เรื่อง : สุวรรณา เปรมโสตร์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ที่วัดสวนแก้วมีการประมูลของเหลือใช้ที่ผู้คนมาบริจาค รวมถึงซากคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่จะถูกนำไปประกอบใหม่และขายต่อในราคาไม่แพง

คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่พัฒนาความเร็วขึ้นเรื่อยๆ และบ้านไหนๆ ก็ซื้อได้ไม่ยาก มือถือรุ่นใหม่สารพัดฟังก์ชัน กลายเป็นรุ่นเก่าในเวลาไม่ทันข้ามปี ทีวีจอแบน ภาพและเสียงคมชัด ดีไซน์ล้ำสมัย แต่ราคาถูกลง ผู้คนพากันวิ่งตามให้ทันเทคโนโลยี จึงไม่แปลกหากสำรวจในลิ้นชักหรือห้องเก็บของแล้วพบว่าของไฮเทคที่ไม่ใช้แล้วเหล่านี้ถูกทิ้งให้ฝุ่นจับอยู่เฉยๆ

มีสถิติว่าทุกวันนี้คนไทยใช้คอมพิวเตอร์แค่ ๒-๔ ปีก็ทิ้งแล้ว ทั้งที่อายุการใช้งานจริงคือ ๘ ปี

ทุก ๒-๓ ปี คอมพิวเตอร์ ๓๐-๔๐ ล้านเครื่องจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ “หมดสภาพใช้งาน”

เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ๔๑.๘ ล้านเครื่อง (นับถึงตอนนี้มือถือเหล่านั้นอาจกลายเป็น “ขยะ” ไปแล้ว) แถมในจำนวนผู้ใช้เหล่านั้น มีเพียง ๓ % ที่นำโทรศัพท์ไปส่งรีไซเคิล

คาดการณ์กันว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยจะมีมากถึง ๑๒๘,๒๒๐ ตันในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และจะเพิ่มขึ้นราว ๑๒ % ต่อปี

ถึงวันนี้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภททั่วโลกอาจมีมากกว่า ๕๐ ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเมื่อเทียบกับขยะจากครัวเรือนประเภทอื่นๆ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเร็วกว่าถึง ๓ เท่า

แต่รู้หรือไม่ว่า ในซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณ ๑ ตัน ที่ใครหลายคนมองว่า “ไร้ค่า” อาจมี “ทอง” มากกว่าที่ได้จากการไปขุดหาจากสายแร่ทองตั้ง ๑๗ ตันเสียอีก !

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) อันได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เต็มไปด้วยโลหะมีค่าที่นำไปรีไซเคิลได้ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งๆ เมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างดีแล้ว สามารถสกัดโลหะมีค่าออกมาได้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทองคำ ทองแดง เงิน เหล็ก อะลูมิเนียม ฯลฯ มือถือ ๒ แสนเครื่องอาจสกัดทองคำออกมาได้ ๑ กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น

และเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นแล้ว ปัจจุบัน “โลหะ” หลายชนิดซึ่งได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นวัสดุที่ได้กลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิลมากที่สุด

…………………………………….

มีคนเปรียบว่ารายได้จากธุรกิจรีไซเคิลเสมือนการ “ขุดทอง” ทว่านี่ไม่ใช่แค่สำนวนเปรียบเปรย เพราะขยะอิเล็กทรอนิกส์เต็มไปด้วยทอง เงิน ทองแดง และโลหะมีค่าจำนวนมากจริงๆ !

วิธีการรีไซเคิลวัสดุจากซากขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไปมักเริ่มจากการลดขนาดวัสดุด้วยการบด จากนั้นจึงคัดแยกโลหะหลายชนิดที่ปนกันอยู่ เบื้องต้นอาจใช้วิธีแยกด้วยเครื่องจักร โดยใช้ “แม่เหล็ก” แยกเหล็กออกจากโลหะอื่นๆ ก่อน ส่วนที่เหลือจากวัสดุประเภทเหล็กมักใช้เครื่องแยกชนิดกระแสไหลวน (Eddy Current Separator) ซึ่งทำงานโดยการป้อนไฟฟ้ากระแสสลับไปบนสายพานที่มีวัสดุชนิดต่างๆ เพื่อให้เกิดการเหนี่ยวนำและแยกวัสดุที่เป็นโลหะต่างๆออกจากพลาสติกและวัสดุอื่นๆ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการหลอมโลหะซึ่งโลหะแต่ละประเภทใช้อุณหภูมิแตกต่างกัน สุดท้ายได้โลหะบริสุทธิ์ออกมาเพื่อนำไปใช้งานต่อได้

แต่สำหรับ “ยูนิคอปเปอร์เทรด” โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีงานหลักเป็นการรีไซเคิล “แผงวงจร PCB” ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มีเทคนิควิธีที่ต่างออกไป

แผงวงจร PCB ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะถูกนำมา “สกัดด้วยลม” เป็นอันดับแรก เพื่อทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ หลุดออกมา เป็นวิธีที่ง่ายจนโรงงานรีไซเคิลต่างประเทศถึงกับอึ้งเมื่อได้มาดูงานที่นี่

“วิธีง่ายๆ แบบนี้ผมใช้เวลาเกือบ ๑๐ ปีถึงคิดออก” วิเชียร วิริยยุตตพันธุ์ ผู้ก่อตั้งโรงงานยูนิคอปเปอร์เทรดมาตั้งแต่ ๑๘ ปีที่แล้ว และเป็นกรรมการในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวอย่างสรุปถึงเทคนิคที่เขาคิดค้นขึ้นเองและออกตัวว่าเทคนิคดังกล่าวเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นอกจากนั้นวิเชียรยังใช้เครื่องตัดเหล็กที่คนอื่นทิ้งแล้ว มาใช้ตัดแผง PCB เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ก่อนนำเข้าเครื่องโม่ เครื่องอิเล็กทรอไลต์ และสุดท้ายนำเข้าเตาหลอมจนได้ทองแดงบริสุทธิ์ที่สามารถนำไปขายเพื่อผลิตจิวเวลรี สายไฟ ฯลฯ ต่อไป

ยูนิคอปเปอร์เทรดมีโรงงานหลายสาขา เฉพาะสาขาสมุทรสาครแห่งเดียวสามารถสกัดทองแดงบริสุทธิ์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ราววันละ ๕๐๐ กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย

นอกจากโลหะต่างๆ ที่สกัดได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วยังมีกากเหลือจากกระบวนการรีไซเคิล (ปริมาณไม่เกิน ๑๐ % ต่อปี หรือราว ๑๐๐ ตัน) ที่สามารถนำไปผลิตเป็นอิฐมวลเบาไม้เชอร์ร่าจนสุดท้ายแล้วไม่เหลือกากที่เป็นของเสียเลยแม้แต่น้อย นั่นหมายความว่า หากมีกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถทำให้ทุกส่วนจากคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่องถูกนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้เกือบ ๑๐๐ %

กระบวนการ “ทั้งหมด” ข้างต้นใช้พื้นที่เพียง ๔x๔เมตร จากที่เมื่อก่อนต้องใช้พื้นที่ถึง ๒ ไร่ แต่กว่าจะลดพื้นที่ลงได้มากขนาดนี้ วิเชียรต้องอาศัยประสบการณ์และการทดลองมาพอสมควร

“เครื่องจักรต่างๆ ผมใช้เวลาเป็นสิบปีในการคิดค้นและทำเองทั้งหมด เครื่องแยกทองคำนี่ก็ทำมา ๒๐ ปีแล้ว เคยมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเพราะสันนิษฐานว่าโรงงานผมทำทองเถื่อน แต่พอตรวจแล้วพบว่าเป็นโรงงานรีไซเคิลขยะ ก็เลยพ้นข้อหานั้นไป”

วิเชียรกล่าวต่ออีกว่า “ที่นี่มีแรงงานธรรมดากับแรงงาน R&D* ซึ่งค่อนข้างแพง…และล้วนเป็นอาเจ็กอาแปะเป็นส่วนมาก ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าผลผลิตที่ได้จากโรงงานใช้สำหรับจ่ายค่าแรง ส่วนค่าวัตถุดิบเป็นตัวรอง ความสำคัญอยู่ที่ ‘ค่าความคิด’ ของคนงานที่จะทำการคัดแยก เช่นผมบอกว่า คุณช่วยไปคิดว่าทำยังไงให้ทุกอย่างในที่ชาร์จแบตมือถือชิ้นนี้มีค่าที่สุด ถ้าทำได้มันก็ย่อมคุ้มค่าที่จะจ่ายให้เขา ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะขยะทุกอย่างมาไม่เหมือนกันสักครั้ง วันนี้โนเกียมาทรงนั้น อีกวันไอบีเอ็มมาทรงนี้เปลี่ยนอยู่ตลอด”

ส่วนประกอบหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คือ โลหะ พลาสติก แก้ว และเคมี ซึ่ง “ซาเล้ง” ผู้อาวุโสบ้านเรานี่แหละที่รู้จักวัสดุเหล่านี้เป็นอย่างดี

แม้ขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเปลี่ยนหน้าตามาให้รีไซเคิลอยู่ไม่ขาดสาย แต่การรีไซเคิลขยะเหล่านี้อาศัยหลักการใหญ่ๆ ๒ ข้อ หนึ่งคือความเข้าใจเรื่องพื้นฐานองค์ประกอบของทรัพยากร เช่นเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนประกอบ ๔ อย่างหลักๆ คือ โลหะ พลาสติก แก้ว และเคมี สองคือความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งวิเชียรยกย่องว่าคนรุ่นเก่า…ที่เราเรียกอาเจ็กอาแปะนี่แหละ เชี่ยวชาญมาก

“การทำ waste ในบ้านเรามีมาตั้งแต่สมัยอาแปะอากงแล้วครับ know-how ในการถลุงโลหะหรือความชำนาญในการคัดแยก ไม่ว่าจะโลหะหรือพลาสติก คนรุ่นเก่าเขาทำได้ดีมากเพียงแต่ว่าตอนนั้นทำแบบกระจัดกระจายไปตามร้านโชห่วย และการรับซื้อของเก่ายังถูกมองว่าเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ อาเจ็กอาแปะที่มาเดินรับซื้อของก็ถูกสังคมดูถูกใครทำมาหากินกับขยะนี่ถูกมองว่าเป็นคนชั้นต่ำ ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้รักษาสิ่งแวดล้อมให้บ้านเรามาช้านาน”

จะว่าไปแล้วบริษัทรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างบริษัทซิตี้รายาของสิงคโปร์ ที่มีส่วนแบ่ง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ในตลาดรีไซเคิลของโลกก็เกิดขึ้นได้ด้วยฝีมือของอาแปะที่ชื่อ อึ๊งเต็กลี ผู้ซึ่งในอดีตเมื่อ ๑๕ ปีก่อนเคยเป็นพนักงานขับรถขนขยะเพื่อไปส่งให้โรงงานรีไซเคิล

ส่วนหลายพื้นที่ในประเทศอินเดีย การ “แปรรูป” ขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็นิยมทำกันทั่วไปตามครัวเรือนด้วยวิธีบ้านๆ

มีข้อสังเกตว่า บริษัทรับเหมารีไซเคิลในยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายมักใช้ระบบคัดแยกวัสดุด้วยเครื่องจักรล้วนๆ ซึ่งจุดด้อยคือสามารถคัดแยกชิ้นส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพียง ๖๕ %

…………………………………………………………………………..

การบริจาคเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ให้คนอื่นนำไปซ่อมและใช้ต่อ ดีกว่าทิ้งให้ของเหล่านั้นกลายเป็นขยะกองมหาศาล

“หลังจากไทยประกาศจะเป็นประเทศนิกส์ (NICS-Newly Industrialized Countries) โรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมากที่สุดในนิคมฯ นวนคร มีขยะเต็มไปหมดทำ (รีไซเคิล) เท่าไหร่ก็ไม่หมด อาชีพหลักของผมคือเข้าไปทำความสะอาด เขาบอกไม่ต้องซื้อหรอก ขยะไม่ต้องซื้อ” วิเชียรเล่าถึงเมื่อครั้งยังไม่มีการซื้อขายขยะอิเล็กทรอนิกส์ ใครๆ ก็เข้าไปเก็บได้ตามสบาย

เพิ่งมา ๒-๕ ปีนี้เองที่เริ่มต้องใช้เงินเพื่อ “ซื้อ” ขยะ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระเบียบ WEEE ที่ออกโดยสหภาพยุโรป

ปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) เริ่มประกาศใช้ “ระเบียบว่าด้วยเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์” (Waste Electrical and Electronic Equipment-WEEE) และ “ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์” (The Restriction of the Use of Certain Hazardous Substances in Electrical and Electronic Equipment-RoHS) ซึ่งหลังจากนั้นมาระเบียบดังกล่าวมีผลต่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยด้วย แม้ทางรัฐบาลไทยยังไม่มีการอนุมัติใช้ระเบียบดังกล่าวก็ตาม

วิเชียรเห็นว่าระเบียบ WEEE มีข้อเสียที่การกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องเสียภาษีสำหรับวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต (เฉพาะส่วนที่นำเข้า) ผู้ผลิตจึงเลือกที่จะส่งเศษวัตถุดิบเหลือใช้เหล่านั้นออกไปต่างประเทศ ซึ่งเท่ากับขยะอิเล็กทรอนิกส์มีค่าจำนวนมากต้องถูกส่งไปรีไซเคิลในประเทศอื่น ทั้งที่ไทยมีศักยภาพที่จะทำเองได้

ทว่าขณะเดียวกัน การไม่ประกาศใช้ WEEE อาจเป็นช่องว่างให้แข่งขันกับตลาดโลกได้ยากเพราะประเทศในยุโรปมองว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายทำธุรกิจรีไซเคิลใต้ดินที่ไม่มีระบบการจัดการกับ e-waste อย่างถูกวิธี (ผู้ที่จะทำธุรกิจรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมี “ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิล”)

มีรายงานหลายชิ้นระบุว่า ปัจจุบันมีการส่งออก-นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถประเมินปริมาณขยะที่ได้รับการกำจัดและรีไซเคิลอย่างถูกวิธี หรือไม่สามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนได้

ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนประกอบที่เป็นสารอันตรายเป็นจำนวนมาก “โบรมีน” ที่ใช้ในกล่องสายไฟและแผงวงจรเป็นสารก่อมะเร็ง พิษของ “ตะกั่ว” ในลวดบัดกรี แบตเตอรี่ จอมอนิเตอร์ จะสะสมในร่างกายจนทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด รวมถึงพัฒนาการสมองของเด็ก “ปรอท” ที่อยู่ในหลอดฟลูออเรสเซนต์กับสวิตช์ต่างๆ จะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ส่วน “แคดเมียม” ซึ่งพบในชิ้นส่วนพวกวัสดุกึ่งตัวนำ ก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรง ไตวาย เป็นนิ่ว ไปจนถึงปวดกระดูกการกำจัดขยะเหล่านี้ด้วยการเผาจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโลหะหนักหลายชนิดเข้าสู่บรรยากาศและสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ส่วนการใช้วิธีฝังกลบ หรือเพียงเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ “ไว้เฉยๆ” ที่หลังบ้าน หรือนำไปวางที่กองขยะข้างเสาไฟฟ้าริมทาง ก็ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

นอกจากการไล่ตามกำจัดและนำขยะจำนวนมหาศาลมารีไซเคิลใหม่ ยังมีทางเลือกอื่นที่ช่วยให้มีของเสียหรือขยะน้อยลง เช่นในฐานะผู้ผลิตสินค้า ควรคำนึงถึง “ตลอดช่วงวงจรชีวิตการใช้งานของผลิตภัณฑ์” ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้ปลอดภัยจากสารพิษ มีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนในฐานะผู้บริโภคก็เลือกใช้วิธีง่ายๆ อย่างการ “นำมาใช้ใหม่” หรือใช้ของมือสอง

ทรัพยากรแร่ร่อยหรอลงทุกที แต่ขยะมีมากขึ้น อย่างที่วิเชียรบอกว่า “ขยะไม่มีวันหมดไปจากโลก”

แทนที่จะลงทุนสูงๆเพื่อถลุงโลหะใหม่การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์นอกจากช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรแร่และพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตแล้ว ขยะโลหะเหล่านั้นยังสามารถนำกลับไปหลอมใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ไม่รู้จบ

ข้อมูลจาก :

  • โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยูนิคอปเปอร์เทรด,
  • กรมควบคุมมลพิษ, กรีนพีซ, ยูเอ็น,
  • อีอีเอ (European Environment Agency)

เชิงอรรถ

  • * R&D หรือ Research and Development หมายถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานในส่วนของการวิจัยและพัฒนา