วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
“เรานัดกัน เจอะเจอกัน ไปด้วยกัน
ตามหาความฝันอันรื่นรมย์…
แอบบินตามนกบิน แอบปลอมเป็นก้อนหิน
แปลงร่างเป็นแมลงจักจั่น
ถ้าอยากจะปีนก็ปีน แต่เราต้องมีพลัง
ต้องเสริมกำลังด้วยการร้องเพลง
เด็กซนจนเทวดา บนฟ้ายังกลุ้มใจ
ส่งดาวประกายสุกใส ไว้ในใจเด็ก
หากหัวใจยังงาม ตราบฟ้าครามยังดี
เรามี…ทุ่งแสงตะวัน
ค่ำคืนผลิดาว เช้ามีตะวัน
ตราบใดโลกมีคนหว่านฝัน ดาวสดใส เด็กสวยงาม”
(เพลง “ทุ่งแสงตะวัน”, ศุ บุญเลี้ยง)
เชื่อว่าคนรุ่นอายุ ๓๐-๕๐ ปี กว่าครึ่งน่าจะเคยได้ยินบทเพลงกลั้วเสียงหัวเราะสดใสของเด็กน้อยเพลงนี้ บทเพลงที่อาจจินตนาการได้ถึงเด็กๆ วิ่งเล่นกลางท้องทุ่ง ดวงตะวันทอแสง มวลเมฆและหมู่ดาว ผืนดินชุ่มชื้น ธารน้ำไหล สายลมพัด หมู่ไม้ระบัดใบ
คนรุ่นที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางรอยต่อของคลื่นความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลายระลอก หลายคนบอกว่าโชคดีที่มี “ทุ่งแสงตะวัน” เป็นเพื่อนเติบโตมาด้วยกัน
ทศวรรษ ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ผลพวงจากการเปลี่ยนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนานใหญ่ อันนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ปัญหาสังคมกระจายอยู่ทั่วทุกหย่อมหญ้า เริ่มปรากฏชัด รายการทุ่งแสงตะวัน–รายการเด็กที่ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติ ชีวิตวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสรรพสิ่ง ถือกำเนิดขึ้น โดยทีมงานผลิตรายการสารคดีคุณภาพของบริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด
นับแต่แรกออกอากาศจนถึงปัจจุบัน ทุ่งแสงตะวันได้พยายามสร้างนิยามความหมายใหม่แก่ธรรมชาติ สิทธิชุมชน การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน การกลับคืนสู่รากเหง้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยเชื่อว่าจะเป็นทางรอดของสังคมไทยในทศวรรษถัดไป โดยการไปตามหาความฝันของเด็กๆ ในชุมชนชนบท ให้เขาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวชุมชนของตน และถ่ายทอดสานต่อภูมิปัญญาของคนรุ่นพ่อแม่
สองทศวรรษผ่านไป พี่นก-นิรมล เมธีสุวกุล ในฐานะ “คนหว่านฝัน” บอกเราว่าเธอไม่รู้หรอกว่าทุ่งแสงตะวันยังสอดคล้องกับยุคสมัยหรือไม่ “แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเล่าเรื่องนี้แก่สังคม ท่ามกลางโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนจนคนไม่รู้แล้วว่าน้ำมาจากไหน อากาศดีๆ มาจากไหน เรายิ่งต้องทำในสิ่งนั้น
“ทุ่งแสงตะวันอยู่ได้แน่…แต่ไม่รวย เพราะเราไม่หวังกำไรเป็นสิ่งสูงสุด ไม่ใช้การตลาดนำ และเนื่องจากเราอยู่อย่างประหยัดมาแต่แรก เรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงผ่านคลื่นลมช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาได้อย่างไม่เจ็บตัวนัก ที่ผ่านมาป่าใหญ่ฯ ไม่มีกำไรมากนักแต่ไม่เคยขาดทุน และเรายังรักษาจิตวิญญาณของเราไว้ได้ คือยังคงเป็นบริษัทที่จดจำชื่อเด็กๆ และทักทายกันได้ตลอดมา”
กาลเวลา ๒๐ ปี ทุ่งแสงตะวันบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความฝันและจินตนาการแก่ผู้ชมและเด็กๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเติบโตอย่างงดงาม พร้อมๆ กับแตกหน่อความคิดเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน วิถีวัฒนธรรมชุมชน สำนึกรักธรรมชาติ และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนตัวเล็กๆ ในสังคม
การที่รายการนี้ยังมีที่ยืนในอุตสาหกรรมทีวีเมืองไทยมาถึง ๒ ทศวรรษ อาจเป็นเพราะทุ่งแสงตะวันได้ตอบโจทย์บางอย่างแก่คนที่กำลังแสวงหาหลักหมายของชีวิต
เด็กที่วิ่งเล่นตามท้องทุ่ง หาปูหาปลา เก็บผักริมลำห้วย ทุ่งแสงตะวันจุดประกายให้พวกเขารักชุมชนบ้านเกิดภาคภูมิใจในสิ่งที่มีที่เป็น
เด็กที่ออกจากหมู่บ้านมาเรียนหนังสือหรือหางานทำในเมือง ทุ่งแสงตะวันเป็นสื่อกลางเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับชุมชน ทำให้เขามีความหวังว่าสักวันจะได้กลับบ้าน
เด็กเมืองกรุงที่ไม่เคยรู้ความต่างระหว่างต้นข้าวกับต้นหญ้า ไม่รู้ว่าน้ำมาจากที่ใด ทุ่งแสงตะวันเปิดโลกกว้างให้พวกเขาเข้าใจเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งรอบตัวด้วยหัวใจ
สองทศวรรษทุ่งแสงตะวันเดินทางเคียงคู่ไปกับถนนสายวัฒนธรรมชุมชนที่ปักหมุดในสังคมไทยเมื่อราวทศวรรษ ๒๕๒๐-๒๕๓๐ โดยมีชาวบ้าน เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมอื่นๆ ร่วมเดินตามทางสายนี้ จนถึงปัจจุบัน ทุ่งแสงตะวันยังยืนหยัดทำหน้าที่ขยายผลแนวคิดดังกล่าวเพื่อตอบคำถามของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา ๒๐ ปี
ยุคหนึ่งวัฒนธรรมชุมชนเคยเป็นแรงต้านกระแสเชี่ยวกรากของโลกาภิวัตน์ ๒๐ ปีผ่านไปสิ่งนี้จะยังเป็นคำตอบของยุคสมัยหรือไม่
และ ๒๐ ปีผ่านมา เด็กที่เคยจับปูจับปลาในลำห้วย เด็กที่พี่นกเคยวิ่งซนไปกับพวกเขาในทุ่งกว้าง ทุกวันนี้เขาและเธอเป็นอย่างไรกันแล้ว สังคมไทยทำอะไรกับเด็กๆ ทุ่งแสงตะวัน ความฝันความหวังกับความเป็นจริงของชีวิตนำพาพวกเขาสู่หนทางใด
ลองมาฟังทัศนะของพี่นกแห่งทุ่งแสงตะวัน
ความฝันในชีวิตวัยเด็กของพี่นกคืออะไร ทำไมพี่นกเลือกเดินบนเส้นทางสายสื่อสารมวลชน
ความฝันในวัยเด็กอยากจะเป็นครู พยาบาล และทนายความ อยากเป็นครูเพราะเรามีครูดี ๆ เยอะ มีทั้งครูที่ชอบชวนพวกเราถ่ายรูปในวันหยุด ครูที่ชอบฟังเพลงเพื่อชีวิตให้เราได้ลิ้มรสดนตรีในแนวทางต่าง ๆ ออกไป ครูศิลปะที่ไม่นิยมให้คะแนนเด็กแต่นิยมคัดเลือกงานศิลปะไปโชว์บนบอร์ด ครูที่สนับสนุนกิจกรรมให้จัดรายการเสียงตามสาย ครูที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิชาหน้าที่ศีลธรรมในห้องเรียน เนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคที่ครูอาจารย์ต่างเป็นนักศึกษาไฟแรงเรียนจบแล้วออกสู่ชนบท เลยทำให้เรามีโอกาสได้รับรู้หรือเรียนรู้อะไรที่น่าสนใจ ถือเป็นโชคดีในวัยเด็ก ทำให้เราไม่คิดอยู่ในกรอบมากนัก ส่วนอยากเป็นทนายความเพราะสังคมที่เราโตมา เราได้เห็นคนจนที่เข้าไม่ถึงกฎหมาย อยากเป็นพยาบาลก็เพราะอยากช่วยคน
พอย่างเข้าวัยรุ่น เราได้เห็นปัญหาชัดขึ้น เข้าถึงสื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมช่วงปี ๒๕๑๖-๒๕๒๐ เราได้เห็นบทบาทของสื่อค่อนข้างชัด เรื่องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ การเผชิญหน้ากับการปกครองแบบเผด็จการ ได้เห็นรุ่นพี่นักข่าวที่ทำงานหนังสือพิมพ์ จึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรยากาศการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยยุคนั้นเป็นอย่างไร
ยุคนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของการกลับมาทำกิจกรรมทางสังคมของขบวนการนักศึกษา และเป็นยุคที่เริ่มตั้งคำถามว่าสังคมไทยควรจะไปทางไหน จากเมื่อก่อนกระแสขบวนการนักศึกษามุ่งทางสังคมนิยม ในขณะเดียวกันโลกแห่งความเป็นจริงในป่าที่นักศึกษาเผชิญก็มีปัญหามากมาย คนเริ่มออกจากป่า มีการทบทวนเรื่องทิศทางของสังคมไทย บรรยากาศในมหาวิทยาลัยยุคนั้นจึงเป็นยุคแห่งการแสวงหาครั้งที่ ๒ เริ่มมีการพูดเรื่องมนุษยนิยมมากขึ้น เราเป็นสมาชิกค่ายอาสาฯ ก็เลือกอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เพราะบทบาทหน้าที่คนในฝ่ายนี้ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านมากที่สุด สิ่งใดที่คิดว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตเราก็ทำ ทั้งงานสาราณียกร งานรื่นรมย์ของคณะ จัดเสวนาเชิญคนมาพูดคุย กล่าวได้ว่าเราเติบโตมาในมหาวิทยาลัยด้วยสถานภาพที่เพื่อนซ้ายจัดระบุว่าเราเป็น “ปีกซ้ายของฝ่ายขวา ปีกขวาของฝ่ายซ้าย” คือฉันอยากทำในสิ่งที่ฉันอยากจะทำ เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เราสนใจและอยากทำคือวิชาชีพที่จะต้องเรียนรู้ปัญหาสังคม ความที่เราเปิดใจรับและพร้อมจะเรียนรู้จากชาวบ้าน นั่นเป็นต้นทุนอันสำคัญยิ่งมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วชีวิตที่เราเลือกก็มาทางนี้ตลอด
อยากให้เล่าประสบการณ์ตอนทำงานนักข่าวกับประเด็นที่สนใจ
พอเริ่มทำงานที่หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ก็ทำข่าวสายเด็ก แรงงานหญิง ปัญหาสังคม ราวปี ๒๕๒๖ เป็นยุคที่สังคมเริ่มเปิดกว้าง เป็นยุคแรก ๆ ที่มีการเลือกตั้งหลังจากอยู่ภายใต้คณะปฏิวัติคณะปฏิรูป หลังจากประเทศห่างเหินจากการเลือกตั้งไปนาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญมากอีกช่วงหนึ่ง จากที่เราได้รับรู้รับเห็นสังคมที่มืดดำบอดสนิท มาสู่สังคมที่ค่อย ๆ เปิดกว้างขึ้น แล้วเริ่มขยับเข้าสู่สังคมที่เรียกว่า “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” สังคมไทยที่เปิดกว้างทั้งเรื่องการเมืองหลังเลือกตั้งและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งก่อนปี ๒๕๔๐ ฟองสบู่แตก สังคมก็เริ่มทบทวนตัวเอง เราโชคดีมีโอกาสได้เห็นสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงคาตาเราในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องเทคโนโลยี เรื่องประเด็นทางสังคม รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม
จากนั้นเราลาออกไปทำงานข่าวที่ช่อง ๗ เลือกทำข่าวสายเศรษฐกิจเพราะเห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวสู่ทางนี้ แล้วการก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เราจะละทิ้งคนยากคนจนคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร เลยอยากทำข่าวเศรษฐกิจที่พูดเรื่องราคาข้าว เรื่องผลผลิตทางการเกษตร ต่อมาลาออกมาร่วมกับเพื่อนทำหนังสือพิมพ์ชื่อ มติมหาราษฎร ตอนนั้นคิดจะทำอะไรตามฝันที่อยากจะทำดูบ้าง เป็นช่วงชีวิตที่อยู่ท่ามกลางความยากจนอัตคัด แต่เป็นช่วงอัตคัดที่มีคุณค่ายิ่ง แล้วก็ทำให้เรามั่นใจกับชีวิตในอนาคตที่จะมาถึงว่าไม่กลัวอะไรอีกแล้ว ทำได้ปีกว่า ในที่สุดก็เจ๊ง แบกหนี้อาน
ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยสนใจงานโทรทัศน์มาก่อน แต่มีความฝันอย่างหนึ่งคืออยากทำรายการสารคดีข่าวอาชญากรรม เราไปสัมภาษณ์คนข่มขืนผู้หญิงแล้วถูกตัดสินประหารชีวิต สัมภาษณ์ถึงนาทีสุดท้ายเขาก็ยังไม่เห็นว่าตัวเองผิด เราก็ตั้งคำถามมากมายในเรื่องความเป็นมนุษย์ เลยอยากทำสกู๊ปปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม ประกอบกับยุคนั้นราวปี ๒๕๒๘ เราได้เห็นแล้วว่าจอสี่เหลี่ยมนี้มีพลัง และมันจะเป็นพลังสำคัญยิ่งในการกำหนดความรู้ความคิดของคนในสังคมในเวลาอันรวดเร็ว เราจึงอยากจะพาตัวเองมาผลิตงานในฐานะสื่อมวลชนผ่านช่องทางนี้ พออาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ตั้งบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เพื่อผลิตงานให้สถานีโทรทัศน์ เราเลยสมัครและได้มาทำ ก็รู้สึกพอใจที่ตัวเองมีโอกาสนำพาเสียงนกเสียงกา เสียงเล็ก ๆ ของชาวบ้านในที่ต่าง ๆ มาบอกเล่าผ่านหน้าจอในรายการข่าวของช่อง ๙
ช่วงเปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อโทรทัศน์ มีอะไรบ้างเป็นอุปสรรคหรือสิ่งที่ต้องปรับตัว
ช่วง ๒-๓ เดือนแรกทำข่าวสายทั่วไป วันแรกต้องไปทำเรื่องกระเป๋ารถเมล์ผู้หญิงท้อง ๘ เดือนแล้วยังต้องทำงานอยู่ ไปถามถึงเรื่องสวัสดิการ ความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์ ไปสัมภาษณ์หมอ นักวิชาการ หัวหน้าฝ่ายแรงงาน ฯลฯ ซึ่งข่าวนี้ทางสถานีต้องการแค่นาทีเดียว เราทำมาสัก ๕ นาทีได้ เพราะอยากทำให้รอบด้านและครบถ้วน เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวอยู่นาน ในที่สุดเข้าใจแล้วว่าการทำประเด็นสักประเด็นในนาทีครึ่งให้ได้น้ำได้เนื้อเป็นยังไง เราก็ได้ฝึกฝนด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากประเด็นมุมมองสังคม ได้ฝึกฝนทักษะการทำรายการโทรทัศน์ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ตอนนั้นสวมวิญญาณเดียวที่แน่วแน่มากคือ ถ้าเราเป็นคนดู เราอยากเห็นอะไร
อันที่จริงการเปลี่ยนจากการทำข่าวหนังสือพิมพ์มาทำข่าวโทรทัศน์เป็นงานที่ง่ายมาก ความที่เราทำงานหนังสือพิมพ์มาก่อน เราอ่านขาดว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร และเป็นสัญชาตญาณนักข่าวเชิงวิเคราะห์อยู่แล้วว่ามีเหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ หรือมีปมอะไรที่จู่ ๆ ประเด็นนี้ถูกโยนมาในสาธารณะ อาจมีต้องปรับตัวบ้างในเรื่องการสกัดเฉพาะบางประเด็นที่ออกอากาศ และเมื่อเป็นงานข่าวโทรทัศน์ก็ต้องไปแสวงหาเอารูปและเรื่องมาให้ได้
เป็นยุคแรก ๆ เลยก็ว่าได้ที่มีการรายงานตัวของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์
การปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์สมัยก่อนไม่ใช่ลักษณะเป็นดารา ทุกครั้งที่บอกว่า “นิรมล เมธีสุวกุล รายงาน” คือฉันกำลังรับผิดชอบงานของฉัน การที่เรามายืนอยู่ตรงนี้และพูดคำนี้มันเป็นสิ่งสำคัญมาก แล้วสิ่งที่ตามมาคือความรับผิดชอบ ต้องทำให้คนดูทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยพร้อมที่จะฟัง นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของคนทำงานสื่อ เช่นถ้าจะวิจารณ์เรื่องนโยบายข้าวก็จะคิดเลยว่าฉันจะรายงานเรื่องนี้ให้คนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนโยบายข้าวฟัง และจะรายงานเรื่องนี้ให้ชาวนาฟัง ดังนั้นคำแรกที่จะต้องมีคือถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเท่าที่จะทำได้ ความน่าเชื่อถือนี้เองทำให้การทำงานของเราง่าย เพราะคนเริ่มรู้จักและเชื่อมั่นเรา ต่อให้เป็นคนที่กำลังจะถูกแฉแล้วกลัวมาก พอโทรศัพท์ไปว่า “นี่นิรมล พร้อมที่จะฟังคุณพูด” เขาก็ยอมให้สัมภาษณ์ คนที่กำลังโกรธแค้นหรือรู้สึกว่าตนกำลังเสียเปรียบ ก็ยิ่งอยากคุยกับเรา สิ่งนี้จึงเป็นเหมือนต้นทุนการทำงานที่ทำให้งานของเรามีคุณภาพขึ้นเรื่อย ๆ
เวลานั้นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านสำหรับเรามาเป็นที่หนึ่ง ทั้งความเดือดร้อนทั่วไปและที่เกิดจากนโยบายรัฐ ช่วงท้าย ๆ เราเริ่มชัดเจนขึ้น ต้องทำงานเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรในชุมชน ทำไปทำมาเลยกลายเป็นนักข่าวสายสิ่งแวดล้อมโดยไม่ตั้งใจ
บริบทช่วงนั้นกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรงด้วยใช่ไหม
มันมาด้วยกันค่ะ เมื่อประเทศชาติเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาก ทรัพยากรก็จะถูกทำลายมาก ยกตัวอย่างชาวบ้านรักษาป่ามาหลายชั่วคน อยู่ดี ๆ ป่าผืนนั้นถูกให้สัมปทานโดยคนนอกซึ่งไม่เข้าใจทั้งภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรมของชาวบ้าน มาถึงก็ตัดถนนผ่านธารน้ำที่จะไหลลงนา ป่าที่เคยรักษาไว้ไม่มีน้ำ ชาวบ้านบางส่วนก็ดิ้นรนออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมืองใหญ่ ขณะที่บางส่วนยังยืนหยัดและต่อสู้ปกป้องชุมชนของตน กลุ่มหลังนี้เองคือกลุ่มที่พี่นกไปทำข่าวให้เขาเล่าปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ ยิ่งทำเราก็ยิ่งรับรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งเห็นว่ามันมีค่าควรแก่การให้คนอื่นได้เห็น เพราะฉะนั้นบทบาทจากช่วงแรกเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ ของชาวบ้าน เริ่มเป็นสปอตไลต์คอยส่องว่าในความดำมืดแห่งความไม่รู้ของสังคมไทย เราอยากให้คนดูเห็นตรงนี้ก็คอยฉายภาพมากขึ้น ๆ
เอาเข้าจริงแล้วคนทำงานด้านสื่อ เราไม่รู้อะไรมากหรอกค่ะ แล้วไม่ได้รู้หมดทุกแง่มุมทุกเรื่อง การที่เราไปสัมผัสปัญหาและความจริงในที่ต่าง ๆ ทำให้เราได้สร้างงานที่มีคุณค่า ในขณะเดียวกันวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ทำให้คนทำงานได้เรียนรู้ตลอดเวลา และภารกิจสำคัญคือต้องทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดเวลา ยิ่งรู้และเข้าใจก็จะยิ่งตระหนักในคุณค่า เพียงแต่ว่าทุกวันนี้คนไม่รู้คุณค่าแท้จริง ถ้ารู้ก็จะช่วยกันรักษา นี่เป็นหลักต้น ๆ ของการทำรายการทุ่งแสงตะวันเลยก็ว่าได้
อะไรเป็นจุดหักเหให้มาทำรายการทุ่งแสงตะวัน
พอเราทำงานในเชิงปัญหามานาน แล้วออกอากาศในช่วงเวลาสั้น ๆ ประกอบกับบริษัทแปซิฟิคฯ มีการเมืองแทรกบ้างซึ่งเราก็ไม่รู้รายละเอียด เราเลยอยากจะทำงานที่นิ่งและตอบโจทย์ใหญ่ ๆ ในประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชาวบ้าน ท่ามกลางการถูกแย่งชิงทรัพยากรโดยกฎหมายนโยบายของรัฐ และความไม่รู้ของสังคม จึงคิดอยากทำงานสารคดีที่บอกประเด็นได้หลาย ๆ มิติ มีเวลาเตรียมข้อมูลและสร้างงาน ในที่สุดก็มาเป็น “ทุ่งแสงตะวัน” รายการที่ว่าด้วยเรื่องวิถีชีวิตคนกับสิ่งแวดล้อมและแสดงให้เห็นพลังของชุมชน
กล่าวอย่างง่าย ๆ ถ้าพี่นกไปเห็นป่าผืนหนึ่งสวยงามมากแต่ไม่มีคนเกี่ยวข้องเลย เราเล่าเรื่องไม่ได้ ถ้าป่าผืนนี้เป็นป่าที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาไว้ มีภูมิปัญญาหลายอย่าง ชาวบ้านเดินขึ้นเขาเพื่อจะทำพิธีไหว้ผี ดลบันดาลให้มีน้ำศักดิ์สิทธิ์ เดินตรวจป่าป้องกันไฟ นี้คือทางของเรา ต่อให้ไปทำเรื่องเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสักแห่ง ก็ยังต้องไปหาว่าปิดเทอมมีเด็ก ๆ มาเรียนรู้ในป่าไหม เดินตามพ่อไปดูรอยตีนเก้งกวางบ้างไหม เราถึงจะคิดเรื่องได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเราได้รู้ว่าป่าซึ่งยังคงอุดมสมบูรณ์ไร้สรรพชีวิตใด ๆ ก็ยังเกี่ยวข้องกับมนุษย์อยู่ดี เช่นเชียงดาว ยอดเขาโล่งเตียนแต่เต็มไปด้วยสรรพชีวิตและสิ่งน่าอัศจรรย์ คนเกี่ยวไหม คนเกี่ยวค่ะ ประชาชน ชุมชน เอ็นจีโอทั่วประเทศช่วยกันรักษาเชียงดาวไว้มันถึงรอดพ้นจากการถูกทำลายมาได้ พี่นกคิดว่าถึงนาทีนี้ สรรพชีวิตทั้งมวลล้วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทำไมเลือกจะเล่าเรื่องนี้ผ่านเด็ก ๆ
เรามานั่งคิดว่าถ้าอยากทำประเด็นเหล่านี้จะเล่าอย่างไรถึงจะมีคนฟังอย่างเข้าใจ และเปิดใจกว้างรับสิ่งที่เราอยากสื่อสาร เราก็เลยให้เด็กเล่า เพราะเด็กบริสุทธิ์ เด็กไม่โกหก ผู้ใหญ่ชอบฟังเด็กพูด และเราไปเห็นมาแล้วว่าในชุมชนชนบททุกหนแห่ง เด็กกับผู้ใหญ่ไม่ขาดจากกัน ปัญหาในชุมชนเด็ก ๆ ก็รับรู้ เพียงแต่เขาอาจจะรู้ในข้อจำกัดของเขา การให้เด็กเล่าเรื่องเป็นกลวิธีหนึ่งของการเสนอข้อมูลที่เราอยากจะเสนอ ที่สำคัญเรามีความเชื่อมั่นในพลังของเด็กว่าเด็ก ๆ เล่าเรื่องราวปัญหาของชุมชนตนเองได้ บางเรื่องที่นอกเหนือไปจากความสามารถของเด็ก เราก็ถ่ายทำโดยให้เด็ก ๆ พาไปฟังผู้ใหญ่เล่า เวลาคิดเรื่องจึงให้มีหลาย ๆ มิติ เพราะคนดูเป็นกลุ่มครอบครัวหลากหลายวัย กล่าวก็คือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
แนวคิดหรือคอนเซ็ปต์รายการทุ่งแสงตะวันคืออะไร
ด้วยความที่เราไปเห็นชุมชน ชาวบ้าน คนเล็กคนน้อย เขาดำรงอัตลักษณ์ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่เขาต้องพึ่งพาโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ สืบทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า แล้วก็ดำเนินไปเช่นนี้โดยมีระบบจารีต ความเชื่อ มาห่อหุ้มไว้ให้เขาเดินไปอย่างนี้ โดยที่บางครั้งเขาไม่รู้หรอกว่าการที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน ห้ามตัดไม้แถวนั้น ทำให้น้ำไม่เคยหยุดไหล ชาวบ้านรู้เพียงว่าถ้ายังคงรักษาความเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้ เขาจะยังมีน้ำไว้ใช้ในพิธีกรรมสำคัญเสมอ นั่นหมายความว่ายังมีน้ำกินในชีวิตปรกติประจำวัน เพราะฉะนั้นการที่เขารักษาไว้โดยที่ทั้งรู้หรือไม่รู้ เราในฐานะคนนอกไปดู ก็จะวิเคราะห์และถอดองค์ความรู้ไปเล่าให้คนอื่นฟังในทางสาธารณะ โดยที่เราเคารพความเป็นชุมชน เราก็เพียงให้ชาวบ้านเล่าในสิ่งที่เขาคิดเขาเชื่อ แล้วเราอธิบายเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปเพื่อให้เหมาะกับการเคี้ยวของผู้ชมที่อยู่นอกป่า
รายการทุ่งแสงตะวันทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมความรู้ความเข้าใจจากคนในชุมชนอันไกลโพ้นให้สาธารณะหรือผู้ชมได้เห็นวิถีความเป็นไปและเข้าใจพวกเขา บางครั้งอาจจะเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับป่าเขา กับแม่น้ำ กับทะเล บางครั้งแค่เราบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คนอื่นได้รู้ได้เห็นก็บรรลุเป้าหมายแล้ว เมื่อไรที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงได้ก็ถือว่าเป็นโบนัส ซึ่งเราก็พยายามให้โบนัสนี้อยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่ท้อแท้ พี่นกเชื่อว่าคงมีคนดูที่เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้เพราะการมีเราอยู่
ในเชิงการเล่าเรื่องเปลี่ยนไหม จากงานข่าวมาเป็นงานสารคดีโทรทัศน์
ช่วงเปลี่ยนจากการทำงานข่าวโทรทัศน์มาทำสารคดีโทรทัศน์นี่ยากมากค่ะ ตอนทำข่าวเราจะเป็นคนกุมสภาพทั้งประเด็น เรื่องและภาพที่เราต้องการ พอมาทำงานสารคดีเราบอดเลย จากความยาว ๑ นาทีเป็นครึ่งชั่วโมง แล้วทีมงานเยอะ มีทั้งช่างภาพ ผู้กำกับภาพ โปรดิวเซอร์ ฝ่ายข้อมูล ประสานงาน คนขับรถ กว่าจะเคลื่อนองคาพยพได้ต้องคุยกันหลายรอบ ทั้งเรื่องประเด็น ความหมาย การสื่อความหมายด้วยภาพ ความที่เป็นรายการเด็กเราให้เด็กเทกไม่ได้ เพราะความเป็นธรรมชาติของเขาจะหมดไป ดังนั้นพิธีกรจึงต้องจำว่าเวลาหันไปทางซ้ายระหว่างที่พูดคำว่า “เดี๋ยวเราจะไปทางโน้นกัน” พอพูดครั้งที่ ๒ ต้องเหมือนเดิมเพื่อจะได้ตัดต่อได้ การปรับตัวจึงเป็นเรื่องเทคนิคการผลิตให้เป็นการเดินไปพร้อม ๆ กันกับคณะและทีมงาน ซึ่งพี่นกต้องฝึกฝนตัวเอง ได้ขัดเกลาอัตตา และเรียนรู้จากทีมงานไปพร้อมกัน ในแง่บทบาทของพิธีกร เราไม่ใช่ผู้รู้ แต่เป็นตัวแทนผู้ชมเข้าไปเรียนรู้และถามคำถามบางอย่างที่คิดว่าจะสร้างความเข้าใจหรือทำให้เด็กและชาวบ้านมีโอกาสอธิบายเพิ่มเติม บทบาทของเด็กเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือชาวบ้าน และพิธีกรเป็นอันดับสุดท้าย ยุคแรกเป็นยุคที่พิธีกรวิ่งตามเด็ก ๆ ชวนเด็กคุยเพราะพวกเขายังไม่คุ้นกับกล้อง แต่ช่วงหลัง ๔-๕ ปีมานี้ไม่มีพี่นกอยู่ในเรื่องแล้ว ให้เด็ก ๆ เล่าเรื่องและดำเนินเรื่องเองเพราะเขาคุ้นเคยกับสื่อแล้ว เขาจะได้แสดงพลังความสามารถของเขาเต็มที่ พี่นกทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายเท่านั้น
อะไรทำให้รายการทุ่งแสงตะวันได้รับเสียงตอบรับดีมาก
ตั้งแต่ยุคแรกที่ออกอากาศตอนทำงานข่าวอยู่แปซิฟิคฯ เราอาจจะเป็นนักข่าวกลุ่มแรก ๆ ที่ไปฟังเสียงชาวบ้าน สร้างทัศนคติใหม่ว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอเรื่องราวต่าง ๆ พอลาออกคนก็สนใจว่าก๊วนนี้จะไปทำอะไรกันต่อ เมื่อมาทำทุ่งแสงตะวัน มันคือรายการที่สร้างพื้นที่ให้เด็ก ชาวบ้าน และชุมชนได้เล่าเรื่องของตนอย่างลึกซึ้ง แล้วงานออกมาดี ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีใครทำ ที่สำคัญคือปี ๒๕๓๔ เป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรกำลังมา เราไปยืนอยู่ท่ามกลางกระแสหลักอันเชี่ยวกราก แล้วบอกว่า ดูสิ มีชุมชนที่พึ่งตนเองและยืนหยัดอย่างที่เขาเป็น เราจึงเหมือนอยู่ท่ามกลางความแตกต่างที่ทำให้คนได้หยุดคิด
ยุคก่อกำเนิดทุ่งแสงตะวันเป็นยุคสมัยที่กลุ่มนักพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มคนทำกิจกรรมทางสังคม เริ่มมีข้อมูลในเรื่องชุมชนและวัฒนธรรมมาก เป็นยุคที่ชาวบ้านเริ่มเห็นพลังของตน พลังชุมชนเริ่มปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม เป็นยุคที่มีการหลอมรวมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับชาวบ้านในการค้นหาคำตอบว่าชุมชนจะอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร เช่น กลุ่มของอาจารย์เสรี พงศ์พิศ, คุณอภิชาต ทองอยู่ ทำเรื่องคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน กลุ่มอาจารย์จีระศักดิ์ สีหรัตน์ เอ็นจีโอสายอีสาน ครูเตือนใจ ดีเทศน์, พี่ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เอ็นจีโอสายเหนือ คนเหล่านี้เริ่มหลอมรวมการพัฒนาโดยเชื่อมโยงกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน เกิดเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ในสังคม พร้อมกันนั้นทรัพยากรเริ่มร่อยหรออย่างเห็นได้ชัด ดังปัญหาโคลนถล่มที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช จนมีการประกาศหยุดสัมปทานทำไม้ปิดป่า ประกอบกับความเคลื่อนไหวในระดับโลก มีการประชุมนานาชาติเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม คือมีทั้งกระแสภายในและนอกประเทศที่ตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทุ่งแสงตะวันเกิดและเติบโตท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว จึงเหมือนมีแรงส่งหลายด้านที่ทำให้รายการถูกพูดถึงมาก เพราะมันร่วมตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบไปด้วยกัน
สิ่งที่รายการทุ่งแสงตะวันทำมาตลอด ๒๐ ปี ตอบโจทย์สังคมไทยอย่างไร
สิ่งสำคัญที่สุดและเป็นโจทย์ที่เราทำมาตลอดไม่ว่าจะเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วหรือปัจจุบันนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้เชื่อมั่นในพลังของชาวบ้านและชุมชน ถ้าเชื่อมั่นในพลังความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน มันจะเป็นคำตอบ
คำว่าพลังของชาวบ้านและชุมชนก็อย่างเช่น ชาวบ้านหลาย ๆ พื้นที่จัดการดูแลทรัพยากรของตนเองแล้วเลยไปถึงคนอื่นได้ แต่แน่นอนมันไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกหมู่บ้านหรอก บางหมู่บ้านอยู่ในสภาพร่อแร่ บางหมู่บ้านทรัพยากรสูญหายไปเกือบหมด พึ่งตนเองไม่ได้แล้ว แต่ถ้าให้โอกาสหรือมีการสนับสนุนที่เหมาะสมก็น่าจะฟื้นคืนได้ พี่นกไม่เชื่อว่าหมู่บ้านตายไปแล้ว ตราบใดที่ยังมีคนอยู่ที่นั่นไม่มีทางตาย นอกเสียจากจะอยู่อย่างบาดเจ็บยากลำบากแสนเข็ญ ซึ่งก็ต้องเข้าไปช่วย แต่จะช่วยอย่างไรเพื่อให้เขาเติบโตได้จริงโดยสอดคล้องกับวิถีและภูมิปัญญาที่เขามี ไม่มีหมู่บ้านไหนที่ตายแล้ว เพียงแต่ว่าจะมีหมู่บ้านที่แข็งแรงมากน้อยแค่ไหน หรือกำลังร่อแร่เพียงใดต่างหาก
ปี ๒๕๕๔ หมู่บ้านที่รอดจากการพัฒนากระแสหลักตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ หลายหมู่บ้านเข้มแข็งกว่าเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนหมู่บ้านที่อ่อนแอจนเกือบถึงขีดสุด เราอาจจินตนาการได้ถึงเขาแผงม้ามีแต่หญ้าโล่ง หากเพียงไม่ไปรบกวนและดูแลให้ดีก็ฟื้นตัวเป็นป่าได้ ชุมชนหมู่บ้านก็เช่นกัน มันเสื่อมโทรมจนทรุดเพราะถูกทำลาย ถ้าเราช่วยกันดูแลสภาพรวม ๆ ก็อาจฟื้นคืนได้
พี่นกทำรายการทุ่งแสงตะวันมา ๒๐ ปี กลับไปหาเด็กที่โตแล้วในวันนี้ หลาย ๆ คนอยากกลับบ้านแต่หาทางกลับไม่ได้ ในขณะที่บางหมู่บ้านที่เข้มแข็งมีกิจกรรมมากมาย เด็ก ๆ เดินกลับบ้านไปปักหลักได้อย่างสบาย ๆ เพราะฉะนั้นภารกิจของผู้ใหญ่และสังคมโดยรวม รวมถึงนโยบายรัฐ คือ จะทำอย่างไรให้ชุมชนแต่ละชุมชนมีความพร้อมพอสมควรที่จะทำให้เด็ก ๆ ที่ไประเหเร่ร่อนเรียนรู้โลก ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งหรือมั่นคงขึ้น ทำอย่างไรชุมชนจึงจะเป็นหลังพิงให้เด็ก ๆ กลับบ้านได้ถ้าเขาอยากกลับ นี่คือภารกิจในวาระ ๒๐ ปีทุ่งแสงตะวันที่เรากำลังทำกันอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่นกสื่อสารกับชาวบ้านก็คือ หนึ่ง อย่าขายที่ดิน อย่างน้อยให้มีที่ดินไว้ให้ลูกหลาน สอง ที่สาธารณะ ที่ส่วนรวม ที่หน้าหมู่ของชุมชน รักษาไว้ให้ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังหาเห็ดหาหน่อได้
แปลว่าทุกวันนี้พี่นกยังเชื่อเรื่องคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน
ใช่ค่ะ พี่นกคิดว่ามันเป็นคำตอบแห่งอนาคตด้วย
แต่การพูดเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน พลังชุมชน บ่อยครั้งอาจละเลยหรือไม่ได้พูดถึงปัญหาความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความล่มสลายของชุมชน
เราต้องวิเคราะห์ก่อนว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร ปัญหาเกิดจากระดับสังคมและนโยบายรัฐไม่เข้าใจว่าป่ามีคุณค่ากับชาวบ้านอย่างไร หัวใจสำคัญของการที่ป่าถูกทำลายเพราะคนไม่เข้าใจว่าป่าสำคัญกับชีวิตชาวบ้าน เป็นแหล่งหาอยู่หากินอย่างไร เราก็ไปทำตรงหัวใจเลยว่าป่านี้ดีกับชาวบ้านอย่างไร แล้วสิ่งนี้เองคือสิ่งที่พึ่งพาได้ และความหมายของป่าก็คือสิ่งที่ชาวบ้านนำไปใช้ในการต่อสู้เพื่อรักษาป่า
ต้นไม้ต้นนี้เขาเห็นมาตั้งแต่เด็กจนโต รู้ว่าวันหนึ่งถ้าลูกจะแต่งงานมีครอบครัว เขาจะให้คณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณาตัดต้นไม้ต้นนี้ไปสร้างบ้านให้ลูกได้ นี่คือหัวใจว่าทำไมเราถึงต้องรักษาป่าไว้ นอกจากไปหาเห็ดหาหน่อ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หาปูหาปลา ถึงฤดูกาลเดินเข้าป่าไปเก็บใบพลวงมาทำหลังคาบ้าน ถึงฤดูกาลยอดผักชอุ่มงามเต็มไปหมด บางฤดูกาลดอกไม้บางชนิดบานทั้งป่า ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านเข้าไปอยู่ในป่านั้น เก็บดอกไม้ไปกินไปขาย แล้วมันเกิดขึ้นอาทิตย์เดียว ถ้าเราไม่ไปช่วงนั้นเราจะไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องรักษาเถาวัลย์รก ๆ นั้นไว้ทั้งป่า พี่นกไปป่าประทางภาคใต้ ถึงฤดูกาลลูกประ หมู่บ้านรอบ ๆ นั้นเงียบกริบเพราะชาวบ้านไปกางเต็นท์ในป่า นอนรอลูกประหล่นก็วิ่งไปเก็บกัน เป็นช่วงเวลาที่ไม่ต้องอธิบายมากว่าทำไมต้องพลีชีวิตเพื่อรักษาป่า เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาเห็นว่ามีค่าควรแก่การต่อสู้
หลาย ๆ พื้นที่ทุ่งแสงตะวันได้ไปบันทึกความสูญเสียเอาไว้อยู่พอสมควร อย่างเช่นพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวที่มีมากมายในแต่ละรอบการเพาะปลูก ตั้งแต่พิธีแรกนา พิธีแรกไถ พิธีทำขวัญข้าวเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง พิธีแรกเกี่ยว พิธีสู่ขวัญควายเพื่อแสดงความกตเวทิตาและเป็นหมุดหมายให้เห็นความผูกพันระหว่างคนกับควาย กระทั่งพิธีทำขวัญข้าวเข้ายุ้ง พิธีทำบุญข้าวใหม่ ฯลฯ พิธีกรรมเหล่านี้ค่อย ๆ เลือนหาย มันสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับข้าวว่าได้เปลี่ยนไปแล้ว เราไปถ่ายทำชีวิตริมแม่น้ำก่อนการมาของเขื่อนปากมูล ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร
จังหวัดอุบลราชธานี ในเรื่องการพึ่งพาแม่น้ำของคนริมฝั่งมูน ว่าเขามีวิถีชีวิตรุ่มรวยและแม่น้ำเอื้ออาทรต่อเขาอย่างไร ความฝันของเด็ก ๆ และชาวบ้านคืออะไร จากตอนแรกเราถ่ายทำเรื่อง “ตุ้มพิศวง” เป็นเครื่องมือจับปลาอันใหญ่ยักษ์กลางแม่น้ำมูน ต่อมาเราทำตอน “ตุ้มหายไปไหน” สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตชาวบ้านภายหลังการสร้างเขื่อนปากมูล ในวาระ ๒๐ ปีทุ่งแสงตะวัน เราก็ไปตามเด็กลูกแม่น้ำมูนคนหนึ่งว่าผ่านไป ๒๐ ปีแล้วชุมชนเขาเป็นอย่างไร ตัวเขายังมีความฝันอะไรอยู่บ้างกับหมู่บ้านและชีวิตของตนเอง ถามว่าทุ่งแสงตะวันไม่แตะต้องปัญหาหรือ พี่นกว่าเรื่องใหญ่เลยนะ เพียงแต่ข้อจำกัดว่ามันเป็นรายการเด็ก เราก็ต้องปรุงรสให้พอดี
พอทำรายการเด็กอย่างทุ่งแสงตะวัน พี่นกก็พบว่ามีเด็กที่ขาดโอกาส เด็กที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าไม่ถึงอะไรหลาย ๆ สิ่งที่ควรจะได้รับ ปัญหาเรื่องการศึกษา ปัญหาเรื่องการถูกแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาทางชาติพันธุ์ อย่างเด็กอาข่าบางคน ตอนอยู่ในหมู่บ้านเก่งมาก พอเข้าไปอยู่ในโรงเรียนพูดภาษาไทยไม่ได้ สอบได้ที่โหล่ เด็ก ๆ ถูกกดทับ ขาดความมั่นใจและสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง สิ่งเหล่านี้บอกเรื่องปัญหาการศึกษาของสังคมไทย แต่พี่นกเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ เมื่อเก็บไว้มากเข้า ๆ ในที่สุดมันเลยกลายเป็นรายการ “พันแสงรุ้ง” ที่นำเสนอเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบที่ถูกเบียดขับหรือถูกแย่งชิงทรัพยากร ดังนั้นเราไม่ต้องคิดหรอกว่าทุ่งแสงตะวันทำแล้วไม่ตอบโจทย์บางอย่าง เพราะมันได้ตั้งคำถามและตอบโจทย์ใหญ่ ๆ หลายอย่างไปแล้ว เราก็ไปทำรายการอื่นที่จะตอบโจทย์อื่น ๆ ต่อไป
อะไรทำให้ทุ่งแสงตะวันยืนหยัดมาได้ ๒๐ กว่าปีโดยที่ยังคงเจตจำนงเดิมของการก่อเกิดรายการมาตั้งแต่ต้น
ต้องตั้งต้นจากว่าเราอยากทำอะไร แล้วเราก็ทำสิ่งนั้น เราคิดว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญ เราอยากจะผลิตงานที่มีคุณค่ามีประโยชน์กับสาธารณะ แล้วเราก็ทำ พร้อม ๆ กันนั้นก็ดูว่ามีใครจะมาเป็นหุ้นส่วนในการสร้างงานได้บ้าง คอนเซ็ปต์ของบริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น คือ เราจะเป็นบริษัทผลิตสารคดีโทรทัศน์ที่มีคุณภาพโดยไม่แสวงหากำไรเป็นสิ่งสูงสุด เจตจำนงชัดเจนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องห่วงว่าจะได้กำไรมากหรือน้อย แต่อย่างน้อยที่สุดเรายังศรัทธาในงานของตัวเองได้
การที่รายการทุ่งแสงตะวันอยู่มาได้ ๒๐ ปีเพราะการสนับสนุนของสถานีเป็นประการสำคัญ เนื่องจากว่าเราทำรายการให้ทางช่อง ๓ โดยเป็นระบบ Timesharing คือไม่ต้องจ่ายค่าเวลา และแบ่งเวลาการโฆษณา ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วช่อง ๓ ก็แทบจะไม่ขายโฆษณาเลยนอกจากเป็นโฆษณาพ่วงกับทางสถานี สอง บริษัทป่าใหญ่ฯ โชคดีที่อยู่ได้เพราะมีโฆษณาเจ้าประจำสนับสนุนรายการมาตลอด บังเอิญว่าเรามีโอกาสพิสูจน์ตัวเองมาตั้ง ๒๐ ปีจึงค่อนข้างมั่นคง สาม เรามีทีมงานที่ดีมีคุณภาพ และทั้งหลายทั้งมวลอยู่ภายใต้ฐานอันสำคัญมากคือ มีเรื่องจริงจากชาวบ้านและชุมชน รายการทุ่งแสงตะวันผลิตงานที่ดีได้เพราะมีชุมชนดี ๆ ที่กำลังเคลื่อนโลกอยู่ เราถึงมีเรื่องราวให้เล่า เราไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าพาตัวไปให้ถูกที่ถูกเวลา และเล่าเรื่องให้ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น
ทุ่งแสงตะวันเดินทางมาจนครบ ๒๐ ปี มีเด็ก ๆ ออกรายการมาแล้วกี่คน ความประทับใจสำหรับพี่นกมีอะไรบ้าง
รายการทุ่งแสงตะวันออกอากาศไปแล้ว ๑,๑๒๐-๑,๑๓๐ ตอน มีเด็กอย่างน้อย ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ คนปรากฏตัวในรายการ มีเพลงประกอบรายการประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ เพลง น่าจะเป็นรายการที่มีเพลงประกอบมากที่สุดในโลก และอาจจะเป็นรายการที่กล่าวอ้างได้ว่าเด็กและชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้างงานมากที่สุดรายการหนึ่ง กล่าวคือ เราถ่ายทำรายการจากชีวิตจริงของเขา แล้วให้เขามีส่วนร่วมในการเล่าเรื่อง ขณะเดียวกันเราก็เล่าให้เขาฟังด้วยว่าเรื่องที่จะออกอากาศคืออะไร สิ่งที่ตามมาคือความตื่นเต้นหลังจากออกอากาศ ซึ่งอาจจะนอกเหนือความคาดหมายของเขา เช่น หมู่บ้านสวยกว่าที่เห็น พ่อแม่ได้ฟังว่าลูกคิดอะไรตอบอะไรเรา เด็ก ๆ ที่พลัดจากชุมชนไปอยู่ที่อื่นก็ได้ดูเรื่องราวหมู่บ้านของตนผ่านทุ่งแสงตะวัน มันมีเรื่องราวต่อเนื่องเยอะมาก บางทีก็เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายซึ่งทุ่งแสงตะวันวางบทบาทเป็นเพียงผู้ถ่ายทอด
ล่าสุดเราไปที่ชุมชนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมเด็กชื่อจุ๋มและจิ๋ม ซึ่งเราเคยถ่ายทำเมื่อครั้งเขาอายุ ๑๑-๑๒ ปี ตอนนี้อายุ ๓๐ ปีแล้ว ทั้งสองคนเรียนจบปริญญาตรีด้านการเกษตร คนหนึ่งสาขาเศรษฐกิจการเกษตร อีกคนสาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร คนหนึ่งทำงาน อบต.ด้านการศึกษา อีกคนแต่งงานมีครอบครัว ทั้งสองอยู่ที่บ้านและยังทำกิจกรรมกับเด็กรุ่นหลัง ในชุมชนนี้มีบัณฑิตเรียนจบปริญญาตรีกลับไปอยู่บ้านราว ๒๐ คน ล้วนแต่เป็นกำลังสำคัญของชุมชน จิ๋มบอกว่าหนูเคยไปทำงานโรงงานมาแล้ว ในที่สุดก็เลือกแล้วว่าจะกลับมาอยู่ที่บ้าน เป็นสิ่งที่น่าทึ่งและพี่นกรู้สึกผูกพัน เราไปเห็นตั้งแต่ชาวบ้านจับมือกับเอ็นจีโอเริ่มก่อร่างสร้างตัว รวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์แค่ ๖-๗ ครอบครัว ท่ามกลางคำถามของชาวบ้านในละแวกนั้นว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร จนทุกวันนี้เขามีเครือข่ายเป็นร้อย ๆ จับมือกันเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ พี่นกได้เห็นการเติบโตคาตาของชุมชนเล็ก ๆ ที่ขยายเครือข่ายท่ามกลางความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่ายโดยมีชาวบ้านเป็นตัวตั้ง และเป็นพื้นที่ที่จะทำให้เด็ก ๆ ซึ่งปรารถนาจะเป็นกำลังสำคัญของชุมชนกลับเข้าไปและได้ทำในสิ่งที่เขาเห็นว่ามีคุณค่า
ส่วนอีกที่หนึ่งคือหมู่บ้านค้อใต้ ชุมชนลุ่มน้ำมูน ชาวบ้านเคยเอาเครื่องมือหาปลาไปจับปลาในแม่น้ำมูน ได้ปลาที ๔๐-๕๐ กิโล ขายได้เงินส่งลูกเรียนหนังสือ ล่าสุดพี่นกกลับไปพบว่าจับปลาได้แค่ ๒ ตัวเพื่อจะกินในมื้อนั้น เราก็ได้นั่งคุยกับชาวบ้านว่าเมื่อไม่อาจพึ่งพาทรัพยากรในชุมชนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กและชาวบ้านต้องออกไปหาคำตอบของชีวิตนอกหมู่บ้านด้วยการไปขายแรงงาน เด็กทุ่งแสงตะวันไปรับจ้างตัดเหล็ก ไปเป็นกรรมกรก่อสร้าง รับทำลูกกรง รับหล่อเสาเข็ม ระเหเร่ร่อน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งขัดแย้งกันอย่างน่าสนใจ ถามว่าหมู่บ้านตายแล้วหรือยัง ก็ยังไม่ตาย เพียงแต่ความฝันไม่มีอีกแล้ว เราได้เห็นโลกทั้งสองด้านซึ่งเคลื่อนไปพร้อมกัน มันคงไม่ใช่สิ่งที่น่าประทับใจ แต่เป็นสิ่งที่น่าคิด
เราจะทำอย่างไรในกรณีที่ชุมชนหมู่บ้านไม่ได้เป็นหลังพิงของเด็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว
๒๐ ปีทุ่งแสงตะวัน เราจัดเสวนาเรื่องนี้กันหลายรอบเลยและเรากำลังจะจัดเสวนาเรื่อง “ส่องเด็กล้านนา” เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าหมู่บ้านแม่ทามีเงื่อนไขปัจจัยอะไรที่ทำให้เด็ก ๆ กลับมาได้ การที่เราจะรักษาพื้นที่และเตรียมพื้นที่เพื่อเป็นหลังพิงให้เด็ก ๆ นั้นมีเงื่อนไขปัจจัยอะไรได้บ้าง และจะขยายความคิดผ่านทางรายการและสื่ออื่น ๆ
กล่าวโดยสรุป ถ้าเชื่อว่าเด็ก ๆ ในรายการทุ่งแสงตะวันเป็นตัวแทนของเด็กส่วนใหญ่ในประเทศไทย มีเด็กไทยไม่เกิน ๕-๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่คว้าฝันที่ตนเองปรารถนาได้สำเร็จ เด็กส่วนใหญ่ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ต้องออกจากหมู่บ้านไปขายแรงงาน มีจำนวนไม่มากได้เรียนต่อตามความฝันทั่ว ๆ ไปบางคนไปถึงฝันในเรื่องเรียนจบได้ทำงาน มีเด็กจำนวนน้อยนิดกลับมาอยู่ในชุมชนของตน ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ต้องระเหเร่ร่อนสู้ชีวิต ช่วงวัย ๒๐ ปีของเขาเป็นเหมือนพระอาทิตย์เที่ยงวัน คือดิ้นรนต่อสู้ สู้เพื่อความฝัน พอวัย ๓๐ ปีหลายคนชีวิตเริ่มนิ่ง กลับบ้าน มีครอบครัว ทำงานได้เงินเดือน ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ ก็พอใจแล้วเพราะหาอยู่หากินรอบ ๆ บ้านได้
มีเด็กกลุ่มหนึ่งจำนวนไม่มากนักอยู่ในหมู่บ้านมาตลอด ด้วยเหตุผล ๒ อย่างคือ หมู่บ้านเข้มแข็งมาก เขาเลือกแล้วไม่ไปไหน อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน เขาก็เป็นกำลังสำคัญของชุมชน อีกกลุ่มหนึ่งคือไปไหนไม่รอด ไม่มีความฝันใด ๆ ทั้งสิ้น กลุ่มนี้มีไม่มาก แต่โดยมาก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมเรา เพราะฉะนั้นคำถามก็คือ ถ้ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ฝันและควรจะมีโอกาสเดินตามความฝันหรือหาความฝันของตัวเอง เราจะทำอย่างไรให้เด็กในสังคมไทยส่วนใหญ่มีทางเลือก นี้เป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ซึ่งคงไม่ใช่ทุ่งแสงตะวันที่จะตอบคำถามนี้
การคัดเลือกเด็ก ๆ มาร่วมรายการมีหลักอย่างไร
ถ้าเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เด็กทั้งหมู่บ้านทำ การคัดเลือกก็ไม่ยาก ใครไปจับปลาบ่อยที่สุด เด็กทุกคนเคยจับปลามาแล้ว แต่ถ้าบังเอิญจะจับปลาไหลล่ะ คนไหนเคยจับ คนไหนไปจับบ่อย ๆ คนไหนบ้านอยู่ข้างลำธาร ค่อย ๆ สกัดจนในที่สุดเหลืออยู่ ๒-๓ คนก็มาดูว่าใครเต็มใจ ใครอาสา เด็ก ๆ ในชนบทสมัยก่อนขาดความมั่นใจเพราะถูกทำให้ไม่มั่นใจ ต่างกับเด็กสมัยนี้ที่คุ้นเคยกับสื่อรู้ดีว่าต้องทำยังไงบ้าง เด็กทุกคนในโลกนี้ออกรายการทุ่งแสงตะวันได้หมดละค่ะ เพราะเขาเก่งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วแต่ว่าวันนั้นเราทำเรื่องอะไรและใครถนัด
เบื้องหลังความคิดที่จะกลับไปตามหาเด็ก ๆ ทุ่งแสงตะวันเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วเป็นอย่างไร
เรามี “ปูมทุ่งแสงตะวัน” บันทึกไว้ตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศ เด็กที่ร่วมรายการชื่ออะไร มีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ทุกปีเราจะเขียน สคส.ส่งให้ ช่วงหลังมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ยังติดต่อกันอยู่ แนวคิดเริ่มต้นมาจากว่า คิดถึง และอยากไปเห็นว่าเขาเป็นอย่างไรกันแล้ว ส่วนหลักการคือ เราอยากจะรู้ว่าสังคมไทยได้ทำอะไรกับเด็ก ๆ ของเรา หมายถึงเด็ก ๆ ของสังคมนี้ ไปแล้วบ้าง เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา
สำหรับพี่นกเองสนใจว่าเด็ก ๆ มีชีวิตอยู่อย่างนี้เพราะอะไร ไม่ว่าจะในทางดีหรือทางร้าย มีความสุขหรือมีความทุกข์ ตอนพี่นกเจอเขาตอนอายุ ๒๐ เขาสนุกมากกับชีวิต ตื่นเต้นกับทุกอย่าง พออายุ ๓๐ เขาเล่าเรื่องอย่างสุขุมและเข้าใจโลกมากขึ้น คือเล่าทั้งทางบวกและทางลบ อย่างเช่นถามเจ้าจ่อย เด็กลุ่มน้ำมูน ว่าทุกวันนี้จ่อยเป็นยังไง ผมก็มีความสุขดีครับ อาจจะเหนื่อยบ้างเพราะลูกกำลังโต ต้องทำมาหากินส่งลูกเรียน ถามต่อว่า แล้วในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ถ้าพี่มีโอกาสมาเจอจ่อยอีก จ่อยคิดว่าจ่อยจะเป็นยังไง ผมก็คงจะแก่ลง ยังคงคิดถึงแม่น้ำมูนที่พึ่งพาได้ แต่มันก็อยู่ยาก ใจจริงอยากจะกลับหมู่บ้าน ทุกวันนี้ต้องอยู่บ้านเมียเพราะหาอยู่หากินง่ายกว่า อีก ๑๐ ปีข้างหน้าอาจจะกลับมาอยู่บ้านหรืออยู่บ้านเมียต่อก็ไม่แน่ แต่ที่แน่ ๆ ถึงตอนนั้นลูกผมน่าจะเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว
จะเห็นว่าเด็กในวัย ๓๐ ในวันนี้อาจไม่มีฝันอะไรเป็นอาทิตย์เที่ยงวันแล้ว แต่เขาจะเริ่มเข้าใจกับชีวิตทุกข์สุขของตัวเองในวันนี้
พี่นกเคยบอกไว้ว่า เด็ก ๆ เหล่านี้เติบโตไปเป็นคนตัวเล็ก ๆ ในสังคม แต่พวกเขาทำในสิ่งที่สำคัญ
กลุ่มน้อยนิดที่พี่นกเล่าว่าไม่ไปไหน อยู่หมู่บ้าน หรือไปมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแล้วสุดท้ายกลับบ้าน เด็กกลุ่มนี้มีน้อยแต่ว่ามีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในที่นี้ก็อย่างเช่นน้องวิชัย นาพัว อดีตสมาชิกชมรมเด็กรักนกท่ามะไฟหวาน จบ ป.๖ ไม่เรียนต่อ เขาอยากทำในสิ่งที่เขารักคือการดูนก คนเล็ก ๆ ที่ชื่อ วิชัย นาพัว คนทั่วไปอาจไม่มีใครรู้จัก เป็นหนึ่งในตัวประกอบของรายการทุ่งแสงตะวัน เติบโตจนเชี่ยวชาญกลายมาเป็นคนดูแลชมรมรักนกรักธรรมชาติ และทำกิจกรรมที่มีคุณค่ามากมายในพื้นที่อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ทำงานกับชุมชนชาวบ้านนำโดยพระดูแลป่าภูแลนคา ๕,๐๐๐ ไร่ กิจกรรมหลายอย่างเติบโตงอกงาม เป็นชีวิตหนึ่งที่พี่นกได้เห็น และเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเขาไปถึงฝันได้โดยที่เขาออกนอกลู่นอกกระแส
แต่ก็มีเด็กที่เติบโตไปมีชีวิตไม่ถึงฝั่งฝัน หรือที่เราไม่คาดฝัน ด้วยใช่ไหม
เด็ก ๆ น่ะมีอุปสรรคขวากหนามระหว่างทางตลอดเวลากว่าที่จะไปถึงฝัน มนุษย์เราทุกคนมีอุปสรรคปัญหากว่าจะไปถึงฝันทั้งนั้นแหละ แต่บางครั้งมันเกินกำลังของเด็ก ๆ ทำให้เด็ก ๆ ต้องเหนื่อย ยกตัวอย่างน้องแจ๋ว ประธานชมรมเด็กรักนกท่ามะไฟหวาน มีความคิดความฝันมากมาย เรียนจบ ป.๖ ไม่มีใครส่งเสีย ในที่สุดน้องแจ๋วไปเป็นหางเครื่องตามงานวัด วันดีคืนดีทีมงานโทร.ไปคุย เขาฝากบอกว่าวันนี้หนูอยากลางาน กล้ามเนื้อฉีก เต้นมากไป แต่หยุดไม่ได้ต้องกินยา (เล่าถึงตรงนี้พี่นกน้ำตาซึม) แต่เขาก็มีความฝันในชีวิตค่ะ วันเวลาผ่านไปตั้งหลักได้เขาก็เรียนต่อ กลายเป็นเซลส์ขายรถ แต่งงานมีครอบครัว
หรือน้องสีดา เด็กปกากะญอที่ป่าสนวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ เราไปถ่ายทำเรื่องการพึ่งพาป่าสน สะท้อนคุณค่าวิถีชีวิตคนกับป่าที่นั่น สีดาเป็นเด็กคนเดียวในหมู่บ้านที่พูดไทยได้ แต่เด็ก ๆ ชนเผ่าไม่คุ้นเคยกับการถูกสัมภาษณ์ พี่นกนั่งตรงประตูห้อง สีดาอยู่ในห้อง คุยกันไปคุยกันมากระทั่งสีดาใจอ่อนยอมมาร่วมรายการกับเรา สิบปีผ่านไปสีดาอุทิศตนให้แก่คริสต์ศาสนา ปัจจุบันเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาอยู่ที่อำเภอสันทราย เขาก็ถึงฝันในสิ่งที่ต้องการและมีความสุขตามอัตภาพ
พี่นกบอกว่าเด็ก ๆ ถูกทำให้ขาดความมั่นใจ คิดว่าทุ่งแสงตะวันมีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจให้เด็ก ๆ ไหม
มีเด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กที่มีพัฒนาการช้า เขาชอบดูโลมาริมทะเล ถ้าคุยเรื่องโลมาเขาจะเก่งมาก รู้ว่าโลมาสีนี้ตัวนี้จะว่ายไปไหน เพราะเขาชอบใช้เวลาสังเกตธรรมชาติ ตอนเราเลือกถ่ายทำเขา ครูก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะทำได้ไหม ทีมงานก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะนำพารายการไปจนจบได้ไหม แต่เราไม่คิดอะไรมากไปกว่าว่าเขาเก่งจริงเรื่องโลมา และเราจะทำเรื่องโลมา หลังออกอากาศไปไม่นาน เขาได้เป็นหัวหน้าชั้นเรียน ศักยภาพทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเพราะพอได้รับการยอมรับก็มีโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ นี่คือเด็กที่ถูกกระทำ ตัวเขาเองไม่เหมือนคนอื่น แม้จะออกรายการยังต้องถูกประเมินว่าจะทำได้ไหม แต่เราก็ให้เขาทำจนได้ แล้วในที่สุดเขามีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว การออกรายการทุ่งแสงตะวันทำให้เขาได้รับการยอมรับ และเกิดความภูมิใจในตัวเอง
น้องวิชัย นาพัว ที่เล่ามาข้างต้น ทำโครงการนกปลูกป่า ชวนชาวบ้านดูนก แต่เขาไม่รู้จักชื่อต้นไม้ ระหว่างพาชาวบ้านดูนกก็ถามชาวบ้านว่าต้นไม้ชื่ออะไร จากนั้นทำเป็นงานวิจัยว่านกกี่ชนิดมากินผลของต้นไม้ต้นนี้แล้วนำพาเมล็ดไปปลูกแถบไหน ต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นชุกชุมที่ใด ทำให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านแถบนั้นยิงนกน้อยลง เพราะรู้แล้วว่านกปลูกต้นไม้ ถามว่าการที่วิชัยออกรายการทุ่งแสงตะวันมีผลอย่างไรต่อตัวเขา เขาบอกว่าทำให้มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ ในวัยเด็กนั้นเขาได้รับการยอมรับว่าสิ่งที่ทำมีความสำคัญ และเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งทำให้ตัดสินใจไม่เรียนต่อ เลือกจะมาดูนก ทุ่งแสงตะวันเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขามั่นใจในตัวเอง และเติบโตมาตามหนทางนั้น
อีกคนชื่อสมพร เราเจอเขาเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว มาขายแรงงานที่พัทยา ตอนนั้นถามเขาว่าเผชิญชีวิตมาก็มาก ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดของสมพรคือช่วงเวลาไหน เขาตอบว่าก็วันที่พี่มาถ่ายทำไง
เด็ก ๆ ทุ่งแสงตะวันในวันนี้เติบโตมาอย่างที่พี่นกคาดหวังไว้ไหม
แต่ละคนจะเติบโตไปเป็นอย่างไรมีเหตุปัจจัยตัวแปรหลายอย่าง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ถ้าครอบครัวดี พ่อแม่เข้าใจโลกรู้เท่าทันชีวิต ชุมชนมีทรัพยากรมีความเข้มแข็ง เด็กมีแนวโน้มจะเติบโตงดงาม
พี่นกอาจจะยังเป็นห่วงบางคนที่ชีวิตเขายังลำบาก ยังมีรายได้รายวันและจะต้องดิ้นรนท่ามกลางความอัตคัด แต่ว่ากลุ่มที่ชีวิตเลือกแล้ว เช่นกลับไปอยู่บ้าน ปลูกผักกินเอง จะไม่ค่อยห่วง อิจฉาด้วยซ้ำที่ชีวิตเลือกได้ ดีใจไปกับเขา และดีใจไปกับลูกของเขาที่จะได้เติบโตมาท่ามกลางสภาพเช่นนั้น เรามีความมั่นใจระดับหนึ่งว่า เด็ก ๆ ที่เราเห็นเดินเตาะแตะวันนี้จะเติบโตมาเป็นอย่างดีเหมือนที่น้องจุ๋มน้องจิ๋มเติบโตมา ถ้าเด็ก ๆ ได้มีโอกาสเติบโตในครอบครัวที่ค่อนข้างชัดเจนเรื่องคุณค่าของชีวิต เด็กก็จะมีความมั่นคงทางจิตใจ เมื่อเด็กมีความมั่นคงทางจิตใจ ชีวิตเขาก็จะไม่แกว่ง และน่าจะเลือกเส้นทางชีวิตได้อย่างมีสติ
๒๐ ปีผ่านไป คิดว่าทุ่งแสงตะวันอิ่มตัวหรือยัง
ทุ่งแสงตะวันมีเรื่องอีกมากรอเราอยู่ สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือมันมีความเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง เช่นเมื่อก่อนเราทำเรื่องผักในธรรมชาติ ช่วงหลังเราทำเรื่องวิถีเกษตรพื้นบ้าน ต่อมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หรือเมื่อก่อนเราทำเรื่องข้าวพื้นบ้าน ตอนนี้ชาวบ้านความรู้แค่ ป.๔ ตัดแต่งพันธุ์ข้าวเพื่อคัดเลือกพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนตนเองได้ เราก็ไปถ่ายทำเด็ก ป.๕ คัดเลือกพันธุ์ข้าวพื้นบ้านให้เหมาะสมกับชุมชนของตน กล่าวก็คือ เราได้เห็นการทำลายป่า ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรม เช่น ทอดผ้าป่าต้นไม้ การบวชป่า กิจกรรมใหม่ที่เกิดเป็นเครื่องมือรับใช้ชีวิตชุมชน เราเคลื่อนตัวเองไปท่ามกลางความก้าวหน้าและสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม พี่นกคิดว่ามีเรื่องใหม่ ๆ มากมายให้เราทำอยู่เรื่อย ๆ แม้บางช่วงจะไม่ได้ฝันหวานอย่างนั้นตลอดปี บางช่วงหาอะไรทำยากมาก เช่นเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมไม่มีพิธีกรรมอะไรเลย แต่บทจะมีขึ้นมา ช่วงฤดูหนาวเลือกทำไม่ถูก หรือเริ่มเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวไปที่ไหนก็มีเรื่องให้ทำ บางทีเข้าไปในหมู่บ้าน เด็ก ๆ กำลังทำของเล่นจากเมล็ดพืชบางชนิดที่หาได้เฉพาะฤดูนั้น ถ้าไม่ถ่ายทำตอนนั้นต้องรอปีหน้า ถึงต้องถ่ายทำเดี๋ยวนั้นเลย
รายการทุ่งแสงตะวันยังตอบสนองวิถีที่เปลี่ยนไปของสังคมซึ่งห่างเหินจากธรรมชาติไปมากแล้วอยู่ไหม
ทุ่งแสงตะวันเองก็ไม่ได้เติบโตมาในยุคบรรพกาล ยุคแรกเริ่มเรายังเคยวิตกว่าเด็กจะรู้ไหมว่าเงินไม่ได้ไหลจากตู้เอทีเอ็ม น้ำไม่ได้ไหลจากก๊อก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหานี้อยู่ แต่มันมีของแถม ล่าสุดมีคนเล่าให้ฟัง สมัยนี้เด็กกินข้าวเหนียวห่อใบตองแล้วบอกว่าเหม็นใบตอง สิ่งนี้บอกทุกอย่างในโลกรวมทั้งบอกพี่นกว่า ถ้าอย่างนั้นดอกไม้หลายชนิดเด็กก็ต้องบอกว่าเหม็น สิ่งที่หอมคงจะเป็นน้ำหอมบางยี่ห้อเท่านั้นละมัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามต่อเลยว่าเขากินผักอะไรกันบ้าง เพราะผักพื้นบ้านทุกชนิดมีกลิ่นเฉพาะซึ่งเป็นสรรพคุณของพืชผักสมุนไพรอันเป็นคุณแก่เรา
พี่นกไม่รู้ว่าทุ่งแสงตะวันยังสอดคล้องกับยุคสมัยหรือเปล่า แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเล่าเรื่องนี้แก่สังคม ท่ามกลางโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนจนคนไม่รู้แล้วว่าน้ำมาจากไหน อากาศดี ๆ มาจากไหน เรายิ่งต้องทำในสิ่งนั้น
สมมุติว่าเราเข้าไปในหมู่บ้าน แล้วไม่มีเด็กเล่นของเล่นพื้นบ้าน ไม่มีชนบทที่สวยงามอีกต่อไปแล้ว ทุ่งแสงตะวันจะยังมีเรื่องให้ทำอยู่ไหม
พี่นกไม่รังเกียจความเปลี่ยนแปลงค่ะ ไม่ว่ามันจะงามหรือไม่งามในทางกายภาพและชีวิตนั้นงดงามเสมอ ความเปลี่ยนแปลงเป็นความจริงของชีวิต วิถีชีวิตวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะที่เด็กเล่นได้ตลอด การเล่นคือการเรียนรู้ เรียนจากสิ่งรอบตัว ยิ่งได้ลงมือทำยิ่งได้เรียนรู้ ยกตัวอย่างเราไปทำตอน “ก๊ะชูลุ สามล้อลิ่วดอย” เป็นของเล่นของเด็ก ๆ ลาหู่บ้านห้วยน้ำริน ใช้ไม้ทำเป็นล้อ เด็กบอกว่าอยากทำอีกแบบ เอาล้อจักรยานเด็กสมัยใหม่ใส่แทน เขาบอกว่ามันวิ่งได้เร็วกว่าล้อไม้ธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ จะมีของเล่น ๒ อย่าง คือก๊ะชูลุแบบดั้งเดิมกับแบบเร็วพิเศษ เด็กก็รู้นะคะ ถ้าเป็นก๊ะชูลุแบบโบราณมันวิ่งช้าแต่ควบคุมง่าย ถ้าเป็นก๊ะชูลุแบบเร็วพิเศษมันเร็วมากครับแต่คว่ำง่าย ก็แล้วแต่เด็กว่าจะเลือกของเล่นแบบไหน
ถามว่าวิถีชีวิตชุมชนชนบทจะยังมีเรื่องราวให้ทำมากขึ้นน้อยลงอย่างไร สำหรับพี่นกมันมีเรื่องให้เราทำอยู่เสมอ แล้วก็มักจะดีใจถ้าเรื่องที่เราทำเป็นเรื่องที่ถูกปรับเป็นนวัตกรรมใหม่ มีความเป็นจริงของชีวิต เมื่อก่อนเวลาถ่ายทำเรามักหามุมภาพที่สวยงาม รังเกียจสายไฟฟ้าและเสาไฟฟ้า แต่ว่าในสมัยนี้พี่นกบอกทีมงานให้เคารพความเป็นจริงของชุมชน หมู่บ้านต้องใช้ไฟต้องมีเสาไฟฟ้าเป็นเรื่องปรกติ เรากำลังถ่ายทอดความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แล้วมันจะบันทึกเรื่องราวของมันเอง หากดูทุ่งแสงตะวันวันนี้กับเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วไม่มีทางเหมือนกันต่อให้ยืนในที่เดียวกัน
ทุกวันนี้สังคมชนบทกับเมืองก็ไม่ได้แยกขาดจากกัน รายการทุ่งแสงตะวันจะไปจับเรื่องในเมืองบ้างไหม
สิ่งที่ทุ่งแสงตะวันทำก็อย่างเช่น คนปลูกผักที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เมื่อผลิตผักดี ๆ ในชุมชนแล้ว เขาเชื่อมโยงส่งผักนี้ไปขายให้คนในเมืองอย่างไร เราก็ไปถ่ายทำครอบครัวเด็กในเมืองที่รับผักจากชุมชนนี้เป็นประจำ เพื่อให้เห็นตัวอย่างการพบกันของผู้ผลิต-ผู้บริโภค ซึ่งนี้เป็นโจทย์สำคัญ คือทำอย่างไรจะเชื่อมโยงระหว่างคนปลูกกับคนกิน และเป็นคำตอบเรื่องเศรษฐกิจชุมชนด้วย
เมืองกับชนบทเชื่อมโยงและมีผลกระทบต่อกันและกัน คนชนบทไม่เคยลืมว่ามีสังคมเมือง แต่คนเมืองชอบลืมว่ามีสังคมชนบท
๒๐ ปีผ่านมา แง่มุมปัญหาเด็กและเยาวชนในสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
สังคมเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน ความใฝ่ฝันในชีวิตก็เปลี่ยน แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สังคมไทยปัจจุบันใช้เงินเป็นตัวตั้ง รังเกียจการผลิตหรือการลงมือปฏิบัติที่ต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกาย บางครั้งถึงกับแสดงท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์การลงมือทำ คือสังคมโลกเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันบทเรียนของการพัฒนาที่ผ่านมาก็มีคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งหยุดทบทวนและลงจากลู่ของสังคมแล้วตั้งต้นใหม่ที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง คนกลุ่มนี้เป็นคนจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร แต่พบว่ามีจำนวนที่มากขึ้น
ในช่วง ๑๐ ปีนี้เราจะเห็นว่าคนกลุ่มนี้ซึ่งอยู่กระจัดกระจายพยายามจะมีการเชื่อมโยงกันอยู่ ในที่นี้หมายถึงทั้งคนชั้นกลางที่สงสัยเรื่องชีวิตแล้วยูเทิร์นหรือหาทางใหม่พร้อม ๆ กับตอบคำถามของชีวิตตนเอง และกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรหรอก เพียงแต่เขายืนหยัดจนทำให้เขาดูประหลาดในสังคมกระแสหลัก เขาเข้มแข็งและมีเครือข่ายมากขึ้น แม้เป็นกระแสรองแต่เป็นกระแสรองที่มีความมั่นคงและมีนัยสำคัญ
พี่นกมองว่าความเปลี่ยนแปลงของรายการโทรทัศน์บ้านเราเดินไปในทิศทางใด โดยเฉพาะรายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
มองในแง่เนื้อหายังคล้าย ๆ เดิม มีขึ้นมีลงเป็นบางช่วง แต่ในแง่ของกลวิธีการเล่าเรื่องก็พัฒนาไปตามเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอนนี้นอกจากฟรีทีวีเราเริ่มมีทีวีดาวเทียม ทีวีออนเว็บ ในทางเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ขณะที่ content เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในกลุ่มคนทำงานทีวีรุ่นใหม่ ๆ มีความพยายามสร้างสื่อในเชิงความคิด ช่วงนี้จะเริ่มเห็นรายการที่มี content ในแง่ของการทบทวนการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งพี่นกไม่แปลกใจเพราะมันมาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ที่คนต้องได้หยุดคิดว่าชีวิตคืออะไร พอมีสถานีไทยพีบีเอสก็ยิ่งช่วยสร้างความหลากหลายของเนื้อหาสาระสำหรับสังคมไทยปัจจุบัน ขณะเดียวกันทีวีดาวเทียมที่มีเป็นร้อย ๆ ช่องก็มีครบทุกรสและเกือบจะไร้กติกาโดยสิ้นเชิง คือความหลากหลายเป็นสิ่งที่ดี แต่ทำอย่างไรจะรู้เท่าทันและแยกแยะได้ สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับการรับ content เหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อดูเฉพาะรายการเด็กยิ่งเป็นตัวเลือกที่น้อยลงไปอีก และมักเต็มไปด้วยโฆษณาแฝง ในความคิดของพี่นก ถ้ามีรายการเด็กที่มีโฆษณาแฝงไม่มีจุดยืนเพื่อเด็กจริง ๆ รายการประเภทนี้ไม่ต้องเยอะก็ได้ อย่างไรก็ตามรายการเด็กในบ้านเรายังน้อยมากเลยนะคะ ด้วยเหตุปัจจัยอะไร พี่นกคิดว่านโยบายของสถานีโทรทัศน์เป็นหลัก ต่อมาคือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่จะสนับสนุน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือคนสร้าง content ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างสื่อมวลชนที่เข้าใจปัญหาเด็กและอยากทำรายการเด็กเพื่อเด็กจริง ๆ ขึ้นมาให้ได้ ตอนนี้ก็มีความพยายามอยู่
พี่นกพบว่าสื่อในชุมชน สื่อที่สร้างขึ้นเองในระดับภูมิภาค ในเครือข่ายที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ก็อาจจะสอดคล้องกับยุคสมัยที่ทุกคนผลิตสื่อของตัวเองได้ แล้วอัปโหลดให้คนในสังคมรู้ เพื่อยกระดับความคิด สร้างเครือข่ายของตนให้เข้มแข็ง แล้วยึดโยงกับเรื่องอื่น ๆ ที่ใหญ่ขึ้น
คุณูปการของการมีรายการทุ่งแสงตะวันบนหน้าจอโทรทัศน์คืออะไร
เราได้ให้ความสดใสเบิกบานกับคนที่ได้เปิดดูทีวีในเช้าวันเสาร์ ได้สร้างความเข้าใจให้แก่คนในสังคมได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่อาจจะลืมหรือมองข้ามละเลยไป ได้สร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจแก่เด็ก ชาวบ้าน และชุมชน และน่าจะได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนจำนวนหนึ่งในเรื่องการทบทวนการใช้ชีวิต พี่นกหวังว่าคนที่เคยดูรายการของเราแล้วได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเรื่องเชิงนโยบายต่าง ๆ ช่วยผลักดันขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์เชิงนโยบายเพราะได้เห็นรูปธรรมจากสิ่งที่เรานำมาเสนอ ก็จะเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญในอีกระดับหนึ่ง
ถ้าเปรียบตัวพี่นกเป็นเด็กทุ่งแสงตะวัน คิดว่าชีวิตจากวันเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ความฝันความหวังของเราเดินทางมาถึงจุดไหน และจะไปต่ออย่างไร
เราได้ทำอะไรหลายอย่างมากมายเกินกว่าที่เด็กหญิงนิรมลเคยคิดหวังหรือฝันไว้เมื่อ ๔๐ ปีก่อน ตอนเราเป็นเด็ก โลกของเราใบนิดเดียว โลกเล็ก ๆ ที่ไม่ซับซ้อน ความฝันความหวังของเราก็ตรงไปตรงมา อยากเป็นพยาบาลเพราะเคยเห็นนางพยาบาลช่วยคนทุกข์ยากเจ็บป่วย เห็นคนจนถูกจับขังไม่ได้ประกันเพราะไม่รู้กฎหมายเลยอยากเป็นทนายความ อยากเป็นครูเพราะเจอครูดี ๆ ที่สอนหนังสือสนุกให้เราได้รู้จักคิด พอเราโต ทำงานสื่อมวลชน เข้าใจปัญหาและสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ความฝันของเราก็เปลี่ยน จากอยากเป็นนางพยาบาล เป็นฝันและหวังให้ระบบสาธารณสุขของรัฐเอื้อประโยชน์กับคนจนอย่างแท้จริง สนใจเรื่องสุขภาวะมากกว่าแค่เรื่องสุขภาพ ไม่ได้ฝันหรือหวังอยากเป็นครูแล้ว แต่อยากให้การจัดการศึกษาของไทยดีกว่านี้ ไม่ได้อยากเป็นทนายความแล้ว แต่ยังคงหวังให้สังคมไทยมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง เราไม่ได้แค่ฝันหรือหวัง เราศึกษาว่าแล้วเราทำอะไรได้บ้าง จากนั้นก็ลงมือทำ ทำทุกวันและไม่ได้ทำทีละอย่าง เราทำไปพร้อมกันเลย จากการทำงานทุกวันของเรานี่แหละ ทั้งในรายการทุ่งแสงตะวันและพันแสงรุ้ง
แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราไม่ใช่พวกคนใจร้อนเสียงดังทำงานเร็ว เป็นคนประเภททำอะไรตามศักยภาพของตัวเอง ประสานและเชื่อมโยงกับคนอื่น ดูเหมือนเป็นคนสบาย ๆ ใช่ไหม แต่จริง ๆ แล้วจริงจัง ถ้าตั้งใจจะทำอะไรจะทำเต็มที่ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่วนผลของงานจะเป็นยังไงก็ดูไป ถ้างานดีก็ชื่นใจ แต่อย่ามัวชื่นชมสิ่งที่ทำไปแล้ว เมื่อวานก็สำคัญ แต่ไม่เท่ากับทำปัจจุบันให้ดี พรุ่งนี้ต้องดีแน่นอน
ความหวังก็คือ หวังว่าพรุ่งนี้เรายังคงทำงานอย่างมีความทุกข์บ้างสุขบ้างอย่างรู้เท่าทัน ลงมือทำในสิ่งที่มีคุณค่าความหมายแก่ชีวิตตนเองและคนอื่น ได้ตอบแทนบุญคุณเหตุปัจจัยที่ทำให้เรามีโอกาสใช้ชีวิตทำงานและได้ร่ายรำไปกับชีวิต ตั้งแต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ น้ำ อากาศ ทะเล ต้นไม้ สรรพชีวิต ผู้คน พ่อแม่พี่น้อง ญาติ เพื่อนร่วมงาน ผู้มีพระคุณต่อเรา การตอบแทนคุณสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือการทำงานที่เรารักและผูกพันต่อไปเท่าที่จะทำได้
ขอขอบคุณ : คุณสุตาภัทร หมั่นดี ประสานงาน
หมายเหตุ : รายการทุ่งแสงตะวันมีอายุครบ ๒๐ ปีนับจากวันออกอากาศครั้งแรก ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ปัจจุบันรับชมได้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ทุกวันเสาร์ เวลา ๐๖.๒๕ น. ตั้งแต่เสาร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ถึงสิ้นปีนี้ รายการจะพาย้อนอดีตวันวานและชีวิตวันนี้ของเด็กทุ่งแสงตะวัน