พระไพศาล วิสาโล / ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์
มารนั้นเป็นตัวชั่วร้ายที่คนดีมิอยากข้องเกี่ยว อีกทั้งเป็นศัตรูของผู้ใฝ่ธรรม แต่ถ้าพิจารณาจากความหมายที่แท้จริงของมาร ตามที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้แจกแจงไว้ อันได้แก่ “สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณความดีหรือผลที่หมายอันประเสริฐ…ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุผลสำเร็จอันดีงาม” เราทุกคนย่อมไม่อาจหนีมารพ้น เพราะอย่างน้อย ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย ก็ถือว่าเป็นมารตัวใหญ่ที่คอยขัดขวางมิให้เราทำความดีงามได้อย่างยั่งยืนและอย่างถึงที่สุด ดังพระอรรถกถาจารย์เรียกว่า ขันธมารและมัจจุมาร มารทั้งสองประการนี้แหละที่ตามรังควานพระพุทธองค์ในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพจวบจนปรินิพพาน
แน่นอนว่าเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นปุถุชนยังต้องเจอมารตัวอื่นอีก โดยเฉพาะกิเลสมารซึ่งทำให้เราหมุนวนอยู่ในวัฏฏะแห่งความโลภ โกรธ หลง จนอาจไม่คิดหาทางหลุดพ้นหรือเชื่อว่ามีความหลุดพ้นด้วยซ้ำ มารชนิดนี้แหละที่สามารถ “ฆ่า” บุคคลให้ตายจากคุณความดีหรือผลที่หมายอันประเสริฐได้อย่างแท้จริง จัดว่าน่ากลัวที่สุด และตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาพาให้พ้นจากความหลง เราก็ยังต้องเจอมารชนิดนี้อยู่เรื่อยไป และพลัดติดกับดักของมันอยู่เสมอ
ในเมื่อเราหนีมารไม่พ้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันชนิดที่ไม่เผลอตกอยู่ในอำนาจของมันจนคลาดเคลื่อนจากทางแห่งความดี ในทัศนะของพุทธศาสนา เครื่องมืออย่างแรกในการต่อต้านอำนาจของมารได้แก่ศีล คือการควบคุมกายและวาจาไม่ให้ทำตามบัญชาของมัน เปรียบเสมือนการสร้างรั้วเพื่อควบคุมตนเองให้อยู่ในขอบเขต แต่ศีลในแง่นี้ยังมีความหมายเชิงลบคือ “ไม่ทำอะไรบางอย่าง” ที่จริงศีลยังมีความหมายเชิงบวกคือ “ทำอะไรบางอย่าง” ได้แก่การทำความดีชนิดที่ทวนกระแสกิเลสหรือสวนทางกับความปรารถนาของมาร เช่น แบ่งปันหรือเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นแทนที่จะเอาเข้าตัว ช่วยเหลือแทนที่จะเอาเปรียบ ชื่นชมแทนที่จะหาช่องตำหนิ
วิธีนี้จะช่วยให้จิตใจเรามีภูมิต้านทานต่อกิเลสมาร ทำให้มันครอบงำจิตใจของเราลำบาก จะว่าไปวิธีนี้ก็ไม่ต่างจากการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เชื้อโรคนั้นมีอยู่ในตัวเราตลอดเวลา แต่ที่เราไม่ล้มป่วยก็เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราเข้มแข็ง สามารถควบคุมให้เชื้อโรคอยู่ในขอบเขต ไม่สามารถแพร่ระบาดจนทำให้ร่างกายปั่นป่วนได้
อย่างไรก็ตาม การที่จิตใจของเราจะมีภูมิต้านทานดีขึ้น นอกจากการฝึกกายวาจาแล้ว จำต้องมีการฝึกฝนจิตใจโดยตรง เช่น ฝึกใจให้ลดความเห็นแก่ตัว นึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ด้วยการแผ่เมตตาและความปรารถนาดี หากทำเช่นนี้แม้กระทั่งกับคนที่มีเรื่องกระทบกระทั่งกับเรา ก็จะช่วยลดความเกลียดชังไปได้ การฝึกใจให้มีสมาธิยังช่วยให้จิตใจสงบเย็น ความโลภ ความโกรธ ความว้าวุ่นใจ ก็จะบรรเทาลง
ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง คือการฝึกสติให้ระลึกได้ไวและรู้เท่าทันอย่างรวดเร็วเวลามารเข้ามาก่อกวน มารนั้นเป็นเจ้าแห่งกลอุบาย อุบายนั้นจะได้ผลต่อเมื่อ “เหยื่อ” หลงกล แต่หากเหยื่อรู้เท่าทันในกลอุบายนั้น มารก็ทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป ในพระไตรปิฎกเต็มไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับมารที่ออกอุบายสารพัดเพื่อขัดขวางพระพุทธเจ้า ภิกษุ และภิกษุณีที่ใฝ่ธรรม เช่น ปลอมตัวเป็นพญาช้าง งูใหญ่ เสือร้าย หรือแกล้งทำแผ่นดินไหวเพื่อหลอกให้กลัว หรือปลอมตัวเป็นมนุษย์เพื่อยั่วยวนให้สึก หรือหว่านล้อมให้กลับไปหากามสุข บางครั้งก็มาชวนพระพุทธองค์ให้เสด็จกลับไปครองราชย์ หรือแม้แต่เข้าไปสิงในท้องของพระโมคคัลลานะ แต่ทุกครั้งมารก็พ่ายแพ้ และที่พ่ายแพ้ก็เพราะถูกรู้ทัน ไม่ว่าพระพุทธองค์ พระอัครสาวก ภิกษุ หรือภิกษุณี ที่ถูกมารมารังควาน ล้วนใช้วิธีเดียวกันนั่นคือ บอกกับมารว่า “มารผู้มีใจบาป เรารู้จักท่าน อย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” เพียงเท่านี้ มารก็ล่าถอยด้วยความเสียใจที่มันถูกรู้เท่าทัน
เชื้อโรคนั้นเราไม่ต้องกำจัดมันให้สิ้นซากไปจากร่างกาย (ถึงจะพยายามทำเช่นนั้น ก็ไม่มีวันสำเร็จ) เพียงแต่สร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็ง โดยที่บางครั้งก็ต้องช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ทำงานดีขึ้นด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งก็คือเชื้อโรคอย่างอ่อน เพื่อให้เซลล์คุ้มกันจำเชื้อโรคได้ และเมื่อจำได้แล้ว ไม่ว่าเชื้อโรคนั้น ๆ จะเข้าร่างกายทางไหน ก็จะถูกภูมิคุ้มกันบุกไปทำลาย เคล็ดลับของระบบภูมิคุ้มกันคือจำเชื้อโรคได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เคล็ดลับในการสู้กับมารก็คือ ระลึกได้ไวหรือรู้เท่าทันอย่างรวดเร็วเมื่อกิเลสมารเข้ามารังควาน ไม่ว่ามันจะปลอมตัวมาอย่างไร ทันทีที่มันย่างเท้าเข้าประตูใจ สติก็ระลึกได้ทันที เพียงเท่านี้มันก็ต้องล่าถอยไป เปรียบเสมือนหัวขโมยที่ถูกไฟส่องทันทีที่ย่างเท้าเข้าบ้าน ย่อมไม่อาจทนอยู่ต่อไปได้
การพยายามกำจัดมารด้วยการกดข่มอารมณ์อกุศล เช่น ตัณหา ราคะ โทสะ นั้นอาจดูเหมือนได้ผล แต่ก็เพียงชั่วคราว เพราะมันไม่ได้ไปไหน หากซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิต และคอยโผล่มารังควานเวลาเราเผลอ หาไม่ก็คอยปั่นป่วนอยู่ลึก ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว สังเกตได้เวลาเราโกรธใครสักคน และพยายามกดความรู้สึกนั้นเอาไว้ มันจะโผล่มาอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งกดเท่าไร ก็ยิ่งโผล่มาบ่อยเท่านั้น และหากกดข่มมันอย่างหนัก (หรือพยายาม “กระทืบ” มันให้แดดิ้น) มันก็จะยิ่งหลบลึกขึ้นจนอาจไปฝังตัวอยู่ในจิตไร้สำนึก และแสดงตัวออกมาในอาการที่ผิดเพี้ยนหรือแปลงโฉม เช่นบางคนโกรธและเกลียดพ่อแม่มาก แต่พยายามปฏิเสธและกดข่มความรู้สึกนี้เอาไว้ เพราะรู้ว่ามันไม่ดี เป็นสิ่งที่ลูกไม่ควรทำ แต่ผลก็คือมันไปแสดงออกในรูปอื่น เช่นเกลียดโกรธศาลพระภูมิแทน เห็นศาลพระภูมิที่ไหนเป็นไม่ได้ อยากเข้าไปทำลาย
บางคนทะเลาะกับพ่อ ถูกพ่อด่าอย่างสาดเสียเทเสีย จึงโกรธมาก ถึงกับเงื้อมือจะไปตบพ่อ แต่ยั้งมือได้ทัน กระนั้นก็มีความรู้สึกผิดอย่างแรงที่คิดทำร้ายพ่อ จึงพยายามกดข่มทั้งความรู้สึกไม่ดีกับพ่อและความรู้สึกผิดในตัวเอง แต่ความรู้สึกเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน หากหลบลึกและออกมาก่อกวนด้วยการทำให้แขนข้างที่จะตบพ่อนั้นยกไม่ขึ้น รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ตรวจเท่าไรก็ไม่พบความผิดปรกติทางกาย อาการเหล่านี้จะไม่หายจนกว่าจะดึงความรู้สึกอกุศลดังกล่าวให้โผล่มายังจิตสำนึก สู่การรับรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง คือเห็นมันตามที่เป็นจริง ไม่คิดจะเข้าไปทำลายมันหรือทำตามอำนาจของมัน แม้มันจะโถมถั่งทะลักทลายออกมาเพียงใดก็ตาม
การเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับมารอย่างรู้เท่าทัน หรืออยู่กับมันชนิดที่มันทำอะไรเราไม่ได้ เป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตอย่างดีงามและเป็นสุข แต่จะดีกว่านั้นหากเราสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ด้วย นี้ใช่ไหมเป็นวิธีกำจัดมารอย่างได้ผล เพราะการกำจัดศัตรูที่ดีที่สุดก็คือการทำให้เขามาเป็นมิตร ทันทีที่เราทำให้มารเป็นประโยชน์ในทางส่งเสริมความดีงาม มารก็สิ้นสภาพความเป็นมาร และกลายเป็นมิตรแทน
ความเจ็บป่วยนั้นเป็นมารก็จริง แต่ถ้าใช้ให้เป็นก็สามารถทำให้เราเห็นธรรมได้ หลายคนที่เป็นโรคร้าย เช่น มะเร็ง เอดส์ โรคหัวใจ เมื่อรู้ว่าความตายใกล้เข้ามา ก็ได้คิดว่าเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ช่วยให้หายทุกข์ใจไม่ได้ จึงหันเข้าหาธรรมะและค้นพบความสุขที่แท้จริง ชีวิตและความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มีบางคนที่อาศัยความเจ็บปวดสอนใจให้เห็นถึงความไม่เที่ยงและความไม่น่ายึดถือของสังขาร เกิดการปล่อยวาง จิตใจเป็นอิสระ สงบเย็น แม้กายจะทุกข์ก็ตาม
อันที่จริงไม่ต้องถึงกับเป็นโรคร้าย แค่ล้มหมอนนอนเสื่อหรือทุกข์ทรมานด้วยโรคสามัญ ก็จะตระหนักได้ว่าคนเราเพียงแค่มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ก็สุขแล้ว แต่เรามักไม่เห็นความจริงข้อนี้เวลามีสุขภาพดี กลับไปคิดว่าถ้ามีรถเบนซ์ บ้านหลังใหญ่ หรือเป็นผู้จัดการ รัฐมนตรี จึงจะมีความสุข ความเจ็บป่วยทำให้เรามองเห็นความจริงที่ถูกมองข้าม และตระหนักถึงความสุขที่ถูกละเลย ในยามนั้นแหละที่ความโลภและความหลงจะลดลง เพราะเราไม่ต้องการอะไรอีก นอกจากความสุขอย่างธรรมดาสามัญ อันได้แก่การมีสุขภาพดีเท่านั้น
ในทำนองเดียวกัน ความตายก็ไม่ใช่มาร หากเราใช้ความตายเป็นเครื่องกระตุ้นใจให้ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท หรือหลงเพลิดเพลินในความสุข ในความเป็นหนุ่มสาว หรือในทรัพย์สินเงินทอง การระลึกถึงความตายอยู่เป็นนิตย์ทำให้เราขวนขวายหมั่นเพียรในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน เช่นการปฏิบัติตัวอย่างดีที่สุดต่อคนที่เรารักและรักเรา ไม่ผัดผ่อนโดยอ้างว่าวันนี้ขอเที่ยวก่อนหรือหาเงินก่อน อีก ๑๐ ปีถึงค่อยหาเวลาอยู่กับลูก หรือปีหน้าค่อยไปเยี่ยมพ่อแม่ก็ได้ เมื่อระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เราย่อมตระหนักว่าวันนั้นอาจมาไม่ถึงก็ได้ เพราะไม่เราหรือเขาอาจจะไปก่อน จึงควรรีบทำสิ่งดี ๆ กับเขาเสียแต่วันนี้
ในอีกด้านหนึ่ง ความตายก็สามารถช่วยให้เราปล่อยวางในสิ่งที่เราชอบยึดถือ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความกลุ้มกังวล ความเศร้าโศกเสียใจ โดยไม่ต้องรอให้ความตายมาเคาะประตู เพียงแค่นึกถึงความตายของตนเองอย่างจริงจัง ความอยากรวย อยากดัง ก็จะฝ่อลงไปทันที เพราะตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ความโกรธเกลียดก็จะบรรเทาลง เพราะได้คิดว่าอีกไม่นานก็ต้องตายจากกัน จะโกรธกันไปทำไม ความกลุ้มกังวลเรื่องการงาน หรือเสียใจที่สูญเงิน จะมลายไปเช่นกัน เพราะมันกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเทียบกับความตายของตัวเอง
มิใช่แต่ขันธมารและมัจจุมารเท่านั้น กิเลสมารก็สามารถเป็นประโยชน์แก่เราได้ หากรู้จักใช้ พระนันทะซึ่งเป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า ยอมทิ้งคนรักและออกบวชมาบำเพ็ญสมาธิภาวนาก็เพราะปรารถนาเทพธิดาในสวรรค์ แต่เมื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนาไปถึงจุดหนึ่งก็พบว่า ความสุขที่ยิ่งกว่านั้นมีอยู่แล้วในใจตน จึงเกิดความเพียรในการปฏิบัติธรรมจนหลุดพ้นจากกิเลส เช่นเดียวกับลูกชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ยอมเข้าวัดฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เพราะอยากได้ค่าจ้างจากพ่อ แต่ในที่สุดก็บรรลุธรรมเพราะการฟังธรรมนั้นเอง ทั้ง ๒ กรณีเป็นตัวอย่างของวิธีการที่เรียกว่าใช้ตัณหาละตัณหา
ถึงจะละตัณหาได้ไม่หมด แต่หากใช้ให้เป็น พลังในการทำความดีก็สามารถเกิดขึ้นได้จากตัณหา มีเรื่องเล่าว่า ยายพาหลานชายวัย ๓ ขวบไปถวายภัตตาหารเช้าให้หลวงปู่ขาว เด็กน้อยเห็นเงาะเต็มฝาบาตรข้างหลวงปู่ เกิดอยากกินขึ้นมา หลวงปู่จึงพูดว่า มาแลกกัน ถ้าหนูนั่งสมาธิ หลวงปู่ก็จะให้กินเงาะทั้งฝาบาตร ด้วยความอยากกินมาก เด็กน้อยจึงตกลง หลวงปู่แนะให้เด็กน้อยนั่งขัดสมาธิ หลับตา และนึกคำว่า “หมากเงาะ หมากเงาะ” ทุกลมหายใจเข้าออก เด็กน้อยก็ทำตาม ใจก็นึกเห็นภาพเงาะชัดเจนจนน้ำลายไหล แต่ทำไปสักพัก ใจก็เริ่มสงบ มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อได้ยินเสียงระฆัง เมื่อลืมตาขึ้นมาก็พบว่าทั้งศาลาว่างเปล่า มีแต่หลวงปู่ขาวนั่งสมาธิอยู่ข้างหน้าผู้เดียว เด็กน้อยไม่รู้ว่าตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายสามแล้ว เด็กน้อยนั่งสมาธินานถึง ๘ ชั่วโมงโดยไม่ขยับเขยื้อน เพียงเพราะความอยากกินเงาะเป็นปฐมเหตุ
คนฉลาดย่อมไม่ปล่อยให้มารเข้ามาก่อกวนอย่างเดียว แต่ยังรู้จักใช้มารให้เป็นประโยชน์ หรือเปลี่ยนมารให้เป็นมิตร อุปสรรคใด ๆ ก็ตามมิใช่เป็นสิ่งขัดขวางหรือบั่นทอนเราเท่านั้น หากยังสามารถเป็นเครื่องส่งเสริมให้เราเข้าถึงความดีหรือบรรลุความสำเร็จที่พึงประสงค์ ในการทำสมาธิภาวนา ความฟุ้งซ่าน ความขุ่นเคือง ความเครียด มิใช่ตัวอุปสรรคหรือปัญหา หากมีสติเห็นมันด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่พยายามกดข่มหรือผลักไสมัน ในที่สุดมันก็จะเผยความจริงออกมา ทำให้เราเกิดปัญญาแลเห็นไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ไม่คงตัว และไม่ใช่ตัวตน ที่ไม่น่ายึดถือและยึดถือไม่ได้ ถึงตรงนี้เราจะเห็นว่า เพราะความยึดถือเป็น “ตัวกู ของกู” นี้แหละที่ทำให้เราทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ที่ปรากฏแก่เราย่อมแสดงให้เราเห็นถึงทางพ้นทุกข์ นั่นคือการปล่อยวางจากความยึดถือ ถ้าความฟุ้งซ่าน ความขุ่นเคือง ความเครียด ความเศร้าโศก เป็นความทุกข์ มันก็เผยแสดงให้เห็นความดับทุกข์ในเวลาเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาก็สามารถแปรเป็นปัญญาได้เช่นกัน
มารกับมิตร ปัญหากับปัญญา อุปสรรคกับตัวช่วย ตลอดจนทุกข์และสุข มิใช่เป็นสิ่งที่แยกจากกันหรืออยู่คนละขั้ว หากอยู่ด้วยกันเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ถ้ามองให้เป็นก็จะเห็นได้ไม่ยาก