เรื่อง : เฟย์
www.faylicity.com

เดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๘ ที่ผ่านมา มีข่าวน่าใจหายจากแวดวงหนังสือเทศออกมาอยู่เรื่อย ๆ เช่น การเลิกจ้างพนักงาน การปลดฟ้าผ่า การเสนอขายกิจการ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ผู้คนใจไม่ดีและเตรียมรับ “การเผาจริง” ในปีนี้ด้วยความห่วงใยเอาใจช่วย

สำนักพิมพ์รัดเข็มขัด
สำนักพิมพ์ Houghton Mifflin Harcourt ในอเมริกาซึ่งเพิ่งถูกซื้อโดยบริษัทจาก
ไอร์แลนด์ และยังมีภาระหนี้สินก้อนโต ประกาศเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนให้บรรณาธิการเลิกซื้อต้นฉบับหนังสือใหม่ คนในวงการงุนงงไปตามกันเพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีสำนักพิมพ์ใดไม่รับต้นฉบับ ข่าวนี้ส่งสัญญาณว่าพิษเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อธุรกิจหนังสือร้ายแรงกว่าที่คิดกันไว้ รองประธานสำนักพิมพ์บอกว่านโยบายนี้ผ่อนปรนได้กับต้นฉบับที่พิเศษจริง ๆ ปัจจุบันสำนักพิมพ์นี้พิมพ์หนังสือของ กุนเทอร์ กราสส์ และ ฟิลิป รอท ซึ่งนักเขียนชื่อดังทั้งสองคงไม่โดนผลกระทบจากนโยบายนี้ แต่นักเขียนคนอื่นคงต้องไปคิดดูเองว่าต้นฉบับของตนพิเศษหรือไม่

ต้นเดือนธันวาคม สำนักพิมพ์ Random House ผู้ผลิตหนังสือปกอ่อนรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาประกาศปรับโครงสร้างองค์กรโดยลดแผนก หรือกลุ่มสำนักพิมพ์ย่อยในเครือจาก ๕ แผนกเหลือ ๓ แผนก ได้แก่ กลุ่มสำนักพิมพ์ Random House (พิมพ์งานของนักเขียน เช่น อี.แอล. ดอกทอโรว์ และ มายา แองเจลู) กลุ่มสำนักพิมพ์ Knopf (พิมพ์งานของนักเขียน เช่น โทนี มอร์ริสัน และ จอห์น อัปไดก์) และกลุ่มสำนักพิมพ์ Crown (พิมพ์งานเขียนด้านการเมืองของผู้เขียนเช่น บารัก โอบามา และ แอนน์ คูลเทอร์)

แผนกที่ถูกยุบไปคือกลุ่ม Bantam Dell ซึ่งมี เออร์วิน แอปเปิลบอม วัย ๕๔ ปี เป็นประธาน และกลุ่ม Double-day ซึ่งมี สตีเฟน รูบิน วัย ๖๗ ปี เป็นประธาน แอปเปิลบอมต้องหางานใหม่ทันที ส่วนรูบินกำลังเจรจาขอตำแหน่งใหม่ในเครือ Random House อดีตประธานทั้งสองทำงานในธุรกิจหนังสือมาหลายสิบปี แอปเปิลบอมคือผู้พิมพ์หนังสือของ แดเนียลล์ สตีล, ดีน คูนตซ์ และ ลูอิส ลาเมอร์ ส่วนรูบินคือผู้ทำให้โลกรู้จัก รหัสลับดาวินชี ของ แดน บราวน์

Bantam Dell ซึ่งผลิตหนังสือปกอ่อนแบบแมสมาร์เกต (ขนาดเล็กกว่าและราคาถูกกว่าหนังสือปกอ่อนทั่วไป) ประสบปัญหายอดขายตกต่ำมานาน ส่วน Doubleday ขาดรายได้เพราะนิยายเรื่องใหม่ของ แดน บราวน์ ไม่ออกมาเสียที และนิยายที่กะว่าจะรุ่งเรืองกลับขายไม่ดีอย่างที่คิด เช่น The Gargoyle ของ แอนดรูว์ เดวิดสัน

สำนักพิมพ์ Random House จะย้ายพนักงานจากแผนกที่ถูกยุบไปทำงานในแผนกอื่น ๆ โฆษกสำนักพิมพ์ประกาศว่าอาจจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วนออก การปรับโครงสร้างครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทแม่ในเยอรมนีจ้างประธานบริหารคนใหม่ในช่วงไตรมาสที่ ๒ ของปีที่แล้ว สำนักพิมพ์เพิ่งประกาศในเดือนพฤศจิกายนว่าจะยุติการจ่ายเงินบำนาญให้พนักงานปัจจุบัน และยกเลิก
การให้เงินบำนาญแก่พนักงานใหม่

ข่าวของ Random Houseปรากฏพร้อมข่าวสำนักพิมพ์ Simon&Schuster เลิกจ้างพนักงาน ๓๕ คน หรือร้อยละ ๒ ของพนักงานทั้งหมด และข่าวสำนักพิมพ์ Thomas Nelson ที่พิมพ์หนังสือคริสต์
ศาสนา ประกาศเลิกจ้าง “มิตรและเพื่อนร่วมงาน” ๕๔ คน หรือร้อยละ ๑๐

กลางเดือนธันวาคม บริษัท Macmillan เจ้าของสำนักพิมพ์ Farrar, Straus and Giroux, St. Martin Press และ Henry Holt เลิกจ้างพนักงาน ๖๔ คน หรือร้อยละ ๔ และปรับแผนกหนังสือเยาวชนโดยยุบรวมสำนักพิมพ์ย่อยเข้าด้วยกันเป็นสำนักพิมพ์เดียว ผู้บริหารสำนักพิมพ์กล่าวว่า “ยอดขาย
หนังสือช่วงคริสต์มาสนี้ช้ากว่าช่วงคริสต์มาสปีที่แล้วอย่างยิ่ง”

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้สำนักพิมพ์และร้านหนังสือบางแห่งจับมือกันทดลองทำธุรกิจแนวใหม่ เช่น ร้าน Borders (ที่ส่อเค้าว่าอาจอยู่ไม่รอดในปีนี้) ตกลงกับสำนักพิมพ์ HarperStudio ว่าจะซื้อขาดหนังสือ และไม่มีการส่งหนังสือที่ขายไม่ได้คืนสำนักพิมพ์ โดยร้าน Borders จะได้ส่วนลดราคาหนังสือมากเป็นพิเศษเป็นข้อแลกเปลี่ยน

อเมริกามีนโยบายการคืนหนังสือที่ขายไม่ออกกลับสำนักพิมพ์มาเกือบ ๘๐ ปีแล้ว โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อช่วยกระตุ้นให้ร้านค้าอยากสั่งหนังสือเข้าร้าน โดยสำนักพิมพ์เป็นผู้แบกรับภาระค่าขนส่ง หนังสือที่ถูกส่งคืนร้อยละ ๓๐-๔๐ จะถูกส่งกลับไปขายในร้านหนังสืออีกครั้งด้วยราคาลดกระหน่ำ

ยอดขายหนังสือซบเซาในช่วงคริสต์มาส
ช่วงปลายปีถือเป็นช่วงเวลาทำเงินของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ เพราะผู้คนจับจ่ายหนังสือกันมาก ทั้งซื้อให้ตัวเองและซื้อเป็นของขวัญในเทศกาลคริสต์มาส แต่ตลาดหนังสือช่วงเทศกาลที่ผ่านมากลับซบเซาด้วยยอดขายที่ลดลงมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านออนไลน์เช่น Amazon หรือร้านยักษ์ใหญ่อย่าง Barnes&Noble, ร้าน Borders และ Books-A-Million

หนังสือเรื่องเดียวที่ขายดีจนน่าเกลียดในช่วงเทศกาลคือ The Tales of Beedle the Bard ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ซึ่งมียอดพิมพ์ ๘ ล้านเล่ม และขายได้วินาทีละ ๒ เล่มทั่วโลก

ร้านหนังสืออิสระที่รอดยากอยู่แล้วต้องดิ้นรนมากขึ้น ลาร์รี โรบิน เจ้าของร้านหนังสืออิสระในฟิลาเดลเฟียที่ก่อตั้งมานาน ๗๒ ปี ต้องเปลี่ยนไปขายแต่หนังสือมือสองแทน เขากล่าวว่า “ถ้าสถานการณ์มันแค่ปีเดียว ผมอยู่ได้ แต่ผมไม่เห็นว่ามันจะเปลี่ยนไปยังไง ผมมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้” ใครจะหันไปพึ่งห้องสมุดก็ต้องพบข่าวร้ายว่าเมืองฟิลาเดลเฟียประกาศปิดห้องสมุด ๑๑ แห่ง

ตลาดหนังสือในอังกฤษไม่มีข่าวปลดพนักงานมาก ๆ เหมือนในอเมริกา แต่ต่างก็รัดเข็มขัดกันมากขึ้น ปีที่แล้วสำนักพิมพ์ Faber มียอดขายลดลงร้อยละ ๑๗ จากปีก่อนหน้า ทำให้สำนักพิมพ์ขาดทุนเกือบ ๑ ล้านปอนด์ จากเดิมที่ทำกำไรก่อนหักภาษีถึงปีละเกือบ ๙ แสนปอนด์ สำนักพิมพ์ให้เหตุผลว่ายอดขายลดลงมากเพราะตลาดหนังสือเน้นการออกหนังสือเกี่ยวกับดารามากขึ้น ซึ่งสำนักพิมพ์จะปรับตัวไปจับตลาดหนังสือดิจิทัลให้มากขึ้น

สำนักพิมพ์จำนวนมากหันไปตั้งความหวังกับตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แม้ผู้อ่านส่วนใหญ่จะยังไม่ตอบรับการอ่านหนังสือดิจิทัลนัก สำนักพิมพ์ Simon&Schuster ขายหนังสือดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง
๔ เท่าในปีที่แล้ว และเตรียมผลิตหนังสือดิจิทัลเพิ่มอีก ๕,๐๐๐ เรื่อง

ผู้บริหารสำนักพิมพ์ Harper กล่าวว่าหนังสือดิจิทัลช่วยปลดภาระการผลิตหนังสือแบบรูปเล่ม ลดปัญหาการจัดจำหน่าย รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งหนังสือขายไม่ออกคืนสำนักพิมพ์ และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บหนังสือ

หนังสือพิมพ์ยิ่งอยู่รอดยากกว่า
หนังสือพิมพ์ในอเมริกาว่าย่ำแย่อยู่แล้ว แต่วิกฤตเศรษฐกิจยิ่งทำให้หนังสือพิมพ์กระอักเป็นเลือด ตลอดปีที่ผ่านมามีแต่ข่าวการยุบ-ลดเนื้อที่คอลัมน์-ปลดบรรณาธิการของแผนกหนังสือตัวอย่างที่สั่นสะเทือนวงการมีเช่นการยกเลิกเซ็กชันวิจารณ์หนังสือรายสัปดาห์ของ Los Angeles Times และ San Francisco Chronicle หนังสือพิมพ์ทั้งสองยกเนื้อที่วิจารณ์หนังสือไปรวมกับคอลัมน์เดิมในเล่ม ดังนั้นเท่ากับว่าผู้อ่านได้พื้นที่วิจารณ์หนังสือลดลงจากเดิม และการปลดบรรณาธิการแผนกหนังสือของ The Atlanta Journal Constitution

คอลัมน์หนังสือไม่ค่อยสร้างรายได้จากค่าโฆษณา ดังนั้นจึงเป็นคอลัมน์แรก ๆ ที่จะถูกยุบหรือลดเนื้อที่ หมดยุคสมัยที่สำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือจะลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เพราะเอาเงินไปโฆษณาในร้านหนังสือเลยได้ผลกว่า เช่นการซื้อพื้นที่วางหนังสือให้เด่นเป็นสง่าในร้าน หรือการยกฐานะเป็น “หนังสือแนะนำประจำสัปดาห์” เพื่อเรียกลูกค้า

ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์พบว่าการขยายพื้นที่ให้คอลัมน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สวน ท่องเที่ยว อาหาร รถยนต์ ภาพยนตร์ ละคร ดนตรี ล้วนแต่ทำให้ได้ค่าโฆษณามากขึ้น มีแต่คอลัมน์หนังสือที่หดหายไปเรื่อย ๆ หากนักวิจารณ์หนังสือจะมีเพื่อนซึ่งตกงานพอกัน เพื่อนคนนั้นคือนักวิจารณ์รายการโทรทัศน์

ผลคือหนังสือพิมพ์ในอเมริกามีบทวิจารณ์หนังสือจำนวนน้อยลง และหันไปใช้บทความจากแหล่งข่าวเดียวกันเช่นเอพีและรอยเตอร์มากขึ้น ที่สวนทางกันคือพื้นที่วิจารณ์หนังสือกลับเฟื่องฟูขึ้นมากในอินเทอร์เน็ต มีบล็อกหนังสือเกิดขึ้นจำนวนมหาศาลจากผู้คนที่เต็มใจเขียนวิจารณ์ให้อ่านกันฟรี บล็อกเหล่านี้จำนวนไม่น้อยวิจารณ์หนังสือได้ดีและน่าสนใจ และแสดงให้เห็นว่าผู้อ่านเฉพาะทางที่เคยคิดว่ามีกันกลุ่มเล็ก ๆ นั้นไม่เล็กอย่างที่คิด เช่นกลุ่มนักอ่านวรรณกรรมแปลนอกกระแส แต่นักวิจารณ์อาชีพจำนวนมากเห็นว่ามือสมัครเล่นก็คือมือสมัครเล่นวันยังค่ำ ถึงอย่างไรย่อมไม่อาจทดแทนการขาดหายไปของคอลัมน์วิจารณ์หนังสือในหนังสือพิมพ์ได้

ในเดือนธันวาคม วงการหนังสือพิมพ์ต่างตกใจกับข่าวการปลดบรรณาธิการวรรณกรรม ๒ คน คือ แซม ลีท จาก The Daily Telegraph และ จอห์น โอคอนเนลล์ จาก Time Out รวมทั้งข่าวการยื่นล้มละลายของบริษัท Tribune เจ้าของหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune และ Los Angeles Time บริษัท New York Times ประกาศว่าอาจจำนองอาคารสำนักงานใหญ่ที่ไทมสแควร์เพื่อลดหนี้และสร้างสภาพคล่องทางการเงิน

วิกฤตเศรษฐกิจทำให้หนังสือพิมพ์อยู่ลำบากขึ้น เพราะยอดโฆษณาในไตรมาสที่ ๓ ของปีที่แล้วลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ ๑๘ หรือราว ๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ฟองสบู่บ้านที่แตกโพละทำให้
รายได้โฆษณาจากอสังหาริมทรัพย์หดหาย ยอดโฆษณาออนไลน์ลดลง การลดต้นทุนโดยการลดพื้นที่และปลดพนักงานยิ่งทำให้หนังสือพิมพ์น่าอ่านน้อยลงไปอีก ผลคือยอดโฆษณายิ่งน้อยกว่าเดิม

หนังสือพิมพ์อเมริกามีผู้สมัครสมาชิกลดลงครึ่งหนึ่งจากเมื่อ ๔ ทศวรรษที่แล้ว ตัวการสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์อาการทรุดหนักคืออินเทอร์เน็ต เจมส์ ซูโรวิกกี เขียนบทความเรื่อง “News You Can Lose” ใน The New Yorker ว่า ผู้คนไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์น้อยกว่าเดิมเพียงแต่อ่านฟรีกันมากขึ้นจากอินเทอร์เน็ต ปัญหาที่แท้จริงคือผู้อ่านที่อยากได้ข้อมูลดีและชอบของฟรี แต่หากหนังสือพิมพ์อยู่ไม่รอด เราต้องรับความจริงว่าเราได้ในสิ่งที่สมควรแล้ว

บทความชี้ว่าปัญหาสำคัญอีกประการคือ หนังสือพิมพ์ไม่รู้จักปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี ซึ่งไม่ต่างจากสมัยที่รถไฟในอเมริกาต้องขาดรายได้จากการคมนาคมรูปแบบใหม่ หนังสือพิมพ์ควรครองสื่อโฆษณาออนไลน์ แทนที่จะปล่อยให้บล็อกข่าวดัง ๆ อย่าง Craigslist ช่วงชิงไป และหนังสือพิมพ์แทบไม่ทำลิงก์ไปหาสื่ออื่น ๆ ในเว็บเลย แต่ทำเสมือนขังตัวเองในบ้านที่ล้อมด้วยกำแพงสูง อนาคตของหนังสือพิมพ์อาจอยู่ที่การบริหารในรูปแบบมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงผลกำไร หรือการพึ่งเงินบริจาคจากผู้อ่าน ซึ่งจะว่าไปแล้วสถานการณ์หนังสือพิมพ์บ้านเราดีกว่าบ้านเขามาก

ยังมีความหวังอยู่บ้างไหม
ใช่ว่าทุกอย่างจะแย่ไปหมดเสียทีเดียว ถึงจะปลดคน แต่ Telegraph ยืนยันว่าจะไม่เลิกทำเซ็กชันหนังสือหนา ๘ หน้าฉบับประจำวันเสาร์ แผนกหนังสือในหนังสือพิมพ์จำนวนมากยังอยู่ดีมีสุข เช่นใน Times, The Guardian, The Times Literary Supplement, London Review of Books, Washington Post และ The New York Times นิตยสารวรรณกรรมวิจารณ์อย่าง The New York Review of Books ยังทำกำไรและอยู่มาได้ ๔๐ ปี แถมออกฉบับคริสต์มาสหนาถึง ๑๐๐ หน้า

ที่สำคัญ วงการหนังสือมักจะอยู่รอดได้ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะหนังสือมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับความบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ ในยามยากและยามที่ผู้คนมีเวลาว่างเพิ่มขึ้น อะไรจะดีเท่าการอ่านหนังสือดี ผู้ที่เคยซื้อหนังสือจะไม่เลิกซื้อ เพียงแต่อาจเลือกมากขึ้น ซึ่งคนในวงการแอบหวังว่า นี่อาจเป็นช่วงเวลาชำระล้างหนังสือปลอม ๆ ประเภทหนังสือดาราออกไปจากแผงหนังสือ และผู้คนหันมาเลือกอ่านหนังสือดีกันมากขึ้น

สำหรับนักอ่านที่ต้องรัดเข็มขัด ช่วงนี้อาจถึงเวลาสำรวจหนังสือที่ซื้อมานานแล้วแต่ยังไม่ได้อ่าน ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินได้จำนวนหนึ่ง แต่นักอ่านที่มีนิสัยเช่นนี้มักพบว่า การลด-ละ-เลิกซื้อหนังสือทำได้ยาก เพราะเป็นการเสพติดชนิดหนึ่งที่ผู้เสพมีข้อแก้ตัวอยู่เรื่อยในการซื้อหนังสือใหม่ (รับสารภาพมาเถอะว่าเรามีกองหนังสือเหล่านี้อยู่เยอะเลย แซม จอร์ดิสัน จาก The Guardian เรียกมันว่า “หอคอยแห่งความทะเยอทะยานที่ล้มเหลว ความหวังที่ไม่สมหวัง ความตั้งใจดีที่ยังไม่สำเร็จ”)

แต่หนอนหนังสือที่กะจะไม่ซื้อหนังสือใหม่เลยในปีนี้ จงเลิกล้มความคิดเสีย เพราะกลางปีนี้จะมีนิยายจากต้นฉบับที่เขียนไม่เสร็จเรื่องสุดท้ายของ วลาดีมีร์ นาโบคอฟ เรื่อง The Original of Laura ออกมาวางขาย จะอดใจไหวเหรอ (แถมว่ากันว่าเรื่องเซ็กซ์ที่ไม่มีใน Lolita นั้นจะมาชุมนุมกันในเรื่องนี้เยอะเลยนะ)