เรื่อง : สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.fringer.org
ปัจจุบันคุณสมบัติของ “ฮีโร่” ดูจะถูกคนในสังคมลดทอนตัดตอนลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตอันเร่งรีบ จากสังคมกรีกโบราณที่ปฏิเสธจะมอบคำว่า “ฮีโร่” ให้แก่ใครก็ตามก่อนตาย เพราะเชื่อว่าจะต้องประเมินชีวิตทั้งชีวิตก่อนเพื่อดูว่าควรค่าแก่คำคำนี้หรือไม่ จนถึงยุคโลกาภิวัตน์ที่คนมีสมาธิสั้นเกินกว่าจะสามารถเจียดเวลามาเพ่งพินิจอะไรอย่างถ่องแท้ ชินชากับความแล้งน้ำใจของคนรอบข้างเสียจนรู้สึกว่าคนที่ลุกให้นั่งบนรถเมล์ก็สมควรเรียกว่า “ฮีโร่” แล้ว
ในสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทบทวนเรื่องราวของ อาเบเบ บิกิลา (Abebe Bikila) ฮีโร่ตลอดกาลของเอธิโอเปีย หนึ่งในตำนานโอลิมปิกสมัยใหม่ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แต่เป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะนักกีฬาในประเทศยากจน
บิกิลาลงแข่งวิ่งมาราธอนด้วยเท้าเปล่าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ ๑๗ เมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๐ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี
อาเบเบ บิกิลา เกิดวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ในครอบครัวคนเลี้ยงแกะแห่งจาโต หมู่บ้านแร้นแค้นไกลจากเมืองที่ใกล้ที่สุดชื่อเมนดิดาออกไป ๙ กิโลเมตร วันเกิดของบิกิลาอาจเป็นสัญญาณบอกใบ้ถึงความยิ่งใหญ่ในอนาคต นั่นคือเขาเกิดวันเดียวกับที่การแข่งวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ ๑๐ ณ กรุงลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่หนุ่มน้อยบิกิลาคงไม่เคยสังเกตเห็นฤกษ์ดีดังกล่าว เพราะต้องง่วนอยู่กับการช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัวตั้งแต่จำความได้ ทางเลือกชีวิตที่จำกัดจำเขี่ยบีบคั้นให้บิกิลาตัดสินใจเข้ารับราชการ ในปี ๑๙๔๘ เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี เขาได้เป็นทหารองครักษ์ประจำวังในรัชกาลของจักรพรรดิไฮเล เซลาสซี
หนึ่งปีก่อนหน้านั้น รัฐบาลเอธิโอเปียได้ว่าจ้าง ออนนี นิสกาเนน อดีตทหารผ่านศึกและโค้ชกรีฑาชาวฟินแลนด์ตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิเซลาสซีที่จะใช้การแข่งขันกีฬานานาชาติเป็นเวทีสร้างชื่อให้แก่เอธิโอเปีย นิสกาเนนเดินทางมาถึงบ้านใหม่ของเขาด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศกันดารแห่งนี้มีเพชรที่ยังไม่ถูกค้นพบมากมายรอให้เขามาเจียระไน เนื่องเพราะปอดของชาวเอธิโอเปียได้ผ่านวิวัฒนาการมายาวนานจนสามารถใช้ชีวิตตั้งแต่แรกเกิดในภาวะออกซิเจนเบาบางบนที่ราบสูงซึ่งสูงกว่า ๒,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และความแร้นแค้นกันดารก็บีบบังคับให้พวกเขาต้องเดินทางวันละหลายกิโลเมตรเพื่อไปตักน้ำ ไปโรงเรียน หรือทำภารกิจอื่นๆ นิสกาเนนรู้ดีว่าถ้าเขาสามารถผนึกความแข็งแกร่งโดยธรรมชาติของชาวเอธิโอเปียเข้ากับระบบการฝึกซ้อมที่เคร่งครัดและทันสมัย เสริมด้วยวิตามินและกลูโคส บวกกับการอบเซาน่าสไตล์ฟินแลนด์ เอธิโอเปียก็น่าจะสามารถผูกขาดความยิ่งใหญ่ระดับโลกในรายการวิ่งระยะไกลไว้แต่เพียงผู้เดียว
บิกิลารู้ตัวตั้งแต่เด็กว่าเขามีพรสวรรค์ในลู่วิ่ง เพราะเคยชนะรางวัลหลายครั้งสมัยเป็นนักเรียน แต่เขาก็ไม่เคยใฝ่ฝันที่จะยึดการวิ่งเป็นอาชีพ จนกระทั่งในปี ๑๙๕๖ เมื่อเขาถามคนใกล้ๆ ว่า กลุ่มคนในชุดนักกีฬามีคำว่า “Ethiopia” กลางหลังที่กำลังเดินอย่างผึ่งผายในขบวนพาเหรดนั้นเป็นใครกันและได้รับคำตอบว่า นั่นคือตัวแทนทีมชาติที่เพิ่งกลับมาจากการแข่งโอลิมปิกครั้งที่ ๑๖ ณ กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย บิกิลาจึงตั้งปณิธานทันทีว่าจะต้องเป็นหนึ่งในนั้นให้ได้ ต่อมาในปีเดียวกัน ความฝันของบิกิลาก็เข้าใกล้ความจริงอีกขั้นหนึ่ง เมื่อเขาเอาชนะ วามี บิราตู (Wami Biratu) นักกีฬาทีมชาติผู้เป็นฮีโร่ในขณะนั้นได้อย่างขาดลอยในรายการวิ่งมาราธอนกีฬาสามเหล่าทัพ ก่อนที่ใครจะค้นพบว่านักกีฬาหนุ่มโนเนมอายุ ๒๔ ปีคนนี้เป็นใครมาจากไหน บิกิลาก็ทำลายสถิติระดับชาติที่บิราตูเป็นเจ้าของในการวิ่ง ๕,๐๐๐ และ ๑๐,๐๐๐ เมตรลงได้อีก ๒ รายการ ท่ามกลางความตกตะลึงของบรรดาแฟนๆ บิราตูทั้งประเทศ
ผลงานอันโดดเด่นของบิกิลาเข้าตาโค้ชนิสกาเนนซึ่งกำลังเตรียมทีมนักกรีฑาสำหรับการแข่งโอลิมปิกครั้งต่อไปถึงแม้ผลงานของบิกิลาน่าจะทำให้เขาติดทีมชาติได้อย่างสะดวกโยธิน แต่ความที่เขาอายุยังน้อยและไม่มีประสบการณ์มากพอก็ทำให้บิกิลาไม่ติดโผ โชคชะตาหันมาเข้าข้างบิกิลาในนาทีสุดท้าย เมื่อ วามี บิราตู ฮีโร่ทีมชาติผู้เคยพ่ายแพ้ต่อบิกิลา ประสบอุบัติเหตุข้อเท้าหักในการเตะบอล นิสกาเนนติดต่อเชิญบิกิลาเข้าร่วมทีมชาติแทนทันทีเพียงไม่กี่นาทีก่อนเครื่องบินจะทะยานขึ้นจากเอธิโอเปีย มุ่งหน้าไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ ๑๗
ความที่บิกิลาเข้าร่วมทีมชาติอย่างฉุกละหุก ทำให้อาดิดาส สปอนเซอร์รองเท้ากีฬาในการแข่งโอลิมปิกคราวนั้น มีรองเท้าเหลือให้เขาลองเพียงไม่กี่คู่ รองเท้าคู่ที่เขาได้ใส่ไม่พอดี กัดเท้าเขาจนเป็นแผลในการฝึกซ้อมทุกครั้งรองเท้าเจ้ากรรมทำให้บิกิลาตัดสินใจลงแข่งวิ่งมาราธอนด้วยเท้าเปล่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาพนักวิ่งผิวหมึกตัวผอมโปร่งไม่ใส่รองเท้าจากแอฟริกา จะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเย้ยหยันและเหยียดผิวมากเพียงใด แต่บิกิลาไม่ยี่หระ เพราะอันที่จริงเขาก็วิ่งเท้าเปล่ามาเกือบทั้งชีวิต ตั้งแต่ตอนช่วยพ่อต้อนฝูงแกะ ม้า และลาในวัยเยาว์
และแล้วเมื่อบิกิลาวิ่งนำโด่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา ๒:๑๕:๑๖.๒ ทิ้งห่างผู้ชนะอันดับ ๒ ถึง ๒๖ วินาที เสียงครหานินทาทั้งหลายก็ถูกกลบด้วยเสียงปรบมือลั่นสนามของคนดูนับหมื่น รอบประตูชัยคอนสแตนตินในกรุงโรม จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดเส้นทางวิ่งมาราธอนในครั้งนี้
บิกิลา นักวิ่งเท้าเปล่าจากหนึ่งในประเทศที่ยากจนข้นแค้นที่สุดในโลกได้ทำลายสถิติโอลิมปิกและสถิติโลก เป็นนักกีฬาผิวดำคนแรกจากแอฟริกาที่ชนะเหรียญทองโอลิมปิก และกลายเป็นขวัญใจของคนนับล้านทั่วโลกภายในเวลาชั่วข้ามคืน
คนดูนับหมื่นรอบประตูชัยคอนแสตนตินในกรุงโรมปรบมือให้บิกิลาเมื่อเขาวิ่งเข้าเส้นชัย
เมื่อนักข่าวถามบิกิลาว่าเหตุใดเขาจึงวิ่งเท้าเปล่า บิกิลาซึ่งเต็มตื้นไปด้วยอารมณ์ปีติไม่ได้ตอบว่าเขาวิ่งเท้าเปล่าเพราะรองเท้ากัด หรือวิ่งอย่างนี้มาตั้งแต่จำความได้ เขาตอบว่า “ผมอยากให้โลกรู้ว่า เอธิโอเปียประเทศของผมประสบชัยชนะตลอดมา ด้วยความแน่วแน่และวีรกรรมอันกล้าหาญ”
คนส่วนใหญ่ที่เพิ่งได้รู้จักเอธิโอเปียจากชัยชนะของบิกิลา อาจคิดว่าเขาเตรียมโวหารสวยหรูนี้มาพูดเพื่อให้ฟังดูดี แต่แท้ที่จริงแล้ววาทะของบิกิลามีความหมายลึกซึ้งและตรงตัวกว่านั้น ในอดีต เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ของอิตาลี เจ้าภาพจัดการแข่งขันที่บิกิลามีชัย ได้กรีฑาทัพเข้าทำสงครามกับเอธิโอเปียระหว่างปี ๑๙๓๕-๑๙๓๖ และผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตอาณานิคมชื่อ “แอฟริกาตะวันออกอิตาลี” (Italian East Africa) ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง อิตาลีในฐานะผู้แพ้สงครามจำใจทำตามสัญญาสงบศึกที่ลงนามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในปี ๑๙๔๗ ยอมรับเอกราชของเอธิโอเปีย โดยยอมถอนทหารและจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน ๒๕ ล้านดอลลาร์ แต่เงินจำนวนนี้ก็ไม่อาจลบล้างความขมขื่นและคับแค้นของชาวเอธิโอเปียไปได้
ตลอดช่วงเวลากว่า ๑ ทศวรรษที่อิตาลีปกครองเอธิโอเปียในฐานะเจ้าอาณานิคม เอธิโอเปียไม่เคยประกาศยอมแพ้หรือยอมรับอำนาจของอิตาลีอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจักรพรรดิเซลาสซีจะต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษชั่วคราวก็ตาม นี่คือความหมายที่แท้จริงของวลีที่ว่า เอธิโอเปีย “ประสบชัยชนะตลอดมา” ในวาทะของบิกิลา วาทะที่กลายมาเป็นประโยคปลุกใจชาวเอธิโอเปียทั้งชาติจวบจนปัจจุบัน ในสายตาของประชากรในอดีตเมืองขึ้น คงไม่มีอะไรจะเหมาะสมไปกว่าการได้เห็นนักกีฬาชาติตัวเองประสบชัยชนะในดินแดนที่เคยเป็นผู้รุกราน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากบิกิลากลับถึงประเทศบ้านเกิด เสียงเล่าลือจะแพร่สะพัดออกไปถึงหมู่บ้านห่างไกลอย่างรวดเร็วว่า “อิตาลีต้องใช้ทหารนับล้านรุกรานเอธิโอเปีย แต่ลำพังทหารเอธิโอเปียเพียงคนเดียวก็เอาชนะโรมได้”
ขวัญใจชาวเอธิโอเปียคนใหม่ได้รับการเลื่อนชั้นและประดับเหรียญเกียรติยศ แต่ต่อมาไม่นาน พลเอกเมนจิสตู เนเวย์ ก็คิดก่อรัฐประหาร หว่านล้อมแกมบังคับบิกิลาในฐานะทหารใต้บังคับบัญชาให้เข้าร่วมขบวนการด้วย ถึงแม้ว่าบิกิลาจะไม่เข้าใจการเมืองเท่าไรนัก เขาก็ปฏิเสธไม่ยอมฆ่าคนใหญ่คนโตในรัฐบาล หลังจากที่รัฐประหารล้มเหลว ผู้ก่อการและทุกคนที่มีส่วนร่วมถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ คนจำนวนมากรวมทั้งโค้ชนิสกาเนนอ้อนวอนขอชีวิตบิกิลาต่อจักรพรรดิเซลาสซี จนพระองค์ทรงใจอ่อนยอมพระราชทานอภัยโทษ
บิกิลาในการแข่งขันวิ่งมาราธอนกีฬาโอลิมปิค ครั้งที่ ๑๘ ณ กรุงโตเกียว
หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์น่าหวาดเสียวมาได้ บิกิลาก็หันหลังให้การเมือง หันหน้าไปทุ่มเทให้การวิ่งมาราธอน เขาลงแข่งในรายการระดับโลกมากมายระหว่างปี ๑๙๖๑ และ ๑๙๖๓ และชนะเลิศทุกรายการยกเว้นในมาราธอนบอสตันปี ๑๙๖๓ ต่อมาอีก ๑ ปี เพียง ๔๐ วันก่อนโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ ๑๘ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นจะเริ่ม บิกิลาเจ็บท้องขณะซ้อมจนถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉิน ปรากฏว่าเขาป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบขั้นรุนแรง ต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน ทุกคนเชื่อว่าบิกิลาไม่มีทางฟื้นตัวได้ทันหลังจากที่เห็นเขาเดินกะเผลกลงบันไดเครื่องบินในวันที่เขาเดินทางมาถึงโตเกียว
แต่แล้วบิกิลาก็สร้างปรากฏการณ์อันเหลือเชื่ออีกครั้งหนึ่ง เขาวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา ๒:๑๒:๑๑.๒ ทำลายสถิติโลกเดิมของตัวเอง ทิ้งห่างผู้ชนะอันดับ ๒ ถึง ๔ นาทีเศษ กลายเป็นนักกีฬาคนแรกของโลกที่ชนะมาราธอนโอลิมปิก ๒ ครั้งซ้อน บิกิลาให้สัมภาษณ์ว่าวิ่งได้อีก ๑๐ กิโลเมตรสบายๆ และหยอดยาหอมว่า เสียงเชียร์ของคนญี่ปุ่นเป็นกำลังใจให้เขาหายเร็วกว่าปรกติ
รอบนี้บิกิลาใส่รองเท้าวิ่ง
บิกิลากลับบ้านเกิดไปพบกับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษอีกครั้งหนึ่ง เขาลงแข่งโอลิมปิกเป็นครั้งที่ ๓ ในปี ๑๙๖๘ แต่ต้องออกจากการแข่งขันกลางคันเนื่องจากเจ็บเข่าขวา นั่งมอง มาโม โวลเด เพื่อนร่วมชาติวิ่งสู่เส้นชัยเป็นคนแรก โวลเดให้สัมภาษณ์หลังการแข่งขันจบลงว่า ถ้าบิกิลาไม่บาดเจ็บเขาจะต้องเป็นผู้ชนะอย่างไม่ต้องสงสัย
ถึงแม้บิกิลาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนับตั้งแต่คราวที่เขาหวุดหวิดจะถูกแขวนคอ แต่ก็ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะบันดาลให้บิกิลาต้องเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง อันที่จริงเราก็อาจมองได้เหมือนกันว่า การเมืองที่ร้อนแรงตลอดเวลาของเอธิโอเปียย่อมกระทบกับชีวิตของคนทุกคนโดยไม่เลือกหน้า รวมทั้งฮีโร่โอลิมปิกด้วย
ในปี ๑๙๖๘ ระหว่างเกิดสงครามกลางเมืองในเอธิโอเปีย บิกิลาต้องหักรถโฟล์กของเขากะทันหันเพื่อหลบกลุ่มนักศึกษาที่กำลังเดินขบวนประท้วง รถปักหัวทิ่มลงไปในคู บิกิลารอดตายแต่ต้องกลายเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงมา ถึงกระนั้นก็ตาม บิกิลาก็ยังเป็นบิกิลาคนเดิมที่ไม่เคยสิ้นหวังหรือ
หดหู่กับชีวิต เขากล่าวยิ้มๆ ว่า “ผมรับได้กับทั้งชัยชนะและโศกนาฏกรรม เพราะทั้งคู่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า และเป็นความจริงของชีวิต” บิกิลาเริ่มหัดยิงธนู กีฬาที่ไม่ต้องใช้ขาทั้งสองข้าง เขาเข้าร่วมการแข่งขันยิงธนูในโอลิมปิกคนพิการ และต่อมาในปี ๑๙๗๐ ก็ชนะรายการแข่งรถเลื่อนหิมะ ๒ รายการ ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตรและ ๒๕ กิโลเมตร ที่จัดขึ้นในนอร์เวย์
บิกิลาอำลาโลกไปในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ ด้วยอาการเลือดคั่งในสมองอันเป็นผลข้างเคียงจากอุบัติเหตุที่ทำให้เขาต้องนั่งรถเข็น ท่ามกลางความโศกเศร้าของภรรยา ลูก ๔ คนและชาวเอธิโอเปียทั้งประเทศ มีคนหลั่งไหลไปร่วมงานศพของเขากว่า ๗๕,๐๐๐ คนจากทั่วทุกสารทิศ ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสนามกีฬาในแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย ในปี ๒๐๐๕ มูลนิธิ Glimmer of Hope (แสงเรืองรองแห่งความหวัง) ได้ก่อตั้งโรงเรียนประถมฯ ชื่อ ยายา อาเบเบ บิกิลา (Yaya Abebe Bikila) ขึ้นเป็นเกียรติแก่เขาในเมืองเมนดิดาที่อยู่ใกล้หมู่บ้านที่เขาเกิดมากที่สุด ปัจจุบันหมู่บ้านนั้นถูกทิ้งร้างไปนานแล้ว
ในยุคที่คนจำนวนมากใช้คำว่า “ฮีโร่” กันอย่างพร่ำเพรื่อจนฝาดเฝือไม่น้อยกว่าคำอื่นๆ อย่าง “ความรัก” หรือ “ศักดิ์ศรี” ซึ่งครั้งหนึ่งไม่ได้ยกมากล่าวอ้างกันง่ายๆ เหมือนอย่างในทุกวันนี้ และในประเทศที่เงินซื้ออะไรๆ ได้แทบทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่วุฒิการศึกษาและหน้าตาในสังคม เรื่องราวของ อาเบเบ บิกิลา ฮีโร่คนสำคัญของเอธิโอเปีย และคน (ไม่) สำคัญของโลก ก็มีแง่มุมมากมายที่ชวนให้ขบคิดว่า ความเป็น “ฮีโร่” ที่แท้จริงนั้นควรวัดจากอะไร และเหตุใดบิกิลา แชมป์โลกมาราธอนผู้วิ่งเท้าเปล่าอย่างไม่อายใคร ถึงยังเป็นฮีโร่ในดวงใจของคนเอธิโอเปียทั้งชาติอย่างไม่เสื่อมคลาย ภายหลังจากวันที่คบเพลิงโอลิมปิกมอดดับลงและนักกีฬาผู้เคยเรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากคนดูล่วงลับไปแล้วนานเกือบครึ่งศตวรรษ