เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

เมื่อครั้งผมยังเด็ก

ผมจำได้แม่นยำ เวลาย่าเตรียมทำอาหารคาว-หวานที่ต้องใช้กะทิเป็นส่วนผสม
ย่าจะหยิบกระต่ายขูดมะพร้าวที่วางอยู่ใต้ตู้กับข้าวออกมา เริ่มต้นงานคั้นกะทิด้วยการนำมะพร้าวที่ยังไม่กะเทาะกะลามาขูด  ย่านั่งบนตัวกระต่าย มือสองข้างจับมะพร้าวผ่าซีกครอบแผงซี่ฟันเลื่อยไว้ ถูเนื้อมะพร้าวไสไปไสมาให้เนื้อมะพร้าวหลุดล่อนเป็นฝอย ก่อนจะนำไปคั้นหัวกะทิเป็นส่วนผสมหลักในอาหารต่อไป

ผมจำได้แม่นยำ วันดีคืนดี ย่าจะลากทางมะพร้าวที่หลุดร่วงจากลำต้น เอามาลิดใบให้เหลือ
แต่ก้านทำเป็นไม้กวาดทางมะพร้าว  พอเสร็จงาน ย่าจะเหลาแกนกลางทางมะพร้าวสีขาวอมเหลืองนวลทำเป็น “ดาบเลเซอร์” ให้ผมใช้ฟันเล่นกับพี่ชาย

ผมจำได้แม่นยำ เมื่อครั้งน้าชายแต่งงาน ผมยังได้รับมอบหมายให้เป็นคนถือลูกมะพร้าว
ที่งอกใบอ่อนร่วมในขบวนแห่ขันหมากด้วย  มะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องบูชาในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ พอเสร็จพิธี คู่บ่าวสาวจะนำไปปลูกให้งอกงามต่อไป

กระทั่งถึงคราวย่าสิ้นลมหายใจ  ผมจำได้แม่นยำ เมื่อฝาโลงถูกเปิดออกเพื่อบอกลาท่าน
เป็นครั้งสุดท้าย ใบหน้าขาวซีดไร้ลมหายใจของย่ายังอาบด้วยน้ำมะพร้าวตามธรรมเนียมโบราณดั้งเดิมซึ่งเชื่อว่าช่วยให้ผู้ตายเกิดความผ่องใสก่อนออกเดินทางสู่ภพภูมิข้างหน้า

มะพร้าวเป็นพืชสารพัดนึก

นอกจากเนื้อและน้ำ ส่วนประกอบของพืชชนิดนี้แทบทุกส่วนล้วนสารพัดประโยชน์

ตั้งแต่รากใช้ทำยา ถึงยอดสูงเสียดฟ้าใช้ประกอบอาหาร

ตั้งแต่เนื้อมะพร้าวบีบน้ำมัน ถึงกากมะพร้าวเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูง

ตำราอายุรเวทของอินเดียเรียกมะพร้าวว่า “กัลปพฤกษ์” หมายถึงพืชที่ให้ทุกสิ่งที่ปรารถนา

ชาวฟิลิปปินส์และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกให้สมญาพืชชนิดนี้ว่า “ต้นไม้แห่งชีวิต”

ชาวตะวันตกมีคำรำพึงว่า ผู้ใดปลูกมะพร้าว ประหนึ่งผู้นั้นผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ภาชนะและเครื่องนุ่งห่ม บ้านและมรดกสำหรับทายาท

ชาวเกาะหมู่เกาะโพลีนีเซียในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้นับถือมะพร้าวดุจดั่งเทพเจ้า และมีชื่อเรียกท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า ๑๓ ภาษา

ชาวบาหลีถือเอามะพร้าวแฝดเป็นของเสน่ห์ และเชื่อว่าน้ำมันสกัดจากผลมะพร้าวที่ให้หญิงมีครรภ์นั่งทับ นำมาทำเป็นน้ำมันเสน่ห์ได้

หญิงตั้งครรภ์ชาวชวาได้รับคำแนะนำให้อาบน้ำมะพร้าวและห้ามกินยอดมะพร้าวอ่อน จนเมื่อแรกคลอดต้องกินอาหารทำจากมะพร้าวเนื้ออ่อนและน้ำตาลที่ผลิตจากมะพร้าว

ชาวเกาะนิโคบาร์ในมหาสมุทรอินเดียใช้น้ำมะพร้าวอ่อนอาบน้ำทารกจนถึงวัย ๒ ขวบ

ไม่น่าเชื่อว่า ทิวมะพร้าวที่พบเห็นทั่วไปตั้งแต่ชายฝั่ง ท้องทุ่ง เรือกสวน หรือภูเขา จะผูกพันกับชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับวิถีไทยในหลายด้าน

และนี่คือการเดินทางของมะพร้าวต้นหนึ่ง

โลกใหม่เมื่อไกลต้น

สวนมะพร้าวอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ลำต้นสูงชะลูดสุดคอแหงนที่เด่นตระหง่านอยู่ตรงหน้าท้าทายสายตาและขวัญกำลังใจผู้มาเยือน  แต่นั่น มิใช่สำหรับชายหนุ่มรูปร่างกำยำที่ยืนกำด้ามตะขอชักมะพร้าวอยู่ตรงโคนต้น

ชั่วพริบตาเขาพาร่างขึ้นไปอยู่บนเรือนยอดสูงเสียดฟ้า ตรงตำแหน่งที่มีทะลายมะพร้าวแน่นเป็นกระจุกอยู่ตรงคอ ไม่หวั่นสายลมโบกซึ่งพัดเรือนยอดของพืชไร้กิ่งก้านให้ไหวลู่ตามแรงลม

สิ้นเสียง “ระวัง !”

พลันมะพร้าวลูกแล้วลูกเล่าหลุดร่วงลงดิน หลายลูกกระเด้งกระดอนตกลงคูน้ำ-ลำประโดงที่ล้อมรอบสวนมะพร้าวลุ่มน้ำแม่กลองเป็นขนัด ท่ามกลางการเฝ้ารอของทีมเก็บมะพร้าวข้างล่าง

ขนัดสวนยกร่องปากแม่น้ำแม่กลองชุ่มเย็นด้วยคูน้ำที่เอื้อให้ต้นมะพร้าวเติบโตขึ้นตามสภาพเนื้อดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุซึ่งกระแสน้ำพัดพามา  ลักษณะการทำสวนแบบขนัดมีคูน้ำและลำประโดงล้อมเป็นการปรับสภาพสวนให้สอดคล้องกับพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งต้องรับมือกับน้ำทะเลขึ้นลงทุกครึ่งวัน

หากมองด้วยสายตานก จะเห็นพื้นที่แถบนี้เป็นตารางสี่เหลี่ยมยิบย่อย มีโครงข่ายลำน้ำล้อมรอบผืนดินเชื่อมโยงถึงกัน  แม้สมุทรสงครามจะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่น้อยสุดในประเทศไทย คือ ๒ แสน ๖ หมื่นไร่ แต่กลับมีคลองและลำน้ำสาขาไม่ต่ำกว่า ๒,๔๐๐ สาย

จัณฑนา ฮกสุน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ เป็นหญิงบ้านสวนผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์การเก็บมะพร้าว  เธอเป็นหัวหน้าทีมรับจ้างเก็บมะพร้าวและเป็นเจ้าของสวนมะพร้าวราว ๕ ไร่  ผู้ใหญ่จัณฑนาเล่าว่าการเก็บมะพร้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองใช้ไม้สอยและคนปีน เช่นเดียวกับพื้นที่ปลูกมะพร้าวส่วนใหญ่ในภาคกลางและตะวันออก แตกต่างจากภาคใต้ที่ส่วนใหญ่ใช้ลิงกังปีนเก็บมะพร้าว

เมื่อลูกมะพร้าวหลุดร่วงลงดิน มันจะถูกลำเลียงออกจากสวนโดยการ “ล่อง” ไปตามคูน้ำ  พวกเขาจะจิกลูกมะพร้าวเข้ากับตะปูที่ผูกอยู่กับเชือกไนลอนแล้วลากลอยน้ำไป ซึ่งเป็นวิธีประหยัดเวลาและช่วยผ่อนแรง

ผู้ใหญ่จัณฑนาเล่าพลางชี้ให้ดูชายหนุ่มที่ยืนอยู่กลางน้ำสูงระดับเอว

“การล่องมะพร้าวทำให้เราลำเลียงมะพร้าวได้คราวละมาก ๆ  ประหยัดพลังงานและรวดเร็ว  เป็นวิธีที่เหมาะกับสภาพสวนมะพร้าวแบบขนัดของจังหวัดสมุทรสงคราม เพียงแต่เราต้องยอมลงไปแช่น้ำ ยอมคันบ้าง  คุณลองคิดดู เราเก็บมะพร้าวครั้งหนึ่ง ๒๐๐-๓๐๐ ลูก ถ้าลูกหนึ่งหนักกิโลกว่า ขนบนบกจะคิดเป็นน้ำหนักเท่าไร”

ที่สวนมะพร้าวอำเภอบางคนที ผมมองเห็นคนล่องมะพร้าวเดินลุยน้ำลึกระดับเอวไล่ไปทีละคูน้ำซึ่งแยกย่อยเข้าไปในร่องสวนไม่ต่างจากซอกซอยภายในหมู่บ้าน  แม้จอกแหนจับเขรอะตามตัว แต่ดูเขาไม่ยี่หระ คอยเรียงร้อยลูกมะพร้าวเป็นแถวยาวเหยียดเลี้ยวลัดล่องไปตามคู แล้วมาสิ้นสุดที่ริมถนนสายหนึ่งซึ่งมีรถกระบะติดโครงเหล็กสูงจอดรออยู่

ที่นั่น มะพร้าวลูกแล้วลูกเล่าถูกโยนขึ้นฝั่ง ส่งต่อขึ้นท้ายรถกระบะเพื่อเดินทางไปยัง “ล้ง”

 

ปอกเปลือกมะพร้าว

ล้ง หรือล้งมะพร้าว เป็นชื่อเรียกโรงเก็บมะพร้าวของพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น

ศักดา สุขสะอาด เจ้าของล้งดา ล้งมะพร้าวเก่าแก่ที่อำเภอบางคนที เล่าว่า “ตลาดมะพร้าวของไทยเริ่มต้นจากตลาดท้องถิ่น หมายความว่าพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นชาวสวนมะพร้าวรับซื้อมะพร้าวจากชาวสวนรายย่อย รวบรวมขายส่งนอกพื้นที่ ซื้อขายกันทีละเต็มกระบะรถสิบล้อ”

การดำรงอยู่ของล้งทำให้ชาวสวนไม่ต้องออกไปหาแหล่งรับซื้อมะพร้าวด้วยตนเอง

เราเดินทางมายังล้งดา ล้งมะพร้าวขนาดใหญ่จุมะพร้าวนับแสนลูก หากเป็นช่วงมะพร้าวดกจะเห็นกองมะพร้าวสูงพะเนินเทินทึกท่วมหัว  อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๓ ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหามะพร้าวขาดตลาด ทำให้ล้งมะพร้าวบางแห่งเงียบเหงา ไม่มีมะพร้าวสุมสูงดังเคย  ที่ล้งดาเองก็เช่นกัน

กระนั้นก็ตาม แม้จำนวนมะพร้าวจะน้อยลงกว่าปรกติ แต่เมื่อมะพร้าวเดินทางมาถึงล้ง มหกรรมการแปรรูปมะพร้าวขั้นต้นก็เริ่มขึ้น  จาก “มะพร้าวเปลือกแข็ง” (ชื่อเรียกมะพร้าวที่เก็บจากต้น) กลายเป็น “มะพร้าวเปลือกนิ่ม” “มะพร้าวดำ” และ “มะพร้าวขาว” ตามลำดับ แล้วแต่ความต้องการของผู้รับซื้อ

การแปรรูปมะพร้าวขั้นต้นเริ่มด้วยการปอกเปลือกแข็งชั้นนอกสุดออกโดยใช้มีดอีโต้ หรือใช้ขวากอันเป็นเหล็กแหลมติดปลายไม้ปักตั้งขึ้นจากพื้นแทงทะลุเปลือกมะพร้าว ฉีกเปลือกออกเป็นชิ้น ๆ เรียกว่า กาบ

ภายในคือผลมะพร้าวที่ห่อหุ้มด้วยเส้นใยหยุ่นหนา เรียกส่วนนี้ว่า มะพร้าวเปลือกนิ่ม

มะพร้าวเปลือกนิ่มจะถูกส่งต่อถึงมือ “คนลอกหัว” ผู้รับหน้าที่กำจัดเส้นใยหยุ่นหนาให้เหลือเพียงกะลาเกลี้ยงเกลา

หน้าที่ของคนลอกหัว หากนึกภาพไม่ออกลองนึกถึงทรงผมยุ่งเหยิงของเด็กชายซึ่งถูกจับตัดผมจนเกรียนติดหนังหัว  คนลอกหัวก็ทำหน้าที่คล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากหัวคนเป็นผลมะพร้าว

เมื่อผ่านการตัดแต่งทรงผมจนโกร๋นเกรียน ผลมะพร้าวจะถูกส่งเข้าสู่ขั้นตอนการกะเทาะกะลา  โดยใช้ขวานเฉาะกลางแยกน้ำมะพร้าวออก แล้วกะเทาะกะลาให้แตกออกเป็นชิ้น ๆ

ครั้งนี้เหลือเพียงเนื้อเยื่อสีน้ำตาลมันลื่นห่อหุ้มเนื้อมะพร้าวขาวอยู่เป็นเปลือกบาง เรียกส่วนนี้ว่า มะพร้าวดำ

เป็นหน้าที่ของ “คนทิวขาว” ที่จะใช้มีดมีใบคมหนาเฉือนเนื้อเยื่อสีน้ำตาลซึ่งห่อหุ้มเนื้อมะพร้าวออก

ชายวัยกลางคนที่กำลังขะมักเขม้นอยู่กับขั้นตอนนี้ เล่าว่าการทิวขาวต้องใช้ความชำนาญสูง เพราะถ้าออกแรงกดมากไปใบมีดจะกินเนื้อมะพร้าว เบาไปก็ไม่เข้าเนื้อ ทำให้ผิวเนื้อมะพร้าวไม่เกลี้ยงเกลา

เราเรียกเนื้อมะพร้าวสีขาวจั๊วะที่ฉีกแตกจากกันบ้างแต่ยังคงรูปร่างเป็นทรงกลมอยู่ว่า มะพร้าวขาว

เจ้าของล้งดาเล่าว่า “มะพร้าวแต่ละประเภทเป็นที่ต้องการของตลาดมะพร้าวแตกต่างกัน  ข้อดีของมะพร้าวเปลือกแข็งคือเก็บรักษาไว้ได้นาน ข้อเสียคือสิ้นเปลืองพื้นที่เก็บรักษาและการขนส่ง  ส่วนมะพร้าวเปลือกนิ่ม แม้ไม่เปลืองพื้นที่แต่ก็มีโอกาสแตกหักเสียหายง่ายกว่า

“ขณะที่มะพร้าวดำกับมะพร้าวขาว ล้งมะพร้าวช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า คือปอกเปลือกให้เกือบทั้งหมด แต่ไม่เหมาะที่จะขนส่งเป็นระยะทางไกล ๆ อีกทั้งยังเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน”

มะพร้าวเปลือกนิ่มจากล้งดาจะถูกส่งไปยังตลาดแถบจังหวัดสมุทรสาคร อยุธยา สุพรรณบุรี เป็นหลัก

ขณะที่มะพร้าวดำและมะพร้าวขาวส่งไปโรงงานผลิตกะทิในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

 

พฤกษาสารพัดประโยชน์

โบราณกล่าวไว้ว่า หากมีทารกเกิด ๑ คน แล้วปลูกมะพร้าวไว้ ๑ ต้น เด็กคนนั้นจะแสวงประโยชน์จากมะพร้าวได้ตราบสิ้นอายุขัย

แทบทุกส่วนประกอบของมะพร้าวล้วนใช้ประโยชน์ได้ นั่นไม่ใช่เรื่องอวดอ้างเกินจริงแต่อย่างใด

ที่ล้งดา ภายหลังมะพร้าวเปลือกแข็งผ่านการแปรรูปเป็นมะพร้าวประเภทต่าง ๆ  ลำดับต่อมาของเส้นทางมะพร้าวอาจมีลักษณะดังที่เจ้าของล้งเอ่ยว่า “ลูกไปทาง เปลือกไปทาง ส่วนประกอบต่าง ๆ ไปอีกทางหนึ่ง” ทั้งนี้ก็ด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่ดูราวกับเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปมะพร้าว ๑ ลูก ล้วนนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น

“ไม่มีอะไรเหลือทิ้ง”

ศักดา สุขสะอาด เจ้าของล้งดายืนยัน ทั้งยังชี้แจงว่าส่วนประกอบต่าง ๆ เหล่านั้นจะถูกขายเพื่อนำไปทำประโยชน์อะไรบ้าง

เริ่มต้นจากกาบมะพร้าว  เขาขายให้โรงผลิตกระบะปลูกกล้วยไม้ และโรงงานผลิตเส้นใยใช้เป็นวัสดุทำเบาะ ที่นอน พรมเช็ดเท้า (ในอดีตใช้ผลิตเชือก)

ขุยมะพร้าว มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้นาน  ขายให้ร้านทำวัสดุเพาะชำต้นไม้หรือตอนกิ่ง หรือโรงงานทำเชื้อเพลิงอัดแท่งแทนถ่านหรือแก๊สหุงต้ม

เศษกะลา ขายให้โรงงานทำถ่านกัมมันต์ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่นสูง  กะลาที่ยังไม่แตกหักเกินไปนัก ขายให้
นักประดิษฐ์นำไปทำเครื่องประดับ ของแต่งบ้าน กระบวยตักน้ำ ไปจนถึงถ้วยใส่อาหาร-ไอศกรีม

ผิวหุ้มเนื้อมะพร้าวสีน้ำตาลมันลื่นซึ่งได้จากการทิวขาว เป็นส่วนประกอบที่มีน้ำมันมาก ขายให้โรงงานบีบน้ำมันมะพร้าว (นอกเหนือจากบีบน้ำมันเอาจากเนื้อ)

น้ำมะพร้าว ขายให้โรงงานผลิตน้ำผลไม้แต่งกลิ่น ใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำองุ่น น้ำฝรั่ง น้ำส้ม หรือใช้ทำน้ำส้มสายชูหมักในครัวเรือน

มะพร้าวลูกแล้วลูกเล่าเดินทางมาถึงล้งดา แล้วจากไปอย่างแทบไม่หลงเหลืออะไรไว้ดูต่างหน้าเลย

พฤกษศาสตร์และชีวิตของพืชไร้กิ่งก้าน

แหงนมองต้นมะพร้าว ดูเหมือนมันจะมีรูปร่างไม่ต่างจากพลุ

ลำต้นไร้กิ่งก้านทะยานสู่ท้องฟ้า ถึงปลายยอดก้านใบรวมจะกระจายออกทุกทิศทางเป็นริ้วโค้งพุ่มใบ

มะพร้าวเป็นพืชตระกูลปาล์ม  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera Linn. ชื่อสามัญคือ Coconut  ชื่อเรียกตามท้องถิ่น อาทิ หมากอูน หมากอู๋น (ทั่วไป) คอส่า (แม่ฮ่องสอน) ดุง (จันทบุรี)  โพล (กาญจนบุรี) เฮ็ดดุง (เพชรบูรณ์) ย่อ (ภาคใต้ มลายู) ฯลฯ

มะพร้าวมีระบบรากฝอยตามแบบฉบับพืชใบเลี้ยงเดี่ยว  รากเล็ก ๆ แผ่ออกทุกทิศทางชอนไชหาอาหารใต้ดิน ลำต้นทรงกระบอกไร้กิ่งเพราะปราศจากตาข้าง  เนื่องจากลำต้นไม่มีเยื่อเจริญจึงปรากฏรอยจั่นและโคนทางที่หลุดร่วงไปเป็นรูป เสี้ยวจันทร์ตามขวาง ร่องรอยนี้จะคงอยู่นานเท่านานและใช้คำนวณอายุของต้นมะพร้าวได้

ใบมะพร้าวมีลักษณะเป็นใบรวมคล้ายขนนก ประกอบขึ้นจากก้านใบรวมหรือทางมะพร้าวรวมกับใบย่อย เมื่อเริ่มแตกใบมีลักษณะคล้ายปลายหอกแทงทะลุกลางยอดต้นแล้วค่อย ๆ คลี่ขยายกลายเป็นริ้วโค้งพุ่มใบโบกไสวลู่ลม  เริ่มให้ผลเมื่อมีประมาณ ๒๐ ทาง  การแตกใบจะเรียงตัววนไปทางด้านใดด้านหนึ่งเสมอ

มะพร้าวมีตาสำหรับเจริญเติบโตเพียงตาเดียวคือตายอด เมื่อเจริญเติบโตด้านข้างจนได้ขนาดเต็มที่จึงเปลี่ยนแปลงเพียงความสูง  หากตายอดถูกทำลาย ต้นมะพร้าวจะตายตาม ตายอดจึงเปรียบดั่งหัวใจมะพร้าว  ชาวสวนที่ปลูกมะพร้าวตัดยอดขายร้านอาหาร ใช้ยอดต้นที่มีอายุประมาณ ๑ ปี ๘ เดือน  เมื่อยอดถูกตัดแล้ว ส่วนลำต้นจะค่อย ๆ ย่อยสลายตามหัวใจไปในเวลาประมาณ ๒ เดือน

ทุกวันนี้นักวิชาการทั่วโลกยังถกเถียงกันเรื่องถิ่นกำเนิดของมะพร้าว  มีผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดมะพร้าวไว้เป็นจำนวนมาก เช่นเสนอว่าที่ประเทศโคลอมเบีย เคยมีพันธุ์ไม้ซึ่งเดิมจัดอยู่ในสกุล Cocos สกุลเดียวกับมะพร้าวจำนวนมาก  นักวิชาการบางคนลงความเห็นว่ามะพร้าวน่าจะวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกับพืชสกุลนี้ กระทั่งต่อมาพืชชนิดต่าง ๆ ในสกุล Cocos ถูกแยกออกไปต่างหากจากสกุลนี้จนหมด เหลือมะพร้าวอยู่เพียงชนิดเดียว  อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ก็ตกไป

ขณะที่มีนักวิชาการเสนอทฤษฎีว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นถิ่นกำเนิดของมะพร้าวเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นภูมิภาคที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในโลก  ผนวกกับข้อมูลศึกษาเรื่อง “ปริมาณความผันแปร” (genetic diversity) ที่พบว่าปริมาณความผันแปรของพันธุ์มะพร้าวมีมากที่สุดในภูมิภาคนี้ แล้วค่อย ๆ ลดระดับลงในภูมิภาคห่างไกลออกไป

ปัจจุบันประเทศไทยมีพันธุ์มะพร้าวอย่างน้อย ๒๓ พันธุ์ จำแนกเป็น ๒ กลุ่มหลัก คือพันธุ์ต้นสูง และพันธุ์ต้นเตี้ย

มะพร้าวพันธุ์ต้นเตี้ยที่ได้รับความนิยมคือ มะพร้าวอ่อน ซึ่งแบ่งออกเป็นมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวาน  มะพร้าวน้ำหอมให้น้ำมะพร้าวที่มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ส่วนมะพร้าวน้ำหวานให้น้ำมะพร้าวที่มีรสหวานแต่ไม่มีกลิ่น

มะพร้าวต้นเตี้ยอีกชนิดคือ มะพร้าวพันธุ์ตาล  เป็นมะพร้าวที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อผลิตน้ำตาล เรียกว่าน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปี๊บ  มะพร้าวพันธุ์นี้ชาวสวนไม่ต้องการผล เมื่อออกดอกหรือจั่นที่เรียกว่า “งวง” ก็จะถูกมีดปาดงวงเพื่อรองน้ำตาลมะพร้าว (ของเหลว) มาเคี่ยวเป็นน้ำตาลมะพร้าว (ของแข็ง) แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยราว ๑.๑ แสนไร่  ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม

ส่วนมะพร้าวต้นสูงให้ผลใหญ่ เนื้อหนา ปริมาณเนื้อมาก นำไปประกอบอาหารหรือเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูป  มีพื้นที่ปลูกมากกว่ามะพร้าวต้นเตี้ย ๑๐ เท่า คือราว ๑.๓ ล้านไร่  ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช

มะพร้าวต้นเตี้ยมีอัตราการนำไปบริโภคสดเกือบทั้งหมด ขณะที่มะพร้าวต้นสูงมีอัตราการบริโภคสดราวร้อยละ ๖๐  ที่เหลือร้อยละ ๔๐ จะถูกนำเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลผลิตต่าง ๆ ที่สำคัญคือ กะทิ น้ำมัน อาหารสัตว์ เป็นต้น

 

กะทิกับคนไทย

พ.ศ. ๒๕๕๓ ประเทศไทยมีประชากร ๖๕.๔ ล้านคน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินการบริโภคมะพร้าวภายในประเทศ เท่ากับ ๑ ล้าน ๓ แสนตัน  หมายความว่า คนไทย ๑ คน บริโภคมะพร้าว ๑๙.๘ กิโลกรัม หรือราว ๑๔ ผล/คน/ปี

คิดเป็นจำนวนมะพร้าวทั้งสิ้น ๙๓๐ ล้านผลทั่วประเทศ !

ใช่, เกือบ ๑,๐๐๐ ล้านผลสำหรับพืชยืนต้นที่ให้เนื้อสีขาวสะอ้านภายใต้เปลือกแข็งห่อหุ้มหลายชั้นชนิดนี้

มะพร้าวเกือบพันล้านผลนี้ ส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่การแปรรูปเป็น “กะทิ” หรือที่เรียกกันว่า “น้ำนมมะพร้าว” (coconut milk)

ลองไล่เรียงรายการอาหารคุ้นปาก ไม่ว่าแกงเขียวหวานไก่ มัสมั่นเนื้อ แกงเผ็ดเป็ดย่าง พะแนงหมู ฉู่ฉี่ปลา ต้มข่า ผัดพริกแกง แกงสายบัว หมูสะเต๊ะ ขนมจีนน้ำยา บัวลอย กล้วยบวชชี ลอดช่อง ทับทิมกรอบ ไอศกรีมกะทิ วุ้นกะทิ ฯลฯ

รายการอาหารเหล่านี้ล้วนมีกะทิเป็นส่วนผสมทั้งสิ้น

กะทิเป็นผลิตผลจากเนื้อมะพร้าวแก่ ลักษณะเป็นของเหลวสีขาว รสชาติมันหอมหวานเป็นเอกลักษณ์อันเกิดจากการผสมผสานกันลงตัวของน้ำมัน น้ำตาล องค์ประกอบต่าง ๆ ในเนื้อมะพร้าว ร่วมด้วยน้ำสะอาดที่เติมลงไป

การขูดมะพร้าวถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่คนสมัยก่อนต้องเรียนรู้ เพราะแกงจะข้นอร่อย ขนมจะหวานมัน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับกะทิที่นำมาปรุง และรวมถึงวิธีขูดมะพร้าวเพื่อนำมาคั้นกะทิด้วยเช่นกัน หากขูดเป็นฝอยใหญ่จะคั้นกะทิยาก หากขูดเป็นฝอยละเอียดจะคั้นง่ายกว่าและได้ปริมาณมาก

แม้ทุกวันนี้มีกะทิสำเร็จรูปให้เลือกใช้ แต่อย่างน้อยในช่วงชีวิตผมยังทันเห็นย่ามุมานะอยู่กับการนั่งบนม้านั่งรูปร่างประหลาดที่มีหัวแหลม-ฟันคม มือสองข้างจับมะพร้าวผ่าซีกครอบแผงฟันเลื่อยนั้นแล้วขูดเนื้อมะพร้าวออกเป็นฝอยเพื่อนำมาคั้นกะทิ  เครื่องมือขูดเนื้อมะพร้าวออกจากกะลานี้เราเรียกว่า กระต่ายขูดมะพร้าว ซึ่งสมัยก่อนมีกันแทบทุกบ้าน

เมื่อได้เนื้อมะพร้าวฝอยปริมาณมากพอก็เทน้ำอุ่นลงไปพอหมาด เคล้าให้ทั่วแล้วคั้นผ่านกระชอนกรองหรือผ้าขาวบาง จะได้กะทิสีขาวข้นคล้ายนม

กะทิที่ได้จากการคั้นครั้งแรกเรียกว่า หัวกะทิ  ส่วนกะทิที่ได้จากการคั้นน้ำถัดมาเรียกว่า หางกะทิ  ค่าที่หัวกะทิมีความข้นและมันมากกว่าจึงปรุงอาหารได้กลมกล่อมกว่า และเป็นที่มาของสำนวนไทยว่า “หัวกะทิ” อันหมายถึงสิ่งของหรือคนผู้มีลักษณะดีเด่นเป็นพิเศษ

คุณค่าของหัวกะทิ หากมองผิวเผินเหมือนจะแตกต่างจาก “กากมะพร้าว” คือเนื้อมะพร้าวแห้งกรังที่ผ่านกระบวนการคั้นกะทิแล้วอย่างสิ้นเชิง  ทว่าเมื่อนำสิ่งที่ดูราวจะเป็นสิ่งของไร้ค่าไร้ราคามาเข้าเครื่องทดสอบคุณภาพกลับพบว่ากากมะพร้าวมีโปรตีนเหมาะเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ปลา อย่างไม่เสียราคาว่าเป็นส่วนประกอบของพืชสารพัดประโยชน์

เมื่อกระต่ายขูดมะพร้าวไม่ใช่ของใช้ประจำบ้าน นับจากมีเครื่องขูดมะพร้าวไฟฟ้าใช้มอเตอร์เดินเครื่อง เพียงหันเนื้อมะพร้าวเข้าหาชุดใบมีด เครื่องก็กรีดฝอยสีขาวออกมาเป็นสาย ไม่ต้องเปลืองแรงนั่งหลังขดหลังแข็งขูดมะพร้าวอีกต่อไป ไปจนถึงเครื่องคั้นกะทิไฟฟ้าที่เพียงกดสวิตช์รอชั่วอึดใจก็จะได้น้ำสีขาวไปต้มไปแกง  กระต่ายขูดมะพร้าวถูกซุกอยู่ใต้ตู้กับข้าว หยากไย่จับเขรอะ ก่อนจะกลายสถานะไปเป็นของเก่าตามพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

จนถึงราวปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ มีการผลิตกะทิสำเร็จรูปบรรจุกล่องยูเอชทีขึ้นเป็นครั้งแรก

คำพันธ์ ขันฑะหัตถ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต โรงงานอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด เล่าว่า “ปัจจุบันโรงงานกะทิบรรจุกล่องตราชาวเกาะต้องการวัตถุดิบมะพร้าวขาววันละ ๑๐๐ ตัน  มะพร้าวเปลือกแข็ง ๓๐ ตัน (คิดน้ำหนักเฉพาะเนื้อมะพร้าว) หรือประมาณ ๘ หมื่นผล (เฉพาะมะพร้าวเปลือกแข็ง) เพื่อรองรับการผลิตกะทิบรรจุกล่อง

“วัตถุดิบมะพร้าวขาว ๑๐๐ ตัน แบ่งออกเป็น ๙๐ ตันสั่งมาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับ ๑๐ ตันสั่งมาจากจังหวัดสมุทรสงคราม  ขณะที่มะพร้าวเปลือกแข็งทั้งหมดเราสั่งมาจากปักษ์ใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงนราธิวาส หากผลผลิตในประเทศขาดตลาดก็ต้องหันไปพึ่งการนำเข้ามะพร้าวจากเวียดนามและอินโดนีเซีย ทั้งสองแหล่งขนส่งเข้ามาทางเรือ จากเวียดนามขึ้นที่ท่าคลองใหญ่ จังหวัดตราด จากอินโดนีเซียขึ้นที่มาเลเซีย แล้วขนถ่ายขึ้นรถวิ่งข้ามพรมแดนจากมาเลเซียมาไทย

“ต้องขนถ่ายกันหลายต่อ โยนขึ้นโยนลงจนมะพร้าวแตกเที่ยวหนึ่งมีของเสียเยอะไม่ต่ำกว่า ๗-๘ เปอร์เซ็นต์”

เขาให้ข้อมูลต่อว่า “ปัจจุบันคนไทยบริโภคกะทิจากสองเส้นทางหลัก หนึ่ง-กะทิสำเร็จรูปบรรจุกล่องหรือกระป๋อง สอง-กลุ่มที่ยังหาซื้อกะทิคั้นสดจากตลาดหรือยังคั้นกะทิเองที่บ้าน  เมื่อเราสำรวจตลาดพบว่าผู้บริโภคกลุ่มแรกมีจำนวนน้อยกว่า คือประมาณ ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเวลานี้ยังมีคนไทยอีก ๖๐ เปอร์เซ็นต์บริโภคกะทิสดจากตลาดหรือคั้นกะทิเอง”

จากสถิติของโรงงานอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด บ่งชี้ว่า แม้จำนวนผู้บริโภคกะทิคั้นสดจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าตลาดกะทิสำเร็จรูปก็มีแนวโน้มว่ายังจะเติบโตต่อไปได้อีกมาก เพราะ “ถึงอย่างไร คนไทยกับกะทิก็คงไม่แยกจากกัน”

 

การเมืองเรื่องน้ำมันมะพร้าว

มะพร้าวเป็นหนึ่งใน “พืชน้ำมัน” หมายถึงพืชที่ให้ผลผลิตซึ่งอาจนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันได้

คนไทยโบราณใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงจุดตะเกียง ใช้เข้าเครื่องยา รวมทั้งใช้ปรุงอาหาร

แต่ในระยะหลังมานี้ มะพร้าวตกเป็น “จำเลย” ว่าเป็นต้นเหตุของโรคร้าย ทั้งโรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ฯลฯ  กะทิและน้ำมันมะพร้าวกลายเป็นสิ่งที่วงการแพทย์แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยง

ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ประธานเครือข่ายพืชปลูกพื้นเมืองไทย และประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นการเมืองของการกีดกันน้ำมันมะพร้าวว่า

“เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่ผ่านมา น้ำมันมะพร้าวถูกสมาคมถั่วเหลืองอเมริกัน (American Soybean Association) ประณามว่าเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยอ้างผลวิจัยที่นำน้ำมันมะพร้าวมาให้สัตว์กินแล้วเกิดโรค ทั้งที่น้ำมันมะพร้าวที่นำมาทดลองเป็นน้ำมันที่มีการเติมไฮโดรเจนจนโครงสร้างกลายเป็นไขมันอันตราย เรียกว่า ไขมันทรานส์ (Trans Fats) ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืชชนิดใด หากถูกเติมไฮโดรเจนลงไปก็เป็นสาเหตุแห่งโรคความเสื่อมมากมาย รวมทั้งโรคหัวใจด้วย”

ข้อเด่นของไขมันทรานส์คือทำให้อาหารทอดกรอบอร่อย แต่ปัญหาที่ตามมาคือความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด เนื่องจากร่างกายไม่อาจขับออกได้ง่าย ๆ จึงเกิดการสะสมทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว ภูมิต้านทานต่ำ

นักวิชาการผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทยชี้แจงต่อว่า “สมาคมถั่วเหลืองอเมริกันระบุว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันอิ่มตัวที่มีคอเลสเทอรอล ทั้งที่ความจริงน้ำมันมะพร้าวมีคอเลสเทอรอลเพียง ๑๔ ส่วนใน ๑ ล้านส่วน ไม่ต่างจากน้ำมันพืชชนิดอื่นซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีคอเลสเทอรอลเลย  ส่วนเหตุผลอีกข้อของการรณรงค์ต่อต้านน้ำมันมะพร้าวคือ เมื่อบริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าสู่ร่างกายเกรงว่าจะจับตัวเป็นไขทำให้หลอดเลือดอุดตันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากตามธรรมชาติน้ำมันมะพร้าวจะเริ่มจับตัวเป็นไขที่อุณหภูมิต่ำกว่า ๒๕ องศาเซลเซียส แต่มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น อุณหภูมิร่างกายประมาณ ๓๗ องศาเซลเซียส”

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ต่อต้านการบริโภคน้ำมันมะพร้าวเมื่อราว ๓๐ ปีก่อนก็ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งยวดด้วยกลุ่มบุคคลที่ออกมาร่วมรณรงค์คือนักโภชนาการรวมทั้งแพทย์โรคหัวใจซึ่งล้วนได้รับข้อมูลมาจากต่างประเทศ ทำให้คนไทยต่างพากันเลิกบริโภคน้ำมันมะพร้าว จนโรงงานผลิตน้ำมันมะพร้าวจำนวนมากต้องยุติกิจการ  ชาวสวนขาดรายได้จากการขายมะพร้าวจนต้องหันเหไปประกอบอาชีพอื่น  ประเทศไทยต้องนำเข้าถั่วเหลืองเพื่อผลิตน้ำมัน สูญเสียรายได้ให้ต่างชาติไม่ต่ำกว่า ๒ หมื่นล้านบาทต่อปี…

ขณะที่การใช้น้ำมันมะพร้าวเพื่อการประกอบอาหารแทบจะสูญสิ้นไปจากสังคมไทย ทว่าในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา การใช้น้ำมันมะพร้าวเพื่อสุขภาพและความงามก็ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งถึงระดับที่เรียกได้ว่า “ฟีเวอร์”

สปาหลายแห่งเพิ่มบริการพิเศษนวดน้ำมันมะพร้าว

คนอยากผอมจิบน้ำมันมะพร้าวกระตุ้นระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย

แพทย์ทางเลือกแนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวกลั้วปากฆ่าเชื้อโรค

ฯลฯ

โดยทั่วไปน้ำมันมะพร้าวที่วางขายตามท้องตลาดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ น้ำมันมะพร้าวที่สกัดโดยใช้ความร้อนสูงและผ่านกรรมวิธีทางเคมีเพื่อทำให้บริสุทธิ์ ฟอกสี และกำจัดกลิ่น ได้น้ำมันสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ปราศจากวิตามินอีเพราะสลายตัวโดยกระบวนการทางเคมีหมดสิ้นแล้ว

และน้ำมันมะพร้าวที่ผ่านการบีบหรือสกัดโดยไม่ผ่านความร้อนหรือใช้ความร้อนต่ำ ได้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เรียกว่า น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (Virgin coconut oil) สีใสเหมือนน้ำ คงกลิ่นมะพร้าวและมีวิตามินอี ได้รับความนิยมในฐานะสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม

การสกัดน้ำมันมะพร้าวแท้จริงทำได้ไม่ยาก เพียงวางกะทิทิ้งไว้ราว ๔๘ ชั่วโมง  ด้วยองค์ประกอบหลักของกะทิที่มีไขมันกับน้ำ จะเกิดการแยกชั้นโดยน้ำอยู่ชั้นล่าง ไขมันอยู่ชั้นบน ให้เราตักไขมันไปเคี่ยวไล่ความชื้นด้วยไฟอ่อน ๆ  หรือจะใช้ประโยชน์ไขมันนั้นในฐานะน้ำมันมะพร้าวเลยก็ได้

ทรงกช สนเท่ห์ เกษตรกรอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี แนะนำวิธีสกัดน้ำมันมะพร้าวด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านว่า ให้เทกะทิลงถุงพลาสติกกันความร้อน รัดปากถุงให้แน่น แขวนทิ้งไว้จนน้ำและไขมันแยกชั้นกัน จากนั้นใช้เข็มเจาะลงบนถุงให้น้ำมันมะพร้าวไหลลงสู่ภาชนะ  เป็นวิธีสกัดน้ำมันมะพร้าวอย่างง่าย ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้

ขณะที่วิธีสกัดน้ำมันมะพร้าวของโรงงานน้ำมันมะพร้าว  คุณสุรเดช นิลเอก เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นยี่ห้อหนึ่งให้ข้อมูลว่า ใช้วิธีเรียกว่าการ “สกัดแห้ง” หมายถึงคัดแยกน้ำในเนื้อมะพร้าวออกไปก่อน โดยนำมะพร้าวขูดมาอบแห้งไล่ความชื้น แล้วเอาเข้าเครื่องอัดไฮโดรลิกคั้นน้ำมันมะพร้าวออกมา  “ด้วยวิธีนี้จะได้น้ำมันปริมาณมาก เก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด”

หนังสือ น้ำมันมะพร้าว บทบาทต่อสุขภาพและความงาม จัดพิมพ์โดยองค์การเภสัชกรรม ระบุถึงสาเหตุที่น้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์ต่อสุขภาพและความงาม ว่าเกิดจากสรีรวิทยาของน้ำมันมะพร้าว ๔ ข้อ ประกอบด้วย

ความเป็นกรดไขมันขนาดกลาง เมื่อบริโภคเข้าไปจะเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ตับอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการสะสม รวมทั้งเร่งกระบวนการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงาน

ความเป็นกรดไขมันอิ่มตัว เพราะส่วนประกอบร้อยละ ๙๒ ของน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัว ธาตุคาร์บอนจับกันด้วยพันธะเดี่ยว ไม่เปิดโอกาสให้ไฮโดรเจนและออกซิเจนเข้าแทรก เหตุนี้จึง “อิ่มตัว” หรือ “เสถียร” ไม่กลายเป็นไขมันอันตรายที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์ได้ง่าย

มีสารฆ่าเชื้อโรค คือกรดลอริกอันเป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในนมน้ำเหลืองของมารดา ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย และมีกรดโมโนลอรินเป็นสารปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรค

รวมทั้งมีวิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

พลิกตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์สมัยกรุงศรีอยุธยา กำหนดให้ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยาแก้ปวดเมื่อย รักษาแผลเน่าเปื่อย

ขณะที่ตำราแพทย์แผนไทยในปัจจุบันก็กำหนดให้นำน้ำมันจากเนื้อมะพร้าวมาใช้ทางยา เช่น ให้นำกะลามะพร้าวแก่จัดที่ขูดแล้ว เติมถ่านไฟแดง ๆ กระทั่งเกิดน้ำมันมะพร้าวไหลซึม ใช้น้ำมันนี้ทารักษาเล็บขบ โรคเกลื้อน ฝ่ามือแห้ง ชโลมผมทั่วศีรษะแล้วล้างออกรักษารังแค  หากเอามาผสมสารส้ม น้ำปูนใส และเกลือ ใช้ทารักษาน้ำกัดเท้า

แม้ครั้งหนึ่งน้ำมันมะพร้าวจะถูกรณรงค์ต่อต้าน  และแม้กระทั่งในปัจจุบันคนทั่วไปก็ยังเชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ หากแต่บรรพบุรุษของคนไทยต่างได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำมันมะพร้าว ดังประจักษ์พยานที่ปรากฏในตำราแพทย์แผนไทยเหล่านี้

 

อนาคตมะพร้าวไทย

สถิติล่าสุดปี ๒๕๕๓ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในแถบจังหวัดติดชายฝั่งอ่าวไทย  นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากเป็นอันดับ ๖ ของโลก รองจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา และบราซิล

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นมะพร้าวอยู่ทั่วไปตามชายฝั่ง ท้องทุ่ง เรือกสวน หรือภูเขา แต่ก็มีเพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้นที่ปลูกมะพร้าวเป็นอาชีพหลักในพื้นที่ขนาดใหญ่  จังหวัดที่ปลูกมะพร้าวเกิน ๑ แสนไร่ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

กลางปี ๒๕๕๓ ต่อปี ๒๕๕๔ เกิดวิกฤตมะพร้าวขาดตลาด ทำให้ราคามะพร้าวแห้งผลใหญ่ทะยานขึ้นไปเป็นผลละ ๒๔ บาท สูงขึ้นถึง ๑๐ บาทเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และทุบสถิติราคามะพร้าวปี ๒๕๔๐ ราคาผลละ ๑๗ บาทลงราบคาบ  ขณะที่ราคากะทิสด ปรกติกิโลกรัมละ ๒๕ บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ ๕๐ บาท  สร้างความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ตั้งแต่โรงงานผลิตกะทิยักษ์ใหญ่ที่ขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงานจนต้องเพิ่มปริมาณการสั่งซื้อมะพร้าวจากต่างประเทศ ไปจนถึงร้านขนมปังเล็ก ๆ ที่ประกาศงดขายขนมปังไส้มะพร้าว

สถานการณ์มะพร้าวขาดตลาดวิกฤตหนักกระทั่งมีการลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน  ต่อมากรมการค้าต่างประเทศต้องออกระเบียบการนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซียโดยไม่เสียภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

วัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “เราต้องส่งเสริมพื้นที่ปลูกมะพร้าวให้มากขึ้นเพื่อรองรับนโยบายการเป็นครัวของโลก เพราะอาหารไทยมีกะทิเป็นส่วนประกอบและเป็นกะทิที่ดีที่สุดในโลกด้วย”

ขณะที่ปัญหาและอนาคตมะพร้าวไทยอาจพอสรุปได้ดังที่ สุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภาสมุทรสงครามและอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม  หนึ่งในจังหวัดที่พื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรร และชาวสวนหันไปปลูกปาล์มน้ำมันว่า

“ปัญหาเฉพาะหน้าเกิดจากแมลงศัตรูพืชระบาดและภาวะแห้งแล้งติดต่อกันนาน ๓-๔ ฤดู  ตามปรกติมะพร้าวจะออกช่อเดือนละครั้ง มีอายุประมาณ ๑ ปีจึงเก็บเกี่ยว  หากมะพร้าวออกช่อเดือนนี้แล้วสภาพอากาศดี อีก ๑ ปีข้างหน้าทะลายมะพร้าวของรุ่นนี้ก็จะให้ผลดีลูกดก แต่หากอากาศเดือนนี้แห้งแล้ง มะพร้าวไม่ติดผล ถึงปีหน้ามะพร้าวก็ขาดแคลน

“ส่วนปัญหาระยะยาวน่าจะมาจากการสนับสนุนของภาครัฐให้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทนมะพร้าว ไม่ว่ายางพาราหรือปาล์มน้ำมัน  ในอนาคตผมคิดว่าชาวสวนอาจต้องประสบปัญหาหนักกว่าเดิม หากนโยบายเขตการค้าเสรีผ่านสภาฯจะทำให้มีมะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น”

๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ ตัวเลขที่ส่งให้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากเป็นอันดับ ๖ ของโลก

แต่หากลองพิจารณาเส้นกราฟสถิติจะพบว่า ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกมะพร้าวของไทยเริ่มลดลงเรื่อย ๆ

จาก ๒,๓๐๐,๐๐๐ ไร่ในปี ๒๕๓๗  เหลือ ๑,๘๐๐,๐๐๐ ไร่ ในปี ๒๕๔๕

กระทั่งเหลือ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ในปัจจุบัน

สวนทางกับความต้องการบริโภคมะพร้าวที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก  เช่นเมื่อปี ๒๕๕๓ ทั่วโลกมีความต้องการเนื้อมะพร้าว ๕.๘ ล้านตัน  น้ำมันมะพร้าว ๓.๘ ล้านตัน  กากมะพร้าว ๑.๙  ล้านตัน  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นร้อยละ ๓.๓, ๑.๘ และ ๓.๙ ตามลำดับ

ขณะที่ความต้องการบริโภคมะพร้าวภายในประเทศเท่ากับ ๑.๕ ล้านตัน (รวมน้ำหนักเปลือก) แต่เราผลิตมะพร้าวได้ ๑.๓ ล้านตัน  กระทั่งเป็นสาเหตุการขาดดุลการค้ากว่า ๕๐๐ ล้านบาทใน ๑ ปี

“ท้อแท้เรื่องราคาผลผลิตมานาน  เพิ่งจะมีปีนี้ที่ราคาดี ก็ดันมาเจอโรคระบาด ทำเอามะพร้าวทับสะแกยืนต้นตายไปหลายหมื่นไร่” ชาวสวนวัยค่อนคนพูดผ่านสายลมโบกโบยริมสวนมะพร้าวข้างทางหลวงแผ่นดินที่พาดผ่านกลางอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ปลูกมะพร้าวขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

ใกล้กันไม่ทันข้ามพ้นอำเภอ กลางดงมะพร้าวยืนต้นตายสองฟากฝั่งถนน หญิงชาวสวนเผยความในใจ

“เรารักอาชีพนี้เพราะเกิดและเติบโตมากับสวนมะพร้าว หาเงินส่งลูกเรียนด้วยมะพร้าว ถ้ายังไม่ตายก็อยากทำสวนมะพร้าวเรื่อยไป  แต่กับอนาคตข้างหน้ามันคงไม่มีอะไรแน่ อย่างปีนี้มะพร้าวราคาดี  ก็ไม่แน่ว่าปีต่อ ๆ ไปจะเป็นอย่างนี้อีก  ดูอย่างเจ้าของสวนมะพร้าวติดกับเราเขาโค่นต้นมะพร้าวหันไปปลูกปาล์มน้ำมันหลายปีแล้ว”

หญิงสาวเว้นระยะชั่วอึดใจ ก่อนเอ่ยความในใจเหมือนอยากปลดปล่อยให้คำนั้นปลิดปลิวไปตามริ้วโค้งพุ่มใบที่โบกไสวตามแรงลม

“เรารู้ว่าต่อไปเราจะถูกคุกคามจากมะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือกระทั่งมะพร้าวเถื่อนจากพม่าและกัมพูชา ที่จะทำให้ราคามะพร้าวถูกลงตลอดกาล

“หากว่าเป็นอย่างนั้น การล่มสลายของสวนมะพร้าวในประเทศไทยคงมาถึง”

ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกื้อหนุนในการทำงาน
คุณสุรจิต ชิรเวทย์, คุณคำพันธ์ ขันฑะหัตถ์, คุณสุรเดช นิลเอก, คุณจัณฑนา ฮกสุน, คุณศักดา สุขสะอาด, ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา, คุณบรรเลง ยิ้มบุญนะ, คุณสมโชค คุณสนอง, คุณสมหมาย หนูช่วย, โรงงานอำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด, หจก.ทรอปิคานา ออยล์, ชาวสวนมะพร้าวและผู้ประกอบกิจการจากต้นมะพร้าว-พืชสารพัดประโยชน์ ทุกท่าน

เอกสารประกอบการเขียน
สุรจิต ชิรเวทย์. ฅนแม่กลอง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : บริษัท ส.เอเซียเพรส (๑๙๘๙) จำกัด, ๒๕๕๑.
ประดิษฐ์ จันทร์มั่น. “ใต้ต้นมะพร้าวในเงาที่แควอ้อม”. รายงานประกอบรายวิชา ๔๓๕๒๗๑ Pre-Seminar on Thai Society & Development.
ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา. มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าวฉบับปรับปรุง.กรุงเทพฯ : ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย, ๒๕๕๒.