จาก คอลัมน์ โลกวิทยาการ กำเนิดอารยะ
สุทัศน์ ยกส้าน
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
ภาพซ้าย :ดาวเนปจูน, ภาพขวา : จากซ้าย ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน (แหล่งภาพ )
ตำราดาราศาสตร์มักกล่าวถึง จอห์น อดัมส์ (John Couch Adams) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ และ อูร์แบง เลอ แวริเย (Urbain Le Verrier) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ว่าเป็นผู้ร่วมกันพบดาวเคราะห์เนปจูนของสุริยจักรวาลในปี ค.ศ.๑๘๔๖ แต่กว่าจะตกลงกันได้ สัมพันธภาพทางการทูตระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสก็เกือบขาดสะบั้น มาถึงวันนี้นักประวัติดาราศาสตร์ได้พบหลักฐานเพิ่มเติมว่า เลอ แวริเย สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พบเนปจูนแต่เพียงผู้เดียว
ย้อนอดีตไปคืนวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ.๑๗๘๑ (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) วิลเลียม เฮิร์สเชล (William Herschel) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ ได้สังเกตเห็นดาวขนาดเล็กสีเหลืองแกมเขียวดวงหนึ่งที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ปรากฏอยู่กลางกลุ่มดาว Gemini เขาคิดว่ามันคงเป็นดาวหาง และตั้งใจจะเรียกดาวดวงใหม่ที่พบว่า Georgium Sidus แปลว่า ดวงดาราของกษัตริย์จอร์จ แต่ โยฮันน์ เอเลิร์ต โบเดอ (Johann Elert Bode) คิดว่าเป็นเรื่องไม่บังควรที่จะนำพระนามของกษัตริย์ไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์ ดังนั้น ดาวดวงใหม่จึงได้ชื่อว่า ยูเรนัส (Uranus) ตามชื่อเทพ Ouranos
การติดตามดูวิถีโคจรของยูเรนัสทำให้บรรดานักดาราศาสตร์รู้สึกกังวลมาก เพราะได้ประจักษ์ว่าวิถีโคจรของยูเรนัสมิได้เป็นไปตามกฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันเลย และเมื่อผลการทำนายกับตัวเลขที่ได้จากการสังเกตเห็นจริงไม่สอดคล้องกัน เหตุการณ์นี้จึงทำให้นักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นคิดว่ากฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันผิดและใช้ไม่ได้ในกรณีที่ดาวเคราะห์อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มาก
ความกังวลชักนำให้ จอห์น อดัมส์ หันมาสนใจปัญหานี้ เขาเชื่อว่ากฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันถูกต้องและสมบูรณ์ และคิดว่าการที่ยูเรนัสมีวิถีโคจรที่ผิดคาดเพราะสุริยจักรวาลมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน โคจรอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์นอกวงโคจรของยูเรนัส และอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงระหว่างดาวลึกลับกับยูเรนัส ส่งผลให้วิถีโคจรของยูเรนัสถูกกระทบกระเทือน หลังจากตั้งสมมุติฐานว่ามีดาวลึกลับนี้แล้ว อดัมส์ใช้เวลาอีกนาน ๒ ปี คำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้น จากนั้นได้ส่งรายงานผลการคำนวณไปยังนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนักชื่อ จอร์จ บิดเดลล์ แอรี (George Biddell Airy) เวลานั้นแอรีมิได้สนใจอ่านรายงานของอดัมส์เลย กระทั่งในเวลาต่อมาเมื่อแอรีได้อ่านรายงานวิจัยของ เลอ แวริเย ซึ่งลงพิมพ์ในวารสาร French Academy of Sciences ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๘ เขาก็ตกใจมากเมื่อพบว่า เลอ แวริเย ได้เสนอความคิดเหมือนอดัมส์ว่า ในการอธิบายลักษณะวงโคจรที่ผิดปรกติของยูเรนัส สุริยจักรวาลจำต้องมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อีกดวงที่โคจรรอบดวงอาทิตย์และอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่ายูเรนัส ในฐานะนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนัก เขาจึงสั่งให้ เจมส์ แชลลิส (James Challis) แห่งหอดูดาว
ที่กรีนิช (Greenwich) ค้นหาดาวเคราะห์ที่ เลอ แวริเย ทำนาย แต่แชลลิสไม่พบดาวดวงดังกล่าวเลย
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เลอ แวริเย ก็ได้เขียนบันทึกถึง โยฮันน์ กอทท์ฟรีด กัลเลอ (Johann Gottfried Galle) ในเยอรมนี ขอร้องให้กัลเลอใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจท้องฟ้า ณ ตำแหน่งที่เขาพยากรณ์ว่าจะต้องมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนปรากฏอยู่ ภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง กัลเลอ และผู้ช่วย ฮายน์ริช หลุยส์ ดาร์เรสต์ (Heinrich Louis d’Arrest) ก็ได้เห็นดาวลึกลับ และในวันต่อ ๆ มาทั้งคู่ก็พบว่าดาวดวงนั้นเลื่อนตำแหน่งไป หลักฐานดังกล่าวแสดงว่าดาวลึกลับดวงนั้นเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่แน่นอน
รายงานการพบดาวเนปจูนในวันที่ ๒๓ กันยายน ค.ศ.๑๘๔๖ ทำให้เกิดสงครามวิชาการระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสครั้งใหญ่ เพราะวงการดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญความสำเร็จของ เลอ แวริเย ว่าเป็นผู้ที่ทำให้กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันยังศักดิ์สิทธิ์คือยังใช้ได้ และแทบไม่มีใครเอ่ยถึงผลงานของอดัมส์เลย เหตุการณ์นี้ทำให้แอรีนักดาราศาสตร์อาวุโสของอังกฤษรู้สึกเดือดดาลมาก
John Couch Adams และ Urbain Le Verrier สองนักดาราศาสตร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พบดาวเนปจูน
จอห์น อดัมส์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๑๙ ในวัยเด็กอดัมส์เก่งคณิตศาสตร์ เป็นคนเคร่งศาสนา ขี้อาย ทำงานจริงจัง ชอบร้องเพลงและเล่นไวโอลิน ขณะเป็นนิสิตที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาสอบคณิตศาสตร์ได้คะแนนยอดเยี่ยมและได้รับรางวัล Smith ซึ่งถือว่ามีเกียรติมาก อีกทั้งได้เป็น Senior Wrangler เพราะสอบ Mathematical Tripos ได้อันดับ ๑
ในปี ๑๘๔๑ เมื่ออดัมส์ได้อ่านงานวิจัยของ จอร์จ บิดเดลล์ แอรี ที่คำนวณวิถีโคจรของดาวยูเรนัสว่าไม่ได้เป็นไปตามคำพยากรณ์ของทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของนิวตัน เหตุการณ์นี้ชักนำให้นักดาราศาสตร์บางคนคิดว่า ยูเรนัสคงโคจรผ่านตัวกลางที่มีความหนาแน่นสูงจนแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นทำให้รัศมีวงโคจรของมันเบี่ยงเบนเป็นวงรีมากกว่าปรกติ แต่อดัมส์กลับคิดว่าความอปรกติทั้งหลายเกิดจากการที่ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่ง เขาจึงสมมุติมวลและตำแหน่งของดาวเคราะห์ดวงใหม่ขึ้นมา แล้วใช้ข้อมูลทั้งสองนี้คำนวณวิถีโคจรของดาวยูเรนัสโดยใช้กฎแรงดึงดูดโน้มถ่วงของนิวตัน การคำนวณที่ใช้เวลานาน ๒ ปี (ในสมัยนั้นนักดาราศาสตร์ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้) ทำให้อดัมส์อธิบายวิถีโคจรของยูเรนัสได้ ดังนั้นงานขั้นต่อไปคือการหาหลักฐานมายืนยัน อดัมส์เดินทางไปพบแอรีที่กรีนิชเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๕ แต่ขณะนั้นแอรีอยู่ที่ฝรั่งเศส อดัมส์ซึ่งเป็นคนขี้อายและถ่อมตนจึงเขียนจดหมายรายงานเรื่องที่ตนพบแต่เพียงสั้น ๆ ทิ้งไว้แล้วเดินทางกลับเคมบริดจ์ เมื่อแอรีกลับถึงอังกฤษได้อ่านรายงานนั้นก็มิได้เชื่อผลคำนวณของอดัมส์เพราะไม่ระบุรายละเอียดเพียงพอ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นเขากำลังมีปัญหาส่วนตัว คือภรรยากำลังจะคลอดบุตรคนที่ ๙ และ เจมส์ แชลลิส ผู้ช่วยของเขาก็กำลังถูกกล่าวหาว่าได้ฆ่าลูกสาวของตนเอง ด้วยเหตุนี้แอรีจึงมิได้สนใจผลงานของอดัมส์เท่าที่ควร
ส่วน เลอ แวริเย ซึ่งอาวุโสกว่าอดัมส์ราว ๘ ปี เป็นนักคณิตศาสตร์ผู้มีความสามารถสูงมาก เคยศึกษาที่ l’École Polytechnique อันเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดของฝรั่งเศสในสมัยนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ทำงานเป็นนักดาราศาสตร์ประจำหอดูดาวที่ปารีส จนอายุ ๓๔ ปีก็หันมาสนใจปัญหาวิถีโคจรของยูเรนัสซึ่งกำลังเป็นปัญหาร้อนตามคำเสนอแนะของ ฟรองซัวส์ อาราโก (François Arago) เลอ แวริเย ใช้เวลา ๒ เดือนในการคำนวณวิถีโคจรของยูเรนัส จากนั้นได้นำเสนอผลงานของตนในวารสาร French Academy of Sciences ว่า เพราะอิทธิพลของแรงดึงดูดโน้มถ่วงที่ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์กระทำต่อยูเรนัสมิได้มากพอจะอธิบายการเคลื่อนที่ของยูเรนัสที่ผิดปรกติได้
ดังนั้นสุริยจักรวาลจะต้องมีดาวเคราะห์ดวงใหม่อีกหนึ่งดวงซึ่งมีอิทธิพลทำให้วิถีโคจรของยูเรนัสเป็นดังที่สังเกตเห็น ผลสรุปนี้ตรงกับที่อดัมส์ได้คำนวณไว้ แต่ความแตกต่างอยู่ที่ เลอ แวริเย ตีพิมพ์ผลงานของตน ส่วนอดัมส์กลับไม่ได้ตีพิมพ์รายงานการค้นพบแต่อย่างใดดังนั้นเมื่อรู้ข่าวเกี่ยวกับผลงานของ เลอ แวริเย ความเป็นคนอังกฤษและจบจากเคมบริดจ์เช่นเดียวกับอดัมส์ทำให้แอรีคิดว่าเกียรติการค้นพบเรื่องนี้ควรเป็นของอดัมส์แต่เพียงผู้เดียว เขาจึงมอบให้แชลลิสค้นหาดาวลึกลับทันที แต่ก็หาไม่พบ กระทั่งในวันที่ ๒๓ กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๖ เมื่อทั่วโลกได้รู้ข่าวการพบดาวเนปจูน เลอ แวริเย จึงกลายเป็นวีรบุรุษที่ใคร ๆ ก็อยากพบและรู้จัก แม้กษัตริย์และราชินีก็มีพระราชประสงค์ให้ เลอ แวริเย เข้าเฝ้าถวายรายงาน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้แอรีรู้สึกว่านักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสได้รับเครดิตมากเกินควร เขาจึงเขียนจดหมายบอก เลอ แวริเย ว่าอดัมส์ก็รู้ข้อมูลเรื่องเนปจูนเช่นกัน จดหมายฉบับนั้นทำให้ เลอ แวริเย ไม่พอใจ เพราะแอรีเองก็ไม่เคยเปิดเผยการค้นพบของอดัมส์แต่กลับอ้างว่ารู้มานานแล้ว ไม่เพียง เลอ แวริเย ที่รู้สึกเช่นนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสคนอื่น ๆ ก็คิดในทำนองเดียวกันว่าอังกฤษกำลังพยายามขโมยเครดิตทางปัญญาของฝรั่งเศสโดยอ้างว่ามีจดหมายและหลักฐานต่าง ๆ ของอดัมส์
เมื่อการวิวาทบาดหมางทางวิชาการบังเกิด จอห์น เฮิร์สเชล (John Herschel) บุตรชายของ วิลเลียม
เฮิร์สเชล ได้พยายามไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทโดยเสนอให้มีการมอบเหรียญรางวัล Royal Astronomical Society แก่ทั้งอดัมส์และ เลอ แวริเย แต่กฎของสมาคมฯ ระบุให้มีผู้รับเหรียญเพียงคนเดียว เมื่อไม่มีข้อยุติว่าใครเป็นผู้พบก่อน ทั้งอดัมส์และแวริเยจึงไม่ได้รับเหรียญรางวัลใด ๆ
แม้นักดาราศาสตร์ทั้งสองจะถูกอุปโลกน์ให้เป็นคู่แข่งกัน แต่เมื่อทั้งคู่พบกันที่ออกซฟอร์ดในอังกฤษเมื่อปี ๑๘๔๗ ความสนใจที่ใกล้เคียงกันและความรู้ดาราศาสตร์ที่เท่าเทียมกันทำให้อดัมส์และแวริเยกลายเป็นเพื่อนรักที่สนิทสนมกันมาก ในเวลาต่อมาพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษโปรดเกล้าให้อดัมส์ดำรงตำแหน่ง Sir แต่เขาปฏิเสธเพราะต้องการใช้ชีวิตเงียบ ๆ อดัมส์เสียชีวิตเมื่ออายุ ๗๓ ปี อีก ๓ ปีต่อมา สมาคม Royal Society แห่งอังกฤษได้นำแผ่นหินอ่อนสลักชื่อ J.C. Adams ไปวางไว้ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใกล้หลุมฝังศพของ ไอแซก นิวตัน และ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ส่วนแอรีซึ่งเสียชีวิตหลังอดัมส์จากไปเพียง ๓ วัน กลับไม่ได้รับการจารึกชื่อในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เพราะวงการวิทยาศาสตร์ของอังกฤษมีความเห็นว่าเขาเป็นคนทำให้เรื่องการพบเนปจูนวุ่นวาย
เลอ แวริเย ถวายรายงานการค้นพบเนปจูนแก่กษัตริย์หลุยส์ ฟิลิปป์ (ภาพ : E.Deschamps แหล่งภาพ) และ George Biddell Airy ( แหล่งภาพ )
สำหรับ เลอ แวริเย หลังจากประสบความสำเร็จในการพบเนปจูนแล้วก็หันไปสนใจดาวพุธ เพราะนักดาราศาสตร์พบว่าวงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์มิได้ปิด นั่นคือดาวพุธโคจรไม่ซ้ำรอยเดิม โดยในทุก ๆ ๑๐๐ ปี จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดจะเลื่อนตำแหน่งไป ๕๘๐ ฟิลิปดา (๑ องศาเท่ากับ ๖๐ ลิปดา และ ๑ ลิปดาเท่ากับ ๖๐ ฟิลิปดา) นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้นักดาราศาสตร์งุนงงมาก และเมื่อพิจารณาแรงโน้มถ่วงจากดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ทุกดวงแล้ว จะพบว่าแรงทั้งหมดทำให้จุดใกล้ที่สุดเลื่อนตำแหน่งเพียง ๕๔๒ ฟิลิปดาเท่านั้นเอง จึงไม่มีใครรู้ว่าความคลาดเคลื่อนอีก ๓๘ ฟิลิปดานั้นเกิดจากสาเหตุใด เหตุการณ์นี้ชี้นำให้หลายคนคิดว่าคงมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่โคจรใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวพุธชื่อ Vulcan ซึ่งส่งแรงโน้มถ่วงกระทำต่อดาวพุธทำให้จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวพุธขยับเลื่อนไปอีก ๓๘ ฟิลิปดาในทุก ๑๐๐ ปี และแม้นักดาราศาสตร์จะค้นหาดาว Vulcan สักเพียงใด ก็ไม่มีใครเห็นดาว ที่ว่านี้เลย ใครจะรู้ว่าความแตกต่างเพียง ๓๘ ฟิลิปดา (ในอีก ๖๐ ปีต่อมาได้ถูกปรับค่าใหม่เป็น ๔๓ ฟิลิปดา) จะได้รับการอธิบายโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์
ในวารสาร Scientific American ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ ชีฮาน (W. Sheehan) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคออทิสติก และโคลเลอร์สตรอม (N. Kollerstrom) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ร่วมด้วยวาฟฟ์ (C.B. Waff) นักประวัติดาราศาสตร์แห่ง Air Force Research Laboratory ที่รัฐโอไฮโอ ได้รายงานว่าจากการสำรวจหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ที่อดัมส์, แอรี, แชลลิส และ เลอ แวริเย เขียนถึงกัน ทำให้รู้ว่าทั้งแวริเยและอดัมส์ต่างก็สมมุติให้เนปจูนมีมวลมากเกินจริงและให้ระยะทางที่เนปจูนอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไกลเกินจริง (เหตุการณ์ที่ผิดกับผิดแล้วทำให้ถูกนี้ถือว่าเป็นเหตุบังเอิญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์) โดยนักวิชาการทั้งสามได้ค้นหาเอกสารที่อดัมส์อ้างว่าเขียนรายงานถึงแอรีแต่แอรีไม่สนใจ และได้พบว่าหลังจากอดัมส์เสียชีวิต เอกสารทุกชิ้นที่เขาเขียนตกอยู่ในความดูแลของ วิลเลียม สมาร์ต (William M.Smart) และนักดาราศาสตร์ ๒ คนชื่อ อัลลัน แชปแมน (Allan Chapman) กับ โรเบิร์ต สมิท (Robert Smith)ก็ได้ศึกษาเอกสารทุกชิ้นที่อดัมส์เขียน นอกจากนี้ เดนนิส รอว์ลินส์ (Dennis Rawlins) ผู้ค้นหาหลักฐาน
จดหมายที่แอรีอ้างว่าได้รับจากอดัมส์ เขาพบว่าเมื่อไรที่ขอดูเอกสารของแอรีจากห้องสมุดหอดูดาวที่กรีนิช บรรณารักษ์ก็จะบอกว่า “ให้ไม่ได้” ทุกครั้งไป
การปฏิเสธเช่นนี้ทำให้รอว์ลินส์สงสัยว่า โอลิน เอ็กเกน (Olin J. Eggen) ผู้เป็นเลขานุการของแอรี
คงเก็บเอกสารไว้ทั้งหมด เพราะเอ็กเกนเองก็ต้องการเอกสารดังกล่าวในการเขียนชีวประวัติของแอรี แต่หลังจากอพยพไปออสเตรเลียและไปทำงานที่หอดูดาวในชิลี เอ็กเกนก็ปฏิเสธเสมอมาว่าเขาไม่เคยมีจดหมายที่อดัมส์เขียนถึงแอรีไว้ในครอบครองเลย
ความลึกลับต่าง ๆ เริ่มเปิดเผยในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ เมื่อเอ็กเกนเสียชีวิต เพื่อนของเขาได้เข้าค้นห้องพักที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชิลีและได้พบเอกสารสำคัญมากมาย จึงจัดส่งเอกสารไปยังห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากการวิเคราะห์เอกสารทำให้ชีฮานและโคลเลอร์สตรอมเข้าใจเหตุการณ์ เบื้องหลังการค้นพบดาวเนปจูนขึ้นมากและตระหนักว่าเพื่อน ๆ ของอดัมส์ให้เครดิตเขามากเกินไป แม้อดัมส์จะคำนวณวิถีโคจรของยูเรนัสโดยสมมุติว่ามีเนปจูนเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่อดัมส์ก็ไม่ได้ส่งข่าว ไม่ได้ตีพิมพ์ผลงาน และไม่ได้รายงานอย่างละเอียดให้โลกรู้ว่าเขาเป็นบุคคลแรกที่คำนวณเรื่องนี้ เพราะการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบต้องส่งข่าวให้บุคคลในวงวิชาการรับรู้เพื่อตรวจสอบ ดังนั้นการค้นพบทุกเรื่องนอกจากเป็นความสามารถส่วนบุคคลของผู้ค้นพบแล้วยังจะต้องเปิดให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบด้วย ด้วยเหตุนี้อดัมส์จึงทำงานเรื่องนี้เพียงครึ่งเดียว อาจเพราะอดัมส์ไม่ชอบแสดงตัว ในขณะที่ เลอ แวริเย เป็นคนกล้าแสดงออกและไม่เคยกลัวคำวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ถึงกระนั้นอดัมส์ก็มีเพื่อนนักวิทยาศาสตร์อังกฤษหลายคนรวมพลังกันสนับสนุนเขาว่าเป็นผู้พบเนปจูน ทั้งนี้ก็เพื่อโลกจะได้ยอมรับความยิ่งใหญ่ของนักดาราศาสตร์อังกฤษว่าไม่ด้อยกว่านักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสเลย
ในการศึกษาเอกสารที่เอ็กเกนขโมยไปจากห้องสมุดหอดูดาวที่กรีนิชเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ทำให้ชีฮานและคณะได้พบอีกว่า จอห์น อดัมส์ เป็นบุคคลแรกที่ทำนายว่ามีดาวเคราะห์เนปจูนอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวยูเรนัส และยังได้ระบุตำแหน่งของดาวเนปจูนลึกลับดวงนั้น ส่วนรายงานฉบับสั้นที่อดัมส์เขียนถึงแอรีเมื่อปี ๑๘๔๕ แสดงเพียงผลการคำนวณโดยไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ และเมื่อแอรีได้อ่านรายงานฉบับสั้นนั้นก็ได้ตั้งคำถามหลายประเด็นและขอให้เขาชี้แจงเพิ่มเติม แต่อดัมส์ไม่ได้ตอบข้อสงสัยนั้น ซึ่งถ้าตอบ เครดิตการพบเนปจูนย่อมเป็นของอดัมส์แต่เพียงผู้เดียว เหตุการณ์นี้อนุมานได้ว่าอดัมส์ไม่ได้ให้ความสำคัญในการตอบคำถามของแอรี และเมื่อใครถามเกี่ยวกับเรื่องนี้อดัมส์ก็จะตอบว่าไม่ชอบเขียนจดหมาย
จากการศึกษาหลักฐานทั้งหลายทำให้ชีฮานและคณะมีความเห็นว่า ผู้พบดาวเนปจูนคือ เลอ แวริเย เพราะเขาได้ทำนายและประสบความสำเร็จในการกระตุ้นนักดาราศาสตร์อย่าง โยฮันน์ กัลเลอ ให้ค้นหาจนพบ ส่วนอดัมส์นั้นไม่ควรได้รับเครดิตเท่าแวริเย และนั่นก็อาจหมายความว่า เมื่อ ๗๐ ปีก่อน นักดาราศาสตร์อังกฤษได้ร่วมกันขโมยเกียรติทางปัญญาในการพบดาวเคราะห์เนปจูนมาจากนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ เลอ แวริเย