เกศินี จิรวณิชชากร : รายงานและถ่ายภาพ
ศพของ เจริญ วัดอักษร ยังคงตั้งไว้อยู่ที่วัดสี่แยกบ่อนอกรอวันสะสางคดีเสร็จสิ้น ก่อนที่จะจัดการตามความตั้งใจของเขาที่ว่า “ถ้าวันไหนผมถูกยิงตาย ขอให้เอาศพไปเผาที่หน้าทำเนียบ”
๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต ธนู หินแก้ว ในคดีจ้างวานฆ่า เจริญ วัดอักษร แกนนำคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-หินกรูด จ. ประจวบคีรีขันธ์ ที่ถูกมือปืนจ่อยิงคร่าชีวิตเมื่อเวลาค่ำของวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗
ผลคำพิพากษาครั้งนี้อยู่เหนือความคาดหมายของหลาย ๆ คน เพราะที่ผ่านมาคดีสังหารแกนนำฝ่ายคัดค้านกรณีความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทั้ง ๑๕ รายก่อนเจริญ และอีก ๕ รายหลังจากนั้น (ตามรายชื่อที่รวบรวมโดยคณะทำงานปกป้องนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน) ต่างหายเงียบเข้ากลีบเมฆ แทบไร้ความหวังที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ บางกรณีพยานที่เห็นเหตุการณ์ก็กลับถูก “เก็บ” โดย “กระบวนการยุติธรรม” ไปเสียอย่างนั้น
สำหรับคดีของ เจริญ วัดอักษร จำเลยที่ ๑ และ ๒ คือนายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว สองผู้ลงมือสังหารเจริญต่างก็เสียชีวิตไล่เลี่ยกันในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด จำเลยที่ ๓ คือนายธนู หินแก้ว อาชีพทนายความ ได้ถูกศาลอาญาตัดสินประหารชีวิตด้วยเป็นผู้จ้างวานฆ่า ส่วนจำเลยที่ ๔ และ ๕ คือนายมาโนช หินแก้ว อดีต ส.จ. และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต. บ่อนอกนั้น ศาลตัดสินยกฟ้อง
ท่ามกลางเสียงสะท้อนแสดงความยินดีต่อผลคำพิพากษาคดีครั้งนี้ กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ ที่รับช่วงตำแหน่งประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ. ประจวบคีรีขันธ์กว่า ๒๐๐ คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีอัยการคดีพิเศษ เพื่อคัดค้านการประกันตัวนายธนู หินแก้ว พร้อมกันนั้นก็ขอทราบแนวทางการดำเนินคดีในขั้นตอนของอัยการคดีพิเศษต่อจากนี้ และขอคัดสำเนาเอกสารหลักฐานประกอบสำนวนคดี กรณ์อุมาชี้ว่าหนทางของคดียังอีกยาวไกล กว่าจะเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์และฎีกาต่อไป
“เราคิดว่าไม่ใช่แค่เฉพาะคดีของเจริญ แต่มันควรเกิดเป็นบรรทัดฐานว่าผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะติดตามและตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ที่ผ่านมาตำรวจมักจะอ้างว่าเดี๋ยวทำให้เสียหายต่อรูปคดี
“ความตายของเจริญ ถ้าเราไม่คิดหวังให้เกิดการเรียนรู้กับประชาชนก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายและเสียเวลาที่เราติดตามคดีมาตลอด เรารู้แล้วว่ายังไงผลของคดีก็ไม่มีทางสาวไปถึงตัวผู้บงการได้อยู่ดี ถึงแม้จะได้ตัวผู้รับงานได้มือปืน แต่ผู้บงการจริง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังก็จะยิ่งอยู่ด้วยความมั่นใจความย่ามใจ และจะเข่นฆ่าประชาชนที่ออกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไปเรื่อย ๆ ดังที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ใช่กรณีที่บ่อนอกอย่างเดียว”
ในค่ำคืนที่ลมหายใจสุดท้ายของ เจริญ วัดอักษร หยุดลงที่สี่แยกบ่อนอก ริมถนนเพชรเกษม กรณ์อุมาพร้อมด้วยชาวบ้านกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรีก็รวมตัวประชุมที่วัดสี่แยกบ่อนอกจนถึงเช้า และมีมติแห่ศพของเจริญเข้ากรุงเทพฯ มาที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับทำคดี และขอให้หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ผ่าพิสูจน์ศพ กระแสข่าวฆาตกรรมเจริญครึกโครมอยู่พักใหญ่ ขนาดที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถึงกับเอ่ยปากว่า “คุณเจริญคือนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” และยืนยันว่า “จะจับผู้กระทำผิดให้ได้ภายใน ๑๐๐ วัน”
คดีของเจริญผ่านมือหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจในพื้นที่ และคณะกรรมการพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่นำโดยอธิบดีกรมฯ ในขณะนั้น ได้รีบเร่งรวบรวมสำนวนคดีส่งต่อให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษ โดยอ้างกรอบกำหนดเวลา
ทางกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรีในฐานะผู้เสียหายเห็นว่า การรีบเร่งทำคดีทำให้หลักฐานอ่อน จึงปฏิเสธแต่งตั้งทนายเป็นโจทก์ร่วมในคดี
แต่การติดตามคดีและรวบรวมพยานหลักฐานในแบบ “ชาวบ้าน” ไม่ได้สิ้นสุดลงตรงนั้น
“การที่เจริญตาย แน่นอน ว่าทำให้เรารู้สึกแย่ แต่ก็ไม่แย่เท่ากับเวลาที่ไปติดตามคดีเจริญ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือว่ากระบวนการยุติธรรมกระทำซ้ำกับเรา มันไม่ได้มีการเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาให้ความเป็นธรรมกับประชาชน บางนัดก้าวออกมาจากศาลแล้วถึงกับเครียดป่วยเข้าโรงพยาบาล มันรับไม่ได้สุด ๆ คือเราก็ไม่ได้คาดหวังผลอะไรมาก แต่เวลาที่ไปแล้วจะรู้สึกโดนกระทำซ้ำจากทุกระดับ และบ่อยมาก” คือความรู้สึกของกรณ์อุมา พงษ์น้อย คู่ชีวิตของเจริญ ซึ่งก็ไม่ต่างจากความรู้สึกของชาวบ้านที่ร่วมยืนหยัดต่อสู้ด้วยกันมาตลอด
“พอถึงที่สุดกระบวนการยุติธรรมก็ไม่เคยสาวถึงผู้บงการตัวจริงได้เลยสักครั้ง หนำซ้ำยังถูกทำลายขอบเขตประเด็นให้ลงมาเป็นเรื่องส่วนตัว อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก”
ชายหาดบ่อนอกในวันนี้ยังใสสะอาด เป็นแหล่งทำกินอันอุดมสมบูรณ์ของชาวประมงและชุมชน
จากการที่กลุ่มชาวบ้านติดตามคดีและรวบรวมข้อมูลมาโดยตลอด ก็ได้ปมน่าสงสัยหลายประเด็นที่ไม่มีการนำเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน อย่างเช่นสิ่งแรกที่กรณ์อุมาสงสัยตั้งแต่เห็นศพเจริญ คือมือปืนรู้ได้อย่างไรว่าเจริญจะลงรถทัวร์เที่ยวนั้น ณ จุดนั้น แต่ตำรวจกลับไม่เคยตั้งคำถามนี้และก็กลายเป็นประเด็นที่ถูกทำให้หายไป ทั้งเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ที่นายเสน่ห์โทร.ติดต่อกับ ส.จ. มาโนช หลังจากยิงเจริญ ก็ไม่มีความพยายามติดตามตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งที่มาที่ไปของปืนที่ใช้สังหารเจริญ มือปืนที่น่าจะมีมากกว่า ๒ คนโดยเห็นได้จากผลวิถีกระสุนจากการผ่าพิสูจน์ของหมอพรทิพย์ และปลอกกระสุนที่ตกเป็น ๒ กลุ่ม ด้านพยานบุคคลก็เล่าว่าเห็นมือปืนจากอีกทิศทางหนึ่งเข้ามายิงซ้ำ
ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย ทั้งตัวพยานเองก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมจากเจ้าหน้าที่
ก่อนหน้าเจริญถูกยิง ก็มีข่าวตั้งค่าหัวแกนนำหนุ่มผู้นี้เป็นหลักล้าน
มาถึงวันนี้แกนนำหลายคนก็มีค่าหัวไปตาม ๆ กัน “ได้ยินว่าค่าหัวอยู่ที่ ๒ แสน สงสัยยังต้องอัปเกรดตัวเองอีกเยอะ” กรณ์อุมากล่าวติดตลก
จินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ก็เล่าถึงประสบการณ์ถูกถล่มด้วยลูกปืน ๑๐ กว่านัดเข้าใส่จนบ้านพรุน “โชคดีที่หลบทันถังน้ำมันหน้าบ้านที่ถูกยิงก็ไม่ระเบิด”
ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องดูแลกันเอง โดยจะมีอาสาสมัครหมุนเวียนกันมานอนเฝ้าที่บ้านของบรรดาแกนนำ
เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวในงานสัมมนาครบรอบวาระ ๑ ปีการเสียชีวิตของ เจริญ วัดอักษร ไว้ว่า นี่คือ “สงครามก่อการร้าย” ที่มีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงทรัพยากร โดยกลุ่มทุนจะใช้วิธีที่รุนแรงสะเทือนขวัญ เพื่อให้ชุมชนหวาดกลัวไม่กล้าคัดค้าน
วิธีลอบสังหารผู้นำแบบนี้ใช้ได้ผลมาแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศสารขัณฑ์
แต่กับพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แห่งนี้ ชาวบ้านเลือกต่อสู้โดยสร้างความตื่นรู้ให้กับชุมชนและสังคม เพราะเมื่อไม่สามารถพึ่งกระบวนการยุติธรรมได้ ก็ต้องเลือกสรรกระบวนการของตนเองในการสื่อสารกับสังคม อย่างวิธีการจัดทำเอกสารรวบรวมข้อมูลคดีของ เจริญ วัดอักษร เพื่อเผยแพร่ต่อสังคมภายนอก หรือการจัดเวทีสนทนาต่าง ๆ
“หนึ่งคนสู้เขาไม่ได้ สองคนก็สู้ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องสร้างการตื่นรู้ให้ประชาชน เพื่อที่จะรวมพลังกันในการที่จะงัดง้างต่อนโยบายรัฐที่มาเบียดทับชีวิตของพวกเรา สิ่งที่เรากำลังทำคือการรักษาทรัพยากรและสภาพแวดล้อม เราเชื่อว่าตราบใดที่เรารวมพลังกันเข้มแข็ง อำนาจอะไรเราก็สู้ได้หมด”
คดีฆาตกรรม เจริญ วัดอักษร ไม่ใช่คดีฆาตกรรมธรรมดา แต่มันคือบทหนึ่งของการต่อสู้ใน “สงครามทรัพยากร” ที่ยังมีหนทางอีกยาวไกล
กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จ. ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มอนุรักษ์จากพื้นที่บ่อนอก กุยบุรี บ้านกรูด ทับสะแก แม่รำพึง อ่าวน้อย และสามร้อยยอด ก็รวมกำลังกันเตรียมพร้อมรับมือกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันตกที่หยุดนิ่งมานานและดูท่าจะเริ่มออกตัวอีกครั้งเมื่อสภาพเศรษฐกิจและการเมืองเอื้ออำนวยนับจากนี้
หลังจากแผนโรงงานไฟฟ้าถ่านหินต้องถอยร่นออกจากพื้นที่บ่อนอกและบ้านกรูดในปี ๒๕๔๗ คิวต่อมาตกเป็นของพื้นที่ อ. เมือง จ. ราชบุรี และ อ. แก่งคอย จ. สระบุรี ที่ถูกกากบาทลงบนแผนที่ของ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน
และหลังจากความตายของ เจริญ วัดอักษร จะต้องมีคิวต่อไปอีกสักกี่ราย ?