ในขณะที่กระแสเว็บเครือข่ายสังคมอย่าง Facebook หรือ Twitter กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของนักท่องอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ไม่ยอมน้อยหน้า หากเว็บที่ได้รับความนิยมคือเว็บท้องถิ่นอย่าง Renren.com (เหรินเหริน แปลว่า ทุกคน) เจ้าของฉายาเฟซบุ๊กแห่งจีน

นอกจากเหรินเหรินจะมีโครงสร้างและการออกแบบหน้าตาพิมพ์เดียวกับเว็บเครือข่ายสังคมชื่อดังแล้ว ผู้ก่อตั้งยังเป็นคนรุ่นใหม่เช่นกัน เดิมเว็บมีชื่อว่า Xiaonei (เซี่ยวเน่ย แปลว่า โรงเรียน) ก่อตั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หลังเฟซบุ๊กถือกำเนิดไม่ถึง ๒ ปี โดยอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัย Delaware ของอเมริกา วัย ๒๖ ปี หวังซิง และเพื่อนอีก ๓ คน เริ่มแรกเปิดให้ใช้เฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงปักกิ่ง ต่อมาเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ได้ขายเว็บไซต์ให้ Oak Pacific Interactive และเปลี่ยนชื่อเป็น Renren ในปี ๒๕๕๒ เปิดบริการให้คนทั่วไปใช้ ปัจจุบันมีผู้ใช้ลงทะเบียนแล้วกว่า ๑๖๐ ล้านคน

เฟซบุ๊กของจีนยังมีส่วนเสริม บริการบนโทรศัพท์มือถือ เกมต่าง ๆ ให้เล่น ส่วนเสริมที่เน้นมากกว่าเฟซบุ๊กคือการหาคู่ออนไลน์ แต่การลงแบนเนอร์โฆษณา เชิญชวนซื้อของขวัญในเกมยังมีอัตราการขายที่ราคาถูก ในปี ๒๕๕๓ เหรินเหรินมีรายได้เพียง ๗๖.๕ ล้านเหรียญ และขาดทุน ๖๑.๒ ล้านเหรียญ ผิดกับที่คาดการณ์กันว่าในอนาคตเว็บไซต์นี้จะมีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญไม่ต่างจากเฟซบุ๊กตัวจริง ทำให้เดือนเมษายนที่ผ่านมาทางบริษัทได้ยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาเพื่อหวังเพิ่มทุน

สิ่งที่ต่างออกไปในจีนคือการเซ็นเซอร์ของทางการ โดยเฉพาะคำหรือความเห็นประเด็นการเมืองถือเป็นเรื่องต้องห้าม อย่างเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ลัทธิฝ่าหลุนกง ฯลฯ และจะสั่งปิดเว็บเมื่อใดก็ได้หากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจีนบล็อกเว็บต่างประเทศ ทำให้เว็บท้องถิ่นมากมายประสบความสำเร็จด้วยรูปแบบธุรกิจที่อาศัยการลอกเลียนแบบ

ด้วยข้อได้เปรียบที่มีประชากรมหาศาลเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้พวกเขายินดีร่วมธุรกิจโดยยอมมองข้ามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของเว็บไซต์เหล่านี้ น่าสนใจว่าจีนจะใช้กลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจดังกล่าวพัฒนาประเทศต่อไปได้อีกนานแค่ไหน ?

“ผมไม่ขอพูดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานะ
ในความเป็นจริงมีคนจีนจำนวนมากที่รอดพ้นการตรวจสอบ
การลอกเลียนแบบที่นี่ไม่ใช่เรื่องผิดตราบเท่าที่คุณทำสิ่งที่ดีกว่าหรือถูกกว่าได้”

หวังซิง
หนึ่งในอดีตผู้ก่อตั้งเว็บ Renren
และสร้างเว็บยอดนิยมในจีนอีกหลายเว็บ

*  สาธารณรัฐประชาชนจีนติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีการเซ็นเซอร์หรือบล็อกเว็บไซต์ โดยมีข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมากกว่า ๖๐ ข้อ ในปี ๒๕๕๑ องค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานว่าทางการได้จัดทีมตำรวจอินเทอร์เน็ตจำนวน ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ คน สำหรับตรวจสอบข้อมูล-ความเห็นอันเป็นภัยต่อความมั่นคง โดยปี ๒๕๕๓ มีการปิดเว็บไซต์มากถึง ๑.๓ ล้านเว็บ

*  จีนยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก คือมากกว่า ๔๕๐ ล้านคน อัตราเฉลี่ยการใช้เวลาบนเว็บไซต์มากกว่าคนในสหรัฐอเมริกา ๒ เท่า และมียอดจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

*  Renren มีส่วนแบ่งตลาดจากเว็บเครือข่ายสังคมในจีนเป็นอันดับ ๑ คือ ๓๖.๑ % โดยมีคู่แข่งคือ Pengyou, 51.com, Baishehui และ Kaixin001 ตามลำดับ

*  แม้จะขายเว็บไปแล้ว แต่หวังซิงยังเปิดเว็บไซต์ดังอีกหลายเว็บของจีน อาทิ Fanfou ที่นำต้นแบบมาจาก Twitter และ Meituan ที่นำต้นแบบมาจาก Groupon

*  เนื่องจากเว็บไซต์ชื่อดังของโลกถูกบล็อกโดยทางการจีน จึงปรากฏร่างจำแลงของเว็บไซต์ยอดนิยมเหล่านี้ เช่น Baidu เหมือน Google, Sina เหมือน Yahoo.com, Weibo เหมือน Twitter, Dangdang เหมือน Amazon และ YouKu เหมือน Youtube