บุญเอก อรุณเลิศสันติ : รายงาน
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

 

“ผมเป็นเพียงหนึ่งในตัวแทนของผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวอเมริกันกว่า ๑๐ ล้านคน และผมเองก็มีเหตุผลอย่างน้อย ๑๐ ล้านเหตุผลที่จะบอกว่าทำไมถึงต้องใส่สายรัดข้อมือสีเหลือง เพราะสายรัดข้อมือนี้เหมือนสัญลักษณ์ที่บอกให้ผมมีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็งในทุกวัน”

คำพูดข้างต้นเป็นของ แลนซ์ อาร์มสตรอง นักปั่นจักรยานทางไกลผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้ต่อสู้กับโรคมะเร็งที่ต่อมลูกหมากจนสามารถกลับคืนสู่สนามจักรยานทางไกลรายการใหญ่อย่างตูร์เดอฟรองซ์ และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นแชมป์จักรยานทางไกลได้ถึง ๖ สมัย

แลนซ์ อาร์มสตรอง กับสายรัดข้อมือสีเหลืองที่มีคำว่า “LIVESTRONG” ของเขา ได้ทำให้คนทั่วโลกรู้จักกับสายรัดข้อมือซิลิโคน ที่เรียกกันว่า wristband เป็นครั้งแรก ก่อนที่มันจะได้รับความนิยมแพร่ขยายไปในทุกวงการ

แลนซ์ร่วมมือกับบริษัทไนกี้ ผู้สนับสนุนหลักทีมจักรยานของเขา ก่อตั้งมูลนิธิแลนซ์ อาร์มสตรอง และใช้ตนเองเป็นแบบในการรณรงค์เพื่อหาเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยการสวมสายรัดข้อมือสีเหลือง โดยไนกี้ผลิตสายรัดข้อมือดังกล่าวออกจำหน่ายในราคา ๑ ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๔๐ บาท ข้อความบนสายรัดและสีเหลืองที่เลือกใช้ สื่อถึงความหวังและความกล้า เพื่อเป็นแรงใจให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง

“LIVESTRONG” ได้กลายเป็นต้นแบบให้องค์กรต่างๆ สร้างสายรัดข้อมือต่างสีหลากความหมายขึ้นมาเพื่อรณรงค์โครงการของตนเองและมอบรายได้เป็นสาธารณกุศล ไม่ว่าจะเป็นสีขาวดำ “STAND UP SPEAK UP” ต่อต้านการเหยียดสีผิว ที่นักฟุตบอลหลายลีกของยุโรปพร้อมใจกันใส่ สีน้ำเงิน “NO COMPROMISE” โดยมูลนิธิแอนดี ร็อดดิก เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและถูกทอดทิ้ง สีฟ้า “BEAT BULLYING” รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหง โดยสถานีวิทยุ BBC Radio one UK สีฟ้าน้ำทะเล “รวมใจช่วยภัยจากสึนามิ” มีด้วยกัน ๔ ภาษา คือ อังกฤษ อินโดนีเซีย ศรีลังกา และไทย รายได้สมทบกองทุน TsunamiAID เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ สีแดง “ninetysix” รำลึกเหตุโศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโร ในเกมฟุตบอลอังกฤษ ระหว่างลิเวอร์พูล-นอตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่มีผู้เสียชีวิตถึง ๙๖ คน สีชมพู Pink Ribbon มีคำ “Mothers Daughters Sisters Friends” เชื่อมกันด้วยโบสีชมพูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์ป้องกันมะเร็งเต้านมเพื่อผู้หญิงทั้งโลก จัดทำขึ้นโดยองค์กรการกุศลชื่อ The Breast Cancer Site สีเขียวอ่อน “Fuerza y Esperanza” แปลเป็นไทยว่า เข้มแข็งและมีความหวัง รายได้นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคมะเร็ง สีส้ม “Livefree.Smokefree.” รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดทำโดย American Cancer Society

นับจากวันแรกที่ wristband ปรากฏขึ้นพร้อมกับเจตจำนงอันชัดเจน กระแสความนิยมใน wristband ก็ได้ขยายวงกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ ชนิดฉุดไม่อยู่ ทั้งในหมู่ดาราฮอลลีวูด นักกีฬาชื่อดังหลากหลายวงการของโลก ในที่สุดก็แพร่มาถึงเมืองไทยผ่านกลุ่มดาราและไฮโซที่พร้อมใจกันหาซื้อ wristband จากต่างประเทศมาสวมใส่ และถึงวันนี้ wristband ก็ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของวัยรุ่นไทยไปแล้ว แม้หลายคนจะใส่มันโดยไม่รู้ถึงที่มาความหมายใด ๆ เลยก็ตาม

เด็กสาวคนหนึ่งซึ่งข้อมือของเธอมี wristband หลากสีสันจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ เส้น คุยว่า “ตอนแรกที่เห็นดาราฮอลลีวูดเขาใส่กันหลายสี เราก็สงสัยว่าที่เขาใส่กันมันคืออะไร พอมีคนเอามาขายเราก็เริ่มสนใจ จากนั้นก็เห็นเพื่อนที่โรงเรียนใส่กัน เลยอยากใส่บ้าง แต่ไม่อยากซื้อจากที่เขาขายในเมืองไทย เพราะกลัวจะเป็นของปลอม เลยเปิดเว็บเกี่ยวกับ wristband แล้วสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต ชิ้นแรกที่ซื้อเป็นสีเหลือง ภูมิใจมากที่ไม่เหมือนเพื่อนในกลุ่ม ตอนนี้ก็เริ่มเก็บสะสม โดยซื้อที่เมืองไทยบ้าง ตามห้าง ร้านขายเสื้อผ้าบ้าง ตอนนี้มีเกือบหมดทุกสีแล้ว แต่ละอันก็มีความหมาย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร รู้อย่างเดียวว่าอยากใส่ อยากสะสม มันสวยดี”

คงไม่ต่างจากเด็กชายรุ่นราวคราวเดียวกันที่กล่าวว่า “ที่ใส่อยู่สีเขียว ซื้อมาจากมาบุญครองครับ ราคา ๒๐๐ บาท มันเขียนว่า “Heart” ก็ไม่รู้หรอกว่ามันหมายถึงอะไร เห็นเพื่อนใส่เราก็อยากใส่บ้าง ที่โรงเรียนเขาใส่กันหลายคน เท่าที่รู้มันเริ่มจากพวกที่ชอบเล่นกีฬา เขาไปดูมาจากนักบอลอังกฤษ อิตาลี เลยใส่บ้าง จากนั้นก็ใส่ตาม ๆ กันไป และ wristband ก็หาซื้อง่าย นอกจากตามห้างแล้ว ที่หน้าโรงเรียน ในร้านเกมก็มีขายหลายแบบ ที่โรงเรียนไม่มีกฎข้อห้ามด้วย ก็เลยมีเพื่อนใส่กันเยอะครับ”

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ยิ่งได้รับความนิยมมากเท่าไร เจตจำนงของสื่อเพื่อการรณรงค์ชิ้นนี้กลับยิ่งลบเลือนไปมากเท่านั้น เพราะไม่เพียงผู้สวมใส่จะไม่รู้ถึงความหมายที่มา หากตัวมันเองยังกลายเป็น “สินค้า” ที่สร้างกำไรงามให้แก่ผู้ขายจำนวนไม่น้อย

ในระยะแรก wristband มีวางขายในร้านจำหน่ายเสื้อผ้าจากต่างประเทศ เริ่มต้นที่เซ็นทรัลลาดพร้าวชั้นใต้ดิน ก่อนจะกระจายไปสู่ที่อื่น ๆ เช่นมาบุญครอง และจากราคาจริง ๑ ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๔๐ บาท ราคาขายต่อก็เพิ่มสูงขึ้นตามความนิยม จากหลักร้อยในบางชิ้น เลยเถิดไปถึงเกือบ ๒,๐๐๐ บาท ก่อนหน้านี้สายรัดข้อมือสีขาวดำเคยเป็นชิ้นที่แพงที่สุด มาถึงตอนนี้ ชิ้นที่แพงที่สุดคือ wristband สีแดง “ninetysix” ที่มากับใบ certificated (ใบรับประกัน พร้อมที่มาและเรื่องย่อของเหตุการณ์) ส่วนแบบอื่น ๆ ที่ขายในเมืองไทย ราคาเฉลี่ยโดยทั่วไปตกประมาณ ๑๕๐-๔๐๐ บาท
ช่องทางในการหาซื้อ wristband ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ตามห้างร้านเท่านั้น หากต่อมายังได้กระจายไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสิ่งของ โดยเฉพาะสินค้า “อินเทรนด์” ทั้งหลาย แคท เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของธนาคารแห่งหนึ่ง ก็เป็นอีกรายที่นำสายรัดข้อมือมาขายบนอินเทอร์เน็ต เธอเล่าให้ฟังว่า

“มันเริ่มจากช่วงที่สายรัดข้อมือเริ่มบูม เพื่อนที่ทำงานเขาก็หามาใส่กัน พอเขารู้ว่าเรามีเพื่อนอยู่ที่อเมริกา ก็เลยฝากเราซื้อ เหมือนของแบรนด์เนมทั้งหลายที่ใครมีเพื่อนอยู่ต่างประเทศก็จะแห่กันฝากซื้อ พอเอาเข้ามาก็มีคนมาฝากซื้อมากขึ้น ก็เลยสั่งซื้อมาเรื่อยๆ แต่การสั่งของทีหนึ่งชิ้นสองชิ้นมันไม่คุ้มค่าจัดส่ง เลยต้องสั่งทีหนึ่งจำนวนมาก ล็อตหนึ่งประมาณ ๕๐-๑๐๐ ชิ้น ที่เหลือจากเพื่อนฝากซื้อก็เอามาขายทางเน็ต เพราะมันมีช่องทางตามเว็บ ก็มีคนโทรเข้ามาสั่งเรื่อย โดยเราจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ ทั้งเด็กมหาวิทยาลัย คนทำงาน เด็กมัธยมก็มี จะสั่งเฉพาะแบบหายาก เราก็หาให้ หรือบางทีเหมาหมด ล่าสุดก็มาเหมาสีชมพู สีฟ้า ไปหมด เพราะคนซื้อเขามั่นใจว่าของเราของแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กำไรต่อชิ้นก็ประมาณ ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นรายได้ที่ดีมากค่ะ”

นอกจาก wristband “นำเข้า” ที่ถูกขายต่อในราคาสูงลิ่วแล้ว ยังมีของเลียนแบบทำในไทย ขายในราคาชิ้นละ ๕๐ บาท ถ้าเป็นแบบขาวดำไขว้กัน ราคาประมาณ ๓๐๐ บาท ของเลียนแบบเหล่านี้มองเผิน ๆ แทบไม่รู้ว่าเป็นของปลอม เพราะรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายของจริงมาก ต่างกันตรงผิวสัมผัส โดยของเลียนแบบจะหยาบและหนากว่า เพราะผลิตจากยางพารา มิใช่ซิลิโคน สามารถหาซื้อได้ตามตลาดสำเพ็ง ตลาดสะพานพุทธ และตลาดโต้รุ่งประตูน้ำ

ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร บรรณาธิการนิตยสาร S+M และนักคิดนักเขียนเชิงการตลาด กล่าวถึงกระแสความคลั่งไคล้ wristband ในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นไทย ว่า

“จากปรากฏการณ์ที่สายรัดข้อมือ หรือ wristband กำลังบูมอยู่ตอนนี้ ผมมองว่ามันเป็นเหมือนการสร้างอัตลักษณ์ชั่วคราวของวัยรุ่นเรา โดยใช้สีเป็นตัวสร้าง การใช้สีแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในทางการตลาดสมัยนี้ wristband ก็ไม่ต่างอะไรจากสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ ที่ฉาบฉวย มันดูเท่ แหวกแนว และสะท้อนความเป็นกลุ่มก้อน ตอนแรกมันอาจถูกสร้างขึ้นอย่างมีความหมายในตัวเอง แต่พอกลายเป็นแฟชั่น เป็นกระแส ความหมายที่มีอยู่ของมัน วัยรุ่นก็ไม่สนใจ อย่างที่ทราบกันดีว่าวัยรุ่นไทยนั้นไม่ค่อยชอบแสวงหาความรู้อยู่แล้ว เห็นดาราใส่ก็ใส่ตามกัน โดยที่ยังไม่รู้ว่าใส่ทำไม รู้อย่างเดียวว่าใส่แล้วเท่ ใครไม่ใส่มันดูเชย ไม่เข้าพวก

“พฤติกรรมเหล่านี้มันตอกย้ำถึงความไร้แก่นสาร ไร้สาระของสังคมไทย วัยรุ่นไทย รวมถึงสื่อของไทยในทุกวงการ ซึ่งหาที่เป็นสาระพอจะฝากความหวังได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ก็เอาแต่ยัดเยียดเรื่องบันเทิงสนุกสนาน รักๆ ใคร่ๆ เรื่องบนเตียง แฟชั่น เด็กของเราก็โตมากับการชี้นำแต่เรื่องแบบนี้ มันหล่อหลอมให้วัยรุ่นของเราเป็นคนไร้แก่นสาร คิดน้อย และเรื่องแบบนี้มันก็จะเกิดกับครอบครัวที่มีอันจะกินเสียส่วนใหญ่ เพราะเขาไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงลูก คอยแต่จะให้เงินอย่างเดียว”

ดูเหมือนว่า นาทีนี้ ภายใต้กระแสความนิยมระดับที่เรียกได้ว่าคลั่งไคล้ เจตจำนงอันบริสุทธิ์รวมถึงความหมายที่มีอยู่ในสายรัดข้อมือ ในวันแรกที่มันถือกำเนิดขึ้น ได้ถูกละเลยมองข้ามไปเสียสิ้นแล้ว และในที่สุด wristband–ไม่ว่าสีไหนและข้อความใด–ก็อาจไม่ต่างจากกำไลยางสีสันฉูดฉาด ที่นับวันจะหมดความนิยม หมดความหมาย และรอแต่จะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเท่านั้น