โดย ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์
วูดดี้ อัลเลน กล่าวว่า คนเราชอบทำชีวิตให้วุ่นวายและหมกมุ่นอยู่กับปัญหาเล็ก ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องคิดถึงปัญหาใหญ่จริง ๆ ของชีวิต นั่นคือการเผชิญหน้ากับความตาย
ตอนอายุราว ๓ ขวบ เขาเคยถูกพี่เลี้ยงแกล้งเอาผ้าห่อตัวไว้แน่นจนหายใจไม่ออก แถมยังขู่ซ้ำว่า “เห็นมั้ย ชั้นอุดจมูกแกให้หายใจไม่ออกจนตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ เสร็จแล้วก็โยนแกทิ้งไปในกองขยะซะ ไม่มีใครสังเกตหรอกว่าแกหายไป”๑ อัลเลนไม่ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ฟังก็จริง แต่ประสบการณ์เฉียดตายคราวนั้นทำเอาเขาเป็นโรคกลัวที่แคบมาจนถึงทุกวันนี้
นี่อาจอธิบายว่าทำไมหนังเกือบทุกเรื่องของเขาถึงได้มีธีมเกี่ยวกับความตายสอดแทรกอยู่ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปีของชีวิตการทำหนัง อัลเลนเอาธีมความตายมาขยายความ พินิจพิเคราะห์ ทบทวน และผสมผสานกับธีมอื่นอย่างไม่รู้จักเบื่อ ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหนังหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นหนังตลก (Love and Death, A Midsummer Night’s Sex Comedy, Deconstructing Harry,
Scoop) หนังชีวิต (Annie Hall, Interiors, Crimes and Misdemeanors, Match Point, Cassandra’s Dream) หรือแม้กระทั่งหนังเพลง (Everyone Says I Love You)
เขาเคยพูดติดตลกว่า ผลงานทุกเรื่องของเขาเป็นหนังแนวโศกนาฏกรรม เพราะสุดท้ายแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตายทั้งสิ้น
วูดดี้ อัลเลน
ทุกวันนี้อัลเลนยังเขียนบทเอง กำกับเอง ขาดแต่แสดงเองเท่านั้น ตั้งแต่หนังเรื่องหลังสุดที่เขาร่วมแสดงด้วยคือ Scoop ก็มีทีท่าว่าอัลเลนอาจจะไม่กลับมาเล่นเองอีกแล้ว อัลเลนพิเศษกว่าผู้กำกับ auteur๒ คนอื่นตรงที่ตัวละครที่เขาแสดงกับตัวจริงนอกจอนั้น มีภาพลักษณ์หรือ “หน้ากาก” (persona) ที่ซ้อนเหลื่อมกันจนแทบจะแยกจากกันไม่ออก อัลเลนนอกจอกับในจอสวมเสื้อผ้าสไตล์เดียวกัน ไว้ผมทรงเดียวกัน ใส่แว่นตาเหมือนกันเด๊ะ นอกจากนี้ยังชอบผู้กำกับหนังคนเดียวกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน เป็นอเมริกันยิวจากบรู๊กลินที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาและไม่ศรัทธาในพระเจ้าเหมือนกัน แถมยังควงผู้หญิงคนเดียวกันอีก (ไดแอน คีตัน, มีอา ฟาร์โรว์, หลุยส์ แลสเซอร์) อัลเลน กับ persona ของเขาเลยกลายเป็นยี่ห้อประจำหนังที่ติดตาตรึงใจคนดูมาโดยตลอด
นักแสดงที่มารับบทนำในหนังยุคหลังเลยถูกเอาไปเปรียบเทียบอย่างไม่ค่อยเป็นธรรมนัก เคนเน็ท
บรานา ผู้กำกับและนักแสดงมากฝีมือของอังกฤษ ก็เสียผู้เสียคนมาแล้วจากคำวิจารณ์ที่กล่าวหาว่าเขาพยายามทำตัวเป็นอัลเลนแต่ตลกฝืด ส่วนคนอื่น ๆ ก็พอรอดตัวไปได้ แต่ไม่มีใครโดดเด่นพอจะกลบรัศมีของอัลเลน
อัลเลนเป็นหนอนหนังสือตัวยง เขาโปรดปรานดอสโตเยฟสกีและเชคอฟเป็นพิเศษ งานของเขาได้รับอิทธิพลมาจากนักเขียนคู่นี้ไม่น้อย (เช่น Crimes and Misdemeanors, Hannah and Her Sisters และ Interiors) อัลเลนมองว่าหนังของเขาเป็นเหมือนวรรณกรรมมากกว่าจะเป็นหนัง เพราะมันถ่ายทอดและสะท้อนแนวคิดของ “ผู้แต่ง” ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ออกมา การทำหนังจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการสร้างสรรค์ มากกว่าจะเป็นงานสร้างเพื่อความบันเทิงล้วน ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้กำกับในดวงใจของเขาจะเป็น auteur ระดับยอดของโลกอย่าง อิงมาร์ เบิร์กแมน, เฟเดอริโก เฟลลินี และ มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี โดยเฉพาะเบิร์กแมนนั้น อัลเลนยกให้เป็นไอดอลของเขาเลยทีเดียว
ขณะที่ด้านหนึ่งเขาชื่นชอบงานที่มีเนื้อหาสาระหนักแน่นอย่างของดอสโตเยฟสกีและเบิร์กแมน อีกด้านหนึ่งเขากลับคลั่งไคล้ดาราตลกอย่าง กรัวโช มาร์กซ์ (แห่ง Marx Brothers) สมัยเด็ก ๆ กิจกรรมยามว่างที่เขาชอบทำคือเล่าโจ๊กให้เพื่อน ๆ ฟัง พอโตขึ้นมาหน่อยก็เขียนเรื่องโจ๊กไปลงหนังสือพิมพ์ ก่อนจะขยับไปทำงานเป็นคนเขียนแก๊กตลกให้นักแสดงตลกชื่อดังอย่าง ซิด ซีซาร์
หลังจากเขียนแก๊กตลกไปสักพัก อัลเลนก็ลองเล่นตลก (stand-up comedy) เองบ้าง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร (ถ้าเทียบกับสเกลความสำเร็จของเขาในวงการหนัง) สไตล์ของเขาเป็นตลกคำพูดมากกว่าตลกท่าทาง ประสบการณ์การแสดงตลกต่อหน้าคนดูจำนวนมากทำให้เขารู้ว่าคนดูคาดหวังอะไร และมีลิมิตอยู่ที่ไหน เขารู้ว่าจะเล่าเรื่องซีเรียสแล้วทำให้คนดูหัวเราะไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไร
แบ็กกราวนด์ทั้งหมดนี้ทำให้งานของเขามีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร จุดเด่นคือเขาชอบตั้งคำถามจากมุมมองของดอสโตเยฟสกีหรือเบิร์กแมน แต่แล้วกลับตอบคำถามด้วยท่าทีของ กรัวโช มาร์กซ์ อัลเลนผสมผสานปรัชญาชีวิตหนัก ๆ เข้ากับอารมณ์ขันแบบแสบ ๆ คัน ๆ ได้แนบเนียน บทหนังของเขาจึงเป็นที่รวมของแก๊กตลกที่จิกกัดตั้งแต่พระเจ้าไปจนถึงแม่ยาย แต่อัลเลนไม่ชอบทำหนังอาร์ตจ๋าดูยาก ตัวละครของเขาเป็นคนธรรมดา ฉากหนังก็อยู่ในชีวิตประจำวันเสียเป็นส่วนมาก อย่างในอพาร์ตเมนต์ ตามถนนหนทาง ร้านอาหาร โรงหนัง ฯลฯ หนังของเขาเลยได้ชื่อว่าเป็น “หนังคนเมือง” คือสะท้อนวิถีชีวิตของคนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ที่วัน ๆ ก็ถกกันตั้งแต่ปัญหาในมุ้งไปจนถึงปัญหาโลกแตกอย่างชีวิตคืออะไร หรือพระเจ้ามีจริงหรือไม่ อัลเลนกล่าวว่าชีวิตคนเมืองนั้นเป็นเรื่องของการพูดคุยกัน นินทากัน ถกเถียงกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังของเขาถึงได้ช่างจ้อขนาดนั้น
ช่วงหลังอัลเลนประสบปัญหาด้านเงินทุน เลยต้องระหกระเหินออกมาทำหนังนอกบ้านเกิดตัวเอง แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นหนังคนเมืองไว้ครบถ้วน เพียงแต่เปลี่ยนฉากหลังจากกรุงนิวยอร์กมาเป็นกรุงลอนดอน (Match Point, Scoop และ Cassandra’s Dream) และล่าสุดคือเมืองบาร์เซโลนา ใน Vicky Cristina Barcelona๓ (๒๐๐๘)
ถ้าเป็นผู้กำกับคนอื่น การย้ายเมืองคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ หนังบางเรื่องอาจเซตฉากว่าเป็นซีแอตเทิล แต่เอาเข้าจริงกลับไปถ่ายทำในแวนคูเวอร์ก็ได้ แต่หนังของอัลเลนไม่ใช่อย่างนั้น เขาทรีตกรุงนิวยอร์กเหมือนเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่ง เขาเขียนบทโดยอ้างอิงถึงสถานที่จริงชัดเจน และถ่ายทำในโลเกชันจริงด้วย เคยมีผู้เปรียบเปรยว่าหนังของอัลเลนคือจดหมายรักถึงกรุงนิวยอร์ก ซึ่งก็คงจะจริง ใครบ้างจะลืมฉากที่ไอแซกกับแมรี่นั่งอยู่บนเก้าอี้ริมแม่น้ำ และมีสะพาน 59th Street เป็นแบ็กกราวนด์ใน Manhattan(๑๙๗๙) ได้ลงคอ
สถานภาพ “อเมริกันพลัดถิ่น” ของอัลเลนในหนัง ๔ เรื่องหลัง ทำเอาเซนส์ของความเป็น “เจ้าบ้าน” ที่เคยมีอยู่ในหนังหายไปอย่างน่าเสียดาย ปรกติแล้วหนังของอัลเลนมีระยะ และไม่พยายามโน้มนำคนดูให้มีอารมณ์ร่วมกับตัวละครมากนัก (detached style) แต่มันคนละเรื่องกับความรู้สึกแปลกแยกหรือผิดที่ผิดทางแบบนี้ ที่เห็นได้ชัดคือ การเขียนบทให้ตัวละครนำเป็น “ผู้มาเยือน” เช่น นักแสดงตกงานที่เดินทางมาแสวงโชคในอังกฤษ (Match Point) นักศึกษาที่มาพักกับเพื่อน (Scoop) นักธุรกิจที่มาเยี่ยมญาติ (Cassandra’s Dream) หรือนักท่องเที่ยว (Vicky Cristina Barcelona)
ผลที่ตามมาคือ บางครั้งหนังดูเหมือนโปสเตอร์นำเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ Vicky Cristina Barcelona ถึงแม้ว่าอัลเลนจะเขียนบทให้วิกกี้จบปริญญาโทด้านวัฒนธรรมคาตาลัน แต่เขาก็พาเราไปรู้จักกับบาร์เซโลนาแบบฉาบฉวยเต็มที หนังโชว์แต่ด้านศิลปะและความงามของเมือง อย่างสถาปัตยกรรมของเกาดี (แถมด้วยผลงานของมีโรแบบผ่าน ๆ) กีตาร์คลาสสิก กับวิวชนบทสวย ๆ ส่วนโทนหนังก็เน้นสีเหลืองทอง ให้ความรู้สึกเหมือนมีแดดอุ่นอาบเมืองทั้งเมืองไว้ตลอดเวลา แต่บาร์เซโลนาก็ได้แค่…สวย ต่างจากกรุงนิวยอร์กที่อัลเลนทำให้เรารู้สึกว่ามันมีชีวิต มีบุคลิกเหมือนเป็นคนคนหนึ่ง แถมบางทียังเป็นอุปมาอุปไมยของสังคมร่วมสมัยได้อีก
ถึงจะมีแต่บรรยากาศสวย ๆ หนังก็ใช่ว่าจะว่างเปล่าซะทีเดียว (ไม่งั้นเสียยี่ห้อ วูดดี้ อัลเลน หมด) พระเอกหนึ่งเดียวของเรื่องคือ ฆวน อันโตนิโอ (ฆาเบียร์ บาร์เดม) ศิลปินหนุ่มเลือดสเปน โยนปรัชญาชีวิตแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ใส่ วิกกี้ (รีเบกกา ฮอลล์) และ คริสตินา (สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน) ตั้งแต่ฉากแรก ๆ ที่พบกัน
ฉากที่ว่าคือฉากในร้านอาหาร เมื่อจู่ ๆ ฆวน อันโตนิโอ ก็เข้ามาชวนวิกกี้กับคริสตินาให้ไปเที่ยวและมีเซ็กซ์กับเขา พอวิกกี้ปฏิเสธ เขาก็บอกว่า “ชีวิตมันสั้น ชีวิตมันน่าเบื่อ ชีวิตมีแต่ความเจ็บปวด และนี่เป็นโอกาสสำหรับบางอย่างที่พิเศษ”
อีกฉากคือตอนที่เขาพาสองสาวไปดูรูปปั้นในโบสถ์ อัลเลนเสียดสีศาสนาโดยให้รูปปั้นที่ ฆวน อันโตนิโอ หลงใหลนั้นเป็นรูปปั้นพระเยซู แต่แล้วกลับให้ ฆวน อันโตนิโอ ประกาศว่าเขาไม่ใช่คนเคร่งศาสนาเลยแม้แต่น้อย แถมตบท้ายว่า “เคล็ดลับคือสนุกกับชีวิต…ยอมรับว่ามันไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งสิ้น”
สองฉากนี้สรุปประเด็นหลักของหนังไว้ครบถ้วน
อัลเลนเป็นศิลปินแนวอัตถิภาวนิยม ตัวละครของเขามักพร่ำบ่นถึงจักรวาลที่ว่างเปล่าและความไร้ความหมายของชีวิต หรือไม่ก็เป็นตัวละครประเภทท้าทายกรอบศีลธรรมและกฎเกณฑ์สังคม เช่น คริสใน Match Point และจูดาห์ใน Crimes and Mis-demeanors ที่ฆ่าคนตายแล้วลอยนวลหนีความผิดไปได้ แต่ถึงอย่างนั้น หนังของเขาก็ยึดถือมอตโตที่ว่า ควรใช้ชีวิตให้มีความสุขเต็มที่ตราบใดที่ความตายยังมาไม่ถึง ดังตัวละครที่เล่นหมากรุกกับมัจจุราชใน The Seventh Seal ของเบิร์กแมน ถ้าหมากกระดานนั้นยังเดินอยู่ ก็แสดงว่าชีวิตยังไม่สิ้น อัลเลนจึงให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตัวละคร แม้แต่ตัวละครขี้แพ้ที่ล้มเหลวไปซะหมด ทั้งเรื่องงานและความรักอย่างอัลวี (Annie Hall)และไอแซก (Manhattan) ก็ยังทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนี้ยังมีหวัง
แรก ๆ Vicky Cristina Barcelona ทำท่าจะเดินตามรูปรอยเดิม โดยให้วิกกี้เป็นผู้หญิงที่กลัวชีวิต จึงผูกมัดตัวเองไว้กับคู่หมั้นและกรอบกติกาที่สังคมวางไว้ แต่เมื่อเธอตกหลุมรักและมีเซ็กซ์กับ ฆวน อันโตนิโอ เธอก็เริ่มไม่แน่ใจในความรู้สึกของตัวเอง ขณะที่คริสตินาเป็นสาวรักอิสระ เธอลงเอยด้วยการเป็นแฟนกับ ฆวน อันโตนิโอ และย้ายไปอยู่บ้านเดียวกับเขา มีเซ็กซ์กับ มาเรีย เอเลนา (อดีตภรรยาของ ฆวน อันโตนิโอ-แสดงโดย เพเนโลเป ครูซ) และมีความสัมพันธ์แบบ m’nage-a’-trois กับทั้งคู่ นอกจากนั้นยังค้นพบตัวเองว่ามีฝีมือการถ่ายภาพศิลป์อีกต่างหาก
แต่พอถึงตอนจบ อัลเลนกลับหักมุมให้คริสตินาหันหลังให้กับความรัก (และงานถ่ายภาพ) แล้วกลับมาที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง คือไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและยังค้นหาตัวเองต่อไป เช่นเดียวกับวิกกี้ที่แต่งงานไปตามแผน ในฉากจบที่สนามบิน กล้องซูมให้เห็นใบหน้าเฉยเมยและแววตาว่างเปล่าของทั้งคู่
Vicky Cristina Barcelona จบลงแบบมองโลกในแง่ร้ายไปนิด ที่ผ่านมาอัลเลนอาจจะหมกมุ่นกับความตาย แต่เขาไม่เคยหมดหวังกับชีวิต ตัวละครของเขามีทางออกหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางใดทางหนึ่งเสมอ หรืออย่างน้อยก็ยังมีศรัทธาในความรัก
อัลเลนอายุ ๗๒ ตอนที่ทำหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับเบิร์กแมนและอันโตนิโอนีก็มาเสียชีวิตลงพร้อม ๆ กันในช่วงนั้นพอดี ซึ่งอาจอธิบายว่าทำไม Vicky Cristina Barcelona ถึงเป็นหนังรักที่จบลงอย่างอมทุกข์ผิดฟอร์มไปจากที่เคยเป็น
“เมื่อคุณแก่ตัวลง มุมมองที่คุณมีต่อเรื่องเวลาก็เปลี่ยนไป เพราะคุณมองเห็นว่าทุกอย่างมันผ่านไปเร็ว
เหลือเกิน คุณตระหนักว่ามันช่างไร้ความหมายอะไรอย่างนี้”๔
ความรักนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ ชีวิตหรือก็สั้นนัก เพราะฉะนั้นอย่าไปขมขื่นกับอะไร ๆ ให้มากนักเลย หนังทุกเรื่องของอัลเลนบอกเราอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า Vicky Cristina Barcelona อาจจบเศร้าไปหน่อย แต่ก็ไม่มีใครทำหนังปรัชญาชีวิตได้สนุกและตลกแบบอัลเลนอีกแล้ว ผู้เขียนเลยคิดไปถึงฉากจบในหนังตลกยุคแรก ๆ ของเขาอย่าง Love and Death ที่ตัวละครเริงระบำกับมัจจุราชไปสู่ความตายอย่างสนุกสนาน หนังทิ้งท้ายว่า “คิดเสียว่าความตายช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายก็แล้วกัน”
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการหัวเราะเยาะความตายอีกแล้ว
เชิงอรรถ
๑ Eric Lax. Woody Allen: A Biography. USA, Da Capo Press, 2000: 15-16.
๒ ผู้กำกับที่เป็นศูนย์กลางและมีบทบาทสูงสุดในการสร้างหนังส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้เขียนบทหนังเองด้วย ผลงานของผู้กำกับกลุ่มนี้จึงมีแนวคิด เนื้อหาสาระ และรูปแบบทางศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฉกเดียวกับผลงานของนักประพันธ์หรือจิตรกร พวกเขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประพันธ์หรือ “ประพันธกร” ของหนัง (auteur/author)
๓ หนังได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์เพลง/ตลก ยอดเยี่ยมประจำปี ๒๐๐๙ ไปเมื่อต้นปี ส่วน เพเนโลเป ครูซ ก็เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมไปจากบทบาทในเรื่องนี้
๔ บทสัมภาษณ์ วูดดี้ อัลเลน ใน Jennie Yabroff. “Take the Bananas and Run”. Newsweek (August 18/25, 2008), 83.