ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
patgys@yahoo.com
ภาพประกอบ : เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง
ที่ไหนๆ ก็มียุง จากเดิมที่ยุงเป็นพาหะนำโรคเขตร้อน แต่ทุกวันนี้โรคจากยุงกำลังกลายเป็นปัญหาสากลที่ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น มีข้อมูลเชิงสถิติยืนยันว่าภาวะโลกร้อนทำให้ยุงเริ่มคืบคลานเข้าไปในประเทศเขตหนาวแล้วนับจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศในปี ค.ศ. ๑๙๗๕ ว่ายุโรปปลอดจากไข้มาลาเรีย เวลานี้คนอังกฤษจึงต้องเผชิญหน้ากับไข้มาลาเรียซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรคเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐๐ ปีนับแต่ไข้มาลาเรียหายไปเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๐
ปัจจุบันคนทั่วโลกเป็นไข้มาลาเรียปีละ ๒๕๐ ล้านคนและเสียชีวิตปีละ ๑ ล้านคน แต่ในประเทศไทย ไข้มาลาเรียไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในเชิงปริมาณ เพราะข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่าจำนวนผู้ป่วยไข้มาลาเรียลดลง แต่กลับมีแนวโน้มดื้อยามากขึ้น เป็นที่รู้กันในวงการแพทย์ว่า เชื้อมาลาเรียบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชานั้นเป็นเชื้อพันธุ์พิเศษที่มีความแข็งแรงทนทานและปรับตัวต่อยาได้เร็วจนองค์การอนามัยโลกต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อพยายามสกัดกั้นการแพร่ขยายของเชื้อพันธุ์นี้ไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก เพราะหากไม่สามารถสกัดกั้นได้ นั่นหมายถึงหายนะครั้งใหญ่เลยทีเดียว
โรคที่ใกล้ตัวคนไทยมากกว่าไข้มาลาเรียคือไข้เลือดออก ซึ่งเมื่อดูจากสถิติผู้ป่วยโดยกรมควบคุมโรคพบว่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปีละกว่าหมื่นคน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ มีผู้ป่วย ๔๖,๘๒๙ ราย เสียชีวิต ๕๙ ราย พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผู้ป่วย ๖๕,๕๘๑ ราย เสียชีวิต ๙๕ ราย และ พ.ศ. ๒๕๕๑ มีผู้ป่วย ๘๙,๖๒๖ ราย เสียชีวิต ๑๐๒ ราย อีกโรคที่คนไทยเพิ่งคุ้นหูคือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า เพียงครึ่งปี (๑ มกราคม-๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒) พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาใน ๔๗ จังหวัด จำนวน ๓๒,๑๐๒ ราย แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากสุดที่จังหวัดนราธิวาส รองลงมาคือสงขลาและภูเก็ต ที่น่าเป็นห่วงคือมีการแพร่ระบาดของโรคไปสู่ภาคอื่นๆ แล้ว
ด้วยความตื่นตระหนก ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับบุคคลต่างพุ่งเป้าไปที่การกำจัดยุงด้วยวิธีการที่เชื่อกันว่ามีประสิทธิภาพแบบฉับพลัน คือการใช้สารเคมีชนิดร้ายแรง “ถูกยุงร้ายตายทันที”
ด้วยเหตุนี้ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ องค์การอนามัยโลกจึงกลับลำนโยบายชนิดช็อกโลก โดยสนับสนุนให้กลับมาใช้สารดีดีที (dichlorodiphenyltrichloroethane-DDT) อีกครั้ง จากที่เคยยุติการใช้มากว่า ๔๐ ปีแล้ว เนื่องจากดีดีทีเป็นสารเคมีที่ตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม สามารถถ่ายทอดและสะสมในเนื้อเยื่อพืช สัตว์ และมนุษย์ได้ ผลการศึกษาทางการแพทย์ยังระบุว่าดีดีทีทำให้เป็นมะเร็ง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อและระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๒ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงสั่งห้ามใช้สารดีดีทีในภาคการเกษตร ส่วนประเทศไทยได้ประกาศห้ามใช้ดีดีทีนอกภาคสาธารณสุขในอีก ๑๑ ปีต่อมา (มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖) ปัจจุบันอนุสัญญาสตอกโฮล์มกำหนดให้ดีดีทีเป็นสารเคมี ๑ ใน ๑๒ ชนิดของสารเคมีตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants
-POPs) ซึ่งอนุญาตให้ฉีดพ่นเพื่อฆ่ายุงเฉพาะในบ้านเรือนเท่านั้น
ด้วยการเปิดไฟเขียวขององค์กรสาธารณสุขระดับโลกประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไข้มาลาเรียที่รุนแรง ทำให้ขณะนี้ประเทศในแอฟริกากำลังฉีดพ่นดีดีทีฆ่ายุงเป็นการใหญ่ เช่นประเทศยูกันดาซึ่ง ๑ ใน ๓ ของประชากร ๓๐ ล้านคนป่วยเป็นไข้มาลาเรีย โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าปัญหาที่มองเห็นเป็นรูปเป็นร่าง (โรคมาลาเรีย) สำคัญกว่าปัญหาที่มองไม่เห็น (สารพิษสะสมในร่างกายและสิ่งแวดล้อม) แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่างออกมารณรงค์ต่อต้านอย่างเต็มที่ องค์กร Beyond Pesticides เห็นว่า การฉีดพ่นดีดีทีเป็นการทำสงครามที่นำไปสู่ทางตัน เพราะการใช้ดีดีทีไม่สามารถกำจัดโรคมาลาเรียได้ ตรงกันข้ามกลับทำให้เชื้อโรคดื้อยา และทำให้จำนวนผู้ป่วยมาลาเรียเพิ่มขึ้น ดังที่เกิดกับประเทศศรีลังกามาแล้ว
นับเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับผลงานวิจัยล่าสุดในประเทศไทย จากการศึกษากลไกการดื้อต่อสารเคมีดีดีที และกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroid) ซึ่งเป็นสารเคมีกลุ่มที่ใช้มากในประเทศไทย ทั้งแบบฉีดพ่นของสาธารณสุขและยาฆ่าแมลงในบ้านเรือน โดยการสำรวจพื้นที่ในแถบภาคเหนือพบว่า ยุงลายมีอัตราการดื้อต่อสารเคมีดีดีทีเกือบ ๑๐๐ % และยังดื้อต่อสารเคมีอื่นๆ ในกลุ่มไพรีทรอยด์ด้วย
ดร.ละเอียด ประพันธดารา นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สรุปว่า ยาพ่นยุงที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอาจจะไม่ได้ผล ๑๐๐ % ตามที่โฆษณา แม้ปัจจุบันมีการใช้น้ำเป็นส่วนผสม แต่สารเคมีอื่นๆ ที่เป็นตัวผสมก็เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เพราะถ้ายุงไม่ตาย ชาวบ้านจะพ่นสารเคมีมากขึ้น อันตรายจะเกิดกับทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ตลอดจนสะสมในห่วงโซ่อาหารได้ ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าคือการกำจัดลูกน้ำยุงด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
อาจด้วยหลักฐานจากทั่วโลกที่สอดคล้องกับผลการวิจัยข้างต้น ล่าสุดเมื่อพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ องค์การสหประชาชาติได้กลับลำอีกครั้งด้วยการประกาศแผนสากลต่อสู้มาลาเรียโดยไม่ใช้สารเคมี–“ปลอดดีดีที” ด้วยวิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กางมุ้งกันยุง โดยโครงการที่ดำเนินการใน ๔๐ ประเทศ มูลค่า ๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ดีดีทีลง ๓๐ % ภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ และยุติการใช้ดีดีทีอย่างสมบูรณ์แบบในทศวรรษ ๒๐๒๐
จากระดับนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ คำถามก็คือ เราจะอยู่ในวงล้อมของยุงที่ทั้งน่ารำคาญและแสนอันตรายได้อย่างไร ?
หลักการเบื้องต้นคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งต้องยอมรับว่าวงการสาธารณสุขในบ้านเรามีการรณรงค์เรื่องนี้มานานแล้ว ทุกวันนี้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกแจกจ่ายทรายอะเบทแบบทั่วถึงทุกบ้าน…แต่จะหยิบมาใช้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าหาทรายอะเบทไม่ได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำให้ใช้สารลดแรงตึงผิว เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก หรือสบู่ ซึ่งมีคุณสมบัติปิดกั้นระบบหายใจของแมลง ทำให้เยื่อบุรูหายใจของแมลงสูญเสียสภาพการควบคุมความสมดุลของน้ำ และทำให้แมลงตายในที่สุด ตัวอย่างวิธีการคือ ผสมน้ำยาล้างจาน ๑ ช้อนชากับน้ำ ๑ ลิตร ฉีดพ่นต่อเนื่องไปที่กลุ่มยุง (direct spray) ที่เกาะพักตามมุมผนังห้องน้ำหรือในภาชนะ/วัสดุที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือผสมน้ำยาล้างจาน ๑ ส่วนกับน้ำ ๔ ส่วน ฉีดพ่นต่อเนื่องไปที่กลุ่มยุงที่พบเห็นเกาะเป็นกลุ่มตามกองผ้า ผ้าห้อยแขวน หรือบริเวณที่เก็บหมอนมุ้งใกล้ที่นอนหรือห้องนั่งเล่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีข้างต้นล้วนใช้สารเคมีทั้งนั้น ขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์กำลังหาหนทางกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยชีววิธี ล่าสุดศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้เปิดตัว “ชีวินทรีย์” ควบคุมลูกน้ำยุงลาย Bacillus thuringiensis subsp. israelensis หรือ BTI ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ และเป็นศัตรูธรรมชาติของลูกน้ำยุงลายด้วยการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงลาย แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ จากการทดลองใส่บีทีไอลงในภาชนะบรรจุน้ำใช้หรือที่มีน้ำขังพบว่าออกฤทธิ์ทันที ทำให้ลูกน้ำยุงลายเริ่มตายในวันที่ ๓ และออกฤทธิ์อยู่ได้นาน ๓ เดือน โดยใช้บีทีไอประมาณ ๑ ซองต่อน้ำ ๑ โอ่ง หรือประมาณ ๒๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐๐ ลิตร
ยังมีชีววิธีอีกแบบหนึ่งที่เก๋ ท้าทาย และไร้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง ชาวนาท้องถิ่นในเมืองซันลุยส์ อาร์เจนตินา ใช้กบกินยุงแทนการฉีดพ่นสารเคมี โดยกบตัวหนึ่งสามารถกินยุงได้ถึง ๑๕,๐๐๐ ตัวในแต่ละฤดูกาล ดังนั้นเวลานี้เจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงเริ่มกระตุ้นให้ชาวเมืองปล่อยกบในสวนแทนการฉีดพ่นสารเคมี ทั้งเตือนแกมขู่ว่า “ถ้ายังใช้สารเคมีฆ่ายุง แทนที่จะตายเพราะไข้เลือดออก เราจะตายเพราะสารเคมีเสียก่อน”
สุดท้าย เมื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ยุงร้ายยังตามราวี หรือหากต้องออกไปเผชิญกับยุงในที่กลางแจ้ง ก็คงต้องใช้ยากันยุง ซึ่งก็ต้องเลือกใช้ยากันยุงชนิดที่มีสารเคมีอันตรายน้อยที่สุด
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาบอกว่า ยากันยุงที่ปลอดภัยต่อเด็กคือยากันยุงที่ใช้สาร DEET ซึ่งมีชื่อทางเคมีคือ N,N-Diethyl-meta-toluamide ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ ๔-๑๐๐ % ทั้งนี้ความเข้มข้นสูงไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพกันยุงดีกว่า แต่สามารถกันยุงได้นานกว่า ผลการประเมินด้านความปลอดภัยขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ระบุว่า “ปลอดภัยตราบเท่าที่ผู้บริโภคปฏิบัติตามฉลากยาอย่างเคร่งครัดและใช้แบบชั่วคราว” อย่างไรก็ตามพบว่ามีข้อบ่งชี้การใช้ที่ละเอียดถี่ถ้วนมาก เช่น ไม่ควรใช้เกินวันละครั้ง ไม่ใช้ทาบริเวณที่มีแผล ไม่ทาบริเวณปาก มือ และรอบดวงตาของเด็ก ห้ามใช้กับเด็กอ่อน ห้ามทาบริเวณร่มผ้า ไม่ฉีดพ่นในห้องปิดมิดชิด เมื่อกลับเข้าบ้านแล้วให้ล้างน้ำฟอกสบู่ ในบางรายอาจแพ้เป็นผื่นคัน เป็นต้น
ในบ้านเรามียากันยุงที่ปลอดภัยจากสารเคมีและได้รับความนิยมกว้างขวาง นั่นคือยากันยุงจากน้ำมันตะไคร้หอม (Citronella Oil) ซึ่งงานวิจัยทั่วโลกยอมรับว่ากันยุงได้ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้ทดลองประสิทธิภาพป้องกันยุงของครีมตะไคร้หอม ๑๔ % พบว่ามีผลป้องกันยุงกัดได้นาน ๒ ชม. ซึ่งใกล้เคียงกับครีมจากสารสังเคราะห์ (dimethylphthalate ๒๐ % + diethyltoluamide ๕ %)
เทคโนโลยีก้าวไกล เครื่องไม้เครื่องมือป้องกันยุงก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จะเลือกใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับความเมตตากรุณา ถ้าเมตตามากก็ใช้วิธีการของพระวัดป่า คือพิจารณาและวางอุเบกขา หรือไม่ก็ใช้มือไม้ปัดไล่พอเป็นพิธี ถ้าเมตตาน้อยหน่อยก็อาจเลือกใช้ไม้ตบยุงไฟฟ้าชนิดที่ฟาดปุ๊บมีเสียงเปรี๊ยะๆ ตามมาให้นับได้ว่าพิฆาตไปกี่ศพ แต่ดูเหมือนว่าวิธีที่เมตตาน้อยที่สุดก็คือ การใช้สารเคมีชนิดฉีดปุ๊บตายปั๊บที่นอกจากจะฆ่ายุง ฆ่าตัวเองและคนรอบข้างแบบตายผ่อนส่งแล้ว ยังทำร้ายสิ่งแวดล้อมอีกด้วยค่ะ