ภัควดี วีระภาสพงษ์
จากภาพ ซ้าย,กลาง หมู่บ้านริโอบลังโก ประเทศเวเนซุเอลา,
ภาพขวา เจ้าหน้าที่โครงการ Sembrando Luz ติดตั้งระบบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในชุมชน เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔
(ภาพจาก venezuelanalysis และ mppee)
ที่หมู่บ้านริโอบลังโก ชุมชนอันห่างไกลและทุรกันดารในประเทศเวเนซุเอลา ชาวบ้านกำลังตื่นเต้นยินดีกันอย่างมาก เพราะวันนี้จะเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านนี้มีไฟฟ้าใช้ ยามค่ำคืนจะไม่มีแต่ความมืดและแสงตะเกียงวอมแวมอีกต่อไป พวกเขาจะมีแสงสว่าง มีโทรทัศน์ มีคอมพิวเตอร์ มีตู้เย็น เมื่อแสงไฟจากหลอดนีออนจ้าขึ้นเป็นครั้งแรก เด็ก ๆ โห่ร้องอย่างตื่นเต้น แม่เฒ่าคนหนึ่งถึงกับร่ำไห้เพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่นางได้เห็นแสงไฟฟ้า
เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งนางงาม น้ำมัน และประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาประเทศนี้ครอบครองแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับ ๑๐ และส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ ๕ ของโลก แต่ประเทศเวเนซุเอลาก็ตกอยู่ภายใต้คำสาปของ “ทรัพยากรมั่งคั่ง ประชาชาติยากจน” ความยากจนและความเหลื่อมล้ำนี้เองส่งผลให้ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ และแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยของเขาได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง
แม้สื่อตะวันตกโดยเฉพาะสื่ออเมริกันมักวาดภาพประธานาธิบดีชาเวซราวปิศาจร้าย แต่แนวนโยบายของเขาก็ส่งผลดีแก่ประชาชนชาวเวเนซุเอลาไม่น้อย อีกทั้งชาเวซยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่านักการเมืองทั่วไป นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ เขาก็ริเริ่มโครงการที่น่าสนใจจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือโครงการพลังงานทางเลือก โดยเน้นพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพิเศษ ประธานาธิบดีชาเวซกล่าวว่าเขาได้แรงบันดาลใจเรื่องนี้มาจากประเทศเวียดนามและคิวบา การที่รัฐบาลประเทศร่ำรวยน้ำมันอย่างเวเนซุเอลาหันมาให้ความสนใจพลังงานทางเลือก จึงนับว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลอย่างแท้จริง
เดิมทีเวเนซุเอลาใช้พลังน้ำจากเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่โครงข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ เนื่องด้วยภูมิประเทศทุรกันดารและการพัฒนาที่กระจุกตัวเฉพาะในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ๆ บางหมู่บ้านบางชุมชนที่อยู่ห่างไกลเมืองมาก ๆ ไม่มีถนนตัดเข้าไปถึง หรือตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน จึงไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้มาแต่ไหนแต่ไร
ในปี ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาบริการด้านไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาล ได้ออกสำรวจปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในโรงเรียนรัฐทั่วประเทศ พวกเขาพบว่าไม่เฉพาะโรงเรียนเท่านั้น ในพื้นที่ชนบทจำนวนมากมีปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าค่อนข้างร้ายแรงทีเดียว เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ จึงเกิดเป็นโครงการที่เรียกว่า Sembrando Luz หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ภารกิจหว่านแสงไฟ” โดยมีเป้าหมายที่จะนำแสงไฟและกระแสไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ชนบทห่างไกลเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นคำตอบของโจทย์ที่ตั้งไว้
แต่เมื่อเริ่มโครงการนี้อย่างจริงจัง จำนวนชุมชนที่มาขอเข้าร่วมโครงการมีมากถึงกว่า ๑,๕๐๐ ชุมชน รัฐบาลไม่อาจตอบสนองได้พร้อมกันหมดในทันที คณะผู้ประสานงานโครงการจึงวางเงื่อนไขเพื่อจัดลำดับก่อนหลัง ชุมชนใดจะได้รับความช่วยเหลือก่อนจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้
ประการแรก ชุมชนนั้นต้องอยู่ห่างจากโครงข่ายกระแสไฟฟ้ามากกว่า ๑๐ กิโลเมตร ชุมชนที่จะได้รับเลือกอันดับแรกคือชุมชนที่ยากจนที่สุด มีปัญหาทางเศรษฐกิจมากที่สุด การคมนาคมลำบากที่สุด หรือตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวน
ประการที่ ๒ โครงการนี้ต้องบูรณาการเข้ากับการพัฒนาชุมชน หมายความว่า ชุมชนที่ขาดแคลนบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำประปา สถานีอนามัย โรงเรียนประถม ฯลฯ ควรได้รับการจัดสรรบริการพื้นฐานเหล่านี้ให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงจะขอรับความช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ชุมชนต้องมีองค์กรจัดตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สภาชุมชน เพื่อเข้ามารับผิดชอบดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ และลดการพึ่งพิงรัฐบาลให้เหลือน้อยที่สุด
เพื่อความสัมฤทธิผลของการพัฒนา โครงการหว่านแสงไฟจึงประสานการทำงานกับสถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันอุทยานแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันด้านการเกษตร ตลอดจนกองทัพซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขนอุปกรณ์ด้วยเฮลิคอปเตอร์เข้าไปในพื้นที่ห่างไกล และ PDVSA บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลาที่ถูกโอนกลับมาเป็นของชาติในสมัยรัฐบาลชาเวซ ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาความรู้ด้านพลังงานทางเลือก
โครงการหว่านแสงไฟประกอบด้วย ๒ ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือ คณะวิศวกร ช่างไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเดินทางมาช่วยกันติดตั้งระบบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เช่น โบสถ์ สถานีอนามัย ศาลาหมู่บ้าน โรงเรียน ฯลฯ แล้วแต่ว่าชุมชนนั้นจะมีสถานที่ใดพร้อมแก่การติดตั้ง ส่วนขั้นตอนที่ ๒ คณะทำงานจะเชื่อมต่อและติดตั้งระบบไฟฟ้าให้แต่ละบ้าน
โครงการหว่านแสงไฟเริ่มดำเนินการขั้นตอนแรกในปี ๒๕๕๐ ในชั่วระยะเวลา ๒ ปีหลังจากนั้น โครงการได้ติดตั้งระบบทั้งหมดเสร็จสิ้นในชุมชนแล้ว ๕๕๐ แห่ง พร้อมกับติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มน้ำใช้ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อีก ๑๑๐ แห่ง และเครื่องสูบน้ำอีก ๓๐ แห่ง สร้างประโยชน์สุขให้ประชาชนได้ถึง ๒ แสนคน ส่วนขั้นตอนที่ ๒ ที่เป็นการกระจายไฟฟ้าเข้าสู่บ้านเรือนแต่ละหลังนั้นเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๓ ตอนนี้ชุมชนหลายแห่งที่อยู่ลึกเข้าไปในเทือกเขาแอนดีสเริ่มมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน
ภาพซ้ายและกลาง : เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบรรทุกอุปกรณ์ติดตั้งโซลาร์เซลล์มาส่งยังชุมชนกลางป่าเขา ชาวบ้านจะช่วยกันขนอุปกรณ์ที่เฮลิคอปเตอร์ทิ้งลงมา (ภาพ : James Suggett and Sembrando Luz ที่มา : venezuelanalysis / ภาพขวา : เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สอนวิธีใช้ไฟฟ้าแก่ชาวบ้าน
ชุมชนมีส่วนร่วม
เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบินเข้าไปในชุมชนกลางป่าเขาเพื่อโยนแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่และสายไฟลงมา ชาวบ้านจะมายืนต่อแถวกันเพื่อช่วยขนอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าไปในชุมชน สภาชุมชนจะช่วยกันจัดหาบ้านพักให้คณะทำงานของโครงการที่เข้าไปติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า และในขั้นตอนที่ ๒ ซึ่งเป็นการติดตั้งระบบไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือนนั้น เพื่อนบ้านจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ บ้านไหนได้ไฟฟ้าใช้ก่อนก็ยินดีให้เพื่อนบ้านที่ยังรอการติดตั้งมาอาศัยใช้ด้วยกันได้
นายเฆซุส มาร์เรโร ผู้อำนวยการโครงการหว่านแสงไฟ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่นำไฟฟ้าไปให้ชุมชน แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อ “สร้างจิตสำนึกของความเป็นชุมชน” และ “ให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ” อีกโสดหนึ่ง
การดำเนินการให้สัมฤทธิผลตามเป้าหมายย่อมไม่อาจบรรลุได้ด้วยลมปากเท่านั้น รัฐบาลกับองค์กรสภาชุมชนจะลงนามในสัญญา “ความรับผิดชอบร่วมกัน” สัญญานี้ผูกมัดให้ชุมชนต้องส่งคนเข้าร่วมการอบรมวิธีบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หากชุมชนไหนไม่พร้อมที่จะทำสัญญานี้หรือเห็นว่าระบบไฟฟ้าไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน ก็อาจปฏิเสธไม่เข้าร่วมโครงการนี้หรือไปเข้าร่วมโครงการอื่น ๆ ของรัฐบาลแทนได้ สภาชุมชนจะคิดหาระบบการบำรุงรักษาขึ้นมาเองก็ได้ เช่นมีบางชุมชนกำหนดให้เก็บค่าธรรมเนียมจำนวนเล็กน้อยจากชาวบ้านเพื่อนำมาใช้บำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
หน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบการอบรมในเชิงเทคนิคนั้น มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การคิดค้นหาวิธีถ่ายทอดความรู้แก่คนจนและคนไม่รู้หนังสือ เจ้าหน้าที่ทุกคนตั้งแต่ผู้จัดการไปจนถึงช่างจะต้องมีส่วนร่วมในการให้คำอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ แก่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นแสงไฟฟ้ามาก่อนในชีวิตได้บำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง
ภาพซ้ายและกลาง : ผู้เฒ่าผู้แก่ และเด็กน้อยเห็นแสงไฟฟ้าครั้งแรก, ภาพขวา : นั่งดูทีวีรายการของดิสนีย์เรื่อง “The Jungle Book”
การมีไฟฟ้าใช้ช่วยยกระดับมาตรฐานชีวิตของประชาชนอย่างมาก ในสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้านั้น เด็ก ๆ แทบไม่ค่อยได้ดื่มนมหรือกินเนื้อสัตว์เพราะไม่มีตู้เย็นสำหรับถนอมอาหาร อัตราการตายของผู้หญิงเนื่องจากการคลอดบุตรสูง และอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บที่น่าจะรักษาได้ก็สูงกว่าปรกติ ทั้งนี้เพราะสถานีอนามัยไม่อาจเก็บรักษาวัคซีนและยาได้นาน อีกทั้งไม่อาจดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมในยามค่ำคืน คนป่วยบางคนต้องลงเปลหามให้ครอบครัวแบกเดินเท้าไปหลายชั่วโมงกว่าจะถึงโรงพยาบาล ถึงแม้บางชุมชนที่พอมีกำลังทรัพย์จะซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าแบบใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้ก็ตาม แต่ก็ต้องประสบความยากลำบากและความสิ้นเปลืองในการเดินทางไปซื้อน้ำมันในเมือง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องปั่นไฟ
แต่เมื่อมีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ โรงเรียนก็ใช้เครื่องถ่ายเอกสารได้ สถานีอนามัยก็มีตู้เย็นและแสงสว่าง ชาวบ้านบางคนได้เข้าร่วมโครงการ “ภารกิจโรบินสัน”* ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลที่สอนให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่รู้หนังสือและอ่านออกเขียนได้ ชุมชนยังจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนเพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลได้อีกด้วย
ภารกิจปฏิวัติพลังงาน
ในปี ๒๕๔๙ รัฐบาลชาเวซเริ่มโครงการระดับประเทศในชื่อ “ภารกิจปฏิวัติพลังงาน” ภารกิจนี้มีเป้าหมายเพื่อประหยัดน้ำมันที่ต้องนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า รัฐบาลเริ่มเปลี่ยนเสาไฟฟ้าตามถนนสายหลักในเมืองการากัสให้เป็นเสาไฟฟ้าสองระบบ กล่าวคือมีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ติดอยู่ที่เสาแต่ละต้น ส่วนในกรณีที่ไม่มีแสงแดด หรือเซลล์แสงอาทิตย์ผลิตพลังงานไม่เพียงพอ ก็มีกระแสไฟฟ้าปรกติไว้ใช้สำรอง
รัฐบาลชาเวซร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามและคิวบาก่อตั้งโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้ในประเทศและอาจส่งออกในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลมีโครงการเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอดประหยัดไฟทั่วประเทศ ตลอดจนใช้วิธีคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้าเก็บจากผู้บริโภคที่ใช้ไฟฟ้ามากและให้ส่วนลดแก่ผู้บริโภคที่ใช้ไฟฟ้าน้อย
ภารกิจต่อมาที่รัฐบาลชาเวซกำลังดำเนินการก็คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยตั้งเป้าว่าจะต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมให้ได้ ๑,๖๐๐ เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. ๒๕๖๓ บริษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA เป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาในด้านนี้และเริ่มดำเนินการไปแล้ว ๓ โครงการ แม้ว่าการใช้พลังงานลมจะเดินหน้าไปอย่างช้า ๆ แต่ก็ทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในด้านการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่รักษาสิ่งแวดล้อม
ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ กล่าวไว้ครั้งหนึ่งในเรื่องพลังงานทางเลือกว่า “มันเป็นเรื่องเร่งด่วน” แม้แต่ประเทศร่ำรวยน้ำมันอย่างเวเนซุเอลาก็ยังมุ่งมั่นที่จะหันมาใช้พลังงานทางเลือก ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การบูรณาการภาคส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ดังที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของโครงการหว่านแสงไฟกล่าวว่า “พลังงานจำเป็นต่อการพัฒนา แต่พลังงานอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนา”
*คำว่า โรบินสัน ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ แซมวล โรบินสัน (ค.ศ.๑๗๖๙-๑๘๕๔) นักการศึกษาชาวเวเนซุเอลา