้วรอยบาดแผลเต็มร่างกาย โดยเฉพาะส่วนขาตรงกระดูกข้อเท้าซึ่งถูกแรงระเบิดอัดจนเละ คิดว่าคงต้องโดนตัดขาแน่นอนแล้ว
เบื้องแรกด้วยกลัวว่าจะโดนตัดขากลายเป็นคนพิการในที่สุด สู้ตายเสียดีกว่า เขาจึงปล่อยให้เลือดไหลไม่หยุด จนเมื่อตั้งสติได้ถึงรีบห้ามเลือดก่อนจะมีเฮลิคอปเตอร์มารับ ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านานถึง ๙ เดือน
เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้จ่าเพียรต้องกลายเป็นคนที่เดินกะโผลกกะเผลกไปตลอดชีวิต แต่เขาก็หาได้ท้อถอยต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่ หนำซ้ำจะยิ่งทุ่มเทให้แก่การปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบมากขึ้นด้วยซ้ำ
หากในขณะปฏิบัติงานอย่างทุ่มเท เขากลับได้รับการปฏิบัติจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจหลายครั้ง ถึงขั้นเคยถูกเดินขบวนขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ภายใน ๒๔ ชั่วโมง เมื่อครั้งประจำการที่สถานีตำรวจภูธรโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เนื่องจากไปยิงผู้ร้ายซึ่งเป็นคนของนักการเมืองเสียชีวิต ๒ คน และแม้จะถูกโยกย้ายไปนอกพื้นที่กระทั่งหวนกลับสู่พื้นที่ชายแดนใต้ ก็ยังโดนตามรังควานจนต้องโยกย้ายเป็นหลายครั้งหลายวาระ
จะอย่างไรก็ตาม วันหนึ่งเมื่อพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ประกาศหาผู้สมัครใจไปปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา ก็เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ขออาสากลับไปเปิดยุทธการถึงถิ่นบันนังสตาอีกครั้งในปี ๒๕๕๐
ตลอดชีวิตราชการเกือบ ๔๐ ปี จ่าเพียรได้สร้างวีรกรรมไว้มากมาย ในจำนวนการปะทะนับร้อยครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนแลตราตรึงกันในวงการปราบปรามและเหล่าผู้ก่อการ นั่นก็คือการเปิดยุทธการไล่ล่าหน่วยคอมมานโด (RKK) ฝ่ายก่อความไม่สงบ ที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “สงครามจรยุทธ์” สมบูรณ์แบบครั้งสุดท้าย ณ พื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาสื่อมวลชนคนหนึ่งในจังหวัดยะลานาม “ส.ยะลา” หรือ “นกน้อย” ซึ่งทำหน้าที่สื่อมวลชนในพื้นที่มาค่อนชีวิต และร่วมบันทึกภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างใกล้ชิด
“นกน้อย” เป็นนักข่าวที่คุ้นเคยกับจ่าเพียรมานับหลายสิบปี และเป็นคนที่จ่าเพียรมาพบเพียง ๑ สัปดาห์ก่อนจะเสียชีวิต พร้อมคำพูดเป็นนัยว่า “ตอนนี้เงินมันลงมาเยอะมาก สายข่าวที่สร้างไว้โดนซื้อหมด” เขาเล่าว่า
“เมื่อ ๒๐ ปีก่อนสมัยที่ยังเป็นจ่า ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘จ่าเพียร’ มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องการนำกำลังเข้าตีฐานของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลางป่าเขา โดยก่อนเข้าตีพี่เพียรจะให้คนนำสารไปแจ้งให้ทราบก่อนแทบทุกครั้งว่าให้มอบตัวหรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสีย เมื่อเตือนแล้วยังไม่มามอบตัวหรือเปลี่ยนพฤติกรรมอีก ถึงจะจัดชุดออกลุยปราบอย่างเต็มกำลัง ซึ่งล่าสุดที่มาเป็น ผกก.สภ. บันนังสตา ก็ยังคงใช้วิธีการนี้
“ยุทธวิธีของพี่เพียรจะเป็นภูมิปัญญาของแกเอง ซึ่งโจรก็เคยเอาภูมิปัญญาของแกมาใช้บ้าง คือผลัดกันแก้เกม ไม่ใช่แค่ยุทธวิธีที่ฝึกมาอย่างเดียว แกจะเอาประสบการณ์ทุกอย่างมาประยุกต์ใช้ เช่นถ้ารู้ว่าคนไหนเป็นโจร แกรู้จักบ้าน รู้จักพ่อแม่ ก็จะไปบ้านนั้นทุกวัน ถึงคนในบ้านไม่ต้อนรับแกก็ยังไป พยายามสร้างความคุ้นเคย ความเชื่อใจ จนกระทั่งเหมือนมีแมวมองมาเห็นว่ามีตำรวจคนหนึ่งลงไปคลุกคลีบ้านของพรรคพวกเป็นประจำ เลยสงสัยว่ามีการทรยศหักหลังกันหรือไม่ หรือมีการเล่าอะไรลึกๆ ให้ฟังกันหรือเปล่า ทำให้เกิดความไม่วางใจต่อกัน สุดท้ายก็แตกคอ ฝ่ายที่ไม่
ไว้วางใจจะทำร้ายกัน เก็บกันเอง หรือผลสุดท้ายกลายมาเป็นพวกของพี่เพียร คอยบอกข่าววงในจริงๆ เพราะศรัทธาในการปฏิบัติตัวของแก
“ผมโชคดีมีอยู่ครั้งที่มีโอกาสได้เข้าไปดูการทำงานของพี่เพียรโดยบังเอิญ ตอนนั้นมีกำลัง ๓ ฝ่าย วันนั้นประมาณหกโมงเช้า พี่เพียรโทร.มาบอกว่าทำการปิดล้อมอยู่ ตอนนี้ได้ปืน ๙ มม.มากระบอกหนึ่ง และน่าจะได้เพิ่มอีกเพราะฝ่ายนั้นหนีไปอีกหลายคน ผมบอกขอบคุณมาก แต่ ๙ มม.เรื่องเล็ก ผมไม่เอา อยากได้สักเอ็ม. ๑๖ ประเภทอาวุธสงคราม หรือได้ปืนที่ปล้นมาจากกองพันทหารพัฒนาคืน แบบนั้นผมเข้าไปทำข่าวแน่ แกบอกให้เข้าไปเดี๋ยวมีรายการ พอเจ็ดโมงกว่าพวกนักข่าวทีวีเข้าไปก่อน ประมาณแปดโมงกว่าเกือบเก้าโมง แกก็โทร.มาบอกว่าศพที่ ๒ แล้ว มีอาก้า มีระเบิด ผมจึงตัดสินใจเข้าไปพื้นที่ทันที
“กว่าจะไปถึงบางลางตรงที่ปะทะกันก็เก้าโมงครึ่ง มารู้ว่าท่านอดุลย์ (พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว) เข้าไปก่อนแล้ว แล้วเดินทางกลับก่อน พวกนักข่าวกลับตาม จึงเหลือผมซึ่งเป็นช่างภาพอยู่คนเดียว ตอนนั้นพอไปถึงรถจอดเต็มไปหมด ข้างหน้ามีมัสยิด ผมถือกล้องตรงไปบริเวณจุดปะทะเพื่อถ่ายรูป ปรากฏว่าไปถึงทหารพรานเข้ามาต่อว่าอยากตายหรือไง เขากำลังปะทะกันอยู่ รีบออกไปเลย ผมรีบคลานออกมา แต่ไม่นานมีชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุขับรถเข้ามาพอดี จึงเดินเข้าไปคุยด้วย สักพักมีเสียงระเบิดตู้ม พวกเรารีบวิ่งแอบบ้านข้างๆ ริมถนน เจ้าหน้าที่ทุกคนตอนนั้นชักปืนกันหมด รอสักพักมีเจ้าหน้าที่ ๗-๘ คนวิ่งมายังตำแหน่งที่ผมหลบอยู่ ตอนนั้นได้ยินเสียงจ่าเพียรตะโกนบอกว่า มันไปทางโน้นแล้วๆ แล้ววิ่งตามกันไป เท่าที่ทราบในกลุ่มของโจรมีสไนเปอร์ด้วย เป็นพวกพลแม่นปืน
“ตั้งแต่เก้าโมงครึ่งจนเกือบบ่ายโมงที่ผมติดอยู่ข้างในไม่กล้าออก ข้าวปลาก็ไม่ได้กิน ตอนนั้นมีเฮลิคอปเตอร์บินวนเวียนอยู่ด้วย ก็กลัวว่าข้างบนจะเข้าใจผิดว่าเราเป็นโจรแล้วยิงลงมา ปรากฏว่าช่วงกำลังปะทะกัน ๓-๔ ระลอก ระลอกที่ ๒ ผมได้ยินวิทยุแจ้งว่ามีตำรวจถูกยิงบาดเจ็บ มีรถทหารวิ่งเข้าไป จึงตัดสินใจวิ่งตามไป ไม่กล้าอยู่บนถนนเพราะไม่มีใครเลย จึงได้ภาพตอนที่เจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันหิ้วตำรวจที่บาดเจ็บขึ้นรถ เห็นรอยเลือดหยดเป็นทาง เจ้าหน้าที่ยศร้อยโทถูกยิงโดยพวกสไนเปอร์ พวกนี้ยิงแม่นมาก หวังฆ่าทหารรบพิเศษ แล้วเอาปืนทหารมายิงหมวดตี้ (ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ) ยิงเจ้าหน้าที่อีกหลายคน เป็นสไนเปอร์ที่พี่เพียรเผด็จศึกลงได้ในที่สุด พี่เพียรยิงไป ๒ ศพ กับอีก ๔ ศพที่ถูกเจ้าหน้าที่เก็บได้ รวมวันนั้น ๖ ศพ ส่วนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ๒ นาย
“ศพสุดท้ายโจรหนีเข้าไปจะข้ามแม่น้ำตรงบางลางในจุดที่ปล่อยน้ำ พี่เพียรประสานงานไปให้ทางเขื่อนบางลางปล่อยน้ำให้เชี่ยว พอผู้ก่อการจะข้ามก็ข้ามไม่ได้ จึงพากันหนีไปแอบอยู่ในไร่ส้มแล้วก็สู้สุดชีวิตจนแพ้ในที่สุด ผมถ่ายภาพไป ๒๐๐ กว่าภาพ เรียกได้ว่าเป็นสงครามจรยุทธ์เต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สามารถพิชิตสไนเปอร์ของผู้ก่อการได้รวมถึง ๖ ศพ ไม่เคยมีเลยนะในสารบบ
“เป็นด้วยเหตุบังเอิญจริงๆ ที่ผมเอาตัวไปพัวพันอยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญด้วย ทำให้โชคดีได้เห็นการควบคุมสั่งการรุกไล่ล่าของพี่เพียรอย่างชัดเจน เห็นภาวะการนำ การตัดสินใจของคนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำจริงๆ”
ข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในภารกิจที่จ่าเพียรฝากไว้แก่แผ่นดินชายแดนใต้ นอกเหนือจากวีรกรรมมากมายก่อนหน้าที่ได้สำแดงให้ปรากฏตั้งแต่ครั้งเริ่มสั่งสมชื่อในฐานะหัวหน้า “ชุดปฏิบัติการยูงทอง”
หากแต่ ๓ ปีต่อจากนั้นมา ผู้คนก็ได้รู้จักชื่อ “จ่าเพียร” หรือ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ในอีกมิติหนึ่ง
“คิดว่าจากตัวเองบาดเจ็บมา ๘-๙ ครั้ง ก็พอจะเป็นแบบอย่างให้น้องๆ ได้เดินตาม แต่มันไม่ใช่ ที่จริงอยากพูดเรื่องผลกระทบเรื่องการเมืองด้วย ถูกการเมืองเล่นงาน ๒-๓ ครั้ง แต่ไม่เคยบ่น (น้ำตาไหล) ไม่เคยกล่าวหาใคร เราทำหน้าที่ของเราไป” พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นพร่าในบางคราขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ กรณีที่ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโผแต่งตั้งโยกย้าย หลังทำเรื่องขอย้ายตัวเองไปอยู่ที่ สภ.กันตัง ก่อนเกษียณอายุอีกเพียงปีกว่าๆ เพื่อจะได้พักผ่อนในบั้นปลายอายุราชการ เพราะผ่านการกรำศึกในพื้นที่ชายแดนใต้มากว่า ๔๐ ปี
คนทั่วไปอาจมองว่านายตำรวจที่ได้เห็นผ่านหน้าสื่อ เป็นเพียงตำรวจสูงอายุคนหนึ่งที่หวังความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ออกมาเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อตัวเอง แต่หากได้พินิจถึงร่างกายที่ห่อหุ้มด้วยชุดนายตำรวจเต็มยศในวัย ๕๙ ปี ๔ เดือนคนนั้น จะพบว่าเต็มไปด้วยริ้วรอยบาดแผลรายรอบตัว ขาซ้ายแทบพิกลพิการต้องเดินกะโผลกกะเผลก อันเป็นผลพวงจากการปะทะกับผู้ก่อการมาเกือบทั้งชีวิต
โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างสมรภูมิศึกในพื้นที่ที่ถูกระบายสีว่าแดงสุดๆ เช่นบันนังสตา สถานที่แรกเริ่มสู่การทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว และเพิ่งติดยศ “พันตำรวจเอก” ในวัย ๕๗ ปี ด้วยตำแหน่ง “ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา” หลังจากนั้นจึงเปิดปฏิบัติการกดดันกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยอาศัยประสบการณ์และความคุ้นเคยพื้นที่ การยึดโยงสัมพันธภาพที่ดีกับแกนนำชาวบ้านที่เคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมานาน การปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านร้านตลาด ไม่ว่าจะเช้าค่ำดึกดื่นเพียงใดเป็นต้องได้เห็นจ่าเพียรเดินเดี่ยวทักทายชาวบ้านไปทั่วด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม โอภาปราศรัยกับทุกคนฉันพี่น้องญาติมิตร
การวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบได้ถึง ๒๒ คน ผ่านการปะทะมานับร้อยครั้ง ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะเกือบ ๑๐ ครั้งจนทิ้งริ้วรอยบาดแผลอยู่เต็มร่าง ย่อมเป็นบทพิสูจน์เส้นทางสู่การเป็น “วีรบุรุษ” ในการทำงานของนายตำรวจคนนี้ได้เป็นอย่างดี
“ไม่เคยมีการแต่งตั้งตำรวจครั้งไหนที่แย่กว่านี้”
น้ำเสียงสั่นไหวทั้งน้ำตาที่รินไหลอาบแก้ม พร้อมคำกล่าวทิ้งท้ายที่มีนัยสำคัญยิ่งนักสำหรับผู้ได้รับสมญานามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “วีรบุรุษแห่งชายแดนใต้” “วีรบุรุษบันนังสตา” “จ่าเพียรกระดูกเหล็ก” “จ่าเพียรขาเหล็ก” ฯลฯ สะท้อนปมปัญหามากมายทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะถูกสำทับด้วย “ความตาย” ของเขาอีกคำรบในเวลาต่อมา
“การเดินทางไปร้องเรียนเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการโยกย้ายก็ล้าเต็มที่แล้ว จึงได้บากหน้าไปขอความอนุเคราะห์ ขอความเห็นใจที่จะขอย้าย จริงๆ แล้วผู้กำกับสมเพียรมีอายุ ๕๙ ปี ๔ เดือน เดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะครบ ๖๐ ปี ก็เป็นคนแก่คนหนึ่งที่มีความต้องการที่จะอยู่กับครอบครัว ลูกหลาน ในบั้นปลายของชีวิตเท่านั้น” พิมพ์ชนา เอกสมญา ผู้เป็นภรรยากล่าว
“ก่อนหน้านี้ในชีวิต ผมเคยเห็นน้ำตาพ่อเพียงครั้งเดียว ตอนนั้นพ่อโดนระเบิดและได้รับบาดเจ็บหนักที่สุดในชีวิตจนแทบจะถูกตัดขา เขากำลังจะลำเลียงพ่อขึ้น ฮ.ไปโรงพยาบาล ภาพที่เห็นเป็นขณะพ่อหน้าตาซีดเซียวมาก ตาลอยเพราะฤทธิ์มอร์ฟีนที่แพทย์ฉีดให้เพื่อระงับอาการปวด เหมือนคนไม่รู้สึกตัวแล้ว ช่วงนั้นแหละที่ผมเห็นน้ำตาพ่อไหลอาบแก้ม” ชุมพล เอกสมญา หรือ จีรพัชร์ ภูวพงษ์-พิทักษ์ บุตรชายคนโต ย้อนความหลัง ก่อนจะสะท้อนภาพต่อเนื่องที่ทำให้ได้เห็น “น้ำตาพ่อ” เป็นครั้งที่ ๒ ในชีวิต หลังจากผู้เป็นพ่อไปร้องเรียนนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลและเดินทางต่อไปยังสวนยางที่หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นสวนที่ชุมพลสร้างและดูแลอยู่ เพื่อหวังให้เป็นสถานที่พำนักในบั้นปลายชีวิตของบิดาหลังเกษียณอายุราชการ
“ก็ได้คุยกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับบันนังสตาและ ๓ จังหวัดของเรา เกิดอะไรขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดอะไรขึ้นกับบ้านนี้เมืองนี้และความไม่เป็นธรรมในสังคม ครั้งนั้นก็ไม่รู้ท่านจะตายนะ”
เพียง ๑๗ วันหลังเดินทางกลับจากไปร้องเรียนที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับความตั้งใจไปเยี่ยมบุตรชายคนโตที่หนองบัวลำภู กระทั่งวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ วงการตำรวจไทยก็ต้องสูญเสียนายตำรวจมือดีไปตลอดกาล เมื่อ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา ถูกลอบวางระเบิดขณะลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่บ้านทับช้าง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“ผมไม่อยากเป็นวีรบุรุษ และจะไม่ขอตายในชุดนักรบ” คำกล่าวสุดท้ายของจ่าเพียรสะท้อนให้เห็นเส้นทางชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายมาตลอดของนายตำรวจคนหนึ่ง
“เขาภูมิใจในอาชีพตำรวจ เคยพูดว่าจะไม่ยอมตายในเครื่องแบบ วันนี้เขาลืมคำพูดตรงนี้ไป แต่ก็ภูมิใจที่เขาทำหน้าที่จนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต” คือคำกล่าวลาของภรรยาคู่ชีวิต
พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ครั้งเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อรับรางวัลตำรวจดีเด่นต้นแบบประจำปี ๒๕๕๑ จากมูลนิธิบุณยะจินดา และมีสื่อมวลชนของสัมภาษณ์พิเศษแถวบ้านเพื่อน ย่านวัชรพล รามอินทรา
เจ้าหน้าที่กำลังลำเลียงร่างที่บาดเจ็บของจ่าเพียร หลังลงจาก ฮ.ที่สนามศูนย์เยาวชนยะลา เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลยะลาโดยเร่งด่วน ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.สมเพียร ถูกลอบวางระเบิดขณะลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓
ฉากสุดท้ายของชีวิต
“คิดแล้วบางทีก็แค้นนะ แค้นที่เหมือนเขาไม่เคยเหลียวกลับมาดูแลครอบครัวเลย” พิมพ์ชนา เอกสมญา สะท้อนความรู้สึกอันระอุด้วยอารมณ์ที่ถูกกดทับมานาน
“เขาไม่ค่อยจะมีเวลาให้กับครอบครัวเท่าไหร่ เราน้อยใจตรงนั้น บางทีแค้นใจเวลาเราเจ็บไข้ไม่สบาย พอบอกเขา กลับบอกว่าเงินก็มี โรงพยาบาลหรือหมอก็รู้ว่าอยู่ตรงไหน ไปหาเอาเองสิ มันเจ็บใจนะ ไปนั่งคอยหมอหน้าห้อง คนอื่นเขาจูงมือเดินกันไปสองคนสามีภรรยาแก่ๆ เราไม่มีอย่างนั้น ต้องไปเอง ไม่สบายนอนห้องผ่าตัดต้องมีน้องหน้าบ้านไปเฝ้าไปดูแล พูดกันเล่นๆ ว่าเป็นแม่ม่ายผัวทิ้ง บอกแล้วชีวิตของเราเราไม่มีปีใหม่ วันเกิด วันสงกรานต์ วันเด็กไม่เคยมี พอวันปีใหม่ วันสงกรานต์ เขาต้องอยู่ในพื้นที่เตรียมพร้อมไม่มีโอกาสพาลูกไปเที่ยวพักผ่อน เราเป็นครอบครัวตำรวจ เขาเป็นตำรวจอาชีพ เป็นตำรวจ ๒๔ ชั่วโมง ยังเคยแซวเล่นๆ ว่าถ้าวันหนึ่งมี ๓๐ ชั่วโมง เธอก็เป็นตำรวจ ๓๐ ชั่วโมงเลยใช่ไหม หรือยังถามเล่นๆ ว่า ถ้าพ่อโดนออกจากตำรวจแล้วจะทำอะไร เขาบอกว่าเขาเป็นตำรวจอาชีพ ทำอะไรอื่นไม่เป็นแล้ว หากเกษียณก็จะทำหน้าที่คอยรับส่งหลานไปโรงเรียน พออายุมากเขารักหลานมาก บอกว่าส่งหลานเสร็จแล้วมานั่งดื่มน้ำชา คอยขับรถให้แม่นั่งไปโน่นนี่ แค่นี้ก็คิดว่ามีความสุขมากแล้ว”
น้ำเสียงที่เธอเล่าระคนไปด้วยแววเศร้าสะท้อนผ่านดวงตารื้นน้ำตา ขณะเหลียวมองไปยังมุมบ้านที่มีภาพคู่ชีวิตวางประดับไว้ พร้อมด้วยใบประกาศ รางวัลเกียรติยศต่างๆ มากมาย
“ตอนแกยังอยู่นะ เป็นคนไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าบ้างแต่น้อยมาก เวลาอยู่พื้นที่ดูเข้มแข็งนำลูกน้องลุย อยู่ไม่ติดบ้านเลย เดี๋ยวไปโน่นไปนี่ พอกลับมาบ้านที่หาดใหญ่แล้วชอบบ่นปวดโน่นปวดนี่ มาก็นอนดูโทรทัศน์เหมือนกับคนแบตหมด ต้องไปหาหมอบ้างเพราะเป็นโรคหัวใจ บ่นว่าชอบเจ็บอก ตอนกลางคืนมักเอามือทุบอกดังๆ เหมือนจะหายใจได้ไม่เต็มปอด เวลาเดินลงบันไดต้องเกาะราวบันไดลง ขากะเผลกๆ เป็นคุณปู่แก่ๆ คนหนึ่ง ใจดีมีน้ำใจ ขนาดรถเด็กแถวบ้านสตาร์ตไม่ติดก็ออกไปช่วยเข็นรถให้ ไม่มีไว้ฟอร์มเลย”
กล่าวกันว่าใครคนหนึ่งที่ทุ่มเททำงานกระทั่งสร้างชื่อจนได้รับการยอมรับจากสาธารณชน สามารถก้าวไปสู่การเป็น “วีรบุรุษ” ย่อมต้องแลกมากับการสูญเสียอะไรหลายอย่าง และแน่นอน, หนึ่งในนั้นก็คือครอบครัวของเขาเอง เฉกเช่นเดียวกับครอบครัวเอกสมญาซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “ภูวพงษ์พิทักษ์” นามสกุลที่จ่าเพียรตั้งขึ้นเองและไปขอจดทะเบียนแทนนามสกุลที่เคยยืมเพื่อนมาใช้ในคราวที่ต้องสอบเข้าโรงเรียนตำรวจภูธร
“วัยเด็ก ๑๕ วันถึงจะได้เจอพ่อสักครั้ง มีเวลาให้ลูกๆ ไม่มากนัก วันสองวันก็ต้องไปทำงานต่อ เมื่อมีเวลาพวกเรามีโอกาสได้อยู่ร่วมกันหรือเล่นกันอย่างสนุกสนานตามประสาพ่อแม่ลูกบ้าง แต่เวลาแห่งความสุขของครอบครัวเช่นนี้มีน้อยมาก ผมเสียพ่อให้กับประเทศนี้ ๔๐ ปีที่พ่อทำงาน พ่อทุ่มจนทำให้ครอบครัวเรา ความอบอุ่นมันน้อยครับ แต่สิ่งที่เราได้รับคือความไม่ยุติธรรม” จีรพัชร์ ภูวพงษ์พิทักษ์ กล่าว สำหรับเขา จ่าเพียรก็เหมือนพ่อทั่วไปที่รักลูก รักครอบครัว มีวิถีชีวิตแบบง่ายๆ
“ผู้ชายใต้อากาศร้อนก็นุ่งผ้าขาวม้าอยู่บ้านเหมือนพ่อทั่วไป เราได้ขี่หลังพ่อ ขี่คอพ่อเหมือนลูกคนอื่นๆ แต่ว่าก็นานๆ ครั้ง ภาพประทับใจการทำงานคือ เวลาพ่อเข้าป่า เข้าไปทำอะไร ผมรู้นะ แต่น้องเล็กๆ ไม่รู้ นึกว่าพ่อไปยิงกระรอก กระแต ไปหาอาหาร ไปหาปลา หาหมูป่ามาให้ลูกกิน เพราะสมัยก่อนสัตว์ป่าเยอะ น้องเข้าใจว่าพ่อไปล่าสัตว์มาเลี้ยงครอบครัว ผมไม่รู้จะบอกน้องอย่างไร แต่รู้ว่าเป็นงานที่เสี่ยง พอพ่อกลับมาก็สงสาร ทั้งตัวมีแต่ทาก คราบเลือดเต็มไปหมด เท้าซีดเหมือนศพ เพราะว่าเวลาเดินป่าแถบภาคใต้มักจะเจอฝนตกหนักตลอด”
นอกจากนี้เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว แทนที่จะได้พักผ่อนกับภรรยาและลูกๆ สักระยะหนึ่ง ซึ่งมักเป็นช่วงเวลา ๒-๓ วันที่พักเท่านั้นที่ได้เล่นอยู่กับลูก พอตกดึกผู้เป็นพ่อกลับต้องกางแผนที่เตรียมทำงานอีกแล้ว โดยเฉพาะช่วงหลังที่ตั้งใจศึกษาต่อให้จบระดับปริญญาตรี ด้วยเป็นคนใฝ่เรียนอยากจะเรียนต่อให้จบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ แต่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ จึงใช้วิธีอัดเสียงกฎหมายมาตราต่างๆ แล้วเปิดนอนฟังจนหลับไป
“พ่อจะแยกเวลาหมดเลย เป็นคนมีระเบียบวินัยในการทำงานสูงมาก งาน เล่นกับลูก พอลูกหลับดึกหน่อยก็ดูหนังสือ ท่องมาตรากฎหมาย ท่องเสร็จสี่ทุ่มก็นอน ตื่นเช้ามาออกกำลังกาย เหมือนพ่อทั่วๆ ไป แต่จุดแตกต่างคือท่านมีเวลาให้กับประเทศนี้มาก แม้แต่เวลาที่มาอยู่บ้านก็เอาไปลงพื้นที่ ออกไปเยี่ยมเยียนพวกสาย พวกแนวร่วม เยี่ยมบ้าน อส.บ้าน ชรบ. เอาเวลาครอบครัวไปใช้กับตรงนั้น”
สิบตำรวจโท โรจนินทร์ ภูวพงษ์พิทักษ์ บุตรชายคนสุดท้องผู้ซึมซับการเป็นตำรวจจากบิดาเล่าว่า ความที่มีพ่อเป็นตำรวจ ทำให้บรรดาลูกๆ ต้องพลอยย้ายโรงเรียนไปเรื่อยตามวาระหน้าที่ของพ่อ กระทั่งตัวเขาต้องเรียนหนังสืออยู่หลายโรงเรียนกว่าจะจบได้ ภาพเจนตาที่เห็นเป็นประจำคือ พ่อเป็นคนตื่นเช้า ออกกำลังกายเล็กน้อย ก่อนจะอาบน้ำแต่งตัวไปสถานีตำรวจเพื่อนั่งดื่มน้ำชากับลูกน้องหรือชาวบ้าน จากนั้นจึงออกลาดตระเวน
“จนประมาณ ๑๐ ปีมานี้ผมอยู่ใกล้ชิดพ่อมากเพราะว่าไม่รู้จะไปไหนเหมือนกัน คุณแม่อยากให้ช่วยไปดูแลพ่อด้วย เพราะบางทีแม่ต้องดูแลบ้านที่หาดใหญ่ เมื่อเห็นว่าผมว่างจึงส่งให้ไปอยู่เป็นเพื่อน ช่วงหลัง ๕ ปีสุดท้ายเป็นตำรวจก็อยู่ใกล้กัน พอมา ๒ ปีหลังย้ายมาอยู่บ้านเดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน ยิ่งใกล้ชิดกับพ่อมากขึ้น ก็เห็นวัตรปฏิบัติของพ่อยังเหมือนเดิมแม้จะอายุมากแล้วก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อมาอยู่บันนังสตารอบใหม่นี้ ยิ่งชอบลาดตระเวนลงพื้นที่ บางทีต้องคอยจ้องว่าพ่อขึ้นหรือลงรถอะไร เพราะบางทีแกไปเลย ไปกับคนขับสองคน ไม่มีผู้ติดตาม จะไม่บอกล่วงหน้า อาจรู้แค่ ๑๐ หรือ ๑๕ นาที เพราะต้องเซฟตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งแกก็ชอบลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ถึงขนาดไปช่วยชาวบ้านสร้างห้องส้วมห้องน้ำด้วยนิสัยไม่ถือตัว”
กล่าวกันว่าเมื่อจ่าเพียรกลับมาบันนังสตาอีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์ในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทำให้เขาต้องมุ่งมั่นปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทมากยิ่งขึ้น กระทั่งแทบเป็นภาพเจนตาของผู้คนที่พบเห็นจ่าเพียรเดินตรวจพื้นที่ยามค่ำคืนดึกดื่นยันเช้ามืด
สามารถ ไชยพันธุ์ นักการฯ ประจำ สภ. บันนังสตา จังหวัดยะลา ฉายภาพว่าจ่าเพียรใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กินอยู่ง่ายมาก มื้อเช้าก็ซาลาเปากับกาแฟ หรือไม่ก็เดินไปทานในร้านประจำข้างสถานีตำรวจหรือฝั่งตรงกันข้าม บางคืนทำงานเร่งด่วนจนดึกดื่นก็ไม่ได้กลับไปนอนที่บ้านพัก ใช้วิธีนอนบนโซฟาในห้องทำงาน พอมาตอนเช้าจะมาทำความสะอาด เปิดประตูเข้าไปยังตกใจเพราะไม่นึกว่าแกจะอยู่ง่ายขนาดนี้
“ส่วนคุณนายใจดี เป็นกันเอง บางทีซื้อของอะไรมาใส่ตู้เย็นเวลามาหา เดิมท่านพักอยู่บ้านพักหลังเก่า อยู่คนเดียวตลอด ตอนหลังลูกชายมาอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ประจำ เพราะต้องไปๆ มาๆ หาดใหญ่เพื่อไปดูแลคุณแม่ ส่วนคุณนายมานานๆ ครั้ง หรือบางที ๑-๒ อาทิตย์ครั้ง บ้านพักหลังใหม่ท่านเพิ่งขึ้นไปอยู่ได้คืนเดียว ขนย้ายของอะไรมาหมดแล้ว เพราะว่าวันนั้นผมไปล้างถูบ้านให้ คืนวันพฤหัสฯ ได้นอนบ้านใหม่ บอกว่าจะขึ้นบ้านใหม่วันพฤหัสฯ เพราะเป็นวันดี ถัดมาอีกวันแกก็เสียชีวิต”
ถึงวันนี้, หนึ่งในภาพสุดท้ายที่สร้างความประทับใจแก่ผู้คน คือสภาพห้องนอนของจ่าเพียร ซึ่งเรียบง่ายมาก แสดงความเป็นอยู่อย่างสมถะ เรียกว่าแทบจะหลับนอนแบบเสื่อผืนหมอนใบ ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดสมฐานะผู้กำกับมือปราบ
“วันนี้พวกเราเหลือแต่คุณแม่ มีสื่อต่างๆ มาสัมภาษณ์ไม่ได้ขาด มีผู้คนมากมายส่งกำลังใจมาให้ ทุกคนต่างบอกว่าเห็นคุณแม่เข้มแข็ง ผมว่าดูเหมือนเข้มแข็งแบบนั้นแหละ แต่ความจริงแล้วพวกเราทุกคนเศร้าใจกันมาก อยู่ที่ว่าจะแสดงออกมากน้อยเพียงใด คุณแม่ต้องดำรงความเข้มแข็งไว้ในฐานะเสาหลักของครอบครัวที่ต้องรับช่วงดูแลรับผิดชอบลูกหลานต่อไป หากแสดงอาการเศร้าใจอะไรออกมามากจะทำให้ครอบครัวยิ่งเศร้ากันมากขึ้น แม่เลยต้องอดทน” สิบตำรวจโทโรจนินทร์กล่าวถึงผู้เป็นมารดา
“วางแผนว่าช่วงสุดท้ายจะอยู่ด้วยกันบ้าง เขาจะเอารถจี๊ปไปขับที่ตรังเพราะเราเป็นคนชอบทะเล เขาชอบป่าชอบภูเขา เขาอยากจะขับเที่ยวอยากมีความสุขช่วงบั้นปลายเพราะว่าไม่ได้อยู่ด้วยกันมานาน ตัวเองก็เป็นไขมันในเส้นเลือดต้องทานพวกผักผลไม้ ส่วนเขาเริ่มเป็นโรคหัวใจและเป็นความดัน จึงอยากจะไปดูแลปรนนิบัติให้ได้กินข้าวเป็นเวลา นอนเป็นเวลา พักผ่อนเป็นเวลา อยากอยู่ที่สบายบ้างเพราะเราลำบากมานาน ขอแค่นั้นเอง เราทำเต็มที่แล้วเราถึงขอ คนแก่เป็นนักรบสมัครใจไปทำงาน ทำงานมาเต็มที่แล้ว เหลือปีกว่าๆ ร่างกายไม่ไหว อยากขอเป็นรางวัลชีวิตที่ได้รับราชการมานาน เหนื่อยมานาน เราลุ้นตั้งแต่ตุลาฯ แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง จึงเดินทางไปร้อง รอฟังข่าวเรื่องก็เงียบ เลยบอกว่าจะขึ้นไปอีกครั้ง เอาพวกประกาศต่างๆ ไปเผา กลายเป็นว่าไม่ได้เผา ต้องมาเผาเขาก่อน
“เหนื่อยมาก เหนื่อยจริงๆ กับชีวิต แต่ก็ภูมิใจ เมื่อก่อนไม่เข้าใจเขา เราเป็นผู้หญิงย่อมต้องการความอบอุ่น ต้องการให้เขามาดูแลบ้าง ในที่สุด ณ เวลานี้ ทำให้ภูมิใจที่เขาทำดีมาตลอดและมีคนเห็นความดี แม้จะช้าไปหน่อยแต่ก็ดีใจที่ผู้คนยังได้เห็น ไม่ใช่หายไป สุดท้ายจึงอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงระบบให้เกิดความยุติธรรม ดูแลทุกคนอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ให้ใครคนหนึ่งตายไปฟรีๆ แล้วก็เลือนหายไปกับสายลมแสงแดด” พิมพ์ชนากล่าวทิ้งท้าย
เป็นเสมือนการปิดฉากชีวิตยอดมือปราบแห่งบันนังสตา บุรุษผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในชายแดนใต้จนวินาทีสุดท้าย พร้อมกับคำสั่งเสียสุดท้ายที่ว่า
“ผมไม่อยากเป็นวีรบุรุษ และจะไม่ขอตายในชุดนักรบ”
“กับจ่าเพียร ผมรักเหมือนพ่อ” ส.ต.ท.สุรศักดิ์ แก้วน้อย ผบ.หมู่ (ป.) สภ.บันนังสตา ทุกครั้งที่นำลูกทีมลงปฏิบัติงานในพื้นที่ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา จะยืนอยู่เคียงข้างทีมงานเสมอ “ผมมาอยู่บันนังสตาปี ๒๕๔๗ ที่นี่เป็นพื้นที่สีแดง ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงเดือนหนึ่งประมาณ ๒๐ วัน พอนายมาอยู่ก็ดีขึ้น บางเดือนอาจมีสักเหตุการณ์หรือไม่มีเลย สำหรับทีมงาน ตอนมาใหม่ ๆ จะถามว่าใครสมัครใจร่วมปฏิบัติการด้วย งานเป็นรูปแบบอย่างนี้ คือ เดินป่า หาข่าว ตามล่าหากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ผมเลยสมัครใจเข้าไปอยู่ด้วย ผมเคารพแกมาก การข่าวแกดีจากงานมวลชนสัมพันธ์ ลูกน้องเก่าเยอะ เข้าถึงชาวบ้าน กลางคืนก็ไม่นอน เที่ยงคืนตีหนึ่งตีสองยังออกพื้นที่ และเป็นคนตื่นเช้ามาก บางทีตีสี่ตื่นแล้ว เดินตรวจไปรอบ ๆ โรงพัก ลูกน้องเองยังไม่ตื่นเลย “เวลาไปไหนแกจะไม่บอกล่วงหน้าหรือไม่มีแผนล่วงหน้าว่าจะไปตรงไหน พอบอกว่าจะเข้าก็ต้องเข้าเลย คือเราต้องรอ นั่งเฝ้ารอ เวลาเข้าปะทะจะเดินนำ แต่มาช่วงหลังนี้เริ่มไม่ไหวแล้ว ขาแกไม่ค่อยดีตั้งแต่ไปเหยียบกับระเบิด ช่วงทำงานหรือปะทะจะสอนตลอดว่าให้ดูให้ดี ให้ระวัง ถ้าไม่เห็นปืนอย่ายิง ถ้าเข้าไปจะให้ฝ่ายตรงข้ามยิงก่อนถึงลงมือ ไม่เคยยิงก่อน แกจึงมักโดนยิงก่อนเสมอ ส่วนทีมงานเวลาลงพื้นที่จะมีทั้งผู้ใหญ่บ้าน ชุดชาวบ้านแต่ละชุมชน ชุด อส. ซึ่งเป็นแกนนำเก่าที่กลับใจมาเป็นผู้ช่วย ส่วนตำรวจก็มี เช่นชุดสืบเมืองยะลา มาร่วมงานกัน “เวลาลงพื้นที่ ชาวบ้านเดือดร้อนอะไรแกจะรับฟังเพื่อหาทางแก้ไขช่วยเหลือ เก็บข้อมูลนำมาประชุมศึกษาร่วมกับลูกน้อง รับฟังความคิดเห็นจากหลาย ๆ คน แล้วก็สรุปและลงมือทำ เป็นคนคิดเร็วทำเร็ว พอได้เข้าก็เข้าทันที โดยเช็กอีกสายหนึ่งว่าตรงกันไหม ถ้าตรงก็เข้าเลย เปิดแผนที่ ชี้เป้า และเข้าเลย พิกัดแกจะตรงมาก เพราะรู้จักพื้นที่ในบันนังสตาทั้งหมดอย่างทะลุปรุโปร่ง อ่านขาดว่าตรงไหนเป็นตรงไหน พอเล่า ๆ แกจะนึก ๆ แล้วรู้หมดว่าตรงไหน “มีอยู่ครั้งหนึ่ง เดินเข้าป่า ฝนกำลังตก ก็เดินเข้าทางธารโตจะลงมาที่กอลอแป เข้าเขื่อนบางลาง คืนนั้นนายให้พลขับไปส่งที่ธารโตตอนห้าทุ่ม แล้วออกเดินถึงเป้าหมายสักตีสามได้ ก็แยกย้ายกันจะนอน แต่แกนึกว่าพวกผมหลงป่า พวกผมก็เห็นแล้วแต่ไม่รู้ว่าใครเพราะอยู่บนเนิน แกมาเดินหามารู้ตอนเช้าแกเดินตกเหวจึงรีบค้นหา พอเจอตัวรู้ว่าซี่โครงหักไป ๓ ซี่ รีบนำตัวไปส่งโรงพยาบาล ผมว่าตอนหลังแม้ใจยังสู้แต่ร่างกายแกไม่ไหวแล้ว เวลาเดินขาไม่ค่อยดี ไม่เหมือนแต่ก่อน คนอายุ ๕๙ ยังมาเดินป่า ไม่มีแล้ว หาได้ที่ไหนคนแบบนี้ คนทำงานตลอดทั้งชีวิตไม่เคยสบาย เวลาเข้าป่าอยู่กับพวกผม ผูกเปลนอน กินข้าวก็กินร่วมกัน ไม่เคยแยกว่าลูกน้อง-เจ้านาย กินเหมือนกัน นอนเหมือนกัน ถึงได้ใจลูกน้อง กับแกผมรักเหมือนพ่อ ผมอยู่ด้วยตลอด เพียงแค่วันที่เสียที่ไม่ได้ไปด้วยกัน ก่อนที่จะโดนระเบิดจนเสียชีวิต ก่อนหน้านี้เพิ่งโดนกันไป ๓ คน ผม พลขับ และแก แต่ว่าตอนนั้นไม่มีใครเป็นอะไร มาครั้งนี้พอดีผมมีธุระ เดินทางกลับบ้านตอนเช้า กลับมายังทันเห็นแกอยู่ ปรกติผมไม่ไปไหน อยู่กับแกตลอด “วิธีการทำงานมวลชนของนายจะสวมชุดชาวบ้านเข้าหมู่บ้าน หรือชุด ชรบ.ชุดทหารลายพราง บางทีก็ชุดเครื่องแบบบ้างแล้วแต่วาระ ชุดวอร์มก็มี แต่นายไม่ชอบใส่รองเท้าคอมแบตเพราะเท้าไม่ค่อยดี ใส่มาก ๆ จะเจ็บ แกเคยเล่าว่าที่จริงต้องโดนตัดขา แต่ดื้อไม่ยอมให้ตัด ไม่อย่างนั้นคงต้องพิการโดนตัดขาตั้งแต่โดนกับระเบิดครั้งโน้นแล้ว แกชอบลงพื้นที่ไปพบปะผู้นำหมู่บ้าน บางทีวันศุกร์ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ของพี่น้องมุสลิม ก็ไปที่มัสยิดทรายแก้ว ไปเยี่ยมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เยี่ยมชาวบ้าน ลูกน้องเก่า อส. เก่า บางทีก็ไปนั่งกินน้ำชาแถว ๆ นั้น หรือไปเที่ยวหากบหาอะไรร่วมกับชาวบ้าน เป็นการทำงานมวลชนไปในตัว ตามแบบฉบับที่เรียกกันว่าเป็นแบบจ่าเพียร “แกพูดตลอดตั้งแต่มาใหม่ ๆ ว่าอย่าพึ่งแกคนเดียว เพราะคงจะไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอด บอกให้เก็บเกี่ยวความรู้ให้มาก ให้เรียนรู้มากที่สุด มีเรื่องอะไรจะบอกให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แกจะสอนหมด เดินป่าเดินยังไง ให้สังเกตใบหน้าคนเป็นยังไง เหมือนพี่สอนน้อง เหมือนพ่อสอนลูก มีอะไรก็เป็นผู้ให้ตลอด มีของอะไรมาก็โทร. ตามให้ไปรับ หรือได้อะไรมาก็แจกชาวบ้านหมด ข้าวสาร ปลากระป๋อง เอามาจากหาดใหญ่ มาแจก ชรบ. อรบ. ให้ชาวบ้าน ช่วงหลังนี้ไปมวลชนกับนิคมกือลอบ่อยก็เลยโดน “วันที่รู้ว่าแกโดนระเบิดพวกเรารีบตามเข้าไป ผมตามรถคันที่บรรทุกแกจะไปส่งโรงพยาบาล แต่เพราะฝนตกหนัก ถนนลื่น รถเลยไถลลงคูข้างถนน ต้องช่วยกันยกร่างแกมาใส่รถอีกคันหนึ่ง แต่นายน่าจะเสียตั้งแต่โดนระเบิดแล้ว โดนแรงระเบิดอัดช้ำภายใน และที่ขาเสียเลือดไปเยอะ “พอแกไม่อยู่แล้วพื้นที่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะแกถ้าเปรียบก็เหมือนนักมวยระดับแชมป์ ขึ้นชกร้อยเวทีก็ชนะร้อยเวที ต่อไปจะเอาใครมาต่อยแทน คงหาตัวแทนยากหรือไม่มีด้วยซ้ำ แต่ยังไงก็ตาม พวกเราก็ต้องทำหน้าที่เหมือนเดิม ประสานรอยต่อ สืบทอดอุดมการณ์ของแก ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายก็ตาม” |
เอกสารประกอบการเขียน :
“จ่าเพียร” นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเทือกเขาบูโด, อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ. บันนังสตา, มีนาคม ๒๕๕๓.
เลือด เนื้อ เพื่อแผ่นดิน จ่าเพียร ตำนานนักรบ นักสู้…แห่งเทือกเขาบูโด,อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ. บันนังสตา, มีนาคม ๒๕๕๓.
“คำสุดท้าย จ่าเพียร ‘ผมไม่อยากเป็นวีรบุรุษ และจะไม่ขอตายในชุดนักรบ’”, คม ชัด ลึก ฉบับพิเศษ, มีนาคม ๒๕๕๓.
ขอขอบคุณ :
คุณพิมพ์ชนา เอกสมญา
คุณจีรพัชร์ ภูวพงษ์พิทักษ์
ส.ต.ท.โรจนินทร์ ภูวพงษ์พิทักษ์
พ.ต.ท.วิชัย แจ้งสกุล รอง ผกก.สส.สภ. บันนังสตา จ. ยะลา
ส.ต.ท.สุรศักดิ์ แก้วน้อย ผบ.หมู่ (ป.) สภ. บันนังสตา จ. ยะลา
คุณนครินทร์ ชินวรโกมล ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่น ประจำจังหวัดยะลา
คุณสามารถ ไชยพันธุ์ นักการฯ ประจำ สภ. บันนังสตา จ. ยะลา
ศูนย์ภาพเนชั่น
และอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยนามมา ณ ที่นี้ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง