โลกใบใหญ่-บุคคลในข่าว
สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
สกล เกษมพันธุ์ : ถ่ายภาพ

จากซ้ายไปขวา : ภาพจำลอง “ตลาดเล็กๆ” เมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว และภาพมองจากภานอกสู่ภายใน (เอื้อเฟื้อภาพ เอนก นาวิกมูล)

กล่าวถึง เอนก นาวิกมูล  หลายคนอาจนึกถึงนักสะสมสิ่งของที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์สังคมไทย นักชำระประวัติศาสตร์ยุคต้นสมัยรัตนโกสินทร์ และภัณฑารักษ์แห่ง “บ้านพิพิธภัณฑ์” ที่จัดแสดงสิ่งของอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔

พุทธศักราช ๒๕๕๔ หลังจากดำเนินการเงียบ ๆ มาระยะหนึ่ง การขยายงานสะสมตามหลัก “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” ของเอนกก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในโครงการ “ตลาดเล็ก ๆ” ที่เขาตั้งใจให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ของมหาชน” แห่งที่ ๒ ทว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง ๑๒ ล้านบาท

“ตอนนี้โครงการอยู่บนกระดาษ ๑๒ ล้าน นี่เป็นวงเงินประเมินที่จะต้องใช้  ก้อนใหญ่คือค่าก่อสร้างอาคารบนที่ดิน ๒ ไร่เศษในตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ตรงนี้จะต้องใช้ราว ๑๐ ล้าน  เราได้สถาบันอาศรมศิลป์ช่วยแปลงความคิดจินตนาการออกมาเป็นพิมพ์เขียว”

พิมพ์เขียวที่เอนกกล่าวถึงนั้น หากดูในแบบจะพบว่ามีลักษณะเป็น “บ้านพิพิธภัณฑ์ภาคขยาย” ยังมีการจัดแสดงไม่ต่างกับบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งแรก ต่างกันที่ที่ใหม่จะมีอาคารมากขึ้น คืออาคารชั้นเดียว ๑ หลัง  อาคาร ๒ ชั้น ๑ หลัง เป็นพื้นที่จัดแสดงร้านรวงและของเก่า  มี “ตลาดริมน้ำภาคกลาง” จำลองสภาพตลาดและชีวิตคนไทยในยุคกึ่งพุทธกาล (ราว พ.ศ. ๒๕๐๐) มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการอีกส่วนหนึ่ง โดยรอบ ๆ จะปลูกต้นไม้ให้เต็มพื้นที่

เขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจจากผู้มาชม “บ้านพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเดิมมีปัญหาความคับแคบของสถานที่ ด้วยเป็นตึก ๓ คูหา มีเนื้อที่เพียง ๕๘ ตารางวา  อีกทั้งของเก่าซึ่งมีจำนวนมหาศาลจากการรวบรวมของเอนกและจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา ทำให้จัดแสดงได้ไม่เต็มที่  “ถึงแม้ผมจะสร้างตึกอีกหลังข้าง ๆ ก็ไม่พออยู่ดี กลายเป็นตึกเก็บของขนาดใหญ่”

ปัจจุบัน การเก็บรักษาของเก่าที่มีค่าทางประวัติศาสตร์สังคมของภัณฑารักษ์เอกชนเมืองไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีต คือไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่เอนกยืนยันว่าแม้ต้องใช้เงินส่วนตัวก็จำต้องทำตามกำลังเพื่อรักษาอดีตไว้ (อ่านแนวคิดของเอนกเรื่องนี้อย่างละเอียดใน สารคดี ฉบับที่ ๓๐๔  มิถุนายน ๒๕๕๓)

จากซ้ายไปขวา : แผนผังภาพรวมของโครงการ “ตลาดเล็กๆ “ (เอื้อเฟื้อภาพ เอนก นาวิกมูล) และ เอนก นาวิกมูล ขณะไปดูที่ดินเปล่าที่จะใช้ก่อสร้างโครงการ “ตลาดเล็กๆ”

“ผมทำเท่าที่ทำได้ เดิมทีบ้านพิพิธภัณฑ์คนทำงานก็จิตอาสาทั้งสิ้น ผมทำตรงนี้เพราะมองว่าปัจจุบันที่พักผ่อนของคนเมืองน้อยลงเรื่อย ๆ  ห้างสรรพสินค้าเรามีมากมาย แต่ไม่มีที่ที่อากาศดี ไม่มีแหล่งเรียนรู้ที่จะใช้เวลาอยู่ได้ทั้งวัน กระทั่งวัดสมัยนี้ก็เสียงดังมาก  ถ้ามีตลาดเล็ก ๆ ครอบครัวก็มาอยู่ได้ทั้งวัน  พิพิธภัณฑ์ที่คล้ายกับที่ผมคิดของภาคอื่นมีแล้ว กรณีของภาคกลางก็มีแต่เป็นคนละยุค เช่น เมืองโบราณที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ จะย้อนไปสมัยอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์  ค่าเข้าชมผมก็ตั้งใจเก็บเท่าเดิมคือ ๓๐ บาท ไม่ต่างกับบ้านพิพิธภัณฑ์”

เอนกตั้งใจว่าหากโครงการตลาดเล็ก ๆ สำเร็จ จะย้ายส่วนจัดแสดงทั้งหมดมายังตลาดเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างที่เดิมราว ๒๓ กิโลเมตร  ส่วนบ้านพิพิธภัณฑ์เดิมใช้สำหรับเก็บของโดยเฉพาะ

เขาหวังว่าภาคเอกชนโดยเฉพาะห้างร้านเก่าแก่ที่เริ่มธุรกิจจากห้องแถวเล็ก ๆ และเติบโตจนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จะสนใจให้ความช่วยเหลือสร้างตลาดเล็ก ๆ โดยเมื่อเปิดตลาดก็มาใช้พื้นที่จัดนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์ของตนได้อย่างสมจริง

“ตอนนี้ผมพยายามหางบประมาณที่ขาดอยู่หลังจากลงทุนซื้อที่ดินไปแล้ว ๔ ล้านบาท ถ้ามีเงินก็จะสำเร็จภายในปี ๒๕๕๕  นักธุรกิจท่านใดสนใจช่วยจะดีมาก ในส่วนใดก็ได้ไม่ว่าวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ดิน ทราย ปูน ไม้  ส่วนของเก่าที่มีคุณค่าผมก็ยังพยายามเก็บต่อไป ส่วนมากของเหล่านี้มาจากการบริจาค”

วันนี้ เอนก นาวิกมูล เจ้าของแนวคิด “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” บอกเราว่างานของเขายังไม่เสร็จ

“ผมยังทำอยู่ทุกลมหายใจ อยากทำให้เสร็จ แม้ว่าจะมีทำกันไม่กี่คน ผมก็จะทำไปเรื่อย ๆ”

หมายเหตุ : เนื่องจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้บ้านพิพิธภัณฑ์เกิดความเสียหายบริเวณชั้นล่าง  หลังน้ำลด หากผู้ใดมีจิตอาสาช่วยคุณเอนกในการทำความสะอาดหรือบริจาคสมทบทุน กรุณาติดต่อที่ โทร.๐๘-๙๒๐๐-๒๘๐๓