ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

๑.


ท่ามกลางการครองพื้นที่โรงหนังส่วนใหญ่ของ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตลอดไตรมาสแรกของปี …ยังมีหนัง “ชีวประวัติบุคคลสำคัญ” อีกเรื่องที่ฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยพื้นที่เพียง ๒ โรงเท่านั้น

สิ่งที่หนังทั้งสองเรื่องน่าถูกจับมาเปรียบเทียบ ก็คือ “วิธีคิด”

เราคุ้นชินกับวิธีการนำเสนอหนังชีวประวัติ (Biopic) ในแบบที่ย่อชีวิตทั้งหมดของบุคคลเป้าหมาย-ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย-ให้อยู่ภายในเวลา ๒ ชั่วโมง (หรือในกรณีของ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ใช้กรอบเวลายาวนานถึง ๓ ภาค) วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ผู้ชมติดตามได้ง่ายที่สุด เพราะ “การดูหนังชีวประวัติ” ในแบบนี้ไม่แตกต่างจาก “การอ่านหนังสือชีวประวัติ” สักเท่าไร

เราติดตามชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เห็นการเติบโต ต่อสู้กับอุปสรรค ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว จวบจนวันสิ้นลมหายใจ เดินออกจากโรงหนังก็ได้บทสรุปคร่าวๆ ว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร

ถึงผู้ชมจะคุ้นเคย แต่การนำเสนอลักษณะนี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นประจำ ได้แก่ ๑. หนังถูกอัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์นานัป จนเหมือนละครหลังข่าวหลายตอนจบที่ถูกย่นย่อบีบอัดให้อยู่ภายในระยะเวลาหนึ่งรอบฉาย อารมณ์ในหลายๆ ฉากจึงไม่สามารถไปถึงขีดสุดได้

๒. บ่อยครั้งที่ผู้ชมได้เห็นแต่เพียง เปลือก ภาพร่างคร่าวๆ หรือกราฟชีวิต แต่ไม่ได้เข้าใจ “ภาวะภายใน” ของบุคคลต้นเหตุ หรือต่อให้มี “ภาวะภายใน” ก็ถูกนำเสนออย่างแบนราบ

๓. ผู้ชมไม่ดื่มด่ำในความสามารถที่แท้จริง หรือสิ่งที่เขาได้รับการยกย่อง

๔. ในกรณีที่ทายาทยังมีชีวิตอยู่ ท้ายที่สุดเพื่อป้องกันการฟ้องร้อง ภาพลักษณ์ของบุคคลต้นเหตุก็ต้องดีงาม หรือเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ Ray (๒๐๐๔) หนังชีวประวัติของ เรย์ ชาร์ลส์ นักร้องชื่อดัง ซึ่งแม้ตัวหนังจะได้รับการยกย่องในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ ไล่ไปตั้งแต่ข้อ ๑. หนังถูกอัดแน่นจนอารมณ์อยู่ในระดับใกล้เคียงกันไปทั้งเรื่อง และจบลงอย่างค้างๆ คาๆ ด้วยการขึ้นตัวอักษรบรรยายว่า ชาร์ลส์ ประสบความสำเร็จอย่างไร ได้รับรางวัลมากแค่ไหน ฯลฯ

๒. หนังถ่ายทอดภาวะภายในอยู่แค่มิติเดียว คือการแก้ปมในอดีต ครั้งหนึ่งแม่ของชาร์ลส์เคยผลักดันลูกชายพิการให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้ และพลังรักอันยิ่งใหญ่ของแม่นี้เองที่ชาร์ลส์ดึงมาใช้เพื่อเอาชนะยาเสพติด และกลับขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง

๓. หนังให้ค่ากับความยิ่งใหญ่ของชีวิต (ผู้ชมรับรู้ภาพชีวิตคร่าวๆ ว่าถึงเขาเป็นคนตาบอด แต่ก็เป็นอัจฉริยะสู้ชีวิต) แต่ไม่เน้นกระบวนการคิดของศิลปินในการสร้างผลงาน (เราไม่รู้วิธีที่ได้เพลงสักเพลง แต่รู้สึกว่า “เพลงเพราะเหลือเกิน ฉันอยากฟังเพลงแบบนี้อีกจัง”)

๔. ถึงหนังจะนำเสนอด้านมืดของชาร์ลส์ แต่ก็ลงท้ายด้วยการแก้ไขจนขาวสะอาด

เรายังสามารถพบเห็นการนำเสนอลักษณะนี้ได้ในหนังหรือละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่อง เช่น Walk the Line (๒๐๐๕) หนังชีวประวัติของ จอห์นนี่ แคช ที่ถูกล้อว่าเป็น Ray ภาค ๒ Life with Judy Garland (๒๐๐๑) ละครโทรทัศน์ประวัติของนางเอก/นักร้องคนดัง ที่เมื่ออำนวยการสร้างโดยลูกสาว เนื้อเรื่องครึ่งหลังจึงเทไปที่ลูกสาวเสียเอง หรือ A Beautiful Mind (๒๐๐๑) หนังออสการ์ว่าด้วยนักคณิตศาสตร์ชื่อดัง ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนในแง่ “เรารู้ว่าเขาช่างเป็นคนที่น่ายกย่อง แต่เป็นการยกย่องในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง เนื่องจากเราไม่เข้าใจทฤษฎีที่เขาคิดค้นเลยสักนิด”

ถึงหนัง-ละครเหล่านี้จะสมบูรณ์สักเพียงใด แต่มันก็เป็นทาสของสิ่งอื่นๆ ตั้งแต่ทาสของสื่อวรรณกรรม (วิธีดูหนัง/หรือสร้างหนังที่ต้องเดินตามขนบของวรรณกรรม) ทาสของทายาท (ต้องทำตามใจทายาท…มิฉะนั้นอาจโดนฟ้อง) ทาสของแฟนๆ (ต้องทำตามใจแฟนของบุคคลนั้นๆ) การตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สร้างมีข้อจำกัดมากมายในการถ่ายทอดความคิด

เมื่อสื่อภาพยนตร์กลายเป็นทาส หนังที่ได้ออกมาจึงมีค่าเท่ากับ “โบรชัวร์” ประหนึ่งบทสรุปที่ใช้แจกนักท่องเที่ยว (หรือนักดูหนัง) แล้วลงท้ายว่า ถ้าอยากรู้จักบุคคลเหล่านั้นจริงๆ ก็จงไปอ่าน/ฟังจากสื่ออื่นๆ ซะเถอะ

ที่หนักที่สุดก็คือ เมื่อสื่อภาพยนตร์ต้องเดินไปตามเส้นทางของวรรณกรรมแล้ว มันก็ไม่ได้ใช้ศักยภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของสื่อชนิดนี้…นั่นก็คือการสร้างภาพฝัน

ทว่า….ทฤษฎีทั้งหลายทั้งปวงในข้างต้น มิได้อยู่ใน Fur : หนังแห่งภาพฝัน แม้แต่น้อย

๒.


ถ้า Fur ถูกนำเสนอด้วยวิธีแบบหนังชีวประวัติทั่วไป มันคงเริ่มต้นตั้งแต่เธอเกิดในตระกูลคนยิว มีพ่อร่ำรวยเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างชาติ แต่งงานมีลูกมีผัว จนกระทั่งหย่าขาดเพื่อไปเป็นตากล้อง ร่ำเรียนวิชาถ่ายภาพจากอาจารย์ชื่อดัง เธออาจได้พบผู้ชายอีกสักคนที่เป็นกำลังใจให้ชีวิต ถ่ายภาพอื้อฉาว งานแสดงภาพครั้งแรกถูกโจมตีอย่างหนัก เธอถูกหาว่าวิปริต

เพราะ ดีแอน อาร์บัส คือตากล้องหญิงที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการภาพถ่ายระดับโลก…จากภาพประหลาดๆ ของเธอ

ที่เรียกว่า “ประหลาด” ก็เพราะว่าอาร์บัสชอบถ่าย “ตัวประหลาด” (Freak) มีคนบอกว่าภาพถ่ายของเธอดูผิวเผินไม่ต่างจากงานวัด (Freak Show) โดยบุคคลที่มักอยู่ในภาพ ได้แก่ เด็กฝาแฝด คนพิการ คนแปลงเพศ คนแคระ มนุษย์ยักษ์ และโสเภณี

หนังคงมีบทสรุปว่า ด้วยความสร้างสรรค์นั้นไซร้ ดีแอนตอบโต้และปกป้องผลงานจนมีแฟนประจำ ภาพถ่ายของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังมากมาย เธอใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและจบลงด้วยการฆ่าตัวตายในปี ค.ศ. ๑๙๗๑ ด้วยอายุเพียง ๔๘ ปี (ในฉากจบ มีการขึ้นตัวหนังสือบรรยายความดีงามของเธออีกครั้งหนึ่ง)

และหนังเรื่องนั้นจะไม่ได้ชื่อว่า Fur: An Imaginary Portrait of Diane Arbus แต่เป็น Arbus เฉยๆ เพื่อให้คนรู้ว่านี่คือชีวิตคร่าวๆ ของ ดีแอน อาร์บัส

สุดท้ายเราจะได้หนังทำนอง “แม่บ้านยุค ๕๐ ผู้มีแนวคิดไม่ลงล็อกกับสังคม” เหมือนหนังที่มักนำแสดงโดย จูลี่แอนน์ มัวร์ (Far from Heaven, The Hours, The Prize Winner of Defiance, Ohio)

แต่ผู้กำกับ สตีเวน เชนเบิร์ก และคนเขียนบท อีริน เครสสิดา วิลสัน (ซึ่งเคยโด่งดังจากการทำหนังโรแมนติก-ซาดิสต์-มาโซคิสต์ เรื่อง Secretary) เลือกทางเดินอื่น มันแปลกแยกจนต้องตั้งชื่อพ่วงว่า An Imaginary Portrait of Diane Arbus (หรือ “มันเป็นแค่ ดีแอน อาร์บัส ในภาพฝันของฉันเท่านั้นจ้ะ”) ซึ่งตรงข้ามกับประโยค Based on a True Story (สร้างจากเรื่องจริงนะเฟ่ย) แบบที่หนังชีวประวัติทั่วๆ ไปชอบใช้เป็นจุดขาย

มันแปลกตั้งแต่คนที่มารับบทเป็น ดีแอน อาร์บัส คือ นิโคล คิดแมน ซึ่งหน้าตาไม่เหมือนกับดีแอนแม้แต่น้อย ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ หนังไม่มีฉากที่ดีแอนถ่ายรูปอันโด่งดังด้วยซ้ำ ! อันที่จริงเธอแทบจะไม่ได้ถ่ายรูป-ที่เป็นลายเซ็นของเธอ-ในหนังเรื่องนี้เลย

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านคงเริ่มงงแล้วว่า นี่มันคือหนังอะไร (วะ) ทำไมจึงเขียนแต่ว่า หนังไม่ได้ทำอย่างนี้ ไม่มีองค์ประกอบนั้น ไม่มีเนื้อเรื่องแบบโน้น

แต่นั่นล่ะครับคือประเด็น

เพราะหลังจากตัดกรอบและข้อบังคับอันรกรุงรังไปทั้งหมด สิ่งที่เหลือก็คือ สนามว่างเปล่าที่ศิลปินจะถ่ายทอดจินตนาการได้อย่างอิสระ

ผู้กำกับหยิบจับชีวิตของดีแอนเพียงแค่ ชื่อตัวละคร (ดีแอน อาร์บัส, สามี, ลูกๆ, พ่อแม่ของเธอ) ยุคสมัย (ยุค ๕๐ ตอนปลาย) เมือง (นิวยอร์ก) และความจริงอีกเล็กน้อย (สามีเป็นตากล้อง เธอเป็นแค่ผู้ช่วยตากล้อง คอยจัดเสื้อผ้า)

นอกจากนั้นแล้ว…หนังแต่งเรื่องให้ใหม่ทั้งหมด !

โดยจุดประสงค์ของการเนรมิตเรื่องใหม่ อยู่ที่การถ่ายทอดภาวะการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของดีแอน จนเราควรเรียกหนังเรื่องนี้ใหม่ว่า The Inner World of Diane Arbus

รูปอันโด่งดังของ ดีแอน อาร์บัส

๓.


“My favorite thing is to go where I have never gone.”

– ดีแอน อาร์บัส

หนังจำกัดช่วงเวลาอยู่เพียงแค่ ๓ เดือนที่เธอยังไม่เป็นที่รู้จักของโลกด้วยซ้ำ แต่เป็นช่วงเวลา ๓ เดือนที่เธอตัดสินใจหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปเป็นครั้งแรก …อะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งโยนกรอบของสังคม โยนบทบาทความเป็นแม่และเมีย แล้วสะพายกล้องเดินไปถ่ายรูป “สมาคมคนแก้ผ้า” ?

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งค้นพบตัวเอง จนกลายเป็นศิลปิน ?

ถ้าเทียบกับหนังเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ หนังเรื่อง Fur ก็เท่ากับช่วงเวลาที่พระนเรศตัดสินใจหนีออกมาจากพม่า (ซึ่งตัวหนังนำเสนอการตัดสินใจครั้งนั้นไม่เกิน ๕ นาทีด้วยซ้ำ)

เมื่อเป็นภาพฝัน ทุกอย่างจึงถูกสื่อออกมาด้วยระบบสัญลักษณ์

จุดศูนย์กลางของสัญลักษณ์ทั้งหมดอยู่ที่ “ตัวละครสมมุติ” นามว่า ไลโอเนล (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) แขกคนใหม่ที่ย้ายมาอยู่ในห้องชั้นบนสุดของตึกหลังเดียวกับครอบครัวอาร์บัส เขาเอาผ้าพันหน้าพันตา ใส่เสื้อปิดทั้งแขนและขา จนเราไม่สามารถเห็นผิวหนังของเขาได้เลย

วันหนึ่งขณะที่ดีแอนซ่อมท่อน้ำ เธอพบขนมากมายที่อัดแน่นในท่อ และพบกุญแจดอกหนึ่ง มันเป็นทั้งกุญแจเปิดห้องชั้นบนสุดที่ไลโอเนลส่งมาให้เธอ และเป็นกุญแจชีวิตไขเธอไปสู่โลกใหม่

ในคืนต่อมา ดีแอนไปสู่ห้องชั้นบนสุดที่มีกระต่ายอยู่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่

กุญแจ+กระต่าย เดาได้ไม่ยากว่านี่คือการอ้างอิงถึง Alice in Wonderland

การที่ผู้หญิงคนนี้เดินไปห้องชั้นบน จึงมิใช่การสอดรู้ของแม่บ้านขี้เหงา แต่เป็นการผจญภัย (adventure) มันเป็นการผจญภัยที่มิได้หมายถึงการขึ้นเขาลงห้วย แต่คือการปลดปล่อยตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วใช้สัญชาตญาณเลือกทางเดินที่ไม่รู้ว่าจะนำเราไปสู่อะไรกันแน่

ถ้าอลิซเดินเข้าไปในป่า ดีแอนก็เดินเข้าไปในทะเล เพราะในห้องชั้นบนสุดนั้นถูกทาด้วยสีฟ้าน้ำทะเล ซึ่งเธอได้พบกับชายร่างใหญ่ผู้มีขนรกรุงรังจนราวกับว่าเขาเป็นสิงโต-เหมือนกับชื่อของเขา Lionel (Lion)

ดีแอนหวาดกลัวเขา แต่เหนือสิ่งอื่นใด…ความน่ากลัวในตัวเขามันช่างยั่วยวนเหลือเกิน เธอทั้งประหวั่นพรั่นพรึงและหลงใหล ภาพเขาและเธอไม่ต่างกับโฉมงามและเจ้าชายอสูรในหนังเรื่อง La Belle et la Bete (Beauty and the Beast, ๑๙๔๖) ของผู้กำกับ ฌอง ค็อกโต

ในห้องแห่งนี้คือจุดเริ่มต้นที่ไลโอเนลพาดีแอนหลงเข้าไปสู่โลกประหลาด ไปๆ มาๆ ห้องเปลี่ยนเป็นโลกแห่งความฝัน เหมือนอยู่ในภาพวาดของ ซัลวาดอร์ ดาลี ต่อมาเขาพาเธอไปทัวร์นอกตัวตึก เริ่มต้นที่บ้านมนุษย์ประหลาด บาร์กะเทย จบการออกเดตที่ห้องเก็บศพ

ในที่เหล่านี้ เธอได้แต่ตาลุกวาวเหมือนช็อก ครั้นปากพูดออกมากลับตรงกันข้าม “จะรีบกลับทำไมล่ะคะ มันน่าสนใจเหลือเกิน”

รั้วกั้นแห่งความจริงและความฝันถูกทลายลง เมื่อดีแอนพบว่าเพดานบ้านสามารถทะลุไปยังห้องของไลโอเนลได้ เธอจึงนำบันไดมาต่อ รวมบ้านทั้งสองกลายเป็นหลังเดียว แล้วจัดปาร์ตี้ที่มีแต่เพื่อนๆ ตัวประหลาด

เธอดำดิ่งไปสู่จุดที่ลึกที่สุดเมื่อตัดสินใจจะอยู่กับไลโอเนล เธอหลงรักเขา ร่วมรักกับเขา และเมื่อถึงวันที่เขาต้องจากโลกนี้ไป เธอก็เป็นผู้ไปส่งเขาที่ทะเล แล้วพกความเป็นเขาไว้ในตัวเธอ

ถ้าไลโอเนลไม่มีตัวตนจริง ถ้าห้องชั้นบนสุดสีฟ้าไม่มีอยู่จริง และถ้าดีแอนไม่ได้ไปทะเล…ไลโอเนลก็คือส่วนหนึ่งในตัวของดีแอนเองนั่นแหละ เขาเหมือนชิ้นส่วนความคิดที่เธอทำหล่นหายในตอนเด็ก และเธอก็หลงรักพอจะร่วมรักกับความคิดของเธอเอง ห้องสีฟ้าคือโพรงแห่งจินตนาการที่อยู่ในใจเธอ และมันก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ชีวิตครอบครัวระส่ำระสาย ทั้งผัวทั้งลูกรับไม่ได้กับรสนิยมวิปริต

ถ้าไลโอเนลไม่มีตัวตนจริง ก็หมายความว่าดีแอนไร้เพื่อน โดดเดี่ยว และแปลกแยก เธอจะทำอย่างไรเมื่อชีวิตที่เธอปรารถนาสวนทางกับชีวิตที่เป็นอยู่ มันถึงเวลาเสียทีที่ต้องเลือกระหว่างกุญแจบ้านเพื่อกลับไปเป็นแม่บ้าน หรือกุญแจของชีวิต เพื่อออกผจญโลกกว้าง

การแหวกว่ายในทะเลสีฟ้าช่วงท้ายเรื่อง ก็ไม่ต่างจากการแหวกว่ายในห้วงความคิด ตลอดหนังทั้งเรื่องนี้คือการกระโจนสู่การคิดคำนึง แล้วกลายร่างเป็นคนใหม่

การกลายร่างใหม่ถูกนำเสนอในชื่อหนังว่า Fur ในฉากแรกๆ ที่ดีแอนต้องดูแลขนสัตว์สวยๆ จากกิจการของพ่อ เธอรังเกียจและหวาดกลัวขนสัตว์เหล่านี้ ครั้นเธอรู้จักมนุษย์ขนไลโอเนล ดีแอนเลือกหลงใหลในขนและวิกผมของเขา จนวิกผมเล็กๆ กลายสภาพเป็นเสื้อโอเวอร์โค้ตขนยาวที่ดูวิปริตในสายตาคนอื่น แต่กลับเข้ากันได้ดีกับดีแอนราวกับเป็นอวัยวะใหม่

เหมือนงูที่ลอกคราบเพื่อให้ตัวเองได้เติบโต ถึงแม้ลายใหม่จะดู “ประหลาด” ในสายตาคนอื่น แต่นั่นละคือสิ่งที่งดงามที่สุดในสายตาเธอ

สำหรับเธอ…ความสวยแบบที่คนอื่นให้ค่านั่นแหละคือสิ่งน่าขยะแขยง หนังเปรียบเปรยไว้ในฉากแรกๆ เมื่อบ้านอาร์บัสจัดงานเดินแบบ ดีแอนแอบอยู่หลังม่าน เธอมองอย่างหวาดหวั่นไปยังผู้คนที่มาดูแฟชั่นโชว์ กล้องแทนสายตาของดีแอน จับภาพใบหน้าของคนเหล่านั้นราวกับพวกเขาเป็นสัตว์ประหลาด

กิริยา สันดาน และวิธีตีค่าความสวยงามของพวกเขานั่นละ คือสิ่งที่น่าขนลุกขนพอง

๔.


นิโคล คิดแมน เป็นนักแสดงที่ถูกโฉลกกับบทผู้หญิงที่มีจิตใจปั่นป่วน วิปริต หรือซับซ้อนไปถึงขั้นสติจะขาดผึงเมื่อไรก็ได้

แต่สิ่งเหล่านี้กลับให้เคมีที่แปลกประหลาด เมื่อมันถูกนำเสนอผ่านใบหน้าและรูปร่างสวยราวกับนางฟ้า

และสภาพ-เปี่ยมด้วยความพิศวงจนบางครั้งคล้ายเป็นบ้า-นี้ ไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยการแหกปากตะโกนร้องลั่นเหมือนนักแสดงคนอื่นๆ

คิดแมนหยุดอาการทั้งหมดไว้ที่ใบหน้าซีดๆ ดวงตาเบิกโพลงแน่นิ่ง และเสียงพูดกระซิบกระซาบ นี่คือสิ่งที่เธอมอบให้ในหนังหลายเรื่อง ตั้งแต่ To Die For (๑๙๙๕), The Portrait of a Lady (๑๙๙๖), The Others (๒๐๐๑), Dogville (๒๐๐๓), The Human Stain (๒๐๐๓), Birth (๒๐๐๔), The Interpreter (๒๐๐๕) รวมทั้ง The Hours (๒๐๐๒) หนังที่ทำให้เธอได้รางวัลออสการ์

ใน Fur เราเดาไม่ออกว่าตัวละครของคิดแมนคิดอะไรอยู่ ระหว่างดีใจหรือหวาดกลัว แต่มันช่างเศร้าสร้อยและแปลกแยก คิดแมนในเรื่องนี้สวยมาก…มากจนทำให้เธอกลายเป็นตัวประหลาดอีกตัวหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกับดีแอนผู้คิดว่าตัวเองก็เป็นตัวประหลาดเช่นกัน และเลือกสมาคมกับมนุษย์ประหลาดทั้งหลายเพราะมันเป็นโลกที่เธอเข้าถึงมากกว่า

Fur ตั้งโจทย์ไว้ว่าต้องการถ่ายทอดภาวะภายในของ ดีแอน อาร์บัส มากกว่าภายนอก หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่เคยถูกดีแอนถ่ายรูป ผมก็คิดว่าหนังประสบความสำเร็จในสิ่งที่มันหวังไว้

เขาอธิบายเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “เธอจับอารมณ์ตอนที่ผมโมโห ใช่ ตอนนั้นผมโกรธเคือง พ่อแม่ของผมเพิ่งหย่ากัน และตัวผมเต็มไปด้วยความเหงาโดดเดี่ยว ความรู้สึกว่าผมถูกทิ้ง ผมระเบิดมันออกมา แล้วเธอก็สงสารผมมาก ผมคิดว่าเธอจับอารมณ์ความโดดเดี่ยวของทุกคน คนที่อยู่ในรูปของเธอคือคนที่อยากจะสื่อสารกับคนอื่นๆ แต่ไม่รู้วิธีที่จะสื่อสาร และผมคิดว่านั่นละคือสิ่งที่เธอรู้สึกกับตัวเอง

“เธอรู้สึกว่าตัวเองบาดเจ็บ และหวังว่าการปลดปล่อยความรู้สึกผ่านการถ่ายรูป จะทำให้เธอหลุดพ้น”

นั่นละ ดีแอน อาร์บัส ในหนังเรื่องนี้