เรื่อง : สุวรรณา เปรมโสตร์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
หลังเลิกเรียนไปจนถึงดึกดื่นของวันธรรมดา เด็ก ม.ปลายจำนวนมากยังมานั่งกวดวิชา ในภาพคือ Da’vance สถาบันกวดวิชาอีกแ่ห่งที่รวมเด็กมัธยมฯ จากแทบทุกโรงเรียนในกรุงเทพฯ
เด็กที่ในมือถือตำราเรียนคนนั้นไม่ได้ลงที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม และหากเราสะกดรอยตามจะพบว่าเขาลงอีก ๒ สถานีถัดไป ไม่ีต่างกับเด็กอีกหลายคนบนรถไฟฟ้าขบวนนั้น ซึ่งต่างก็พร้อมใจกันลงสถานีเดียวกันที่ว่านี้
รถไฟฟ้าถึงสถานีพญาไทในตอนเที่ยง วัยรุ่นชายหญิงกรูกันเดินลงบันไดและข้ามถนนไปอีกฝั่ง ฉันปล่อยตัวไหลตามคลื่นมหา(ยาว)ชนจนไปถึงตึกสูง ๑๖ ชั้นที่ตั้งตระหง่านอยู่หัวมุมถนนศรีอยุธยา เด็กในวัยเรียนกวดวิชาเรียกที่นี่่ว่า “อุ๊แลนด์”
วันหนึ่งในปี ๒๕๓๙ เมื่อตอนที่โรงเรียนกวดวิชาเคมีอาจารย์อุ๊ มีอยู่สาขาเดียวคือที่สะพานควาย และรับสอนเด็กเพียงเทอมละ ๓๐๐ คน เกิดเหตุชุลมุนขึ้นขณะผู้ปกครองมาต่อคิวแย่งกันลงทะเบียนเรียนให้ลูก จนตำรวจ สน.บางซื่อต้องมาระงับเหตุความวุ่นวาย เหตุการณ์นี้เป็นต้นกำเนิดของการนำวิดีโอหรือดีวีดีมาเปิดสอนแทนครูในโรงเรียนกวดวิชาแทบทุกแห่งในปัจจุบัน
ในบรรดาโรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ “เคมี อ.อุ๊” นับว่า “อมตะ” ที่สุดก็ว่าได้ เพราะเปิดสอนมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ จนปัจจุบัน (มี ๑๙ สาขาทั่วประเทศ) ก็ยังเป็น “ที่ ๑” ทุกครั้งที่มีการจัดอันดับหรือทำสำรวจโรงเรียนกวดวิชายอดฮิตในสาขาวิชาเคมี เมื่อถึงปี ๒๕๔๑ ในเดือนกุมภาพันธ์ “อาคารวรรณสรณ์” ตึกสูง ๑๖ ชั้นที่มีแต่โรงเรียนกวดวิชาในนั้นเปิดให้บริการเป็นครั้งแรก และยังถือเป็นโครงการแรกของประเทศด้วยที่โรงเรียนกวดวิชากว่า ๒๐ เจ้ามารวมตัวกันในลักษณะนี้ โดยเจ้าของตึกคืออาจารย์อุ๊ อุไรวรรณ ศิวะกุล (และสามี อนุสรณ์ ศิวะกุล) คนนี้นี่เอง อาคารแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัท Tandem Architects 2001 เจ้าเดียวกับผู้ออกแบบตึกเซ็นทรัลเวิลด์
หากถนนทุกสายในยุคจักรวรรดิโรมันมุ่งสู่กรุงโรม ก็อาจกล่าวได้ว่าถนนทุกสายในยุคโลกาภิวัฒน์ล้วนมุ่งสู่อุ๊แลนด์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ คลื่นเด็กจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลมายังตึกแห่งนี้ ธเนศ เอื้ออภิธร อดีตนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชา Enconcept เคยพูดถึงกรณีการเกิดของตึกนี้ว่า “นี่คือคอมเพล็กซ์ด้านการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคใหม่ของโรงเรียนกวดวิชา’ ”
ที่ตึกวรรณสรณ์ หรือ “อุ๊แลนด์” ทั้ง ๑๖ ชั้นเป็นที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชากว่า ๒๐ เจ้า ในวันเสาร์-อาทิตย์ มีเด็กเข้าออกตึกนี้ราว ๔ หมื่นคนต่อวัน จนมีคำเปรียบว่า “นี่คือคอมเพล็กซ์ด้านการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคใหม่ของโรงเรียนกวดวิชา’ “
ที่ใดมี “สอบ” ที่นั่นมี “กวด”
“โรงเรียนกวดวิชาเหรอ เปิดคู่กันมาตั้งแต่กระทรวงเปิดแหละ”จิตรา จันทรากุล นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบบอกเราอย่างนั้น
แม้ว่ารุ่นคุณพ่อคุณแม่เรา (หรือกระทั่งรุ่นพี่ๆ เพื่อนๆ เราเอง) มักพูดไปในทำนองเดียวกันอยู่มากว่า “สมัยเราไม่เห็นมีเรียนกวดวิชา” แต่โรงเรียนกวดวิชาก็มีมานานแล้วจริงๆ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บ่งชี้ว่า “พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ระบุให้โรงเรียนกวดวิชาเป็นโรงเรียนที่เอกชนจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกวดวิชาบางวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ” นั่นแสดงว่าโรงเรียนกวดวิชามีมาอย่างน้อยก็ ๕๔ ปีแล้ว และอันที่จริงมีมานานกว่านั้นด้วยซ้ำ
ในเอกสารโครงการวิจัยโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าการกวดวิชาลักษณะเป็นโรงเรียนเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ เรียกกันในตอนนั้นว่า “โรงเรียนกลางคืน”เพราะมักเรียนกันในเวลาหนึ่งทุ่มจนถึงสามทุ่ม ส่วนใหญ่เปิดสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากเด็กส่วนหนึ่งที่มาเรียนต้องการเตรียมตัวไปสอบชิงทุนคิง (King’s Scholarship) เพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
แต่ในบางตำรา เช่น วิทยานิพนธ์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย วิชาญ บุพชัยศรี (๒๕๔๕) นับจุดเริ่มต้นของการกวดวิชา (ในลักษณะของการ “เรียนพิเศษ”ตามบ้าน) ไว้ไกลกว่านั้น โดยสันนิษฐานว่า “เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หรือในช่วงปี พ.ศ. ๑๗๘๑-๑๙๒๑ และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕”
ในหนังสือ ประวัติการศึกษาไทย โดย ดวงเดือน พิศาลบุตร (๒๕๑๒) อธิบายถึงลักษณะการเรียนพิเศษหรือกวดวิชาในยุคแรกของไทยว่า “การเรียนการสอนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียน และครูไม่คิดค่าสอนในตอนแรก แต่ในระยะต่อมาเริ่มมีการจ่ายค่าจ้างในการสอน ดังเช่นการเรียนการสอนของลูกคนจีนซึ่งจ้างครูมาสอนที่บ้านเดือนละ ๘ ดอลลาร์ จึงนับได้ว่าการเรียนการสอน
ตามความต้องการของบุคคลนี้คือจุดกำเนิดของการสอนพิเศษในปัจจุบัน”
จึงพอจะกล่าวได้ว่า การเรียนพิเศษและกวดวิชาเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีความต้องการของเด็กก่อน แล้วจึงพัฒนาเป็นสถาบันในเวลาต่อมา
“กวดวิชานี่มีมานานมากแล้วครับ ต้องเข้าใจว่าตราบใดที่มีการแข่งขันเพื่อสอบเข้าก็จะต้องมีโรงเรียนกวดวิชา สอบเป็นปลัดอำเภอ สอบเป็นผู้สอบบัญชี สอบเข้าเป็นพลตำรวจ เป็นนายร้อย แอร์โฮสเตส สอบโทเฟลก็มีกวดวิชา ผมอ่านประวัติของอาจารย์ป๋วยพบว่าอาจารย์ป๋วยก็เรียนกวดวิชานะ” พรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชายูเรก้าเล่าให้เราฟัง
ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมากมักใช้ไวต์บอร์ดและปากกาเมจิก แต่กวดวิชาบางแห่ง เช่น ยูเรก้า ยังคงเลือกใช้กระดานดำและชอล์ก เหตุผลคือเพื่อถนอมสายตานักเรียน และแม้ว่ากวดวิชาจะพัฒนารูปแบบการสอนและพัฒนาการของครูไปมากเพียงใด ที่ยูเรก้ายังคงความเข้มข้นของเนื้อหาวิชาเป็นหลัก
สมัยเรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ เด็กชายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไปเรียนพิเศษภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาธรใต้ ต่อมาจึงเข้าเรียนเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี ๒๔๗๗ และสอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเวลาต่อมา
“เมื่อก่อนถ้าไม่เข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่มีโอกาสได้รับปริญญานะ ทันทีที่เราเข้ามหาวิทยาลัยถือว่าเป็นอภิสิทธิ์ชน ตอนนั้นถามว่ามีกวดวิชาไหม มี มันมีมานานแล้ว มีความจำเป็นของการที่จะต้องแข่งเพื่อเป็น ๑ ใน ๑๐ ให้ได้มานานแล้ว”รศ. ดร. นภาภรณ์ หะวานนท์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอก สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเคยรับหน้าที่เป็นผู้ประเมินโครงการ “โรงเรียนในฝัน”สมัยรัฐบาลทักษิณกล่าว
“ต่อมาเราก็เริ่มมีมหาวิทยาลัยให้เลือกมากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องแข่งแบบเมื่อก่อน จากที่มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดไม่มี ต่อมาก็มีการเปิด ม. เชียงใหม่ ม. ขอนแก่น และอื่นๆ แต่ถึงอย่างไรการเปิดมหาวิทยาลัยของรัฐก็ไม่เคยเพียงพอสำหรับเด็กที่จบมัธยมฯ ในแต่ละปี”
หากย้อนดูประวัติศาสตร์การศึกษาไทยในยุคที่ยังไม่มีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เด็กจบ ม.ศ. ๕ จำนวนหนึ่งซึ่งตัดสินใจเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีอยู่น้อยแห่งนั้น อาจมีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สอบติดได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา (สมัยนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยเปิดอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงและไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย)
“พอเราขยายการศึกษามากขึ้น มีมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด แต่คนก็ยังกวดวิชาเพราะยังอยากสอบติดมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ มากกว่า สมมุติอยากเรียนหมอ พอมีการเปิดคณะแพทย์ที่ ม. เชียงใหม่ ม. สงขลานครินทร์ คนก็สนใจเหมือนกัน แต่ขอเลือกไว้อันดับหลัง ถ้ามีโอกาสขอเรียนแพทย์ศิริราชหรือจุฬาฯ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นการกวดวิชาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเขาจำเป็นต้องทุ่มเทตอนนี้แล้วเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ เขาก็อยากเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่า
“ถามว่าการกวดวิชาเป็นสิ่งที่เขาทำไปด้วยความเชื่อหรือลุ่มหลงไหม มันก็ไม่ใช่ คนกวดวิชาจำนวนมากเข้ามหา’ลัยได้จริง มันมีผลในทางปฏิบัติจริงจังมาก อาจจะมีบางคนบอกว่าไม่ได้กวดวิชาก็สอบเข้าได้ นั่นเป็นส่วนน้อย โดยทั่วไปคนกวดวิชาได้เปรียบกว่าคนที่ไม่กวดวิชา”อาจารย์นภาภรณ์ให้ความเห็น
Entrance @ Admissions, การสอบตลอดชีวิต
“‘การศึกษาตลอดชีวิต’ หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้
สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
ถ้าถามว่าอะไรเป็นแรงจูงใจให้เด็กตัดสินใจเรียนกวดวิชานั้น ไม่ว่าผลสำรวจที่ไหนก็มักออกมาคล้ายกันว่า “เพื่อให้ได้เทคนิคในการสอบ”, “เพื่อให้ทำคะแนนในโรงเรียนได้ดีขึ้น”, “เพื่อเสริมความรู้ให้แน่นยิ่งขึ้น”และ “ช่วยในการสอบเข้าศึกษาต่อได้”
จากผลวิจัยของ ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ขณะยังเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่า การจัดการศึกษาของบ้านเรายังเน้นการสอบค่อนข้างมาก ทำให้ผู้เรียนให้ความสำคัญแต่กับการพัฒนาเทคนิคการทำข้อสอบไปโดยปริยาย เพื่อให้ “เรียนดี”กว่าคนอื่น สอบได้คะแนนดีกว่าคนอื่น
และเพื่อให้ได้มาซึ่งการเรียนดี ต้องสอบ สอบและสอบ เมื่อจบการศึกษาขั้นหนึ่งก็ต้องเตรียมสอบเพื่อให้ได้เข้าศึกษาต่อในสถาบันมีชื่อ เรียกได้ว่า “การศึกษาของไทยส่วนใหญ่เป็นการสอบ” และการสอบนี้เองคือที่มาของการแข่งขันที่ไม่มีวันจบสิ้น
เอาเข้าจริง การเปลี่ยนจากระบบเอนทรานซ์เป็นระบบแอดมิชชันส์อาจไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นอย่างที่คิด
“ข้อสอบนี่หลอกชนิดที่ตายกันไปเลย คือต้องเป็นเด็กที่รอบคอบมากถึงจะตอบถูก ซึ่งในเด็กอายุ ๑๐ กว่าปีไม่สมควรให้เขาขนาดนี้ มันผิดวัย คนที่ทำข้อสอบสังคมได้ต้องอายุรุ่นเดียวกับคนออกข้อสอบ แล้วก็เป็นเด็กที่ผ่านชีวิตเครียด ครอบครัวแตกแยก พ่อไปทางแม่ไปทาง กูจะมีชีวิตยังไง อย่างนั้นน่ะถึงจะทำข้อสอบแบบนี้ได้ดี”อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ ผู้ก่อตั้งสถาบันกวดวิชาสังคม-ภาษาไทย Da’vance พูดถึงความยากของข้อสอบวิชาสังคม
“เรารู้สึกว่าการออกข้อสอบแบบนี้มันวัดเด็กไม่ได้ สมมุติว่าเรากำลังจะวัดเด็ก ๒ หมื่นคนเข้ามหา’ลัย แต่ข้อสอบแบบนี้วัดได้แค่ ๒๐๐ คน ที่เหลือนี่วัดไม่ได้ เรารู้สึกว่าอย่าออกข้อสอบอย่างนี้ มันไม่แฟร์สำหรับเด็ก เพราะวัยนี้เขายังไม่คิดอะไรแบบนั้น ที่จริงเด็กเราก็ใช่ว่าจะไม่มีความรู้รอบตัวขนาดนั้น แต่คนออกข้อสอบเขาใจร้ายไปนิด การออกข้อสอบควรคัดกรองว่าเด็กรู้-ไม่รู้ก่อน ส่วนการวิเคราะห์ให้เป็นไปตามอายุดีไหม ขนาดคนอายุ ๓๐ ยังวิเคราะห์ไม่ค่อยได้เลย” อาจารย์ปิงแจงว่า ที่ผ่านมาเด็กสอบเอนทรานซ์ได้คะแนนวิชาสังคมเกิน ๗๐ ขึ้นไปมีเพียง ๑๓ คนจากแสนกว่าคนทั่วประเทศ และไม่มีใครได้เกิน ๘๐ คะแนนเลย
นอกจากนั้นแล้วการนำระบบแอดมิชชันส์มาใช้ก็ไม่ได้ทำให้เด็กบ้ากวดวิชาลดลงเลย กลับขยันหมั่นกวดมากขึ้นด้วยซ้ำ
“การสอบประจำภาคทุกภาคมีผลต่อคะแนน GPAX เด็กเลยต้องตื่นตัวตลอดเวลา พอแยกวิชาออกมาเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มแล้ว ทุกกลุ่มสาระจำเป็นต้องสอบโอเน็ต ต้องเอาคะแนนทั้ง ๘ กลุ่มไปยื่น เขาเลยทำนายกันว่าต่อไปจะมีโรงเรียนกวดวิชาที่เกี่ยวกับกลุ่มสาระอื่นๆ เช่น สุขศึกษา เป็นต้น นี้เป็นการคาดการณ์นะ เพราะถ้าน้ำหนักเท่ากันมันก็ต้องมีการติวเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง
…ตอนนี้ก็มีเกือบจะครบแล้วทั้งภาษาไทย สังคม อังกฤษ คณิต วิทย์ ศิลปะ”คุณพรชัยว่าอย่างนั้น
หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมักถูกวิจารณ์ว่าไม่คำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียน ทั้งโรงเรียนมีเด็กอ่อนและเด็กเก่ง แต่ครูสอนเสมือนว่าเด็กทุกคนมีความรู้ระดับปานกลางเท่าๆ กัน เพราะฉะนั้นทั้งเด็กอ่อนและเด็กเก่งจึงมีปัญหาในการเรียนทั้งคู่
ทว่าการเรียนการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ครบถ้วนทุกกระบวนการเรียนรู้เแบบที่โรงเรียนมัธยมศึกษาอ้างนั้น กลับไม่สอดคล้องกับระบบการประเมินผลและการรับเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการแข่งขันโดยการสอบวัดความรู้ทางวิชาการเพียงบางวิชา คุณครูค่อยๆ สอน แต่ข้อสอบเอนท์กลับเรียกร้องวิชาการอย่างสูง และที่สำคัญยากมากๆ ด้วย
ดังนั้นจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของการกวดวิชาก็เพื่อ “เสริม”ในเรื่องของเทคนิคและความสามารถในการจะเอาชนะข้อสอบเอนทรานซ์สุดหินจนสำเร็จเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐได้ รวมถึงให้ได้มาซึ่งเกรดดีตลอด ๓ เทอมของชีวิตมัธยมปลาย เพราะคะแนนในส่วนของ GPAX จะถูกนับรวมในระบบแอดมิชชันส์ด้วย
บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผู้อำนวยการสำนักบริหาร งานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีความเห็นต่อเทคนิคและแท็กติกทั้งหลายซึ่งเป็นไม้ตายหนึ่งของโรงเรียนกวดวิชาว่า “โจทย์ข้อหนึ่งๆ ทำวิธีที่ ๑, ๒, ๓ แต่ได้ตัวเลขคำตอบตรงกันเลย จะต่างก็ที่วิธี ถามว่าเขาสอนกระบวนการคิดไหม ก็มีส่วน การที่บอกว่าครูเก่งก็เพราะเขาจะต้องเอาโจทย์มาวิเคราะห์แล้วมาหาวิธีการว่าทำอย่างไรจึงจะได้คำตอบ กวดวิชาดังๆ ที่อยู่ได้ถามว่ามีคนบังคับให้ลูกไปเรียนหรือเปล่า ก็เปล่า ผู้ปกครองไปลงทะเบียนเรียนล่วงหน้า ๒ เดือนด้วยซ้ำ ตอนนี้เราบังคับว่าไม่ให้เกิน ๒ เดือนนะ แต่ก่อนนี่ลงทุนโอนเงินเข้าธนาคารล่วงหน้าเป็นปีจึงจะได้เรียน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็คิวยาวเลย ผู้ปกครองบางคนถึงกับไปจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อคิว ต้องจ่ายเพิ่มอีกคิวละ ๕๐๐, ๘๐๐ บาท ใครไปแบงก์ก่อนคนนั้นได้สิทธิ์ไป
“๑ คะแนนมีค่ามากสำหรับเด็ก ถ้าทำได้ ๑๕๔ คะแนนได้เรียนแพทย์ แต่ถ้าได้ ๑๕๓ ก็ต้องไปเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ ๑ คะแนนตรงนี้ผู้ปกครองลงทุนนะครับ ให้ไปเรียนและได้ ๑ คะแนนเพื่อข้ามระดับ”