นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เด็กไทยไอคิวต่ำแล้วต่ำอีก เป็นข่าวแล้วเป็นข่าวอีก

ลองมาดูกันนะครับว่าวัน ๆ เด็ก ๆ ของเราทำอะไรกันบ้าง ถึงไอคิวต่ำกันนัก

ประมาณกันอย่างหยาบ ๆ ว่า เด็กไทยใช้เวลาดูโทรทัศน์วันละ ๒ ชั่วโมง เล่นเกมประมาณ ๒ ชั่วโมง แช็ตสัก ๑ ชั่วโมง คุยมือถือสัก ๑ ชั่วโมง แค่นี้ก็ ๖ ชั่วโมงเข้าไปแล้ว เวลาที่เหลือเอาไว้ไปโรงเรียน ไปกวดวิชา แล้วก็นอน

ไปโรงเรียนก็ร่ำลือกันว่าไม่มีการเรียนการสอนที่โรงเรียน ไปกวดวิชาก็ร่ำลือกันว่ารู้เท่าที่กวด เรียกว่าไม่มีอะไรมากู้คืนเวลา ๖ ชั่วโมงที่เสียไปเลย หากเป็นเด็กเล็กก็ต้องกินขนมกรุบกรอบด้วย จะมีไอคิวอะไรเหลือ

คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านกลุ้มใจกับเรื่องลูกชอบแช็ต เด็กบางคนแช็ตอย่างเดียว เด็กบางคนทำการบ้านไปแช็ตไป บางคนทำการบ้านด้วย ฟังเพลงหรือดูหนังด้วย แถมคุยมือถือด้วย และแช็ตด้วย ทั้งหมดนี้ทำบนจอคอมพิวเตอร์ล้วน ๆ ไม่ต้องอาศัยโทรทัศน์หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ไหนมาช่วยเสริม

เรื่องการบ้านจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไรนั้นเรื่องหนึ่ง การบ้านบนคอมฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นการบ้านตัดแล้วแปะ ก๊อบแล้วเพสต์เกือบทั้งนั้น เชื่อได้ว่าลำพังการดูหนัง ฟังเพลง คุยมือถือ หรือแช็ต ไม่กระทบสมาธิในการทำการบ้านหรอกครับ เพราะเขาไม่มีสมาธิหรือเป็นการบ้านที่ไม่ต้องใช้สมาธิอยู่ก่อนแล้ว

การบ้านต่างหากที่ไปรบกวนคุณภาพของการแช็ต !

คุณพ่อคุณแม่ควรสละเวลาดูลูกแช็ตบ้าง เคยเห็นข้อความที่เด็กแช็ตกับเพื่อน ๆ ไหมครับ ใครไม่เคย ลองอ่านข้อความต่อไปนี้ดู เป็นการสนทนาระหว่าง น.ส. “^๐^ เกาเหลาแทนความรัก…ผัดผักแทนความจริงใจ…ขาหมูคอยเอาใจใส่…สลัดไก่แทนความผูกพัน ^๐^” กับ น.ส. “ฉันไม่เคยคิดเลยว่า…คนที่ฉันรักมากที่สุด…จะเป็นคนทำให้ฉันเสียใจมากที่สุด” เป็นการแช็ตของสองสาวในค่ำคืนวันหนึ่ง (หลังจากเรียนเล่นด้วยกันมาทั้งวันแล้ว)

^๐^ เกาเหลาแทนความรัก…ผัดผักแทนความจริงใจ…ขาหมูคอยเอาใจใส่…สลัดไก่แทนความผูกพัน ^๐^ : ดี ๆ
ฉันไม่เคยคิดเลยว่า…คนที่ฉันรักมากที่สุด…จะเป็นคนทำให้ฉันเสียใจมากที่สุด : ดีๆ
^๐^ : ขอรูปหน่อยดิ
มากที่สุด : อืม ๆ เด๋วแป๊บ
^๐^ : อืม ๆ
มากที่สุด : ได้ยัง
^๐^ : จ้า ๆ ได้แย้ววว
^๐^ : จัยน่ะ ๆ
มากที่สุด : ม่าเปงไร
มากที่สุด : ตกจีนอ่าาาา
^๐^ : จิงดิ
มากที่สุด : อ่ะล้อเล่งหน่าาาา
^๐^ : อ่าน๊าาา
^๐^ : แต่เค้าตกจิง ๆ
มากที่สุด: เหอ ๆ สม ๆ ๆ
^๐^ : อ่าวว…เง้ออออ เศร้าเยยย
^๐^ : แหะ ๆ ช่างเหอะ
^๐^ : พุ่งนี้ไปโรงเรียนกี่โมงหร๋อ
มากที่สุด : ก้อปามานเจ็ดครึ่งม้างงงง
^๐^ : อ่อ ๆ จ้า ๆ ๆ ๆ

เป็นไปได้ว่าคุณครูภาษาไทยจะรับข้อความแบบนี้ไม่ได้ และออกอาการเป็นห่วงนักหนาว่าภาษาไทยจะวิบัติก็คราวนี้ เรื่องภาษาไทยจะวิบัติหรือไม่วิบัติก็เรื่องหนึ่ง ลำพังตัวผมเองไม่คิดว่าจะวิบัติอะไรนักหนา แต่ที่อาจจะวิบัติคือ “ความสามารถในการสื่อสาร” ซึ่งมิได้หมายถึงความสามารถในการใช้ภาษาให้ถูกหลักไวยากรณ์หรือการสะกดคำให้ถูกต้อง รวมทั้งมิได้หมายถึงการอ่านออกเสียงให้ถูกอักขระ

แต่หมายถึงความสามารถในการแสดงความรู้สึกในใจหรือความสามารถที่จะพูดให้ตรงกับที่ใจต้องการ

การพูดให้ตรงกับที่ใจต้องการนั้นยากนะครับ ทุกท่านลองสังเกตตัวเองดูจะพบว่า บ่อยไปที่เราพูดไม่ตรงกับที่ใจต้องการ ใจนั้นอยากจะบอกอะไรอย่างหนึ่ง แต่ปากพูดบางอย่างออกไปที่คล้าย ๆ เช่นนั้น แต่ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว

การพูดในที่ชุมชนเป็นตัวอย่างที่ดีว่า เป็นเรื่องง่ายดายเพียงใดที่คนเราสามารถพูดได้ไม่ตรงกับที่ใจต้องการ การบอกรักหรือการง้องอนก็เป็นตัวอย่างที่ดี บอกรักเท่าไรก็ไม่ตรงใจ ง้องอนเท่าไรก็ไม่ตรงประเด็น เหตุเพราะยิ่งพูดก็ยิ่งไม่ดีเท่าใจนึก

ความสามารถที่จะพูดให้ตรงกับที่ใจต้องการนั้นยากพอควร จะทำได้ก็ต้องการครูภาษาไทยที่ดี ต้องการการเรียนการสอนภาษาไทยที่ดีทั้งหลักภาษาและความเข้าใจภาษา ต้องการเวทีฝึกการใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน

ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ไม่สนใจอะไรสักอย่างที่เล่ามา เรียนภาษาไทยเฉพาะเมื่อกวดวิชา ไม่เคยถูกฝึกอย่างหนักเรื่องเขียนเรียงความ ไม่ต้องใช้วิธีทางการทูต แต่เลือกจะตีกันแทน ฟังเพลงที่ใช้ภาษาอย่างหยาบ หยาบพอ ๆ กับภาษาที่ใช้แช็ตกันนั่นแหละครับ

สังเกตให้ดีจะเห็นว่าภาษาที่ใช้แช็ตกันนั้นมีอยู่ไม่กี่คำ น้อยยิ่งกว่าภาษาพูดในชีวิตประจำวัน น้อยยิ่งกว่าภาษาที่ใช้ทำคำบรรยายหนังฝรั่งสักเรื่อง นอกจากน้อยแล้วยังสั้น นอกจากสั้นแล้วยังแช็ตกันไม่กี่เรื่องวนไปเวียนมา อย่าลืมว่าขณะแช็ตนั้นยังสามารถทำอะไรอย่างอื่นได้สารพัด

ภาษาแช็ตไม่เพียงเป็นภาษาที่เกิดจากแป้นคอมพิวเตอร์ หากนั่งฟังวีเจพูดหน้าจอทีวี ก็จะจับสังเกตได้ว่าพวกเขาก็พูดภาษาไทยอยู่เพียงไม่กี่คำ ด้วยหลักการแบบภาษาแช็ตเช่นกัน นั่นคือพูดสั้นและไม่ชัด

มีบ้างว่านักวิชาการด้านภาษากังวลกันไปเอง ที่จริงแล้วภาษาแช็ตสามารถสื่อสารอารมณ์ได้โดยใช้ตัวอีโมติคอน (emoticon) แสดงอารมณ์ได้ในระดับหนึ่ง

แต่ที่คนส่วนมากลืมไปคือ มนุษย์ไม่ได้สื่อสารด้วยการพูดและการฟังกันจริง ๆ มนุษย์สื่อสารด้วยการสังเกตสีหน้าท่าทางด้วย สีหน้าท่าทางมีความสำคัญมากกว่าการพูดและการฟังอย่างมาก คนที่จับสีหน้าท่าทางคนเก่งจะได้ข่าวสารที่ถูกต้องและตรงกับใจผู้พูดมากกว่า จิตแพทย์เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ตำรวจก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เก่ง

ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือ มนุษย์นั้นสื่อสารกันด้วยการทำนายข่าวสารล่วงหน้าอีกด้วย กล่าวคือโดยไม่ทันรอให้คนพูดพูดจบประโยค เพียงอาศัยเรื่องราวหนหลัง ข้อมูลแวดล้อม และสีหน้าท่าทาง คนฟังส่วนมากจะทำนายข่าวสารที่ควรจะได้รับเสร็จแล้ว ถูกหรือไม่ถูกก็ตามเถอะ แต่นี่คือวิธีสื่อสารที่มนุษย์ชอบใช้กัน

แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมเท่าไรนัก ที่ถูกที่ควรคนเราควรหัดฟังคนพูดให้จบประโยคก่อน แต่ว่าถึงแม้จะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้และต้องการการฝึกฝนระดับหนึ่ง เป็นบันไดทักษะที่อย่างไรใคร ๆ ก็ต้องก้าวผ่านพ้นไป

คำถามมีว่าภาษาแช็ตช่วยเกื้อหนุนทักษะการทำนายข่าวสารล่วงหน้าอย่างไร

คำถามอื่นอีกเช่น ภาษาแช็ตเกี่ยวพันกับไอคิวต่ำหรือไม่อย่างไร

คำถามอื่นอีกเช่น ระหว่างการบ้านกับการแช็ต กิจกรรมอะไรให้ประโยชน์แก่พัฒนาการของเด็กมากกว่ากัน

คำถามเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องชี้บ่งว่าสังคมของเราต้อนรับอนาคตกันอย่างไร