วีระศักร จันทร์ส่งแสง : รายงาน

บ.ก.สารคดี ถ่ายภาพ นันทโชติ ชัยรัตน์ ไว้เมื่อคราวเจอกันที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน อุบลราชธานี ตอนเย็นวันหนึ่งเมื่อต้นปี ๒๕๕๑ ก่อนอุบัติเหตุทางรถยนต์จะพราเขาไปในตอนเย็นของวันที่ ๒ พฤษภาคม (ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์)

วีรชนจากไปอีกคนหนึ่งแล้ว

เป็นการจากไปเงียบๆ แต่ก็กึกก้องในหมู่คนที่รักใคร่เขา

จะว่าไป ปุ๋ย หรือ นันทโชติ ชัยรัตน์ อาจถือเป็นคนนอก-ในถิ่นที่เขาหลับตาตาย แต่ก็เป็นคนนอกที่ไปสร้างคุณูปการอย่างสำคัญและยิ่งใหญ่ให้กับผืนแผ่นดินและผู้คนในแถบปลายแม่น้ำมูนบรรจบแม่น้ำโขง

เขาอุทิศชีวิตตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มให้กับการต่อสู้เคียงข้างผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม ตั้งแต่กรรมาชีพในเมืองจนถึงผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐในถิ่นชนบท โดยเฉพาะผู้ได้รับความเสียหายจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวได้ว่าเขาเป็นคนที่เข้าคลุกคลีอย่างใกล้ชิดเต็มตัว รับรู้ทุกข์สุขและข้อมูลเกี่ยวกับการต่อสู้ของผู้ประสบภัยจากเขื่อนทั้งสองอย่างละเอียดและลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่ง เช่นเดียวกับ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สหายร่วมรบอีกคนที่เพิ่งจากไปเมื่อปลายปีกลาย

เมื่อเขาจากไป จึงไม่แปลกที่ในงานศพของปุ๋ย จะมีหรีดอาลัยทั้งจากชนชั้นนำของประเทศ ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ดีรัตนโกสินทร์ ปัญญาชนสยาม อดีตเสรีไทย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนระดับนำ นักวิชาการ ผู้ว่าราชการจังหวัด แม้กระทั่งจากองค์กรที่เคยเป็นคู่ต่อกรกับเขาและชาวบ้าน วางเรียงรายแสดงความอาลัยเต็มศาลาวัดทุ่งศรีเมือง วัดใหญ่ประจำเมืองอุบลราชธานี อันเป็นผืนแผ่นดินที่จะรับร่างเขาไว้ชั่วนิรันดร์

เขาตายแต่ยังหนุ่ม และมาตายบนแผ่นดินไกล เสมือนตายอย่างไร้ญาติ แต่งานศพเขาไม่เงียบเหงา หากกลับเนืองแน่นด้วยแขกผู้ใหญ่ที่เขานับถือ เพื่อนพ้องนักพัฒนาเอกชนจากทั่วทุกหัวเมืองในทุกภาคส่วนของประเทศ และโดยเฉพาะชาวบ้านผู้ยากไร้ที่เขาผูกสัมพันธ์ต่อกันมาประหนึ่งญาติพี่น้องร่วมสายเลือด

ทุกคนที่ได้มาเห็นและมาร่วมอยู่ในบรรยากาศของการคารวะและอาลัยต่อการจากไปของเขา คงได้ประจักษ์อย่างหนักแน่นในใจตนอีกครั้งว่า

ความดีที่ใครทำไว้ ไม่สูญเปล่า

ในการเคลื่อนไหวร้องทุกข์ของชาวบ้านสมัชชาคนจนแทบทุกครั้งมักต้องมีปุ๋ย-นันทโชติ ชัยรัตน์ ร่วมเคียงข้างอยู่ในขบวนด้วยเสมอ ในภาพเป็นการชุมนุมครั้งหนึ่งแถวหน้ารัฐสภา ปุ๋ยนั่งมือพาดเข่าอยู่กลางวงประชุมชาวบ้าน ส่วนคนขวาสุดที่มีผ้าขะม้าสีม่วงเคียนหัวคือ มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักต่อสู้อีกคนที่จากไปก่อนเมื่อปลายปีที่แล้ว (ภาพ : โครงการทานมูล)

จากครอบครัวพ่อค้าข้าราชการในจังหวัดนครสวรรค์ ปุ๋ยเดินทางเข้ามาเรียนต่อปริญญาด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี ๒๕๓๑ และคงเป็นองค์กรกิจกรรมนักศึกษาที่นี่เองที่เป็นเบ้าหลอมกล่อมเกลาให้เขาหันเหมาสู่หนทางของนักรบเพื่อผู้ยากไร้ แทนการมุ่งไขว่คว้าปริญญานิติศาสตรบัณฑิตแต่เพียงด้านเดียว

นับแต่การเข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรโรงงาน ร่วมเรียกร้องผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ประกันสังคม เมื่อยังเป็นนักกิจกรรมอยู่กับกลุ่มสวัสดิภาพแรงงาน (สภง.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือแม้เมื่อจบการศึกษาไปแล้วเขาก็ยังวนเวียนอยู่กับแวดวงกิจกรรมนักศึกษา ด้วยใจรักที่จะส่งต่อแนวคิดการรับใช้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้กับนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยรุ่นหลัง ในช่วงนั้นเขาใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ “บ้านกะลาแตก” ของชมรมค่ายอาสาพัฒนา มร.

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ชีวิตของปุ๋ยพัดเพไปในหลายถิ่นที่อันเกี่ยวเนื่องกับการงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ภูเก็ต กรุงเทพฯ สุรินทร์ ศรีสะเกษ

จนท้ายสุดมาลงหลักอย่างมั่นคงกับการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งกรณีปัญหาอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับการที่ชาวบ้านคนเล็กคนน้อยถูกเบียดเบียนจากโครงการพัฒนาของรัฐอีกนับร้อยๆ กรณีปัญหา กระทั่งได้มีการรวมตัวกันเป็น สมัชชาคนจน ในปี ๒๕๓๘ ซึ่งปุ๋ยเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้ง

บารมี ชัยรัตน์ พี่ชายของเขากล่าวว่า กรณีเขื่อนสิรินธรนั้นเป็นงานที่ปุ๋ยเข้าจัดตั้งด้วยตัวคนเดียวและเป็นงานใหญ่งานแรกของเขา

ส่วนเรื่องเขื่อนปากมูลนั้น เป็นกรณีปัญหาที่เขาเข้าร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านโครงการตั้งแต่เขื่อนยังไม่สร้าง และยืนหยัดต่อสู้กันต่อมากระทั่งเขาสิ้นลม และสงครามยังไม่จบ…

เขาโถมชีวิตทั้งชีวิตให้กับการต่อสู้ของชาวบ้านตั้งแต่วัยหนุ่ม กระทั่งพบรักและมีครอบครัว ทุกอย่างดำเนินไปกลางสมรภูมิ แม้แต่ลูกชายทั้งสามคนของเขา ก็เอานามของแม่น้ำในถิ่นนั้นมาเป็นชื่อว่า ลำโดม ลำน้ำ ลำมูน

ไม่มีใครปฏิเสธได้ กับการที่จะกล่าวว่าเขาเป็น “นักรบ” ที่แท้จริงคนหนึ่ง เป็นคนทำงานสังคมที่ไม่มีตำแหน่งหรือองค์กรสังกัด ไม่ใช่เป็นเจ้าขององค์กรหรือมูลนิธิที่จะไปแสวงหาเงินอุดหนุนและเขาก็ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากใครหรือจากต่างประเทศ รายได้ที่ไม่ประจำของเขามาจากการรับทำงานให้เพื่อนที่เข้าใจภาวะทางการเงินของเขา

รูปถ่ายเก่าใบนี้สะท้อนภาพชีวิตของปุ๋ยได้อย่างจริงที่สุด ชั่วชีวิตเขาอยู่กับการเดินทางร่วมกับพี่น้องชาวบ้านที่ทุกข์ร้อนทั้งในฐานะผู้นำและเพื่อนร่วมทุกข์ ในฐานะผู้ให้การศึกษาและผู้เรียนรู้จากชาวบ้าน (ภาพ : โครงการทานมูล)

บทกวีความยาว ๙ บรรทัด ที่ วัชรี เผ่าเหลืองทอง เขียนถึงเขาในหนังสือ ปุ๋ย ลำน้ำ สร้างความงดงามให้แผ่นดิน ให้ภาพเกี่ยวกับตัวตนของเขาได้อย่างแจ่มชัดที่สุด

มีคนทำงานทางสังคม
หรือคนที่ทำงานกับคนยากจนไม่มากนัก
ที่มีชีวทัศน์ที่ดีงาม ชัดเจน
ไม่มีปัญหาทุจริต ผิดลูกผิดเมีย
ไม่เอาชาวบ้านไปหากิน
ไม่กินเหล้าเมายาจนเสียงานเสียคน
ไม่เป็นเจ้าทฤษฎีหรือเจ้าสำนัก
มีเพื่อนของปุ๋ยคนหนึ่งเคยพูดถึงปุ๋ยว่า
ปุ๋ยเป็นนักบวชที่ปฏิวัติ

ฤดูฝนปีนี้มาถึงแล้ว แต่ประตูเขื่อนปากมูลยังคงถูกปิด ซึ่งสวนทางผลการศึกษาทางวิชาการของนานาสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศและชาวบ้านในพื้นที่ ที่เห็นว่าควรเปิดเขื่อนอย่างถาวร ปุ๋ยและพี่น้องแม่มูนมีศึกหนักหนาที่ต้องสู้ต่อ

เขื่อนสิรินธร ปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนจำนวนนับพันๆ ครอบครัว คาราคาซังมาร่วม ๔๐ ปี เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อรัฐบาลมีมติเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ อนุมัติงบประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาทสำหรับเป็นค่าชดเชย

แต่ความล่าช้าในทางปฏิบัติของระบบราชการทำให้มีนายทุนเข้ามาฉวยโอกาสกว้านซื้อที่ดินไว้ทำกำไรเมื่องบประมาณตกมาถึง ปุ๋ยกับเพื่อนสมัชชาคนจนจึงต้องวิ่งเต้นเจรจาหาเงินมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ไว้ก่อน

นันทโชติ ชัยรัตน์ ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงโ่ด่งดัง แต่ในงานศพเขา (และลูกชาย) ที่วัดทุ่งศรีเมืองกลางเมืองอุบลราชธานี มีหรีดจากบุคคลสำคัญระดับประเทศมาแสดงความอาลัยต่อเขามากมายและอีกหลายท่านเดินทางมาด้วยตนเอง(ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

คืนวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ปุ๋ยพร้อมเพื่อนเอ็นจีโอและชาวบ้านสิรินธร เดินทางจากอุบลราชธานี มาประชุมเจรจากับ พอช. เรื่องเงินกู้เพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร ที่ศรีสว่าง อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ในเช้าวันรุ่งขึ้น และเดินทางกลับในตอนเที่ยงของวันเดียวกัน แต่กว่าจะถึงอุบลฯ ก็ตกเย็น และฝนตกหนัก

ปุ๋ยกับเพื่อนส่งชาวบ้านลงที่นอกเมืองอุบลฯ แล้วจึงมุ่งกลับศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน ซึ่งอยู่ริมทางระหว่างตัวเมืองอุบลฯ กับเขื่อนปากมูลด้วยรถกระบะคันเดิม

ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน เป็นเหมือนศูนย์กลางที่พบปะของชาวบ้านและคนทำงานภาคประชาชนแถบอุบลฯ และอีสาน และเป็นจุดหมายปลายทางของปุ๋ยกับเพื่อน-ในวันนั้น

การเจรจาที่โพนทรายสำเร็จลุล่วงอย่างน่าพอใจ พอช. ตกลงจะให้เงินสนับสนุนขั้นต้น ๕ ล้านบาท สำหรับจัดตั้งกองทุนที่ดินช่วยเหลือเหยื่อเขื่อนที่ระทมทุกข์มานับ ๔๐ ปี แต่ปุ๋ยไม่มีโอกาสจะนำข่าวดีมาบอกพี่น้องสิรินธร หรือแม้แต่เมียที่บ้าน

เมื่อรถกระบะคันที่เขานั่งมาโดยมีเพื่อนเป็นคนขับ แล่นมาถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๙ ของถนนสายวารินชำราบ-ช่องเม็ก รถกระบะอีกคันที่วิ่งสวนทางมาเกิดเสียหลักพุ่งข้ามเส้นแบ่งเลนเข้าชนประสานงา

รถกระบะทั้งสองคันพังยับ แต่คนขับทั้งสองบาดเจ็บไม่มาก เช่นเดียวกับลำโดม ลูกชายคนโตที่ปุ๋ยพามาด้วย ก็เพียงเป็นแผลถลอกฟกช้ำ สมภาร คืนดี เพื่อนเอ็นจีโออีกคนที่นั่งรถมาด้วยกันบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงหัก แต่ นันทโชติ ชัยรัตน์ เสียชีวิตคาที่ และลำน้ำ ลูกชายคนกลางของเขา เสียชีวิตที่โรงพยาบาลตอนหัวค่ำของคืนนั้น

เขาตายในหน้าที่ กลางสมรภูมิของคนทุกข์ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงการพัฒนาที่อยุติธรรมจากภาครัฐ

ไม่มีธงชาติห่มคลุมโลงศพของเขาและลูกชาย แต่คุณความดีที่เขาทำไว้ และความอาลัยรักที่พี่น้องคนจนมีต่อเขา คืออนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่และคงทนยิ่งกว่า

ปุ๋ยจากไปด้วยวัยเพียง ๓๘ ปี บนแผ่นดินห่างไกลบ้านเกิด แต่ไม่ใช่ตายอย่างคนไร้ญาติขาดมิตร

เมื่อยังอยู่เขาดำเนินชีวิตอยู่อย่างผู้ต่ำต้อยและรับใช้ ยามตายจึงมีแต่คนอาลัยอาวรณ์

การจากพรากเป็นเรื่องเศร้าที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตคนเรา แต่มันจะน่าอบอุ่นเพียงใด กับการได้หลับตาตายอยู่ท่ามกลางการห้อมล้อมของคนที่รักเราอย่างจริงใจ